Sunday, November 4, 2018

รายาบีรู ลิ้มโต๊ะเคี่ยม มัสยิดกรือเซะ และ นางพญาตานี




พระนางบีรู (Biru) ทรงเป็นพระขนิษฐภคินีของรายาฮิเยา (Hijau) ดำรงตำแหน่งเจ้าหญิงรัชทายาทตลอดรัชกาลของพระพี่นาง

เมื่อสิ้นแผ่นดินองค์รายาฮิเยา จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น รายาบีรู กษัตริยาองค์ที่ ๒ แห่งนครปัตตานี และกษัตริย์องค์ที่ ๗ แห่งราชวงศ์ศรีวังสา ในพ.ศ.๒๑๕๙

เมื่อขึ้นครองราชย์นั้น ทรงมีพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษาแล้ว

ตลอดกว่า ๓ ทศวรรษ ที่ปฏิบัติภารกิจ ในฐานะเจ้าหญิงรัชทายาทเคียงข้างพระพี่นางฮิเยา รายาบีรูทรงตระหนักได้ว่า ความรุ่งโรจน์ของนครปัตตานี ในฐานะเป็นเมืองท่าสำคัญของการค้าบนคาบสมุทรมลายู ได้ทำให้นครปัตตานีกลายเป็นเป้าหมายของกรุงศรีอยุธยา ที่ทรงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ เวลานั้น

จนกระทั่งเคยประลองกำลังกันมาแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ไปในทางเป็นไมตรีต่อกัน


พระนางบีรู เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าหญิงรัชทายาท
ทรฃมีพระปฏิสันถ่ารกับพ่อค้าต่างประเทศ
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง "ปืนใหญ่จอมสลัด"

ทำให้รายาบีรูทรงเลือกที่จะรักษาความสัมพันธ์ดังกล่าว ต่อจากที่พระพี่นางทรงริเริ่มไว้อย่างชาญฉลาด

ในขณะเดียวกัน ก็ทรงเพิ่มความมั่นคง ให้แก่นครรัฐปัตตานีมากขึ้นไปอีก ด้วยการแก้ไขปัญหาทางการเมืองในคาบสมุทรมลายู ด้วยพระปรีชาสามารถ นำมาซึ่งความสงบสุขของนครปัตตานี ตลอดรัชสมัยของพระนาง

และก็ไม่ทรงละเลย ที่จะรักษาอธิปไตยเหนือแผ่นดินปัตตานี ด้วยการสร้างกำแพงเมืองอันแข็งแกร่ง ที่ชาวเมืองเรียกขานกันว่า กำแพงบีรู

ทั้งยังทรงมีพระราชบัญชา ให้หล่อปืนใหญ่ไว้ใช้ในการปกป้องนครยามเกิดศึกสงคราม ซึ่งยังคงมีชื่อเสียงและความยิ่งใหญ่อยู่จนทุกวันนี้

เรื่องราวของขององค์รายาบีรู จึงแยกไม่ออกจากตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และมัสยิดกรือเซะด้วย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวพันกันกับการสร้างปืนใหญ่อันเลื่องชื่อ ที่เป็นอนุสรณ์สำคัญที่สุดของพระนาง

เดิมเชื่อกันว่า องค์รายาบีรูมิได้เสกสมรส แต่เมื่อมีการตรวจสอบเอกสารต่างๆ อย่างถี่ถ้วน ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ก็มีข้อยุติว่า พระสวามีของระนางก็คือ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ช่างจีนคู่ตำนานปืนใหญ่ นางพญาตานี นั่นเอง


ลิ้มโต๊ะเคี่ยม จาก "ปืนใหญ่จอมสลัด"รับบทโดย จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม
อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติ ผู้ล่วงลับ

ลิ้มโต๊ะเคี่ยม (จีนกลางว่า หลินเต้าเฉียน) ผู้นี้ เดิมรับราชการอยู่ในมณฑลแต้จิ๋ว เมื่อบิดาถึงแก่กรรม จึงย้ายไปรับราชการที่เมืองจั่วจิว (จีนกลางว่า เฉวียนโจว) แต่ถูกกล่าวหาว่าสมคบกับโจรสลัด ทำให้ต้องหลบหนีออกจากประเทศจีน พร้อมกับพรรคพวกหลายคน ไปอาศัยอยู่ที่เกาะไต้หวัน

ต่อมาเขาจึงเปลี่ยนอาชีพเป็นพ่อค้า แต่ในบางโอกาสก็จะเป็นโจรสลัดด้วย ซึ่งก็เหมือนกันกับบรรดาพ่อค้า และโจรสลัดทั้งจีนและญี่ปุ่นในทะเลจีนใต้เวลานั้นละครับ แต่ก็ทำให้ฐานะของเขามั่งคั่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในพ.ศ.๒๑๐๖ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมอายุ ๒๓ ปี ถูก พระเจ้าหมิงซื่อจง ส่งกองทัพมาปราบปราบ จนต้องหนีไปรวบรวมพรรคพวกอยู่ราวๆ ๑๐ ปี มีกำลังพลมากถึง ๓,๐๐๐ คน และเรือสำเภา ๙๕ ลำ ได้รับสมญาว่า ท่านอ๋องแห่งทะเลจีนใต้

เมื่อมีกำลังอำนาจถึงเพียงนั้น เขาก็มุ่งหน้าไป เกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นพวกสเปนและโปรตุเกสเป็นเจ้าของอยู่

และหลังจากปะทะกันที่เมือง อิโคลอสซัวร์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเหลือเรือสำเภาอยู่ ๖๘ ลำ จึงเปลี่ยนความตั้งใจไปตีเมืองมะนิลา ซึ่งเป็นเมืองใหม่ เพิ่งสร้างเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น

เขายึดได้เมืองมะนิลา และสังหารข้าหลวงสเปนใน พ.ศ.๒๑๑๗ แต่แล้ว ก็ต้องหนีการไล่ล่าของสเปน ไปสร้างเมืองของตนเองที่เมือง ลินกาเยน แขวงเมืองพันกาซินัน

ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ตั้งตนเป็นราชาปกครองเมืองนี้อยู่ ๗ เดือน กองเรือสเปนก็ตามมาโจมตี จนเขาต้องทิ้งเมืองหนี และพาสมัครพรรคพวกร่อนเร่พเนจรไปประมาณ ๘ ปี จึงไปถึงปัตตานีเมื่อราวๆ พ.ศ.๒๑๒๓

ตอนที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมไปถึงปัตตานีนั้น เขาอายุได้ ๓๙ ปี เป็นช่วงปลายรัชสมัยของสุลต่านบาห์โดรชาห์

เมื่อองค์รายาฮิเยา (Hijau) ขึ้นครองราชย์ต่อมาในพ.ศ.๒๑๒๗ บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย และเริ่มพัฒนาขึ้น

ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่ รวมทั้งด้วยอายุที่มากถึง ๔๐ กว่าปีแล้ว

ก็ทำให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมตั้งใจจะปักหลัก ที่นี่ในฐานะของพ่อค้า ไม่คิดเป็นโจรสลัด หรือมักใหญ่ใฝ่สูงอีกต่อไป

แต่วาสนาของเขา ยังไม่จบลงเพียงเท่านั้นหรอกครับ

ด้วยประสบการณ์อันโชกโชน และความสามารถที่หลากหลาย โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญในการรบ ทั้งทางบกและทางทะเล องค์รายาฮิเยาจึงทรงแต่งตั้งให้เขาควบคุมด่านศุลกากรที่ท่าเรือปัตตานี

ซึ่งผลงานของเขาในตำแหน่งนี้ เป็นที่พอพระทัยอย่างมาก จนจะนับว่าเขามีส่วนในการสร้างความร่ำรวยให้แก่ปัตตานี ในช่วงแรกๆ แห่งรัชสมัยขององค์รายาฮิเยาก็ว่าได้นะครับ

ขณะเดียวกัน เขากับเจ้าหญิงบีรูก็ต้องทำงานร่วมกัน ต่างพระเนตรพระกรรณขององค์รายาฮิเยาอยู่เสมอ จนมีความสนิทสนมชอบพอกัน และจึงได้เข้าสู่พิธีวิวาห์ตามหลักศาสนาอิสลาม

โดยในการนี้ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม เมื่อเสกสมรสแล้ว องค์รายาฮิเยาทรงสถาปนาเป็น เจ้าชายโต๊ะ อาโกะ (Tok Agok)

เมื่อองค์รายาบีรูได้ครองราชย์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมอายุถึง ๗๕ ปีแล้วละครับ และมีพระโอรสกับองค์รายาบีรูมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ๒ พระองค์ พระองค์หนึ่งทรงมีพระนามว่า แวยูโซ๊ะ อีกพระองค์หนึ่งไม่เป็นที่ทราบพระนาม

แต่ผู้สืบเชื้อสายจากพระโอรสองค์ที่สองนี้ ใช้นามสกุลว่า Mekong Sedi  ซึ่งยังมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ยามูในปัจจุบันนี้

เล่ากันว่า องค์รายาบีรูได้โปรดฯ ให้ก่อสร้างมัสยิดแห่งใหม่ เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจ ที่ ต.กรือเซะ ในปัจจุบัน โดยทรงมีพระราชโองการให้พระสวามีเป็นนายช่างออกแบบและก่อสร้าง


มัสยิดกรือเซะ อดีตมัสยิดหลวงประจำนครปัตตานี

ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้อุทิศกายและใจทั้งหมด ให้กับงานที่ได้รับมอบหมายจนเกือบเสร็จ เหลือเพียงก่อสร้างโดมหลังคาเครื่องบนเท่านั้น

หากพอเริ่มสร้างเครื่องบนได้ไม่กี่วัน ก็เกิดฟ้าผ่าลงมายังโดมที่กำลังสร้างจนเสียหายหมดอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเหตุว่าไม่มีวี่แววพายุฝนแต่อย่างใดในช่วงเวลานั้น

ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงทำการก่อสร้างโดมหลังคาใหม่ แต่แล้ว สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีก คือเกิดฟ้าผ่าลงมายังยอดโดมอีกครั้งจนพังทลายดุจเดิม

ลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็ยังไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามสร้างต่ออีก ๒ ครั้ง แต่ก็ถูกฟ้าผ่าพังทลายทุกครั้ง

อาถรรพณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมสำนึกว่าตนได้สร้างตราบาปเอาไว้ ที่ทอดทิ้งมารดา จนทำให้น้องสาวคือ ลิ้มกอเหนี่ยว ต้องมาตามกลับบ้าน และผูกคอตายที่นี่ด้วยความน้อยใจที่ถูกปฏิเสธ


ลิ้มกอเหนี่ยว จากภาพยนตร์เรื่อง"ปืนใหญ่จอมสลัด"
รับบทโดย มนัสนันท์ พัชรโสภาชัย

ทำให้เขาเกิดความท้อใจ เลิกล้มการก่อสร้างมัสยิด ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น

แต่เรื่องราวของมัสยิดแห่งนี้ ก็มีหลายกระแสครับ

โดยจากการค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์สายมุสลิมบางท่านกล่าวว่า มัสยิดกรือเซะเคยสร้างเสร็จสมบูรณ์ จนเป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลามในรัฐปัตตานีมาเป็นเวลาช้านาน

ดัฃมีการอ้างอิงภาพวาดของศิลปินชาวดัตช์ ในปีพ.ศ.๒๑๔๔ ตรงกับรัชสมัยองค์รายาฮิเยา ที่กล่าวกันว่า เป็นภาพของมัสยิดกรือเซะ เห็นยอดหอคอยมัสยิดทั้งสองด้าน ส่วนอีกสองมุมด้านหลังเป็นแนวเดียวกับยอดด้านหน้า

มีการบ่งชี้กันต่อไปว่า ในภาพวาดนั้น ยังปรากฏอาคารที่อยู่หน้ามัสยิดคือ พระราชวังอิสตานานีลัม อันเป็นที่ประทับของพระมหาราชินีฮิเยาด้วย

ซึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์ว่า แท้จริงมัสยิดกรือเซะสร้างขึ้นอย่างน้อยตั้งแต่รัชสมัยราฮิเยาแล้ว มิใช่เพิ่งสร้างในรัชสมัยรายาบีรู


ภาพเขียนของชาวดัตช์ พ.ศ.๒๑๔๔ ที่อ้างกันว่าเป็นมัสยิดกรือเซะ

อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวนั้นปรากฏว่า แท้ที่จริงเป็นภาพของกรุงศรีอยุธยา โดยเห็นเกาะเมืองอยุธยาอยู่ในภาพอย่างชัดเจน

ดังนั้น อาคารที่กล่าวกันว่าเป็นมัสยิดกรือเซะนั้น ในภาพคงเป็นอาคารสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งแม้ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าเป็นสถานที่ใด แต่ไม่ใช่มัสยิดกรือเซะอย่างแน่นอน

แต่เรื่องของมัสยิดกรือเซะ ก็มีหลักฐานทางเอกสารรับรอง คือ J.J.Sheehan นักเดินเรือชาวดัตช์ ซึ่งเดินทางมาถึงปัตตานีช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ระบุว่า มีมัสยิดเป็นตึกสง่างามโอ่โถง สร้างจากอิฐแดง มีการตกแต่งภายในอย่างวิจิตรยิ่งนัก มีชาวจีนเป็นผู้สร้าง

นอกจากนี้ยังมีตำนานอีกกระแสหนึ่ง เล่าต่อๆ กันมาว่า มัสยิดแห่งนี้เคยมียอดโดมซึ่งหุ้มด้วยทองคำบริสุทธิ์ และตัวอาคารภายนอกนั้นก็มีการตกแต่งอย่างงดงาม สมกับเป็นมัสยิดที่สร้างโดยพระราชโองการขององค์กษัตริย์ปัตตานีอีกด้วย

ดังนั้น จึงพอจะเชื่อได้ว่า ในช่วงที่ J.J.Shehan เข้ามาถึงปัตตานี ซึ่งก็อยู่ในรัชสมัยของรายาบีรูนั้น มัสยิดดังกล่าวได้สร้างสำเร็จแล้วจริง

ตำนานที่กล่าวว่า มัสยิดดังกล่าวถูกฟ้าผ่าครั้งแล้วครั้งเล่าจนสร้างไม่เสร็จ จึงไม่มีหลักฐานรองรับ

แต่การที่นักเดินเรือชาวดัตช์กล่าวว่า มัสยิดแห่งนี้สร้างโดยชาวจีน ก็เท่ากับเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยมมีส่วนเกี่ยวข้องกับมัสยิดแห่งนี้จริงเช่นกัน

แม้นักวิชาการมุสลิมบางท่านจะโต้แย้งในประเด็นนี้ โดยให้ข้อสังเกตว่า ศิลปกรรมของมัสยิดกรือเซะ เป็นศิลปะเปอร์เซีย

ในขณะที่มัสยิดในเมืองจีน ที่สร้างในช่วงเวลาเดียวกัน คือเมื่อ ๔๐๐-๕๐๐ ปีที่แล้ว ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะจีน เหมือนวัดจีนทั้งสิ้น


มัสยิดหนิวเจี่ย  กรุงปักกิ่ง ที่ผ่านการบูรณะต่อเติมครั้งล่าสุด สมัยราชวงศ์ชิง
พ.ฅ.๒๒๓๙ และตรงกับรัชสมัยรายาบีรู ยังคงเป็นศิลปะจีนอยู่

พวกเขาจึงลงความเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ ที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจะสร้างมัสยิดแห่งนี้ตามที่เล่าต่อๆ กันมา ถ้าคนจีนอย่างลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นผู้ออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้าง เขาจะเอาศิลปกรรมแบบเปอร์เซียมาสร้างมัสยิดนี้ได้อย่างไร ไม่น่าจะมีเหตุผล

แต่ทางออกของปัญหานี้ ค่อนข้างง่ายครับ

คือมีผู้เสนอความเป็นไปได้ว่า มัสยิดดังกล่าวซึ่งสร้างเสร็จแล้ว ตั้งแต่ในรัชสมัยรายาฮิเยา หรือก่อนหน้านั้น อาจถูกเพลิงไหม้เมื่อคราวกบฏชวาเผาเมืองปัตตานี ในปลายรัชสมัยรายาฮิเยานั่นเอง

เมื่อรายาบีรูขึ้นครองราชย์แล้ว จึงโปรดให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยม เป็นแม่งานบูรณะ นักเดินทางชาวดัตช์จึงบันทึกว่ามัสยิดสร้างโดยช่างจีน

ถ้าสันนิษฐานกันตามนี้ ก็น่าจะเป็นข้อยุติในระดับหนึ่งครับ

เพราะก่อนรัชสมัยรายาฮิเยา มีกษัตริย์ปกครองปัตตานีต่อเนื่องกันมา ๕ รัชกาล มัสยิดกรือเซะนั้นก็ตั้งอยู่ใกล้พระราชวังอิสตานานีลัม เห็นได้ชัดว่า ต้องเป็นมัสยิดหลวงประจำนครปัตตานี ดังนั้น อย่างน้อยก็ต้องสร้างขึ้นในระยะเวลาล่เรี่ยกับพระราชวัง

แต่เหตุการณ์ที่ทำลายมัสยิดกรือเซะอย่างถาวร เกิดขึ้นในพ.ศ.๒๓๒๘ เมื่อ พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่ายกทัพใหญ่เข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์ใน สงครามเก้าทัพ กองทัพพม่ากองหนึ่งสามารถยึดเมืองนครศรีธรรมราชไว้ได้

ซึ่งไม่นานนัก สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ก็ทรงยกทัพไปปราบปรามพม่าที่เมืองนครฯ จนกองทัพพม่าแตกพ่าย

แล้วกองทัพไทยจึงใช้โอก่าสนั้น ปราบปรามนครรัฐทางใต้ โดยส่ง พระยากลาโหมเสนา และ พระยาจ่าแสนยากร แม่ทัพหน้า คุมกองทัพยกมาตีนครปัตตานี

ผลปรากฏว่า องค์ สุลต่านมุฮัมมัด ผู้ครองนครปัตตานีขณะนั้น ถูกกระสุนปืนสิ้นพระชนม์ในสนามรบ

นครปัตตานีถูกกองทัพสยามตีแตก พระราชวังอิสตานานีลัมอันงามวิจิตร ถูกเหล่าทหารจากกรุงเทพฯ เผาจนเสียหาย เหลือแต่ซากปรักหักพัง

ส่วนมัสยิดกรือเซะ ก็เล่ากันว่าถูกเผาเช่นกัน เพื่อลอกเอาเนื้อทองคำบริสุทธิ์ที่ห่อหุ้มยอดโดม จนกระทั่งโดมและหอคอยอาซานทั้งสี่ทิศ พังทลายลงมา เหลือแต่ตัวอาคารหลัก ดังที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้


ฉากการราชาภิเษกของรายาบีรู จาก "ปืนใหญ่จอมสลัด"
ว่ากันว่า แม่ทัพฝ่ายไทยบางคนในสงครามครั้งนั้น เช่น พระยาราชบังสัน ซึ่งเป็นมุสลิม เสียใจต่อการกระทำของกองทัพสยามอย่างมาก

แต่สงครามก็คือสงคราม นะครับ

ผู้ชนะย่อมต้องทำลายระราชวัง และศาสนสถานที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ ของราชวงศ์ผู้พ่ายแพ้สงคราม เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำกันทั้งนั้น

ทุกวันนี้ มัสยิดกรือเซะ หรือชื่อในศาสนาอิสลาม คือ มัสยิดปินตูกรือบัง ตั้งอยู่ในหมู่บ้านบันดัร หรือรู้จักกันในนาม บ้านบานา อยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีราว ๗ กม.

พื้นที่ดังกล่าว ในอดีตเป็นสถานที่ตั้งของพระราชวังอิสตานานีลัม อันเป็นที่ประทับของเหล่ากษัตริย์ และนางพญาปัตตานีทั้ง ๔ พระองค์ รวมทั้งองค์รายาบีรูด้วย อีกทั้งศาลของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวก็อยู่ใกล้กัน

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และทำการบูรณะหลายครั้ง จนถูกโจรใต้ยึดเป็นสถานที่ต่อสู้กับทางราชการ และถูกสังหารหมู่ในช่วงแรกๆ ของสถานการณ์ก่อการร้ายในภาคใต้

ในการปะทะกันครั้งนั้น ตัวมัสยิดได้รับความเสียหายบางส่วน กรมศิลปากรจึงได้เข้าไปดำเนินการบูรณะครั้งใหญ่ ตามสภาพที่ปรากฏในปัจจุบัน

ทีนี้ นอกจากมัสยิดกรือเซะแล้ว ลิ้มโต๊ะเคี่ยม หรือเจ้าชายโต๊ะ อาโกะ ก็ยังคงมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับอีกสิ่งหนึ่งที่เล่าขานกัน คู่ตำนานองค์รายาบีรู

นั่นคือ ปืนใหญ่นางพญาตานี


ภาพเก่าของ ปืนใหญ่นางพญาตานี ที่ีตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม
ปัจจุบันก็ยังคงตั้งอยู่ทีี่เดิม เพียงแต่หันป่ากกระบอกปืนไปในทิศทาฃอื่น

โดยมูลเหตุที่จะสร้างปืนใหญ่ดังกล่าว ที่มีการบรรยายไว่ในเอกสารต่างๆ ที่เรียบเรียงโดยนักค้นคว้าชาวไทยและต่างประเทศ ล้วนกล่าวสอดคล้องกันครับ

เช่น บทความชื่อว่า Masjid Kersik เรียบเรียงโดย ดร.อิสมาแอล ฮาบัด นั้น ระบุว่า กษัตริย์อยุธยาได้วางแผนทำศึกกับปัตตานีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการแก้แค้น เพราะเคยพ่ายแพ้มาก่อนหน้านี้แล้ว (ในรัชสมัยรายาฮิเยา)

เมื่อองค์รายาบีรูทรงทราบข่าวว่า กองทัพสยามคิดจะยกมาตีเมืองปัตตานีอีกครั้ง พระนางจึงโปรดฯ ให้มุขมนตรีจัดหาทองเหลือง เพื่อหล่อปืนใหญ่ไว้ต่อสู้

ซึ่งจากหนังสือ สี่กษัตริยาปัตตานี : บัลลังก์เลือด และตำนานรักเพื่อแผ่นดิน โดย สุภัตรา ภูมิประภาส  ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เป็นการรวบรวมทองเหลืองทั้งหมดที่มีในพระนครเลยทีเดียว ทั้งยังทรงสั่งห้ามพสกนิกร ขายทองเหลืองให้กับชาวต่างชาติเป็นระยะเวลา ๓ ปี ให้นำมาขายกับทางราชการเท่านั้น หากผู้ใดฝ่าฝืน ผู้นั้นต้องรับโทษประหารชีวิต

เหตุที่องค์รายาบีรูต้องทรงหล่อปืนใหญ่ขึ้นใช้เอง แทนที่จะทรงสั่งซื้อจากชาวตะวันตกที่เข้ามาค้าขายกันอยู่เป็นอันมากนั้น อิบรอฮิมซากรี ชาวกลันตัน ผู้เรียบเรียงหนังสือ สยาเลาะห์กรียาอันมลายูปัตตานี อธิบายว่า เป็นเพราะชาวยุโรปได้ย้ายสถานีการค้าออกไปจากปัตตานี ทำให้หาซื้อปืนใหญ่ได้ยาก

และผู้ได้รับพระราชโองการจากองค์รายาบีรู ให้ควบคุมการหล่อปืนใหญ่นั้น ก็คือ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม หรือเจ้าชายโต๊ะ อาโกะ พระสวามีของพระนางนั่นเอง

ซึ่งนั่นก็ย่อมเป็นเพราะ เขามีผลงานการบูรณะมัสยิดกรือเซะได้สำเร็จเรียบร้อย เปิดใช้งานมาแล้วก่อนหน้านั้น มิใช่ทิ้งค้างไว้ตามตำนานเจ้าแม่ลิเมกอเหนี่ยว

เล่ากันว่า ลิเมโต๊ะเคี่ยมซึ่งอายุมากถึง ๗๗ ปีแล้ว ก็ยังคงทุ่มเทแรงกายแรงใจ หล่อปืนใหญ่จนสำเร็จได้ ๓ กระบอก และเมื่อให้เจ้าพนักงานทดลองบรรจุดินประสิวและกระสุน ปรากฏว่า สองกระบอกแรกยิงได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

แต่เมื่อทดลองยิงกระบอกที่สาม ทำอย่างไรก็ยิงไม่ออก ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงทดลองจุดชนวนด้วยตนเอง

ผลคือ เกิดระเบิดขึ้น จบชีวิตแห่งการผจญภัยอันโชกโชนของเขา ณ ที่ทำการหล่อปืนใหญ่นั้น เมื่อพ.ศ.๒๑๖๑

รายาบีรูทรงเสียพระทัยมาก โปรดให้สร้างสุสานสำหรับพระสวามีที่ กุโบร์รายอ บริเวณชายฝั่ง ต.ตันหยงลูโละ ในปัจจุบัน

ที่นั่นยังคงเหลือโลงหิน ที่มีจารึกภาษามลายูปัตตานีด้านข้าง ระบุชัดว่าเป็นโลงพระศพของเจ้าชายโต๊ะ อาโกะ หรือลิ้มโต๊ะเคี่ยมอย่างชัดเจน และพระนามของเจ้าชายโต๊ะ อาโกะ ยังได้เป็นชื่อท่าเรือแห่งหนึ่งด้วยครับ

ส่วนปืนใหญ่ ๒ กระบอกแรกที่หล่อสำเร็จ องค์รายาบีรูพระราชทานนามว่า ศรีปัตตานี กับ ศรีนครา และได้สำแดงอานุภาพใรการรบจริง กับกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลต่อมา จนกองทัพอยุธยาแตกพ่ายไปอีกคำรบหนึ่ง


รายาบีรูเมื่อทรงขึ้นครองราชย์
ในตอนท้ายของภาพยนตร์ "ปืนใหญ่จอมสลัด"

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ ตีได้นครปัตตานีเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ ทรงเห็นว่า เป็นปืนที่มีอานุภาพยิ่งนัก จึงโปรดฯ ให้ขนย้ายไปถวายสมเด็จพระเชษฐาธิราช

แต่เรือลำที่บรรทุกปืนศรีนครา ล่มระหว่างการเดินทาง เหลือแต่ปืนศรีปัตตานีเพียงกระบอกเดียว ที่ไปถึงกรุงเทพฯ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกนามว่า พญาตานี หรือที่นิยมเรียกต่อๆ กันมาว่า นางพญาตานีที่ตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน นั่นละครับ

นางพญาตานี นับเป็นปืนใหญ่หล่อด้วยสำริดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความยาว ๖ เมตร ๘๙ เซนติเมตร การยิงปืนกระบอกนี้แต่ละครั้ง จะต้องบรรจุดินปืนหนัก ๑๕ ชั่ง สามารถยิงไกลประมาณ ๑,๔๖๐-๑,๘๐๐ เมตร

นับเป็นมรดกล้ำค่า คู่บ้านคู่เมืองของชาวปัตตานีมาแต่สมัยโบราณ และปัจจุบันก็ยังคงเป็นตราสัญลักษณ์ ประจำจังหวัดปัตตานีอีกด้วย

แต่แม้จะทรงมีปืนใหญ่ ที่สร้างขึ้นอย่างดีเยี่ยม ไว้ปกป้องรักษาเอกราช ของนครรัฐปัตตานีแล้ว นะครับ

รายาบีรูก็ยังทรงดำเนินพระราชวิเทโศบาย เพื่อรักษาควมสัมพันธ์กับกรุงศรีอยุธยา เป็นการยับนั้งสงครามที่จะเกิดขึ้น ด้วยการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา

และเมื่อถึงพ.ศ.๒๑๕๗ สุลต่านแห่งรัฐปาหังสิ้นพระชนม์ พระนางก็ทรงส่งเสนาบดีไปเชิญเสด็จพระน้องนางอูงู มเหสีม่ายของเจ้านครปาหัง และ เจ้าหญิงกูนิง พระราชนัดดาวัย ๑๒ พรรษา กลับมาประทับที่นครปัตตานี

หลังจากนั้น ก็พระราชทานเจ้าหญิงกูนิงให้หมั้นหมายกับ ออกญาเดโช โอรสของราชามุสตาฟาร์ เจ้าเมืองพัทลุง เชื้อสาย สุลต่านสุลัยมาน แห่งสงขลา ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา


ในภาพยนตร์ "ปืนใหญ่จอมสลัด" มีการสมมุติเหตุการณ์ที่กองทัพโจรสลัดมาประชิดนครปัตตานี
จนเจ้าหญิงบีรูต้องทรงสวมเกราะแบบที่เห็นนี้ ช่วยพระพี่นางทำศึก
ซึ่งถ้าจะมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นจริง
ก็น่าจะเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างปัตตานี กับอยุธยา
ในรัชสมัยของพระพี่นางฮิเยามากกว่า
เป็นพระราชกุศโลบายเพื่อสานสัมพันธ์ กับราชสำนักอยุธยาที่ทรงอิทธิพลในขณะนั้น ให้แนบแน่นยิ่งขึ้นไปอีก

ในขณะเดียวกัน ก็ทรงส่งคณะทูตไปเข้าเฝ้าองค์สุลต่านแห่งรัฐกลันตัน เพื่อหารือเกี่ยวกับการรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐปัตตานี เพื่อต่อต้านอิทธิพลของกรุงศรีอยุธยา ในคาบสมุทรมลายูด้วย

แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้ว่าจะทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักกรุงศรีอยุธยา จนมั่นพระทัยได้ระดับหนึ่งว่า จะไม่เกิดสงครามระหว่างกันขึ้นได้โดยง่ายแล้ว แต่พระนางไม่เคยไว้วางพระทัยชาวสยามเลยครับ

และเมื่อผลการเจรจาผ่านคณะทูตไม่เป็นที่พอพระทัย รายาบีรูก็เสด็จไปเยือนนครรัฐกลันตันด้วยพระองค์เอง และทรงเจรจาจนเป็นผลให้สุลต่านแห่งรัฐกลันตัน ทรงมีความเห็นคล้อยตามข้อเสนอของพระนาง ในการรวมตัวเข้าเป็นสหพันธรัฐปัตตานี


ในภาพยนตร์ "ปืนใหญ่จอมสลัด" ได้มอบบทเจ้าหญิงบีรู
ให้กับ แจ็คกี้ อภิธนานนท์
ซึ่งแสดงถึงพระจริยวัตรที่อ่อนหวาน
ตัดกับความเข้มแข็งของพระพี่นางฮิเยาอย่างชัดเจน

ด้วยพระราโชบายในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่องค์รายาบีรูทรงสานต่อจากพระพี่นางฮิเยา และการดำเนินการทางการเมืองอย่างชาญฉลาด จนทำให้ปัตตานีกับกลันตันสามารถรวมตัวกันขึ้นเป็นสหพันธรัฐ ดังที่เล่ามานี้ ทำให้นครรัฐปัตตานียังคงรุ่งโรจน์ ภายใต้รัชสมัยของพระนาง

พสกนิกรยังคงดำเนินชีวิตด้วยความรื่นรมย์ สืบเนื่องเป็นเวลากว่า ๓ ทศวรรษ นับตั้งแต่รัชสมัยขององค์รายาฮิเยาผู้พี่ จนตลอดรัชกาลของรายาบีรูผู้น้อง ที่มิได้มีศึกสงครามมากล้ำกรายให้ชีวิตที่สงบสุขในนครปัตตานีต้องผันแปรไป

มีเพียงการพิพาทแก่งแย่งกัน ระหว่างพ่อค้าต่างชาติเท่านั้น ที่ทำให้บรรยากาศการค้าระหว่างประเทศของปัตตานีในรัชสมัยของพระนาง ไม่คึกคักเท่ากับสมัยของพระขนิษฐภคนี

โดยเฉพาะ การขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับฮอลันดา จนถึงสู้รบกันด้วยยุทธนาวีใน พ.ศ.๒๑๖๒ จบลงด้วยอังกฤษเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ฮอลันดาประกาศอำนาจเหนืออังกฤษในคาบสมุทรมลายู โดยที่องค์รายาบีรูไม่สามารถจะทรงช่วยเหลือ หรือไกล่เกลี่ยใดๆ ได้

หลังจากนั้น พ่อค้าอังกฤษจึงค่อยๆ ทยอยออกไป จนพ.ศ.๒๑๖๖ ก็ไม่มีพ่อค้าอังกฤษเหลืออยู่ที่ปัตตานีอีกเลย

แต่พ่อค้าชาวยุโรปชาติอื่นๆ ก็ยังคงค้าขายกันตามปกติละครับ นครปัตตานีจึงไม่ถึงกับได้รับผลกระทบอะไรมากนัก

รายาบีรู หรือที่ประชาชนถวายพระสมัญญานามว่า Marhum Tengah เสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. ๒๑๖๗ เมื่อพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา

ทรงอยู่ในสิริราชสมบัติเพียง ๘ ปีเท่านั้นก็จริง แต่ก็เป็น ๘ ปีที่ก่อเกิดตำนานสำคัญ สืบสานเป็นมรดกคู่นครปัตตานีมาจนทุกวันนี้


..........................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

ขอขอบคุณ สหมงคลฟิล์ม เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพจากาพยนตร์ ปืนใหญ่จอมสลัด


Total Pageviews