Monday, August 5, 2019

รายาอูงู นางพญากลางไฟสงคราม






รายอูงู (Ungu) ทรงเป็นพระขนิษฐภคนีองค์สุดท้องของรายาฮิเยา ซึ่งร่ำลือกันว่า ทรงพระสิริโฉมที่สุด

และพระนางก็ทรงเป็นกษัตริยาปัตตานีที่ต้องทรงเสียสละความสุขของพระองค์เองตั้งแต่ยังเป็นเจ้าหญิง เมื่อพระพี่นางฮิเยาทรงมีบัญชาให้เสกสมรสกับ สุลต่านอับดุลฆอฟูร มูไฮยิดดีน แห่งรัฐปาหัง เพื่อคานอำนาจของรัฐยะโฮร์ คู่แข่งสำคัญของนครปัตตานีเหนือคาบสมุทรมลายู

พระราชพิธีสมรสครั้งประวัติศาสตร์นี้ เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วไปทั้งในหมู่ประชาชนชาวปัตตานี และชาวต่างชาติที่เข้ามาตั้งสถานีการค้าอยู่ในเวลานั้น

ปีเตอร์ ฟลอริส พ่อค้าชาวอังกฤษซึ่งมากับเรือ เดอะ โกลบ (The Globe) และได้พำนักอยู่ในปัตตานีเป็นเวลานาน ในช่วงที่อังกฤษตั้งสถานีการค้าในปัตตานี ได้บันทึกสั้นๆ ไว้ว่า

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๑๒๙  สุลต่านแห่งรัฐปาหังได้เสด็จมาถึงปัตตานี

วันที่ ๑ สิงหาคม เราได้รับเชิญจากองค์รายาปัตตานีเพื่อไปในงานพระราชพิธีสมรสระหว่างสุลต่านปาหังกับพระชนิษฐภคินีพระองค์สุดท้องของพระนาง


พระราชพิธีหเสกสมรส เจ้าหญิงอผูงู กับ สุลต่านอับดุลฆอฟูร์ แห่งรัฐปาหัง
ภาพจาก "ปืยใหญ่จอมสลัด"

ไม่มีผู้ใดหยั่งรู้ได้ว่า ภายในพระราชหฤทัยของเจ้าหญิงอูงูนั้น ทรงขมขื่นเพียงใดกับการที่ต้องตามเสด็จพระราชสวามีไปประทับอยู่ที่ปาหังนานถึง ๒๘ ปี แม้ว่าจะเป็นราชกิจที่เจ้าหญิงในทุกบ้านเมืองของสมัยนั้นรู้พระองค์อยู่เสมอ ว่าต้องทรงโอนอ่อนผ่อนตามอยู่แล้วโดยพระราชฐานันดร เพื่อประโยชน์สุขของมาตุภูมิ

แต่ข้อที่แตกต่างจากเจ้าหญิงอื่นก็คือ พระนางกับพระขนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์นั้นเจริญพระชันษามาด้วยกัน ผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงและกลิ่นคาวเลือดในสงครามช่วงชิงราชบัลลังก์ปัตตานีมาด้วยกัน นับว่าเป็นพี่น้องที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นร่วมเป็นร่วมตายกันมาตลอด

การที่ต้องมาพรากจากกันเพื่อความมั่นคงของชาติบ้านเมือง น่าจะไม่เพียงสร้างความปวดร้าวในพระราชหฤทัยของเจ้าหญิงอูงูเท่านั้น แต่ยังเป็นความยากลำบากที่องค์รายาฮิเยาผู้เข้มแข็ง ต้องทรงกล้ำกลืนไว้ตลอดรัชสมัยของพระนางอีกด้วย

เกือบ ๓ ทศวรรษผ่านไป ที่พระมเหสีอูงูมิได้มีโอกาสคืนกลับมาเยือนมาตุภูมิอีกเลย จวบจนปลายรัชสมัยของพระพี่นางฮิเยา เมื่อสุลต่านอับดุลฆอฟูร พระสวามีเริ่มหมางเมินต่อความสัมพันธ์ระหว่างปาหังกับปัตตานี

จนทำให้องค์รายาฮิเยาแสดงพระราชอำนาจ ด้วยการส่งกองทัพเรือไปยังนครปาหังพร้อมกับพระราชสาส์นทูลเชิญให้สุลต่านปาหัง พาพระมเหสีอูงูเสด็จประพาสแผ่นดินเกิด พระนางจึงได้เสด็จนิวัติพระนครเป็นครั้งแรก พร้อมกับสุลต่านแห่งปาหัง และ เจ้าหญิงกูนิง (Kuning) พระราชธิดา

ครั้นเมื่อสุลต่านแห่งปาหังสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา พระนางอูงูและพระราชธิดาจึงได้เสด็จกลบไปประทับที่เมืองปัตตานีอย่างถาวร ตามพระบัญชาของรายาบีรู พระขนิษฐา ที่ได้เสด็จขึ้นครองบัลลังก์นครปัตตานีต่อจากองค์รายาฮิเยา

การที่รายาบีรูโปรดฯ ให้พระมเหสีอูงูพาพระราชธิดากูนิงเสด็จกลับมาประทับที่ปัตตานี ก็เพื่อทรงปฏิบัติภารกิจในฐานะเป็นเจ้าหญิงรัชทายาท เช่นเดียวกับที่รายาฮิเยาเคยทรงกระทำมาแล้ว

แม้ว่าองค์รายาบีรูเองก็ทรงมีพระราชโอรส ๒ พระองค์กับ เจ้าชาย โต๊ะ อาโกะ หรือ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม แต่เหตุใดพระราชโอรสทั้งสองนั้นจึงไม่ได้เป็นรัชทายาท ยังเป็นความลับอยู่


เจ้าหญิงอูงู กับ เจ้าหญิงบีรู ใน "ปืนใหญ่จอมสลัด"

เข้าใจว่า อาจเป็นเพราะพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ ทรงมีเชื้อสายชาวต่างชาติ ไม่มีความบริสุทธิ์ทางสายเลือดเท่าพระนางอูงู ถ้าขึ้นครองราชย์อาจไม่ได้รับการยอมรับ หรือทั้งสองพระองค์อาจสิ้นพระชนม์ไปแล้วตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๒๑๕๗ ที่พระมเหสีอูงูกับพระราชธิดาเสด็จนิวัติพระนคร ก็เป็นได้

และองค์มเหสีอูงู ก็ถวายความจงรักภักดีแด่พระพี่นาง โดยมิได้ทรงแข็งขืนคัดค้าน เมื่อรายาบีรูพระราชทานเจ้าหญิงกูนิงให้หมั้นหมายกับ ออกญาเดโช เพื่อสานสัมพันธ์กับกรุงศรีอยุธยา

ในพระราชพิธีหมั้นอันอลังการ ระหว่างเจ้าหญิงกูนิงกับออกญาเดโช ไม่มีผู้ใดสามารถคาดเดาพระราชหฤทัยขององค์มเหสีม่ายแห่งรัฐปาหังได้ว่าเป็นเช่นไร

ที่บัดนี้ พระราชธิดาผู้งดงามซึ่งทรงรักเสมอแก้วตาดวงใจ ต้องทรงมีพระชะตากรรมเช่นเดียวกับที่พระนางทรงได้รับมาตลอดระยะเวลาร่วม ๓ ทศวรรษ

กล่าวกันว่า องค์พระมเหสีม่ายสงบนิ่งอยู่ในความเงียบ ยอมรับพระบัญชาขององค์กษัตริยาบีรูโดยไม่มีเงื่อนไข ขณะที่เจ้าหญิงกูนิงนั้น เยาว์พระชันษาเกินกว่าที่จะคิดถึงกาลภาคหน้าแห่งชีวิตสมรส

พระนางอูงูทรงนิ่งสงบอยู่ในหนทางแห่งการทูตเพื่อแผ่นดิน ตราบจนสิ้นรัชสมัยของรายาบีรู


เจ้าหญิงอูงู จากภาพนตร์ "ปืนใหญ่จอมสลัด"
รับบทโดย แอนนา แฮมบาวริส

พุทธศักราช ๒๑๖๗ พระมเหสีม่ายอูงูแห่งนครปาหัง จึงทรงได้รับสถาปนาเป็นกษัตริยาองค์ที่ ๓ แห่งราชบัลลังก์ปัตตานี และทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์ศรีวังสา

เวลานั้นเอง เหล่าขุนนางและพสกนิกรจึงประจักษ์แจ้งถึงความในพระราชหฤทัยของราชินีอูงูว่า ทรงคับแค้นในพระชะตากรรมของพระราชธิดาของพระนาง และทรงเกลียดชังสยามเพียงใด

นั่นก็คือ การที่นครรัฐปัตตานีได้ทำศึกสงครามกับกรุงศรีอยุธยาอีก หลังจากที่ได้มีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันมาตลอดสองรัชกาลแห่งองค์ขัตติยนารี ผู้ทรงเป็นพระขนิษฐาขององค์รายาอูงูเอง

การประกาศสงครามดังกล่าวของรายาอูงู อาศัยเหตุจากวิกฤติการณ์ภายในของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เนื่องจาก ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ ได้ยึดอำนาจจาก สมเด็จพระเจ้าอาทิตยวงศ์  ในพ.ศ. ๒๑๗๒ แล้วสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์มีนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

ทำให้องค์รายาอูงูไม่ทรงยอมรับพระราชอำนาจของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในฐานะกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ควรสืบสันตติวงศ์อย่างถูกต้องตามโบราณราชประเพณี

พระนางจึงทรงตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกรุงศรีอยุธยา ไม่ยอมรับคำนำหน้าพระนาม พระนางเจ้าหญิงที่กษัตริย์สยามทรงเรียกขานเจ้านครหญิงของปัตตานี ตั้งแต่รัชสมัยของพระพี่นางฮิเยา ทรงยุติการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการไปถวายกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทุกปีดังที่เคยเป็นมาแต่ก่อน

และหลังจากนั้น รายาอูงูก็ทรงเตรียมพระนครเพื่อการพร้อมรบอยู่เสมอ ทรงมีบัญชาให้สร้างกำแพงเมืองเพิ่มเติม และแนวป้องกันถึง ๑๐ ชั้น ล้อมพระนครเพื่อป้องกันการโจมตีของกรุงศรีอยุธยา

ว่ากันว่า ป้อมปราการริมฝั่งน้ำปาปีรี ณ เวลานั้น เรียงรายด้วยปืนใหญ่ที่พร้อมจะสาดกระสุนใส่ข้าศึกตลอดเวลา รวมทั้งปืนใหญ่ ศรีปัตตานี และ ศรีนครา ซึ่งทรงอานุภาพเลื่องลือไปทั่วคาบสมุทร

ลุถึงพ.ศ.๒๑๗๓ องค์รายาอูงูทรงทราบข่าวว่า ทางกรุงศรีอยุธยาเตรียมการโจมตีปัตตานี จึงทรงมีพระราชโองการให้ส่งกองทัพไปตีเมืองพัทลุง แลนครศรีธรรมราช ที่อยู่ภายใต้อำนาจของอยุธยาในขณะนั้นเพื่อตัดกำลังเสียก่อน


ชุดเกราะของเจ้าหญญิงอูงู ในภาพยนตร์ "ปืนใหญ่จอมสลัด"
มีลักษณะคล้ายชุดเกราะของราลวงศ์อาหรับในยุคนั้น

นื่องจากถ้าทางกรุงศรีอยุธยาจะทำสงครามกับปัตตานี ก็มักจะสั่งให้กองทัพจากนครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุงบุกปัตตานีเสมอนั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น กองทัพเรือปัตตานียังเข้ายึดเรือสินค้าอยุธยาลำหนึ่งที่กำลังเดินทางผ่านน่านน้ำปัตตานีไปชวา พร้อมด้วยพ่อค้าฮอลันดาสองคนและลูกเรือชาวญี่ปุ่นอีก ๗ คนด้วย

และพระนางยังทรงท้าทายพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาซ้ำอีก ด้วยการยกเลิกการหมั้นหมายระหว่างเจ้าหญิงกูนิงกับออกญาเดโช

แล้วพระราชทานเจ้าหญิงกูนิงให้เสกสมรสกับ เจ้าชายยัง ดี เปอร์ตูวัน มูดา (Yang Di Pertuwan Muda) พระราชโอรสของ สุลต่านอับดุลยาลิล ชาห์ แห่งยะโฮร์ ซึ่งเคยเป็นคู่แข่งของปัตตานี เพื่อเป็นการลบล้างข้อบาดหมางที่เคยมีซึ่งกันและกันอีกด้วย

จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างปัตตานีกับกรุงศรีอยุธยา ทำให้ชาติตะวันตกสองชาติที่มาทำการค้าอยู่ในอ่าวไทยและคาบสมุทรมลายูพลอยแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันไปด้วย โดยทางฮอลันดาเข้าข้างฝ่ายสยาม ขณะที่โปรตุเกสเข้าข้างฝ่ายปัตตานี

กล่าวสำหรับโปรตุเกสแล้ว ชนชาตินี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในสงครามระหว่างรัฐต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลานานแล้ว แต่สำหรับฮอลันดานั้นเพิ่งจะเป็นครั้งแรก

ทางฮอลันดาจึงถวายคำแนะนำสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ให้ทรงพยายามทำสิ่งใดก็ได้ที่จะทำให้ปัตตานีกับโปรตุเกสแตกแยกกันเสีย เพื่อความได้เปรียบในสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้า

ในขณะเดียวกัน ฮอลันดาก็ได้เป็นผู้แทนของกรุงศรีอยุธยาในการเจรจากับทางปัตตานี เพื่อขอเรือสินค้าที่ถูกยึดไว้คืน

กัปตัน แอนโทนี่ เคน (Anthony Caen) ผู้คุมกองเรือสินค้าฮอลันดาจึงฉวยโอกาสนั้น กราบบังคมทูลเกลี้ยกล่อมองค์รายาอูงู ให้ทรงเลิกติดต่อกับโปรตุเกส รวมทั้งถวายคำแนะนำพระนาง ให้ส่งผู้แทนไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อสานสัมพันธไมตรีขึ้นมาใหม่

เขากล่าวว่า การค้าขาย ไม่อาจดำเนินไปได้เนื่องมาจากการเกลียดชังต่อประเทศสยาม

แต่พระนางก็หาได้ทรงใส่พระทัยไม่

เมื่อการณ์เป็นไปดังนี้ ทางกรุงศรีอยุธยาจึงส่งกองทัพมายังปัตตานีอีกครั้งหนึ่งในพ.ศ.๒๑๗๕

ขณะนั้น เจ้าชายแห่งยะโฮร์พร้อมด้วยไพร่พล ๓,๐๐๐ คน เพิ่งมาถึงนครปัตตานีเพื่อจะสมรสกับเจ้าหญิงกูนิง

แต่ยังไม่ทันที่จะมีการจัดพระราชพิธีอภิเษกสมรส กองทัพของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็เข้าโจมตีนครปัตตานี 

ชาวปัตตานีกับชาวยะโฮร์ จึงได้ร่วมกันต่อสู้อย่างสุดความสามารถ และขับไล่กองทัพอยุธยาพ่ายแพ้กลับไป

เมื่อกองทัพสยามถอยกลับไปแล้ว จึงมีการจัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสในพระราชวังอิสตานานีลัมอย่างใหญ่โต เป็นการฉลองชัยชนะไปในตัวด้วย

หลังจากที่อภิเษกแล้ว พระสวามีของเจ้าหญิงกูนิงก็ทรงอยู่ช่วยราชการที่ปัตตานีระยะหนึ่ง

การได้พระราชโอรสของสุลต่านแห่งยะโฮร์เป็นพระราชบุตรเขย ทำให้สภาพเศรษฐกิจและการเมืองของนครปัตตานีมั่นคงขึ้น แม้จะต้องเสียดินแดนไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นนครรัฐที่ใหญ่โต มีประชากรหนาแน่น

ดังที่พ่อค้าชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) ซึ่งมาเยือนปัตตานีในสมัยนั้นได้เขียนบันทึกว่า

นครปัตตานีมี ๔๓ แคว้น รวมถึงตรังกานูและกลันตัน  แต่เมื่อโอรสของสุลต่านโยโฮร์ได้สมรสกับบุตรีของราชินีปัตตานี เมืองตรังกานูก็เข้าไปอยู่ภายใต้การปกครองของโยโฮร์ สุลต่านโยโฮร์ได้ส่งขุนนางคนหนึ่งไปปกครองที่นั้น ปัตตานีจึงเหลือ ๔๒ แคว้น...

ปัตตานีมีเมืองท่า ๒ แห่งคือ กวาลาปาตานี  และกวาลาบือเก๊าะฮ์ ...

พลเมืองปัตตานีในขณะนั้นมีผู้ชายที่อายุเกิน ๑๖ ปีรวมทั้งสิ้น ๑๕๐,๐๐๐ คน...นครปัตตานีมีผู้คนหนาแน่น เต็มไปด้วยบ้านเรือน นับเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่ง จากประตูพระราชวังถึงหมู่บ้านบานามีบ้านเรือนไม่ขาดสาย ถ้าหากแมวตัวหนึ่งเดินบนหลังคาบ้านเหล่านั้น จากพระราชวังจนถึงปลายสุด มันจะเดินได้ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องเดินบนพื้นดินเลย...

การพ่ายแพ้ครั้งที่สองของกองทัพสยามนั้น มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อการเป็นศูนย์อำนาจของทางกรุงศรีอยุธยา

เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเห็นว่า ลำพังกองทัพอยุธยาและหัวเมืองปักษ์ใต้จะเอาชนะปัตตานีไม่ได้อย่างแน่นอนแล้ว ก็ทรงมีพระราชโองการให้ส่งทูตไปเจรจากับบริษัทฮอลันดา เพื่อขอความช่วยเหลือในการโจมตีปาตานี โดยทางกรุงศรีอยุธยาแจ้งว่าจะจัดกองทัพยกไปปัตตานีทั้งทางบกและทางทะเลในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๑๗๖

ซึ่งทางฮอลันดาก็ให้คำมั่นที่จะส่งเรือรบจำนวน ๕ ลำ พร้อมทหารและอาวุธสมัยใหม่ไปร่วมรบ โดยขอผูกขาดการค้าไม้ฝาง และหนังกวางในสยามเป็นสิ่งตอบแทน

ซึ่งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็ทรงสัญญาว่า จะพระราชทานตามคำขอถ้าได้รับการช่วยเหลือจากฮอลันดา

เมื่อตกลงกันแล้ว สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงทรงมีพระราชโองการให้ออกญาพระคลัง ออกญากลาโหม นำกองทัพม้า กองทัพช้าง ประกอบด้วยไพร่พลราว ๓๐,๐๐๐ มาตีนครปัตตานี เมื่อกองทัพดังกล่าวเคลื่อนลงมาถึงหัวเมืองปักษ์ใต้ ก็ได้รับการสนับสนุนรี้พลจากนครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง จนมีกำลังพลมากถึง ๖๐,๐๐๐ คน

โดยในส่วนของกองทัพพัทลุงนั้น นำทัพโดยออกญาเดโช ผู้ผิดหวังจากการที่องค์รายาอูงูทรงยกเลิกการหมั้นหมายระหว่างตัวเขากับเจ้าหญิงกูนิง นั่นเอง

กองทัพอยุธยาและประเทศราช ได้ยกทัพเข้าสู่ปากน้ำเมืองปัตตานีเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๑๗๗ ทางสยามได้ทุ่มเทกำลังพลทั้งหมด พยายามรุกรบตีฝ่าแนวป้องกันทั้ง ๑๐ ชั้นเข้าสู่นครปัตตานี พร้อมกับกองทัพเรือเข้าโจมตีจากทางทะเล โดยไร้วี่แววของเรือรบฮอลันดาทั้ง ๕ ลำตามที่ตกลงกันไว้ 

ส่วนทางปัตตานีนั้นเตรียมตัวไว้พร้อมแล้ว รายาอูงูทรงออกบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง มีเจ้าชายยะโฮร์ ราชบุตรเขยพระองค์ใหม่นำทหารจากยะโฮร์ร่วมรบ

กองทัพบก และกองทัพเรือจากกรุงศรีอยุธยา ต้องเผชิญหน้ากับความแข็งแกร่งของกำแพงบีรู และแนวป้องกันทั้งสิบชั้น อานุภาพของมหาปืนใหญ่ศรีปัตตานี ศรีนครา ที่สาดกระสุนถล่มราวกับห่าฝนทันทีที่เข้าโจมตี รวมทั้งกองเรือรบจากยะโฮร์และปาหังกว่า ๕๐ ลำ สมทบด้วยเรือรบโปรตุเกสอีก ๔ ลำ ที่เข้ามาช่วยปัตตานี หลอมรวมกับการขาดประสบการณ์การรบทางทะเลของทหารอยุธยา และเสบียงที่หมดลงอย่างรวดเร็ว


เจ้าหญิงอูงู กับนายทหารราชองครักษ์ของลังกาสุกะ
(ชื่อที่ในภาพยนตร์ "ปืนใหญ่จอมสลัด" ใช้แทนปัตตานี)


ทำให้กองทัพอยุธยาได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนต้องถอยทัพกลับไปสงขลาในเวลาเพียง ๑๐ วันหลังจากนั้น คือวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๑๗๗

ว่ากันว่า การศึกครั้งนี้ทำให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงกริ้วฮอลันดามาก พระองค์ทรงมีพระราชโองการให้กักขังพวกพ่อค้าฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยา และห้ามชาวสยามคนใดติดต่อค้าขายกับชาวฮอลันดาอีก

แต่ในเวลาต่อมา ก็ด้องทรงพระราชทานอภัยโทษแก่ชาวฮอลันดา เมื่อทรงทราบว่าทางฮอลันดาส่งเรือรบไปช่วยในสงครามปัตตานีตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่เรือรบฮอลันดาไปถึงช้าเกินไป คือไปถึงเมื่อกองทัพสยามถอยกลับสงขลาแล้ว เรือรบฮอลันดาทั้ง ๕ ลำจึงต้องถอยกลับไปเช่นกัน

ในพงศาวดารปัตตานีระบุว่า ในขณะที่กองทัพสยามยังอยู่ที่ปัตตานีนั้น ทางฝ่ายปัตตานีได้ส่งคนปลอมตัวเป็นทหารเกณฑ์จากหัวเมืองปักษ์ใต้เข้าไปผสมกลมกลืนอยุ่ในกองทัพ และไปช่วยกินเสบียงของทางอยุธยาด้วย จึงทำให้เสบียงของฝ่ายอยุธยาร่อยหรอไปอย่างรวดเร็วผิดปกติ

การกระทำของฝ่ายปัตตานีเช่นนี้  ม.ล.มานิจ ชุมสาย เขียนไว้ใน ประวัติศาสตร์มลายูและปัตตานี พ.ศ.๒๕๑๗ ว่า เป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีตัวอย่างในประวัติศาสตร์มาเลย

อ.บางนรา ผู้เขียนหนังสือ ปัตตานี: อดีต-ปัจจุบัน วิจารณ์ว่า เรื่องนี้น่าจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง เพราะกองทัพไทยอันมหึมานั้นเป็นกองทัพผสม มีทั้งอยุธยา นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา รวมทั้งทหารมลายูที่มาจากไทรบุรีอีกด้วย จึงเป็นการง่ายที่ชาวปัตตานีจะร่วมมือกับชาวไทรบุรีซึ่งเป็นชาวมลายูด้วยกัน ไปสมทบกินข้าวไทยให้หมดไปเร็วๆ

๑๘ เดือนหลังการศึก รายาอูงูสิ้นพระชนม์ ทิ้งราชบัลลังก์ปัตตานีไว้ให้พระราชธิดากูนิงครอบครอง

แต่นโยบายต่อกรุงศรีอยุธยานั้นก็ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย

พระราชธิดาของพระนางนั้นไม่ทรงต้องการสงคราม จึงได้มีการเจรจาเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง โดยปัตตานียินยอมส่งเครื่องราชบรรณาการแก่สยามเหมือนเดิม


เจ้าหญิงอูงู ปลอมพระองค์ไปสืบหาตัว ลิ้มโต๊ะเคึ่ยม  ใน "ปืนใหญ่จอมสลัด"

รายาอูงูสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๑๗๘ พระนางทรงสิ้นพระชนม์ไปพร้อมกับความสำเร็จ ที่ได้ทรงกระทำให้รัฐต่างๆ ทั่วคาบสมุทรมลายู และตลอดน่านน้ำเอเชียแปซิฟิก ได้ประจักษ์ถึงความแข็งแกร่งของนครรัฐปัตตานี ที่สั่นคลอนอำนาจเหนือหัวเมืองปักษ์ใต้ของกรุงศรีอยุธยาได้ในสงครามใหญ่ถึง ๓ ครั้ง ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพเรือมหึมาจากแผ่นดินใหญ่ทั้งสามครั้ง

จนกล่าวกันว่า ในแผ่นดินที่ ๓ แห่งปัตตานีซึ่งครอบครองโดยกษัตริย์หญิง นครรัฐแห่งนี้ได้เข้าสู่จุดที่สมบูรณ์ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางการค้าที่มั่งคั่งร่ำรวย และแสนยานุภาพทางทหารที่ไม่เป็นรองใคร

ปัจจุบัน กุโบร์ หรือพระราชสุสานของรายาฮิเยา รายาบีรู และรายาอูงู ยังคงปรากฏอยู่ในพื้นที่บ้านปานาเระ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี ในสภาพของแนวกำแพงอิฐเตี้ยๆ ก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในแบ่งเป็นสามช่อง  แต่และช่องตั้งใบเสมาหินจารึกชื่อองค์รายาทั้งสามไว้อย่างชัดเจน 

พระราชสุสานดังกล่าวนี้ สร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย ปราศจากความหรูหราใหญ่โตอัครฐานหรือแม้แต่ลวดลายประดับตกแต่งใดๆ  แม้ว่าจะเป็นที่ประทับชั่วนิรันดร์ ของอดีตนางพญาผู้ทรงอำนาจในสมัยรุ่งเรืองที่สุดของนครรัฐปัตตานีก็ตาม


พระราชสุสาน ของ ๓ นางพญาแห่งปัตตานี
ตามสภาพที่ปรากฏในปัจจุบัน

สถานที่ดังกล่าวเวลานี้ อยู่ไม่ไกลจากมัสยิดกรือเซะ และศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมากนัก ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ต่างช่วยกันดูแลรักษากันตามมีตามเ กิด ปัจจุยันได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ด้วยการสร้างอาคารมีหลังคาคลุมไว้อย่างมั่นคง และปรับปรุงพื้นที่โดยรอบให้ดีขึ้น เท่าที่จะจำได้แล้ว

ชาวบ้านปานาเระ มีเพลงพื้นบ้านที่กล่าวถึงรายาทั้งสามพระองค์ เป็นภาษามลายูปัตตานีที่ไพเราะน่าฟัง ฃึ่งยังคงขับขานกันต่อมาจนทุกวันนี้อีกด้วย


..........................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

ขอขอบคุณ สหมงคลฟิล์ม เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพจากาพยนตร์ ปืนใหญ่จอมสลัด


Total Pageviews