Thursday, October 6, 2016

สมเด็จพระศรีสุริโยทัย : ราชนารีผู้สิ้นพระชนม์กลางสนามรบ?





เมื่อกล่าวถึงวีรสตรีไทยในประวัติศาสตร์ คนไทยส่วนใหญ่มักนึกถึงขัตติยนารีพระองค์นี้ในลำดับต้นๆ พระนางทรงได้รับการยกย่องเทิดทูนจากพระวีรกรรมอันหาญกล้า ที่ได้ทรงสละพระชนม์ชีพของพระนางเอง เพื่อทรงปกป้องพระราชสวามี

แต่พระราชประวัติอันแท้จริงของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดครับ 

นักวิชาการในปัจจุบันส่วนหนึ่งสันนิษฐานว่า ทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์สุโขทัย และต่อมาทรงได้ดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีใน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งทรงครองราชย์ระหว่างพ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๑

โดยส่วนใหญ่แล้ว พระนามของราชนารีพระองค์นี้ ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่บันทึกหลังยุคสมัยของพระนางล่วงไปแล้วประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ กล่าวถึงเรื่องราวในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชสมบัติ โดยมีพระนางอยู่ในตำแหน่งพระอัครมเหสี

พระราชพงศาวดารมากล่าวพระนามอีกครั้ง เมื่อ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ยกทัพล้อมกรุงศรีอยุธยาหลังการเสวยราชสมบัติได้ ๗ เดือน

โดยครั้งนั้น พระนางได้ป้องกันพระราชสวามี ไม่ให้ได้รับอันตรายโดยไสช้างขวางกั้นพระราชสวามีจากแม่ทัพพม่า จนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

และก็เพียงเท่านั้นละครับ ที่ถูกบันทึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ ในฐานะที่เป็นเรื่องราวอันโดดเด่นที่สุดของพระนาง

ความเป็นมาของสงครามระหว่างไทยกับพม่าดังกล่าว มีเหตุการณ์สืบเนื่องมาจากการที่กรุงศรีอยุธยาเกิดเหตุวุ่นวาย เมื่อสิ้นรัชกาล สมเด็จพระไชยราชาธิราช เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่าง สมเด็จพระยอดฟ้า พระราชโอรส และ ขุนวรวงศาธิราช ซึ่งฝ่ายหลังมี ท้าวศรีสุดาจันทร์ สนับสนุนจนสามารถยึดครองราชสมบัติได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

แต่ในที่สุด พระเฑียรราชา พระราชอนุชาต่างพระชนนีในสมเด็จพระไชยราชาธิราช และ ขุนพิเรนทรเทพ ก็ร่วมกันโค่นล้มขุนวรวงศาธิราชลงได้ และอัญเชิญพระเฑียรราชาขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

และไม่นานหลังจากนั้นละครับ สงครามครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย-พม่า ก็อุบัติขึ้น

โดยนักประวัติศาสตร์ไทย กล่าวถึงชนวนของสงครามครั้งนี้ว่า พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ แห่งกรุงหงสาวดีทรงทราบข่าวการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ในกรุงศรีอยุธยา ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงไม่ทันตั้งตัว และกองทัพคงไม่เข้มแข็งพอ จึงทรงมีพระดำริจะเข้ามาโจมตี




แต่ มิคกี้ ฮาร์ท ผู้เขียนหนังสือ โยเดียกับราชวงศ์พม่า : เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้ นำเสนอหลักฐานจากพงศาวดารพม่าระบุไว้ว่า ในพ.ศ.๒๐๘๙ ฝ่ายอยุธยายกทัพไปตีเมืองทวาย ซึ่งเป็นท่าเรือที่สำคัญของทางพม่าก่อน

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ซึ่งทรงติดราชการอยู่ที่เมืองยะไข่ในขณะนั้น จึงทรงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองเมาะตะมะยกทัพเรือ พร้อมด้วยทหารถึง ๘๐,๐๐๐ คนไปยึดเมืองทวายคืน และเลยตามไปตีกาญจนบุรีต่อ ได้เมืองกาญจนบุรีแล้วจึงพักทัพรออยู่ที่นั่น 

จนพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงตีเมืองยะไข่สำเร็จแล้ว ก็ทรงจัดทัพหลวงยกมาทางเมาะตะมะ เพื่อเข้าตีกรุงศรีอยุธยา
   
พงศาวดารฝ่ายไทยกล่าวว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาต่อจากขุนวรวงศาธิราชได้เพียง ๗ เดือน เมื่อ พ.ศ.๒๐๙๑ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระมหาอุปราชาบุเรงนองก็ยกกองทัพพม่า-รามัญประมาณ ๓ แสนคน เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี และตั้งค่ายล้อมพระนคร

เมื่อทรงทราบข่าวว่าพม่ายกทัพใหญ่เข้ามา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็โปรดฯ ให้เตรียมทัพออกไปรอข้าศึกที่ทุ่งภูเขาทอง

และด้วยความเป็นห่วงพระสวามี สมเด็จพระศรีสุริโยทัยจึงปลอมพระองค์เป็นชายอย่างพระมหาอุปราช โดยมี พระราเมศวร กับ พระมหินทราธิราช พระราชโอรส และ พระบรมดิลก พระราชธิดาซึ่งปลอมพระองค์เป็นชายเช่นเดียวกับพระมารดา ตามเสด็จไปในกองทัพครั้งนี้ด้วย

กองทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งมีสมเด็จพระศรีสุริโยทัย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๓ พระองค์เสด็จมาด้วยนี้ ได้เข้าสู่ที่อับจนอย่างไม่คาดฝัน เมื่อ พระเจ้าแปร แม่ทัพฝ่ายพม่าซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งมะขามหย่อง ได้ล่อให้กองทัพของไทยเข้าไปในวงล้อมแล้วซุ่มโจมตี จนกองทัพไทยแตกกระเจิงไม่เป็นขบวน

กระทั่งพระเจ้าแปรสามารถนำทหารพม่าเข้ามาถึงใจกลางทัพหลวง และเข้ากระทำการรบแบบยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

ปรากฏว่า ช้างทรงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียทีข้าศึก และหันหนีไปอีกทางหนึ่ง พระเจ้าแปรเห็นว่ากำลังได้เปรียบ จึงไสช้างเข้ารุกไล่อย่างกระชั้นชิด


สมเด็จเด็จพระศรีสุริโยไททรงไสช้างเข้าป้องกันพระราชสวามีจากพระเจ้าแปร
ภาพจากภาพยตร์เรื่อง สุริโยไท ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล

สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทอดพระเนตรพระสวามีเสียทีแก่ข้าศึก เกรงว่าพระสวามีจะได้รับอันตราย ด้วยน้ำพระทัยที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญและด้วยความรักนั้น พระนางจึงรีบไสช้างพระที่นั่งเข้าไปขวางศัตรูอย่างรวดเร็ว เป็นจังหวะเดียวกับที่พระเจ้าแปรใช้พระแสงของ้าวฟัน ถูกพระอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

พระบรมดิลก พระราชธิดาซึ่งตามเสด็จในครั้งนี้ ก็ถูกแม่ทัพพม่าปลงพระชนม์ในการทำยุทธหัตถีเช่นเดียวกัน

หลังจากสมเด็จพระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์แล้ว พระราเมศวรกับพระมหินทราธิราช ทรงขับช้างฝ่าวงล้อมของทหารพม่าเข้าไปต่อสู้กับพระเจ้าแปร และกันพระศพสมเด็จพระราชชนนี กับพระขนิษฐากลับเข้าพระนคร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญให้เชิญพระศพพระอัครมเหสีไปไว้ตำบลสวนหลวง ซึ่งอยู่ในเขตพระราชวังหลัง ประดิษฐานไว้ที่นั่นเป็นการชั่วคราว


สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ อัญเชิญพระศพสมเด็จพระศรีสุริโยทัยกลับพระนคร
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล

ส่วนในด้านการศึกนั้น แม้จะได้ชัยชนะในการปะทะกันครั้งแรก กองทัพพม่าก็ไม่สามารถจะตีหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ เพราะฝ่ายไทยได้เปรียบในที่มั่น และหัวเมืองฝ่ายไทยยังมีกำลังมาก

เมื่อกองทัพพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ได้ข่าวว่า กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย อันมี สมเด็จพระมหาธรรมราชา นำกำลังยกลงมาช่วยกรุงศรีอยุธยา ประจวบกับเสบียงอาหารเริ่มขาดแคลนลง จึงโปรดฯ ให้เลิกทัพกลับกรุงหงสาวดี

เมื่อเสร็จศึกแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้โปรดฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีพระราชทานเพลิง โดยทรงมีพระราชโองการให้ทำพระเมรุมาศในสวนหลวง (อยู่ในเขต ต.หัวแหลม ทุกวันนี้) ถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระศรีสุริโยทัยอย่างสมพระเกียรติ

ครั้นเสร็จงานออกพระเมรุ ก็โปรดฯ ให้สถาปนาสถานที่นั้นขึ้นเป็นพระอาราม เพื่ออุทิศพระราชกุศลพระราชทานแด่สมเด็จพระอัครมเหสี 

โดยสร้างพระอารามขึ้นตรงที่ก่อพระเมรุ ประกอบด้วยพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสององค์ใหญ่ เป็นอนุสรณ์ถึงวีรกรรมแห่งความกล้าหาญ และความจงรักภักดี และโปรดฯ ให้บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยไว้ในเจดีย์นั้น

อีกทั้งยังก่อพระวิหาร และเสนาสนะต่างๆ  แล้วพระราชทานนามพระอาราม อันเป็นพระราชานุสรณ์แห่งสมเด็จพระศรีสุริโยทัยแห่งนี้ว่า วัดสบสวรรค์

พระอารามแห่งนี้ เรียกกันต่อมาว่า วัดสวนหลวงสบสวรรค์ 

ภายหลังถูกเปลี่ยนแปลงพื้นที่เป็นโรงงานสุรา พระอุโบสถ วิหาร เสนาสนะทั้งหมดถูกรื้อไป ไม่เห็นร่องรอยเหลืออยู่ มีแต่พระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองเพียงองค์เดียวเท่านั้น ที่ยังตั้งอยู่อย่างสง่างาม


เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ในพื้นที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์เดิม

ภายหลังเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ จึงได้มีการเรียกพระเจดีย์นั้นว่า เจดีย์ศรีสุริโยทัย รวมทั้งย้ายโรงงานสุราออกไป และปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวเป็นสวนหย่อม และอาคารที่เกี่ยวเนื่องด้วยองค์พระเจดีย์ ตามสภาพที่ปรากฏในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕  ยังได้มีการก่อสร้าง พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วยพระรูปสมเด็จพระศรีสุริโยทัยขณะประทับช้างทรงออกศึก ตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ ออกแบบและปั้นรูปโดย คุณไข่มุกด์ ชูโต




เรื่องราวของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ตามที่ได้เรียบเรียงมาโดยสังเขปนี้ เป็นพระราชประวัติตามแนวทางที่เป็น กระแสหลักในทางวิชาการ เนื่องจากมีหลักฐานทางเอกสารยืนยันและอ้างอิงมากที่สุด และเป็นสิ่งที่คนไทยรับรู้กันอยู่ทั่วไป

แต่ประวัติศาสตร์ ก็คือประวัติศาสตร์นะครับ

โดยเฉพาะประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งพินาศย่อยยับไปในการเสียกรุงครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๑๐ จนแทบไม่มีสิ่งใดหลงเหลืออยู่ ต้องอาศัยข้อมูลจากพงศาวดาร และคำให้การต่างๆ ของคนที่เกิดหลังจากเหตุการณ์จริงเป็นเวลานานมาก

รวมทั้งบันทึกของชาวต่างประเทศ ที่จดบันทึกตามความเข้าใจตนเอง จากคำบอกเล่าของแหล่งข้อมูลซึ่งไม่เคยเป็นบุคคลระดับที่มีความรู้ลึกซึ้ง ในเรื่องราวเหล่านั้นอย่างแท้จริงเลย จึงมีทั้งเรื่องที่เชื่อถือได้ และไม่ควรเชื่อ

ส่วนหลักฐานของประเทศคู่สงครามของอยุธยา คือ พม่า ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ก็น่าสังเกตว่า มิได้มีฉบับใดเลยที่กล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย หรือแม้แต่กล่าวถึงพระนามนี้

ผมว่า การที่หลักฐานฝ่ายพม่าไม่กล่าวถึงสมเด็จพระศรีสุริโยทัย อาจมีสาเหตุหลายอย่างครับ เช่นฝ่ายพม่าไม่ทราบว่า หนึ่งในแม่ทัพฝ่ายข้าศึกที่ตนสังหารกลางสมรภูมินั้น คือสมเด็จพระศรีสุริโยทัยก็เป็นไปได้

รวมทั้งกรณีที่ว่า ทางฝ่ายพม่ารู้ภายหลังว่าได้สังหารเจ้านายสตรีไทยด้วยความเข้าใจผิด แล้วอาจเกิดความอับอายจนไม่บันทึกไว้ในพงศาวดารและหลักฐานต่างๆ ของตน ก็มีทางเป็นไปได้เช่นกัน

แต่ที่เปรียบเสมือนระเบิดลูกใหญ่ สำหรับตำนานสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ในความเชื่อและความคุ้นเคยของคนไทยอย่างแท้จริง คือหลักฐานของชาวตะวันตก ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไทยเรารู้จักกันดีครับ

นั่นคือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต

ซึ่ง เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (
Jeremias van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาประจำพระนครศรีอยุธยาเรียบเรียงขึ้นในพ.ศ.๒๑๘๒ 

พงศาวดารฉบับนี้ เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อยุธยาฉบับที่ ๒ ใน ๓ ฉบับ ซึ่ง ฟาน ฟลีต ได้เขียนขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๑๘๒ ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.๒๑๗๒-๒๑๙๙) หรือราวๆ ๗๐-๘๐ ปี หลังยุคสมัยของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย

จึงนับได้ว่า เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ใกล้กับช่วงเวลาที่พระนางยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ยิ่งกว่าหลักฐานทุกฉบับของฝ่ายไทยเสียอีกครับ

ซึ่งตามหลักในการพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อันปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปนั้น หลักฐานใดที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริงมากกว่า ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่า

แต่พงศาวดารฉบับนี้ กลับให้ข้อมูลเกี่ยวแก่พระนางในลักษณะที่แตกต่างออกไป ราวกับเป็นเรื่องราวของราชนารีคนละพระองค์กัน ตั้งแต่พระนามของพระนาง ซึ่ง ฟาน ฟลีตใช้คำว่า พระสุวัฒน์

และเรื่องของพระสุวัฒน์ จากบันทึกของฟาน ฟลีตนั้นมีรายละเอียดว่า ภายหลังออกญาพิษณุโลกแนะนำพระเจ้ากรุงหงสาวดี (ซึ่งฟาน ฟลีต เรียกว่า พระเจ้าแผ่นดินพะโค) ให้ทำสงครามกับสยามอีกครั้งหนึ่งภายหลังสงครามช้างเผือก ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของบรรดาขุนนางและทหารพม่า 

แต่กษัตริย์แห่งหงสาวดี ก็ทรงยกทัพไปกรุงศรีอยุธยา จนไปถูกน้ำท่วมต้องถอยกลับไปพักที่พิษณุโลก รอจนน้ำแห้ง จึงโปรดฯ ให้ออกญาพิษณุโลกนำทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา และได้รับการต่อต้านอย่างหนัก


สมเด็จพระศรีสุริโยทัย จากภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท
ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล รับบทโดย ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี

...การต่อต้านนี้ทำให้กองทัพพะโคต้องหยุดชะงักการบุกหลายครั้งหลายคราว ออกญาพิษณุโลกเป็นตัวตั้งตัวตีในสงครามครั้งนี้ ก็ไม่เป็นที่สบพระทัยของพระเจ้าแผ่นดินพะโคและไม่เป็นที่พอใจของทหารซึ่งอาจจะได้รับโทษถึงแก่ชีวิต ดังนั้นจึงหนีทัพไปซ่อนที่เพนียด

จนกระทั่งพบคนสยามจึงฝากหนังสือไปถึงแม่ยายชื่อว่า พระสุวัฒน์ (Prae Souwat) ซึ่งยังอาศัยอยู่ในราชสำนัก คร่ำครวญอย่างขมขื่นในเรื่องไม่มีความคิดของภรรยาและสภาพที่แร้นแค้นของตน และขอร้องให้พระสุวัฒน์มีหนังสือเล่าสถานการณ์ในเมืองให้ทราบ พระสุวัฒน์เป็นสุภาพสตรีที่มีปัญญาและกล้าหาญ นางมีความสงสารออกญาพิษณุโลกบุตรเขยเป็นอย่างมาก จึงแนะนำให้บุตรีคืนดีกับออกญาพิษณุโลก ในที่สุดบุตรีของนางก็ยินยอม ในระหว่างนั้นออกญาพิษณุโลกและพระสุวัฒน์ก็มีหนังสือโต้ตอบกันหลายครั้ง ดังนั้นจึงทำให้ออกญาพิษณุโลกรู้ความเป็นไปของกิจการบ้านเมืองในสมัยนั้น

พระเจ้าแผ่นดินแห่งพะโค (ซึ่งขาดยุทธสัมภาระโดยเฉพาะดินปืนเนื่องจากการทำรบประปรายกับกองทัพสยามหลายครั้งหลายคราว) ก็ตัดสินใจที่จะเลิกทัพจากกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อออกญาพิษณุโลกได้ทราบเรื่องการตัดสินใจนี้ จึงได้ส่งหนังสือขอกราบทูลอภัยโทษและให้ความเชื่อมั่น กองทัพพะโคจะได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน ถ้าหากจะตั้งวงล้อมอยู่ต่อไปในชั่วระยะเวลาอันสั้น พระเจ้าแผ่นดินพะโคทรงปิติที่ได้รับหนังสือจากออกญา ทรงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้าและอภัยโทษ และถึงแม้พระองค์จะทรงเข้าใจสถานการณ์ที่คับขันและกิจการในกรุงศรีอยุธยาจากคำบอกเล่าของออกญาพิษณุโลกก็ตาม พระองค์ทรงลังเลอยู่มากที่จะตั้งทัพอยู่ต่อไป เนื่องจากสาเหตุสำคัญตัวการสงครามครั้งนี้ทำให้พระองค์ท้อถอย ประชาชนไม่มีความสุข และมีดินปืนในกองทัพเหลือน้อย

พระสุวัฒน์ ทราบความประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดินพะโคและความคับแค้นของกองทัพจากหนังสือของออกญาพิษณุโลก จึงส่งหีบบรรจุดินปืน (ปลอมแปลงว่าเป็นหีบศพ) ไปยังกองทัพพะโคพร้อมทั้งมีหนังสือทูลพระเจ้าแผ่นดินพะโคขออย่าให้หย่าทัพ ให้ตั้งล้อมไว้กรุงศรีอยุธยาและแผ่นดินสยามทั้งหมดจะเป็นของพระองค์อยู่แล้ว เมื่อพระเจ้าแผ่นดินพะโคทรงได้รับหีบดินปืนและหนังสือของพระสุวัฒน์ ทรงประหลาดและปิติเป็นล้นพ้น ทรงเปลี่ยนแผนการและตัดสินพระทัยตั้งทัพอยู่ต่อไป พระสุวัฒน์สามารถส่งดินปืนตามวิธีการที่แล้วให้กองทัพพะโคได้หลายหีบ นางได้สมรู้คบคิดกับออกญาจักรี (Sicrij แม่ทัพสยาม) และชักจูงมาเป็นพวกเดียวกับนาง ออกญาจักรีกับพรรคพวกเพียงสองสามคนได้ออกตีข้าศึกเพื่อให้แน่ใจว่าพวกตนจะไม่สามารถต้านทานกองทัพพะโคได้และจะต้องออกไปอยู่ในเงื้อมมือข้าศึกในที่สุด ด้วยวิธีนี้  ออกญาจักรี พระเจ้าแผ่นดินพะโค และออกญาพิษณุโลกจะสามารถตกลงหาทางที่จะส่งมอบกรุงศรีอยุธยาให้

กองทหารพะโคได้ปะทะกับออกญาจักรีและพรรคพวกและสามารถจับเป็นเชลยได้ทั้งหมด เมื่อได้เข้าเฝ้าออกญาจักรีได้ทูลเหตุการณ์ต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยา ให้พระเจ้าแผ่นดินพะโคและออกญาพิษณุโลกทราบ หลังจากที่ได้พักอยู่กับกองทหารพะโคหลายวันและตกลงวางแผนที่จะยึดกรุงศรีอยุธยาเรียบร้อยแล้ว ออกญาจักรีก็เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงเมืองออกญาก็ใส่ตรวนตัวเองและใส่ขื่อคาที่คอ เข้าเฝ้าถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเพ็ดทูลว่าถูกทหารพะโคจับเป็นเชลยด้วยความไม่สมัครใจ แต่ลอบหนีมาได้ทั้งๆ ที่ยังถูกใส่โซ่ตรวน พระเจ้าแผ่นดินทรงปิติที่ได้แม่ทัพกลับคืนมา ทรงสอบถามถึงเหตุการณ์ภายในกองทัพพะโค จักรีทูลต่อ (เพื่อที่จะทำให้พระเจ้าแผ่นดินทรงประมาทยิ่งขึ้น) ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยเพราะพระเจ้าแผ่นดินพะโคขาดเสบียงอาหาร และพระองค์ตัดสินพระทัยจะยกทัพกลับบ้านเมือง พระเจ้าแผ่นดินทรงปิติเป็นล้นพ้นเมื่อทรงทราบข่าวนี้ ออกญาจักรีทูลว่า พระองค์ทรงตระหนักถึงสถานะ (พระมหากษัตริย์) ของพระองค์ดีอยู่แล้ว ขอให้พระองค์ทรงระมัดระวังและปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์ดังที่ได้เคยปฏิบัติมาหลังจากนั้นสองสามวันพระเจ้าแผ่นดินพะโคก็ยกทัพมาถล่มกรุงศรีอยุธยาทุกทิศทุกทาง โดยเฉพาะพระราชวัง ออกญาจักรี (ซึ่งรักษาการณ์อยู่ ณ ที่นั้น) ไม่ได้บรรจุดินปืนอย่างเต็มที่ และไม่พยายามยิงให้ถูกเป้าจนทหารพะโคเข้าประชิดราชสำนัก ออกญาจักรีก็เปิดประตูรับข้าศึก

พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงตั้งอยู่ในความประมาท พระองค์ยังทรงยืนดูกีฬาชนไก่อยู่ ในขณะที่ราชสำนักถูกยึด อย่างไรก็ดี พระสุวัฒน์ได้ชักจูงพระองค์ให้เสด็จไปประทับ ณ ห้องหนึ่งในราชวังและนาง (ซึ่งเราได้กล่าวถึงอย่างมากมายข้างต้นนี้) ได้วางยาพิษพระองค์ พระองค์ทรงมีพระชันษาทั้งสิ้น ๓๔ ปี เสวยราชย์อยู่ได้ ๗ ปี

พระสุวัฒน์ และธิดาของนางได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินพะโคและออกญาพิษณุโลกและได้รับพระราชทานอภัยโทษทั้งสองคน เมื่อพระเจ้าแผ่นดินพะโคยึดได้กรุงศรีอยุธยาก็เป็นที่ทราบทั่วไปว่า พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินอาณาจักรสยามด้วย เจ้าผู้ครองรัฐต่างๆ ทั้งใกล้และไกลต่างก็เดินทางมาเข้าเฝ้าถวายสักการะหลังจากที่พระองค์ทรงจัดการทุกสิ่งทุกอย่างให้อยู่ใต้อำนาจของพระองค์แล้วก็ทรงแต่งตั้งออกญาพิษณุโลกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน โดยมีเงื่อนไขว่า แผ่นดินสยามจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่พระเจ้าแผ่นดินพะโค และพระเจ้าแผ่นดินสยามทุกพระองค์จะต้องส่งพระราชโอรสองค์หนึ่งหรือสององค์หรือในกรณีที่ไม่มีพระราชโอรสก็ต้องส่งพระญาติสนิทที่เป็นชายไปเป็นตัวประกัน ณ เมืองพะโค ดังนั้นพระเจ้าแผ่นดินสยามจึงตกเป็นข้าเบื้องยุคลบาทของพระเจ้าแผ่นดินพะโค หลังจากนั้นพระเจ้าแผ่นดินพะโคก็ยกทัพกลับพร้อมทั้งพระนเรศ (พระนเรศวร Prae Naerith) พระโอรสองค์แรกของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่แห่งสยาม ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา

จะเห็นว่า บันทึกในส่วนนี้ของฟาน ฟลีต ได้กล่าวถึงพระสุวัฒน์ อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นราชนารีพระองค์เดียวกับสมเด็จพระศรีสุริโยทัยเลยครับ

เพราะขณะที่คนไทยรู้จักสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ในฐานะวีรสตรีที่ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องพระราชสวามี ซึ่งหมายถึงการปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนของพระนางเอง (และรวมถึงประเทศไทยตามลัทธิชาตินิยมด้วย)

พระสุวัฒน์กลับทรงร่วมมือกับสมเด็จพระมหาธรรมราชา ผู้เป็นพระชามาดา แอบส่งดินปืนให้กองทัพพม่า และคบคิดกับออกญาจักรีในการเป็นไส้ศึก ให้กรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้ รวมทั้งยังทรงทูลขอให้พระเจ้ากรุงหงสาวดี ทรงดำเนินการเข้าตีกรุงศรีอยุธยาอย่างถึงที่สุดด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการฝ่ายไทย เช่น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์  ไม่คิดว่าพระสุวัฒน์ในที่นี้จะหมายถึงสมเด็จพระศรีสุริโยทัย 

แต่คิดว่า น่าจะหมายถึงพระวิสุทธิกษัตรีย์ ชายาของออกญาพิษณุโลก ซึ่งทรงมีพระนามเดิมว่า พระสวัสดิราช มากกว่า


พระรูปสมเด็จพระศรีสุริโยทัย
ภายในศาลที่วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา
ภาพจาก http://www.thaigoodview.com

ดังที่ท่านได้เสนอไว้ในหนังสือเรื่อง พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช ว่า

แต่บุคคลอีกผู้หนึ่งที่ดูจะเป็นใจกับฝ่ายพม่า แต่บทเรียนทางประวัติศาสตร์กล่าวข้ามไป คือผู้ที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน ซึ่งตามเรื่องในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า กำลังสำคัญในการอำนวยการป้องกันพระนครศรีอยุธยาคือขุนนางที่ชื่อว่า พระยาราม พระเจ้าบุเรงนองจึงปรึกษากับพระมหาธรรมราชาจะทำอุบายเอาตัวพระยารามออกมาให้ได้ พงศาวดารกล่าวว่า

...พระมหาธรรมราชาเห็นด้วย ก็แต่งนายก้อนทอง ข้าหลวงเดิมให้ถือหนังสือลอบเข้าไปถึงขุนสนม ข้าหลวงซึ่งสมเด็จพระเจ้าช้างเผือก [คือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ] ไปเอาลงมาแต่เมืองพิษณุโลกกับด้วยพระวิสุทธิกษัตรีนั้น ขุนสนมก็ส่งหนังสือนั้นเข้าไปถวายแก่พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน...

ความในหนังสือนั้นว่า พระยารามช่วยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิต่อต้านพม่า บัดนี้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคตแล้ว พระยารามก็ยังสู้รบต่อไปอีก ควรจะหยุดได้แล้วเมื่อมิให้เสียไมตรีกับพม่า ควรส่งพระยารามผู้ต่อต้านพม่าที่เหลือเพียงคนเดียวออกไปถวายแก่พระเจ้าบุเรงนองเสีย สงครามก็จะสงบ

พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในจึงนำเรื่องไปเล่าให้สมเด็จพระมหินทราธิราชฟัง สมเด็จพระมหินทราธิราชปรึกษาข้าราชการแล้วตกลงส่งพระยารามออกไปถวายแก่พระเจ้าบุเรงนอง ดังนั้นการสู้รบต่อต้านพม่าในกรุงศรีอยุธยาจึงอ่อนแอลงด้วยเหตุนี้ประการหนึ่ง เพราะพระเจ้าบุเรงนองยังคงจะเข้าตีกรุงศรีอยุธยาที่อ่อนแอลงให้ได้

เมื่อพิจารณาถึงความในพงศาวดารที่กล่าวถึงนายก้อนทองคนของพระมหาธรรมราชา กับขุนสนมคนในกรุงศรีอยุธยา จะเห็นว่าทั้งคู่รู้จักกันดี เพราะเป็นขุนนางของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิที่ส่งไปด้วยกับพระวิสุทธิกษัตรีครั้งขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิรับพระวิสุทธิกษัตรีกับพระเอกาทศรถกลับมาไว้ที่พระนครศรีอยุธยานั้น ขุนสนมก็กลับลงมาอยู่ด้วย ส่วนนายก้อนทองมิได้ลงมาคงอยู่ที่เมืองพิษณุโลกและมาทัพกับพระมหาธรรมราชา ดังนั้น พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในที่ขุนสนมเอาหนังสือของพระมหาธรรมราชาไปถวายก็คือพระวิสุทธิกษัตรี พระมเหสีของพระมหาธรรมราชานั่นเอง

การที่พงศาวดารเรียกพระนางว่า พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในนั้นแสดงให้เห็นถึงความยำเกรงของสมเด็จพระมหินทราธิราชที่มีต่อพระพี่นางของพระองค์ และยกพระนางไว้ในตำแหน่งสูงสุดมากกว่าสตรีใดๆ ในราชสำนัก

คำว่า พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน มีกล่าวอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขาสองครั้ง และมีกล่าวในหนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดารอื่นๆ ทุกฉบับ แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มิได้ทรงกล่าวในพระนิพนธ์คำอธิบายหนังสือพงศาวดารของพระองค์เลย เป็นไปไม่ได้ที่จะลอดสายพระเนตรของพระองค์ไปได้ เพราะเรื่องที่ทางพม่าทำอุบายได้ตัวพระยารามไปก็ทรงกล่าวถึง และเล่าว่าพม่าได้ใช้พระยารามผู้นี้ออกไปหลอกลวงพระไชยเชษฐาผู้ทรงยกกองทัพล้านช้างมาช่วยกรุงศรีอยุธยา เป็นเหตุให้กองทัพล้านช้างถูกพม่าตีแตกกลับไป

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะต้องทรงเห็นและเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ที่พระราชพงศาวดารเรียกว่า พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน ผู้นี้คือพระวิสุทธิกษัตรีอย่างไม่มีปัญหา แต่พฤติกรรมของพระนางตอนนี้ดูแปลกๆ ที่ยังมีความผูกพันกับพระสวามีผู้มากับกองทัพพม่าเป็นอย่างดี และเนื่องจากเรื่องในตอนนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างพระราชบิดาและพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในการทำอุบายบั่นทอนกำลังสำคัญของกรุงศรีอยุธยาให้อ่อนแอลงนั่นเอง จึงทรงแสร้งผ่านเลยไปไม่อธิบาย ทรงกล่าวอย่างรวบรัดเพียงว่าเป็นเพทุบายของพม่า (ในภาพรวม) ในการขจัดพระยารามผู้เป็นอุปสรรคสำคัญออกไป

บทบาทของพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในในครั้งนี้ ได้รับการเล่าสืบต่อมาอีก ๗๐ กว่าปีอย่างกระจ่างแจ้งกว่าที่บันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดาร โดย วันวลิต ได้เล่าไว้ในหนังสือพงศาวดารของเขา กล่าวถึงพระนามของพระสวัสดิ์ ซึ่งเรียกสั้นลงมาจากพระสวัสดิราช อันเป็นพระนามเดิมของพระวิสุทธิกษัตรี ซึ่งเมื่อเข้าหูฝรั่งของวันวลิต ได้ยินเป็นพระสุหวัด วันวลิตจึงระบุชื่อของพระนางด้วยอักษรโรมัน เขียนอย่างฮอลันดาว่า Prae Souwat อีกทั้งวันวลิตคงสับสน (หรือผู้ที่ถ่ายทอดให้วันวลิตฟังสับสนก็ได้) ในอำนาจอันสูงศักดิ์ของพระนาง จึงเข้าใจว่าพระนางเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการปริวรรตชื่อนี้มาเป็นภาษาไทย ผู้แปลพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต จึงสมมติชื่อที่ใกล้เคียงที่สุดว่า พระสุวัฒน์ เพราะย่อมไม่คิดที่จะเอาชื่อที่ถูกต้องคือ พระสุหวัด-พระสวัสดิ์ มาใช้ ด้วยชื่อนี้เป็นชื่อพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มิใช่ชื่อที่วันวลิตสับสนว่าเป็นพระมเหสี




การอธิบายเช่นนี้ ผมว่ามีเหตุผลดีครับ ถ้าหากเราจะไม่พิจารณาถึงความจริงที่ว่า

๑) ตำแหน่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน คือตำแหน่งของเจ้านายสตรีที่ทรงมีพระราชฐานะสูงสุดในราชสำนัก ในระดับที่สมเด็จพระมหินทราธิราชยังต้องทรงเกรงพระทัย

และคำว่า พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน ก็หมายความอยู่ในตัวเองว่า จะต้องทรงมีอำนาจว่าราชการ และควบคุมพระราชฐานชั้นในได้ทั้งหมด รวมถึงอาจทรงแทรกแซงการบริหารประเทศของพระมหากษัตริย์ได้ด้วย

๒) แต่ก็ไม่มีข้อความตอนใดในพงศาวดารต่างๆ ของไทยแสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระมหินทราธิราชจะทรงเกรงพระทัยสมเด็จพระพี่นาง จนทรงยกย่องถึงเพียงนั้น

ทั้งนี้ เราจะต้องเข้าใจถึงฐานะของพระวิสุทธิกษัตรีย์ ในเวลานั้นด้วยนะครับ ว่าทรงเป็นชายาของผู้ที่พลิกผัน กลายเป็นศัตรูของกรุงศรีอยุธยาไปแล้วด้วย

นอกจากนั้น แม้แต่ อ.พิเศษเองก็ยืนยันไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า แท้จริงแล้วในเวลานั้น พระวิสุทธิกษัตรีย์กับพระมหาธรรมราชา ยังคงรักใคร่กลมเกลียวกันดี มิได้มีเรื่องบาดหมางกัน ดังที่มีพงศาวดารไทยบางฉบับกล่าวไว้

และถ้าข้อสันนิษฐานเกี่ยวแก่พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในทั้งหมดของ อ.พิเศษ ดังที่ยกมาข้างต้นนั้น เป็นความจริง ก็ยิ่งเท่ากับเป็นเครื่องยืนยันความรักใคร่กลมเกลียว ระหว่างพระวิสุทธิกษัตรีย์กับพระสวามี มากขึ้นไปอีกน่ะสิครับ

แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร ที่สมเด็จพระมหินทราธิราชจะไม่ทรงระแคะระคายเรื่องเช่นนี้ และไว้วางพระทัยสมเด็จพระพี่นาง จนทรงยกย่องขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในได้?

๓) ขุนสนม เป็นข้าหลวงที่ใกล้ชิด พอจะส่งหนังสือลับเข้าไปถวายพระวิสุทธิกษัตรีย์ได้ก็จริง 

แต่จากข้อความกำกวมในพงศาวดาร ก็อาจแปลความได้สองอย่าง

คือจะแปลความว่า ขุนสนมส่งหนังสือนั้นเข้าไปถวายพระวิสุทธิกษัตรีย์ ซึ่ง ทรงเป็นพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในก็ได้

หรือจะแปลว่า ขุนสนมนั้นส่งหนังสือเข้าไปถวาย พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในซึ่งเป็นอีกบุคคลหนึ่ง ที่ไม่ใช่พระวิสุทธิกษัตรีย์ โดยอาศัยความเป็นขุนนางที่ใกล้ชิดกับพระวิสุทธิกษัตรีย์

...ก็ได้เหมือนกัน จริงมั้ยครับ?

เพราะจากข้อความในพงศาวดารนั้น ก็น่าสังเกตอยู่ว่า 

เหตุใดเมื่อมีการออกพระนามพระวิสุทธิกษัตรีย์แล้ว จึงยังต้องมีการใช้คำว่า พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน ต่อจากนั้นอีก?

ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน มิใช่พระวิสุทธิกษัตรีย์ 

แต่เป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับพระวิสุทธิกษัตรีย์ จนต้องให้ขุนนางที่ใกล้ชิดคุ้นเคยกับพระวิสุทธิกษัตรีย์ ใช้ความใกล้ชิดนั้นส่งหนังสือไปถวาย?

๔) ถ้าเช่นนั้น พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน ราชนารีผู้ทรงอำนาจที่สุดในกรุงศรีอยุธยา และทรงมีความสัมพันธ์กับพระวิสุทธิกษัตรีย์ ก็ไม่ควรจะเป็นใครอื่น นอกจาก สมเด็จพระศรีสุริโยทัย นั่นเองละครับ

๕) แต่ปัญหาก็คือ ทั้งพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และฉบับอื่นๆ กล่าวไปในทำนองเดียวกันว่า สมเด็จพระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านั้นแล้ว

สมมุติว่าอย่างนี้นะครับ, ผู้แต่งพงศาวดารฉบับดังกล่าวได้ข้อมูลมาสองทาง

คือ เรื่องการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย (ซึ่งไม่มีเหตุผล ไม่มีที่มาที่ไป) เรื่องหนึ่ง

กับเรื่องของพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน ผู้มีบทบาทในการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก อีกเรื่องหนึ่ง

จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่ว่าเมื่อนำทั้งสองเรื่องนี้มาเรียบเรียงต่อเนื่องกันแล้ว ผู้แต่งพงศาวดารจะไม่สามารถอธิบายได้ว่า สมเด็จพระศรีสุริโยทัยซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ทรงมาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ช่วงเสียกรุงได้อย่างไร

ทำให้ต้องใช้คำว่า พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน โดยไม่สามารถระบุได้ว่า คือราชนารีพระองค์ใด ระบุได้เพียงแต่ว่า ทรงเกี่ยวข้องกับพระวิสุทธิกษัตรีย์เท่านั้น?

๖) ฟาน ฟลีต มิได้สับสนในเรื่องเกี่ยวกับพระสุวัฒน์นะครับ 

เขาอ้างไว้อย่างชัดเจนว่า พระนางทรงเป็น แม่ยายของออกญาพิษณุโลก

และก่อนหน้านั้น เขายังได้เล่าถึงพระธิดาของพระนาง คือ พระวิสุทธิกษัตรีย์ ว่าได้เกิดมีการทะเลาะเบาะแว้งกับออกญาพิษณุโลก จนสมเด็จพระมหินทราธิราชต้องทรงรับมาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา

เพราะฉะนั้น พระสุวัฒน์ผู้ทรงเป็น แม่ยายของออกญาพิษณุโลก จะเป็นใครไปไม่ได้เลยนะครับ นอกจากสมเด็จพระศรีสุริโยทัย

๗) ดังนั้น ถ้าฟาน ฟลีต (หรือผู้ให้ข้อมูลเหตุการณ์ช่วงนี้กับฟาน ฟลีต) จะสับสน 

ก็อาจสับสนไปในข้อที่ว่า ไปเอาพระนามเดิมของพระวิสุทธิกษัตรีย์ มาใช้กับ แม่ยายของพระมหาธรรมราชา หรือออกญาพิษณุโลกมากกว่า

ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงครับ

เนื่องจาก เรื่องราวของเจ้านายฝ่ายหญิงในรั้วในวังนั้น เป็นเรื่องซ่อนเร้นปิดบัง ยากที่บุคคลภายนอกจะรู้ได้อย่างกระจ่างแจ้ง 

ที่รู้ ก็จากการแอบเล่าสู่กันฟัง 

ความสับสนผิดพลาดในเรื่องพระนาม จึงอาจเกิดขึ้นได้

ที่สำคัญคือ ฟาน ฟลีต มิได้กล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ในสงครามอยุธยา-พม่าครั้งแรกเลยนะครับ

เขาไม่รู้จักพระนาม สุริโยทัยด้วยซ้ำ

และถ้าเอาเรื่องของพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน ในพงศาวดารของไทย กับเรื่องราวของพระสุวัฒน์ ในบันทึกของฟาน ฟลีต มาเปรียบเทียบกัน ก็จะเห็นความสอดคล้องต่อเนื่องกันชัดเจน

ด้วยเหตุนั้น สิ่งที่น่าตื่นตระหนก สำหรับเรื่องราวของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย จึงมิใช่ประเด็นที่ว่า พระนางทรงแต่งองค์เป็นชายตามพระราชสวามีออกสู่สนามรบ อย่างในประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เรารู้กัน

แต่เป็นประเด็นที่ว่า นอกจากพระนางจะมิได้สิ้นพระชนม์ในสนามรบแล้ว พระนางยังทรงทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้กองทัพหงสาวดีเข้ามายึดครองกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

พูดง่ายๆ ว่า จากวีรสตรี กลายเป็นผู้ทรยศชาติ!?!


ภาพประชาสัมพันธ์ ภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล

ถ้าจะถามผมว่า เรื่องเช่นนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่

ผมก็จำเป็นต้องตอบว่า เป็นไปได้ครับ

ประการที่หนึ่ง

ฟาน ฟลีต มิได้บันทึกเรื่องนี้จากจินตนาการ แต่เป็นการบันทึกตามคำบอกเล่า และทัศนคติของผู้ให้ข้อมูล โดยผ่านล่ามซึ่งก็คือ ภรรยาคนไทยของ ฟาน ฟลีต นั่นเอง

ผู้ให้ข้อมูลเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็คือคนอยุธยาที่มีชีวิตอยู่ในราวๆ ๗๐-๘๐ ปีหลังยุคสมัยของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย

นับได้ว่าเป็นคนรุ่นใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่พระนางยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ มากกว่าผู้แต่ง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. ๒๒๒๓)

ผู้แต่ง คำให้การของชาวกรุงเก่า (สมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒)

ผู้แต่ง พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ชำระขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔) 

และ ผู้แต่ง พงศาวดารฉบับไทยรบพม่า (เขียนในสมัยรัชกาลที่ ๖ พ.ศ.๒๔๖๐)

ประการที่สอง

ตามความคิดของนักประวัติศาสตร์ไทยปัจจุบัน โน้มไปในข้างที่ว่า สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงมีเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง เช่นเดียวกับสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระชามาดาของพระนาง

เมื่อพระนางทรงเป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง การที่พระนางทรงเสกสมรสกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จากราชวงศ์สุพรรณภูมินั้น ย่อมเป็นด้วยเหตุผลทางการเมือง มากกว่าเรื่องส่วนตัว

ดังนั้น ถึงแม้จะทรงเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีแห่งกรุงศรีอยุธยา พระนางก็ต้องทรงคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเมือง ของราชวงศ์พระร่วง ในระดับที่ไม่เสียเปรียบราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้น

ซึ่งก็เพราะอย่างนั้นละครับ 

เมื่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ได้มีความร้าวฉานเกิดขึ้นระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระมหาธรรมราชา 

จนปรากฏชัดเจนใน สงครามช้างเผือก พ.ศ.๒๑๐๖ ที่พระเจ้าบุเรงนองทรงยกทัพเข้าตีเมืองพิษณุโลก โดยทางอยุธยามิได้จัดทัพไปช่วยเหลือ เป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาธรรมราชา ต้องทรงสู้รบกับพระเจ้าบุเรงนองเพียงลำพัง จนต้องทรงยอมสวามิภักดิ์

และสมเด็จพระมหาธรรมราชา ก็ทรงนำทัพร่วมกับพระเจ้าบุเรงนองมาตีกรุงศรีอยุธยา จนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงยอมแพ้ และนำไปสู่สงครามใหญ่อีกครั้งในรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช จนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในพ.ศ.๒๑๑๒ 

ซึ่งภายหลังเสียกรุง ก็ปรากฏว่าพระเจ้าบุเรงนองทรงสถาปนา สมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งราชวงศ์พระร่วง ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาแทน

จึงเป็นไปได้มากทีเดียวครับ ถ้าสมเด็จพระสุริโยทัย ผู้ทรงสืบเชื้อสายจากราชวงศ์พระร่วง จะทรงกระทำสิ่งต่างๆ ตามที่ฟาน ฟลีต บันทึกไว้จริง

เพื่อเปิดทางให้ราชวงศ์พระร่วงของพระนาง ได้ครองอำนาจในกรุงศรีอยุธยา โดยผ่านทางพระชามาดาของพระนางนั่นเอง

ซึ่งในการพิจารณาข้อมูลส่วนนี้ เราจำเป็นต้องตัดความคิด เกี่ยวแก่เรื่องของความจงรักภักดี ที่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงมีต่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตามความเชื่อเดิมที่เราถูกปลูกฝังมาเสียก่อน

เพราะถ้าทั้งสองพระองค์ทรงเสกสมรสกันด้วยเหตุผลทางการเมือง การที่จะมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อกัน ถึงขนาดยอมตายแทนกันได้ ก็จะเป็นไปได้ละครับ ตราบที่ทั้งสองราชวงศ์ยังมีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น เท่านั้น

มิใช่เกิดความแตกแยกร้าวฉานกันอย่างรุนแรง จนนำไปสู่การเสียบ้านเสียเมืองของทั้งสองฝ่าย ดังกรณีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระมหาธรรมราชา

ถ้าพระราชสวามีทรง หักหลังพระประยูรญาติในราชวงศ์ของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ด้วยการเพิกเฉยไม่ส่งกองทัพไปช่วยเหลือ จนกรุงพิษณุโลกอันเป็นภูมิสถานเดิมของพระนางต้องเสียแก่พม่า

และถ้าข้อเท็จจริงคือ การเสกสมรสระหว่างพระนางกับกษัตริย์อยุธยา เป็นเหตุผลทางการเมืองล้วนๆ ที่ไม่มีเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง (ซึ่งก็มักเป็นเช่นนั้น)

เราก็ไม่จำเป็นต้องได้รับความสะเทือนใจ จากการที่วีรสตรีในประวัติศาสตร์ของเรา (ซึ่งทางราชการล้างสมองพวกเรามาตลอดว่า ได้ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อกรุงศรีอยุธยา หรือเพื่อแผ่นดินไทย) จะกลับกลายเป็นผู้คบคิดกับพระราชบุตรเขย และไส้ศึกของทางหงสาวดี เข้ามายึดกรุงศรีอยุธยาเสียเอง

เพราะกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่บ้านเมืองที่แท้จริงของพระนาง 

บ้านเมืองที่แท้จริงของพระนาง คือ กรุงพิษณุโลก ครับ


ซึ่งถ้าหากพระนางมิได้สิ้นพระชนม์ในสงครามเมื่อ พ.ศ.๒๐๙๑ พระนางก็จะได้เห็นว่า ถูกพระราชสวามีของพระนาง ปล่อยให้ตั้งรับกองทัพอันทรงแสนยานุภาพของพระเจ้าบุเรงนองอย่างโดดเดี่ยวจนยับเยิน

ขณะเดียวกัน กรุงศรีอยุธยาก็ไม่ใช่บ้านเมืองของราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่ง แต่เป็นเสมือนสมบัติผลัดกันชมระหว่าง ๓ ราชวงศ์ คือ

ราชวงศ์อู่ทอง ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา

ราชวงศ์สุพรรณภูมิ จากสุพรรณบุรี ซึ่งเข้ามายึดครองราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาสลับกับราชวงศ์อู่ทอง 

และ ราชวงศ์พระร่วง จากพิษณุโลก ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ราชวงศ์สุพรรณภูมิใช้เป็นฐานในการยึดอำนาจในกรุงศรีอยุธยา

พูดง่ายๆ ว่า เป็น ของกลางที่ราชวงศ์ใดก็มีสิทธิ์ครอบครองได้ไงครับ

เพราะฉะนั้น เมื่อพระราชสวามีจากราชวงศ์อื่น ไม่ทรงรักษาความสัมพันธ์ และการกระทำที่ถูกต้องต่อราชวงศ์ของพระนาง

พระนางก็ไม่จำเป็นต้องทรงรักษาความสัมพันธ์ และการกระทำที่ถูกต้องต่อพระราชสวามี เป็นต้นว่าการตามเสด็จออกสงคราม และเอาพระองค์เองเข้าแลก เพื่อให้พระราชสวามีพ้นอันตราย อย่างในประวัติศาสตร์กระแสหลักเลยนะครับ


สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ทรงรับพระแสงอาญาสิทธิ์ ในการตามเสด็จพระราชสวามีออกสู่สงคราม
ในภาพยนตร์ สุริโยไท ซึ่งเหตุการณ์นี้ อาจไม่เคยเกิดขึ้นในความเป็นจริง

นี่ละครับ คือเหตุปัจจัยทั้งหมด อัน "อาจจะ" นำไปสู่ความเป็นไปได้ ตามข้อเขียนของ ฟาน ฟลีต

ซึ่งถ้าเราพิจารณาตามแนวทางนี้ เราก็จะเห็นถึงความมีเหตุผลสอดคล้องรองรับ ที่ค่อนข้างจะหนักแน่น มากกว่าพระราชประวัติสมเด็จพระศรีสุริโยทัยฉบับทางการ ที่พวกเราได้รับการปลูกฝังมาตลอดเสียอีก

และถ้าสมเด็จพระศรีสุริโยทัย มิได้สิ้นพระชนม์ในสงครามอยุธยา-พม่าครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๐๙๑ แล้วยังทรงอยู่เบื้องหลังการเสียกรุงใน พ.ศ.๒๑๑๒ จริง 

มันก็ไม่เป็นปัญหาใดๆ เลยนะครับ ในทางวิชาการประวัติศาสตร์ของเรา ที่สมควรจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้ค้นพบใหม่ๆ เป็นระยะอยู่แล้ว

ปัญหาอย่างเดียวที่จะเกิดขึ้น จากการยอมรับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชุดนี้ คือ ปัญหาทางด้านอารมณ์ความรู้สึก

เนื่องจากคนไทยเรา ถูกภาครัฐปลูกฝังให้คิดว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความเป็นชาติบ้านเมือง ของสยามประเทศมาโดยตลอดไงครับ

พูดง่ายๆ ก็คือ เราถูก "ล้างสมอง" ให้คิด และเชื่อกันอยู่เพียงว่า

๑) กรุงศรีอยุธยา คือประเทศไทย

๒) การกระทำใดๆ ต่อกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าจากบุคคลใด หรือชนชาติใด คือการกระทำต่อประเทศไทย

ทั้งที่ความเป็นจริงคือ คำว่าประเทศไทย เพิ่งเกิดมีขึ้นเมื่อภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ นี้เอง

และแนวความคิดดังกล่าว ก็เพิ่งเกิดจากการล้างสมอง ด้วยลัทธิชาตินิยมแบบฟาสซิสต์ สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เองเช่นกัน

กรุงศรีอยุธยา เป็นอาณาจักรแรกของคนไทย เป็นพื้นฐานของกรุงเทพฯ และความเป็นรัฐไทยในปัจจุบันก็จริงครับ

แต่กรุงศรีอยุธยาคือกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่ประเทศไทย

และไม่เคยผูกพันตนเองเข้ากับความเป็นไทย แบบที่คนเราสมัยนี้ถูกสั่งสอนให้เชื่อกันด้วยนะครับ

เพราะฉะนั้น ถ้าสมเด็จพระศรีสุริโยทัยมิได้ทรงปลอมพระองค์เป็นชาย ประทับช้างทรงตามเสด็จพระราชสวามีออกสู่สงครามจนสิ้นพระชนม์  

แต่กลับทรงคบคิดกับพระญาติพระวงศ์ของพระนางเอง เปิดทางให้ทางหงสาวดีมีชัยชนะเหนือกรุงศรีอยุธยา จนราชวงศ์ของพระนางได้ขึ้นครองราชย์บัลลังก์กรุงศรีอยุธยา 

ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรเลย

ทั้งยังมีทางเป็นไปได้มาก และมีเหตุผลยิ่งกว่าการที่พระนางจะต้องทรงสละพระชนม์ชีพแทนพระราชสวามี ซึ่งทรงทรยศหักหลังราชวงศ์ และบ้านเกิดเมืองนอนของพระนางเสียอีก

ข้อสำคัญ ที่ผู้ซึ่งกำลังจะตีโพยตีพาย (ว่าชาวต่างชาติมาเขียนประวัติศาสตร์ให้ วีรสตรีไทยพระองค์หนึ่ง กลายเป็นผู้ทรงทำลายชาติบ้านเมืองของพระนางเอง) นั้นจะต้องคำนึงถึง

ก็คือ...

การที่พระสุวัฒน์ หรือสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ทรงช่วยให้ทางพม่าเอาชนะกรุงศรีอยุธยาได้นั้น ทำให้ราชวงศ์พระร่วงได้ครองกรุงศรีอยุธยา

และทำให้เกิดมีจอมราชันย์ ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยพระบรมเดชานุภาพ อย่าง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช 

ที่ไม่เพียงแต่จะทรงคืนอิสรภาพ ให้แก่กรุงศรีอยุธยาได้ภายในระยะเวลาเพียง ๑๕ ปีเท่านั้น ยังทรงนำกรุงศรีอยุธยาไปสู่ความเป็นราชอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่

อย่างที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระมหินทราธิราชก็ไม่อาจกระทำได้

ดังนั้น ถ้าสมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงกระทำดังที่ฟาน ฟลีต บันทึกไว้จริง 

นั่นต่างหากล่ะครับ ที่ควรเป็น วีรกรรม” อันแท้จริงของพระนาง ที่ส่งผลให้เกิดรากฐานอันแข็งแกร่ง  และความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงของสยามประเทศ

มากกว่าการสิ้นพระชนม์ในสนามรบ ที่แม้จะทำให้ได้รับการยกย่อง ถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดี กับการสละชีพเพื่อชาติ  แต่ก็ไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น ต่อการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์อยุธยาและประวัติศาสตร์ไทย

มิหนำซ้ำ ยังทำให้เกิดคำถามมาตลอดว่า เป็นหน้าที่ของเจ้านายสตรีพระองค์ใดหรือไม่ และมีเหตุผลสมควรเพียงใด ที่พระนางจำเป็นต้องทำเช่นนั้น


ภาพจาก http://images.palungjit.org

ผมจึงขอเสนอว่า เราควรพิจารณาถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชุดใหม่นี้ อย่างเปิดกว้างนะครับ

ซึ่งถ้าเป็นจริง เราก็จะได้รับความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องยิ่งขึ้น 

และได้ชื่นชมพระปรีชาสามารถ ตลอดจนพระบารมีอันศักดิ์สิทธิ์ ขององค์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ที่ทรงมีต่อชาติบ้านเมืองของเรา ในทางที่มีเหตุผล และสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

ส่วนในเรื่องของการกราบไหว้บูชาพระนาง ในฐานะที่ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อปกป้องพระราชสวามีในสนามรบ จนทำให้มีการสร้างพระรูปของพระนาง ตลอดจนพระราชานุสาวรีย์ของพระนาง ในลักษณาการที่กำลังออกศึกนั้น

ถ้าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงไป ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปยกเลิกแต่อย่างใดหรอกครับ

เพราะถึงอย่างไร เราก็ยังไม่ทราบความจริงพอจะชี้ชัดลงไปในขณะนี้ว่า พระนางทรงเคยฉลองพระองค์อย่างนักรบ และเคยเสด็จออกสงครามหรือไม่

และถึงแม้ว่าจะปรากฏข้อมูลในภายหลังว่า พระนางไม่เคยทรงกระทำเช่นนั้น 

พระรูปประติมากรรมเหล่านั้น ก็ยังควรจะได้รับการรักษาไว้ ในฐานะที่มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์และเรื่องราวของพระนางอยู่ดี

กล่าวคือ แม้จะเป็นของที่สร้างขึ้นในคติความเชื่อที่ถูกค้นพบว่า ไม่ตรงกับความเป็นจริงอีกต่อไป พระรูปประติมากรรมเหล่านั้น ต่างก็มีประวัติศาสตร์เป็นของตนเองเช่นกันครับ

สิ่งที่ทางภาครัฐจะต้องกระทำ ถ้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของ ฟาน ฟลีต และ ทฤษฎีใหม่ดังกล่าวนี้เป็นจริง ก็คือการมุ่งให้ความรู้ใหม่แก่ประชาชนแทนความรู้เดิมให้เร็วที่สุดต่างหาก

โดยกระทำควบคู่ไปกับการปลดแอกประชาชน ออกจากลัทธิคลั่งชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

ให้คนไทยรับรู้ประวัติศาสตร์ของตน อย่างมีเหตุผลตามที่เป็นจริง มิใช่ด้วยจินตนาการเพ้อฝันอย่างละคร (Dramatic)

แต่ผมว่า คงเป็นไปได้ยากครับ


เพราะต้องใช้เวลาอีกนานเหมือนกัน กว่าทางราชการไทย โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม จะสามารถปลดแอกตนเองได้ จากความเชื่อล้าหลังดังกล่าวนี้เสียก่อน



………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

3 comments:

  1. มีเหตุผลคะแต่คนที่นับถือพระองค์ท่านคงรับไม่ได้

    ReplyDelete
  2. ประวัติศาสตร์ ถึงเวลาที่มีข้อมูลใหม่ก็ต้องเปลี่ยน

    แต่ใจคนที่ยึดมั่นถือมั่น คงเปลี่ยนตามยากค่ะอาจารย์

    ReplyDelete
    Replies
    1. ไทยเราเอาประวัติศาสตร์มาผูกโยงกับอะไรอีกหลายต่อหลายอย่าง การจะเปลี่ยนแปลงจึวเป็นเรื่องยุ่งยากมากครับ

      Delete

Total Pageviews