พระนางจามรี ทรงเป็นกษัตริย์หญิงในตำนานอีกพระองค์หนึ่ง
ที่ครองราชย์อยู่ในพื้นที่ที่เป็นเขตจังหวัดลำพูนทุกวันนี้
เช่นเดียวกับพระนางจามเทวี
และพระนามก็คล้ายกันมาก จนเป็นเหตุให้มีผู้สับสนบ่อยๆ
ทั้งที่จริงแล้ว เป็นกษัตรีย์คนละพระองค์ และอยู่ในคนละยุคสมัยกัน
กล่าวคือ ยุคสมัยของพระนางจามรีนั้น
เชื่อกันว่าคงอยู่ในราวๆ สมัยหริภุญไชยตอนปลาย หรือล้านนาตอนต้น ครับ
ทั้งนี้เพราะตำนานของพระนาง ผูกพันกับการสร้างเมือง หลวงพระบาง ในประเทศลาวด้วย
เรื่องราวของพระนางจามรี มีบันทึกไว้ในประวัติ
วัดพระธาตุดวงเดียว หรือ วัดพระธาตุกลางเวียง อ.ลี้ จ.ลำพูน
กล่าวว่ามีเวียงอยู่เวียงหนึ่ง อยู่ทางตอนใต้ของจีน เป็นเวียงที่เก่าแก่นานมาก
เคยมีเจ้าผู้ครองสืบสายต่อกันมาหลายองค์ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเวียงนี้
เรียกว่า ชาวโยนก
ลุมาถึงปีพุทธศักราช ๕๐๐-๗๗๐
เจ้าเมืองวิเทหะ และพวกจีนฮ่อในแคว้นยูนนาน ได้แผ่อาณาเขตมาถึงโยนก
กดขี่ข่มเหงกระทำทารุณกรรมบังคับขู่เข็ญชาวโยนกให้เป็นทาส
ปรากฏว่าชาวโยนกผู้รักอิสระเสรี
รักความเป็นไทไม่ยอมรับใช้เผ่าจีนฮ่อ ได้อพยพผู้คนถอยหนีลงมาตามลำดับและมาตั้งอยู่
ณ บริเวณที่ในปัจจุบันนี้เรียกกันว่า สิบสองปันนา หรือ สิบสองจุไท
และต่อมาพอมีกำลังเข้มแข็งขึ้น ก็พากันไปตั้งเมืองหลวงพระบาง ในประเทศลาวทุกวันนี้
ชาวโยนกที่เป็นผู้สถาปนาเมืองหลวงพระบางนี้ มี
เจ้าคำภีระ เป็นผู้นำ
เจ้าคำภีระมีธิดาองค์หนึ่ง ชื่อว่า พระนางจามรี
กล่าวกันว่าทรงมีพระรูปเลอโฉมยิ่งนัก และโปรดการทรงม้ามาก
มักทรงม้าเสด็จไปเที่ยวดูภูมิสถานต่างๆ ด้วยพระองค์เองโดยมีมหาดเล็กคอยติดตาม
เป็นภาพที่คุ้นตาชาวเมืองหลวงพระบางอยู่เสมอ
ปรากฏว่า
ภายหลังจากสถาปนาเมืองหลวงพระบางขึ้นแล้ว เมืองดังกล่าวมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก
จนเป็นที่สนใจของพวกจีนฮ่ออีก
พวกจีนฮ่อจึงได้รวบรวมกำลังยกตามลงมาถึงสิบสองปันนา
เข้าตีหลวงพระบาง
ชาวโยนกแห่งหลวงพระบางสามารถต่อสู้ป้องกันเมืองไว้ได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น
ในที่สุด หลวงพระบางก็มีทีท่าว่าจะแตก
เจ้าคำภีระ ผู้ครองเมืองหลวงพระบางจึงทรงมีรับสั่ง
ให้พระนางจามรีพาเสนามหาอำมาตย์ และข้าราชบริพารนำทรัพย์สมบัติของมีค่า พร้อมทหารจำนวนหนึ่งหนีไปก่อน
เมื่อขบวนเสด็จออกนอกเมือง ชาวบ้านที่อยู่ในเส้นทางที่ขบวนเสด็จผ่านก็ขอติดตาม
จึงเดินทางไปด้วยกันเป็นขบวนใหญ่ อพยพหนีภัยจากเมืองหลวงพระบางอย่างเร่งรีบ
ไม่ช้าเมืองหลวงพระบางก็แตก
เจ้าคำภีระสิ้นพระชนม์ภายใต้คมดาบของพวกจีนฮ่อ
ส่วนพระนางจามรีนั้น ได้ทรงนำพาบริวารชายหญิงทั้งหมด
เสด็จผ่านเชียงตุง เชียงรุ้ง เชียงแสน ตามลำดับ
ในตำนานนั้นว่าพระนางทรงมีนายทหารคนสนิทคนหนี่งชื่อว่า
เจ้าพันมหาด ได้ติดตามอารักขาเป็นองครักษ์คู่พระทัย และเป็นคนนำทางด้วย
จนกระทั่งไปถึง เมืองจำปี หรือ เมืองคามีระนคร
ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ในปัจจุบัน
ที่นั่นพระนางจามรีทรงได้พญาช้างเชือกหนึ่ง
มีลักษณะดีถูกต้องตามตำรา คือ พลายสุวรรณมงคล เป็นช้างคู่บุญบารมีของพระนาง
และปรากฏว่า เจ้าพันมหาดรู้วิชาบังคับช้างยิ่งกว่าผู้ใดในขบวนเสด็จ
จึงโปรดฯ ให้เป็น หัตถาจารย์ หรือควาญช้าง และพระนางเองก็โปรดฯ
ให้ใช้ช้างนั้นเป็นช้างทรง หรือช้างพระที่นั่งตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
จากนั้น พระนางได้นำขบวนออกจากเมืองคามีระนคร เพื่อหนีให้พ้นจากเขตอิทธิพลของพวกจีนฮ่อ
พระนางได้ตั้งสัจจาธิษฐานว่า ขอให้ผู้คนทั้งหมดของพระนางสามารถหนีพ้นภยันตรายไป จนกระทั่งถึงที่ที่จะตั้งบ้านตั้งเมืองใหม่ได้โดยสวัสดิภาพ
ขอให้พญาช้างมงคลนี้ นำทางไปตลอดรอดฝั่ง
ต่อมา ขบวนเสด็จก็พากันไปถึง ดอยเพียงดาว
หรือ ดอยเชียงดาว ในปัจจุบัน พระนางจามรีโปรดฯ ให้พักพลบริวารอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง
ก่อนจะเดินทางกันต่อไปเรื่อยๆ
จนลุมาถึงดอยลูกหนึ่ง หรือภูเขาสูงใกล้แม่น้ำแม่ระมิงค์
พญาช้างได้ไหลลื่นลงจากดอยทั้งลูกนั้น ที่นั่นจึงมีนามว่า ดอยหล่อ
เดี๋ยวนี้อยู่ใน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ในปัจจุบัน
ตามตำนานว่า
ขบวนของพระนางจามรีได้พากันลงจากดอยหล่อ เดินทางต่อไปถึงริมแม่น้ำระมิงค์ หรือแม่น้ำปิง
แล้วหันหน้าไปอีกฟากหนึ่ง พอพ้นแม่น้ำ ทั้งช้างและคนก็เดินลัดเลาะป่าดงพงไพรไปตามริมฝั่ง
โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก จนกระทั่งลัดเลาะออกจากป่าแล้วหยุดพักตรงนั้น เรียกว่า
แม่ลอบ ในปัจจุบัน
หลังจากแวะพักที่แม่ลอบแล้ว
จึงพากันขึ้นดอยที่ยาวออกไปเรื่อยๆ แล้วพากันหยุด
ถึงตอนนี้ ตำนานพื้นบ้านเล่ากันเป็นทำนองว่า
พวกผู้หญิงที่หาบสัมภาระเดินตามกันขึ้นดอยยาวต่างก็พากันอ่อนระโหยโรยแรง
บางคนก็หายใจถี่เร็วเปล่งเสียงออกมา หุย หุย ดอยยาวลูกนั้นจึงมีนามว่า ดอยอีฮุ้ย
การเดินทางของขบวนผู้ลี้ภัยชาวหลวงพระบางอย่างลำบาก
และระยะทางก็ไกลแสนไกลเช่นนี้ ทำให้เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ชำรุดเสียหายเป็นอันมาก
แม้กระทั่งเครื่องทรงพญาช้างพระที่นั่งของพระนางจามรี
เมื่อไปหยุดพักยังบริเวณที่ปัจจุบันนี้เป็น บ้านแม่แสม
เจ้าพันมหาดจึงปลดเครื่องทรงพญาช้างลงซ่อมแซมตรงนั้น
จากนั้นก็พากันเคลื่อนขบวนต่อไป
จนพากันไปถึงที่แห่งหนึ่ง
เจ้าพันมหาดก็อยากจะพักช้าง จึงกดหัวช้าง แต่ช้างไม่ยอมน้อมหัวลง
ที่บริเวณนั้นเรียกกันต่อมาว่า ทุ่งหัวช้าง จนทุกวันนี้
และพอไปถึงที่อีกแห่งหนึ่ง
พญาช้างพระที่นั่งของพระนางจามรีจึงได้หยุด
เจ้าพันมหาดจึงได้กดหัวช้างให้หมอบลงลงตรงนั้น ที่นั้นจึงเรียกชื่อกันต่อมาว่า แม่ปลง
เดี๋ยวนี้เรียกว่า บ้านปวง
ตามตำนานว่า ขบวนเสด็จของพระนางได้พากันหยุดพักที่นั่นหลายเดือนด้วยกัน
ทีนี้เจ้าพันมหาดเป็นคนชอบล่าสัตว์เป็นนิสัยมาก่อน
ตามตำนานว่าแวะพักที่ไหนก็เที่ยวล่าสัตว์ที่นั่นละครับ
ระหว่างพักอยู่ที่แม่ปลง
เจ้าพันมหาดก็ออกล่าสัตว์ทุกวันตามเคย แต่วันหนึ่งเป็นคราวเคราะห์ ถูกงูเห่ากัด
ทั้งที่ปกติเป็นผู้ชำนาญการเดินป่าที่สุด และเจ้าพันมหาดก็ได้แต่นั่งครวญครางอยู่ในป่าคนเดียว
เพราะไม่มีคู่หูไปด้วยวันนั้น
จนวันรุ่งขึ้น เมื่อถึงเวลาเสวยอาหารเช้า
พระนางจามรีจึงได้ทรงถามหาเจ้าพันมหาด และทรงรออยู่จนกระทั่งเกินเวลา
จึงทรงมีรับสั่งให้ทหารพากันออกไปเสาะหาที่ที่องครักษ์คู่พระทัยของพระนางเคยไป
พอทหารไปพบเจ้าพันมหาดนั่งครวญครางอยู่จึงรีบพากลับที่พัก
แต่เจ้าพันมหาดถูกพามาถึงเมื่อสายเกินไป
แพทย์หลวงของพระนางจามรีจะเยียวยาเท่าใดก็ไร้ผล
ในที่สุดเจ้าพันมหาดก็สิ้นใจตายตรงนั้น แต่นับว่าเป็นบุญ
ที่ก่อนตายยังได้มีโอกาสเฝ้าเจ้าหญิงที่เขาถวายอารักขามาตลอดทาง ด้วยความจงรักภักดีอย่างที่สุด
เล่ากันว่า
ดวงวิญญาณของเจ้าพันมหาดได้กลายเป็นอารักษ์สถิตย์อยู่บริเวณนั้นเอง เรียกกันว่า อารักษ์เจ้าพันมหาด
ต่อมาสถานที่นั้นได้เป็นที่ตั้ง วัดแอ่งพระนาง
ฝ่ายพระนางจามรี
เมื่อเจ้าพันมหาดเสียชีวิตแล้ว พระนางก็ทรงเสียพระทัย และไม่ทรงทราบว่าจะไปทางไหนดี
จึงให้ตกแต่งพวงคำประดับพญาช้างตรงนั้น พญาช้างเชือกนั้นจึงได้ชื่อใหม่ว่า ช้างพวงคำ
ด้วยเหตุพระนางจามรีตกแต่งช้างด้วยพวงคำนั่นเอง
พอประดับพญาช้างด้วยพวงคำบริบูรณ์แล้ว
พระนางจึงทรงตั้งสัตยาธิษฐานต่อเทพยดาอารักษ์เป็นครั้งที่สอง
ขอให้นำพญาช้างของพระนางไปสู่สถานที่อันควรตั้งบ้านเมืองตั้งเมือง
จากนั้น พระนางเสด็จขึ้นประทับบนหลังพญาช้างพวงคำ
นำชาวหลวงพระบางทั้งปวงเดินทางต่อไป พญาช้างพวงคำก็พาขบวนเสด็จล่องไปตามริมฝั่งแม่น้ำลี้
พอไปถึงดอยลูกหนึ่ง เกิดมีเหตุอะไรก็ไม่ทราบได้ ช้างได้กลับคืนหลังชั่วขณะหนึ่ง
สถานที่นั้นเรียกกันต่อมาว่า ดอยช้างคืน
จนเมื่อพญาช้างได้สติคืนมา
ก็นำขบวนเสด็จลัดเลาะต่อไปจนถึงที่แห่งหนึ่ง คือบริเวณ หมู่บ้านผายอง ในปัจจุบันนี้
พระนางจามรีก็ทรงมีรับสั่งให้พวกผู้ชายไปขนเอาหินก้อนใหญ่ๆ
มาวางเรียงกัน และได้ตั้งจิตอธิษฐานเช่นเดียวกับครั้งแรก
แล้วจึงทรงให้พญาช้างพวงคำ นำผู้คนเดินทางต่อไป
โดยมิได้เสด็จขึ้นประทับบนหลังช้างอย่างเคย
พญาช้างก็นำคนทั้งหมด บ่ายหน้าลัดเข้าป่าไปจนถึงสถานที่แห่งหนึ่ง
ปรากฏว่าเกิดเหตุไม่คาดฝัน
พญาช้างได้สะดุ้งตกใจกลัวอะไรบางอย่างที่ผู้คนไม่เห็นตัว
จะเป็นเจ้าป่าเจ้าเขาตนใดก็หาทราบไม่ ทำให้พญาช้างพระที่นั่งถึงกับวิ่งเตลิด
หรือในภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “หก”
ที่ตรงนั้นต่อมาเป็น หมู่บ้านโป่งหลอก
ติดกับ บ้านป่าหก มาจนถึงทุกวันนี้
พอช้างวิ่งหรือหกไปไม่ไกลนัก
พวงคำได้หลุดตกจากช้าง และสถานที่นั้นก็ได้ชื่อต่อมาว่า บ้านปวงคำ หรือ บ้านพวงคำ
มาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อทอดพระเนตรเห็นช้างพระที่นั่งหนีไปอย่างนั้น
พระนางจามรีจึงทรงมีรับสั่งให้ทหารของพระนางพากันไปสกัดหน้าช้างที่สบแวน
แต่จับไม่ได้ พญาช้างได้ลัดเลาะขึ้นเนินไปแล้วตัดลงทางห้วยสายบริวารของแม่น้ำลี้
พระนางกับชาวหลวงพระบางทั้งหลายก็พยายามติดตามช้างไปจนทัน
และทรงให้ทหารช่วยกันจับช้างได้ที่ฮ่อมต้อ
พอจับช้างทรงได้แล้ว
พระนางก็ประดับตกแต่งพญาช้างนั้นพวงคำใหม่
แล้วพระนางและบริวารก็ได้ร่วมกันตั้งสัจจาธิษฐานเป็นครั้งที่สามว่า
“หากว่าข้าพเจ้ายังมีบุญบารมีเพียงพอ
จะได้สร้างเมือง ณ สถานที่ใดจริงๆ เพื่อเป็นที่ลี้ภัย
หลังจากพากันรอนแรมเหนื่อยยากมาเกือบปีแล้ว ก็ขออำนาจเทพยดา ได้นำพญาช้างไปสูที่ที่ควรแก่การตั้งเมืองด้วยเถิด”
ด้วยสัจจาธิษฐานนั้น
เทพยดาก็นำช้างขึ้นห้วยแม่แต๊ะและแม่ไป
ขึ้นไปจากห้วยแม่ไปขึ้นดอยทางทิศตะวันตกของแม่น้ำลี้
ดอยลูกนี้มีลักษณะทอดยาวไปไกล
และเป็นสถานที่สำคัญ คือ ในอดีตชาติ พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นโคอยู่ดอยลูกนี้มาก่อน
บนดอยลูกนี้มีจอมปลวกใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง มีหินสีขาวคล้ายกับไข่นกยูง
และมีพญานาคคอยปกปักรักษาไว้
พอเทพยดาดลใจพญาช้างของพระนางจามรีให้ไปถึงจอมปลวกใหญ่นั้น
พญาช้างมงคลก็ได้ร้องเสียงดังกึกก้อง แล้วเดินเวียนรอบจอมปลวกโดยทักษิณาวรรต ๓ รอบ
ทั้งยังได้เอางวงหักกิ่งไม้ที่มีดอกแถวนั้นมาพัดวีจอมปลวก ก่อนจะหยุดยืน และเอางวงยกขึ้นลงทำความเคารพสถานที่ตรงนั้น
พระนางจามรีและบริวารเห็นเหตุอันเป็นอัศจรรย์เช่นนั้น
ก็รู้ว่าเทพยดาฟ้าดินได้ตอบสนองคำอธิษฐานที่จะให้พระนางและผู้คนทั้งหลายได้ตั้งบ้านแปลงเมืองแล้ว
พระนางและคนทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันพักตรงใกล้ๆ
กับไม้มะค่าต้นใหญ่ ที่แผ่ปกคลุมที่ตรงนั้น
ชาวบ้านเล่ากันว่าเดี๋ยวนี้ไม้มะค่าต้นดังกล่าวตายไปตามอายุขัยแล้ว
แต่มีต้นโพธิ์ใหญ่ขึ้นมาแทนเป็นที่สังเกต
และในคืนนั้นเอง ได้มีลูกแก้วลอยขึ้นจากจอมปลวกใหญ่
เป็นเหตุอัศจรรย์อีกคำรบหนึ่ง
วันรุ่งขึ้น พระนางจามรีจึงโปรดฯ
ให้บริวารแผ้วถางบริเวณจอมปลวกใหญ่ให้สะอาด ถือเอาเป็นแกนกลางใจเมือง
แล้วให้พญาช้างเดินรอบพื้นที่นั้น เอาแนวที่ช้างเดินรอบเป็นเขตกำแพง
แล้วโปรดให้ทำการขุดคูเมืองสองชั้น โดยทรงให้รักษาป่าไม้ไผ่หนาทึบที่มีอยู่แล้วเป็นแนวกำแพงล้อมเมือง
สร้างประตูเมือง ๒ แห่งทางทิศเหนือและทิศใต้ นอกจากนี้ พระนางยังโปรดฯ
ให้ทำคันกั้นน้ำไว้อีกด้วย
การที่ทรงใช้ป่าไผ่หนาทึบเป็นกำแพงเมืองนี้
นับว่าเป็นพระอัจริยภาพในการดัดแปลงสภาพแวดล้อม ให้สามารถป้องกันอันตรายแก่เมืองใหม่ของพระนางได้เป็นอย่างดีครับ
เพราะว่ากันว่า ดงไผ่นั้นหนาทึบจริงๆ
จนถ้ามองจากภายนอกแทบไม่รู้ว่ามีบ้านเมืองอยู่ภายใน มิหนำซ้ำ ยังเป็นเมืองบนที่สูงปกคลุมด้วยหมอก
นับเป็นสถานที่ลี้ลับอย่างยิ่ง
เมืองนี้จึงได้นามว่า เมืองลี้
มาจนทุกวันนี้
จนเวลาผ่านไประยะหนึ่ง
หลังจากตั้งบ้านเมืองหรือเวียงให้ดีพอใช้เรียบร้อยแล้ว พระนางก็โปรดฯ ให้สร้าง พระธาตุดวงเดียว
ขึ้นก่อน ในเขตพระราชฐานหรือวังของพระนาง แล้วสร้าง วัดพระธาตุห้าดวง เป็นวัดแรกของเมืองลี้
ซึ่งเชื่อกันว่าสร้างขึ้นติดกับเขตพระราชฐานนั้นเอง
เหตุที่พระนางสร้างทั้งพระธาตุดวงเดียว
และวัดพระธาตุห้าดวงนั้น อธิบายกันว่า เพราะทรงถือเอานิมิตลูกแก้วที่ลอยออกจากจอมปลวกใหญ่ไปทางทิศตะวันออก
ลูกแก้วนั้นเปล่งแสงอยู่เพียงดวงเดียวก็จริง แต่ลอยไปมาอยู่ห้าครั้ง
จึงทรงถือเอานิมิตนั้นสร้างเป็นพระธาตุดวงเดียวไว้ในเขตวังของพระนาง
แล้วบริเวณที่ลูกแก้วลอยไปมาห้าครั้งนั้นก็สถาปนาขึ้นเป็นวัด
ตำนานกล่าวว่า
หลังจากสร้างเมืองใหม่สำเร็จบริบูรณ์แล้ว
ประชาชนที่อยู่อาศัยต่างก็พากันมีความสุขสบายปลอดภัย และอยู่ดีกินดีโดยทั่วหน้ากัน
พระนางจามรีจึงโปรดฯ
ให้สร้างวัดให้ประชาชนได้ทำบุญทำทานในพระศาสนาเพิ่มขึ้นนอกเขตพระราชฐานอีกหลายวัดด้วยกัน
แต่ที่คงทนถาวรมาถึงจนทุกวันนี้ คือ พระธาตุดวงเดียวและพระธาตุห้าดวงเท่านั้น
นอกนั้นเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา
ส่วนพญาช้างคู่บุญบารมี ซึ่งได้เป็นช้างพระที่นั่งนำทางมาโดยตลอด
จนกระทั่งพบที่สร้างเมืองแล้ว ก็หมดอายุขัยล้มลง หลังจากสร้างพระธาตุในเขตพระราชฐานและเวียงวังเสร็จนั่นเอง
พระนางจามรี จึงโปรดฯ
ให้มีการเผาศพพญาช้างมงคล แล้วนำอัฐิฝังโดยรอบพระเจดีย์ดวงเดียว
และต่อมาในยุคปัจจุบันจึงมีผู้สร้างอนุสาวรีย์พญาช้างอยู่ติดกับพระธาตุดวงเดียวจนทุกวันนี้
เล่ากันว่า
ในสมัยที่พระแม่เจ้าจามรีทรงเป็นปฐมกษัตริย์ครองเมืองลี้นั้น
บ้านเมืองของพระนางมีความเจริญรุ่งเรืองมาก และไม่ถูกรุกรานโดยผู้หนึ่งผู้ใดอีกเลย
พระนางทรงสร้างวัดวาอารามต่างๆ สร้างสระใหญ่
สร้างตลาดใหญ่สำหรับทำมาค้าขาย แม้ว่ามองจากภายนอกจะดูราวกับเป็นเมืองลับแล
แต่บรรยากาศภายในเมืองกลับเต็มไปด้วยความสุขสบาย
และความสงบร่มเย็นภายใต้ร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนา
และเมืองลี้ในเวลานั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเมืองโดดเดี่ยวตัดขาดตนเองจากโลกภายนอก
เพราะมีพ่อค้าในเมืองนำสินค้าล่องจากแม่น้ำลี้สู่แม่ปิง ไปค้าขายยัง เมืองแก่งสร้อย
ซึ่งตำนานว่ามี เจ้าข้อมือเหล็ก เป็นอุปราชเมือง มี เจ้าแม่นางบัวตูม
เป็นนางพญาเมือง
แต่กาลเวลาย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกฎอนิจจัง
พระนางจามรี ซึ่งเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เจ้าแม่เจนเมือง
หรือเจ้าแม่แห่งเมืองลี้ลับ ก็ทรงสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา ด้วยอายุขัยด้วยวัยอันไม่สมควร
กล่าวคือ พระชันษาในเวลานั้นยังไม่ถึง ๕๐ ปี จะเป็นด้วยเหตุใด ตำนานมิได้บอกไว้
ในสายตาของนักประวัติศาสตร์ทั่วไป
เรื่องราวของพระนางจามรีก็เป็นเช่นเดียวกับพระนางจามเทวีครับ คือ มองกันว่าเป็นตำนาน
หรือนิทานชาวบ้านอย่างแท้จริง
และพระนางก็ทรงมีตัวตนอยู่เฉพาะในจิตสำนึกของชาว
อ.ลี้ ในปัจจุบัน ที่ยังมีวัดพระธาตุดวงเดียว และ วัดพระธาตุห้าดวง ตั้งอยู่เท่านั้น
แทบจะไม่เป็นที่รู้จักสำหรับผู้คนภายนอกแต่อย่างใด
จนกระทั่งในพ.ศ.๒๕๔๙ เกิดโครงการผลักดันลำพูนสู่มรดกโลก
ทางจังหวัดลำพูนได้มีการจัดตั้งทีมสำรวจแหล่งทรัพยากรทางการท่องเที่ยว
ทำให้เกิดการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งเรื่องราวของพระนางจามรีขึ้น เพราะคำร่ำลือของคนในท้องถิ่นอย่างหนาหูว่า
ที่อำเภอลี้ยังมีโลกเร้นลับนับจำนวนไม่ถ้วนนั่นเอง
และหลังจากทีมสำรวจแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์
และตำนานเมืองลี้ มี ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยในขณะนั้น
และ สิบเอกสุวิช ศรีวิราช ผู้เป็นทั้งปราชญ์ชาวบ้านและนักวิชาการวัฒนธรรม
๗ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญ
ได้ดำเนินการสำรวจอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว
ทางทีมงานก็เปิดเผยข้อมูลใหม่ล่าสุด
เป็นปฐมบทแห่งการนำความกระจ่างมาสู่ตำนานพระนางจามรีว่า
“เวียงลี้
ตัวจริงนั้นตั้งอยู่ที่ดอยผาเวียง ต.บ้านลาน เป็นจุดลี้ลับ
พวกเราเดินทางบุกป่าขึ้นดอยข้ามห้วยข้ามเหวด้วยระยะทางพื้นราบสลับสูงชันร่วม ๓๐
กิโลเมตร เป็นเวิ้งเวียงที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในป่า
มีร่องรอยความอุดมสมบูรณ์ของคูน้ำคันดินและพืชพรรณธัญญาหาร
พบซากเจดีย์วิหารเก่าสมัยล้านนาตอนต้น ยุคพระนางจามรี แถวนั้นมีต้นลำไยป่าขนาดยักษ์ร่วม
๑๐๐ ต้น สูงลิบลิ่วราว ๓๐ เมตร ๕ คนโอบอายุหลายร้อยปี
สามารถพัฒนาไปเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวได้
นอกจากนี้แล้วที่ ต.ลี้ ยังพบ “ผายอง” ซึ่งมีลักษณะคล้ายหินตั้งเป็นกองสูง
เกิดจากการแตกตัวทางธรณีวิทยาทำให้หินมากองซ้อนทับกัน คนเมืองเห็นว่าหินนั่งกองทับกันจึงเรียกว่าผายอง
และหินแท่งนี้ต่อมาคงใช้เป็น “ไชยภูมิ” สำคัญยามเดินทัพ ใช้เป็นปราการป้อมค่ายหอรบดูทัพข้าศึก
แต่ไม่พบร่องรอยของการประกอบพิธีกรรม”
พระรูปเจ้าแม่จามรี ภายในศาลที่วัดพระธาตุดวงเดียว |
นั่นหมายถึง
บริเวณวัดพระธาตุดวงเดียวและวัดพระธาตุห้าดวง ที่ตำนานกล่าวถึงจนเป็นที่เชื่อถือกันทั่วไปมาตลอดว่า
เป็นตัวเมืองลี้ที่พระนางจามรีทรงสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกนั้น
มิได้เป็นเมืองเก่าแก่ทันรัชสมัยพระนางจามรีอย่างแท้จริง
เมืองลี้ที่พระนางจามรีทรงสร้างขึ้นในตำนานจริงๆ
น่าจะตั้งอยู่ที่ดอยผาเวียง ต.บ้านลาน ในเขตอำเภอลี้นั่นเอง
แล้ววัดพระธาตุดวงเดียว กับวัดพระธาตุห้าดวงนั้นมาจากไหน
ส.อ.สุวิช ศรีวิราช อธิบายว่า
“บริเวณที่ตั้งวัดพระธาตุดวงเดียว
และวัดพระธาตุห้าดวงในปัจจุบันนี้ อดีตนั้นมีชื่อว่า เวียงกุมตระ ยังเหลือร่องรอยของกำแพงโบราณอยู่
ซึ่งถูกถนนตัดผ่ากลางทำลายซากเมืองเดิม ส่วนตัวเวียงลี้จริงๆ
นั้นคือบริเวณดอยผาเวียง
จะว่าไปแล้วประวัติศาสตร์ของเมืองลี้ยังค่อนข้างลึกลับ
ไม่เคยมีการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งๆ
ที่หลักฐานจากชื่อบ้านนามเมืองยังเหลือร่องรอยเค้าเงื่อนให้ชำระสืบค้นได้มากมาย
เช่น บ้านเสาสะกัง บ้านป่าช้าลัวะ ฯลฯ”
ดังนั้น
ในขณะที่ทางราชการกำลังเริ่มดำเนินการศึกษาหลักฐาน
ร่องรอยทางประวัติศาสตร์-โบราณคดีใน อ.ลี้
เพื่อไขปริศนาตำนานพระนางจามรีให้กระจ่าง
และทำให้โบราณสถานร่วมสมัยกับพระนางได้รับการเผยแพร่ออกสู่สายตาโลกภายนอกเป็นครั้งแรก
วัดพระธาตุดวงเดียว |
วัดพระธาตุดวงเดียว และวัดพระธาตุห้าดวง
ที่มีการเผยแพร่ประวัติความเป็นมาของวัดด้วยการกล่าวว่า สร้างขึ้นในสมัยพระนางจามรี
ก็กลายเป็นหลักฐานของเวียงอีกเวียงหนึ่ง ที่อาจจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับพระนางเลย
ซึ่งการที่วัดทั้งสอง มีทีท่าว่าจะถูกกันออกจากเรื่องราวที่แท้จริงของพระนางจามรี
ผู้เกี่ยวข้องกับทางวัด ก็ไม่อาจจะโต้แย้งผลการสำรวจของทางราชการดังกล่าวได้
เนื่องจากในเขตวัดทั้งสองในปัจจุบันนี้
ไม่มีโบราณวัตถุสถานที่จะยืนยันความเกี่ยวข้องกับพระนางจามรีแต่อย่างใด
ดังที่ ดร.เพ็ญสุภา อดึตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย
กล่าวไว้ในรายงานสรุปผลประชาพิจารณ์ พระธาตุห้าดวง ตีพิมพ์ในนสพ. สื่อลำพูน
ฉบับวันที่ ๒๖ สิงหาคม-๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๘ อย่างชัดเจนว่า
“ประวัติการสร้างของวัดพระธาตุห้าดวงที่สืบสาวอายุว่าเก่าแก่ไปถึง
ยุคพระนางจามรี สมัยปลายหริภุญไชยนั้นยังอยู่ในข่ายที่คลุมเครือ ว่าเป็นตำนานหรือเรื่องจริง
หลักฐานที่เห็นชัดด้วยตาเนื้อ ณ วันนี้ก็ไม่หลงเหลือความเป็นหริภุญไชยใด ๆ อีกแล้ว”
แต่เมื่อผมสอบถามเรื่องนี้โดยตรงจาก ส.อ.สุวิช ในช่วงต้นปีพ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งมีการสำรวจแหล่งโบราณคดีลำพูนมากขึ้น ท่านก็มีความเห็นว่า เวียงกุมตระนั้น น่าจะเป็นเวียงสำหรับใช้อยู่อาศัยเป็นหลัก ขณะที่เวียงโบราณบนดอยผาเวียงนั้น เป็นที่หลบซ่อนหนีภัย
ดังนั้น เวียงโบราณดังกล่าวก็ยังคงน่าจะตรงกับเวียง
“ลี้” ในตำนานพระนางจามรีอยู่ละครับ
และการที่ได้ชื่อว่าลี้
ก็อาจเป็นเพราะหมายความว่า เป็นเวียงสำหรับลี้ภัยได้ พอๆ
กับคำจำกัดความว่าเป็นเวียงลี้ลับ
เพราะคำว่า “หลีกลี้”
นั้นเป็นคำเก่าแก่ นิยมใช้กันมาก่อนคำว่า “ลี้ลับ”
เสียอีก
อย่างไรก็ตาม
นี่เป็นการหาคำอธิบายด้วยวิธีพื้นบ้านเท่านั้น ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานทางวิชาการ แม้ ในเวลานั้น
ส.อ.สุวิชเองจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่า เวียงใดกันแน่ที่พระนางจามรีทรงสร้างขึ้น
เพราะถึงอย่างไร เวียงลึกลับบนดอยผาเวียง ก็ยังมีโบราณวัตถุสถานที่เก่าแก่ร่วมสมัยพระนางจามรี
มากกว่าบริเวณที่ตั้งวัดพระธาตุดวงเดียว กับวัดพระธาตุห้าดวง
แต่เวียงทั้งสองนั้นเห็นได้ชัดว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันแน่นอนในทางยุทธศาสตร์
ปัจจุบัน ภายในวัดพระธาตุดวงเดียว
หรือวัดพระธาตุกลางเวียง มีพระอนุสาวรีย์พระนางจามรีปรากฏอยู่
พระอนุสาวรีย์นี้สร้างโดย นพ.สุรจิตต์ ทองสอดแสง และครอบครัว
ได้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๕ และภายในวัดเดียวกันนี้ยังมีภาพตำนานพระนางจามรี
ปรากฏเป็นจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารของวัด
ผู้ไปสักการะพระนางจามรีที่เมืองลี้ในปัจจุบัน
นอกจากวัดพระธาตุดวงเดียว และวัดพระธาตุห้าดวงที่ควรจะไปเที่ยวชมแล้ว ยังมี วัดพระธาตุแท่นคำ
ซึ่งตามประวัติวัดก็ว่าเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองลี้ สร้างในสมัยพระนางจามรีเช่นกัน
ไม่ห่างไปนัก ยังมีโบราณสถานซากวัดโป่งกาง
หรือโป่งก้าง ที่ยังไม่ได้บูรณะ ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีอายุเก่าแก่ถึงสมัยล้านนา
……………………………
หมายเหตุ :
เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย
และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด