Monday, August 1, 2016

พระนางพสุจเทวี นางพญาแห่งศรีสัชนาลัย



พระรูปพระนางพสุจเทวี ที่วัดสิริเขตคีรี อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
บันทึกภาพโดย ดนัย นาควัชระ

หากเปรียบเทียบกับขัตติยนารีทุกพระองค์ ในประวัติศาสตร์ไทย พระนางพสุจเทวี นับว่าทรงมีเรื่องราวอยู่น้อยที่สุด และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปน้อยที่สุดด้วยครับ

พระนางพสุจเทวี พระองค์นี้ ตามพระประวัติแล้วทรงเป็นพระอัครมเหสีของพระร่วง ซึ่งมีตำนานว่าเป็นผู้สร้างเมืองศรีสัชนาลัย คือ พระร่วงอรุณราช หรือ พระร่วงอรุณกุมาร

และปัจจุบันคติการนับถือบูชาพระนางก็ยังคงมีอยู่ เฉพาะแต่ในเขตอำเภอศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัยเท่านั้น

หากไปถามคนท้องถิ่นอื่น ก็เป็นอันว่าไม่มีใครรู้จัก หรือเคยได้ยินชื่อเสียงของพระนางเลยทีเดียว

ตำนานเล่าขานเกี่ยวแก่พระนางพสุจเทวีนั้น มีเค้าเดิมมาจากหนังสือ พงศาวดารเหนือ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์ตั้งแต่ยังดำรงพระเกียรติยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยทรงมีรับสั่งให้ พระวิเชียรปรีชา (น้อย) เป็นผู้รวบรวมเรื่องมาถวายให้ทรงเรียบเรียง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๐

พงศาวดารดังกล่าว ดำเนินเรื่องตั้งแต่บาธรรมราชสร้างเมืองสัชชนาไลย เมืองสวรรคโลก ได้เสวยราชสมบัติทรงพระนามพระเจ้าธรรมราชาธิราช เป็นลำดับมาจนถึงสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

เรื่องราวเกี่ยวกับพระนางพสุจเทวี ในพงศาวดารดังกล่าว ปรากฏอยู่ในตอนที่ว่าด้วยพระร่วงอรุณกุมารเมืองสวรรคโลก ยกทัพไปปราบพระเจ้ากรุงจีนที่มิได้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีลบศักราช ที่พระองค์ทรงมีพระราชโองการให้จัดขึ้น

ผมขอยกเรื่องราวทั้งหมดมานำเสนอในบทความนี้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันนะครับ :

พระยาร่วงมีพระราชโองการตรัสแก่เจ้าฤทธิกุมารว่า พระยากรุงจีนเหตุใดจึงมิได้มาช่วยลบศักราช เราพี่น้องจะไปเอาพระยากรุงจีนมาเป็นข้าเราให้ได้ จากนั้นจึงให้แต่งเรือสำเภาลำหนึ่งยาวแปดวา ปากกว้างสี่ศอก ครั้นได้ฤกษ์ก็เสด็จออกไปด้วยกำลังน้ำ พระองค์ทั้งสองมีแต่ธนูศิลป์ ไปได้เดือนหนึ่งจึงถึงกรุงจีน พระเจ้ากรุงจีนรู้แก่ใจด้วยมีพระพุทธทำนายไว้ว่า จะมีไทยสองคนพี่น้องข้ามทะเลมาแสวงหาเมีย และชายผู้หนึ่งจะเป็นจ้าวแก่ชาวชมพูทวีป และจะลบศักราชพระพุทธเจ้า เมื่อรู้ดังนั้นแล้วจึงให้พลจีนออกไปรับพระองค์มาที่เรือนหลวงให้นั่งบนแท่นแก้ว ถวายบังคมแล้วจึงชวนเจรจา พระยาร่วงก็ทรงภาษาได้ทุกประการ พระเจ้ากรุงจีนจึงนำเอาพระธิดามาถวายให้เป็นพระอัครมเหสี พระยากรุงจีนจึงให้แต่งสำเภาเภตราลำหนึ่งกับเครื่องบรรณาการพระยาร่วงด้วย นางพสุจเทวี และเจ้าฤทธิกุมารจึงมาลงเรือสำเภาพร้อมทั้งจีนบริวาร ๕๐๐ คน เดินทางมาหนึ่งเดือนจึงถึงเมืองสัชนาไลย ซึ่งขณะนั้นน้ำทะเลขึ้นมาถึงใช้สำเภาไปมาได้ บรรดาจีนทั้งหลายก็ทำถ้วยชามถวาย จึงเกิดมีถ้วยชามแต่นั้นมา 
        
พระประวัติของพระนางพสุจเทวีในพงศาวดารเหนือมีเพียงเท่านี้ และก็ไม่พบว่ามีอยู่ในเอกสารอื่นใดอีกเลยครับ
         
แต่ชาวบ้านในเขต อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ก็มีอันมากที่เชื่อว่า พระนางทรงมีตัวตนอยู่จริง และบางทีก็เรียกในอีกพระนามหนึ่งว่า พระนางวิสุทธิเทวี ซึ่งซ้ำกับพระนางวิสุทธิเทวี กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์มังรายผู้ครองเชียงใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการเรียกเพี้ยนจากพระนามเดิมว่า พสุจเทวี นั่นเอง

ชาวบ้านที่เชื่อว่าพระนางพสุจเทวีมีตัวตนจริง ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับพระนางมากนักหรอกครับ นอกจากเชื่อกันว่า ทรงสร้างวัดไว้ในเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งยังปรากฏหลักฐานอยู่ในปัจจุบันทั้งสิ้น

วัดที่เชื่อกันมากว่า พระนางพสุจเทวีสร้างไว้ในศรีสัชนาลัย มี ๒ แห่งครับ คือ วัดโคกสิงคาราม นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยทางด้านทิศตะวันออก และ วัดนางพญา เป็นวัดภายในเมืองศรีสัชนาลัย อยู่ถัดจากวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ ใกล้กับกำแพงเมืองด้านทิศใต้

วัดนางพญานี้สำคัญครับ เพราะมักจะกล่าวกันว่า ชื่อวัดคือ นางพญานั้นหมายถึงพระนางพสุจเทวี ธิดาพระเจ้ากรุงจีน มเหสีของพระร่วงนั่นเอง

จุดเด่นของวัดนี้ คือ เป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามมาก ปรากฏอยู่บนซากผนังวิหาร ซึ่งเจาะช่องแสงเป็นช่องยาวๆ เรียงกัน มีลวดลายปูนปั้นประดับ




โดยเฉพาะลวดลายปูนปั้นที่หลงเหลืออยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้นั้น งามละเอียดลออเป็นที่สุด มีชุดของลวดลายที่สำคัญ เรียกว่า ลายดอกเพกา ซึ่งมีผู้เปรียบเทียบกับวัดทั่วไปว่า มักจะปั้นปูนเป็นลายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลายดอกไม้ จึงเท่ากับเป็นการยืนยันว่า วัดนี้สร้างโดยผู้หญิง คือ พระนางพสุจเทวี พระมเหสีของพระร่วง

คนศรีสัชนาลัยมักบอกกล่าวกับผู้ไปเยือนว่า วัดนางพญา เป็นอีกวัดหนึ่งที่พลาดไม่ได้สำหรับผู้หญิง เพราะเชื่อกันว่าสตรีใดที่มาไหว้ขอพรพระที่วัดนี้ จะยิ่งใหญ่ เป็นที่นับถือของผู้คนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าในสายตาของนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลป์นั้น วัดโคกสิงคาราม และวัดนางพญามีอายุเก่าเพียงสมัยสุโขทัยตอนปลาย-อยุธยาตอนต้นเท่านั้นละครับ

อีกทั้งลวดลายอันสวยงาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวัดนางพญา ก็มิได้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเป็นวัดที่สร้างโดยผู้หญิงอีกด้วย

เพราะลายปูนปั้นลักษณะคล้ายกันนี้ยังปรากฏให้เห็นที่ วัดไลย์ จ.สุพรรณบุรี และยังปรากฏในวัดต่างๆ ทางภาคเหนือที่สร้างขึ้นในยุคสมัยเดียวกันอีกมากมาย

พูดง่ายๆ ก็คือเป็นความนิยมในขณะนั้น ไม่ใช่ลักษณะพิเศษแต่อย่างใดครับ

นอกจากในความเป็นจริง จะไม่มีโบราณสถานแม้สักแห่งเดียวในศรีสัชนาลัยที่มีหลักฐานว่าสร้างโดยพระนางพสุจเทวีแล้ว แม้แต่ประวัติพระร่วงในพงศาวดารเหนือ ก็อาจมีสารัตถะของความจริงอยู่น้อยมาก

และปัจจุบันนี้ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดีไทยก็มักใช้พงศาวดารนี้อ้างอิงเฉพาะในเรื่องที่มีหลักฐานหรือวัตถุพยานรองรับเท่านั้นครับ

ทรรศนะเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในปัจจุบัน แต่ได้เกิดมาแล้วตั้งแต่ในแผ่นดินที่ ๖ ของกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวคือแม้แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงเชื่อถือเรื่องพระร่วงในพงศาวดารนี้

เพราะฉะนั้น จึงนับได้ว่าพระนางพสุจเทวีทรงเป็นนางกษัตริย์ในตำนานอย่างแท้จริง เพราะไม่มีอะไรเกี่ยวแก่พระนางที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางโบราณคดีหรือเอกสารต่างๆ

มีแต่เพียงเรื่องราวทำนองมุขปาฐะ ที่ชาวบ้านในอำเภอศรีสัชนาลัยจดจำสืบต่อกันมา และคำบอกเล่าจากการนั่งทางใน หรือการรู้เห็นผ่านทางนิมิตของผู้บำเพ็ญฌานสมาบัติ ทั้งพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราจะนับว่าพงศาวดารนั้นคือตำนานประเภทหนึ่ง และตำนานทั้งหลายนั้นมักจะมีเชื้อแห่งความจริงสอดแทรกอยู่ บางทีเราก็อาจหาตัวตนของพระร่วงอรุณราช และพระนางพสุจเทวี ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เรามีอยู่จริงได้นะครับ

โดยเฉพาะถ้าหากว่า เราจะไม่ไปยึดติดกับยุคสมัยที่ปรากฏในตำนานนั้นมากเกินไป

ในหนังสือ กรุงศรีอยุธยาของเรา โดย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม และ สุโขทัยเมืองพระร่วง ของกรมศิลปากร แม้จะไม่กล่าวถึงเรื่องในพงศาวดารเหนือโดยตรง แต่ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจของกษัตริย์สมัยอยุธยาตอนต้นพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระนครินทราชาธิราช



         
สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าพระองค์นี้ ทรงครองราชย์อยู่ระหว่างพ.ศ.๑๙๕๒-๑๙๖๗ ตามประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นผู้นำความเจริญมั่นคงมาสู่กรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก เนื่องจากการที่ทรงสามารถรวมแคว้นสุพรรณภูมิและสุโขทัยเข้ามาไว้ในอำนาจ จนสามารถยึดราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาจากราชวงศ์ละโว้ และทำให้กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองจนถึงขั้นเป็น อาณาจักรอย่างแท้จริงแห่งแรกของไทย

จอมกษัตริย์พระองค์นี้ละครับ ที่อาจนำเราไปสู่การค้นพบเรื่องราวที่แท้จริง ของพระนางพสุจเทวีได้

โดยประเด็นแรกที่ควรสังเกต ก็คือ การที่รัชสมัยของพระองค์มีการติดต่อค้าขายกับจีนอย่างแน่นแฟ้น เพราะพระองค์เองได้เคยเสด็จไปเมืองจีนถึง ๒ ครั้ง ตั้งแต่สมัยที่ทรงดำรงพระยศเป็น เจ้านครอินทร์ หรือ สมเด็จพระอินทราชา แห่งแคว้นสุพรรณภูมิ ซึ่งในสมัยนั้นมีอำนาจทางการเมืองเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา

การเสด็จไปเมืองจีนครั้งแรก ในปีที่ ๑๐ แห่งรัชกาลหงหวู่ (พ.ศ.๑๙๒๐) พระราชกรณียกิจทางการทูตของพระองค์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จักรพรรดิจีนแห่งราชวงศ์หมิงได้พระราชทานสิ่งสำคัญคือ ตรากษัตริย์เสียนหลอ ซึ่งหมายถึงการที่จีนรับรองพระราชอำนาจในฐานะของรัฐที่สำคัญที่สุด ในบรรดารัฐหรือแคว้นของคนไทยทั้งหมดในสยาม รวมทั้งพระภูษาเงินทอง และค่าใช้จ่ายในการเดินทางแด่พระองค์

ขณะที่คณะทูตจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งก็เดินทางไปเมืองจีนเหมือนกัน มิได้รับสิ่งสำคัญเช่นนี้เลยครับ

ครั้นสิ้นแผ่นดิน สมเด็จพระราเมศวร แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระราชโอรส คือ สมเด็จพระรามราชา ได้ครองราชย์สมบัติต่อมานั้น เจ้านครอินทร์ก็ทรงโดดเดี่ยวกรุงศรีอยุธยาทั้งด้วยวิธีการทางการเมืองระหว่างประเทศ คือการเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนโดยแยกต่างหากจากทางอยุธยา และยังทรงแผ่อิทธิพลเข้าไปในดินแดนสุโขทัย ซึ่งเป็นเครือข่ายของพันธมิตรฝ่ายพระมารดา จนกระทั่งในเวลาต่อมา ก็ทรงมีอิทธิพลเหนือบ้านเมืองในแคว้นสุโขทัยทั้งหมด

เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้านครอินทร์จึงทรงมีกำลังทั้งจากแคว้นสุพรรณภูมิ และแคว้นสุโขทัยรวมกัน กลายเป็นพลังอำนาจที่บีบกรุงศรีอยุธยาไว้ตรงกลาง จนพระองค์สามารถเสด็จไปช่วงชิงราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาจากสมเด็จพระรามราชาได้ในที่สุดเมื่อพ.ศ.๑๙๕๒ และเฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระนครินทราชาธิราช

และเมื่อเสวยราชย์แล้ว พระองค์ก็ยังทรงติดต่อกับจีนอย่างใกล้ชิด ทรงขอช่างปั้นจีนมาสอนและทำเครื่องถ้วยชามในประเทศไทย จนสามารถผลิตขายเป็นสินค้าส่งออกไปยังมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในนามที่ทุกคนรู้จักกันดีว่า เครื่องสังคโลก


ชามสังคโลก ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด
ภาพจาก http://bangkokguide1.wordpress.com
         
หลักสูตรการศึกษายุคเก่าของไทยเรา มักจะสอนว่า เครื่องสังคโลกเจริญรุ่งเรืองในสมัยพ่อขุนรามคำแหง หรือสมัยสุโขทัย ใช่มั้ยครับ?

แต่จากหลักฐานที่เหลืออยู่ทั้งหมด ไทยเพิ่งจะผลิตสังคโลกเป็นสินค้าออกอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็เมื่อสมัยสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ซึ่งสุโขทัยได้ตกเป็นประเทศราชของอยุธยาแล้วนี่เอง

เพราะนอกจากอายุของเครื่องสังคโลกรุ่นเก่าสุด ที่ถูกส่งไปขายต่างประเทศทั้งหมดจะยืนยันเช่นนั้น ชื่อของ สังคโลก เองนั้นก็บ่งชัดอยู่แล้วว่า เป็นคำที่เพี้ยนมาจากชื่อเมือง สวรรคโลก ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของเมืองศรีสัชนาลัยในสมัยอยุธยาตอนต้น ไม่ใช่สมัยสุโขทัย
         
และโดยเหตุที่สมเด็จพระนครินทราชาธิราช ทรงเป็นใหญ่อยู่เหนือแคว้นสุโขทัยด้วยในขณะนั้น พระองค์จึงทรงเลือกเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องสังคโลก เพราะเหตุที่ว่าเป็นแหล่งที่มีดินดีเหมาะแก่การทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งก็ยังคงผลิตกันได้อยู่จนถึงทุกวันนี้
         
เพราะฉะนั้น  แม้ว่าเรื่องราวเป็นอันมากในพงศาวดารเหนือนั้นจะไม่ใช่เรื่องจริง แต่ในส่วนที่กล่าวว่าพระร่วงเสด็จไปเมืองจีนนั้น เป็นความจริงแน่นอนครับ

เพียงแต่ว่า พระร่วงองค์นั้น หาใช่พระร่วงอรุณราชผู้สร้างเมืองศรีสัชนาลัยไม่  หากเป็นสมเด็จพระนครินทราชาธิราชเจ้าพระองค์นี้เอง

เพราะพระองค์ทรงมีเชื้อสายทางมารดาเป็นราชวงศ์กษัตริย์สุโขทัย ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๓๘ หลักนี้ในตอนอื่น ว่าลุง (พี่ของมารดา) ของพระองค์เป็นเจ้าเมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในเขตแคว้นสุโขทัย พระองค์จึงสามารถเป็น พระร่วงในตำนานได้ ตามสายเลือดทางมารดาไงครับ
         
สมเด็จพระนครินทราชาธิราช ทรงรังสรรค์ความเจริญแก่กรุงศรีอยุธยาอย่างไม่เคยมีปรากฏมาก่อน คติการสร้างพระปรางค์ขนาดใหญ่โตมโหฬาร ขึ้นเป็นพระเจดีย์ประธานของวัดต่างๆ เกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์นี้เอง ความเจริญทางศิลปวิทยาการ รวมทั้งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในสมัยนั้น ทำให้กรุงศรีอยุธยากลายเป็นบ้านเมืองที่โอ่อ่าภูมิฐานยิ่งนัก


วัดราชบูรณะ ภาพจาก http://www.xn--12cm1bm5dua0c1alb3vqa.com

ดังปรากฏว่า ในกรุพระปรางค์ที่ วัดราชบูรณะ ซึ่ง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) โปรดฯ ให้สร้างขึ้นในการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนครินทราชาธิราชซึ่งเป็นพระราชบิดานั้น เต็มไปด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ไม่ว่าจะเป็นพระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงดาบอาญาสิทธิ์ ศิราภรณ์ เครื่องสูง และเครื่องราชูปโภคที่ทำด้วยทองคำประดับอัญมณีล้วนๆ รวมทั้งหุ่นจำลองพระปรางค์วัดราชบูรณะที่ทำด้วยทองคำด้วย

สมบัติพัสถานอันประมาณค่ามิได้เหล่านี้ แม้จะถูกคนร้ายลักขุดไปเป็นอันมาก ก็ยังเหลืออยู่อีกมากเช่นกัน และยังคงจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาทุกวันนี้
         
นอกจากของมีค่าต่างๆ ภายในกรุแล้ว ผนังรอบๆ กรุยังเต็มไปด้วยภาพเขียนสีที่สวยงาม ในบรรดาภาพเหล่านั้น มีภาพคนจีนรวมอยู่ด้วย เป็นอีกพยานวัตถุหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับจีนอย่างแน่นแฟ้นในรัชกาลสมเด็จพระนครินทราชาธิราช
         
ยิ่งกว่านั้น ยังพบพระพิมพ์เนื้อชินจำนวนมากที่มีอักษรจีนประทับไว้ข้างหลัง สะท้อนเค้าเงื่อนในพงศาวดารเหนือ เรื่องพระร่วงเสด็จไปเมืองจีนอย่างแจ่มชัดที่สุด

แล้วในเมื่อเรื่องพระร่วงไปเมืองจีนตามพงศาวดารเหนือนั้นเป็นความจริง สมเด็จพระนครินทราชาธิราชซึ่งเคยเสด็จไปเมืองจีนด้วยพระองค์เองมาแล้วนั้น จะทรงได้พระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีน คือ พระนางพสุจเทวี มาเป็นพระมเหสีจริงดังที่พงศาวดารเหนือกล่าวไว้หรือไม่?
         
ผมว่า หลายๆ ท่านที่ได้อ่านพระราชประวัติของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชมาแล้ว อาจจะมีความคิดอย่างหนึ่งที่ตรงกันนะครับ

กล่าวคือ ในเมื่อพระองค์คือพระร่วงที่ไปเมืองจีนจริงๆ ตามพงศาวดาร และพระองค์ก็ทรงได้รับพระเกียรติยศมากมายจากราชสำนักจีน

ดังนั้น การที่พงศาวดารเหนือกล่าวว่าทรงได้พระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนเป็นพระมเหสี ก็น่าจะมีหนทางแห่งความเป็นไปได้เช่นกัน จริงมั้ยครับ?

แต่น่าเสียดายที่ว่า จนถึงขณะนี้ เรายังไม่มีการค้นพบหลักฐานอะไรที่จะยืนยันเรื่องนี้โดยตรง เพราะอย่างน้อยก็ไม่มีบันทึกของทางราชสำนักจีนกล่าวถึงเรื่องนี้เลยครับ 

ที่สำคัญก็คือ การบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในราชสำนักจีนนั้นกระทำกันอย่างเข้มงวด และเที่ยงตรงมาก ทุกยุคทุกสมัย

ดังนั้น ถ้าหากว่ามีการพระราชทานพระราชธิดาของพระจักรพรรดิให้เจ้านายต่างเมืองจริง ไม่ว่าจะเป็นพระราชธิดาในลำดับที่มีความสำคัญเล็กน้อยเพียงใด ก็ต้องมีการบันทึกไว้อย่างแน่นอน

และบันทึกเหล่านี้จะไม่สูญหาย หรือถูกทำลายไปเป็นอันขาด เนื่องจากหอเก็บบันทึกเหล่านี้ ไม่เคยถูกเผาทำลาย หรือมีใครไปแตะต้อง ทุกเล่มทุกฉบับยังคงถูกเก็บรักษาไว้ให้ค้นอ่านได้ในทุกวันนี้

เพราะฉะนั้น ถ้าเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นกับสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ย่อมไม่มีโอกาสจะหลุดรอดไปได้แม้แต่น้อย
         
ผมจึงมองหาความเป็นไปได้ ไปในอีกทางหนึ่งว่า พระนางพสุจเทวีอาจจะไม่ใช่พระราชธิดากษัตริย์จีน แต่เป็นขัตติยนารีชาวกรุงสุโขทัยนั่นเอง

เพราะตามพระราชประวัติของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชนั้น ทรงมีพระอัครมเหสีเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์สุโขทัยครับ

และพระราชโอรสที่เกิดจากพระอัครมเหสีองค์นี้ ก็คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา)  ซึ่งก็ได้เจริญรอยตามพระราชบิดา คือทรงมีพระอัครมเหสีเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์สุโขทัยเช่นกัน
         
ถ้าพระนางพสุจเทวี ทรงเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์สุโขทัยสมัยนั้น ก็ไม่แปลกอะไรเลยครับ ที่พระนางจะทรงคุ้นเคยกับเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย จนแม้ภายหลังเสกสมรสกับสมเด็จพระนครินทราชาธิราชแล้ว พระนางยังได้เสด็จประพาสสุโขทัยพร้อมกับพระโอรสที่ยังทรงพระเยาว์ด้วย

ดังปรากฏใน ศิลาจารึกหลักที่ ๔๙ หรือ ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ ทางทิศเหนือของเมืองสุโขทัย ระบุไว้ว่า เมื่อพ.ศ.๑๙๕๙ พระบรมราชาธิบดีศรีมหาจักรพรรดิราชพร้อมพระราชมารดา และพระมาตุจฉา (น้า) ได้เสด็จไปถวายช้างเผือกและราชรถแด่พระสงฆ์ที่เมืองสุโขทัย


วัดสรศักดิ์

พระนาม พระบรมราชาธิบดีศรีมหาจักรพรรดิราชนั้น เป็นพระนามของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ซึ่งได้ปรากฏในจารึกทองคำที่พบในกรุ วัดพระธาตุ จ.สุพรรณบุรี

ดังนั้น จากข้อความในจารึกดังกล่าวจึงตีความได้ว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ได้เสด็จประพาสกรุงสุโขทัยเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พร้อมด้วยพระราชมารดา ซึ่งก็น่าจะหมายถึงพระนางพสุจเทวีนั่นเอง

ทั้งยังมีความเป็นไปได้ด้วยนะครับว่า ในการดูแลอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องถ้วยสังคโลก ณ เมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยนั้น สมเด็จพระนครินทราชาธิราชอาจจะโปรดฯ ให้พระอัครมเหสีของพระองค์ ซึ่งเป็นคนสุโขทัยโดยกำเนิด ทรงรับภาระในส่วนนี้ก็ได้

ซึ่งถ้าเป็นจริง ก็จะเป็นเหตุให้พระนางต้องเสด็จพระราชดำเนินระหว่างอยุธยา-สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย เป็นครั้งคราว หรือเสด็จไปประทับที่สุโขทัยเป็นระยะ ดังที่มีร่องรอยจากศิลาจารึกวัดสรศักดิ์กล่าวถึงการที่พระนาง พระขนิษฐภคนี (?) และพระราชโอรสที่ยังทรงพระเยาว์เสด็จไปทำบุญ ณ วัดดังกล่าว ซึ่ง นายอินทรสรศักดิ์ ที่สันนิษฐานกันว่าเป็นข้าราชการของกรุงศรีอยุธยาได้สร้างขึ้นในเมืองสุโขทัย

และจากศิลาจารึกดังกล่าว ยังระบุไว้ด้วยว่า พระตำหนักเดิมของพระนางนั้นตั้งอยู่ติดกับวัดสรศักดิ์ด้านทิศตะวันตก บริเวณที่ติดกับหัวสนามเก่านั่นเอง

ผมว่า คงเป็นเพราะเหตุนี้ละครับ ที่ทำให้ผู้ได้พบเห็นนิมิตของพระนางพสุจเทวีโดยการนั่งทางใน หรือทางฌานสมาบัติต่างบอกเล่าตรงกันว่า พระนางทรงสร้างวัดไว้หลายแห่งในศรีสัชนาลัย


วัดโคกสิงคาราม
ซึ่งบัดนี้เราก็ได้รู้กันแล้วว่า วัดเหล่านั้นต่างเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งกรุงสุโขทัยและศรีสัชนาลัยตกเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาไปแล้วทั้งสิ้น

และนอกเหนือจากข้อความในศิลาจารึกดังกล่าว เราก็ยังอาจมีหลักฐานอื่น ที่ทำให้เราเข้าใกล้เรื่องราวที่แท้จริงของราชนารีองค์นี้ได้มากขึ้นไปอีกก็ได้นะครับ
         
จากบรรดาทรัพย์สมบัติอันมีค่า ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ นอกจากเครื่องราชกกุธภัณธ์ซึ่งน่าจะเป็นของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชแล้ว ยังมีเครื่องราชูปโภคและเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ส่วนหนึ่ง ที่เป็นของใช้สำหรับเจ้านายฝ่ายในอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

เป็นต้นว่า มงกุฎ (หรือเทริด) สำหรับกษัตรีย์ หรือสตรีชั้นสูงในราชสำนัก ซึ่งคนร้ายที่ลักลอบขุดกรุได้ให้ปากคำไว้และยังไม่อาจตามคืนได้จนบัดนี้

คงพบแต่ศิราภรณ์ที่ทำด้วยเส้นทองคำเล็กๆ ถักละเอียดโปร่งบางราวกับใยผ้า มีลวดลายประดับไว้ทั้งด้านข้างและด้านบน ฝีมือการถักทอประณีตบรรจงมาก ใช้สำหรับสวมครอบมวยผมเพื่อป้องกันเส้นเกศาสยาย




เครื่องราชูปโภคสำหรับเจ้านายสตรีเช่นนี้ คงมิได้เป็นของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชหรอกครับ

แต่การที่สิ่งเหล่านี้ถูกนำไปบรรจุไว้ในกรุเดียวกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภค ของสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ก็ย่อมแสดงเห็นว่าเป็นของราชนิกูลฝ่ายหญิงพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ในระดับที่ใกล้ชิดเป็นพิเศษ

ซึ่งก็น่าจะเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีของพระองค์ ซึ่งไม่ปรากฏพระนามในประวัติศาสตร์นั่นเองละครับ
         
ดังนั้น เครื่องถนิมพิมพาภรณ์เหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันยังคงจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ครั้งหนึ่งก็อาจจะเคยได้ใช้ประดับพระวรกายของพระนางพสุจเทวี ราชนารีจากแคว้นสุโขทัย อัครมเหสีของสมเด็จพระศรีนครินทราชาธิราช ผู้ยังคงเป็นนางกษัตริย์ในตำนานพระองค์หนึ่งจนทุกวันนี้ก็ได้

ปัจจุบันนี้ ภายใน วัดสิริเขตคีรี (วัดพระร่วง) ต.ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มีมณฑปประดิษฐานเทวรูปพระร่วงอรุณราช และพระนางพสุจเทวี ตั้งอยู่สองข้างทางขึ้นไปสู่พระเจดีย์องค์สำคัญของวัด

พระรูปทั้งสองหล่อด้วยโลหะปิดทองตลอดองค์ แบบอย่างฉลองพระองค์ เป็นไปตามการสันนิษฐานถึงรูปแบบการแต่งกายเจ้านายสุโขทัยที่มีพื้นฐานมาจากละครกรมศิลปากรในสมัยหนึ่ง มีผู้แวะเวียนไปสักการบูชาอยู่เป็นประจำ ซึ่งก็กล่าวกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก


ภาพจาก http://tamroiphrabuddhabat.com

ตามความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ พระรูปทั้งสองนี้ ควรเป็นองค์จำลองของสมเด็จพระนครินทราชาธิราช และพระอัครมเหสีชาวสุโขทัย ซึ่งทรงมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ที่ทุกฝ่ายยอมรับกัน

และย่อมจะเป็นเหตุเป็นผลที่สอดคล้องกับความศักดิ์สิทธิ์ ของพระนางพสุจเทวี ที่ยังคงยั่งยืนอยู่ในจิตวิญญาณของคนศรีสัชนาลัยจนทุกวันนี้ มากกว่าเรื่องราวอันเลื่อนลอยของพระร่วงอรุณราชผู้เกิดจากนางนาค ผู้เสด็จไปเมืองจีนในยุคสมัยอันไกลโพ้นซึ่งปราศจากหลักฐานทางโบราณคดีรองรับ


เพราะความศักดิ์สิทธิ์นั้น จะต้องเกิดจากบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริง ไม่ใช่ในตำนานที่เป็นเรื่องแต่งขึ้น หาตัวตนมิได้ครับ



………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

Total Pageviews