Tuesday, November 14, 2023

เจ้าจอมสดับ

บันทึกบทความเก่าของอ.กิตติ วัฒนะมหาตม์

คอลัมน์หลากหลายลีลา “ผู้หญิงในประวัติศาสตร์” หนังสือพิมพ์สยามรัฐ หน้าสตรี-เด็ก 3 พฤษภาคม พ.ศ.2534 (4/4)

 

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ (ภาพจากหนังสือ “ราชพัสตราภรณ์” จัดพิมพ์โดย สำนักนายกรัฐมนตรี ๒๕๔๗) Cr, https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Chao_Chom_Mom_Rajawongse_Sadap.jpg


ก่อนจะเล่าถึงประวัติของเจ้าจอมท่านนี้ ผมคงจะต้องเรียนให้ทราบทั่วกันก่อน ว่า ผมมีเหตุผลส่วนตัวอยู่ 2 ประการ ประการแรกก็คือผมได้ยินชื่อของท่านมาตั้งแต่เริ่มหัดดนตรีใหม่ๆ ถึงแม้ว่า ครูมโหรีของผม จะไม่ได้สืบ “ทาง” มาจากในวัง ทั้งมาจากต่างจังหวัดไกลออกไปด้วยซ้ำ แต่นั่นหมายถึงว่า ชื่อเสียง เกียรติคุณของ ท่านได้ขจรขจายไปไกลและเป็นที่รู้จักกันอยู่มากทีเดียวครับ

 

ประการที่สองก็คือ ก่อนหน้านี้ไม่นานผมได้อ่านหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของท่านที่พิมพ์โดย ม.ล.พูนแสง สูตะบุตร ก็เล่มที่ผมใช้เป็นหลักในการเขียนคราวนี้แหละ อ่านแล้วเกิดความรู้สึกสองอย่าง อย่างแรกคือ ชื่นชมใน อัตชีวประวัติที่ประกอบด้วยเกียรติคุณอย่างยิ่งของท่าน อย่างที่สองคือ ไม่พอใจที่ หนังสือดีพิมพ์มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 แต่ทั้งเล่มยังใหม่มากยังกับไม่ค่อยมีใครไปอ่าน ผมก็คิดเอาเองว่าถ้ามีโอกาส ผมก็อยากจะแนะนำให้เราๆ ท่านๆ ได้รู้จัก สุภาพสตรีท่านนี้เป็นพิเศษ

 

อย่างน้อย ก็ให้เห็นละครับ ว่าสตรีที่งามด้วยรูปสมบัติและคุณสมบัตินั้น เขา “งาม” กันอย่างไร ขอชี้แจงเท่านี้แล้วกันนะครับ ชี้แจงพอให้คนเขียนโล่งใจด้วยไม่ใช่อะไรหรอก

 

เจ้าจอมม.ร.ว.สดับ มีชื่อเดิมว่า “สั้น” ครับ ท่านถือกำเนิดในราชสกุลที่สืบมาจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นธิดาของหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี และหม่อมช้อย ซึ่งมาจากสกุลนครานนท์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2433 ที่วังกรมหมื่นภูมินทรภักดี (อยู่ที่ตำบลปากคลองตลาด ที่รู้จักกันว่า “วังท่าเตียน” นั่นละครับ) ท่านเป็นธิดาคนเดียวของหม่อมมารดา แต่ยังมีพี่น้องร่วมบิดาอีก 13 คนครับ

 

ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 
https://www.facebook.com/NationalArchivesofThailand/photos/a.2623419837919916/2752375825024316/?type=3

ตามประวัติว่าพอท่านอายุได้ 11 ขวบ หม่อมเจ้าเพิ่มได้ทรงลาออกจากราชการ และยังทรงดำริจะย้ายครอบครัวไปประทับที่ราชบุรีด้วย เจ้าจอมมารดาจีนในกรมหมื่นภูมินทรภักดี ท่านก็ไม่อยากให้หม่อมเจ้าเพิ่ม พา “หลานสั้น”  ไปอยู่หัวเมือง จึงได้ทูลพระวิมาดาเธอฯ ขณะนั้น ดำรงพระยศเป็นพระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฎ ให้รับเข้ามาอยู่ในวังเสีย พระวิมาดาเธอฯ ก็ส่งขอต่อหม่อมเจ้าเพิ่ม และม.ร.ว.สั้นก็ได้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังตั้งแต่นั้น

 

หลังจากนั้นไม่นาน สมเด็จหญิงพระองค์ใหญ่ (เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎร์จันทร์) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ก็ได้ประทานนามใหม่ให้ท่านว่า “สดับ” ครับ ม.ร.ว.สดับได้รับพระอุปถัมภ์อยู่ในตำหนักของพระวิมาดาเธอฯ เยี่ยง พระญาติ กาลเวลาผ่านไปท่านเจริญวัยขึ้นเรื่อยๆ เป็นกุลสตรีที่เพียบพร้อมไปด้วย รูปสมบัติ และคุณสมบัติต่างๆ คือ ความรู้ทางวิชาการ และการคหกรรมที่สุภาพ สตรีในวังสมัยนั้นต้องศึกษาเล่าเรียน ท่านก็มีความชำนาญไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานฝีมือต่างๆ หรือการประกอบอาหาร

 

อีกอย่างหนึ่งที่น่าชื่นชมก็คือ น้ำเสียงของท่านแหละครับ ตามประวัติว่าท่านมีน้ำเสียงไพเราะมาก ไพเราะแค่ไหนผมไม่เคยได้ฟัง แต่มีหลักฐานยืนยันอย่างน้อย ก็คราวหนึ่งที่พระพุทธเจ้าหลวงท่านทรงมีพระราชดำริจะให้พระวิมาดาเธอฯ ทรงจัดมโหรีขึ้นในวัง คราวนั้นปรากฏว่า ครูมโหรีทั้งหลายที่นักดนตรีไทยเรายกย่อง กันมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ครูพระประดิษฐ์ไพเราะ(ตาด), หลวงเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) และครูที่สอนขับร้องที่ปรากฏชื่อเสียงในปัจจุบันนี้เหมือนกัน เช่น หม่อมสุด, คุณเฒ่าแก่จีบ และหม่อมส้มจีน เป็นต้น ครูทั้งหลายทุกคนนี้เห็น ตรงกันว่าควรจะให้ม.ร.ว.สดับ เป็นนักร้องต้นเสียงในวงมโหรีคราวนั้น

 

แต่มูลเหตุที่ท่านจะได้ไปเป็นเจ้าจอม ไม่ได้มาจากที่ว่าท่านเป็นนักร้องเสียง เพราะในวงมโหรีเพียงอย่างเดียวหรอกครับ ท่านเคยเล่าให้คุณหมอพูนพิศ อมาตยกุลฟังว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงรู้จักคุ้นเคยและเรียกใช้ท่านมาก่อนเป็นเวลานานนักหนาแล้ว หลังจากนั้นท่านจึงได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระองค์ท่านเมื่อพ.ศ. 2448 โดยมี คุณท้าวจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาดในรัชกาล ที่ 4) เป็นผู้นำถวาย หลังจากนั้น จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาท ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2449 ท่านได้แสดงความจงรักภักดีจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาก

 

ปรากฏว่า ในวาระหนึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานขึ้นที่พระที่นั่งอัมพรสถาน และโปรดเกล้าฯ ให้มีละครเรื่อง “เงาะป่า” เก็บเงินคนดู เพื่อพระราชทานเป็นทุนให้ คะนัง เด็กเงาะที่อยู่ในพระอุปถัมภ์เวลานั้น ปรากฏว่างานนั้นเจ้าจอมม.ร.ว.สดับ ต้องลงคุมงานเองเป็นแม่งานแทบทุกอย่าง เพราะพระวิมาดาเธอทรงประชวร ท่าน บันทึกเล่าถึงเรื่องนี้ว่า เหนื่อยมาก เพราะต้องวิ่งเต้นเองทุกอย่าง พอถึงเวลาร้องท่านก็ต้องขึ้นไปร้องประจำโรง ร้องเสร็จก็ไปประจำที่ล้นเกล้าฯ ซึ่งประทับอยู่ใน โรงละครนั้น ละครเลิกก็ตามเสด็จไปเฝ้าฯ คอยรับใช้บนพระที่นั่งต่อไป ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับพระราชทานกำไลทองรูปตาปู มีจารึกบทพระราชนิพนธ์อันไพเราะ เป็นเยี่ยมบทหนึ่งหรือสองบทผมไม่แน่ใจนะครับ แต่ท่านใส่กำไลนี้ติดตัวอยู่เสมอ เป็นสิ่งเดียวที่ได้รับพระราชทานมาแล้ว ท่านไม่ถวายคืนดังจะเล่าต่อไปในตอนหลังครับ

 

เจ้าจอมม.ร.ว.สดับเกือบจะได้ตามเสด็จไปประพาสยุโรปใน ร.ศ.126 หรือ พ.ศ. 2450 แล้วเหมือนกันครับ ได้มีการเตรียมการไว้อย่างดีแต่ก็มีเหตุขัดข้องที่ทำให้ไม่เป็นไปตามพระราชดำริ หลังจากนั้นเมื่อเจ้าจอมม.ร.ว.สดับท่านเจริญวัยได้ 21  ปี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงท่านก็เสด็จสู่นฤพานสวรรคตจากไป เป็นวาระที่ท่าน จะต้องประสบกับความทุกข์อย่างใหญ่หลวงที่สุดในชีวิต นอกจากนี้ก็ยังมีคนพูดกันว่าเจ้าจอมม.ร.ว.สดับท่านยังรุ่นสาว มีรูปโฉมงดงาม ทรัพย์สมบัติคือเพชรนิล จินดาต่างๆ ที่ได้รับพระราชทานมาก็ติดตัวอยู่มาก เกรงว่าจะไม่สามารถครองตัว รักษาพระเกียรติยศไว้ได้ตลอดไปครับ พระบรมวงศานุวงค์ชั้นสูงหลายพระองค์ก็ทรงวิตกในเรื่องนี้

 

พระวิมาดาเธอฯ จึงทรงแนะนำให้เจ้าจอมม.ร.ว.สดับ ถวายเครื่องเพชรพระราชทานคืนก่อน เพราะจะเป็นชนวนทำให้เสีย เจ้าจอมม.ร.ว.สดับท่านก็ถวายคืนไปหมดด้วยความเต็มใจครับ เหลือติดตัวไว้เพียงสิ่งเดียวคือกำไลทองรูปตาปูนั้นซึ่งท่านไม่เคยถอดออกจากข้อมือเลยตลอดชีวิต

 

หลังจากถวายทรัพย์สินคืนไปหมด ท่านก็เลยไปอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระวิมาดา เธอฯ ต่อไปครับ ท่านได้หันเข้าศึกษาพระธรรมอย่างจริงจัง จนกระทั่ง พ.ศ.2475 หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านก็ย้ายออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปอยู่ บ้าน “ทับสุข” ที่บริเวณวัดเขาบางทราย ชลบุรี ไปรักษาตัวเจริญศีลภาวนาอยู่ที่ นั่น ด้วยวิธีนี้ท่านจึงรอดพ้นจาก “ชนวนที่จะทำให้เสีย” ต่างๆ และรักษาพระ เกียรติยศไว้ได้ตลอดชีวิตของท่านครับ ท่านศึกษาพระธรรมอย่างจริงจัง ได้ บันทึกข้อธรรมต่างๆ ตามความเข้าใจของตนเองมาตลอด ตั้งแต่แรกจนได้หนังสือ ขนาด 8 หน้ายกขึ้นมาเล่มหนึ่ง เรียกว่า “สุตาภาษิต” (สุ ตา ครับ มิใช่ สุดา) จนกระทั่งท่านมีอายุได้ 60 ปี จึงได้กลับเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังอีกครั้ง

 

ในช่วงปลายของชีวิตท่าน นอกจากจะได้ศึกษาธรรมต่อไปแล้ว ท่านก็ได้เข้าร่วม กิจกรรมลูกเสือชาวบ้าน แต่ท่านไม่ใช่ลูกเสือชาวบ้านที่ร้องเพลงและรับประทาน อาหาร 3 มื้อหรอกนะครับ เพราะท่านยังรักษาอุโบสถศีลอยู่ ผมลืมบอกไปว่า ก่อน ท่านจะกลับเข้ามาในวังท่านก็บวชชีมาตลอดล่ะครับ จนต้องเข้าวังจึงสึกออกมา รักษาอุโบสถศีลแทน จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2526 หลังจากที่ท่านได้ปวารณาตัวเข้าร่วมในกิจกรรมที่จะทำให้เกิดความดีงามต่างๆ แก่ปวงชนเท่าที่จะกระทำได้ และครองตัวรักษาพระเกียรติยศแห่งพระพุทธเจ้าหลวงไว้ด้วยความไม่ประมาทตลอดชีวิต เจ้าจอมม.ร.ว.สดับท่านจึงได้กราบถวายบังคมลาถึงอนิจ กรรมที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยโรคชรา สิริรวมอายุได้ 93 ปีครับ

 

ภาพจาก https://www.sanook.com/movie/57761/gallery/336753/

ผลงานของเจ้าจอมม.ร.ว.สดับที่ยังมีอยู่ทุกวันนี้ นอกจาก “สุตาภาษิต” แล้ว ยังมี อีกมากครับ ได้แก่ บทความ 3 บท เรื่องบ่อเกิดพระราชนิพนธ์เงาะป่า, เกร็ด โบราณคดีที่ได้รับจากการบันทึก และตำรากับข้าวไทย ครับ นอกจากนี้ ยังปรากฏ เกียรติคุณของท่านในหนังสือต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในฐานะที่ท่านเป็นช่างทำน้ำอบน้ำปรุง และ “ส้มโอมือ”

 

“ส้มโอมือ” ก็คือยาดมชนิดหนึ่ง ทำจากส้มโอที่มีผิวหยาบขรุขระ ส้มโอแบบนี้ มี ขนาดเท่ากำปั้น พวกคนจีนจะเอามาขายในฤดูไหว้พระจันทร์ไงครับ เอามานึ่ง แล้วผึ่งเสียพอให้หมาด จากนั้นผสมพิมเสน กานพลู และน้ำมันหอมแล้วจึงบรรจุ ในถ้ำยาดม ถ้ำยาดมนี้เดิมเป็นตะกั่วทำเป็นกล่องรูปกลมยาว ใช้ตะกั่วชนิดพิเศษ เก็บกลิ่นได้ดี เดิมต้องสั่งมาจากเมืองจีนนะครับ แต่เจ้าจอมม.ร.ว.สดับท่านมาทดลองทำดูแล้วมีคนสนใจอยากได้จึงเริ่มทำขาย

 

เข้าใจว่า เครื่องหมายประจำตัวท่านที่จะติดอยู่บนฝาถ้ำยาดมแบบนี้ ของเดิมน่าจะ เป็นรูปซอสามสายกับชฎานะครับ แต่เดี๋ยวนี้ผมเห็น “ส้มโอมือ” ยี่ห้อหนึ่ง วาง ขายอยู่ตามห้างใหญ่ๆ ถ้ำยาดมทำอย่างของเก่าที่กล่าวมาแล้วนะครับ แต่รูปบน ฝาถ้ำกลายเป็นรูปกระจับปี่ (พิณสี่สาย) กับชฎา บนฝาถ้ำตรงส่วนที่เป็นฉัตรหรือ ขอบฝาเขาก็ดุนไว้ว่า “สูตรเจ้าจอมม.ร.ว.ส. ใน รัชกาล ที่ 5” ไม่ทราบเหมือนกัน ว่าจะเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง ท่านใดพอจะทราบ กรุณาเขียนมาบอกด้วยนะครับ จะได้เป็นวิทยาทานต่อไป ที่จัดว่าดีอยู่อย่างก็คือ “ส้มโอมือ” ยี่ห้อนี้หนุ่มสาวรุ่นใหม่เขาก็รู้จักซื้อใช้กัน ดมแล้วกลิ่นหอมชื่นใจ รูปลักษณ์ก็สวยแปลกตากว่าของฝรั่งดูดีกว่ามาก


ภาพจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_70641

ส่วนเรื่องการขับร้องเพลงไทยของท่าน คุณหมอพูนพิศท่านก็เคยเขียนไว้นานแล้ว ล่ะครับ คงจะไม่ขอฉายซ้ำอีก แต่ขอแย้มๆ ไว้นิดหนึ่งว่า ถึงแม้ท่านจะไม่ได้อัด บันทึกเสียงของท่านไว้เลย ในขณะที่ท่านยังรุ่นสาว แต่ในช่วงปลายปัจฉิมวัยของ ท่านก็ได้กรุณาบันทึกไว้ 2 เพลง จากเรื่อง “เงาะป่า” นั่นเองครับ เพลงเหล่านี้เราคงหาฟังยาก แต่ความไพเราะนั้นคงจะพอประมาณได้ อย่างน้อยก็จากบทร้อยกรองนิพนธ์เรื่องเงาะป่าตอนหนึ่ง ที่แม้ว่าจะมิได้ทรงแต่งเพื่อท่านแต่ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้คนรู้จักท่าน บทละครร้อยกรองนั้นมีความว่า

 

แม่เสียงเพราะเอย น้ำเสียงเจ้าเสนาะ เหมือนดังใจพี่จะขาด

เจ้าร้องลำนำ  ยิ่งซ้ำพิสวาส พี่ไม่วายหมายมาด  รักเจ้าเสียงเพราะเอย

Total Pageviews