Tuesday, November 14, 2023

เจ้าจอมสดับ

บันทึกบทความเก่าของอ.กิตติ วัฒนะมหาตม์

คอลัมน์หลากหลายลีลา “ผู้หญิงในประวัติศาสตร์” หนังสือพิมพ์สยามรัฐ หน้าสตรี-เด็ก 3 พฤษภาคม พ.ศ.2534 (4/4)

 

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ (ภาพจากหนังสือ “ราชพัสตราภรณ์” จัดพิมพ์โดย สำนักนายกรัฐมนตรี ๒๕๔๗) Cr, https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Chao_Chom_Mom_Rajawongse_Sadap.jpg


ก่อนจะเล่าถึงประวัติของเจ้าจอมท่านนี้ ผมคงจะต้องเรียนให้ทราบทั่วกันก่อน ว่า ผมมีเหตุผลส่วนตัวอยู่ 2 ประการ ประการแรกก็คือผมได้ยินชื่อของท่านมาตั้งแต่เริ่มหัดดนตรีใหม่ๆ ถึงแม้ว่า ครูมโหรีของผม จะไม่ได้สืบ “ทาง” มาจากในวัง ทั้งมาจากต่างจังหวัดไกลออกไปด้วยซ้ำ แต่นั่นหมายถึงว่า ชื่อเสียง เกียรติคุณของ ท่านได้ขจรขจายไปไกลและเป็นที่รู้จักกันอยู่มากทีเดียวครับ

 

ประการที่สองก็คือ ก่อนหน้านี้ไม่นานผมได้อ่านหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของท่านที่พิมพ์โดย ม.ล.พูนแสง สูตะบุตร ก็เล่มที่ผมใช้เป็นหลักในการเขียนคราวนี้แหละ อ่านแล้วเกิดความรู้สึกสองอย่าง อย่างแรกคือ ชื่นชมใน อัตชีวประวัติที่ประกอบด้วยเกียรติคุณอย่างยิ่งของท่าน อย่างที่สองคือ ไม่พอใจที่ หนังสือดีพิมพ์มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 แต่ทั้งเล่มยังใหม่มากยังกับไม่ค่อยมีใครไปอ่าน ผมก็คิดเอาเองว่าถ้ามีโอกาส ผมก็อยากจะแนะนำให้เราๆ ท่านๆ ได้รู้จัก สุภาพสตรีท่านนี้เป็นพิเศษ

 

อย่างน้อย ก็ให้เห็นละครับ ว่าสตรีที่งามด้วยรูปสมบัติและคุณสมบัตินั้น เขา “งาม” กันอย่างไร ขอชี้แจงเท่านี้แล้วกันนะครับ ชี้แจงพอให้คนเขียนโล่งใจด้วยไม่ใช่อะไรหรอก

 

เจ้าจอมม.ร.ว.สดับ มีชื่อเดิมว่า “สั้น” ครับ ท่านถือกำเนิดในราชสกุลที่สืบมาจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นธิดาของหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี และหม่อมช้อย ซึ่งมาจากสกุลนครานนท์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2433 ที่วังกรมหมื่นภูมินทรภักดี (อยู่ที่ตำบลปากคลองตลาด ที่รู้จักกันว่า “วังท่าเตียน” นั่นละครับ) ท่านเป็นธิดาคนเดียวของหม่อมมารดา แต่ยังมีพี่น้องร่วมบิดาอีก 13 คนครับ

 

ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 
https://www.facebook.com/NationalArchivesofThailand/photos/a.2623419837919916/2752375825024316/?type=3

ตามประวัติว่าพอท่านอายุได้ 11 ขวบ หม่อมเจ้าเพิ่มได้ทรงลาออกจากราชการ และยังทรงดำริจะย้ายครอบครัวไปประทับที่ราชบุรีด้วย เจ้าจอมมารดาจีนในกรมหมื่นภูมินทรภักดี ท่านก็ไม่อยากให้หม่อมเจ้าเพิ่ม พา “หลานสั้น”  ไปอยู่หัวเมือง จึงได้ทูลพระวิมาดาเธอฯ ขณะนั้น ดำรงพระยศเป็นพระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฎ ให้รับเข้ามาอยู่ในวังเสีย พระวิมาดาเธอฯ ก็ส่งขอต่อหม่อมเจ้าเพิ่ม และม.ร.ว.สั้นก็ได้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังตั้งแต่นั้น

 

หลังจากนั้นไม่นาน สมเด็จหญิงพระองค์ใหญ่ (เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎร์จันทร์) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ก็ได้ประทานนามใหม่ให้ท่านว่า “สดับ” ครับ ม.ร.ว.สดับได้รับพระอุปถัมภ์อยู่ในตำหนักของพระวิมาดาเธอฯ เยี่ยง พระญาติ กาลเวลาผ่านไปท่านเจริญวัยขึ้นเรื่อยๆ เป็นกุลสตรีที่เพียบพร้อมไปด้วย รูปสมบัติ และคุณสมบัติต่างๆ คือ ความรู้ทางวิชาการ และการคหกรรมที่สุภาพ สตรีในวังสมัยนั้นต้องศึกษาเล่าเรียน ท่านก็มีความชำนาญไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานฝีมือต่างๆ หรือการประกอบอาหาร

 

อีกอย่างหนึ่งที่น่าชื่นชมก็คือ น้ำเสียงของท่านแหละครับ ตามประวัติว่าท่านมีน้ำเสียงไพเราะมาก ไพเราะแค่ไหนผมไม่เคยได้ฟัง แต่มีหลักฐานยืนยันอย่างน้อย ก็คราวหนึ่งที่พระพุทธเจ้าหลวงท่านทรงมีพระราชดำริจะให้พระวิมาดาเธอฯ ทรงจัดมโหรีขึ้นในวัง คราวนั้นปรากฏว่า ครูมโหรีทั้งหลายที่นักดนตรีไทยเรายกย่อง กันมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ครูพระประดิษฐ์ไพเราะ(ตาด), หลวงเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) และครูที่สอนขับร้องที่ปรากฏชื่อเสียงในปัจจุบันนี้เหมือนกัน เช่น หม่อมสุด, คุณเฒ่าแก่จีบ และหม่อมส้มจีน เป็นต้น ครูทั้งหลายทุกคนนี้เห็น ตรงกันว่าควรจะให้ม.ร.ว.สดับ เป็นนักร้องต้นเสียงในวงมโหรีคราวนั้น

 

แต่มูลเหตุที่ท่านจะได้ไปเป็นเจ้าจอม ไม่ได้มาจากที่ว่าท่านเป็นนักร้องเสียง เพราะในวงมโหรีเพียงอย่างเดียวหรอกครับ ท่านเคยเล่าให้คุณหมอพูนพิศ อมาตยกุลฟังว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงรู้จักคุ้นเคยและเรียกใช้ท่านมาก่อนเป็นเวลานานนักหนาแล้ว หลังจากนั้นท่านจึงได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระองค์ท่านเมื่อพ.ศ. 2448 โดยมี คุณท้าวจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาดในรัชกาล ที่ 4) เป็นผู้นำถวาย หลังจากนั้น จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาท ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2449 ท่านได้แสดงความจงรักภักดีจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาก

 

ปรากฏว่า ในวาระหนึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานขึ้นที่พระที่นั่งอัมพรสถาน และโปรดเกล้าฯ ให้มีละครเรื่อง “เงาะป่า” เก็บเงินคนดู เพื่อพระราชทานเป็นทุนให้ คะนัง เด็กเงาะที่อยู่ในพระอุปถัมภ์เวลานั้น ปรากฏว่างานนั้นเจ้าจอมม.ร.ว.สดับ ต้องลงคุมงานเองเป็นแม่งานแทบทุกอย่าง เพราะพระวิมาดาเธอทรงประชวร ท่าน บันทึกเล่าถึงเรื่องนี้ว่า เหนื่อยมาก เพราะต้องวิ่งเต้นเองทุกอย่าง พอถึงเวลาร้องท่านก็ต้องขึ้นไปร้องประจำโรง ร้องเสร็จก็ไปประจำที่ล้นเกล้าฯ ซึ่งประทับอยู่ใน โรงละครนั้น ละครเลิกก็ตามเสด็จไปเฝ้าฯ คอยรับใช้บนพระที่นั่งต่อไป ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับพระราชทานกำไลทองรูปตาปู มีจารึกบทพระราชนิพนธ์อันไพเราะ เป็นเยี่ยมบทหนึ่งหรือสองบทผมไม่แน่ใจนะครับ แต่ท่านใส่กำไลนี้ติดตัวอยู่เสมอ เป็นสิ่งเดียวที่ได้รับพระราชทานมาแล้ว ท่านไม่ถวายคืนดังจะเล่าต่อไปในตอนหลังครับ

 

เจ้าจอมม.ร.ว.สดับเกือบจะได้ตามเสด็จไปประพาสยุโรปใน ร.ศ.126 หรือ พ.ศ. 2450 แล้วเหมือนกันครับ ได้มีการเตรียมการไว้อย่างดีแต่ก็มีเหตุขัดข้องที่ทำให้ไม่เป็นไปตามพระราชดำริ หลังจากนั้นเมื่อเจ้าจอมม.ร.ว.สดับท่านเจริญวัยได้ 21  ปี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงท่านก็เสด็จสู่นฤพานสวรรคตจากไป เป็นวาระที่ท่าน จะต้องประสบกับความทุกข์อย่างใหญ่หลวงที่สุดในชีวิต นอกจากนี้ก็ยังมีคนพูดกันว่าเจ้าจอมม.ร.ว.สดับท่านยังรุ่นสาว มีรูปโฉมงดงาม ทรัพย์สมบัติคือเพชรนิล จินดาต่างๆ ที่ได้รับพระราชทานมาก็ติดตัวอยู่มาก เกรงว่าจะไม่สามารถครองตัว รักษาพระเกียรติยศไว้ได้ตลอดไปครับ พระบรมวงศานุวงค์ชั้นสูงหลายพระองค์ก็ทรงวิตกในเรื่องนี้

 

พระวิมาดาเธอฯ จึงทรงแนะนำให้เจ้าจอมม.ร.ว.สดับ ถวายเครื่องเพชรพระราชทานคืนก่อน เพราะจะเป็นชนวนทำให้เสีย เจ้าจอมม.ร.ว.สดับท่านก็ถวายคืนไปหมดด้วยความเต็มใจครับ เหลือติดตัวไว้เพียงสิ่งเดียวคือกำไลทองรูปตาปูนั้นซึ่งท่านไม่เคยถอดออกจากข้อมือเลยตลอดชีวิต

 

หลังจากถวายทรัพย์สินคืนไปหมด ท่านก็เลยไปอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระวิมาดา เธอฯ ต่อไปครับ ท่านได้หันเข้าศึกษาพระธรรมอย่างจริงจัง จนกระทั่ง พ.ศ.2475 หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านก็ย้ายออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปอยู่ บ้าน “ทับสุข” ที่บริเวณวัดเขาบางทราย ชลบุรี ไปรักษาตัวเจริญศีลภาวนาอยู่ที่ นั่น ด้วยวิธีนี้ท่านจึงรอดพ้นจาก “ชนวนที่จะทำให้เสีย” ต่างๆ และรักษาพระ เกียรติยศไว้ได้ตลอดชีวิตของท่านครับ ท่านศึกษาพระธรรมอย่างจริงจัง ได้ บันทึกข้อธรรมต่างๆ ตามความเข้าใจของตนเองมาตลอด ตั้งแต่แรกจนได้หนังสือ ขนาด 8 หน้ายกขึ้นมาเล่มหนึ่ง เรียกว่า “สุตาภาษิต” (สุ ตา ครับ มิใช่ สุดา) จนกระทั่งท่านมีอายุได้ 60 ปี จึงได้กลับเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังอีกครั้ง

 

ในช่วงปลายของชีวิตท่าน นอกจากจะได้ศึกษาธรรมต่อไปแล้ว ท่านก็ได้เข้าร่วม กิจกรรมลูกเสือชาวบ้าน แต่ท่านไม่ใช่ลูกเสือชาวบ้านที่ร้องเพลงและรับประทาน อาหาร 3 มื้อหรอกนะครับ เพราะท่านยังรักษาอุโบสถศีลอยู่ ผมลืมบอกไปว่า ก่อน ท่านจะกลับเข้ามาในวังท่านก็บวชชีมาตลอดล่ะครับ จนต้องเข้าวังจึงสึกออกมา รักษาอุโบสถศีลแทน จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2526 หลังจากที่ท่านได้ปวารณาตัวเข้าร่วมในกิจกรรมที่จะทำให้เกิดความดีงามต่างๆ แก่ปวงชนเท่าที่จะกระทำได้ และครองตัวรักษาพระเกียรติยศแห่งพระพุทธเจ้าหลวงไว้ด้วยความไม่ประมาทตลอดชีวิต เจ้าจอมม.ร.ว.สดับท่านจึงได้กราบถวายบังคมลาถึงอนิจ กรรมที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยโรคชรา สิริรวมอายุได้ 93 ปีครับ

 

ภาพจาก https://www.sanook.com/movie/57761/gallery/336753/

ผลงานของเจ้าจอมม.ร.ว.สดับที่ยังมีอยู่ทุกวันนี้ นอกจาก “สุตาภาษิต” แล้ว ยังมี อีกมากครับ ได้แก่ บทความ 3 บท เรื่องบ่อเกิดพระราชนิพนธ์เงาะป่า, เกร็ด โบราณคดีที่ได้รับจากการบันทึก และตำรากับข้าวไทย ครับ นอกจากนี้ ยังปรากฏ เกียรติคุณของท่านในหนังสือต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในฐานะที่ท่านเป็นช่างทำน้ำอบน้ำปรุง และ “ส้มโอมือ”

 

“ส้มโอมือ” ก็คือยาดมชนิดหนึ่ง ทำจากส้มโอที่มีผิวหยาบขรุขระ ส้มโอแบบนี้ มี ขนาดเท่ากำปั้น พวกคนจีนจะเอามาขายในฤดูไหว้พระจันทร์ไงครับ เอามานึ่ง แล้วผึ่งเสียพอให้หมาด จากนั้นผสมพิมเสน กานพลู และน้ำมันหอมแล้วจึงบรรจุ ในถ้ำยาดม ถ้ำยาดมนี้เดิมเป็นตะกั่วทำเป็นกล่องรูปกลมยาว ใช้ตะกั่วชนิดพิเศษ เก็บกลิ่นได้ดี เดิมต้องสั่งมาจากเมืองจีนนะครับ แต่เจ้าจอมม.ร.ว.สดับท่านมาทดลองทำดูแล้วมีคนสนใจอยากได้จึงเริ่มทำขาย

 

เข้าใจว่า เครื่องหมายประจำตัวท่านที่จะติดอยู่บนฝาถ้ำยาดมแบบนี้ ของเดิมน่าจะ เป็นรูปซอสามสายกับชฎานะครับ แต่เดี๋ยวนี้ผมเห็น “ส้มโอมือ” ยี่ห้อหนึ่ง วาง ขายอยู่ตามห้างใหญ่ๆ ถ้ำยาดมทำอย่างของเก่าที่กล่าวมาแล้วนะครับ แต่รูปบน ฝาถ้ำกลายเป็นรูปกระจับปี่ (พิณสี่สาย) กับชฎา บนฝาถ้ำตรงส่วนที่เป็นฉัตรหรือ ขอบฝาเขาก็ดุนไว้ว่า “สูตรเจ้าจอมม.ร.ว.ส. ใน รัชกาล ที่ 5” ไม่ทราบเหมือนกัน ว่าจะเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง ท่านใดพอจะทราบ กรุณาเขียนมาบอกด้วยนะครับ จะได้เป็นวิทยาทานต่อไป ที่จัดว่าดีอยู่อย่างก็คือ “ส้มโอมือ” ยี่ห้อนี้หนุ่มสาวรุ่นใหม่เขาก็รู้จักซื้อใช้กัน ดมแล้วกลิ่นหอมชื่นใจ รูปลักษณ์ก็สวยแปลกตากว่าของฝรั่งดูดีกว่ามาก


ภาพจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_70641

ส่วนเรื่องการขับร้องเพลงไทยของท่าน คุณหมอพูนพิศท่านก็เคยเขียนไว้นานแล้ว ล่ะครับ คงจะไม่ขอฉายซ้ำอีก แต่ขอแย้มๆ ไว้นิดหนึ่งว่า ถึงแม้ท่านจะไม่ได้อัด บันทึกเสียงของท่านไว้เลย ในขณะที่ท่านยังรุ่นสาว แต่ในช่วงปลายปัจฉิมวัยของ ท่านก็ได้กรุณาบันทึกไว้ 2 เพลง จากเรื่อง “เงาะป่า” นั่นเองครับ เพลงเหล่านี้เราคงหาฟังยาก แต่ความไพเราะนั้นคงจะพอประมาณได้ อย่างน้อยก็จากบทร้อยกรองนิพนธ์เรื่องเงาะป่าตอนหนึ่ง ที่แม้ว่าจะมิได้ทรงแต่งเพื่อท่านแต่ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้คนรู้จักท่าน บทละครร้อยกรองนั้นมีความว่า

 

แม่เสียงเพราะเอย น้ำเสียงเจ้าเสนาะ เหมือนดังใจพี่จะขาด

เจ้าร้องลำนำ  ยิ่งซ้ำพิสวาส พี่ไม่วายหมายมาด  รักเจ้าเสียงเพราะเอย

Thursday, October 26, 2023

แคทเธอรีนมหาราชินี(ค.ศ.1762-1796)

บันทึกบทความเก่าของอ.กิตติ วัฒนะมหาตม์ จาก

คอลัมน์หลากหลายลีลา “ผู้หญิงในประวัติศาสตร์” หนังสือพิมพ์สยามรัฐ หน้าสตรี-เด็ก 24 เมษายน พ.ศ.2534 (3/4)

 

Catherine the Great, c. 1780s from https://en.wikipedia.org/wiki/Catherine_the_Great

สมัยหนึ่งในรุสเซียก่อนการสิ้นอำนาจของราวงศ์โรมานอฟและระบบกษัตริย์รุสเซียเป็นเวลานาน เป็นยุคสมัยแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่สุดของจักรวรรดิรุสเซีย มีการแผ่อำนาจไปถึงตุรกีและโปแลนด์ และเป็นฐานแห่งการพัฒนาสู่ความเป็นมหาอำนาจในโลกปัจจุบัน ยุคสมัยดังกล่าวนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำประเทศที่เป็นสตรีคนหนึ่ง คือพระนางแคทเธอรีนที่ 2 อันมีสมญาว่า CATHERINE THE GREAT หรือแปลเป็นไทยคือ “แคทเธอรีนมหาราชินี” ครับ

 

เป็นที่น่าแปลกใจว่า แม้ในปัจจุบันรุสเซียจะมิได้ปกครองโดยระบบกษัตริย์อีกต่อไปแล้ว แต่ประชาชาติรุสเซียต่างก็ยังคงพากันยกย่องมหาราชินีองค์นี้ แม้ว่าพระราชประวัติและพระจริยาวัตรของพระนางที่ได้รับการบันทึกไว้จะขัดกับสามัญสำนึกของคนบางคนอยู่มาก และแม้ว่าพระนางจะมิใช่ชาวรุสเซียโดยกำเนิด แต่เป็นเจ้าหญิงเยอรมัน

 

ครับ แคทเธอรีนมหาราชินีทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 1729 ที่เมืองซเตทติน (STETTIN) ในแคว้นพอเมราเนีย (POMERANIA) อยู่แถวๆ ฝั่งทะเลบอลติกทางตอนเหนือของเยอรมนีโน่น แต่ขณะนั้นเมืองนี้ยังเป็นรัฐในความคุ้มครองของปรัสเซียสมัยพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเลี่ยมที่ 1 ครับ พระบิดาของแคทเธอรีนก็คือเจ้าชายริสเตียเอากุสต์ แห่งแคว้นอันฮาลท์-แซร์บส์ ซึ่งพระเจ้าเฟรเดอริคส่งไปครองเมืองชเตทตินนั่นเอง ส่วนพระมารดามีชื่อว่า เจ้าหญิงโยฮันน่า เอลิซาเบธ เจ้าหญิงแคทเธอรีนมิได้มีชื่อว่าแคทเธอรีนมาแต่แรกนะครับ พระนามเดิมภาษาเยอรมันของพระนางคือ โซฟี เอากุสต์ ฟรีเดริเก้ (SOPHIE AUGUSTE FRIDERIKE) เพราะเหตุใดจึงทรงเปลี่ยนพระนามในตอนหลัง ประเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังต่อไปครับ ตอนนี้ขอเรียกว่าเจ้าหญิงโซฟีไปก่อนละกัน

 

เจ้าหญิงโซฟีได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีสมฐานะครับ และจัดว่าทรงมีพระเชาวน์ดีมากด้วย ได้ติดตามพระมารดาไปเยือนราชสำนักต่างๆ ตั้งแต่มีพระชนม์ได้ 3 ชันษา ซึ่งทำให้พระนางได้พบปะกับบุคคลสำคัญต่างๆ เป็นจำนวนมากรวมทั้งพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเลียมที่ 1 ด้วยครับผม พอปีค.ศ.1743 ก็มีเรื่องที่จะทำให้เจ้าหญิงโซฟีต้องเสด็จจากเยอรมนีไปตั้งแต่ยังรุ่นสาวเลยทีเดียว

 

ในปีนั้น เอ็มเปรสเอลิซาเบธแห่งรุสเซียซึ่งมิได้อภิเษกสมรส แต่มีรัชทายาทเป็นพระเจ้าหลานเธอคือเจ้าชายปีเตอร์แห่งโฮลซไตน์ ก็อตทอร์ป ต้องการจะหาพระชายาให้กับรัชทายาทองค์นี้ แล้วก็ทรงเลือกเจ้าหญิงโซฟีนั่นเอง โดยมีพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช (ซึ่งขึ้นครองปรัสเซียต่อจากพระเจ้าเฟรเดอริควิลเลียมที่ 1) เป็นตัวตั้งตัวตีอยู่เบื้องหลัง เรียกว่าเป็นเรื่องการเมืองก็แล้วกันนะครับ พอถึงปีต่อมาเจ้าหญิงโซฟีซึ่งมีพระชนมายุเพียง 16 ชันษา ก็เสด็จไปรุสเซียพร้อมกับพระมารดา

 

คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่าการแต่งงานระหว่างเจ้านายชั้นสูงของยุโรปสมัยก่อนนั้น คนที่จะต้องแต่งงานจะไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจอะไรเองทั้งสิ้น ทำได้ก็เพียงก้มหน้ารับการตัดสินใจของผู้หลักผู้ใหญ่เท่านั้นเองครับ เจ้าหญิงโซฟีต้องไปเข้ารีตเป็นออร์โธด็อกซ์อันเป็นศาสนาที่นับถือกันในรุสเซียสมัยนั้นก่อน หลังจากนั้นก็ทรงเรียนภาษารุสเซีย จนคล่องแล้ววันที่ 21 สิงหาคม 1745 ก็เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายปีเตอร์ พระนามแคทเธอรีนก็ได้มาในวาระนี้เองแหละครับ

 

Oil on canvas portrait of Empress Catherine the Great by Russian painter Fyodor Rokotov from http://www.saint-petersburg.com/royal-family/catherine-the-great/

สาเหตุที่จะได้พระนามใหม่คือ ตามธรรมเนียมออร์โธด็อกซ์เขาให้ใช้ชื่อเพียงชื่อเดียว ซึ่งเจ้าหญิงโซฟีก็คงจะใช้พระนามโซฟีอยู่นั่นเอง แต่บังเอิญซะไม่มีละที่พระนามนี้ไปตรงกับพระนามของแกรนด์ดัชเชสโซฟี แกรนด์ดัชเชสผู้นี้ประวัติน่ารักดีเหมือนกันครับ คือเพิ่งจะพยายามก่อกบฏและถูกสั่งบวชชีไปตลอดชีวิต เอ็มเปรสเลยไม่ทรงยินดีให้เจ้าหญิงโซฟีใช้ชื่อนี้จึงยกพระนามของพระมารดาของตนให้ คือพระนาม “แคทเธอรีน” ดังนั้นต่อไปนี้ผมก็จะขอเรียกพระนามแคทเธอรีนนี้โดยตลอดนะครับ

 

หลังจากนี้พระมารดาถูกสั่งกลับเยอรมนี แกรนด์ดัชเชสแคทเธอรีน (พระยศได้ภายหลังการอภิเษกสมรส) ถูกตัดขาดจากการติดต่อกับพระมารดาและประเทศอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพระนางก็เหตุผลทางการเมืองแหละครับ แถมตั้งแต่ปี 1745-1762 ที่ทรงเป็นพระชายาของรัชทายาทรุสเซียอยู่ก็ขมขื่นยังกับอะไรดี ได้ทรงบันทึกไว้โดยตลอดว่าแกรนด์ดยุคปีเตอร์นั้นมิได้เอาใจใส่พระนางฉันสามีภรรยาที่ดีเลยแม้แต่นิดเดียว ตัวอย่างเช่น

 

-ก่อนเข้านอนแต่ละวัน ปีเตอร์จะเสวยของว่าง เสร็จแล้วเข้าห้องบรรทม คุยแต่เรื่องไร้สาระสักครู่ก็บรรทมหลับ

 

-ปีเตอร์ไปติดพันสตรีอื่น แถมเอามาเปรียบเทียบกับพระนางอยู่บ่อยๆ บางครั้งถึงกับพูดเปรียบเทียบกันต่อหน้าพวกมหาดเล็กว่าสตรีคนนั้นคนนี้สวยกว่าแคทเธอรีน

 

-บางครั้งขณะบรรทมอยู่นพระที่เดียวกัน ปีเตอร์ก็พรรณนาถึงความงามของสตรีในราชสำนักที่พระองค์โปรดปรานให้พระนางฟัง

 

ก็น่าเห็นใจอยู่หรอกครับที่แกรนด์ดัชเชสแคทเธอรีนจะต้องทรงเบื่อหน่ายเหลือกำลัง ก็เป็นอย่างนี้มาตลอด 9 ปี พระนางจึงใช้เวลาว่างทั้งหมดในการอ่านหนังสือ นอกจากนี้ก็ทรงหาข้าราชการที่โปรดปรานเป็นพิเศษมาเป็นคู่รัก พระโอรสองค์แรกของพระนางก็เป็นเชื้อสายของคู่รักคนหนึ่งละครับ เรื่องนี้พระนางยอมรับเอง

 

Coronation of Catherine II  by Stefano Torelli from http://www.saint-petersburg.com/royal-family/catherine-the-great/


มีผู้บันทึกไว้ว่าพระนางมีพระชนมายุมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีคู่รักเป็นเด็กมากขึ้นเท่านั้น คู่รักคนสุดท้ายอายุ 22 ปี ในขณะที่พระนางทรงมีพระชนม์ถึง 60 ชันษาแล้ว มีผู้จดบันทึกไว้อีกว่าพระนางทรงมีคู่รักถึง 55 คน ตลอดพระชนม์ชีพ คู่รักเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อพระนางครับ ดังเช่นคนหนึ่งคือ เกรเกอรี่ ออร์ลอฟ ก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการอัญเชิญพระนางขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนปีเตอร์ เรื่องบันเทิงเกี่ยวกับคู่รักมากถึง 55 คนนี้ขอได้พิจารณาด้วยนะครับ เพราะแม้ว่าจะเป็นบันทึกร่วมสมัยที่ใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ก็จริง แต่เราก็ไม่มีทางทราบเลยว่าผู้บันทึกได้ทำไว้โดยความรู้สึกที่เป็นอคติมากน้อยเพียงใด

 

ผมมองว่า ใครจะมีเรื่องส่วนตัวเป็นอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของเขาละครับ ไม่ว่าชายหรือหญิงก็มีสิทธิ์นี้โดยเท่าเทียมกัน คือ สิทธิ์ที่จะตัดสินใจกับเรื่องของตนเอง ผลงานของเขาต่างหากที่ควรนำมาสรรเสริญหรือตำหนิกัน ซึ่งจะได้เห็นกันละครับว่าเรื่องอื้อฉาวของคู่รักต่างๆ นั้นเทียบไม่ได้เลยกับผลงานที่พระนางสร้างไว้ให้กับประเทศชาติ มหาราชินีองค์นี้ทรงใช้เวลาถึง 12-15 ชั่วโมงต่อวันในการทำงาน ส่วนหนึ่งก็คงมาจากกรณีที่ว่าทรงขึ้นครองราชย์โดยมิได้มีเชื้อสายรุสเซีย ก็เลยทรงต้องการการยอมรับจากประชาชนชาวรุสเซียด้วยน่ะครับ

 

งานใหญ่อันดับแรกของพระนางคือ การประมวลกฎหมายเดิมๆ ที่สุดแสนจะเลอะเทอะอะไรขนาดนั้นของรุสเซียขึ้นใหม่เรียกว่า นาคาซ (NAKAZ) ครับ ทรงประมวลด้วยพระองค์เองแม้จะไม่ทรงมีความรู้ทางกฎหมายมาก่อนก็ยังบากบั่นไปหาหนังสือวิชากฎหมายดีๆ มาอ่านจนรวบรวมและปริวรรตขึ้นสำเร็จครับ เป็นกฎหมายที่ทันสมัยทีเดียว แต่คนรุสเซียไม่พอใจพระนางอยู่แล้ว ทำอย่างไรก็ไม่เห็นความดีหรอกครับ ยิ่งในปี 1764 ทรงออก พรบ.ริบที่ดินของวัด เพราะทรงเห็นว่าพวกบาทหลวงเอาเงินที่ได้จากที่ดินไปใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยดีชะมัดเลย พวกบาทหลวงก็เลยไปยุประชาชนให้เกิดความไม่พอใจต่อพระนางมากขึ้น

 

ความไม่พอใจยิ่งหนักเมื่อพระนางทรงปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นและให้อำนาจกับพวกขุนนางมากจนเป็นที่ขนานนามกันว่า “ยุคทองของพวกขุนนาง” ในที่สุดก็เกิดกบฏขึ้นหลายครั้งครับ ครั้งใหญ่ที่สุดคือ กบฏปูกาเซฟ (PUGACHEV) ในปี 1773 ที่เมืองคอสแซค พระนางปราบได้ด้วยกำลังทหารครับ แต่ประชาชนก็คงไม่ยินดีด้วยแน่ๆ

 

แต่ถึงจะทรงไม่ประสบกับความราบรื่นกับการบริหารภายในประเทศเช่นนี้ เราก็ต้องยกย่องพระนางในด้านการต่างประเทศละครับ พระนางได้ทรงดำเนินนโยบายต่างประเทศจนทำให้ได้ดินแดนจากโปแลนด์ในปี 1793 คือ ได้แคว้นลิธัวเนียเกือบทั้งหมด แคว้นยูเครนทางตะวันตกเกือบทั้งหมด ได้ประชาชนชาวโปลมากกว่า 3 แสนคนครับ หลังจากนั้นทำสงครามกับตุรกีและชนะจนหาทางออกทางทะเลได้ คือ ทะเลดำ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจที่มั่นคงตามมารวมทั้งฐานะทางการเมืองด้วย

 

พระราชกรณียกิจเหล่านี้ละครับที่ทำให้รุสเซียกลายเป็นมหาอำนาจที่ล้นเหลือในเวลาต่อมา ผมจึงได้พยายามชี้ให้เห็นว่าภารกิจเหล่านี้เป็นของพระนาง เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่ามากกว่าการตัดสินพระจริยาวัตรส่วนพระองค์ ซึ่งพูดกันมาก และมีหนังสือหลายเล่มที่กล่าวถึงพระนางแคทเธอรีนที่จะต้องกล่าวแต่เรื่องคู่รักของพระนางเพียงอย่างเดียว โดยไม่อ้างเลยสักนิดว่าทรงทำอะไรให้ชาติบ้านเมืองที่พระนางเองก็ไม่ได้เกิดมาในผืนแผ่นดินนั้นด้วยซ้ำไป

 

เมื่อก่อน พวกเราชอบเอาวัฒนธรรมทางความคิดที่ล้าหลังของเราเองไปเที่ยวตัดสินคนในวัฒนธรรมอื่นเขาเสมอ ยิ่งโดยเฉพาะกับผู้หญิงที่มีเรื่องอื้อฉาวขึ้นมาแล้วยิ่งใส่กันสนุกไปเลยละครับ เรื่องแบบนี้ผมว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผล คือ เราไปตามเล่นงานคนที่ตายไปแล้วไม่มีสิทธิ์จะแก้ตัวได้และโดยเฉพาะคนคนนั้นเป็นผู้หญิง

 

Marble statue of Catherine II in the guise of Minerva (1789–1790), by Fedot Shubin from https://en.wikipedia.org/wiki/Catherine_the_Great


พระนางแคทเธอรีนสวรรคตเมื่อ 7 พฤศจิกายน 1796 เมื่อพระชนมายุได้ 67 ชันษา นักประวัติศาสตร์ได้ยอมรับกันว่าในรัชสมัยของพระนางเป็นสมัยที่รุสเซียเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดยิ่งกว่าสมัยใดๆ และสมควรเป็นที่มาของสมญา “มหาราชินี” ที่ต่างพากันถวายให้พระนางอย่างเต็มใจ จนถึงปัจจุบันนี้ชาวรุสเซียก็ยังมีความชื่นชมในพระนางแคทเธอรีนเป็นอย่างยิ่ง สิ่งนี้น่าจะเป็นข้อเตือนใจของเราได้ว่า ในโลกที่เจริญทางภูมิปัญญาแล้วเขาจะยกย่องผลงานของบุคคลสำคัญโดยไม่สนใจกับเรื่องส่วนตัวของคนคนนั้น

 

ยกเว้นแต่ว่าถ้าทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวไม่เอาไหนพอๆ กันก็น่าประณาม ไม่ว่าจะในวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมไทย

 

Saturday, October 21, 2023

คลาร่า ชูมานน์ : ผู้หญิงที่ยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อความรัก

บันทึกบทความเก่าของอ.กิตติ วัฒนะมหาตม์ จากคอลัมน์หลากหลายลีลา “ผู้หญิงในประวัติศาสตร์” หนังสือพิมพ์สยามรัฐ หน้าสตรี-เด็ก

18 เมษายน พ.ศ.2534 (2/4)

 

ในประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษย์เรานั้น จัดได้ว่าดนตรีเป็นสิ่งที่คงอยู่คู่กับ มนุษย์มาโดยตลอด เพิ่งจะมาถูกเปลี่ยนเป็นอะไรต่อมิอะไรจนไม่เหลือเค้าของการดนตรีแล้วก็ในประเทศไทยเรานี่แหละ ส่วนทางดนตรีสากลเขานั้นมีประวัติที่ยาวนาน มีศิลปินหรือคีตกวีที่ได้รับการยกย่องในประวัติศาสตร์โลกอยู่หลายคน

 

แต่ในจำนวนรายชื่อของคีตกวีและนักดนตรีที่ได้รับยกย่องติดทำเนียบคนเด่นใน ประวัติศาสตร์นั้น ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่เป็นผู้หญิงครับ

 


มีผู้หญิงที่เป็นนักดนตรีและได้รับการยกย่องอยู่มากเพียงคนเดียว คือคลาร่า ชูมานน์ (CLARA SCHUMANN)  คนที่เรากำลังจะพูดถึงกันอยู่นี่แหละ แต่ไม่ได้รับ การยกย่องทางดนตรี สิ่งที่คนทั้งโลกยกย่องเธอก็คือ ความรักและความเสียสละ อันยิ่งใหญ่ที่เธอให้แก่ผู้เป็นสามี ซึ่งเป็นคีตกวีเอกคนหนึ่งของโลก เขาคือ โรเบิร์ต ชูมานน์ (ROBERT SCHUMANN) ครับผม

 

จะขออธิบายให้ฟังย่อๆ ว่า โรเบิร์ต ชูมานน์ นี่เป็นใคร เผื่อท่านผู้อ่านที่ไม่มีโอกาสที่จะสนใจศึกษาทางดนตรีคลาสสิค จะได้คุ้นหน้าคุ้นตาและคุ้นชื่อกันไว้ล่ะครับ ถ้าหากว่าไปเห็นชื่อที่ไหน

 


โรเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ ชูมานน์ (ROBERT ALEXANDER SCHUMANN) เกิดที่เมืองซวิคเคา แคว้นแซ็กโซนี่ในเยอรมนีครับ บิดาเป็นเจ้าของร้านขายหนังสือ แต่ ก็สนับสนุนให้เขาเรียนดนตรี เพราะเห็นแววอยู่ และในสมัยของชูมานน์นั้น เป็นยุคสมัยของการดนตรีที่เรียกว่ายุคโรแมนติค (ROMANTIC) ดนตรีกำลังรุ่งเรืองแผ่ ไปทั่วทุกระดับชั้น แต่พอเขาอายุ 17 คุณพ่อผู้น่ารักก็จากไปสู่สวรรค์ คุณแม่อยากให้เขาเป็นนักกฎหมายมากกว่า เลยส่งไปเรียนกฎหมายที่ไลป์ซิก ช่วงนี้เองที่โรเบิร์ตได้รู้จักกับคลาร่า วีค (CLARA WIECK) ซึ่งเป็นลูกสาวของครูสอนเปียโนที่มี ชื่อเสียงคนหนึ่ง ขณะนั้นคลาร่ายังเป็นเด็กสาวแรกรุ่น ถ้าเปรียบเป็นดอกไม้ก็ยัง ไม่มีทีท่าว่าจะแย้มกลีบ เพราะอายุแค่ 9 ขวบ


โรเบิร์ตหาโอกาสไปเรียนเปียโนกับพ่อของคราล่าจนได้แหละครับ เป็นเพราะเขาสนใจดนตรีมากก็เลยอยากเรียนอะไรให้สุด สุดไปเลย แต่ไม่มีใครเลยนอกจากคนที่มาศึกษาประวัติของคีตกวีเอกผู้นี้ในภายหลังที่จะรู้ว่า การที่ได้มาเรียนเปียโนนี้ทำให้โรเบิร์ตใกล้ชิดกับคลาล่ามากขึ้นจนกลายเป็นความรักในเวลาต่อมา


เด็กอายุ 17 ขวบ ชอบกับเด็ก อายุ 9 ขวบ ได้ไง น่าสงสัยเหมือนกันนะ

 

แล้วเพื่อให้มือของเขาเล่นเปียโนได้คล่อง โรเบิร์ตก็ประดิษฐ์เครื่องมือช่วยขึ้นมาติดที่มือ ผลที่ได้รับนั้นทารุณมาก เพราะกลายเป็นการทำลายอนาคตนักเปียโนที่เขาใฝ่ฝันไว้ทั้งหมด เครื่องมือนั้นทำให้มือขวาของเขาพิการครับ โรเบิร์ตเสียใจมากและหันมาสนใจในการประพันธ์ดนตรีแทน เขายังได้ร่วมกับพรรคพวกออก นิตยสารเกี่ยวกับดนตรี เพื่อต่อต้านพวกที่ทำลายดนตรีอย่างเห็นแก่ได้ เมืองไทยเราน่าจะมีนิตยสารพวกนี้เยอะๆ นะครับ

 

เวลาผ่านไปอีก 10 กว่าปี คลาร่าก็เติบโตขึ้นเป็นหญิงสาวผู้เพียบพร้อมไปด้วย ความงาม, ความอ่อนหวาน และมีชื่อเสียงในการเล่นเปียโน และในระยะเวลานี้ความรักที่เธอมีต่อโรเบิร์ต และที่โรเบิร์ตมีต่อเธอก็ลึกซึ้งเกินบรรยายเสียแล้วครับ แต่โรเบิร์ตก็ยังไม่กล้าสารภาพรักกับเธอ จนกระทั่งเขารู้สึกว่าเธอแน่นอนแล้วจึงเขียนเพลงขึ้นมาชุดหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า แฟนตาซี่ พีซส์ ทำให้คลาร่าเข้าใจเพราะ ตลอดเวลาที่เขามิได้บอกว่ารักเธอนั้น เธอก็ทรมานใจอยู่มากเหมือนกัน

 


ช่วงนี้โรเบิร์ตได้ประพันธ์เพลงที่งดงามเป็นจำนวนมาก แต่งให้คลาร่าด้วย และที่มีชื่อเสียงในชุด ซีนส์ ออฟ ไชลด์ฮูด (ผมไม่กล้าให้ภาษาอังกฤษหรือเยอรมัน เยอะๆ ครับ กลัวฝีมือตรวจปรู๊ฟนั่นแหละ) ที่มีชื่อเสียงมากคือ “ทรอยเมอไร (TRAUMEREI) แปลว่า ความฝันครับ แต่พ่อของคลาร่าก็พยายามกีดกัน เพราะ อยากให้ลูกสาวมีอนาคตดีกว่าจะมาอยู่กับโรเบิร์ต ถึงกับขอให้ศาลสั่งห้ามการแต่งงานของทั้งสอง แต่ฟรานซ์ ลิสท์ (FRANZ LISZT) คีตกวีเอกของโลกอีก ท่านหนึ่ง ซึ่งมีคนนับถือกันมากก็ขี่ม้าขาวมาช่วยไว้ เขาแย้งว่าโรเบิร์ตได้รับ ปริญญาเอกทางดนตรี (กิตติมศักดิ์) จากมหาวิทยาลัยจีนามาแล้ว คำร้องของพ่อคลาร่าก็เป็นอันตกไปครับ

 

12 กันยายน 1840 ทั้งสองก็แต่งงานกัน หลังจากนั้นฐานะของโรเบิร์ตไม่ดีขึ้นแต่อย่างใด ครอบครัวชูมานน์มีลูกมาก หนี้สินก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ครับ คลาร่าไม่เคยปริปากเลยแม้แต่นิดเดียว เธออยากจะเลิกเล่นเปียโนเพื่อทำหน้าที่แม่บ้านอย่าง เต็มที่ แต่เธอก็เลิกไม่ได้เพราะต้องช่วยสามีหาเงิน เธอจึงออกแสดงเปียโนโดยใช้ ผลงานของสามีนั่นเองหลายครั้ง

 


ปี 1843 โรคประสาทก็เล่นงานโรเบิร์ตอย่างหนัก เขาต้องหยุดแต่งเพลงและ ลาออกจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสารทางดนตรีที่เขากับพรรคพวกช่วยกัน สร้างขึ้นมา คลาร่าก็ต้องลำบากไปด้วยทั้งที่เธอสบายมาตั้งแต่เกิด แต่เธอก็ไม่เคย ปริปากบ่น ไม่คิดแม้แต่จะหนีเอาตัวรอด

 

ปี 1854 โรเบิร์ตคลั่งกระโดดแม่น้ำไรน์ ชาวประมงช่วยชีวิตเขาไว้ได้ และคลาร่า ต้องออกแสดงคอนเสิร์ทเพื่อหาเงินช่วยทั้งครอบครัวและสามีที่อยู่ในโรงพยาบาล โรคจิต

 

ปี 1856 โรเบิร์ต ชูมานน์ก็อำลาจากโลกนี้ไปครับ ภายในอ้อมแขนของคลาร่า ภรรยาที่ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อเขาอย่างที่สุด ขณะนั้นเขามีอายุได้ 46 ปี และเธอมีอายุ 37 ปี คลาร่าไม่แต่งงานใหม่ ทั้งที่สามารถกระทำได้ เธอเป็นผู้หญิงที่ควรแก่การสรรเสริญในเรื่องความรักที่มีตัวตนอยู่จริง ตลอดระยะเวลา 40 ปี ที่เหลือ หลังจากที่โรเบิร์ตจากไป คลาร่าผู้ครองความเป็นหม้ายก็ต้องทำหน้าที่ ดูแลลูกๆ และจัดการกับหนี้สินทั้งหมดต่อไป

 

จากชีวประวัติแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ ทำให้มีการสร้างภาพยนตร์ขึ้นในปี 1947 ชื่อว่า SONG OF LOVE ครับ เป็นภาพยนตร์อัตชีวประวัติของโรเบิร์ตและคลาร่า ชูมานน์ ผู้แสดงเป็นคลาร่าก็คือ แคทเธอรีน แฮพเบิร์น ส่วนโรเบิร์ตแสดงโดย พอล เฮ็นเรด มีนักดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายคนมาทำเพลงประกอบหนังเรื่องนี้

 


และทุกวันนี้คลาร่าก็ได้นอนสงบอยู่เคียงคู่กับสามีอันเป็นที่รักของเธอ อยู่ในสุสาน ที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี ดังรูปที่เห็นอยู่ในภาพประกอบในคอลัมน์นี้ล่ะครับ ถ้าจะมีคนรู้จักโรเบิร์ต ชูมานน์เพราะการดนตรี ก็จะต้องมีการกล่าวถึงคลาร่าในฐานะภรรยาที่ซื่อสัตย์ จงรักภักดี และ เสียสละควบคู่กันไปเสมอ

 

หมายเหตุ เนื้อหาและภาพประกอบของบทความนี้ ส่วนมากได้จาก “คีตกวี ปรัชญาเมธีแห่งภาษาสากล” อ้นเป็นผลงานของคุณไพบูลย์ กิจสวัสดิ์ จึงขอ ได้รับความขอบคุณในโอกาสนี้

 

***หมายเหตุ ภาพที่ใช้ประกอบบทความในโพสต์ครั้งนี้ เป็นภาพที่ได้จากอินเตอร์เน็ต ได้แก่

ภาพถ่ายคลาร่า

https://www.nytimes.com/2019/08/28/arts/music/clara-schumann.html

ภาพคู่

https://www.nytimes.com/2018/11/19/books/review/robert-schumann-judith-chernaik-biography.html

ภาพพอรทเทรดเดี่ยว 2 รูป

http://www.classichistory.net/archives/clara-schumann

หลุมฝังศพ

https://www.findagrave.com/memorial/1146/clara-schumann

Friday, October 20, 2023

พระมหาเทวี : สตรีผู้สูงศักดิ์แห่งราชวงศ์พระร่วง

บันทึกบทความเก่าของอ.กิตติ วัฒนะมหาตม์

คอลัมน์หลากหลายลีลา “ผู้หญิงในประวัติศาสตร์” หนังสือพิมพ์สยามรัฐ หน้าสตรี-เด็ก 16 เมษายน พ.ศ.2534 (1/4)

 

ผู้หญิงในประวัติศาสตร์ที่จะขอแนะนำให้รู้จักกันในวันนี้ เป็นสตรีสูงศักดิ์ท่านหนึ่ง ซึ่งเคยมีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของอารยธรรมหนึ่งในสยามประเทศ ของเรานี้เอง คือประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย

 

วัดมหาธาตุ สุโขทัย


เคยเป็นสตรีสูงศักดิ์ที่ปกครองเมืองพระร่วงด้วยบทบาทและฐานะ ที่เรียกได้ว่า สูงส่งทัดเทียมกษัตริย์สุโขทัยทีเดียวแหละครับ

 

หลายคนคงงงเป็นอย่างยิ่งว่าพระมหาเทวีองค์นี้เป็นใครมาจากไหน... ทำไมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า พระมหาเทวีองค์นี้มีเรื่องราว กล่าวถึงน้อยมากครับ และที่สำคัญ ก่อนที่จะเป็นงงเกี่ยวกับชื่อ พระมหาเทวี สุโขทัย ลองถามใจตัวเองดูก่อนว่า ท่องจำชื่อพระร่วงสุโขทัยได้ครบทุกพระองค์หรือยัง

 

หรือว่าจำได้แต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เพราะตั้งเมืองสุโขทัย จำได้แต่พ่อขุนรามคำแหง เพราะท่านเป็นเจ้าของศิลาจารึกหลักที่ 1 หลักเดียวจากจำนวนร้อยๆ หลักของสุโขทัยที่รัฐบาลท่านบังคับให้เราเรียนกัน ท่องกันทุกวัน เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ใครใคร่ค้าช้างค้า... หรือว่าจะจำพระมหาธรรมราชาธิราช ที่ชอบ เรียกกันว่า “พญาลิไท” เพราะท่านเป็นคนแต่งหนังสือไตรภูมิพระร่วง

 

ถ้าจำ 3 พระร่วงสุโขทัยนี้ได้ก็พอแล้วละครับ เพราะจะได้ว่ากันไปเลย เรื่องของ พระมหาเทวีซึ่งไม่ไกลจากพระร่วงหนึ่งในสามพระองค์นี้มากนัก เพราะทรงเป็นน้องหญิงหรือพระขนิษฐาของพระมหาธรรมราชาลิไทนั่นเอง ครับผม แต่ต้องขอเท้าความสั้นๆ ก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไรจึงทำให้พระมหาเทวีมีความสำคัญขึ้นมาในประวัติศาสตร์สุโขทัย

 

ถ้ายังจำกันได้ หลังจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นแล้ว สุโขทัยก็มาเจริญที่สุดสมัยพ่อขุนรามคำแหง จริงไหมครับ จากจารึกหลักที่ 1 ก็แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของสุโขทัยในช่วงเวลานี้ ซึ่งความมั่นคงเหล่านั้น มาจากพ่อขุนรามคำแหงเป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงบ้านเมืองต่างๆ ในแคว้น สุโขทัยก็แตกแยกออกจากกัน เหมือนนักร้องดังแล้วแยกวงสมัยนี้ โดยที่กษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อมาคือพระยาเลอไท และพระยางั่วนำถมไม่สามารถแก้ไข สถานการณ์ได้มากนัก จนสิ้นรัชกาลพระยางั่วนำถม พระยาลิไทซึ่งเป็นอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่กำลังเพิ่งจะเสร็จจากการแต่งหนังสือไตรภูมิพระร่วงมาไม่นานนัก ก็ทนเห็นความวุ่นวายไม่ไหว

 

จึงจัดแจงยกทัพมาที่สุโขทัย แล้ว “เอาขวานประหารศัตรู” คือกำจัดเชื้อสายราชวงศ์ที่กำลังจะขึ้นครองราชย์อย่างผิดประเพณีเสีย แล้วขึ้นครองเมืองสุโขทัย จากเหตุการณ์ในศิลาจารึกตอนนี้ทำให้เราสังเกตว่า การรบกันระหว่างเจ้านาย สมัยก่อนนั้น เขารบกันด้วยขวาน

 

น้องๆ คนไหนอ่านมาถึงตอนนี้แล้วกำลังเรียนประวัติศาสตร์สุโขทัยอยู่ ก็อย่าจำ เอาไปตอบครูล่ะครับ เพราะคำว่า “เอาขวานประหารศัตรู” เป็นสำนวนมากกว่า อย่างน้อยๆ ในสมัยสุโขทัยคงมีดาบใช้ฟันกันแล้ว คงไม่ต้องรบกันด้วยขวาน ฮิฮิ

 

พระยาลิไทนี้เมื่อขึ้นครองราชย์ก็สามารถรวบรวมบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้ง และทรงทำนุบำรุงการพระศาสนา (พุทธ) เป็นอย่างมาก ทำให้สุโขทัยเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาในภูมิภาคทีเดียว มีการส่งพระเถระสำคัญๆ ไปเผยแผ่ศาสนาที่โน่นที่นี่ สร้างวัดอีกเพียบ จึงทรงได้สมญานามอันแสดงพระเกียรติยศว่า “พระมหาธรรมราชา”

 


แต่แล้วพระมหาธรรมราชาลิไทก็ต้องพบกับคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญ คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ซึ่งสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมาหมาดๆ ทรงไม่ยินดีที่จะเห็นว่า มีศูนย์อำนาจอยู่ในแคว้นหัวเมืองเหนือราชอาณาจักรของพระองค์

 

พระมหาเทวีจึงได้ปรากฏพระนามขึ้นในช่วงนี้เอง กล่าวคือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ยกทัพไปยึดเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ไว้ได้แล้วให้พี่เขยขึ้นมาปกครอง เมืองสองแควนี้อยู่ห่างจากสุโขทัยไม่ถึง 80 กิโลเมตร พระมหาธรรมราชาลิไทก็คงจะทรงเห็นแล้วว่า กองทัพของสุโขทัยน่าจะมีความเจนจัดทางการรบเป็นรองทาง กรุงศรีอยุธยาอยู่ จึงใช้พระพุทธศาสนาเข้าเป็นเครื่องมือต่อรอง บางตำราว่า เสด็จ ออกบวชขอบิณฑบาตเมืองสองแควคืน

 

พระมหาธรรมราชาลิไททรงได้เมืองสองแควคืนครับ แต่มีเงื่อนไขบางอย่างผูกพัน ว่า พระองค์ต้องเสด็จจากสุโขทัยไปครองอยู่ที่นั่น ทิ้งราชบัลลังก์สุโขทัยไว้กับพระมหาเทวี ผู้เป็นน้องหญิงพระองค์ครองต่อไป ที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรง กำหนดเช่นนี้ก็เพื่อคานอำนาจทางฝ่ายสุโขทัยไว้กั้นการแข็งข้อไงครับ

 

และพระมหาเทวีได้ทรงปกครองดูแลสุโขทัยแทนพระเชษฐาธิราชอยู่เป็นเวลาถึง 7 ปี เวลา 7 ปีบนราชบัลลังก์สุโขทัยสำหรับสตรีสูงศักดิ์สมัยก่อน ที่เราทราบกันดีว่า ไม่เคยมีบทบาทในการปกครองแผ่นดินมาก่อนเลย จัดว่าเป็นช่วงเวลาที่สาหัสสากรรจ์พอสมควรนะครับ แสดงให้เห็นถึงสายเลือดผู้นำซึ่งมีอยู่ในองค์พระมหาเทวีไม่น้อยไปกว่าพระเชษฐาธิราชเลย

 

ดังนั้น แม้ว่าพระมหาเทวีจะไม่ได้ครองอำนาจในช่วง 7 ปีนี้ เสมอกษัตริย์ในพระราชวงศ์พระร่วง แต่ก็ได้ทำหน้าที่ดูแลกิจการบ้านเมืองด้วยดีมาตลอด ถ้าจะพูดว่า สำหรับสตรีที่ไม่เคยปกครองบ้านเมืองมาก่อน ทำได้ขนาดนี้ก็นับว่า เยี่ยมยอด แล้วครับ

 

เป็นชีวิตของผู้หญิงเก่งคนหนึ่ง ที่ผู้หญิงเก่งในสมัยนี้ควรจะศึกษาอย่างยิ่งทีเดียว

 

จนกระทั่ง พ.ศ. 1912 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เสด็จสวรรคตนั้นแหละครับ พระมหาธรรมราชาธิลิไทจึงเสด็จกลับมาจากเมืองสองแคว มาระดมแนวร่วมของบ้าน เมืองต่างๆ ในแคว้นสุโขทัยอีกครั้ง

 

แต่โชคก็ไม่เข้าข้างฝ่ายสุโขทัย พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้ากลับมาสถาปนา ความมั่นคงขึ้นอีกคำรบหนึ่งได้ประมาณ 2 ปีเท่านั้น พระองค์ก็สิ้นพระชนม์จากไป และในปีที่เสด็จสวรรคตนี้เอง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา ก็ ยกทัพกลับเข้ามายึดครองดินแดนในแคว้นสุโขทัยได้ทั้งหมด และทรงสนับสนุน ให้พระมหาเทวีเป็นเจ้าของกรุงสุโขทัยต่อไป การสนับสนุนนี้ผู้รู้บางท่านว่า คือการ สถาปนาพระมหาเทวีเป็นพระมเหสีองค์หนึ่งของพระองค์นั่นเองครับ

 

ซึ่งจะทำให้ได้ความมั่นใจว่า สุโขทัยอยู่ในขอบข่ายอำนาจของอยุธยาอย่างแน่นอน แต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ก็ไม่ได้ทรงกระทำกับมหาเทวีอย่างกับเจ้านายของฝ่ายผู้แพ้สงคราม ทรงให้ความสำคัญอยู่มากเหมือนกันครับ เมื่อมีการ ระหองระแหงขึ้นในบ้านเมืองต่างๆ ในแคว้นโขทัย จนกระทั่งจะมากระทบพระมหา เทวี สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ก็จะทรงจัดการสะสางให้

 

พระมหาเทวีจะทรงเต็มพระทัยกับการเป็นพระมเหสี และปกครองสุโขทัยไว้ โดย ขึ้นตรงกับอยุธยาแค่ไหน ไม่อาจจะทราบได้ แต่ถ้าพระนางเลือกที่จะไม่ยอมและแข็งข้อจนถึงที่สุดแล้ว สุโขทัยก็มีสิทธิ์จะราบเป็นหน้ากลอง เหมือนอย่างที่พม่า และเขมรโดนในสมัยต่อมา

 

จะพูดตามหลักสตรีนิยมว่านี่คือการแสดงออกถึงการกดขี่ทางเพศก็ได้ แต่ก็น่าคิด เหมือนกันว่า เมื่อเผชิญกับผู้ชายที่มีอำนาจมากกว่า และไม่เพียงแต่ตนเอง ประเทศชาติจะต้องพินาศไปด้วยถ้าตัดสินใจพลาด แล้วพระมหาเทวีทรงแก้ปัญหานี้ได้อย่างที่ผู้หญิงสูงศักดิ์ในสมัยนั้นจะกระทำได้

 

ซึ่งผลก็คือ พระมหาเทวีทรงปกครองสุโขทัยมาด้วยความสงบสุขเรียบร้อยมาอีก เป็นเวลาถึง 10 ปี ไม่มีการสูญเสียอะไร นอกจากอำนาจอันชอบธรรมในการ ปกครองที่สุโขทัยเคยมีอยู่ แต่ไม่มีหลักฐานว่าทางอยุธยาจะมาก้าวก่ายในสิ่งใดอีก  ประชาชนอยู่กันด้วยความผาสุก พระมหาเทวีทรงปกครองสุโขทัยด้วยอำนาจเสมอกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง การพระศาสนาก็ทรงทะนุบำรุงสืบต่อจากที่พระ เชษฐาธิราชทรงริเริ่มไว้ ในระยะเวลา 10 ปีแห่งความสงบเรียบร้อยนี้ มีหลักฐาน กล่าวถึงพระนางน้อยมาก

 

นอกจากพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของพระนางกับทาง อยุธยา พระพุทธรูปนี่สร้างในศิลปะอู่ทองรุ่นหลัง ซึ่งเป็นศิลปะของอยุธยาตอนต้น แต่พบอยู่ที่วัดมหาธาตุ สุโขทัย ที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกด้วยอักษรสุโขทัยความว่า พระพุทธรูปองค์นี้ “เจ้าแม่” ให้ สร้างไว้กับบูรพาราม คำว่า “เจ้าแม่” หมายถึง นางผู้เป็นใหญ่ คือ พระมหาเทวีนั่นเองครับ

 

พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองรุ่นหลัง (กลางพุทธศตวรรษที่ 20) ที่ “เจ้าแม่” โปรดให้สร้าง ถวายวัดบูรพาราม เมืองสุโขทัย ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย (ที่มา : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513 : 269) จากhttps://www.bloggang.com/data/t/tuk-tukatkorat/picture/1405299210.jpg

พระมหาเทวีแม้จะเป็นสตรี แต่ก็ได้ปกครองแผ่นดินสุโขทัยอย่างสงบสุข ด้วยพระปรีชาญาณตลอดพระชนม์ชีพ วีรกรรมของพระนางแตกต่างจากวีรสตรีไทยในสมัยต่อๆ มา ซึ่งจะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ก็ต่อเมื่อแสดงความกล้าหาญเยี่ยงบุรุษ ในการสงคราม

 

พระมหาเทวีไม่ทรงจำเป็นต้องแสดงความกล้าหาญเช่นนั้น ความกล้าหาญในการตัดสินใจแก้ปัญหาโดยให้สูญเสียน้อยที่สุดของพระนางมีมากกว่า แต่ไม่มีใครสนใจที่จะทำการจารึกไว้ และไม่มีการสนใจที่จะนำมาวิเคราะห์กันเท่านั้น จะสังเกตได้ว่า ประวัติศาสตร์อารยธรรมในตอนเหนือของประเทศไทยต่างก็เคยกล่าวถึงผู้หญิงเก่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงความสามารถในการปกครอง โดยไม่ ต้อง SHOW OFF ว่ามีความเด็ดเดี่ยวเยี่ยงชาย ไม่ว่าจะเป็นพระนางจามเทวีแห่งแคว้นหริภุญไชย หรือพระมหาเทวีแห่งแคว้นสุโขทัย

 

ผู้หญิงในสมัยหลังๆ ลงมา จะมีชื่ออยู่ได้ก็ต้องแสดงความกล้าหาญเยี่ยงบุรุษในการสงครามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และผู้หญิงก็หลุดออกจากชนชั้นผู้นำในการ ปกครองมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเช่นกัน   

Total Pageviews