Thursday, October 12, 2017

พระมหาเทวีจิรประภา : จอมนางแห่งเวียงพิงค์


พระมหาเทวีจิรประภา ภาพเขียนโดย พงศ์พันธุ์ เรือนนันชัย


ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวแก่ประวัติศาสตร์ล้านนา เรามักพบคำว่า มหาเทวี อยู่หลายครั้ง

รวมทั้งองค์ขัตติยนารี ที่ผมจะกล่าวถึงในบทนี้ ก็ทรงเป็นมหาเทวีด้วยพระองค์หนึ่งครับ

คำว่า มหาเทวี อาจอธิบายง่ายๆ ได้ว่า เป็นตำแหน่งพระมเหสีของกษัตริย์ล้านนาองค์ก่อน และเป็นพระมารดาของกษัตริย์องค์ต่อมานั่นเอง

ตลอดสมัยประวัติศาสตร์ล้านนา มีมหาเทวีอยู่หลายพระองค์ แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ พระมหาเทวีจิรประภา

พระนางทรงเป็นที่รู้จักกันมาก ก็เพราะทรงเป็นกษัตรีย์พระองค์แรกแห่งอาณาจักรเชียงใหม่ เท่าที่ยอมรับกันในทางวิชาการ

แต่เรื่องราวของพระนาง ก็ไม่เป็นที่ล่วงรู้กันมากนักหรอกครับ

พระมหาเทวีจิรประภา ทรงเป็นพระอัครมเหสีของ พระเมืองเกศเกล้า กษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ ๑๒ และลำดับที่ ๑๔ (หมายถึงครองราชย์สองครั้ง) ทรงมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ พระซายคำ หรือ ท้าวชาย และ เจ้าจอมเมือง

ทรงมีพระราชธิดาคือ เจ้านางยอดคำทิพย์ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของ พระเจ้าโพธิสารราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง และมีพระราชโอรสด้วยกันคือ พระไชยเชษฐาธิราช

ปี พ.ศ.ที่พระมหาเทวีจิรประภาประสูติ ยังไม่พบหลักฐานโดยตรง แต่ ดร.สรัสวดี อ๋องสกุล คำนวณจากการที่พระซายคำประสูติเมื่อพระเมืองเกศเกล้าทรงมีพระชนมายุได้ ๑๘ พรรษา แล้วสันนิษฐานว่า พระมหาเทวีอาจทรงมีพระประสูติกาลพระโอรสองค์นี้ เมื่อพระชนมายุได้ราวๆ ๑๖ พรรษา

ดังนั้น พระนางจึงน่าจะประสูติในระหว่าง พ.ศ.๒๐๔๒-๒๐๔๓

และเมื่อพิจารณาจากภูมิหลังของพระเมืองเกศเกล้า ที่เคยประทับอยู่ที่ เมืองน้อย ในเขต อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเมืองในกลุ่มไทยใหญ่  พระมหาเทวีจิรประภาก็อาจจะทรงมีเชื้อสายทางไทยใหญ่ จากเมืองใดเมืองหนึ่งในละแวกนั้นก็ได้

แต่สำหรับกรณีนี้ ดร.สรัสวดีเน้นว่าเป็นเพียง ข้อสังเกต เท่านั้นนะครับ

เมื่อพระเมืองเกศเกล้าครองราชย์ครั้งแรก ในพ.ศ.๒๐๖๙ นั้น พระองค์ไม่ทรงมีฐานอำนาจที่มั่นคงในราชสำนัก เพราะทรงเป็นพระอนุชาของกษัตริย์พระองค์ก่อน พระองค์จึงมิได้ประทับอยู่ที่เชียงใหม่มาตั้งแต่แรก จนเพียงพอที่จะทรงมีขุนนางเป็นกำลังให้พระองค์ได้

เมื่อพระมหาเทวีเจ้าตนย่าของพระองค์ สิ้นพระชนม์ในพ.ศ.๒๐๗๗ พระองค์ก็ปราศจากอิทธิพลสนับสนุนจากเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อีก

พอทรงมีพระราโชบายที่จะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง จึงทำให้ขุนนางเมืองลำปางซึ่งมี หมื่นสามล้าน เป็นผู้นำไม่พอใจ คิดก่อการกบฏ

แต่พระเมืองเกศเกล้าทรงทราบเสียก่อน และทรงมีพระราชบัญชาให้ประหารชีวิตหมื่นสามล้านเสีย บรรยากาศภายในราชสำนักจึงยิ่งเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น

จนกระทั่ง พ.ศ.๒๐๘๑ พระเมืองเกศเกล้าจึงถูกปลดออกจากตำแหน่งกษัตริย์ และถูกส่งกลับไปครองเมืองน้อยอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนเมืองเชียงใหม่นั้น เหล่าขุนนางได้พากันอัญเชิญพระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ พระซายคำ พระชนมายุได้ ๒๔ พรรษาขึ้นเป็นกษัตริย์แทน

พระนางจิรประภาผู้ทรงเป็นพระราชมารดา จึงทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระมหาเทวีไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า พระนางอาจมิได้เสด็จประทับที่เชียงใหม่ในช่วงเวลานี้หรอกครับ แต่อาจตามเสด็จพระราชสวามีไปประทับอยู่ที่เมืองน้อย โดยปล่อยให้พระราชโอรสครองเชียงใหม่ต่อไปโดยลำพัง ก็เป็นได้

แต่พระซายคำ กลับทรงเป็นกษัตริย์ที่ขุนนางเห็นว่า บ่ชอบทสราชธัมม์บ้านเมืองเกิดความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ทรงครองราชย์ได้เพียง ๖ ปี ก็ถูกปลงพระชนม์เมื่อพ.ศ.๒๐๘๖

ทีนี้ก็คงเหลือแต่เพียงพระราชโอรสองค์ที่สอง คือ เจ้าจอมเมือง

แต่บางเอกสารกล่าวว่าพระราชโอรสพระองค์นี้ทรงอ่อนแอ จนไม่สามารถขึ้นครองราชย์สมบัติได้

ถ้อยคำที่กล่าวว่าทรงอ่อนแอนี้ บางท่านก็อธิบายว่าทรงเป็นปัญญาอ่อนครับ

เมื่อไม่มีผู้เหมาะสมจะสืบราชสมบัติ บรรดาขุนนางก็ต้องพากันไปทูลเชิญพระเมืองเกศเกล้า เสด็จกลับมาปกครองเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง

แต่พระเมืองเกศเกล้า ครองเชียงใหม่ได้เพียง ๒ ปี พ.ศ.๒๐๘๘ พระองค์ก็ทรงมีพระสติวิปลาส พวกขุนนางซึ่งมี แสนคราว เป็นผู้นำ จึงลอบปลงพระชนม์ที่ วัดหัวข่วง และอัญเชิญพระอัฐิไปบรรจุอยู่ในเจดีย์ วัดโลกโมฬี ที่พระองค์ทรงสร้าง


วัดโลกโมฬี ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ดนัย นาควัชระ : ภาพ

นับว่าเป็นยุคมืดของนครพิงค์เชียงใหม่โดยแท้ครับ ที่กษัตริย์ถูกปลงพระชนม์ถึงสองพระองค์ ภายในชั่วระยะเวลาเพียง ๒ ปี

ในช่วงที่แผ่นดินล้านนาว่างกษัตริย์นี้ บ้านเมืองมีแต่ความวุ่นวาย ขุนนางแตกแยกเป็นหลายกลุ่ม และต่างก็แย่งชิงอำนาจกัน โดยพยายามสนับสนุนเจ้านายของตนขึ้นเป็นกษัตริย์

เนื่องจากตามจารีตล้านนาถือว่า ต้องมีเชื้อสายกษัตริย์จึงจะขึ้นครองราชย์ได้ครับ

ดังนั้น แม้เหล่าขุนนางจะมีอำนาจมาก ถึงกับถอดถอนกษัตริย์ได้ แต่ก็ไม่สามารถสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แทนได้

ความวุ่นวายสับสนนี้ บานปลายไปถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมือง โดยกลุ่มแสนคราวผู้ปลงพระชนม์พระเมืองเกศเกล้า ตั้งใจจะไปอัญเชิญเจ้าฟ้าเชียงตุง ซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์มังรายมาครองเชียงใหม่ แต่เจ้าฟ้าเชียงตุงไม่ยอมมา จึงเปลี่ยนใจไปเชิญเจ้าฟ้าเมืองนายมาแทน

ในขณะที่ขุนนางอีกกลุ่มนำโดย หัวเคียน ยกทัพเข้ามาต่อสู้กับแสนคราวในเมืองเชียงใหม่ รบกันอยู่ ๓ วัน ๓ คืน หัวเคียนพ่ายแพ้หนีไปลำพูน และแจ้งไปทางกรุงศรีอยุธยาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่

หลังจากนั้น กลุ่มแสนคราวก็ไม่สามารถรักษาอำนาจไว้ได้ ในที่สุดกลุ่มเชียงแสน ซึ่งประกอบด้วย เจ้าเมืองเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองพาน ซึ่งสนับสนุนพระมหาเทวีจิรประภา สามารถกำจัดกวาดล้างกลุ่มแสนคราวได้สำเร็จในปีเดียวกันนั้นเอง

จากนั้น กลุ่มเจ้าเมืองดังกล่าวจึงได้ไปเชิญเสด็จพระไชยเชษฐาธิราช มาเป็นกษัตริย์เชียงใหม่ เนื่องจากทรงเป็นพระราชนัดดาของพระเมืองเกศเกล้า ถือว่ามีเชื้อสายราชวงศ์มังรายเช่นกัน

ระหว่างรอการเสด็จมาของพระไชยเชษฐาธิราชอยู่นี้ บรรดาขุนนางได้พร้อมใจกันอัญเชิญพระมหาเทวีจิรประภาขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองเชียงใหม่ รัชกาลที่ ๑๖ เพื่อรักษาราชบัลลังก์ชั่วคราวไปก่อน แต่ไม่ได้ทำพิธีราชาภิเษก

สันนิษฐานว่าขณะนั้น พระนางคงมีพระชนมายุราว ๔๕-๔๖ พรรษาครับ


พระมหาเทวีจิรประภา ในภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท
สวมบทโดย เพ็ญพักตร์ ศิริกล 

ดร.สรัสวดี อ๋องสกุล กล่าวไว้ในหนังสือ ขัตติยานีศรีล้านนา ว่า

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้บรรดาขุนนางเชิญมหาเทวีจิรประภาขึ้นครองราชย์ เพราะพระนางมีความพร้อมสูง เนื่องจากมีบทบาททางการเมือง ในฐานะที่เคยเป็นพระมเหสีของพญาเกส และเป็นพระมารดาของท้าวชายเป็นเวลา ๑๙ ปี (ระหว่าง พ.ศ.๒๐๖๙-๒๐๘๘) ย่อมสั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองไว้มาก ดังนั้น เป็นไปได้ว่า มหาเทวีอยู่เบื้องหลังการเมืองในนครเชียงใหม่มานานแล้ว นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาพระชนมายุแล้วเหมาะสม  เพราะในช่วงที่มหาเทวีเสวยราชย์สันนิษฐานว่ามีอายุราว ๔๕-๔๖ ปี ด้วยประสบการณ์และความพร้อมดังกล่าว ทำให้มหาเทวีสามารถแก้ไขสภาวะบ้านเมืองคับขันให้ลุล่วงไปได้

แต่แล้ว ในปีพ.ศ.๒๐๘๘ สมเด็จพระไชยราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทรงทราบข่าวจากกลุ่มหัวเคียนว่า ภายในนครพิงค์เชียงใหม่เป็นจราจล ก็ยกทัพมาตีเชียงใหม่เพื่อฉวยโอกาสยึดอำนาจ

แต่กว่าพระองค์จะเสด็จมาถึงเชียงใหม่ พระนางจิรประภามหาเทวีก็เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว การจลาจลภายในนครพิงค์เชียงใหม่ ก็ถูกปราบปรามไปแล้วจนหมดสิ้น

หากกษัตริย์นักรบอย่างสมเด็จพระไชยราชา เมื่อทรงอุตส่าห์นำทัพหลวงมาจนถึงเชียงใหม่แล้ว ก็ย่อมจะไม่เสด็จกลับไปเปล่าๆ พระองค์จึงทรงยาตราทัพไปยังประตูเมืองเชียงใหม่

กองทัพอยุธยาซึ่งกำลังฮึกเหิม ประกอบด้วยพลช้างพลม้า กองทหารปืนใหญ่และทหารรับจ้างโปรตุเกสในฐานะกองทหารแม่นปืน เป็นกองทัพขนาดใหญ่ พร้อมอาวุธทันสมัยขณะนั้น เตรียมที่จะเข้าบดขยี้นครพิงค์เชียงใหม่อย่างฮึกเหิม น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก

ไพร่บ้านพลเมืองในเชียงใหม่ พากันตระหนกอกสั่น มองไม่เห็นทางรอดเมื่อเปรียบเทียบกับกองทหารขนาดเล็ก และอาวุธด้อยประสิทธิภาพ ที่ทำหน้าที่รักษาบ้านเมืองของตน 

เมื่อกองทัพผู้รุกรานมาประชิดพระนคร พระมหาเทวีจิรประภาก็ทรงเห็นเช่นเดียวกับบรรดาเสนามหาอำมาตย์ของพระนางว่า หากทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาก็คงสู้ไม่ได้ จึงทรงยอมทำทางพระราชไมตรีด้วย โดยแต่งเครื่องราชบรรณาการไปถวาย ประหนึ่งว่านครพิงค์เชียงใหม่ยอมสวามิภักดิ์


ฉากการถวายเครื่องราชบรรณาการ จากภาพยนต์เรื่อง สุริโยไท

การกระทำเช่นนี้ เป็นที่พอพระทัยแก่สมเด็จพระไชยราชาเป็นอันมาก ทำให้เชียงใหม่รอดพ้นจากภัยสงครามไปได้อย่างหวุดหวิด

แต่สมเด็จพระไชยราชาธิราชหาทรงรู้ไม่ว่า ที่จริงแล้ว พระมหาเทวีมิได้ทรงยอมรับอำนาจของกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด

กล่าวคือ พระนางทรงใช้วิธีกราบบังคมทูลเชิญให้สมเด็จพระไชยราชาธิราช ไปประทับที่ เวียงเจ็ดลิน พระราชวังฤดูร้อนของกษัตริย์ของเชียงใหม่ ตรงเชิงดอยสุเทพ แทนการเชิญเข้าเวียง โดยผ่านทางประตูช้างเผือกตามฮีตล้านนา

และยังทรงทูลเชิญสมเด็จพระไชยราชาธิราช ร่วมทำบุญสร้างกู่อุทิศถวายพระเมืองเกศเกล้า ที่วัดโลกโมฬี ซึ่งแม้จะเป็นเสมือนวัดประจำรัชกาลของพระเมืองเกศเกล้า แต่ก็ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเช่นกัน


พระมหาเทวีจิรประภา ทรงทูลเชิญสมเด็จพระไชยราชาธิราชร่วมทำบุญที่วัดโลกโมฬี
ภ่าพจากภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท

ด้วยวิธีดังกล่าว กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาจึงมิได้เสด็จเข้าเมืองเชียงใหม่เลยครับ

และทรงมีฐานะเป็นเพียงพระราชอาคันตุกะของเชียงใหม่เท่านั้น มิใช่ผู้พิชิต

ดร.สรัสวดี ยังกล่าวเสริมว่า พระนางคงมีศิลปะในการเจรจาหว่านล้อมชักชวนให้สมเด็จพระไชยราชาธิราชยกทัพกลับไป โดยใช้เวลาประทับที่เชียงใหม่ไม่นานอีกด้วย

ยุทธวิธีของพระมหาเทวีจิรประภาเช่นนี้ จึงได้รับการชื่นชมเป็นอันมาก จากนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเจาะลึกถึงเรื่องราวของพระนาง

ในขณะที่คนทั่วไป โดยเฉพาะคนบ้านเมืองอื่นซึ่งไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง มักจะมีทรรศนะว่า การที่พระมหาเทวีทรงยอมอ่อนน้อมให้ทางอยุธยาโดยง่ายดาย แสดงถึงความอ่อนแอและไม่กล้าหาญ

แต่ในความเป็นจริงนะครับ คนฉลาดทุกคนที่อยู่ในเชียงใหม่ช่วงเวลานั้น ย่อมมองสถานการณ์ทะลุปรุโปร่ง และรู้ดีว่า ด้วยสภาพบ้านเมืองที่เป็นจราจลมาหลายปี ภายในราชสำนักเพิ่งจะรวมตัวกันติด ก่อนที่พระนางจะขึ้นครองราชย์ไม่นาน กองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ ก็ขาดแคลนไปเสียทุกอย่างเช่นนั้น

ควรรบหรือไม่ กับกองทัพที่มีระบบการจัดการที่ดีและเข้มแข็ง เพียบพร้อมไปด้วยสรรพอาวุธจำนวนมากมาย และทันสมัยอย่างอยุธยา?

ยิ่งไปกว่านั้น การสงบศึกกับทางอยุธยาโดยไม่เสียเลือดเนื้อ ไม่เพียงช่วยป้องกันรักษาบ้านเมือง มิให้บอบช้ำไปกว่าที่เป็นอยู่ แต่ยังช่วยทำให้เชียงใหม่มีเวลาเตรียมตัวรับศึกจากผู้รุกรานอื่นๆ ที่พระมหาเทวีจิรประภาและขุนนางทั้งหลาย ตระหนักดีอยู่แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ซึ่งก็เป็นไปดังที่พระมหาเทวีทรงคาดไว้ครับ

ในปลายปีนั้นเอง กองทัพไทยใหญ่จากเมืองนาย และเมืองยองห้วย ก็รวมกันยกมาตีเชียงใหม่ โดยเข้าปล้นค่ายเชียงโฉม และวางกำลังไว้ที่เวียงสวนดอก

ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ช่วงเวลานั้นภายในนครพิงค์เชียงใหม่เกิดอาเพศ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทำให้พระเจดีย์หลวง และเจดีย์องค์สำคัญๆ หลายแห่งพังทลาย สร้างความอกสั่นขวัญแขวนแก่ประชาชน และความยุ่งยากนานัปการให้แก่นครพิงค์เชียงใหม่มากขึ้นไปอีก


พระเจดีย์หลวง ที่พังทลายเพราะแผ่นดินไหว ในรัชกาลพระมหาเทวีจิรประภา

แต่พระมหาเทวีจิรประภา ก็ทรงบัญชาการให้กองทัพเชียงใหม่สู้ศึกเต็มที่ ข้าศึกล้อมเชียงใหม่นานเดือนเศษก็ไม่สามารถทำอะไรได้ จึงต้องล่าถอยกลับไป

แสดงว่า ถ้าให้เวลาทางเชียงใหม่ได้เตรียมตัวรับศึกแล้ว แม้จะมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายใน อาณาจักรล้านนาที่นำโดยกษัตริย์หญิง ก็ไม่ใช่ว่าจะให้ใครเบียดเบียนข่มเหงได้โดยง่ายเหมือนกัน

แต่พระมหาเทวีจิรประภาก็ไม่ทรงประมาทหรอกครับ

พระนางทรงตระหนักดีว่า พระนางขึ้นครองราชบัลลังก์เชียงใหม่เพียงปีเดียว มีข้าศึกยกทัพมาประชิดถึง ๒ ครั้ง แม้ครั้งที่สองจะต่อสู้ป้องกันพระนครเอาไว้ได้ แต่ถ้ามีครั้งที่สามและสี่ก็คงลำบาก

การณ์อันเป็นไปดังนี้ ทำให้พระนางต้องทรงขอกำลังจากล้านช้างให้มาช่วย หากเกิดสงครามขึ้นอีกครั้ง

ซึ่งกองทัพล้านช้างก็ได้มาช่วยเชียงใหม่ทำศึกอย่างเต็มความสามารถ ในสงครามครั้งต่อมาที่เกิดขึ้นจริงๆ ในพ.ศ.๒๐๘๙

กล่าวคือ สมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งทรงประจักษ์แล้วว่าเสียรู้พระมหาเทวี ได้ยกทัพกลับมาตีเมืองเชียงใหม่อีกด้วยความโกรธแค้น

เฟอร์ดินันด์ เมนเดส ปินโต (Ferdinand Mendes Pinto) นักผจญภัยชาวโปรตุเกส ได้บันทึกไว้ว่า กองทัพอยุธยาที่ยกมาเชียงใหม่ครั้งนี้ มีกำลังพลมากถึง ๔๐๐,๐๐๐ คน เรือ ๓๐๐ ลำ ช้าง ๔,๐๐๐ เชือก เกวียนสำหรับบรรทุกปืนใหญ่ ๒๐๐ เล่ม และมีทหารรับจ้างโปรตุเกสร่วมทัพด้วยถึง ๑๒๐ คน

แม้ตัวเลขส่วนใหญ่ที่ปินโตระบุมานี้ น่าจะมากเกินจริง แต่ก็สะท้อนว่า เป็นกองทัพอันเกรียงไกร ที่มุ่งจะบดขยี้เชียงใหม่ให้ราบเป็นผงธุลีอย่างชัดเจน

และเมื่อเผชิญหน้ากับกองทัพอันน่าสะพรึงกลัวเช่นนี้ พระมหาเทวีจิรประภาก็ทรงประวิงเวลา ด้วยการพยายามเจรจาขอเป็นไมตรีอีก

แต่คราวนี้ไม่สำเร็จครับ นครลำพูนถูกตีแตกภายในเวลาไม่นาน

ทว่า เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงรุกรบจนมาถึงเมืองเชียงใหม่นั้น กองทัพเชียงใหม่และล้านช้าง ก็ช่วยกันต้านทัพอยุธยาไว้ได้ สมเด็จพระไชยราชาทรงถูกกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บสาหัส กองทัพอยุธยาจึงต้องเลิกทัพกลับไป

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า ทางอยุธยาถึงกับแตกพ่ายกลับไป ทหารฝ่ายพระมหาเทวีและล้านช้าง ยึดได้อาวุธยุทโธปกรณ์ ช้างม้า และเชลยศึกเป็นอันมาก

ส่วนสมเด็จพระไชยราชาธิราช แม้จะไม่ถึงกับสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง แต่ก็กลับไปสวรรคตในกรุงศรีอยุธยาภายในปีนั้นเอง เนื่องจากถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษ

ปลายปี พ.ศ.๒๐๘๙ หลังศึกสงครามกับอยุธยาผ่านพ้น พระเจ้าโพธิสารราชและพระนางยอดคำทิพย์ แต่งขบวนเกียรติยศ ประกอบด้วยไพร่พล ๓,๐๐๐ คน ช้าง ๒๐๐ เชือก นำเสด็จพระไชยเชษฐาธิราช ยุวกษัตริย์จากหลวงพระบาง ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๒ พรรษา มาถึงเชียงใหม่

พระมหาเทวีจิรประภา ในฐานะผู้รั้งเมืองทรงสละราชสมบัติทันที และพระนางรวมทั้งเหล่าขุนนางทั้งหลายร่วมกันทูลเชิญพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เชียงใหม่รัชกาลที่ ๑๗ เรียกกันทั่วไปว่า พระอุปวโยราช

เนื่องจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองเชียงใหม่เมื่อยังเยาว์พระชันษาดังกล่าวแล้ว จึงเชื่อกันว่าพระมหาเทวีจิรประภานั่นเองละครับ ที่คงจะทรงคอยถวายคำแนะนำดูแลอยู่เบื้องหลัง ในการว่าราชการต่างๆ

แต่ก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดครับ

เพียงไม่ถึงสองปีให้หลัง คือ พ.ศ.๒๐๙๑ พระเจ้าโพธิสารราช พระราชบิดาของพระเจ้าไชยเชษฐาสิ้นพระชนม์ อาณาจักรล้านช้างเป็นจราจล พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชต้องเสด็จกลับกรุงศรีสัตนาคนหุต เพื่อจัดการพระศพและปราบกบฏ

ซึ่งก่อนจะไป พระองค์ก็ทรงหวังจะให้องค์มหาเทวีจิรประภาเสด็จขึ้นครองบัลลังก์รักษาเมืองอีกครั้ง

แต่พระนางปฏิเสธครับ และทรงละทิ้งเมืองเชียงใหม่ ตามเสด็จพระราชนัดดาไปยังหลวงพระบาง


พระแก้วมรกต ในรูปลักษณ์เดิม
ก่อนจะมีการทำเครื่องทรงถวายในสมัยรัตนโกสินทร์
ภาพถ่ายเก่าจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

การเสด็จกลับล้านช้างครั้งนี้ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย
แล้วก็เลยเสด็จประทับอยู่ที่กรุงศรีสัตนาคนหุต มิได้กลับมาครองเชียงใหม่ตลอดพระชนม์ชีพ

อาณาจักรเชียงใหม่ก็ว่างกษัตริย์ไปหลายปี เกิดสงครามกลางเมืองแย่งชิงอำนาจกันเองอีกครั้ง

จนเหล่าขุนนางต้องไปทูลเชิญ พระเจ้าเมกุฎสุทธิวงศ์ จากไทยใหญ่เสด็จมาครองราชย์ และจากนั้นไม่กี่ปี เชียงใหม่ก็ตกเป็นประเทศราชของพม่า

ส่วนพระมหาเทวีจิรประภา ก็ทรงหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ไม่มีเอกสารใดระบุว่า สิ้นพระชนม์เมื่อใด

และไม่มีนักวิชาการไทยท่านใดไปสืบเสาะว่า พระนางประทับอยู่ที่หลวงพระบางตลอดพระชนม์ชีพ หรือได้เสด็จกลับมาประทับที่เชียงใหม่ยามชราภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้พระมหาเทวีจิรประภาจะได้ทรงปกครองเมืองเชียงใหม่เป็นเวลาเพียงปีเศษเท่านั้น แต่ก็เป็นช่วงระยะเวลาที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย และมีศึกใหญ่มาประชิดถึงสามครั้งติดต่อกัน

สถานการณ์อันยุ่งยากเช่นนี้ แม้กษัตริย์พระองค์อื่น ก็แทบไม่มีหนทางที่จะรักษาเมืองให้รอดพ้นจากภัยพิบัติได้นะครับ

แต่พระนางก็ทรงทำได้ด้วยไหวพริบ และพระราชปฏิภาณของพระนาง แม้จะต้องอาศัยพระราชหฤทัยที่เข้มแข็งอย่างยิ่ง

ดังที่ ดร.สรัสวดี สรุปไว้ใน ขัตติยานีศรีล้านนา ว่า

หากวิเคราะห์ชีวิตจิตใจของมหาเทวีแล้ว มีสภาพน่าเห็นใจยิ่ง เนื่องจาก พญาเกสพระสวามีและท้าวชายพระโอรสมีความขัดแย้งจากการแย่งชิงอำนาจ ย่อมมีผลกระทบต่อจิตใจของมหาเทวีอย่างแน่นอน และในที่สุดทั้งพระสวามีและพระโอรสถูกขุนนางสังหาร ระหว่างโศกเศร้ากับการสิ้นพระชนม์ของพระสวามี ก็ต้องรับศึกใหญ่จากอยุธยายกขึ้นมา หลังจากจัดการกับ ศึกเหนือเสือใต้เสร็จสิ้น มหาเทวีได้รับการสนับสนุนจากพระโพธิสาลราชแห่งล้านช้าง และหวังให้อาณาจักรล้านนาและล้านช้างร่วมกันสร้างเสถียรภาพ แต่แล้วพระโพธิสาลราช กำลังสำคัญของมหาเทวีสิ้นพระชนม์อย่างกระทันหัน พระไชยเชษฐาพระนัดดาซึ่งเป็นความหวังครองล้านนาเพียงปีเดียวก็ต้องเสด็จกลับล้านช้าง ความรู้สึกโดดเดี่ยวทำให้มหาเทวีตามเสด็จพระไชยเชษฐา พร้อมกับเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในล้านนาโดยปริยาย

เรื่องราวของพระมหาเทวีจิรประภา หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ และการรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่ จนกระทั่ง คุณกฤษณา อโศกสิน เพชรน้ำเอกท่านหนึ่งของวงวรรณกรรมไทย ได้ตีพิมพ์บทประพันธ์เรื่อง นางพญาหลวง ในนิตยสาร สกุลไทย ต่อเนื่องกันเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๒๘ บท

บทประพันธ์ดังกล่าว ถ่ายทอดเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของบูรพกษัตริยาแห่งล้านนาพระองค์นี้ ให้แจ่มชัดกว่าเดิม ด้วยวิธีการประพันธ์แบบนวนิยาย แต่ร้อยเรียงลำดับเวลา และกล่าวถึงรายละเอียดต่างๆ ตามหลักฐานที่มีอยู่จริงทั้งสิ้น

และบทประพันธ์ดังกล่าวนี้ ยังเป็นการเฉลยปริศนาสำคัญครั้งแรก เกี่ยวแก่บั้นปลายพระชนม์ชีพของพระมหาเทวีจิรประภา ที่คนส่วนใหญ่สงสัยกันมานาน
 
ว่าแท้ที่จริงแล้ว พระนางได้ประทับอยู่ในกรุงศรีสัตนาคนหุต ล้านช้างร่มขาว จนเสด็จสวรรคต มิได้เสด็จกลับเชียงใหม่อีกเลย

การคลี่คลายปมปริศนาดังกล่าวนี้ มิได้กระทำด้วยจินตนาการ หากแต่มีหลักฐานปรากฏอยู่จริงครับ

คืออนุสรณ์สุดท้าย ที่องค์มหาเทวีได้ทรงสร้างไว้ ณ เมืองหลวงพระบาง หรือเมืองเชียงทองในอดีต ก่อนจะสิ้นพระชนม์

ทุกวันนี้ ใครที่ได้ไปยัง วัดพระมหาธาตุ หลวงพระบาง จะเห็นเจดีย์แปลกประหลาดองค์หนึ่งตั้งอยู่ภายในวัดนั้น

ที่ว่าแปลกประหลาด เพราะเจดีย์ดังกล่าวเป็นศิลปะเชียงใหม่ครับ ไม่ใช่ศิลปะลาว


ธาตุน้อย วัดพระมหาธาตุ หลวงพระบาง

คนลาวเรียกเจดีย์แห่งนี้ว่า ธาตุน้อย ซึ่งมิได้แปลว่าเป็นพระธาตุขนาดเล็ก หากแต่เป็นเพราะพระเจดีย์องค์นี้ มีขนาดย่อมกว่าพระธาตุหลวง หรือพระธาตุองค์ประธานของวัดดังกล่าวนั่นเอง

ธาตุน้อย สถาปัตยกรรมไทยเพียงแห่งเดียวในหลวงพระบางนี้ มีลักษณะรูปทรงเหมือนกับเจดีย์วัดโลกโมฬี จ.เชียงใหม่ ยิ่งนัก

สันนิษฐานกันว่า คงเนื่องมาจากผู้สร้างเจดีย์วัดโลกโมฬี คือพระเมืองเกศเกล้า พระราชสวามีของพระมหาเทวีจิรประภานั่นเอง เมื่อพระมหาเทวีโปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์องค์นี้ขึ้น จึงทรงสร้างตามแบบอย่างพระเจดีย์ซึ่งพระราชสวามีทรงสร้างไว้

หลักฐานศิลาจารึกของลาว ที่กล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์แห่งนี้คือ จารึกวัดธาตุเมืองหลวงพระบาง ซึ่ง กรรณิการ์ วิมลเกษม เป็นผู้อ่านและแปล มีข้อความระบุไว้ว่า

จุลศักราช ๙๑๐ ปีเบิกสัน เดิน ๗ ออก ๑๑ ค่ำ วันศุกร์ มื้อระวายยี่ ยามพาดลั่น ฤกษ์หัสตะ พระราชไอยกามหาเทวเจ้า ตั้งพระมหาธาตุ ก็โอกาส หยาดน้ำ ข้อยข้ากับอารามแลไพร่

แปลว่า ในพ.ศ.๒๐๙๑ อันเป็นปีที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชครองอาณาจักรล้านช้าง พระราชอัยยิกามหาเทวีเจ้าสร้างวัดพระมหาธาตุ พร้อมกับกัลปนาข้าวัดและกัลปนาหมู่บ้านให้ส่งข้าวและหมาก รวมทั้งอุทิศที่นาเพื่อให้เป็นนาข้าวของวัด

การที่ทรงมีพระดำริเช่นนี้ ยังไม่มีผู้ใดทราบเหตุผลภายในพระราชหฤทัยของพระนางครับ

พระนางอาจทรงมีพระราชประสงค์ ที่จะทรงสร้างถาวรวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เหมือนกับในบ้านเมืองที่พระนางทรงจากมา หรืออาจเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระราชสวามีให้ปรากฏไปชั่วกาลนาน ก็ได้

ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลัง ก็แสดงว่าพระนางทรงรักพระราชสวามีของพระนางมาก จนถ้าหากว่าจะทรงทำสิ่งใดเพื่อพระราชสวามีได้ ก็ทรงไม่รีรอที่จะกระทำเลย

แต่ในทางวิชาการแล้ว ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็ยังไม่มีข้อยุติหรอกครับ

นักประวัติศาสตร์ศิลปะโดยทั่วไปเพียงแต่คิดกันว่า พระนางและคณะช่างชาวเชียงใหม่ที่ตามเสด็จไป คงจะนิยมชมชอบรูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าว จึงนำไปสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ในหลวงพระบางเท่านั้น

หรือบางที พระนางก็อาจทรงมีพระดำริจะก่อพระเจดีย์สำคัญไว้สักองค์หนึ่ง ก่อนจะสิ้นพระชนม์ เพราะเหตุว่า เมื่อยังประทับอยู่เมืองเชียงใหม่ ทรงรับพระราชภาระในการปกบ้านป้องเมืองในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน จนไม่อาจจะทรงกระทำสิ่งใดทั้งสิ้น เมื่อมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นกับบรรดาพระธาตุเจดีย์ทั้งหลาย ในรัชสมัยของพระนาง

และการที่พระนางทรงละทิ้งเมืองเชียงใหม่ไป ก็อาจเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยที่ทำให้ในทุกวันนี้ คนเชียงใหม่ทั่วๆ ไปยังคงรู้เรื่องราวของพระนางน้อยมาก และที่นับถือศรัทธาพระนางอยู่ ก็คงมีน้อยลงไปอีก

ดูเหมือนคุณงามความดีของนางพญาแห่งเวียงพิงค์ ผู้ปกบ้านป้องเมืองให้พ้นจากความหายนะถึงสามครั้งซ้อน ได้ตลอดระยะเวลาครองราชย์อันสั้นของพระองค์ จะถูกลืมเลือนไป นอกจากพระนามที่ถูกอ้างอิงแทบทุกครั้ง ที่มีการกล่าวถึงการพังทลายของเจดีย์หลวง

จนไม่เกินไปนักที่จะกล่าวว่า นอกเหนือจากผู้สนใจประวัติศาสตร์ล้านนา จำนวนเพียงหยิบมือแล้ว


พระรูป พระมหาเทวีจิรประภา ภายในศาลที่วัดโลกโมฬี เชียงใหม่

สิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่รับรู้ และจดจำได้มากที่สุดเกี่ยวแก่พระมหาเทวีจิรประภา มีเพียง เพ็ญพักตร์ ศิริกุล และการแต่งกายของเธอ

จากฉากสั้นๆ เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่นาที ใน สุริโยไท ภาพยนตร์แห่งสยามประเทศ ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เท่านั้น

………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

Total Pageviews