Tuesday, January 12, 2016

การบูชาพระนางจามเทวี


หากว่ามีพระรูปของพระนางจามเทวีที่จัดสร้างขึ้นสำหรับการบูชาโดยตรง ควรประดิษฐานพระรูปนั้น ให้หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก, ตะวันออกเฉียงเหนือ หรือทิศเหนือ
 
เนื่องจากพระรูปบูชาพระนางจามเทวีมักเป็นปางประทับยืน หากจัดรวมไว้ในโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปชนิดหมู่ ๗ ก็ควรตั้งไว้บนโต๊ะปีกซ้ายล่าง หรือปีกขวาล่างนะครับ ไม่สมควรตั้งอยู่ตรงกลาง




ส่วนโต๊ะยาวที่อยู่ตรงกลางชั้นล่างของโต๊ะหมู่ ระหว่างโต๊ะปีกซ้ายล่างและปีกขวาล่างนั้น ถ้าตั้งพระบูชาพระรอดหลวง หรือไม่ก็ พระฤาษีวาสุเทพ อย่างใดอย่างหนึ่งได้จะดีที่สุด

กรณีของพระฤาษีวาสุเทพนั้น ที่ผ่านมาผมเห็นมีการจัดสร้างเพียง ๒ ครั้ง ครั้งแรกโดย ครูบาเหนือฤทธิ์ วัดท่านาค เชียงใหม่ เมื่อราวๆ ๓-๔ ปีมาแล้ว ถ้าไม่ได้บูชาไว้ตั้งแต่ตอนนั้นเห็นจะจัดหาได้ยาก 

ครั้งที่ใกล้ช่วงเวลาที่เขียนบทความนี้สักหน่อย คือการจัดสร้างโดย พระมหาภาณุพงษ์ ธมฺมธารี วัดน้ำบ่อเหลือง ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน แต่เป็นขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว เพิ่งทำพิธีมังคลาภิเษกเมื่อกลางเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ที่ผ่านมานี้เอง

แต่ถ้าผู้สนใจมาพบบทความนี้ช้าไป ยังไม่ทันรุ่นนี้อีก ก็คงต้องรอกันครับ ต่อไปมีที่ใดจัดสร้างขึ้นมาอีก ผู้บูชาพระนางจามเทวีควรรับมาบูชา จะเป็นมงคลอย่างยิ่งครับ เพราะเป็นพระอาจารย์ของพระนางจามเทวี

และโต๊ะปีกอีกข้างหนึ่ง จะต้องมีเทวรูป หรือไม่ก็พระรูปของอดีตกษัตริย์ หรือราชนารีพระองค์ใดก็ได้ เช่น สมเด็จพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ฯลฯ ที่เป็นพระรูปยืนเช่นกันประดิษฐาน

ไม่เช่นนั้นจะต้องจัดแท่นสำหรับประดิษฐานต่างหากครับ

หากประดิษฐานโดยลำพัง พระรูปของพระนางจามเทวีนั้นควรประดิษฐานบนแท่นไม้ หรือตั่งทรงเตี้ย เพราะเป็นพระรูปยืน ไม่สมควรตั้งบนโต๊ะรองหรือตั่งทรงสูง

ซึ่งถ้ามีพระฤาษีวาสุเทพ เราสามารถตั้งพระฤาษีวาสุเทพเป็นประธาน โดยต้องประดิษฐานบนโต๊ะรองหรือตั่งที่มีขนาดสูงสักหน่อย (เพราะเป็นพระนั่ง จะได้สูงกว่าพระนางจามเทวีซึ่งเป็นพระยืน) แต่ถ้าเป็นขนาดหน้าตัก ๙ นิ้วของวัดน้ำเบ่อเหลือง ก็ใช้ตั่งทรงเตี้ยได้นะครับ เพราะมีความสูงเพียงพออยู่แล้ว


พระฤาษีวาสุเทพ วัดน้ำบ่อเหลือง ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว 

จากนั้นก็ขนาบสองข้างของพระฤาษีวาสุเทพ ด้วยพระรูปพระนางจามเทวีครองเมือง และพระรูปพระนางจามเทวีสละราชสมบัติ ซึ่งถ้าบูชาของวัดสันป่ายางหน่อมก็จะได้ขนาดที่เท่ากันพอดี ตรงกลางหน้าโต๊ะที่วางพระฤาษีวาสุเทพ เว้นที่ไว้สำหรับถวายหมาก เพราะพระฤาษีทุกองค์ชอบกินหมาก

ที่กล่าวมานี้ จะเท่ากับเป็นการบูชาพระนางจามเทวีที่สมบูรณ์ครบชุดเลยครับ มีทั้งพระอาจารย์และศิษย์เอกอยู่ด้วยกัน อำนาจบารมีของพระวาสุเทพ จะช่วยส่งเสริมให้การบูชาพระนางจามเทวีนั้นได้ผลรวดเร็วและสมบูรณ์

ส่วนถ้าไม่มีพระฤาษีวาสุเทพ แล้วจะเปลี่ยนเป็นพระรูปชีแทนนั้น ไม่แนะนำครับ

ควรจะบูชาพระรูปพระนางจามเทวีองค์ใหญ่สูงสัก ๑๑ นิ้ว ปางใดก็ได้ หรือถ้ามีวัดใดจัดสร้างเป็นพระรูปนั่งบัลลังก์หรือนั่งแท่น ก็ให้จัดหาโต๊ะรองหรือตั่งทรงสูงหรือเตี้ยตามความเหมาะสม แล้วขนาบด้วยพระรูปปางครองเมือง กับปางสละราชสมบัติอย่างละองค์ จะดีกว่า

การจัดวางพระรูปองค์ประธาน และพระรูปอีกสององค์ขนาบซ้ายขวา ถ้าจะให้สวยงาม ไม่ควรวางเรียงแถวหน้ากระดานนะครับ 

ควรวางเป็นรูปสามเหลี่ยมเมื่อมองจากด้านบน โดยตำแหน่งปลายยอดของสามเหลี่ยมนั้นคือด้านในสุดของแท่นบูชาที่พิงผนัง เป็นตำแหน่งของพระรูปองค์ประธาน เยื้องออกมาซ้ายขวาคือพระรูปทั้งสองปางดังกล่าวแล้ว จะดูสวยโปร่งตาและไม่น่าเบื่อครับ




ที่ว่างด้านหน้าองค์ประธาน สามารถวางพานใส่วัตถุมงคลของพระนางจามเทวี เช่นพระห้อยคอที่ได้มาแบบไม่มีกล่อง หรือผ้ายันต์ผืนเล็กที่พับไว้ก็ได้ แต่อย่าวางพระรอดองค์เล็ก หรือพระเครื่องอื่นนะครับ

ส่วนถ้าเป็นวัตถุมงคลที่ได้มาแบบมีกล่องบรรจุเรียบร้อย ก็เอาไปเก็บไว้ในตู้นะครับ ไม่ต้องเอาไปวางบนแท่นบูชา

เครื่องบูชาที่ควรมีไว้ประจำได้แก่ พัดโบกแบบมีขาตั้ง ๑ คู่ ใช้เป็นเครื่องสูง และถ้าหากเป็นบุหงาพัดโบกแบบมีขาตั้ง ก็เท่ากับถวายของหอม เป็นสุคนธบูชาได้ในขณะเดียวกัน ซึ่งควรใช้นะครับถ้าตั้งพระบูชาพระนางจามเทวีเป็นประธาน




เพราะถ้าจัดวางสองข้างของพระรูปองค์ประธาน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นปางยืนหรือปางนั่ง พัดโบกชนิดนี้จะช่วยเน้นให้เกิดความสง่างามและสูงศักดิ์ 

แต่ถ้าเป็นบุหงาพัดโบกแบบมีขาตั้ง จะมีอยู่เพียงแบรนด์เดียวนะครับ ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ถูกต้อง ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายเดียวกับกำยาน ที่ผมจะกล่าวถึงต่อไป

ควรถวายพานพุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ หรือพุ่มผ้าตาด ๑ คู่ อย่าใช้พานพุ่มเงินพุ่มทองนะครับ เว้นแต่จะเป็นพุ่มทองทั้งคู่จึงอนุโลม ถ้าตั้งพุ่มเงินพุ่มทองข้างละพาน แบบที่ทำกันทั่วไป อย่างนั้นเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผิดธรรมเนียมราชสำนัก




นอกจากนั้นก็คือเครื่องบูชาพื้นฐาน ได้แก่กระถางธูป เชิงเทียน ๑ คู่ เชิงกำยาน แจกันดอกไม้หรือพานสำหรับวางพวงมาลัย ๑ คู่  ถ้วยน้ำ ภาชนะใส่ของไหว้ และถ้วยน้ำ 

ซึ่งที่กล่าวมานี้ ควรเป็นชุดเดียวกันทั้งหมด จะเป็นเครื่องทองเหลือง เครื่องเบญจรงค์ลายน้ำทอง เครื่องคลือบเซรามิคเพนท์ลายทอง หรือเครื่องแก้วก็ได้

ถ้ายังมีที่วางหน้าแท่นบูชา ควรถวายพระขรรค์พร้อมแท่นรอง ๑ เล่ม เพราะเป็นเทพอาวุธสำคัญของพระนางจามเทวีครับ



ผมแนะนำว่า ควรเป็นพระขรรค์ที่ทำจากเหล็กน้ำพี้ ซึ่งมีแหล่งผลิตใน จ.อุตรดิตถ์ และสามารถหาแบบที่ผ่านการปลุกเสกได้ไม่ยาก แต่ถ้าเป็นพระขรรค์ขนาดเล็กที่วัดต่างๆ สร้างขึ้นเป็นเครื่องรางสำหรับบูชาติดตัว ก็สามารถนำไปวางใส่พานปะปนกับวัตถุมงคลของพระนางจามเทวีหน้าพระรูปองค์ประธานได้

ผู้บูชาที่ชอบเรื่องของช้างผู้ก่ำงาเขียว ยังสามารถจัดหาช้างที่เป็นงานหัตถกรรมไม้แกะสลัก หรือหล่อด้วยเรซินสวยๆ สัก ๑ คู่ ที่มีรูปลักษณ์แบบเดียวกัน ตั้งประดับมุมซ้ายขวาของแท่นบูชา

แต่ถ้าจะถวายม้าทรงด้วยถือว่ามากเกินไป แท่นบูชาไม่ควรรกรุงรังมากครับ เพราะพระนางจามเทวีทรงเป็นกษัตริย์ โปรดความเรียบร้อยสะอาดสะอ้าน

ถ้าพระรูปเป็นแผ่นภาพใส่กรอบสำหรับตั้งโต๊ะ ควรจัดเครื่องบูชาเฉพาะแจกันหรือพานดอกไม้เท่านั้น ไม่ต้องมีเครื่องบูชาอื่น ถ้าพระรูปเป็นแบบแขวนไม่ต้องจัดเครื่องบูชา

และถ้าประดิษฐานพระรูปเพียงองค์เดียว ในโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปดังกล่าวไปแล้วตอนต้นของบทความนี้ ถวายดอกไม้อย่างเดียว ไม่ต้องถวายของไหว้ครับ  
        
สำหรับขั้นตอนการบูชาด้วยของไหว้ มีดังต่อไปนี้ :  

๑) เตรียมของไหว้ใส่ภาชนะ ของไหว้พระนางจามเทวีประกอบด้วยขนมไทยชนิดใดก็ได้ที่ผู้หญิงชอบกินและไม่มีเนื้อสัตว์ปน แต่ทำจากไข่ นม หรือเนยได้ ๒ อย่าง ผลไม้ชนิดที่ไม่เปรี้ยว ๑ อย่าง มะพร้าวอ่อนหรือมะพร้าวเผา ๑ ลูก น้ำอ้อย ๑ ถ้วย น้ำเปล่า ๑ ถ้วย จัดรวมไว้ในถาดเดียวกัน
     
๒) ยกถวาดของไหว้ขึ้นตั้งไว้บนโต๊ะ เบื้องหน้าแท่นบูชา ถวายดอกไม้ เผากำยานจุดเทียน จุดธูป ๗ ดอก ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วจึงว่าคาถาบูชาพระนางจามเทวี ดังนี้ :

ยา เทวี จามะเทวี นามิกา อะภิรูปา อะโหสิ ทัสสะนียา ปาสาทิกา พุทธะสาสะเน จะ อะภิปะสันนา, สา อะตีเต เมตตายะ เจวะ ธัมเมนะ จะ หะริภุญชะยะ ธานิยา รัชชัง กาเรสิ, หะริภุญชะยะ นะคะระ วาสีนังปิ มะหันตัง หิตะสุขัง อุปาเทสิ, อะหัง ปะสันเนนะ เจตะสาตัง วันทามิ สิระสา สัพพะทาฯ

ข้าพเจ้าขอน้อมอัญเชิญ องค์พระแม่เจ้าจามเทวี ขอได้โปรดเสด็จมา ณ สถานที่บูชาแห่งนี้ เพื่อทรงรับการถวายบูชาจากข้าพเจ้าฯ
         
๓) ปักธูป ๗ ดอกในกระถางธูป จุดธูปเพิ่มตามจำนวนภาชนะที่ใส่ของไหว้ อธิษฐานถวายเครื่องสังเวย ดังนี้ :

อิมัง สูปะพะยัญชะนะ สัมปันนัง สาลีนัง โภชะนัง อุทะกัง วะรัง จามะเทวัสสะ ปูเชมิฯ

ข้าพเจ้าขอน้อมถวายบรรดาของไหว้ อันมีรสเลิศเหล่านี้ เป็นเทวบูชาแด่องค์พระแม่เจ้าจามเทวี ขอพระแม่เจ้าได้โปรดทรงรับเครื่องบูชาเหล่านี้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าพเจ้าฯ

แล้วปักธูปลงบนอาหารภาชนะละ ๑ ดอก ถ้าเป็นมะพร้าวอ่อน หรือขนมที่เป็นน้ำ ไม่ต้องปักธูป 
 
๔) อธิษฐานตามแต่ปรารถนา ซึ่งไม่ควรเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม หรืออธิษฐานตามคุณสมบัติของพระนางจามเทวี คือขอให้ประทานสิริมงคลในเรื่องของ :

-ความมีเสน่ห์ เมตตามหานิยม ความเป็นที่รัก การเจรจาค้าขาย โชคลาภ ความมั่งมีศรีสุข

-วาสนาบารมี ได้รับความเมตตาเกื้อหนุนอุปถัมภ์จากผู้ใหญ่ เป็นที่เคารพเชื่อถือ ยำเกรง ไว้วางใจ จากผู้น้อย ก้าวหน้าในสายงานที่ทำ หรือเจริญรุ่งเรืองในกิจการที่ตนเป็นเจ้าของ

-สามารถเอาชนะศัตรู ทำลายอิทธิพลมืด ข้ามพ้นคดีความ อุปสรรคและความยากลำบาก บรรลุซึ่งผลสำเร็จในทุกสิ่งที่ตั้งใจไว้ทุกประการ

-ผลสำเร็จในการทำบุญกุศลที่เป็นโครงการใหญ่ หรือกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนา

-ได้ครอบครองทรัพย์สิน ของมีค่าหายาก บุคลากร หรือเครื่องมือที่จะใช้ทำงานใหญ่ให้สำเร็จลุล่วง

๕) รอจนธูปหมดทุกดอก อธิษฐานให้พระนางจามเทวีปกปักรักษาผู้บูชาและบุคคลอันเป็นที่รักตลอดไป แล้วอัญเชิญเสด็จกลับ ดังนี้ :
         
เยสุปะยุตตา นะมะสาทันเหฯ
         
ข้าแต่องค์พระแม่เจ้าจามเทวี ด้วยการถวายบูชานี้ ได้สำเร็จโดยบริบูรณ์แล้ว ข้าพเจ้าขอน้อมอัญเชิญพระแม่เจ้าเสด็จกลับสู่ทิพยสถาน อันเป็นที่ประทับแห่งพระองค์ และในการบูชาครั้งต่อไป ขอได้โปรดเสด็จกลับมาอีก ขอพระบารมีอันศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์พระนางจามเทวี จงปกปักรักษาข้าพเจ้าตลอดไป ชั่วกาลนานเทอญฯ
         
๖) ดับเทียน  ลาเครื่องสังเวยด้วยคาถานี้:
         
เสสัง มังคะลา ยาจามิฯ

ข้าพเจ้าขออนุญาตลา เครื่องสังเวยบูชาเหล่านี้ อันได้น้อมถวายแด่องค์พระนางจามเทวีแล้ว และขอแบ่งไปรับประทานเป็นสิริมงคลต่อไป ขอทรงประทานเทวานุญาตด้วยเทอญฯ
         
แล้วแบ่งใส่ภาชนะอื่นไปรับประทานกันในบ้านต่อไป
                    
การถวายของไหว้ ควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนเที่ยงวัน ควรถวายเดือนละ ๑ ครั้ง จะมากกว่านี้ก็ได้นะครับ แล้วแต่ศรัทธา แต่ไม่ควรน้อยกว่านี้
  
ในการบูชาประจำวัน สามารถถวายดอกไม้อย่างเดียวโดยไม่จำเป็นต้องจุดธูปเทียนบูชา แต่ควรเผากำยานถวายเช้าก่อนออกจากบ้าน และกลางคืนก่อนนอน ครั้งละ ๑ ดอกแล้วว่าคาถาบูชา

การบูชาพระนางจามเทวี ถ้ามีการเผากำยานถวายจะดีเยี่ยม เพราะพระนางทรงเป็นกษัตริย์โบราณเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว ซึ่งในพระราชวังตลอดจนตำหนักที่ประทับ จะมีการเผากำยานเครื่องหอมเป็นปกติ

แต่กำยานนั้นไม่ควรใช้ของแขกอินเดียนะครับ เพราะมีมูลสัตว์ (ขี้วัว) ผสม คนอินเดียที่บูชาวัวนับถือว่าเป็นของสูง แต่ถ้าเอามาใช้กับเจ้านายไทยเราถือเป็นของอัปมงคล ควรใช้กำยานอย่างดีที่เป็นกลิ่นดอกไม้ไทย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความพากเพียรในการเสาะหาสักหน่อยครับ




ที่ผมแนะนำเพราะใช้เองอยู่ก็คือ ผลิตภัณฑ์กำยานของ แก้มนวล (ตามภาพประกอบ) ซึ่งทำจากสมุนไพรและหัวน้ำหอมชั้นดีตำรับชาววังแท้ ซึ่งหอมจริง เป็นที่โปรดปรานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 

ใครสนใจก็ไปหาดูใน link นี้ครับ https://shreegurudevamantra.blogspot.com/2016/06/mystica.html

อย่าไปเอาของถูกที่ขายกันห่อละร้อยเม็ดในจตุจักรเป็นอันขาดครับ แบบนั้นจะได้มะเร็งเป็นของแถม

เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ควรเผากำยาน จุดธูปเทียนบูชาและถวายดอกไม้ทุกครั้ง  แต่ไม่จำเป็นต้องถวายเครื่องสังเวยนะครับ เว้นแต่จะตรงกับวันที่ถวายเครื่องสังเวยตามปกติ 

และเมื่อถึงวันสงกรานต์ หลังจากสรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว ควรอัญเชิญพระรูปพระนางจามเทวีออกมาทำความสะอาด และสรงน้ำเช่นกัน เรียกว่า ถวายอภิเษก (Abhishek) ยกเว้นพระรูปที่ทำด้วยผ้าหรือกระดาษไม่ต้องสรงน้ำ

จากนั้นประกอบพิธีบูชา ถวายดอกไม้และของไหว้เป็นกรณีพิเศษ ก็คือจัดของไหว้ให้มากอย่างขึ้นหน่อยครับ ถือเป็นวันบูชาประจำปี 
       
น้ำอภิเษก หรือน้ำที่สรงแล้วเป็นเสมือนน้ำทิพย์มนต์ สามารถใช้ปะพรมทั่วบริเวณบ้าน ขับไล่อาถรรพณ์ ชำระสิ่งอัปมงคลดีนัก 


   
                
พระบูชาพระนางจามเทวี มักจัดสร้างโดยวัดต่างๆ  ผ่านพิธีมังคลาภิเษกด้วยการเจริญพระพุทธมนต์โดยพระเกจิอาจารย์ที่ทรงศีลาจาริยาวัตรงดงาม ผู้ที่จะบูชาพระองค์ให้ได้ผล จึงควรทำบุญอย่างสม่ำเสมอ และหาโอกาสปฏิบัติธรรมบ่อยๆ โดยอย่างน้อยก็รักษาศีลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 

เมื่อทำบุญอะไรสำเร็จก็ตาม พึงถวายดอกไม้ ธูปเทียน เผากำยานบูชาพระนางจามเทวี และบอกกล่าวถวายบุญนั้นเป็นกุศลบูชา จะนำมาซึ่งมหามงคลมากไม่มีประมาณ


อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงให้ห่างจากแหล่งอบายมุขทุกชนิด การพนันหรือการเสี่ยงโชคใดๆ  เพราะเป็นสิ่งที่ทรงรังเกียจครับ



………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

10 comments:

  1. น่าจะสมกับที่หลายๆ คนรอคอยค่ะ

    ReplyDelete
  2. ในที่สุด ตัวจริงเสียงจริงที่คลุกคลีกับเรื่องราวของพระนางจามเทวีมาตลอด ก็ได้เวลาเขียนเรื่องการบูชาพระนางจามเทวีนะคะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. อันนี้ชมหรือเปล่าครับ แหะๆ

      Delete
  3. แนะนำอย่างละเอียดเลยค่ะ หวังว่าจะบูชากันได้ถูกต้อง

    ReplyDelete
    Replies
    1. จุดมุ่งหมายที่ทำให้ต้องเขียนเรื่องนี้เลยครับ เพราะแม้แต่คนท้องถิ่นก็ยังมองข้ามบางอย่างไป

      Delete
  4. พัดโบกกับกำยานแก้มนวล หาซื้อได้ที่ไหนคะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ไม่มีขายทั่วไปครับ ต้องติดต่อที่ gaemnual@hotmail.co.th

      Delete
    2. หรือทาง line ID: Sacredscent
      นอกจากพัดโบก กำยาน แล้ว ยังมีน้ำปรุง ก็ถวายได้นะคะ

      Delete
  5. เหรียญพระแม่จามเทวีได้บูชามาจากลำพูน นำมาปิดทองและไปอัดกรอบพลาสติคกันน้ำำ เพื่อนำมาใส่สร้อยคอบูชาคิดตัวได้มั้ยค๊ะ

    ReplyDelete

Total Pageviews