Saturday, December 5, 2015

ตำนานพระนางจามเทวี ฉบับนายสุทธวารี



ภาพจาก http://www.taradplaza.com

ภายหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๑ ของหนังสือ จอมนางหริภุญไชย ได้มีผู้อ่านจากเชียงใหม่ท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นไปทางนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ใจความสรุปได้ว่า การที่ผมนำตำนานฉบับนี้เข้าไปร่วมวิเคราะห์กับตำนานฉบับที่เป็นที่ยอมรับกันเป็นทางการอยู่แล้ว จะทำให้เกิดความสับสนและข้อถกเถียงมากมายขึ้นจากสิ่งที่ไม่มีมูลความจริง เพราะว่าตำนานฉบับนี้เป็นสิ่งที่เขียนขึ้นโดยหมอไสยศาสตร์คนทรง คือ คุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์

ในการพิมพ์ครั้งต่อมา ผมจึงได้พิจารณาที่จะเพิ่มการอธิบายเกี่ยวแก่ตำนานฉบับนี้ ว่าเหตุใดผมจึงนำมาใช้ในการเรียบเรียงเรื่องราวของพระนางจามเทวี ทั้งโดยภูมิหลัง และข้อควรพิจารณาว่า สิ่งใดบ้างที่น่าจะเป็นจริงหรือไม่จริง เพื่อแก้ไขความสับสนอันอาจจะเกิดมีขึ้นแก่บุคคลบางท่านดังกล่าว 

ทั้งนี้จะแบ่งการพิจารณาออกได้เป็น ๒ กรณี  

กรณีที่ ๑. ภูมิหลังเกี่ยวแก่ตำนานฉบับนี้

จากการกล่าวอ้างของคุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์ ชาวจังหวัดสุโขทัย ผู้เรียบเรียงตำนานฉบับนี้ยืนยันว่า ในระหว่างปีพ.ศ.๒๕๐๘ ขณะที่เขากำลังสืบค้นประวัติพระธาตุดอยคำ เพื่อพิมพ์เผยแพร่หาปัจจัยบูรณะวัดพระธาตุดอยคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ คืนหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์เขาได้ฝันเห็นพระนางจามเทวีปรากฏพระองค์และมีรับสั่งว่า ถ้าอยากทราบเรื่องที่ต้องการให้ไปหริภุญไชย 
   
คุณสุทธวารีจึงเดินทางไปลำพูนในวันที่ ๑๕ ก.พ.ปีนั้น และเที่ยวค้นประวัติพระธาตุดอยคำหลายสถานที่แต่ยังไม่พบ จนในที่สุดได้ไปนั่งพักอยู่ที่วัดจามเทวี เป็นเหตุให้ได้พบกับชาวพื้นเมืองผู้หนึ่ง ชื่อ หนานทา    
   
หนานทากล่าวว่า อาจารย์ของเขาให้มารอพบบุคคลที่มีลักษณะเหมือนคุณสุทธวารี เขาจึงตามหนานทาผู้นั้นไปตามเส้นทางเล็กๆ จากดอยติจนกระทั่งเห็นเทือกเขาขุนตาล ถึงที่นั้นต้องจอดรถและเดินเท้าต่อไป จนเข้าไปถึงสำนักผู้เป็นอาจารย์ของหนานทา ซึ่งอยู่ในถ้ำ 

คุณสุทธวารีกล่าวว่า อาจารย์ผู้นั้นคือ พ่อฤาษีแก้ว เป็นชายชราแต่งกายอย่างฤาษีที่มีอายุถึง ๑๐๕ ปีแล้วในขณะนั้น            

พ่อฤาษีแก้วบอกให้คุณสุทธวารีทำเรื่องพระประวัติพระนางจามเทวีเผยแพร่ ท่านได้ยกเอาหีบไม้ทึบใบหนึ่งออกมาจากในถ้ำ จุดธูปเทียนบูชาแล้วจึงให้หนานทาเอาขวานทุบจนพัง 

ในหีบนั้นมีเอกสารโบราณทำด้วยกระดาษข่อย เขียนด้วยตัวอักษรล้านนา ซึ่งคุณสุทธวารีอ่านไม่ออก

พ่อฤาษีแก้วบอกกับคุณสุทธวารีว่า เอกสารดังกล่าวเป็นหนึ่งในพระประวัติพระนางจามเทวีซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น ๕ ฉบับ อีก ๔ ฉบับ ได้แยกย้ายกันอยู่ตามสถานที่ต่างๆ กล่าวคือ   
 
- ฉบับที่ ๑ พระพี่เลี้ยงปทุมวดีเป็นผู้บันทึกไว้ในลานทอง และเก็บไว้ในคูหาถ้ำดอยคำ     
  
- ฉบับที่ ๒ พระยาโหราธิบดินทร์เป็นผู้บันทึก และฝังไว้ในถ้ำพระพุทธบาท ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่   

- ฉบับที่ ๓ ฝังไว้ ณ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ จ.ลำพูน อยู่ในเขตบ้านออนเหนือ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่    

- ฉบับที่ ๔ ฝังไว้บริเวณที่ปัจจุบันอยู่เหนือเขื่อนภูมิพล จ.ตาก  
      
การแปลเรียบเรียงพระประวัติพระนางจามเทวี ตามเอกสารดังกล่าวเริ่มตั้งแต่คืนนั้น โดยหนานทาศิษย์พ่อฤาษีแก้วเป็นผู้แปล คุณสุทธวารีเป็นผู้จดบันทึก การแปลรอบแรกยุติเวลา ๕ ทุ่มของคืนนั้น พ่อฤาษีเน้นย้ำให้คุณสุทธวารีทำเรื่องนี้ถวายพระแม่เจ้า เพื่อจะได้หาเงินสร้างพระราชานุสาวรีย์ 

หลังจากนั้นวันรุ่งขึ้นจึงมีการแปลและจดบันทึกกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ ใช้เวลา ๔ วันจึงสำเร็จ  ซึ่งเรื่องราวที่ได้มานั้นมีทั้งพระประวัติพระนางจามเทวีและประวัติพระธาตุดอยคำ คุณสุทธวารีจึงได้คัดเฉพาะประวัติพระธาตุดอยคำไปถวายเจ้าคณะอำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ในสมัยนั้นตามที่ตั้งใจไว้   

ต่อมาพ่อฤาษีแก้วจึงได้ละสังขารในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน 

จากนั้น คุณสุทธวารีจึงได้นำบันทึกคำแปลเอกสารของพ่อฤาษีแก้ว มาทำการเรียบเรียงพระประวัติพระนางจามเทวีในพ.ศ.๒๕๐๙ เฉพาะภาคแรก และได้มีการพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชน  เป็นเหตุให้ได้รับความสนใจกันโดยทั่วไป              

แต่พระประวัติฉบับสมบูรณ์ทั้งสองภาค ตามที่มักนำมาอ้างอิงกันอย่างแพร่หลายในเวลาที่ผ่านมานั้น ได้รวบรวมขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๕๒๕ โดย รองอำมาตย์โท ชุ่ม ณ บางช้าง เป็นผู้ตรวจแก้ ดร.สนอง วรอุไร อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยทำการตรวจสอบ รวบรวมหลักฐาน และจัดพิมพ์รวมเล่ม 




โดยมี คุณ จริญญา พึ่งแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนในขณะนั้น ซึ่งกำลังดำเนินการระดมทุนจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการจัดพิมพ์สำหรับแจกเป็นจำนวนถึง ๖,๕๐๐ เล่ม โดยให้ชื่อหนังสือว่า พระราชชีวประวัติ พระแม่เจ้าจามะเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญชัย  
         
ในการพิมพ์ครั้งแรกของหนังสือที่กล่าวมานี้ มิได้มีการวางจำหน่าย หนังสือทั้งหมดถูกใช้ไปในการแจกจ่ายแก่บุคคลทั่วไป โดยทางจังหวัดรับไป ๔,๐๐๐ เล่ม คณะกรรมการ พิพิธภัณฑ์ทันตนคร อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระแม่เจ้าจามเทวีรับไปอีก ๒,๐๐๐ เล่ม และอีก ๕๐๐ เล่มที่เหลือ ผู้จัดพิมพ์ได้นำไปแจกจ่ายไว้ตามสถานที่สำคัญต่างๆ สำหรับเป็นสาธารณประโยชน์   
       
นอกจากฉบับที่พิมพ์เผยแพร่ในพ.ศ.๒๕๒๕ นี้แล้ว คุณสุทธวารียังอ้างไว้ว่า ได้ทำการเรียบเรียงพระประวัติอีกชุดหนึ่ง และได้นำไปฝังไว้ในเขตจังหวัดลพบุรี พระประวัติชุดดังกล่าวเรียบเรียงโดยรักษาเนื้อหาที่แปลจากเอกสารโบราณทุกอย่าง 

ส่วนฉบับที่นำมาพิมพ์เผยแพร่นี้ได้ตัดเนื้อหาบางส่วนออก เป็นต้นว่าเรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรมบางพิธีและพระราชทรัพย์ เพราะได้ตกลงกับพ่อฤาษีแก้วเอาไว้

ส่วนต้นฉบับที่ได้จากหีบไม้ ได้ฝังไว้ในถ้ำดอยขุนตาล อันเป็นที่พำนักของพ่อฤาษีแก้ว    
 
สำหรับคุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์ ผู้เรียบเรียงตำนานฉบับนี้ ภายหลังได้ตั้งสำนักทรงขึ้นมา  และการดำเนินการเกี่ยวกับพระนางจามเทวีของเขาในเวลาต่อมาก็มุ่งไปในทางไสยศาสตร์มากกว่าทางอื่น จนกระทั่งถึงแก่กรรม 

พระประวัติพระนางจามเทวีที่เขากล่าวว่าได้จากพ่อฤาษีแก้วนี้ ปัจจุบันยังคงเป็นที่นับถือของชาวลำพูนและเชียงใหม่โดยทั่วไป รวมทั้งตำหนักทรงต่างๆ ที่มีผู้อ้างเป็นร่างทรงพระนางจามเทวี ก็นิยมใช้ตำนานฉบับนี้ด้วย

แต่ชาวลำพูนรุ่นเก่าที่คุ้นเคยกับตำนานพระนางจามเทวีจริงๆ หลายท่าน  มักจะแคลงใจและมิได้ให้การรับรองพระประวัติชุดนี้เท่าใดนัก    
      
ความเห็นของผม : 

ภูมิหลังทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ดูคลุมเครือและเป็นที่เชื่อถือได้ยากครับ 

อย่างไรก็ตาม ผมก็มีข้อสังเกตอันเกิดจากการหาข้อมูลภาคสนาม และจากประสบการณ์ของผมเอง ในการเดินทางขึ้นล่องในเขตจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่มานานหลายปี ดังจะลำดับได้เป็นข้อๆ ดังนี้ 
      
๑) บุคคลที่คุณสุทธวารีอ้างว่าเป็นเจ้าของตำนาน คือ พ่อฤาษีแก้วนั้น อาจจะมีตัวตนจริง
 
ในป่าทางภาคเหนือและภาคอีสานแม้จนกระทั่งสมัยปัจจุบันนี้ ยังคงเป็นที่พำนักของผู้สูงอายุหลายท่าน ที่หลบหนีความวุ่นวายของสังคมเมืองเข้าไปปฏิบัติธรรมในป่า

ผู้สูงอายุเหล่านี้ถือศีลไม่เหมือนกัน ส่วนมากจะมีความรู้ทางโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ 

และด้วยเหตุที่ท่านมิได้บวชเป็นพระภิกษุ จึงมักถูกเรียกกันว่าฤาษี ในบรรดาฤาษีเหล่านี้ ผมเคยพบและสนทนาด้วยอยู่ ๒ ท่านในเขตจังหวัดตากและลำปาง

๒) สำหรับเอกสารโบราณที่คุณสุทธวารีอ้างว่า พ่อฤาษีแก้วได้เก็บรักษาไว้ในหีบไม้ เมื่อจะนำออกมาก็มีการจุดธูปขอและต้องเอาขวานทำลายหีบให้พังเสียก่อนนั้น ถ้าหากว่ามีอยู่จริงดังคำอ้าง ก็เป็นไปได้ว่าจะเป็นเอกสารเก่าจริง     
       
เพราะจากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสหลายท่านในลำพูน ประวัติเกี่ยวแก่พระนางจามเทวีนั้นได้ถูกบันทึกและเรียบเรียงด้วยอักขระล้านนาอยู่หลายปกรณ์ด้วยกัน โดยพระภิกษุและฆราวาสที่อยู่ตามวัดต่างๆ

ตัวอย่างก็เช่น ตำนานมูลศาสนา และ จามเทวีวงศ์ ที่ถูกเผยแพร่ในสมัยแรกๆ ตำนานพื้นเมืองฉบับพระมหาหมื่น วัดหอธรรม จ.เชียงใหม่ และ ตำนานพื้นเมืองฉบับใบลาน ซึ่ง สงวน โชติสุขรัตน์ แปลจากภาษาพื้นเมืองเป็นภาษาไทยออกพิมพ์เผยแพร่        
 
เอกสารเก่าซึ่งเป็นต้นตำนานฉบับคุณสุทธวารีนี้ ก็อาจจะเป็นหนึ่งในคัมภีร์โบราณที่เคยอยู่ในวัดแห่งใดแห่งหนึ่งก็เป็นได้นะครับ 

ซึ่งภายหลังพ่อฤาษีแก้วเป็นผู้ได้ไปเก็บรักษาไว้ ท่านคงจะได้ไปทั้งหีบไม้ และก็คงจะไม่เคยเปิดอ่าน ด้วยถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เมื่อจะนำออกมาแปลจึงต้องทำพิธีบูชา (ที่จริงควรเรียกว่าขอขมา) แล้วเอาขวานทุบหีบไม้ให้พังเสียก่อน 

เรื่องเช่นนี้แม้จะดูเหมือนนิยายมาก แต่หนทางแห่งความเป็นไปได้ก็พอมีอยู่เหมือนกัน     

ส่วนการที่ท่านกล่าวกับคุณสุทธวารีไว้ว่า ยังมีเอกสารเช่นเดียวกันนี้อีก ๔ ฉบับ อยู่ในเขต จ.เชียงใหม่และตากนั้น ก็เป็นไปได้ว่าจะมีอยู่จริงเช่นกัน แต่อาจจะอยู่ในลักษณะที่เป็นสมุดโบราณ และท่านได้ไปเห็นมาจากวัดในแถบนั้นก็เป็นได้          

เราควรจะเข้าใจว่า เรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์ของพระนางจามเทวีนั้น ได้เป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนในเขต จ.ตาก ลำพูน และเชียงใหม่มาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว มิใช่เพิ่งจะมาตื่นเต้นศรัทธากันเมื่อสร้างพระราชานุสาวรีย์ถวายพระองค์ท่านแต่อย่างใด

เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลก ที่จะมีการบันทึกเรื่องราวของพระองค์ท่านไว้ในรูปแบบของคัมภีร์ต่างๆ หลายสิบเล่ม กระจัดกระจายกันอยู่ในจังหวัดเหล่านี้ 

ซึ่งตามที่ผมได้ข้อมูลมาล่าสุด คือมีผู้กล่าวว่าตำนานพระนางจามเทวีนั้น มีอยู่มากกว่า ๓๐ สำนวนนะครับ แม้ว่าแต่ละคัมภีร์อาจจะไม่มีเนื้อหาที่สอดคล้องกัน เนื่องจากเป็นการบันทึกในชั้นหลังมากก็ตาม 

และแม้ว่าจะมีคัมภีร์เหล่านี้คงเหลืออยู่มาก แต่เหตุที่มีการนำมาแปลเพียงส่วนน้อย ก็เพราะเรื่องของพระนางจามเทวีมิได้เป็นที่สนใจในทางวิชาการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประการหนึ่ง 

อีกประการหนึ่ง แม้แต่วัดที่มีคัมภีร์เหล่านี้อยู่ ก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนมีสิ่งใดไว้ในครอบครอง  เพราะผู้ที่รู้นั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว         

๓) แต่ถึงเอกสารต้นฉบับที่ว่านี้จะเป็นของเก่า ผมก็คิดว่า ที่จริงมันอาจจะไม่เก่าเท่าใดนักหรอกครับ
 
หรือจะพูดให้แคบเข้า ก็คือคงไม่เก่าไปกว่าปกรณ์อื่นๆ ที่ทางวัดต่างๆ ในลำพูนและเชียงใหม่เก็บรักษาไว้ ซึ่งเท่าที่มีผู้พบเห็น ส่วนมากจะมีอายุไม่เกิน ๒๐๐ ปี    
  
ถ้าเราได้ต้นฉบับของเอกสารในหีบไม้มาตรวจสอบอายุ ก็คงจะง่ายขึ้นนะครับ และก็จะช่วยให้การเรียบเรียงของคุณสุทธวารีลดความคลุมเครือลง

แต่อย่างว่านะครับ คุณสุทธวารีเขารู้เขาเห็นของเขาอยู่คนเดียว พ่อฤาษีแก้วเขาก็อ้างว่าละสังขารไปแล้ว พยานบุคคลอื่นที่จะอ้างอิงก็ไม่มี ความลับทั้งหมดจึงต้องตายไปพร้อมกับตัวเขา

แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการกำหนดอายุของเนื้อหาชั้นเดิมที่สุดในเอกสารฉบับนี้ โดยเทียบเคียงกับตำนานพื้นเมืองฉบับอื่นว่า ไม่ควรจะเก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๒๑ นั้น เห็นจะไม่เกินเลยไปนักหรอกครับ  

๔) สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับคุณสุทธวารี และพ่อฤาษีแก้ว โดยเฉพาะในทางที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ ผมเห็นว่าไม่ควรจะนำมาร่วมพิจารณา ในการประเมินคุณค่าของตำนานพื้นเมืองฉบับนี้นะครับ 

เพราะไสยศาสตร์นั้น เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล มิได้เกี่ยวข้องกับการเรียบเรียงตำนานใดๆ 

แม้คุณสุทธวารีก็อ้างถึงนิมิตเกี่ยวแก่พระนางจามเทวี เพียงในชั้นแรกที่จะได้ไปพบกับพ่อฤาษีแก้วเท่านั้น ต่อจากนั้นไม่ว่าการแปลหรือเรียบเรียง ได้กระทำไปตามวิสัยปุถุชนทั้งสิ้น ไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ (เช่น พระนางจามเทวีปรากฏพระองค์มาบอกเรื่องราวต่างๆ หรือช่วยเติมส่วนที่ขาดหายฯลฯ)    
  
และถ้าจะเอาเรื่องไสยศาสตร์เป็นเกณฑ์ ในการลดความน่าเชื่อถือของผู้แต่งตำนานใดๆ แล้ว ผมเชื่อว่า ในที่สุดจะไม่มีเอกสารโบราณในประเทศไทยแม้สักฉบับเดียว ที่มีคุณค่าควรแก่การศึกษาละครับ 

เพราะข้อเท็จจริงก็คือ บรรดานักปราชญ์ แม้จนพระภิกษุสงฆ์ในยุคโบราณที่มีความสามารถเพียงพอที่จะเรียบเรียงปกรณ์ต่างๆ ขึ้นมาได้นั้น นอกจากท่านเหล่านี้จะต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะเขียนอย่างลึกซึ้งแล้ว ร้อยทั้งร้อยมักจะเป็นผู้ที่มีความรู้ทางไสยศาสตร์สาขาต่างๆ เป็นอย่างดีด้วย

เพราะไสยศาสตร์เป็นวิชาสำคัญสำหรับปัญญาชนในสมัยนั้น ซึ่งไม่ได้อยู่ในโลกของวิทยาศาสตร์ดังเช่นสมัยของเราครับ   

กรณีที่ ๒. เนื้อหาและการอ้างอิงหลักฐานทางโบราณคดี

เนื้อความในพระประวัติฉบับนี้ เริ่มด้วยการกล่าวนำว่า เป็นการบันทึกโดยพระพี่เลี้ยงปทุมวดี โดยสรุปไว้ในลักษณะบทคัดย่อเกี่ยวกับพระนางจามเทวี ตั้งแต่เข้าสู่ราชสำนักละโว้จนสิ้นรัชสมัย

ต่อมา ลำดับเรื่องด้วยการขึ้นต้นการบันทึกพระชะตาพระนางจามเทวีโดยท่านสุเทวฤาษี กล่าวข้ามไปถึงตอนพระนางจามเทวีเข้าราชสำนักละโว้ แล้วย้อนกลับสู่ภูมิหลังของพระนางสมัยอยู่กับท่านฤาษีที่ลำพูนโดยละเอียด ดำเนินเรื่องต่อไปจนถึงสงครามโกสัมพี สมรภูมิที่วังเจ้า รับสาส์นอัญเชิญจากลำพูน  และเตรียมเสด็จออกจากละโว้พร้อมด้วยข้าราชบริพาร เป็นอันจบภาคแรก     
    
ภาคสอง เริ่มด้วยการส่งเสด็จโดยพสกนิกรลวปุระ และผ่านสถานที่ต่างๆ ทรงสละเพศเป็นชีปะขาว เดินทางถึงลำพูนและเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงวางระเบียบการปกครอง สร้างเวียงหน้าด่าน ทรงตราอักขระรามัญขึ้นเป็นครั้งแรก ได้ช้างผู้ก่ำงาเขียว จัดการประลองธรรมระหว่างพระเถระเมืองหริภุญไชยและละโว้ การซ้อมรบกับฝ่ายพระพี่เลี้ยง ขุนวิลังคะพุ่งเสน้า สงครามขุนวิลังคะ ราชาภิเษกพระเจ้ามหันตยศและพระเจ้าอนันตยศ และเบื้องปลายพระชนม์ชีพ เป็นอันจบภาคสอง  
     
ในการเรียบเรียงตำนานทั้งสองภาคนี้ ใช้แบบแผนที่เป็นจารีตประเพณี กล่าวคือมีการลำดับวันเดือนปีตามปฏิทินทางจันทรคติเมื่อถึงเหตุการณ์สำคัญๆ ไว้อย่างครบถ้วน และวันเวลาเหล่านี้ปรากฏว่ามีความสอดคล้องกัน     

นอกจากนี้ ยังได้พยายามสอดแทรกความรู้ด้านพิธีกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น พิธีกรรมในวาระที่เจ้าหญิงจามเทวีจะเสด็จออกสู่สงครามโกสัมพี มีการพระราชทานพระแสงอาญาสิทธิ์  มีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ (อ่านศิวะโองการ) หรือการระบุพระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏเมื่อได้รับการสถาปนาในขั้นตอนต่างๆ

แม้แต่ชื่อเพลงมโหรีที่ใช้กันในราชสำนักสมัยนั้นก็ยกตัวอย่างไว้ด้วย คือเพลงพระบรรทม หรือเพลงเขมรพระประทม ที่เราเรียกกันสมัยนี้ว่า เขมรพวง

เนื้อหาส่วนใหญ่พยายามเรียบเรียงให้เป็นภาษาที่เก่า มีการสอดแทรกบทสนทนา และการบรรยายเหตุการณ์สำคัญด้วยลักษณะการเขียนแบบนิยาย แม้การแสดงอารมณ์ของบุคคลต่างๆ ก็พยายามกล่าวถึงอย่างครบถ้วน ทำให้เนื้อหาทั้งหมดมีท่วงทำนองที่ตื่นเต้น อ่านง่ายและน่าอ่าน ทั้งยังดูเป็นจริงเป็นจังน่าเชื่อถือสำหรับคนทั่วไปอีกด้วย  
      
ในการพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อพ.ศ.๒๕๒๕ ยังได้มีการสอดแทรกเพิ่มเติมบทกวีที่แต่งใหม่เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญในพระประวัติ เช่นในรูปของฉันท์แบบต่างๆ ซึ่งแต่งโดย อนงค์ ชมพูรัตน์  เป็นต้น   

นอกจากนี้ ดร.สนอง วรอุไร ผู้ช่วยตรวจสอบค้นหาหลักฐานและจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ยังได้นำภาพถ่ายทางอากาศที่ได้รับจากภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาพถ่ายโบราณสถานในสถานที่ต่างๆ ที่ตำนานอ้างถึงมาตีพิมพ์ประกอบ 

ภาพถ่ายทางอากาศล้วนแสดงให้เห็นเมืองโบราณรูปวงรีและสี่เหลี่ยมมุมมนขนาดเล็กอย่างชัดเจน ส่วนภาพโบราณสถานที่นำมาประกอบนั้น บางแห่งก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วในปัจจุบัน

ภาพโบราณวัตถุที่น่าสนใจ เช่นจารึกพบที่เวียงหน้าด่าน (เวียงท่ากาน) และกู่ช้าง เป็นต้น ได้ถูกนำมารวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย      

แต่ภาพโบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่น่าสนใจยิ่งกว่า และไม่มีการพิมพ์เผยแพร่ในเอกสารอื่นๆ อีก  ได้นำมาแสดงไว้อย่างมากมายในหนังสือเล่มนี้

โบราณวัตถุดังกล่าวคือประติมากรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวีโดยตรง ตั้งแต่ช่วงปฐมวัยเลยทีเดียว  ได้แก่    
       
-พระพิมพ์รูปท่านสุเทวฤาษี   
-พระรูปกุมารีเมื่อตกกลางบัวหลวง   
-พระรูปกุมารีวีเมื่อชนมายุได้ ๘ พรรษา       
-พระพิมพ์พระเจ้านพรัตน์, พระพิมพ์พระนางมัณฑนาเทวี     
-ประติมากรรมท่านสุเทวฤาษีใช้พัดช้อนร่างทารก    
-พระรูปกุมารีวีฟ้อนถวายพระเจ้าละโว้



        
-ส่วนพระพักตร์เจ้าหญิงจามเทวี       
-พระพิมพ์พระนางจามเทวีเมื่อเสวยราชย์     
-พระรูปพระนางจามเทวีเมื่อทรงเพศนักบวช  
-ประติมากรรมช้างผู้ก่ำงาเขียว (มี ๓ แบบ)  
-ประติมากรรมพระเจ้าอนันตยศทรงช้างผู้ก่ำงาเขียว
-พระพิมพ์พระสังฆราชหริภุญไชย     
-พระพิมพ์พระสังฆราชละโว้  
-ประติมากรรมรูปดวงตราดอกจันทน์, ดวงตราประจำผู้รักษาเวียง    
-พระเศียรพระพี่เลี้ยงทั้งสองพระองค์ ทำจากแก้วสีชมพูและสีเขียว
-พระรูปพระนางจามเทวีเมื่อพระชนมายุ ๔๘ พรรษา




-พระรูปพระนางจามเทวีทรงปฏิบัติกรรมฐานห้ามทัพระมิงค์ 



 
-พระรูปพระนางจามเทวีเมื่อเสด็จระมิงค์นคร



           
-ชิ้นส่วนพระรูปเหลือเพียงพระโสณี ด้านหลังจารึกอักษรล้านนา     
-พระรูปพระนางจามเทวีเมื่อเสด็จไปร่วมการประลองธรรม



   
-พระรูปพระนางจามเทวีเมื่อเสด็จสวรรคต (มี ๒ แบบ)        
-ประติมากรรมม้าทรงที่พระนางจามเทวีทรงออกศึกโกสัมพี
-พระเศียรและพระรูปเจ้ารามราชเมื่อทรงผนวช ทำด้วยแก้วใสและแก้วสีโกเมน 
    
พระรูป พระพิมพ์ และประติมากรรมเหล่านี้ แสดงให้เห็นแบบอย่างทางศิลปกรรมที่หลากหลาย  โดยเฉพาะพระรูปและประติมากรรมนั้นส่วนมากเป็นศิลปะที่ไม่เหมือนที่อื่น 

โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ทันตนคร อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับคุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์ และทั้งหมดยังไม่มีหลักฐานว่าได้รับการตรวจพิสูจน์โดยกรมศิลปากร            
ความเห็นของผม :

การตีพิมพ์พระประวัติอย่างสมบูรณ์ ด้วยการเรียบเรียงที่น่าอ่าน ประกอบกับหลักฐานที่มีทั้งสถานที่ ภาพถ่ายทางอากาศ และโบราณวัตถุเช่นนี้ ย่อมทำให้หนังสือชุด พระราชชีวประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ฉบับพ.ศ.๒๕๒๕ เพิ่มความสมจริงและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น 

โดยเฉพาะเมื่อทางจังหวัดเป็นผู้สนับสนุนการจัดพิมพ์ดังกล่าวแล้ว น่าจะไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้คงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จังหวัดลำพูนสามารถสร้างพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีได้สำเร็จในปลายปีพ.ศ.๒๕๒๕ นั่นเอง          

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีทั้งเรื่องที่ควรเชื่อและไม่ควรเชื่อนะครับ

๑) สำนวนการเรียบเรียงของคุณสุทธวารี เท่าที่กระทำกับเนื้อหาส่วนใหญ่ในตำนานนี้เห็นได้ชัดว่า เป็นผู้มีความชำนาญในด้านการเขียน โดยเฉพาะในลักษณะนิยาย 

แต่ถึงอย่างไร ความชำนาญเช่นนี้ก็เป็นคนละส่วนกันนะครับ กับการลำดับวันเวลาทางจันทรคติ ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้ทางปฏิทินโบราณ ไม่ใช่เป็นแค่นักเขียนนิยายแล้วจะทำได้

เห็นได้ชัดว่า ถ้าเอกสารต้นฉบับของพระประวัติชุดนี้มีอยู่จริง ลำดับวันเวลาทางจันทรคติอาจจะเป็นส่วนที่มีมาแต่เดิมก็ได้นะครับ      

๒) การเรียบเรียงให้มีลักษณะเป็นนิยาย รวมทั้งการสอดแทรกบทสนทนาที่เป็นเหตุการณ์ปัจจุบันเข้าไปเป็นจำนวนมาก อาจเป็นด้วยเจตนาของคุณสุทธวารีที่จะทำให้ง่ายต่อการอ่าน และทำให้น่าอ่าน เพราะเป็นการเรียงเรียงเพื่อระดมเงินสร้างพระราชานุสาวรีย์

ถ้าหากว่าเนื้อหาเดิม มีสำนวนเช่นเดียวกับที่ใช้กันในคัมภีร์เก่าๆ เช่น มูลศาสนา และจามเทวีวงศ์ การคงสำนวนเช่นนั้นไว้ก็จะไม่สามารถยังความประทับใจแก่คนส่วนมาก จนระดมเงินสร้างพระราชานุสาวรีย์ได้หรอกครับ

เพราะพูดง่ายๆ คือ เราจะขอเงินจากชาวบ้าน ไม่ใช่นักวิชาการ   
    
ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า เนื้อหาเดิมในเอกสารต้นฉบับ (ถ้ามีจริง) อาจจะมีสำนวนที่เก่า เช่นเดียวกับฉบับพระมหาหมื่น วัดหอธรรม ก็ได้ 

แต่หนานทาได้เปลี่ยนสำนวนดังกล่าวนั้นเสียชั้นหนึ่งแล้วในขั้นตอนการแปล และคุณสุทธวารีได้ปรับปรุงอีกชั้นหนึ่งในขั้นตอนการเรียบเรียง บทสนทนา ก็เน้นขึ้นมาจากของเดิมในเรื่อง
 
กลวิธีการเรียบเรียงเช่นนี้ ไม่เป็นการเหลือวิสัยสำหรับผู้มีทักษะในการเขียนเช่นคุณสุทธวารีที่จะสามารถกระทำได้          

อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวย่อมทำให้เกิดผลเสียหลายประการ คือ ทำให้พระประวัติชุดนี้ขาดความน่าเชื่อถือทางวิชาการไปอย่างสิ้นเชิง เป็นประการที่หนึ่ง 
                 
ประการที่สอง การปรับสำนวนเดิมให้มีลักษณะเป็นนิยายมากขึ้น เพิ่มอรรถรสในการอ่านมากขึ้น โดยเฉพาะการบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ อย่างได้อารมณ์และมีสีสัน เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้อ่านเป้าหมายที่มีรสนิยมในการอ่านอยู่ในระดับชาวบ้านทั่วไป ย่อมทำให้ผู้เรียบเรียงต้องต่อเติมเสริมแต่งเพิ่มขึ้นมาก
 
จนที่สุด แม้แต่จะต้องแต่งเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่มีในสำนวนเดิมเพิ่มเข้าไป เพื่อให้เนื้อเรื่องลื่นไหล ก็ต้องกระทำครับ           
 
และที่สำคัญคือ แม้คุณสุทธวารีจะอ้างว่าได้เรียบเรียงพระประวัติเต็มตามของเดิมไว้ด้วย แต่เขาก็มิได้นำพระประวัติดังกล่าวนั้นออกมาเผยแพร่เพื่อเปรียบเทียบ 

เขามิได้เผยแพร่ต้นฉบับ ที่เขาทำการบันทึกไว้ในคราวที่หนานทาแปลเอกสารดังกล่าวเป็นครั้งแรกด้วยซ้ำ 

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยครับ ที่เราจะระบุได้อย่างแน่นอนว่า เนื้อหาตอนใดบ้างที่เป็นของมีมาแต่เดิม 

วิธีค้นหาเนื้อความเดิมของเอกสารดังกล่าว (ย้ำ-ถ้าหากว่ามีจริง) ตามที่ผมใช้ใน จอมนางหริภุญไชย ก็คือดูว่า ส่วนใดบ้างที่ตรงกับตำนานพื้นเมืองฉบับอื่น  และตรงกับความทรงจำของคนรุ่นเก่าในลำพูน เชียงใหม่ และลพบุรีมาก่อนการเผยแพร่ของคุณสุทธวารี และส่วนใดบ้างที่สามารถหาหลักฐานแวดล้อมมารองรับได้     
       
และด้วยวิธีนี้ละครับ แม้ในภายภาคหน้าจะมีผู้พิสูจน์ได้ว่า ความมีตัวตนของเอกสารต้นฉบับที่คุณสุทธวารีอ้างถึงจะเป็นเพียงจินตนาการล้วนๆ เราก็ยังพอจะประเมินได้ว่า เนื้อหาตอนใดของเขาที่สอดคล้องกับตำนานอื่นๆ ที่มีมาก่อน และเราก็จะตั้งเป็นสมมุติฐานได้ว่า เรื่องเช่นนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ตรงกันในตำนานพื้นเมืองดั้งเดิมหลายๆ สำนวนครับ   
       
๓) นอกจากการต่อเติมเสริมแต่งจนทำให้ค้นหาเนื้อความเดิมได้ยากแล้ว การให้รายละเอียดของบรรยากาศในราชสำนัก ตลอดจนประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ในพระประวัติชุดนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นได้ชัดว่าเป็นของยุคหลังมากๆ

ซึ่งถ้าหากว่า เนื้อหาส่วนนี้มิได้เป็นสิ่งที่เพิ่มเติมเข้าไปโดยคุณสุทธวารีแล้ว ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เอกสารต้นฉบับเรื่องนี้เป็นของที่ทำขึ้นโดยนักปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนภาคกลาง ไม่ใช่ชาวลำพูน เชียงใหม่ หรือล้านนา และเป็นบุคคลในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เองละครับ 
   
เพราะแบบแผนของจารีตและพิธีกรรมที่ปรากฏนั้น แม้จะดูเหมือนของเก่า แต่ที่จริงเป็นสิ่งที่เขียนขึ้นโดยผู้แต่งที่ไม่มีความรู้ในด้านประเพณีพิธีกรรมชั้นสูงครับ 

ถ้าผู้แต่งเอกสารนี้เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดราชสำนักมาก่อน ไม่ว่าในรัชสมัยพระนางจามเทวีหรือสมัยใด เขาจะต้องสามารถอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ 

ตัวอย่างเช่น การระบุพระนามต่างๆ เมื่อได้รับการสถาปนา และจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า เจ้าหญิงจามเทวี ศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัตติยนารี รัตนกัญญา ลวะบุรีราเมศวร 

พระนามเช่นนี้อาจจะดูสูงส่ง และสมจริงนะครับ ถ้ามองจากสายตาชาวบ้าน 

แต่ถ้าเป็นพราหมณ์ประจำราชสำนัก หรือผู้รู้ทางพิธีกรรมชั้นสูงตามที่ควรจะเป็นจริง พระนามเช่นนี้เต็มไปด้วยความผิดพลาดครับ พยายามใช้ศัพท์ให้เชื่อมโยงกับภาษาพราหมณ์โบราณก็จริง แต่ลักลั่นและผิดความหมาย 

ผู้สามารถคิดแต่งพระนามได้เพียงเท่านี้ จึงน่าจะเป็นเพียงพระสงฆ์ หรือฆราวาสนักปฏิบัติธรรมท่านใดท่านหนึ่ง ที่มีความรู้ในด้านอักษรศาสตร์แต่พอสมควรเท่านั้นละครับ  
     
ที่เห็นได้ชัดอีกส่วนหนึ่ง คือตอนที่ว่าด้วยการประลองปัญหาธรรม ระหว่างพระสังฆราชละโว้และพระสังฆราชหริภุญไชย

ข้อธรรมที่นำมาประลองกันนั้น ใครที่ศึกษาธรรมมากสักหน่อยจะเห็นชัดเลยนะครับ ว่าเป็นเพียงเรื่องพื้นๆ มิได้มีความลึกซึ้งหรือละเอียดประณีต ให้สมกับเป็นปัญหาธรรมที่พระเถราจารย์ระดับพระสังฆราชในสมัยพันกว่าปีก่อน จะนำมาถกเถียงกันโดยมีบ้านเมืองเป็นเดิมพันแต่อย่างใด ดูไปแล้วกลับเหมือนสิ่งที่พระนักเทศน์สมัยปัจจุบันนี้ใช้เทศน์สั่งสอนชาวบ้านให้สนุกครึกครื้นกันด้วยซ้ำไปครับ   

ข้อนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อาจแสดงให้เห็นว่า ถ้าเอกสารต้นฉบับนี้มีอยู่จริง ก็คงเป็นของที่แต่งขึ้นในวัดใดวัดหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นวัดในภาคกลางด้วยซ้ำไป เมื่อระยะเวลาไม่เกิน ๒๐๐ ปีก่อนหน้านี้เอง 
  
แต่ถ้าจะถามว่า เมื่อดูจากความสามารถในการเขียนของคุณสุทธวารีแล้ว เขาสามารถแต่งเติมเรื่องพวกนี้ขึ้นมาได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ได้  
   
เพราะเขามีพื้นเพที่สนใจในการศึกษาค้นคว้าตำนานโบราณมาก่อน ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่คิดจะค้นหาประวัติพระธาตุดอยคำมาตีพิมพ์ขายเพื่อหาเงินบูรณะวัดหรอกครับ 

และไม่เช่นนั้นเขาคงไม่ระบุว่า ก่อนหน้าพ่อฤาษีแก้วจะบอกให้เขาเขียนพระประวัติพระนางจามเทวีนั้น พระประวัติดังกล่าวได้มีผู้เรียบเรียงมาก่อนแล้ว ๒ ท่าน  คือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระเถระรูปหนึ่งที่วัดเจดีย์เจ็ดยอด

นี่คือเขาก็ได้ทำการค้นคว้ามาในระดับที่มากพอสมควรนะครับ เพราะไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันทั่วไป

ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงมิได้นำสาระด้านพิธีกรรม ประเพณี รายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ  และรายพระนามดังกล่าวมาร่วมวิเคราะห์ในภาคสันนิษฐานของ จอมนางหริภุญไชย     
    
๔) หลักฐานที่ได้มีการจัดหามาสนับสนุนการรวมเล่มพระประวัติชุดนี้ เช่นภาพถ่ายทางอากาศที่ ดร.สนองได้มาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งภาพของศิลาจารึกบางชิ้น โดยอายุและความเก่าแก่แล้วก็นับว่าเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือ แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างแท้จริงว่าเป็นของที่เกิดร่วมสมัยพระนางจามเทวี 

ส่วนภาพโบราณสถานนั้น ส่วนใหญ่น่าจะเป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นในยุคหลังมากกว่า  
  
แต่ในความเห็นของผมแล้ว คงไม่มีอะไรเหลวไหลไปกว่าภาพโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์ทันตนครทั้งหมดละครับ เพราะแทนที่จะช่วยสนับสนุนให้พระประวัติชุดนี้มีความหนักแน่นขึ้นในทางวิชาการ กลับเป็นส่วนสำคัญที่ลดความน่าเชื่อถือในพระประวัติชุดนี้ลงอย่างสิ้นเชิง    
        
เพราะโบราณวัตถุเหล่านี้ ทั้งหมดเห็นได้ชัดครับว่าเป็นของปลอม หรือเป็นของที่ทำในยุคหลังนี้เอง 
แม้จะมีบางชิ้นที่อาจเป็นของจริง และเป็นของเก่าได้บ้าง แต่ก็ไม่มีทางที่จะเก่าถึงรัชสมัยพระนางจามเทวี หรืออาจจะไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับพระนางเลยครับ    
       
ยกตัวอย่างเช่น :      

- โบราณวัตถุประเภทพระพิมพ์ทั้งหมด เห็นได้ชัดว่าเป็นของใหม่ที่สร้างเลียนแบบพระพิมพ์โบราณ แล้วเพิ่มลวดลายต่างๆ เพื่อให้ดูแตกต่างจากพิมพ์เดิม 

เช่น พระรูปพระเจ้านพรัตน์ และพระนางมัณฑนาเทวีแห่งกรุงละโว้ น่าจะเอาแบบมาจากพระพิมพ์ชุดพระร่วงหลังลายผ้า ซึ่งเป็นพระกรุที่มีชื่อเสียงของ จ.ลพบุรีนั่นเอง 




พระรูปพระนางจามเทวีเมื่อเสวยราชย์ น่าจะได้แบบอย่างจากพระโคนสมอปางประทับนั่งห้อยพระบาทสมัยอยุธยา เป็นต้น         

- ประติมากรรมรูปบุคคลและรูปสัตว์ทั้งหมด เห็นได้ชัดว่าเป็นของสร้างใหม่ในสมัยปัจจุบัน โดยใช้ช่างหลายๆ คนช่วยกันผลิต ทำให้เกิดรูปแบบศิลปะและฝีมือที่แตกต่างกัน

แต่รูปแบบทางศิลปกรรมเหล่านี้ไม่อาจเปรียบเทียบได้กับศิลปะทวารวดี อันเป็นศิลปะร่วมสมัยกับพระนางจามเทวี และไม่อาจเทียบได้กับแบบอย่างสกุลช่างทางศิลปะใด ที่เป็นของโบราณทั้งสิ้นนะครับ แม้ว่าบางชิ้นจะพยายามทำเลียนแบบ หรือได้แนวความคิดมาจากของโบราณก็ตาม     

การจับผิดประติมากรรมพวกนี้สามารถทำได้ง่าย โดยไม่ต้องใช้ความรู้ทางศิลปกรรมมากนัก เช่น :  
    
- พระรูปกุมารีวีฟ้อนรำถวายพระเจ้ากรุงละโว้ ทำเป็นตุ๊กตาเด็กสาวห่มสไบนุ่งผ้าจีบหน้านางแบบรัตนโกสินทร์ ลักษณะเหมือนงานหัตถกรรมที่ระลึกสำหรับขายนักท่องเที่ยว


   
     
- ช้างผู้ก่ำงาเขียวทั้งหมดทุกชิ้น ก็เป็นฝีมือช่างหัตถกรรมของที่ระลึกเช่นกัน 


  
     
- ประติมากรรมบางชิ้นฝีมือหยาบมาก จนเหมือนงานปั้นดินเหนียวของเด็กๆ หรือตุ๊กตาที่ใช้ทำพิธีไสยศาสตร์ เช่น พระรูปพระนางจามเทวีลักษณะหันหน้าตรง ซึ่งฉลองพระองค์ไม่เหมือนกันเลยสักรูปเดียว บางรูปยังมีพระนามเป็นตัวอักษรไทยสมัยปัจจุบันปรากฏอยู่อย่างชัดเจน




- ประติมากรรมเจ้าอนันตยศทรงช้างผู้ก่ำงาเขียว เอาแบบมาจากประติมากรรมเทวดาทรงช้าง ที่มีขายกลาดเกลื่อนในตลาดพระท่าพระจันทร์สมัยนั้น  


    
  
- ประติมากรรมอื่นๆ โดยเฉพาะศีรษะบุคคลและรูปบุคคลที่ทำด้วยแก้วนั้น น่าจะมาจากพระพุทธรูปที่ทำจากแก้วสีต่างๆ ที่นิยมสร้างในภาคเหนือมาแต่เดิมนั่นเอง 

ชิ้นส่วนพระพุทธรูปเหล่านี้ แม้บางชิ้นอาจจะเป็นของเก่าได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถจะนำมาอธิบายว่าเป็นรูปบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวีได้ครับ  
        
แม้ว่า การที่พิพิธภัณฑ์เอกชนสักแห่งหนึ่ง จะสามารถครอบครองโบราณวัตถุสำคัญที่ไม่มีอยู่ในกรมศิลปากรนั้นจะเป็นไปได้ แต่ผมว่าคงไม่ใช่สำหรับพิพิธภัณฑ์ทันตนครแห่งนี้
 
เพราะถ้าโบราณวัตถุที่นำมาเผยแพร่กันนี้เป็นของเก่าจริง ประวัติศาสตร์เกี่ยวแก่พระนางจามเทวีย่อมจะต้องพลิกผันไปมากแล้วอย่างแน่นอน       
  
อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปีพ.ศ.๒๕๔๕ ซึ่งผมได้เดินทางไปลำพูนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม ก็ได้ทราบว่าพิพิธภัณฑ์ทันตนครแห่งนี้ได้ร้างไปแล้ว เพราะหลังจากการเสียชีวิตของคุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์ ก็ไม่มีผู้ดำเนินการต่อ โบราณวัตถุซึ่งคงเป็นของทำขึ้นใหม่ทั้งหมดก็กระจัดกระจายสูญหายไปสิ้น     

การที่พระประวัติชุดนี้ มีทั้งเรื่องที่ควรเชื่อ และเรื่องที่ไม่ควรเชื่อปะปนคละเคล้ากันโดยตลอด  ดังที่ผมได้แจกแจงมาพอสังเขปนี้ ทำให้เป็นการง่ายที่จะเหมารวมว่าเป็นพระประวัติที่นำมาใช้ทางวิชาการไม่ได้

แต่ผมได้แสดงให้เห็นแล้วนะครับว่า ที่จริงยังมีอะไรบ้างที่เราควรจะสนใจ หรือนำมาใช้ประโยชน์

และในหนังสือ จอมนางหริภุญไชย ที่มีการนำพระประวัติชุดนี้มาเปรียบเทียบ ก็มิได้ทำขึ้นด้วยความประสงค์จะให้ใช้ในฐานะหนังสือวิชาการแต่อย่างใดครับ


………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

8 comments:

  1. ดูโบราณวัตถุทั้งหมดแล้วไม่น่าเชื่อเลยค่ะ อาจารย์ ว่าคนสมัยนั้นจะหลงเชื่อกัน

    ReplyDelete
    Replies
    1. คนไทยเราห่างพิพิธภัณฑ์ครับ ถ้ามีการปลูกฝังให้มีความรู้ความเข้าใจ และความรักในของเก่าของโบราณกันมากกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากจะช่วยให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์แล้วยังทำให้ไม่ถูกหลอกง่ายๆ ด้วยครับ

      Delete
  2. ถ้าไม่มีพื้นฐานความรู้ที่หลากหลายมากๆ คงวิเคราะห์ไม่ได้แบบนี้แน่เลยค่ะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ใช่ครับ ถึงจะเป็นการวิเคราะห์ในเรื่องประวัติศาสตร์-โบราณคดี ก็จะรู้อยู่แค่ประวัติศาสตร์-โบราณคดีไม่ได้

      Delete
  3. ให้ข้อมูลและความรู้ดีมากค่ะ

    ReplyDelete
  4. เป็นคุ้งเป็นแควจริงๆ คะโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ทันตนคร

    ReplyDelete
    Replies
    1. พูดตามตรงนะครับ ตัวตำนานเองก็ดูหมกเม็ด ปิดบังที่มาที่ไป แล้วยังมาทำอย่างนี้กันอีก เหมือนเป็นแก๊งลวงโลกยังไงก็ไม่ทราบครับ

      Delete

Total Pageviews