Friday, October 20, 2023

พระมหาเทวี : สตรีผู้สูงศักดิ์แห่งราชวงศ์พระร่วง

บันทึกบทความเก่าของอ.กิตติ วัฒนะมหาตม์

คอลัมน์หลากหลายลีลา “ผู้หญิงในประวัติศาสตร์” หนังสือพิมพ์สยามรัฐ หน้าสตรี-เด็ก 16 เมษายน พ.ศ.2534 (1/4)

 

ผู้หญิงในประวัติศาสตร์ที่จะขอแนะนำให้รู้จักกันในวันนี้ เป็นสตรีสูงศักดิ์ท่านหนึ่ง ซึ่งเคยมีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของอารยธรรมหนึ่งในสยามประเทศ ของเรานี้เอง คือประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย

 

วัดมหาธาตุ สุโขทัย


เคยเป็นสตรีสูงศักดิ์ที่ปกครองเมืองพระร่วงด้วยบทบาทและฐานะ ที่เรียกได้ว่า สูงส่งทัดเทียมกษัตริย์สุโขทัยทีเดียวแหละครับ

 

หลายคนคงงงเป็นอย่างยิ่งว่าพระมหาเทวีองค์นี้เป็นใครมาจากไหน... ทำไมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า พระมหาเทวีองค์นี้มีเรื่องราว กล่าวถึงน้อยมากครับ และที่สำคัญ ก่อนที่จะเป็นงงเกี่ยวกับชื่อ พระมหาเทวี สุโขทัย ลองถามใจตัวเองดูก่อนว่า ท่องจำชื่อพระร่วงสุโขทัยได้ครบทุกพระองค์หรือยัง

 

หรือว่าจำได้แต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เพราะตั้งเมืองสุโขทัย จำได้แต่พ่อขุนรามคำแหง เพราะท่านเป็นเจ้าของศิลาจารึกหลักที่ 1 หลักเดียวจากจำนวนร้อยๆ หลักของสุโขทัยที่รัฐบาลท่านบังคับให้เราเรียนกัน ท่องกันทุกวัน เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ใครใคร่ค้าช้างค้า... หรือว่าจะจำพระมหาธรรมราชาธิราช ที่ชอบ เรียกกันว่า “พญาลิไท” เพราะท่านเป็นคนแต่งหนังสือไตรภูมิพระร่วง

 

ถ้าจำ 3 พระร่วงสุโขทัยนี้ได้ก็พอแล้วละครับ เพราะจะได้ว่ากันไปเลย เรื่องของ พระมหาเทวีซึ่งไม่ไกลจากพระร่วงหนึ่งในสามพระองค์นี้มากนัก เพราะทรงเป็นน้องหญิงหรือพระขนิษฐาของพระมหาธรรมราชาลิไทนั่นเอง ครับผม แต่ต้องขอเท้าความสั้นๆ ก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไรจึงทำให้พระมหาเทวีมีความสำคัญขึ้นมาในประวัติศาสตร์สุโขทัย

 

ถ้ายังจำกันได้ หลังจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นแล้ว สุโขทัยก็มาเจริญที่สุดสมัยพ่อขุนรามคำแหง จริงไหมครับ จากจารึกหลักที่ 1 ก็แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของสุโขทัยในช่วงเวลานี้ ซึ่งความมั่นคงเหล่านั้น มาจากพ่อขุนรามคำแหงเป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงบ้านเมืองต่างๆ ในแคว้น สุโขทัยก็แตกแยกออกจากกัน เหมือนนักร้องดังแล้วแยกวงสมัยนี้ โดยที่กษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อมาคือพระยาเลอไท และพระยางั่วนำถมไม่สามารถแก้ไข สถานการณ์ได้มากนัก จนสิ้นรัชกาลพระยางั่วนำถม พระยาลิไทซึ่งเป็นอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่กำลังเพิ่งจะเสร็จจากการแต่งหนังสือไตรภูมิพระร่วงมาไม่นานนัก ก็ทนเห็นความวุ่นวายไม่ไหว

 

จึงจัดแจงยกทัพมาที่สุโขทัย แล้ว “เอาขวานประหารศัตรู” คือกำจัดเชื้อสายราชวงศ์ที่กำลังจะขึ้นครองราชย์อย่างผิดประเพณีเสีย แล้วขึ้นครองเมืองสุโขทัย จากเหตุการณ์ในศิลาจารึกตอนนี้ทำให้เราสังเกตว่า การรบกันระหว่างเจ้านาย สมัยก่อนนั้น เขารบกันด้วยขวาน

 

น้องๆ คนไหนอ่านมาถึงตอนนี้แล้วกำลังเรียนประวัติศาสตร์สุโขทัยอยู่ ก็อย่าจำ เอาไปตอบครูล่ะครับ เพราะคำว่า “เอาขวานประหารศัตรู” เป็นสำนวนมากกว่า อย่างน้อยๆ ในสมัยสุโขทัยคงมีดาบใช้ฟันกันแล้ว คงไม่ต้องรบกันด้วยขวาน ฮิฮิ

 

พระยาลิไทนี้เมื่อขึ้นครองราชย์ก็สามารถรวบรวมบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้ง และทรงทำนุบำรุงการพระศาสนา (พุทธ) เป็นอย่างมาก ทำให้สุโขทัยเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาในภูมิภาคทีเดียว มีการส่งพระเถระสำคัญๆ ไปเผยแผ่ศาสนาที่โน่นที่นี่ สร้างวัดอีกเพียบ จึงทรงได้สมญานามอันแสดงพระเกียรติยศว่า “พระมหาธรรมราชา”

 


แต่แล้วพระมหาธรรมราชาลิไทก็ต้องพบกับคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญ คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ซึ่งสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมาหมาดๆ ทรงไม่ยินดีที่จะเห็นว่า มีศูนย์อำนาจอยู่ในแคว้นหัวเมืองเหนือราชอาณาจักรของพระองค์

 

พระมหาเทวีจึงได้ปรากฏพระนามขึ้นในช่วงนี้เอง กล่าวคือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ยกทัพไปยึดเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ไว้ได้แล้วให้พี่เขยขึ้นมาปกครอง เมืองสองแควนี้อยู่ห่างจากสุโขทัยไม่ถึง 80 กิโลเมตร พระมหาธรรมราชาลิไทก็คงจะทรงเห็นแล้วว่า กองทัพของสุโขทัยน่าจะมีความเจนจัดทางการรบเป็นรองทาง กรุงศรีอยุธยาอยู่ จึงใช้พระพุทธศาสนาเข้าเป็นเครื่องมือต่อรอง บางตำราว่า เสด็จ ออกบวชขอบิณฑบาตเมืองสองแควคืน

 

พระมหาธรรมราชาลิไททรงได้เมืองสองแควคืนครับ แต่มีเงื่อนไขบางอย่างผูกพัน ว่า พระองค์ต้องเสด็จจากสุโขทัยไปครองอยู่ที่นั่น ทิ้งราชบัลลังก์สุโขทัยไว้กับพระมหาเทวี ผู้เป็นน้องหญิงพระองค์ครองต่อไป ที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรง กำหนดเช่นนี้ก็เพื่อคานอำนาจทางฝ่ายสุโขทัยไว้กั้นการแข็งข้อไงครับ

 

และพระมหาเทวีได้ทรงปกครองดูแลสุโขทัยแทนพระเชษฐาธิราชอยู่เป็นเวลาถึง 7 ปี เวลา 7 ปีบนราชบัลลังก์สุโขทัยสำหรับสตรีสูงศักดิ์สมัยก่อน ที่เราทราบกันดีว่า ไม่เคยมีบทบาทในการปกครองแผ่นดินมาก่อนเลย จัดว่าเป็นช่วงเวลาที่สาหัสสากรรจ์พอสมควรนะครับ แสดงให้เห็นถึงสายเลือดผู้นำซึ่งมีอยู่ในองค์พระมหาเทวีไม่น้อยไปกว่าพระเชษฐาธิราชเลย

 

ดังนั้น แม้ว่าพระมหาเทวีจะไม่ได้ครองอำนาจในช่วง 7 ปีนี้ เสมอกษัตริย์ในพระราชวงศ์พระร่วง แต่ก็ได้ทำหน้าที่ดูแลกิจการบ้านเมืองด้วยดีมาตลอด ถ้าจะพูดว่า สำหรับสตรีที่ไม่เคยปกครองบ้านเมืองมาก่อน ทำได้ขนาดนี้ก็นับว่า เยี่ยมยอด แล้วครับ

 

เป็นชีวิตของผู้หญิงเก่งคนหนึ่ง ที่ผู้หญิงเก่งในสมัยนี้ควรจะศึกษาอย่างยิ่งทีเดียว

 

จนกระทั่ง พ.ศ. 1912 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เสด็จสวรรคตนั้นแหละครับ พระมหาธรรมราชาธิลิไทจึงเสด็จกลับมาจากเมืองสองแคว มาระดมแนวร่วมของบ้าน เมืองต่างๆ ในแคว้นสุโขทัยอีกครั้ง

 

แต่โชคก็ไม่เข้าข้างฝ่ายสุโขทัย พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้ากลับมาสถาปนา ความมั่นคงขึ้นอีกคำรบหนึ่งได้ประมาณ 2 ปีเท่านั้น พระองค์ก็สิ้นพระชนม์จากไป และในปีที่เสด็จสวรรคตนี้เอง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา ก็ ยกทัพกลับเข้ามายึดครองดินแดนในแคว้นสุโขทัยได้ทั้งหมด และทรงสนับสนุน ให้พระมหาเทวีเป็นเจ้าของกรุงสุโขทัยต่อไป การสนับสนุนนี้ผู้รู้บางท่านว่า คือการ สถาปนาพระมหาเทวีเป็นพระมเหสีองค์หนึ่งของพระองค์นั่นเองครับ

 

ซึ่งจะทำให้ได้ความมั่นใจว่า สุโขทัยอยู่ในขอบข่ายอำนาจของอยุธยาอย่างแน่นอน แต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ก็ไม่ได้ทรงกระทำกับมหาเทวีอย่างกับเจ้านายของฝ่ายผู้แพ้สงคราม ทรงให้ความสำคัญอยู่มากเหมือนกันครับ เมื่อมีการ ระหองระแหงขึ้นในบ้านเมืองต่างๆ ในแคว้นโขทัย จนกระทั่งจะมากระทบพระมหา เทวี สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ก็จะทรงจัดการสะสางให้

 

พระมหาเทวีจะทรงเต็มพระทัยกับการเป็นพระมเหสี และปกครองสุโขทัยไว้ โดย ขึ้นตรงกับอยุธยาแค่ไหน ไม่อาจจะทราบได้ แต่ถ้าพระนางเลือกที่จะไม่ยอมและแข็งข้อจนถึงที่สุดแล้ว สุโขทัยก็มีสิทธิ์จะราบเป็นหน้ากลอง เหมือนอย่างที่พม่า และเขมรโดนในสมัยต่อมา

 

จะพูดตามหลักสตรีนิยมว่านี่คือการแสดงออกถึงการกดขี่ทางเพศก็ได้ แต่ก็น่าคิด เหมือนกันว่า เมื่อเผชิญกับผู้ชายที่มีอำนาจมากกว่า และไม่เพียงแต่ตนเอง ประเทศชาติจะต้องพินาศไปด้วยถ้าตัดสินใจพลาด แล้วพระมหาเทวีทรงแก้ปัญหานี้ได้อย่างที่ผู้หญิงสูงศักดิ์ในสมัยนั้นจะกระทำได้

 

ซึ่งผลก็คือ พระมหาเทวีทรงปกครองสุโขทัยมาด้วยความสงบสุขเรียบร้อยมาอีก เป็นเวลาถึง 10 ปี ไม่มีการสูญเสียอะไร นอกจากอำนาจอันชอบธรรมในการ ปกครองที่สุโขทัยเคยมีอยู่ แต่ไม่มีหลักฐานว่าทางอยุธยาจะมาก้าวก่ายในสิ่งใดอีก  ประชาชนอยู่กันด้วยความผาสุก พระมหาเทวีทรงปกครองสุโขทัยด้วยอำนาจเสมอกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง การพระศาสนาก็ทรงทะนุบำรุงสืบต่อจากที่พระ เชษฐาธิราชทรงริเริ่มไว้ ในระยะเวลา 10 ปีแห่งความสงบเรียบร้อยนี้ มีหลักฐาน กล่าวถึงพระนางน้อยมาก

 

นอกจากพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของพระนางกับทาง อยุธยา พระพุทธรูปนี่สร้างในศิลปะอู่ทองรุ่นหลัง ซึ่งเป็นศิลปะของอยุธยาตอนต้น แต่พบอยู่ที่วัดมหาธาตุ สุโขทัย ที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกด้วยอักษรสุโขทัยความว่า พระพุทธรูปองค์นี้ “เจ้าแม่” ให้ สร้างไว้กับบูรพาราม คำว่า “เจ้าแม่” หมายถึง นางผู้เป็นใหญ่ คือ พระมหาเทวีนั่นเองครับ

 

พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองรุ่นหลัง (กลางพุทธศตวรรษที่ 20) ที่ “เจ้าแม่” โปรดให้สร้าง ถวายวัดบูรพาราม เมืองสุโขทัย ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย (ที่มา : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513 : 269) จากhttps://www.bloggang.com/data/t/tuk-tukatkorat/picture/1405299210.jpg

พระมหาเทวีแม้จะเป็นสตรี แต่ก็ได้ปกครองแผ่นดินสุโขทัยอย่างสงบสุข ด้วยพระปรีชาญาณตลอดพระชนม์ชีพ วีรกรรมของพระนางแตกต่างจากวีรสตรีไทยในสมัยต่อๆ มา ซึ่งจะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ก็ต่อเมื่อแสดงความกล้าหาญเยี่ยงบุรุษ ในการสงคราม

 

พระมหาเทวีไม่ทรงจำเป็นต้องแสดงความกล้าหาญเช่นนั้น ความกล้าหาญในการตัดสินใจแก้ปัญหาโดยให้สูญเสียน้อยที่สุดของพระนางมีมากกว่า แต่ไม่มีใครสนใจที่จะทำการจารึกไว้ และไม่มีการสนใจที่จะนำมาวิเคราะห์กันเท่านั้น จะสังเกตได้ว่า ประวัติศาสตร์อารยธรรมในตอนเหนือของประเทศไทยต่างก็เคยกล่าวถึงผู้หญิงเก่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงความสามารถในการปกครอง โดยไม่ ต้อง SHOW OFF ว่ามีความเด็ดเดี่ยวเยี่ยงชาย ไม่ว่าจะเป็นพระนางจามเทวีแห่งแคว้นหริภุญไชย หรือพระมหาเทวีแห่งแคว้นสุโขทัย

 

ผู้หญิงในสมัยหลังๆ ลงมา จะมีชื่ออยู่ได้ก็ต้องแสดงความกล้าหาญเยี่ยงบุรุษในการสงครามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และผู้หญิงก็หลุดออกจากชนชั้นผู้นำในการ ปกครองมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเช่นกัน   

No comments:

Post a Comment

Total Pageviews