Thursday, December 1, 2016

สมเด็จพระสุพรรณกัลยา : ราชนารีผู้เสียสละเพื่อแผ่นดิน ตอนที่ ๑



สมเด็จพระสุพรรณกัลยา จากภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งสร้างตามความเชื่อกระแสหลักของคนไทย


ตำนานสมเด็จพระสุพรรณกัลยา เท่าที่เรามีกันอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น เป็นตำนานที่ยังมีข้อขัดแย้งในตัวเองอยู่มาก เพราะมีแหล่งอ้างอิงอยู่หลายกระแส

จากบรรดาคำให้การฯ ต่างๆ ที่คนไทยเราทั่วไปเชื่อถือกัน ก็เป็นอย่างหนึ่ง

จากพงศาวดารพม่า ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

รวมทั้งจากการค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นใหม่ๆ และจากการสัมผัสทางจิตของพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ก็ล้วนแต่ได้ผลที่แตกต่างออกไป

แต่ในท่ามกลางข้อมูลที่แตกต่างเหล่านี้ หากเราพิจารณาด้วยทัศนคติที่เปิดกว้าง ด้วยหลักของเหตุผล และสามัญสำนึก รวมทั้งการละวางอคติต่างๆ เราจะรู้ว่า แหล่งอ้างอิงใดบ้างที่มีเหตุผลเชื่อถือได้มากกว่า และน่าจะใกล้เคียงกับเรื่องราวที่แท้จริงของราชนารีพระองค์นี้มากกว่า

ในการเรียบเรียงตำนานสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ผมจึงเลือกให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ได้จากการค้นคว้าของนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ของไทยและพม่าเป็นหลักครับ

โดยเฉพาะฝ่ายพม่านั้น ได้ใช้ข้อมูลจากการค้นคว้าของ มิคกี้ ฮาร์ท หรือ Myin Hsan Heart นักประวัติศาสตร์พม่า ซึ่งได้ค้นคว้าจากพงศาวดารพม่าหลายฉบับ ที่นักวิชาการของไทยไม่เคยล่วงรู้มาก่อน อาทิ ในส่วนที่ว่าด้วยความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่า นำมาเผยแพร่ในหนังสือ โยเดียกับราชวงศ์พม่า : เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ.๒๕๕๐




ในหนังสือดังกล่าว เต็มไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ที่คนไทยจำเป็นต้องศึกษาอย่างยิ่ง ผมได้คัดเอามาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสมเด็จพระสุพรรณกัลยา และคัดมาเพียงบางส่วนเท่านั้น

ข้อมูลจากการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ที่ทันสมัยที่สุดเช่นนี้ มีความแตกต่างจากที่คนไทยเราส่วนใหญ่เคยรับรู้มาอย่างแน่นอนครับ

โดยเฉพาะย่อมจะมีผลกระทบอย่างยิ่ง ต่อตำนานเดิมของราชนารีพระองค์นี้ ที่เต็มไปด้วยความสะเทือนใจ และอารมณ์

เป็นความสะเทือนใจ ที่ทำให้ผู้เคารพนับถือพระนางต้องหลั่งน้ำตา และสั่งสมความเกลียดชังต่อประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกครั้ง ที่เกิดจากการอ่านตำนานของราชนารีพระองค์นี้

เพราะจากข้อมูลใหม่ที่เราควรจะพิจารณากันต่อไปนี้ ชะตากรรมของสมเด็จพระสุพรรณกัลยานับว่าเปลี่ยนแปลงไป จากที่เราเคยรับรู้กันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือครับ

ทั้งยังเป็นไปตามหลักของเหตุและผล ที่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าด้วย

ซึ่งอย่างน้อย ก็ทำให้เรามองประเทศเพื่อนบ้านของเรา ด้วยสายตาที่เป็นธรรม มิใช่ด้วยอารมณ์ และที่สำคัญคือ ยังทำให้เราสามารถเข้าถึงเรื่องราวที่แท้จริงของพระนางได้มากยิ่งกว่าเดิม

ตามความรับรู้ของคนไทยทั่วไป สมเด็จพระสุพรรณกัลยาทรงเป็นพระราชธิดาองค์เดียวของ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช กับ พระวิสุทธิกษัตรีย์ และทรงมีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระอนุชา 

แต่ที่จริง พระนางทรงเป็นพระราชธิดาองค์ที่สองครับ โดยทรงมี สมเด็จพระอินทรเทวี เป็นพระเชษฐภคินีอีกพระองค์หนึ่ง พระนางประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๐๙๕-๙๖  ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก และเจริญพระชันษาที่นั่น




พิมาน แจ่มจรัส กล่าวไว้ในหนังสือ นเรศวรมหาราช สุพรรณกัลยา เอกาทศรถ ว่าสมเด็จพระสุพรรณกัลยาทรงมีพระชนมายุมากกว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ๒ พรรษา ทรงพระสิริโฉมต้องตาผู้ได้พบเห็น สายพระเนตรหวานซึ้ง พระสุรเสียงไพเราะ ร่าเริง และมั่นคงหนักแน่น พระจริยาวัตรสุภาพอ่อนโยน

หลักฐานเกี่ยวแก่สมเด็จพระสุพรรณกัลยา ปรากฏในเอกสารทั้งของไทยและพม่าหลายฉบับ กล่าวตรงกันว่า เมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในคราว สงครามช้างเผือก พ.ศ.๒๑๐๖ ได้ยกเข้ามาทางสุโขทัยและเข้าโจมตีเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชทรงยับยั้งได้เพียงระยะหนึ่ง ครั้นทรงเห็นว่าทางกรุงศรีอยุธยามิได้ให้การช่วยเหลือใดๆ ก็ทรงยอมสวามิภักดิ์

ในครั้งนั้น พระเจ้าหงสาวดีจึงโปรดฯ ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชา และเจ้าเมืองฝ่ายเหนือที่ยอมสวามิภักดิ์ทั้งปวงจัดทัพเข้าร่วมกับพม่า ยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา

หลักฐานฝ่ายพม่ากล่าวว่า สงครามดังกล่าวทำให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงยอมแพ้ และต้องตามเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปกรุงหงสาวดี โดยต่อมาก็ทรงผนวชที่นั่น

ส่วนที่กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองทรงสถาปนาสมเด็จพระมหินทราธิราช พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองแทน

สำหรับสมเด็จพระมหาธรรมราชานั้น ทรงได้รับการยกย่องจากพระเจ้าบุเรงนองเป็นเสมือนพระอนุชาธิราช ทั้งยังได้รับพระราชทานพระเกียรติยศเป็นเจ้าฟ้าสองแคว มีพระราชอำนาจเต็มในการปกครองกรุงพิษณุโลก แยกต่างหากจากกรุงศรีอยุธยา

ในช่วงเวลานี้ สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ถวายพระราชธิดาองค์ใหญ่ คือ สมเด็จพระอินทรเทวี และพระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ สมเด็จพระนเรศวร แด่พระเจ้าบุเรงนอง

จนกระทั่งพ.ศ.๒๑๐๙ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทูลขอพระเจ้าบุเรงนองลาผนวช และกลับไปจำพรรษาที่กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองทรงอนุญาต

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงเสด็จกลับอยุธยา และขึ้นครองราชย์แทนสมเด็จพระมหินทราธิราช ทั้งยังยกทัพขึ้นไปตีพิษณุโลก จนสมเด็จพระมหาธรรมราชาต้องเสด็จหนีไปหงสาวดี ปล่อยให้พิษณุโลกถูกกองทัพของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยึดได้

แล้วสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็โปรดฯ ให้กวาดต้อนพระราชวงศ์และผู้คน รวมทั้งพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระราชธิดาของพระองค์ ซึ่งพระราชทานให้เป็นพระชายาของสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระราชนัดดาที่ยังประทับอยู่ในพิษณุโลกขณะนั้น ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระสุพรรณกัลยา และสมเด็จพระเอกาทศรถ ไปยังกรุงศรีอยุธยา

เหตุการณ์นี้ทำให้พระเจ้าบุเรงนองทรงกริ้วมากครับ พระองค์จึงทรงยกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งในพ.ศ.๒๑๑๒

ระหว่างสงคราม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าเสด็จขึ้นครองราชย์อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจยับยั้งพม่าไว้ได้ จนกรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้ต่อพม่าในปีนั้น พระเจ้าบุเรงนองจึงโปรดฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาต่อไป

ในครั้งนี้เอง สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ทรงถวายพระราชธิดาองค์รอง คือสมเด็จพระสุพรรณกัลยาแด่พระเจ้าบุเรงนอง เวลานั้นพระนางเจริญพระชนมายุได้ ราวๆ ๑๗ พรรษา


ฉากถวายสมเด็จพระสุพรรณกัลยา แด่พระเจ้าบุเรงนอง
จากภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พงศาวดารพม่ากล่าวว่า เมื่อพระเจ้าบุเรงนองทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็ทรงยกทัพออกจากอยุธยาไปปราบล้านช้างในปลายปีพ.ศ.๒๑๑๒ และโปรดให้สมเด็จพระสุพรรณกัลยาพร้อมทั้งบริวาร ๑๕ คนตามเสด็จ

ทรงใช้เวลาในสงครามล้านช้างยาวนานถึง ๖ เดือน จึงยกทัพกลับไปพักที่พิษณุโลก เป็นโอกาสสุดท้าย ที่สมเด็จพระสุพรรณกัลยาได้ทอดพระเนตรภูมิสถานเดิมของพระนางอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่กองทัพของพระเจ้าบุเรงนองจะกลับถึงกรุงหงสาวดีเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๑๑๓

ผู้เผยแพร่เรื่องราวของสมเด็จพระสุพรรณกัลยาโดยทั่วไป มักจะโน้มน้าวให้ผู้อ่านบังเกิดความสะเทือนใจในพระชะตากรรมของพระนางว่า นับตั้งแต่เข้าสู่ราชสำนักพระเจ้าบุเรงนอง พระนางทรงอยู่ในฐานะเชลย หรือตัวประกัน และต้องทรงแบกรับความทุกข์ทรมานพระราชหฤทัยอย่างไม่อาจพรรณนา ทั้งจากการที่ต้องทรงถูกพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน และการข่มเหงรังแก เยาะเย้ยหยาบหยาม จากบรรดานางในของพระเจ้าบุเรงนองตลอดเวลา

รวมทั้งบางตำนาน ก็ว่าถูกพระเจ้าบุเรงนองทรงข่มเหงรังแกด้วยพระองค์เองด้วย

แต่ตามความเห็นของผม เข้าใจว่า จินตนาการเช่นนี้น่าจะเป็นเรื่องที่เกินความจริงครับ

เพราะอย่างกรณีของการพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน ถ้าจะพูดกันตามข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ว่าเจ้าหญิง หรือราชนารีของแว่นแคว้นหรืออาณาจักรใดในยุคโบราณ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนพม่า คนลาว หรือคนเขมร ก็ล้วนแต่ต้องทรงมีพระราชภารกิจหนึ่ง ที่ติดตามมาพร้อมฐานันดรของพระองค์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยกันแทบทุกพระองค์

นั่นคือ จะต้องทรงถูกถวายเป็นพระมเหสี พระชายา หรือไม่ก็บาทบริจาริกาแก่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเมืองอื่น เพื่อผลทางการเมืองทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรี การแสวงหาพันธมิตร หรือในฐานะผู้แพ้สงคราม อันเป็นประเพณีนิยมในเวลานั้นอยู่แล้ว

ดังนั้น ถึงแม้ในสถานการณ์ปกติ ราชนารีอย่างสมเด็จพระสุพรรณกัลยาก็อาจไม่ทรงมีทางเลือกที่จะเสด็จประทับในพิษณุโลก หรือกรุงศรีอยุธยาได้ตลอดพระชนม์ชีพ

เพราะถ้าพระราชบิดาของพระนาง ทรงมีพระราชประสงค์จะยกพระนางให้กับผู้ใด พระนางก็ต้องทรงยอมรับครับ

เพราะฉะนั้น การที่พระนางต้องเสด็จไปประทับ ณ กรุงหงสาวดีตลอดพระชนม์ชีพนั้น จึงย่อมไม่เป็นเรื่องที่โหดร้ายเกินไป ตามที่ผู้บูชาพระนางจินตนาการกันไปต่างๆ 

ด้วยเป็นภาระหน้าที่ซึ่งได้มาพร้อมกับพระราชฐานันดร ที่พระนางย่อมจะต้องทรงได้รับการกล่อมเกลา และเตรียมพร้อมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ตามจารีตอยู่แล้ว

กรณีของการเป็น เจ้าหญิงเชลยอย่างที่คนไทยเรามักพูดกันอยู่เสมอ ก็เช่นกันครับ


พระราชวังกัมโพชธานี จำลอง ที่พม่าสร้างขึ้นจากหลักฐานเพียงเล็กน้อย

ตามธรรมเนียมการควบคุมเมืองประเทศราชของพม่า ในรัชสมัยของพระเจ้าบุเรงนองนั้น ฝ่ายที่ตกเป็นประเทศราช จะมีสิทธิ์ในการปกครองบ้านเมืองของตนเอง แต่ก็จะต้องถวายพระราชโอรสและพระราชธิดาแด่กษัตริย์พม่า เป็นเสมือนหนึ่งองค์ประกันความจงรักภักดี

ซึ่งพระโอรสจากเมืองประเทศราชเหล่านั้น ย่อมจะต้องได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี และได้ศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ เสมอด้วยพระราชโอรสของกษัตริย์พม่าเอง นะครับ

ทั้งนี้ ก็เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ตระหนักในบุญคุณข้าวแดงแกงร้อน จนเมื่อเจริญพระชันษา ก็จะถูกส่งกลับคืนภูมิสถานเดิมเพื่อครองราชสมบัติแทนราชบิดา 

เป็นการรักษาความสัมพันธ์ทางใจ ระหว่างกรุงหงสาวดี กับเมืองประเทศราช เสมือนหนึ่งเป็นพระญาติพระวงศ์กัน

ซึ่งสมเด็จพระนเรศวร ก็ทรงได้รับการปฏิบัติเช่นนั้นจากพระเจ้าบุเรงนอง ดังที่ พงศาวดารโยธยา ยาสะเวง ของพม่ากล่าวว่า และพระนริศพระอนุชานั้นทรงรักใคร่ดั่งเช่นพระราชบุตร แลให้เฉลิมพระเกียรติด้วยเครื่องยศในที่พระราชโอรส

ส่วนกรณีของพระธิดานั้น ทางพม่าก็จะแต่งตั้งให้เป็นพระมเหสี หรือพระชายาตามลำดับความสำคัญของเมืองประเทศราชนั้นๆ

ซึ่งพงศาวดารฉบับเดียวกัน ก็กล่าวถึงสมเด็จพระสุพรรณกัลยาว่า

พระพี่นางพระนริศ พระสุพรรณกัลยานั้นเล่า ก็โปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นที่พระมเหสีพระเจ้าหงสาวดี

การได้รับสถาปนาเป็นพระมเหสี หรือพระชายาไม่ว่าลำดับใด ก็หมายความว่า ย่อมจะต้องได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด ตำหนัก สิ่งของเครื่องใช้ และข้าทาสบริวารอย่างสุขสบายตามชั้นยศ

จะไม่มีเจ้าหญิงองค์ใดที่มาจากเมืองที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อพม่า ต้องประทับอยู่ในกรุงหงสาวดีอย่างยากลำบาก หรืออยู่ในฐานะเชลยที่ถูกกดขี่ข่มเหงประดุจนักโทษเป็นอันขาด

เพราะนั่นเป็นเรื่องที่ผูกพันไปถึงพระบารมีอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าบุเรงนองครับ

พูดง่ายๆ ก็คือเป็น หน้าตาของราชสำนักพม่า ซึ่งปรารถนาจะให้บ้านอื่นเมืองอื่นยอมรับความเป็นศูนย์อำนาจของอาณาจักรตน

ถ้ากษัตริย์พม่าปฏิบัติต่อพระมเหสีของพระองค์ดั่งเชลยศึก ข่มเหงรังแกให้อยู่อย่างยากลำบาก ย่อมถือว่าเป็นเรื่องเสื่อมเสียแก่พระเกียรติยศ

กษัตริย์ที่ทรงกระทำเช่นนั้น จะไม่สามารถอ้างพระองค์ว่าเป็นพระจักรพรรดิราช และจะไม่มีกษัตริย์บ้านเมืองอื่นยอมอ่อนน้อมพึ่งพระบารมีของพระองค์ ในเมื่อกับพระชายาของพระองค์เอง พระองค์ยังเลี้ยงดูให้ดีไม่ได้ นับเป็นเรื่องอดสูอย่างยิ่ง

นอกจากนั้น สมเด็จพระสุพรรณกัลยาไม่ใช่เจ้าหญิงต่างเมืองเพียงพระองค์เดียวนะครับ ที่เข้าไปเป็นมเหสีของพระเจ้าบุเรงนอง

ทั้งพระอัครมเหสี (มี๊พย้าจี : Miphayagyi) ๓ พระองค์ พระมเหสี (นันยะที้ยะมี้พย้า : Nanyatiyamiphaya ซึ่งมีสมเด็จพระสุพรรณกัลยารวมอยู่ด้วย)  ๙ พระองค์ และพระสนมน้อยใหญ่ (โกโละดอ : Koulouto) อีก ๓๖ พระองค์ของพระเจ้าบุเรงนองนั้น 

ต่างก็เป็นคน บ้านอื่นเมืองอื่นไม่น้อยไปกว่าพระนางทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็น พระนางสุธรรมโยงอโยง (Yon Ayonyon) จากล้านช้าง

พระนางเคง อองคาน (Khin Aung Khan) พระธิดา พระนรปติ เจ้าเมืองนาย

พระนางเคงมยะชาน (Khin Myat San) พระราชธิดาเจ้าเมืองฆ้อง

รวมถึงพระราชนัดดาเจ้าเมืองยองห้วย, พระราชธิดา พระเจ้าเซงโยง (ZinYon), พระราชธิดา พระเจ้าโคง (Gon), พระราชธิดา พระเจ้าอาจอ (A Kyaw)

และยังมีราชนิกูลฝ่ายสตรีจากเชียงใหม่ ที่ปรากฏพระนามในภาษาพม่าว่า เคงเก้า (Kin Kank) เป็นต้น

นั่นก็เพราะว่า ในสมัยของสมเด็จพระสุพรรณกัลยานั้น ยังไม่มีการแบ่งแยกเขตแดนเป็นประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา ดังในปัจจุบัน

ชนชาติต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่มีความรู้สึกชาตินิยม ในทำนองแบ่งแยกกันว่า ใครเป็นคนไทย คนพม่า คนลาว คนเขมร คนเวียดนาม คนมลายู ฯลฯ เหมือนอย่างที่พวกเราเป็นกันอยู่ในเวลานี้ 

คนสมัยนั้นมักจะแบ่งแยก พวกเขาพวกเราจากบ้านเมืองที่ตนเองอาศัยอยู่ครับ

ดังนั้น ถ้ามองจากสายตาของชาวพิษณุโลกสมัยนั้น ชาวหงสาวดีก็เป็นคนต่างบ้านต่างเมืองพอๆ กับชาวอยุธยา

และถ้ามองจากสายตาของชาวหงสาวดีสมัยนั้น ชาวพิษณุโลกก็เป็นคนต่างบ้านต่างเมือง พอๆ กับชาวเมืองแปร ชาวยะไข่ และชาวอังวะ ที่เป็นพม่าด้วยกัน

และไม่ต่างไปจากคนไทยใหญ่ หรือคนมอญที่กระจัดกระจายอยู่ในเมืองอื่นๆ

การเรียกใครว่าเป็นคนไทย คนพม่า คนมอญ หรือคนเขมร ในสมัยนั้นเรียกกันเพราะความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรมเท่านั้นครับ

ไม่ใช่เรียกกันด้วยความรู้สึกของการแบ่งแยก ตามพื้นฐานความคิดแบบชาตินิยมฟาสซิสต์ เหมือนกับที่พวกเราส่วนใหญ่ถูกล้างสมองต่อเนื่องกันมา อย่างน้อยนับตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนทุกวันนี้

จึงน่าเชื่อได้ว่า สมเด็จพระสุพรรณกัลยาก็คงประทับอยู่ในกรุงหงสาวดีภายใต้เงื่อนไขที่ไม่แตกต่างไปจากเจ้านายฝ่ายในจากเมืองอื่นๆ รวมทั้งพระเชษฐภคินีของพระนางที่ได้ถวายตัวไปก่อนหน้านั้นแล้ว

และยังรวมถึงพระราชธิดาของสมเด็จพระมหินทราธิราช ที่ไม่ปรากฏพระนามด้วยอีก ๑ พระองค์ ที่สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงถวายแด่พระเจ้าบุเรงนองภายหลังเสียกรุง พ.ศ.๒๑๑๒

และถ้าหากจะมีใครกล่าวหาใครว่าเป็นเชลย บรรดาฝ่ายในของพระเจ้าบุเรงนองแทบทั้งหมด ก็เป็นเชลยไม่แตกต่างกันหรอกครับ

เพราะพระเจ้าบุเรงนอง คือ ผู้ชนะสิบทิศ บรรดาบาทบริจาริกาส่วนใหญ่ล้วนแต่มาจากรัฐที่ยอมศิโรราบต่อพระองค์ ไม่ว่าจะยอมอ่อนน้อมตั้งแต่ต้น  ยอมแพ้เพราะสู้ไม่ได้ หรือยอมแพ้เพราะถูกยึดครองบ้านเมืองทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนั้น ถ้าจะมีใครพูดกระทบกระเทียบสมเด็จพระสุพรรณกัลยาว่าทรงเป็นเชลย คนคนนั้นก็คงมิได้อยู่ในตำแหน่งพระมเหสีเทวีองค์ใดองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนองเป็นแน่

ดีไม่ดี คำพูดเช่นนี้ อาจจะไม่เคยมีใครนำมาใช้กับสมเด็จพระสุพรรณกัลยา นอกเสียจากคนไทยเราด้วยกันเองในยุคหลังนี่แหละครับ

คนไทยยุคหลังซึ่งเติบโตขึ้นมา ภายใต้ลัทธิชาตินิยมที่ถูกปลูกฝังให้เกลียดชังพม่า ด้วยการยัดเยียดความรู้ทางประวัติศาสตร์ประเภทเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น ที่เราได้ร่ำเรียนกันมาตลอด


หนึ่งในหลายๆ ฉากของ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ที่แสดงให้เห็นความทุกข์ทรมานของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ตามความเชื่อของคนไทย

เมื่อมิได้ทรงเป็นเชลย และทรงเข้าพระทัยในพระราชฐานันดรมาตั้งแต่แล้วว่า จะต้องพร้อมรับการที่จะต้องเสด็จไปเป็นพระชายาของกษัตริย์บ้านอื่นเมืองอื่นเพื่อผลทางการเมือง การจินตนาการว่า พระนางต้องทรงอยู่ในกรุงหงสาวดีโดยทุกขเวทนาต่างๆ นั้น ก็เป็นเพียง นิยาย ที่ไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ รองรับ

และถ้าจะลองหาข้อมูลจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของทางพม่า ซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยที่พระนางทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ และกล่าวถึงเรื่องราวของพระนางในกรุงหงสาวดีไว้มากกว่าข้อมูลฝ่ายไทย อีกทั้งยังบันทึกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใส่สีสันหรือบันทึกด้วยอคติอย่างข้อมูลของฝ่ายไทยแล้ว

เราจะเห็นภาพชีวิตของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ในราชสำนักของพระเจ้าบุเรงนอง ในด้านที่ตรงข้ามกับความรู้สึกของคนไทยเรา ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียวละครับ

โดย มิคกี้ ฮาร์ท กล่าวว่า สมเด็จพระสุพรรณกัลยาได้ทรงพระครรภ์ ตั้งแต่ตอนที่พระเจ้าบุเรงนองทำศึกกับล้านช้างแล้ว

เมื่อไปถึงหงสาวดี พระเจ้าบุเรงนองจึงได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระมเหสี และได้ทรงมีพระประสูติกาลราชธิดาองค์หนึ่ง

พระราชธิดาพระองค์นั้น ได้รับพระราชทานนามว่า เจ้าภุ้นชิ่ แปลว่า ผู้มีบารมีและสติปัญญา แต่โดยมากจะทรงถูกเรียกว่า เมงอะทเว หรือ เจ้าหญิงน้อย

จากหลักฐานของทางพม่าแสดงให้เห็นว่า ใน พระราชวังกัมโพชธานี รัชสมัยของพระเจ้าบุเรงนองนั้น สมเด็จพระสุพรรณกัลยาทรงพระเกษมสำราญ มีทุกอย่างเพียบพร้อม ข้าราชบริพารก็เป็นคนไทยหมด

พระราชฐานะก็เป็นถึงพระมเหสี คือทรงมีพระตำหนักและฉัตรส่วนพระองค์ เมื่อจะเสด็จไปที่ใด จะโดยเสลี่ยงพระที่นั่งหรือพระพาหนะอื่นก็ตาม จะต้องมีเจ้าพนักงานกางฉัตรถวาย หาใช่พระสนมระดับธรรมดาๆ ทั่วไปไม่

ตำแหน่งพระมเหสีที่ได้รับพระราชทานพระตำหนัก และฉัตรส่วนพระองค์เช่นนี้ ในราชสำนักฝ่ายในของพม่าถือว่าเหนือกว่าพระสนมทั้งปวง เป็นรองก็แต่เพียงพระอัครมเหสีเท่านั้นละครับ

และนอกจากสมเด็จพระสุพรรณกัลยาแล้ว ก็มีเจ้านายฝ่ายในที่ดำรงตำแหน่งนี้อีกเพียง ๘ พระองค์ ซึ่งแม้แต่สมเด็จพระพี่นางอินทรเทวี ก็มิได้รับการสถาปนาในตำแหน่งนี้

ฮาร์ทวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นเพราะเมื่อพระราชบิดาทรงถวายสมเด็จพระอินทรเทวีแด่พระเจ้าบุเรงนองนั้น ยังเป็นเพียงเจ้าฟ้าครองนครกรุงพิษณุโลก มิได้เป็นกษัตริย์

แต่เมื่อสมเด็จพระสุพรรณกัลยาได้เข้าสู่ราชสำนักหงสาวดี พระราชบิดาทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว การสถาปนาเจ้าหญิงทั้งสองขึ้นเป็นฝ่ายในของพระเจ้าบุเรงนอง จึงต้องพิจารณาจากพระอิสริยยศที่แตกต่างกันด้วย

ส่วนเจ้าหญิงไทยที่เข้ามาอยู่ในหงสาวดี ในฐานะเชลยศึกอย่างแท้จริง ก็คือ พระเทพกษัตรีย์ กับ พระแก้วฟ้า ที่สมเด็จพระมหินราธิราชส่งไปถวายพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระเจ้ากรุงล้านช้าง เพื่อขอกำลังสนับสนุนในการรบกับสมเด็จพระมหาธรรมราชานั่นเอง

และถ้าจะกล่าวถึงความอิจฉาริษยา หรือการเบียดเบียนรังแก อันอาจพึงมีได้จากพระอัครมเหสีทั้งสามพระองค์ของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งย่อมมีอิทธิพลในพระราชฐานชั้นในมากเพียงพอ ที่จะกระทำต่อสมเด็จพระสุพรรณกัลยานั้น

ข้อเท็จจริงก็คือว่า เมื่อสมเด็จพระสุพรรณกัลยาทรงได้รับการสถาปนา เป็นที่พระมเหสีในพระเจ้าบุเรงนอง พระอัครมเหสีในเวลานั้นสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ๒ พระองค์ เหลือเพียง พระนางจันทราเทวี หรือ ตะละแม่จันทรา ซึ่งทรงมีพระชนมายุมากแล้วครับ

ถ้าสมเด็จพระสุพรรณกัลยาจะต้องถูกเบียดเบียน ให้ร้ายรังแก จึงน่าจะมาจากพระมเหสีองค์อื่นในชั้นเดียวกัน ซึ่งมีอำนาจบทบาทในพระราชฐานชั้นในทัดเทียมกัน นับเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ว่าพระนางไปอยู่ที่ใดก็จะต้องได้พบเจออยู่แล้ว

ยิ่งโดยเฉพาะถ้าพระนางเป็นที่โปรดปรานมาก ก็ต้องมีผู้อิจฉาริษยามาก และพงศาวดารพม่าก็บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระสุพรรณกัลยาทรงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าบุเรงนองมากด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่พระเจ้าบุเรงนองทรงมีราชการสงครามอยู่เสมอ ทำให้พระนางและพระมเหสีเทวีองค์อื่นๆ ต้องตกที่นั่งเดียวกันหมดละครับ

คือ ได้แต่ทรงดำเนินชีวิตในวังไปตามปกติ มิได้มีโอกาสออกงานหรือเห็นโลกภายนอกมากนัก จนกว่าพระเจ้าบุเรงนองจะเสด็จกลับหงสาวดี และมีการจัดงานสำคัญๆ

ดังที่ฮาร์ทกล่าวว่า ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาแล้ว ในวันเพ็ญ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๑๑๖ เป็นงานบูชาพระมหาเจดีย์ชเวดากอง สมเด็จพระสุพรรณกัลยาพร้อมด้วยพระราชธิดาองค์น้อยได้ประทับเรือพระที่นั่ง โดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลนานถึง ๕ วัน

นับเป็นครั้งแรก ที่พระนางได้เสด็จออกนอกเขตพระราชฐานที่ได้ประทับมานานเกือบ ๓ ปี ได้ทอดพระเนตรบ้านเมืองพม่า และได้สักการะพระมหาเจดีย์ชเวดากอง

หลังงานบูชาพระมหาเจดีย์นี้จบสิ้นลง พระเจ้าบุเรงนองทรงนิมนต์พระสงฆ์พม่า มอญ เชียงใหม่ และไทยใหญ่ ๓,๕๐๐ รูปเจริญพระพุทธมนต์ และทำพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ เงิน สำริด และปัญจโลหะอย่างละองค์ รวมทั้งเฉลิมพระยศพระราชโอรสและพระราชธิดาลำดับต่างๆ

ในการนี้ เจ้าหญิงเจ้าภุ่นชิ่ พระราชธิดาในสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ทรงได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น พิษณุโลกมะโย่ส้า คือทรงได้รับสิทธิ์ในภาษีประจำปีที่ได้จากพิษณุโลก

นับแต่นั้นมา ทุกคนจึงเรียกขานพระสมัญญานามพระราชธิดาพระองค์นี้ว่า เจ้าหญิงพิษณุโลก


ความผิดพลาดอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นพร้อมกับลัทธิบูชาสม้ด็จพระสุพรรณกัลยา
คือการวาดพระสาทิสลักษณ์ของพระนางเป็นแบบพม่า
ซึ่งตามความเป็นจริง พระเจ้าบุเรงนองทรงเรียกพระนางเป็นภาษาพม่าว่า "อะเมี้ยวโยง"
เพราะพระนางทรงรักษาอัตบักษณ์ของเจ้านายสตรีอยุธยาไว้เสมอ

เป็นไปได้ว่า สมเด็จพระสุพรรณกัลยายังจะได้ตามเสด็จพระเจ้าบุเรงนอง ในการบำเพ็ญพระราชกุศลครั้งใหญ่อีกสองครั้ง คือเมื่อคราวรับพระธาตุเขี้ยวแก้วที่ พระเจ้าธรรมบาล กษัตริย์ลังกาถวายเมื่อพ.ศ.๒๑๑๘ และพระราชพิธีฉลองพระเจดีย์วิชัย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๑๑๙  ซึ่งเวลานั้น พระนางคงเจริญพระชนมายุได้ราวๆ ๒๓ พรรษา

เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางฝ่ายพม่า ดังกล่าวมาแล้วทั้งหมด การที่คนไทยเราถูกโน้มน้าวให้คิดกันมาตลอดว่า สมเด็จพระสุพรรณกัลยาต้องประทับอยู่ในเมืองพม่าด้วยความยากลำบากแสนสาหัส และอยู่ในฐานะเชลย จึงเป็นเรื่องอ่อนเหตุผล เป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิงครับ

และน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งว่า ขณะที่ทางราชสำนักพม่าถวายพระเกียรติแด่พระนางในระดับที่สมควรตามที่ชนชาติอารยะเขาทำกัน คนไทยเราเองนี่ละครับ กลับกล่าวถึงพระนางอย่างไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี เพียงเพื่อจะให้พระนางกลายเป็นตัวละคร ในนิยายเรียกน้ำตาที่ไม่เกิดประโยชน์อันใด

นอกจากความคลั่งชาติอย่างหน้ามืดตามัว ซึ่งก็เป็นความลุ่มหลงที่ไม่มีประโยชน์อะไรกับใครแล้ว ในความเป็นจริงทุกวันนี้




ทีนี้ เราก็มาถึงข้อเท็จจริงในการเสด็จออกจากกรุงหงสาวดี ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่ง นิยายเรียกน้ำตาในอดีต อ้างเป็นเงื่อนไขที่ทำให้สมเด็จพระสุพรรณกัลยา ต้องจบพระชนม์ชีพ อันทุกข์ทรมานของพระองค์ ภายใต้คมดาบของกษัตริย์พม่า ที่ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าบุเรงนองกันนะครับ

จาก คำให้การของชาวกรุงเก่า และ คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยเชื่อถือกันทั่วไปนั้น ในปลายรัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรทรงชนไก่ชนะ พระมหาอุปราชามังสามเกียด เป็นเหตุให้ถูกพระมหาอุปราชาตรัสลบหลู่พระเกียรติยศ จนตัดสินพระทัยจะเสด็จหนีจากกรุงหงสาวดี และได้ทรงส่งคนไปทูลพระพี่นาง แจ้งความที่จะอัญเชิญเสด็จหนีกลับกรุงศรีอยุธยาด้วยกัน

แต่สมเด็จพระสุพรรณกัลยาก็ทรงเลือกที่จะอยู่ในพม่าต่อไป เพื่ออนาคตอันรุ่งโรจน์ของสมเด็จพระอนุชาธิราชของพระนางเอง

ข้อมูลดังกล่าวนี้ อ้างกันในหนังสือแทบทุกเล่ม และภาพยนตร์ทุกเรื่องที่กล่าวถึงสมเด็จพระสุพรรณกัลยาครับ

แต่เมื่อสอบสวนจากหลักฐานทางฝ่ายพม่า เราอาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองต่อเหตุการณ์นี้เสียใหม่

เพราะ...

๑) มิคกี้ ฮาร์ท กล่าวว่า ในพงศาวดารพม่าทุกฉบับ ไม่เคยบันทึกเรื่องการชนไก่ระหว่างสมเด็จพระนเรศวร กับพระมหาอุปราชพม่า

ยิ่งไปกว่านั้น ฮาร์ทยังยืนยันว่า การชนไก่ในพม่าสมัยนั้น นับว่าเป็นกีฬาของนักเลงอันธพาล ถือเป็นสิ่งอัปยศ ไม่มีกษัตริย์รวมถึงพระราชวงศ์พระองค์ใด จะทรงเล่นกีฬาชนิดนี้ทั้งในและนอกเขตพระราชวังพม่า

กีฬาที่พระโอรส และขุนนางชั้นสูงในพม่าเวลานั้นนิยมเล่นกันคือ ตีคลี ซึ่งเป็นทั้งการเล่นเพื่อเอาสนุก และเป็นการฝึกฝนทักษะการรบไปในตัว

เขามองว่า บันทึกของไทยเรื่องการชนไก่นั้น น่าจะเกิดขึ้นในยุคหลังครับ

และเขากำหนดอายุบันทึกทางประวัติศาสตร์ จำพวกคำให้การต่างๆ ของไทยอย่างไม่ลังเลเลยว่า น่าจะมีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๒๕

เพราะแม้แต่ จดหมายเหตุวันวลิต หรือบันทึกของ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ประจำพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเรียบเรียงจากคำบอกเล่าของชาวกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อพ.ศ.๒๑๘๒ แม้จะกล่าวถึงการเสด็จหนีออกจากกรุงหงสาวดีของสมเด็จพระนเรศวร แต่ไม่มีเรื่องการชนไก่แต่อย่างใด

แสดงว่า แม้แต่คนอยุธยาที่เกิดหลังรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพียงไม่ถึง ๕๐ ปีเท่านั้น ก็ยังไม่รู้เรื่องการชนไก่ดังกล่าว

แล้วคนสมัยหลังเสียกรุงครั้งที่ ๒ ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นผู้ให้ข้อมูลในคำให้การฯ ทั้งสองฉบับนั้น จะรู้เรื่องเช่นนั้นได้อย่างไรล่ะครับ?

๒) ฮาร์ทแสดงทรรศนะว่า ไม่เพียงแต่การชนไก่ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชามังสามเกียด จะไม่เคยเกิดขึ้นจริงเท่านั้น

ยังไม่มีเหตุการณ์ใดทั้งสิ้น ที่จะเป็นชนวนเหตุที่ทำให้สมเด็จพระนเรศวร ต้องลักลอบหนีออกจากกรุงหงสาวดีด้วยครับ

แต่กลับมีบันทึกของทางพม่าระบุว่า ในราวๆ พ.ศ.๒๑๑๕-๒๑๑๖ สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระเจ้าบุเรงนอง ให้สมเด็จพระนเรศวรซึ่งเจริญพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษาแล้วเสด็จกลับไปช่วยราชกิจที่กรุงศรีอยุธยา

ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองก็ทรงอนุญาต และพระราชทานเครื่องยศ เครื่องราชูปโภค ตามศักดิ์เจ้าเมืองแก่สมเด็จพระนเรศวร

บันทึกของทางพม่า และทรรศนะของนักประวัติศาสตร์ผู้นี้ ผมเห็นว่ามีเหตุผลครับ

เพราะถ้าสมเด็จพระนเรศวรทรงลักลอบหนีออกจากกรุงหงสาวดีจริง ย่อมไม่สามารถกระทำได้โดยง่าย

หรือถึงจะเสด็จหนีออกไปได้จริง พระเจ้าบุเรงนองก็คงจะต้องส่งกองทัพออกไล่ล่า แล้วก็จะมีการเปิดศึกอีกครั้งกับทางกรุงศรีอยุธยาแน่นอน

มิใช่ปล่อยให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับไปรับตำแหน่งวังหน้าที่อยุธยา แล้วไปรวบรวมกำลังพลที่พิษณุโลกอย่างที่เรารู้กันอยู่

ยิ่งไปกว่านั้น ยังปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์พม่าด้วยว่า เมื่อพระเจ้าบุเรงนองทรงยกทัพไปตีล้านช้างอีกครั้งในพ.ศ.๒๑๑๗ ได้ทรงมีรับสั่งให้สมเด็จพระนเรศวร ยกทัพจากพิษณุโลกไปช่วยอีกแรงหนึ่งด้วย

อีกทั้งเมื่อพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคตในพ.ศ.๒๑๒๔ สมเด็จพระนเรศวรยังเสด็จไปร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และทรงไปช่วย พระเจ้านันทบุเรง ที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าบุเรงนอง ทำสงครามเมืองลุมเมืองคังจนได้ชัยชนะ ซึ่งเหตุการณ์นี้คนไทยเรารู้จักกันดีอยู่ทั่วไป

ทั้งสองเหตุการณ์นี้ จะเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอนครับ ถ้าสมเด็จพระนเรศวรลักลอบเสด็จออกจากกรุงหงสาวดีเมื่อก่อนหน้านั้น ตามคำให้การฯ ทั้งสองฉบับ

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ยังยืนยันเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ กรุงศรีอยุธยาของเรา ว่า การที่พระเจ้าบุเรงนองโปรดฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาได้นั้น ก็เนื่องจากตอนนั้นพระเจ้าบุเรงนองทรงมีพระชนมายุมากแล้ว และกรุงหงสาวดีก็มีความมั่นคง

แสดงให้เห็นว่า แม้ในสายตาของนักประวัติศาสตร์ไทยปัจจุบันนี้ บันทึกของทางพม่าก็ฟังขึ้นมากกว่าคำให้การฯ ของไทย

ดังนั้น ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อาจมีอยู่ว่า สมเด็จพระนเรศวรมิได้ลักลอบหนีออกจากกรุงหงสาวดี

แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น ก็ยังคงมีเหตุจำเป็นที่สมเด็จพระสุพรรณกัลยาจะต้องยอมเสียสละพระองค์เอง เพื่อให้สมเด็จพระอนุชาธิราชได้ไปกอบกู้บ้านเมือง ตามที่คนไทยส่วนใหญ่เชื่อถือกันอยู่ครับ

เพราะด้วยเหตุที่สมเด็จพระสุพรรณกัลยาทรงเป็นพระมเหสีที่พระเจ้าบุเรงนองโปรดปรานนั้น ย่อมทำให้พระเจ้าบุเรงนองต้องทรงรับฟังในสิ่งที่พระนางทูลขอ


สมเด็จพระสุพรรณกัลยา จากภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
รับบทโดย เกรซ มหาดำรงค์กุล

และผมก็คิดว่า พระนางน่าจะทรงใช้สถานะดังกล่าว เพ็ดทูลให้พระเจ้าบุเรงนองทรงมั่นพระทัยว่า การยอมให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา จะไม่ก่อปัญหาให้ทางหงสาวดีภายหลัง โดยเอาองค์พระนางเองเป็นประกันนั่นเอง

ซึ่งจากเงื่อนไขนี้ เมื่อรวมกับความจงรักภักดีที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาแสดงให้พระเจ้าบุเรงนองเห็นมาตลอด อีกทั้งองค์สมเด็จพระนเรศวรเองก็ทรงเจริญด้วยคุณวุฒิ และวัยวุฒิอันสมควรแล้ว ทั้งยังทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยว่า น่าจะไม่กระด้างกระเดื่องต่อทางหงสาวดี ก็คงเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้พระเจ้าบุเรงนองตัดสินพระทัยได้ไม่ยาก

เพราะฉะนั้น การที่สมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา และนำอิสรภาพมาสู่คนไทยในเวลาต่อมา จึงควรมีสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยาอยู่เบื้องหลังจริงๆ อย่างที่ตำนานทางฝ่ายไทยเราระบุไว้ละครับ

เพียงแต่เป็นผลงานของพระนางที่ทรงกระทำด้วยพระปรีชาญาณอันเฉลียวฉลาด และการวางพระองค์อย่างเหมาะสม จนเป็นที่โปรดปรานของจอมกษัตริย์อย่างพระเจ้าบุเรงนอง


มิใช่เป็นการเสียสละพระองค์เองเพื่อรับทุกขเวทนาแทนพระอนุชาธิราช ในลักษณะของละครโศกนาฏกรรม อย่างที่ผู้บูชาพระนางฝังหัวกันมาตลอดครับ



………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

No comments:

Post a Comment

Total Pageviews