Tuesday, March 20, 2018

พระนางจามเทวี พระแม่จามุณฑา





เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้อ่านบทความของ ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ เรื่อง ล้านนาศึกษาใน ไทศึกษาครั้งที่ 13 (19) เจ้าแม่แห่งล้านนา จาก นางแก้วถึง จามเทวี

ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑ ใน https://www.matichonweekly.com/column/article_83931

บทความดังกล่าว ดร.เพ็ญสุภาอ้างอิงจาก หัวข้อเสวนา สำหรับเวที ล้านนาศึกษา ในการประชุมทางวิชาการนานาชาติ ไทศึกษา ครั้งที่ ๑๓ เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐

โดยมีประเด็นสำคัญ ซึ่งผมขอคัดลอกจากข้อเขียนของ ดร.เพ็ญสุภา ดังต่อไปนี้ครับ

.................

กรณีชื่อ จามเทวีวิธูรมีมุมมองว่า เป็นปุราณะหรือเรื่องเล่าที่ตกค้างจากอินเดีย กล่าวคือมี นางจามมณฑา” (อ่าน มุนดา) เป็นเทวีที่ผสมทั้งความเป็นพระนางอุมา (ชายาพระศิวะ) พระนางลักษมี (ชายาพระวิษณุ) และพระนางสุรัสวดี (ชายาพระพรหม) นางจามมุณฑาเป็นผู้มาปราบ มหิงสาสุระหรืออสูรในรูปควาย

ทั้งศาสนาเชน และพุทธมหายานนิกายตันตระ นำเรื่องราวของ นางจามมุณฑาไปเป็นสัญลักษณ์ประจำศาสนาเหล่านั้นในฐานะ ผู้ปราบมารเชื่อว่าความคิดนี้ได้ส่งทอดมาถึงดินแดนภาคเหนือ ชาวพื้นเมืองจึงนำมาผสมกับเรื่องราวของ นางแก้ว

จามมุนดาเกี่ยวข้องอย่างไรกับจามเทวี?

วิธูรเชื่อว่า จามเทวีเป็นนิทานที่พัฒนามาจากโครงเรื่องของจามมุนดา ซึ่งวัยเด็กต้องเติบโตมากับนักบวช ไม่ต่างอะไรไปจากที่จามเทวีต้องเติบโตมากับฤๅษีวาสุเทพ

ชื่อของจามเทวี น่าจะมาจากคำว่า ศยามดารา หรือบางทีออกเสียงเป็น ชัมมาดารา คือพระโพธิสัตว์สตรีที่มีพระวรกายดำหรือเขียวคล้ำ มีที่มาจาก ศยามเทวีในลัทธิศักติ (ลัทธิที่บูชาสตรีเป็นใหญ่)

จามมุนดามีด้านมืดชื่อว่า เมทังกี” (เหมือนกับพระอุมามีด้านมืดเป็นนางทุรคา) ซึ่งชาวบ้านต้องเซ่นสรวงเทพีเมทังกีด้วยการนำ ระดู” (เลือดประจำเดือน) ไปถวายที่ศาลของนาง

ไม่ต่างไปจากการที่จามเทวีนำเลือดประจำเดือนไปทำไสยศาสตร์ข่มขุนหลวงวิลังคะให้หมดอาคมคาถา รวมไปถึงฉากสุดท้ายที่ให้ขุนหลวงวิลังคะเป็นผู้พ่ายแพ้รัก ต้องเป็นฝ่ายประกาศคำสาปแช่งต่อจามเทวี

สิ่งเหล่านี้ เป็นการต่อสู้ของผู้หญิงที่ต้องการเป็นใหญ่ แม้จะถูกควบคุมไว้โดยเพศชายทุกวิถีทางก็ตาม

ดังนั้น หากสนใจเรื่องราวของพระนางจามเทวีแล้ว ควรศึกษาด้านคติชนวิทยาที่สอดแทรกอยู่ด้วย จะค้นพบปรัชญาที่ซ่อนอยู่ภายใต้รูปแบบตำนาน ไม่ใช่เรื่องที่เหลวไหลแต่อย่างใดเลย

ฟังจากน้ำเสียงแล้ว วิธูร บัวแดง มองว่า จามเทวีจะมีตัวตนจริงหรือไม่นั้น หาใช่สาระสำคัญที่จะมาถกเถียงกันแต่อย่างใดไม่

ไม่ว่าจะมีตัวตนจริงหรือเป็นแค่เทพีในตำนานก็ตาม แต่นางก็ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสตรี ที่ถูกผลิตซ้ำให้กลายเป็นความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์ พร้อมๆ กับการทวงคืนพื้นที่ของเพศหญิงอย่างแยบยล

....................

จากประเด็นดังกล่าว ผมขอแยกเป็นข้อๆ และนำเสนอข้อมูล กับความคิดเห็นของผมประกอบ ดังต่อไปนี้ครับ

๑) กรณีชื่อ จามเทวี อ.วิธูร บัวแดง มีมุมมองว่า เป็นปุราณะ หรือเรื่องเล่าที่ตกค้างจากอินเดีย คือ นางจามมุณฑา

ความเห็นของผม : พระนามของ พระแม่จามุณฑา (चामुण्डा) คนอินเดียออกสียงว่า ชามุนดา (Cāṃuṇḍā) คนไทยออกเสียงว่า จามุณฑา




ผมไม่เคยได้ยินใครที่ไหนออกพระนามท่านว่า จามมุณฑา

ถ้าจะเชื่อมโยงพระนามของเทพนารีองค์นี้ เข้ากับพระนามของพระแม่เจ้าจามเทวี ด้วยการออกเสียงดังกล่าว ผมว่า ยังไม่ชัดเจนครับ

๒) เป็นเทวีที่ผสมทั้งความเป็นพระนางอุมา (ชายาพระศิวะ) พระนางลักษมี (ชายาพระวิษณุ) และพระนางสุรัสวดี (ชายาพระพรหม) นางจามมุณฑาเป็นผู้มาปราบ มหิงสาสุระหรืออสูรในรูปควาย

ความเห็นของผม : พระแม่จามุณฑาทรงเป็นเทพนารีองค์หนึ่ง ในคณะมาตฤกาทั้ง ๗ หรือ สัปตมาตฤกา (Sapta Matrika)

และไม่ใช่พระแม่ที่ปราบ มหิษาสูร หรืออสูรควาย

เพราะ คำว่า จามุณฑา มาจากนามของอสูร ๒ ตน ที่ถูกพระนางสังหาร คือ อสูรจัณฑา (Chanda) และ อสูรมุณฑา (Munda)

ส่วนพระแม่ผู้ปราบอสูรควาย คือ พระแม่ทุรคา (Durga दुर्गा) ในภาคที่เรียกว่า มหิษาสุรมรรทินี (Mahishasura Mardini महिषासुरमर्दिनि)




๓) ทั้งศาสนาเชน และพุทธมหายานนิกายตันตระ นำเรื่องราวของ นางจามมุณฑาไปเป็นสัญลักษณ์ประจำศาสนาเหล่านั้นในฐานะ ผู้ปราบมาร เชื่อว่าความคิดนี้ได้ส่งทอดมาถึงดินแดนภาคเหนือ ชาวพื้นเมืองจึงนำมาผสมกับเรื่องราวของ นางแก้ว

ความเห็นของผม : ผู้ปราบมารในทั้งสองศาสนานั้น ล้วนนำไปจากลัทธิศาสนาพื้นเมืองในอินเดีย ตลอดจนศาสนาฮินดู และเฉพาะเทพนารีก็มีอยู่หลายองค์

แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานใดนะครับ ที่หนักแน่นพอจะสนับสนุนการนำเสนอของ อ.วิธูร ว่า เป็นแนวความคิดที่ส่งทอดมาถึงล้านนา

เพราะพื้นฐานความคิด เป็นคนละอย่างกันครับ

คติชนวิทยาในเรื่องของ
นางแก้ว ในภูมิภาคอุษาคเนย์ ไม่สอดคล้องเท่าใดนัก กับคติการบูชาเทวีปราบมารของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นฮินดู ตันตระ หรือศาสนาเชน




นอกเสียจากว่า เป็นคติโบราณที่ให้ความสำคัญกับ ศักติ หรือ พลังของเพศหญิงเหมือนกันเท่านั้น

ซึ่งก็เป็นคติร่วมกัน ของชนชาติต่างๆ ทั่วโลก ที่เก่าแก่มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มิได้มีอยู่จำเพาะอินเดียและไทย

แม้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพียงภูมิภาคเดียว ก็มีคติเช่นนี้อยู่ทั่วไปในแหล่งอารยธรรมต่างๆ มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยที่แต่ละแหล่ง ก็มิได้มีหลักฐานที่แสดงถึงการเลียนแบบกันแต่อย่างใด

๔) อ.วิธูรเชื่อว่า จามเทวีเป็นนิทานที่พัฒนามาจากโครงเรื่องของจามมุนดา ซึ่งวัยเด็กต้องเติบโตมากับนักบวช ไม่ต่างอะไรไปจากที่จามเทวีต้องเติบโตมากับฤๅษีวาสุเทพ

ความเห็นของผม : ผมไม่เคยได้ยิน เทพนิยาย ที่เล่าเรื่องชีวิตวัยเด็กของพระแม่จามุณฑานะครับ

มีแต่เทพนิยายในคัมภีร์ เทวี มหาตมัยยะ (Devi Mahatmya) ว่า พระแม่ทุรคาทรงสร้างขึ้นมา เพื่อปราบกองทัพของ ศุมภาสูร และ นิศุมภาสูร (Shumbha-Nisumha)

หรือคัมภัร์ วราหะ ปุราณะ (Varaha Purana) ซึ่งพระนางปรากฏขึ้นจาก พระแม่นรสิงหเทวี (Narasimhi) ชายาของพระนรสิงห์

และคัมภีร์ มัตสยะ ปุราณะ (Matsya Purana) ซึ่งกล่าวว่า พระศิวะทรงสร้างพระนางกับพระมาตฤกาองค์อื่นๆ เพื่อช่วยปราบ อันธกาสูร (Andhakasura) 

ถ้ามี ก็คงเป็นเทพนิยายที่แต่งกันขึ้นในยุคหลัง ยิ่งกว่าคัมภีร์เหล่านี้ครับ




เพราะลัทธิเดิมของพระแม่จามุณฑา เป็นการนับถือเทพปีศาจ มีประติมานวิทยาที่ดุร้าย น่ากลัว เช่นเดียวกับพระแม่กาลี

ลัทธิเช่นนี้ จะไม่ค่อยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ขององค์เทพในวัยเด็กหรอกครับ

และถ้าเป็นคัมภีร์รุ่นหลังปุราณะต่างๆ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า จะเก่าไม่ทันรัชสมัยพระนางจามเทวีด้วยซ้ำไป

ส่วนเรื่องพระนางจามเทวี ที่เติบโตมากับพระฤาษีวาสุเทพ ก็ชัดเจนอยู่แล้วนะครับ ว่าเป็นนิทานเลียนแบบเรื่อง นางปทุมวดี อดีตชาติของ พระอุบลวรรณาเถรี พระอรหันต์รูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล

ดังปรากฏอยู่ใน อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ทวาทสกนิบาต ว่าด้วยอุบลวัณณาเถรีคาถา กล่าวว่าพระเถรีรูปนี้ ในอดีตชาติเคยถวายดอกบัวแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ผลบุญนั้นทำให้นางได้ปฏิสนธิในเทวโลก

เมื่อจุติจากเทวโลกก็บังเกิดในดอกบัว ในสระใกล้เชิงเขา ดาบสตนหนึ่งไปพบก็นำไปเลี้ยง

และด้วยบุญญานุภาพของนาง ก็ทำให้เกิดน้ำนมหลั่งจากนิ้วหัวแม่มือของดาบสรูปนั้น สำหรับเลี้ยงดูนางด้วย




ลอกกันมาตรงๆ อย่างนี้ละครับ ที่ทำให้นิยายเรื่องพระฤาษีวาสุเทพเลี้ยงดูพระนางจามเทวี ไม่สามารถจะนำมาใช้อ้างอิงใดๆ ได้อีก

๕) ชื่อของจามเทวี น่าจะมาจากคำว่า ศยามดารา หรือบางทีออกเสียงเป็น ชัมมาดารา คือพระโพธิสัตว์สตรีที่มีพระวรกายดำหรือเขียวคล้ำ มีที่มาจาก ศยามเทวีในลัทธิศักติ (ลัทธิที่บูชาสตรีเป็นใหญ่)

ความเห็นของผม : ตกลงจะเชื่อมโยงกับพระแม่จามุณฑา หรือพระศยามตาราโพธิสัตว์กันแน่ครับ?

คำว่า ศยามตารา ออกเสียงตามเจ้าของภาษาว่า ชะยามะตารา ฟังอย่างไรก็ไม่ใกล้กับ ชัมมาตารา

ก็คงเหมือนกับ จามมุณฑา ละครับ เป็นการเชื่อมโยงกับพระนาม จามเทวี ที่ยังไม่น่าเชื่อถือได้มากเท่าที่ควร

คติเดิมของพระโพธิสัตว์ตารา มีความเกี่ยวข้องกับลัทธิศักติในอินเดียก็จริง แต่มหายานอินเดีย ได้ปรุงแต่งพระโพธิสัตว์ตาราเสียใหม่ จนมี ๒ ภาคหลักๆ ที่นิยมบูชากัน คือ พระนางตาราวรรณะเขียว หรือ พระศยามตาราโพธิสัตว์




และ พระนางตาราวรรณะขาว หรือ พระสิตตาราโพธิสัตว์

ซึ่งเป็นภาคแห่งมหากรุณาด้วยกันทั้งคู่

ความนิยมในองค์พระโพธิสัตว์ตารา ของฝ่ายมหายานนี้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้คติการบูชาเทวีตาราของเดิมในอินเดียลดความสำคัญไปมาก และในที่สุด ก็กลายเป็นพระโพธิสัตว์ที่สำคัญสูงสุด ในศาสนาวัชรยานฝ่ายทิเบตทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับความนิยมมากตั้งแต่อินเดียภาคตะวันออก ไปจนถึงจีนและทิเบต

แต่ก็ไม่ปรากฏว่า มีการเคารพบูชาพระโพธิสัตว์ตาราในพม่า จนเป็นเหตุปัจจัยที่มากเพียงพอจะทำให้เชื่อมโยงมาถึงตำนานพระนางจามเทวีได้

๖) จามมุนดามีด้านมืดชื่อว่า เมทังกี (เหมือนกับพระอุมามีด้านมืดเป็นนางทุรคา) ซึ่งชาวบ้านต้องเซ่นสรวงเทพีเมทังกีด้วยการนำ ระดู (เลือดประจำเดือน) ไปถวายที่ศาลของนาง

ความเห็นของผม : ในเทววิทยาอินเดีย ผมไม่เคยเห็นตำราใดกล่าวถึง ด้านมืด ของพระแม่จามุณฑา

เพราะพระนางเองนั้น ทรงเป็นเทวีที่มีบุคลิกภาพดุร้าย น่าสะพรึงกลัว พูดประสาชาวบ้าน ก็ทรงเป็น ด้านมืด อยู่แล้ว

ส่วนคำว่า เมทังกี ผมก็ไม่เคยได้ยินเช่นกันครับ

เคยได้ยินแต่คำว่า มาตางคี (Matangi मातङ्गी) ซึ่งเป็นคติการบูชา พระสรัสวดี (Saraswati सरस्वती) ในภาคตันตระ คือทรงเป็นผู้ประทานความรู้ในศาสตร์ลี้ลับ และรวมอยู่ในคณะเทวี ๑๐ องค์ หรือ มหาวิทยา (Maha Vidya)




ซึ่งอาจจะพูดง่ายๆ ได้ว่า ทรงเป็น ด้านมืด ของพระแม่สรัสวดี ขณะที่ใน “ด้านสว่าง” นั้น ทรงที่รู้จักและบูชากันทั่วไป ในฐานะคุรุเทวี ผู้ประทานความรู้ในด้านศิลปวิทยาการ

(ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ Matangi ใน https://en.wikipedia.org/wiki/Matangi)

ส่วนเรื่องที่ชาวบ้านต้องเซ่นสรวงเทพีเมทังกีด้วยการนำ ระดู (เลือดประจำเดือน) ไปถวายที่ศาลของนาง ความจริงเป็นอย่างนี้ครับ

ในพิธีกรรมการบูชาพระมาตางคีนั้น จะมีการกระทำหลายอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามในศาสนาฮินดูทั่วไป

อย่างหนึ่งก็คือ การที่ผู้บูชาที่เป็นสตรีถวายผ้าเปื้อนเลือดประจำเดือน เพื่อให้บังเกิดอำนาจลี้ลับ ในการดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้าม

ซึ่งควรนับว่า เป็นไสยศาสตร์ชนิดหนึ่งครับ

แต่ พระแม่จามุณฑา กับพระแม่มาตางคีนั้น โดยทั่วไปไม่ถือว่าเกี่ยวข้องกัน

พระแม่จามุณฑา มีภาคเดียว เป็นตันตระอยู่แล้ว ไม่มีด้านสว่างหรือด้านมืด และทรงผูกพันกับคณะสัปตมาตฤกา

ในขณะที่พระแม่มาตางคี เป็นภาคตันตระ หรือด้านมืดของพระแม่สรัสวดี และผูกพันกับคณะมหาวิทยา




๗) ไม่ต่างไปจากการที่จามเทวีนำเลือดประจำเดือนไปทำไสยศาสตร์ข่มขุนหลวงวิลังคะให้หมดอาคมคาถา รวมไปถึงฉากสุดท้ายที่ให้ขุนหลวงวิลังคะเป็นผู้พ่ายแพ้รัก ต้องเป็นฝ่ายประกาศคำสาปแช่งต่อจามเทวี

ความเห็นของผม : เมื่อปรากฏชัดว่า พระแม่จามุณฑา ไม่เกี่ยวข้องกับ พระแม่มาตางคี

การเชื่อมโยงเทพนารี ๒ องค์นี้เป็นองค์เดียวกัน แล้วเอาเรื่องการถวายผ้าเปื้อนเลือดประจำเดือนแก่พระแม่มาตางคี มาเปรียบเทียบกับไสยศาสตร์ในตำนานพระนางจามเทวี ย่อมเป็นเรื่อง ผิดฝาผิดตัว ครับ

และโดยไม่จำเป็นต้องคิดซับซ้อนอะไรมาก เพียงถามใครในวงการไสยศาสตร์ ก็ย่อมได้คำตอบอยู่แล้วว่า เลือดประจำเดือนนั้นล้างอาคมได้ โดยเฉพาะวิชาอาคมที่เกี่ยวกับอาวุธ และคงกระพัน

ไสยศาสตร์ล้านนาจึงกลัวเลือดประจำเดือนนัก เมื่อลงอาคม และพยนต์ เพื่อป้องกันรักษาพระธาตุเจดีย์ต่างๆ แล้ว จึงห้ามผู้หญิงผ่านเข้าไป ดังที่เห็นๆ กันอยู่




การที่มีเรื่องราวเช่นนี้ อยู่ในตำนานพระนางจามเทวีกับขุนวิลังคะ จึงเข้าใจได้ไม่ยากครับ

ตำนานในส่วนนี้ ถ้าเกิดขึ้นจริง ก็เกิดไปแล้วถึงพันกว่าปี

แม้แต่คนรุ่นหลังที่สืบทอดตำนานดังกล่าว ก็ไม่มีใครรู้กันแล้ว ว่าเมื่อพันกว่าปีก่อนนั้น เขาทำหรือแก้วิชาอาคมกันอย่างไร

คนที่เล่าตำนานก็ต้องเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยของตนเองนั่นแหละครับ ต่อเติมเสริมแต่งเข้าไป

เพราะอย่างน้อย แม้แต่หมวก หรือผ้าโพกหัวของขุนวิลังคะ จะมีลักษณะอย่างไร มีจริงหรือไม่ ก็ไม่มีทางรู้กันแล้ว

ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่ไหนยืนยันนะครับ ว่าหัวหน้าเผ่าลัวะแห่งดอยสุเทพยุคพันกว่าปีก่อน แต่งกายอย่างไร มีผ้าโพกหัวหรือไม่

๘) ฟังจากน้ำเสียงแล้ว อ.วิธูร บัวแดง มองว่า จามเทวีจะมีตัวตนจริงหรือไม่นั้น หาใช่สาระสำคัญที่จะมาถกเถียงกันแต่อย่างใดไม่

ตวามเห็นของผม : สำคัญสิครับ ทำไมจะไม่สำคัญ?




เพราะถ้าพระนางทรงมีตัวตนจริง แต่เราไม่คิดว่า พระนางทรงมีตัวตนจริง

เราก็จะยังคงมาถกเถียงกัน ด้วยประเด็นที่ผมหยิบยกมาอภิปรายในบทความนี้

นั่นคือ การไปแสวงหาสิ่งที่คิดว่า พ้องกัน จากเทววิทยานิกายศักติของอินเดียบ้าง เทววิทยามหายาน-วัชรยานบ้าง

มาเชื่อมโยงกับคติชนวิทยาในเรื่องของนางแก้ว อันเป็นลัทธิก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคอุษาคเนย์ ซึ่งเหมือนกันกับอินเดียและมหายาน แค่มีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับ พลัง ของผู้หญิงเท่านั้น

โดยที่หลักใหญ่ใจความ หรือสารัตถะนั้น ไม่มีความสอดคล้องกัน ดังที่เป็นอยู่

แล้วผลที่จะได้ ก็คือ แนวความคิดที่ไม่ลงตัว หาข้อสนับสนุนได้ยาก

แถมยังจะพาเราห่างไกลไปจากความน่าจะเป็นของเรื่องจริง โดยใช่เหตุ

การพยายามหามุมมองใหม่ จากตำนานพระนางจามเทวี ด้วยศาสตร์แห่งคติชนวิทยา อาจจำเป็นอย่างยิ่งครับ 

ถ้าหากว่า เราไม่มีหลักฐานเลยสักชิ้น ที่ยืนยันได้ว่า พระนางทรงมีตัวตนจริง

แต่ความจริงก็คือ เรามีจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งกล่าวถึงนครหริภุญไชยว่า เป็น รัฐแห่งกษัตริย์หญิง

เอกสารจีนดังกล่าว บันทึกชื่อบ้านนามเมือง สำหรับให้คนจีนด้วยกันใช้เป็นหมุดหมาย ในการเดินทางไปยังค่ายทหารจีน

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องระบุถึงสถานที่ต่างๆ ที่มีอยู่จริง ไม่ใช่จินตนาการ

และมันถูกบันทึกไว้ห่างจากรัชสมัยของพระนางจามเทวี (ในตำนาน) เพียงไม่ถึง ๒๐๐ ปี

เพราะไม่สนใจ หรือลืมกันไปแล้วว่า มีหลักฐานที่ชัดเจนขนาดนี้ จึงทำให้ต้องมีความพยายามที่จะหามุมมองใหม่ๆ กันเรื่อยไป

โดยมีพื้นฐานอยู่บนทรรศนะที่ ไม่เชื่อ ว่าพระนางจามเทวี ทรงเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

จนทำให้เกิดข้อสรุปที่ว่า เรื่องราวของพระนาง ถูกสร้างขึ้น เพื่อเจตจำนงค์ใดก็แล้วแต่

ซึ่งทุกการเคลื่อนไหวใหม่ๆ นั้น ผมเองก็เห็นว่ามีประโยชน์ทั้งนั้นแหละครับ

อย่างน้อย ก็ทำให้เรื่องของพระนางจามเทวี ไม่เงียบหาย

และถึงแม้จะเป็นการนำเสนอในแง่ใด ในไม่ช้า ความจริง ก็จะถูกเผยแพร่ตามมาเสมอครับ


……………………………



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


Total Pageviews