Thursday, April 27, 2017

พระรูป พระราชานุสาวรีย์ พระนางจามเทวี ๒




พระรูป พระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี ในบทความนี้ ส่วนหนึ่งเคยโพสต์ในบทความชื่อเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันผมแยกไปเป็นตอนที่ ๑ กล่าวถึงเฉพาะในลำพูน เชียงใหม่ และลำปาง 


ดังนั้น ส่วนที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆ ทั้งในภาคเหนือและภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ ก็ตัดมาโพสต์ในบทความนี้ เพื่อจะได้รองรับข้อมูลสถานที่ประดิษฐานใหม่ๆ ซึ่งมีทีท่าว่า จะเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผมคิดไว้ แล้วท่านที่สนใจจะได้ค้นอ่านโดยสะดวกด้วยครับ





วัดแสงแก้วโพธิญาณ ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

มีพระรูปพระนางจามเทวีประทับอยู่ในศาลา รวมกับพระรูปอดีตกษัตริย์อีกหลายพระองค์ ทำด้วยโลหะรมดำ

พระรูปพระนางจามเทวีของวัดแห่งนี้ นับเป็นพระรูปอีกองค์หนึ่งที่ออกแบบขึ้นใหม่ไม่ซ้ำที่อื่น กล่าวคือ อยู่ในอิริยาบถเยื้องย่าง พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วถือดอกบัวระดับพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายผายออกข้างพระโสณี ชายผ้าฉลองพระองค์บางส่วนพลิ้วไหว

ถ้าดูเผินๆ พระรูปองค์นี้ดูมีลีลาและความอ่อนช้อย เหมือนกำลังร่ายรำ คล้ายกับที่วัดป่าคะยอมใต้ จ.ลำพูนแต่น่าเสียดายว่าฝีมือการปั้นหล่อไม่ถึงกับดีนัก ครูบาอริยชาติ อริยจิตโต เจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้าง




วัดพระธาตุศรีดอนคำ ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่ 

มีพระรูปพระนางจามเทวีประดิษฐานบนแท่นฐานสี่เหลี่ยมตั้ยๆ สองชั้น ทำด้วยปูนปั้นทาสีทองทั้งองค์ ฝีมือการปั้นอยู่ในขั้นดี ลักษณะของการฉลองพระองค์ก็เอาแบบจากพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน แต่ท่าทางเปลี่ยนไป

กล่าวคือ พระรูปอยู่ในอากัปกิริยาย่างพระบาทเล็กน้อย พระหัตถ์ขวายื่นไปข้างหน้าหงายลงสู่พื้นตรงๆ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระนาภี ถือผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ




ภายในหอพระไตรปิฎกของวัด ยังมีพระรูปพระนางจามเทวีแบบเดียวกันนี้อีกองค์หนึ่ง ผิดกันแต่ลักษณะแท่นฐานเท่านั้น

เหตุที่สร้าง เพราะมีตำนานท้องถิ่นว่าครั้งหนึ่งพระนางได้ ลองเสด็จผ่านมาทางนี้ และโปรดฯ ให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนอุรังคธาตุไว้ที่วัดนี้ด้วย พระรูปทั้งสองพระองค์ จึงอยู่ในลักษณะของการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไงครับ   




วัดสะแล่ง อ.ลอง จ.แพร่

อาณาบริเวณของพระราชานุสาวรีย์ที่วัดนี้ ได้รับการออกแบบที่ดีมาก

แต่น่าเสียดายครับ ที่พระรูปซึ่งหล่อด้วยโลหะรมดำ ในอิริยาบถที่ดูเหมือนจะจำลองมาจากพระราชานุสาวรีย์ที่กาดหนองดอกนั้น มีสัดส่วนที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก และพระพักตร์ก็ไม่งาม พระหัตถ์ซ้ายที่ควรจะทรงพระขรรค์ก็ปล่อยทิ้งให้ว่างอยู่

ดังนั้นแม้จะพยายามเก็บรายละเอียดจากองค์ต้นแบบไว้ได้มาก แต่พระรูปองค์นี้ก็ยังไม่อาจเรียกว่างามได้ ซึ่งก็คงเป็นเพราะได้ช่างที่ไม่ค่อยชำนาญนั่นเอง




วัดสามเงา อ.ย่านรี จ.ตาก

พระราชานุสาวรีย์ของที่นี่ อาจไม่มีการออกแบบที่งามเด่นเหมือนอีกหลายแห่ง แต่พระรูปซึ่งหล่อด้วยโลหะรมดำนั้น จำลองแบบพระราชานุสาวรีย์ที่กาดหนองดอกมาได้ดีมาก ทั้งสัดส่วนก็ค่อนข้างดีด้วย เพราะช่างผู้ทำการปั้นหล่อเข้าใจในเรื่องของทัศนียวิทยาพอสมควร รายละเอียดของพระรูปก็ดีเท่ากับโรงหล่อที่มีมาตรฐาน

ดังนั้นแม้ไม่งามเท่าองค์ต้นแบบ แต่ก็งามอยู่ในระดับแถวหน้าของพระรูปราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีทั้งหมด ที่สร้างขึ้นทั่วเมืองไทยครับ

สิ่งที่ผมเห็นว่า เป็นข้อบกพร่องของที่นี่ นอกจากการถวายผ้าทรงจนไม่สามารถหาภาพที่ชัดเจนของพระรูปได้แล้ว ก็คือ รูปปั้นลิงสองตัวที่ขนาบแท่นฐานพระรูปนั่นเอง

บรรดาลิงเหล่านี้ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรยกออกไปเสียเถอะครับ เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับพระแม่เจ้าจามเทวีเลย นอกจากในนิยายของ คุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์ ซึ่งเป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น




วัดพระธาตุแก่งสร้อย ต.บ้านนา อ.สามเงา จ.ตาก

เป็นพระรูปที่ไม่ซ้ำที่อื่น กล่าวคือ อยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งพับเพียบบนแท่น สวมศิราภรณ์รัดเกล้า ฉลองพระองค์แบบโบราณ แต่ก็ไม่ใช่แบบที่เห็นกันได้ทั่วไป ทำด้วยโลหะปิดทอง ฝีมือปั้นหล่ออยู่ขั้นดีมาก จนน่าจะกล่าวได้ว่า เป็นพระรูปที่สวยงามโดดเด่นมากที่สุดอีกองค์หนึ่งของพระนางจามเทวี

แต่ก็น่าเสียดายนะครับ ที่เราไม่อาจจะยกย่องพระรูปองค์นี้ในลักษณะที่กล่าวมาแล้วได้

เนื่องจาก แบบอย่างที่นำมาใช้ปั้นหล่อพระรูปองค์นี้ แม้จะเป็นแบบที่คิดขึ้นใหม่ แต่ก็คิดขึ้นมาจากพระรูปของกษัตริยาพระองค์อื่น ที่มีอยู่ก่อนแล้ว 

กล่าวคือ เป็นพระรูปแบบเดียวกับที่โรงหล่อแห่งหนึ่ง ไปถอดแบบจากภาพจิตรกรรมในวัดพระธาตุดวงเดียวที่ อ.ลี้ ซึ่งเป็นพระสาทิสลักษณ์ของ พระนางจามรี องค์กษัตริยาในตำนานอีกพระองค์หนึ่งในปลายสมัยหริภุญไชย แล้วมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า เป็นพระรูปพระนางจามเทวี คนไม่รู้ก็พากันตื่นเต้นว่า เป็นแบบใหม่ไม่ซ้ำใคร และงดงามดีด้วย

ผู้สร้างพระรูปองค์นี้ ก็คงพลอยเข้าใจผิดไปด้วยเช่นกันครับ

ดังนั้น แม้จะเป็นพระรูปที่ได้รับการสักการะบูชาอยู่ ผมก็ไม่แน่ใจว่า ดวงพระวิญญาณที่ทรงได้รับการบูชาผ่านพระรูปนี้ จะเป็นพระนางจามเทวีหรือไม่


ภาพโดย บุษยมาศ แสงเงิน
จาก http://www.gotoknow.org

วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ต.ทำนบ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์

มีพระรูปพระนางจามเทวีทำด้วยไม้แกะสลัก ๓ องค์ ในลักษณะที่เหมือนกัน คือพระทับยืนตรง ยกพระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงปางปรานอภัย พระหัตถ์ซ้ายปล่อยไว้ข้างพระโสณี ลักษณะเหมือนจะไว้ให้ทำพระขรรค์ต่างหากประกอบเข้าไป แต่ก็ไม่มีพระขรรค์ทั้งสามองค์

เครื่องทรงของพระรูปเกือบเหมือนพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน แต่รายละเอียดผิดกันบ้าง และแปลกที่มีการปิดทองเครื่องทรงเฉพาะ ๒ องค์ที่ขนาบข้าง องค์กลางไม่มีการปิดทองใดๆ

ฝีมือแกะสลักค่อนข้างดีครับ และแกะได้เหมือนกันทั้ง ๓ องค์ จนเกือบจะเหมือนเป็นการหล่อจากบล็อคเดียวกัน



ภาพจาก https://soclaimon.wordpress.com

นอกจากนี้ยังมีพระรูปพระนางจามเทวีหล่อด้วยโลหะ สูง ๒.๕ เมตร ในพระอิริยาบถกำลังเยื้องย่างบนแท่นกลม พระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงปางประทานอภัย ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นระดับพระนาภี ถือดอกบัว ฝีมือการปั้นหล่อจัดว่าอยู่ในขั้นดี

ฉลองพระองค์ของพระรูปนี้ค่อนข้างแปลกครับ คือท่อนบนห่มผ้าไว้เพียงผืนเดียว ขณะที่ท่อนล่างเป็นแบบเดียวกับที่พระราชานุสาวรีย์ ศิราภรณ์ กุณฑล และกรองศอก็ไม่มี ทรงมุ่นมวยพระเกศาไว้เฉยๆ มีเพียงพาหุรัดและทองกรเป็นวงเล็กๆ เท่านั้น อาจเป็นการตั้งใจออกแบบ เพื่อแสดงถึงการสละราชสมบัติผินพระพักตร์สู่ทางธรรม ตามตำนานที่แพร่หลายกันอยู่ก็ได้

พระรูปนี้เป็นหนึ่งใน ๒ องค์ที่ อ.ปิยะนาถ ณ ลำพูน และ ชมรมกล้าธรรม ได้ทำการหล่อขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ และผ่านพิธีพุทธาภิเษกในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน โดยอีกองค์หนึ่งนำไปถวายไว้ที่ วัดพระธาตุริภุญชัย จ.ลำพูน ตามที่ผมได้กล่าวถึงไปแล้วครับ


ภาพโดย อรชร เอกภาพสากล

วัดโคกแก้ว อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี

มีพระรูปพระนางจามเทวีประดิษฐานอยู่ในซุ้ม ภายในอาคารที่เรียกว่า วิหารเทพ

เป็นพระรูปโลหะชุบสีทองทั้งองค์ ขนาดเท่าพระองค์จริง ลักษณะเป็นการถ่ายแบบจากพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน แต่เกือบประทับยืนตรง คือย่างพระบาทเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ดูมีอำนาจในตัวเอง

พระรูปองค์นี้ ตามประวัติว่าสร้างตั้งแต่วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๕ เหตุที่สร้างเพราะผู้สร้างได้นิมิตว่า บริเวณวัดเคยเป็นสนามรบครั้งสงครามโกสัมพี

นับเป็นพระรูปอีกพระองค์ที่ฝีมือการปั้นหล่ออยู่ในขั้นดี ซึ่งหาชมได้ยากครับ พระอาจารย์สวย กิตติญาโน เจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้าง


ภาพจาก Fanpage : วังแก้วพระแม่จามเทวี

วัดบางพึ่ง ต.มหาสอน อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี

มีพระรูปพระนางจามเทวีภายในศาลาโถง ซึ่งมีประวัติว่า สร้างเสร็จอัญเชิญเข้าประดิษฐานเมื่อวันที่ ๘-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เป็นพระรูปในอิริยาบถประทับนั่งห้อยพระบาท โดยหงายพระหัตถ์ทั้งสองบนพระเพลา หล่อด้วยโลหะทาสีดำ ปิดทองฉลองพระองค์ท่อนบนและเครื่องประดับ

เป็นพระรูปที่ตั้งใจออกแบบขึ้นใหม่ทั้งศิราภรณ์ เครื่องทรงทั้งหมด ซึ่งมีรายละเอียดที่งดงามครับ แม้ว่าจะไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่แท้จริงของพระนางก็ตาม

แต่ก็น่าเสียดายว่า ยังทำพระพักตร์ได้ไม่งามเท่าใดนัก อีกทั้งลักษณะการหงายพระหัตถ์ทั้งสองบนพระเพลา ก็ไม่สื่อความหมายที่เหมาะสมแก่ทิพยฐานะของพระนางเท่าที่ควร

เหตุที่มีการสร้างพระรูปพระนางจามเทวีไว้ที่นี่ เนื่องจากเชื่อกันว่า ในอดีตเมื่อ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว พื้นที่วัดเคยเป็นที่ตั้งวัง หรือพระตำหนักของพระนางจามเทวี ปัจจุบันจึงเรียกสถานที่ประดิษฐานพระรูปภายในวัดนี้ว่า วังแก้วพระแม่จามเทวี


ภาพจาก http: portal.rotfaithai.com

หอชมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี

ห้องโถงชั้นล่าง ตรงข้ามเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋ว มีพระรูปพระนางจามเทวีแบบเสมอพระอุระ ประดิษฐานบนแท่น ขนาบด้วยพระบรมรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของเมืองลพบุรี ประดิษฐานไว้ให้เคารพสักการะ


ภาพจาก Facebook : วัดหนองนกไข่ สมุทรสาคร

วัดหนองนกไข่ ต.หนองนกไข่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

มีพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีประดิษฐานบนแท่นเรียบๆ ตั้งอยู่บนฐานเขียง ๓ ชั้น อยู่ในมุมกำแพงรอบพระอุโบสถ เช่นเดียวกับพระรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ที่ทรงมีความสำคัญในประวัติศาสตร์อีกหลายพระองค์

พระรูปดังกล่าวหล่อด้วยโลหะทาสีดำ และทาทองเฉพาะฉลองพระองค์และเครื่องประดับ มีขนาดเล็กกว่าพระองค์จริง ฝีมือการปั้นหล่อค่อนข้างพอใช้ เนื่องจากถ้ามองระยะไกลจะเห็นว่าได้สัดส่วนถูกต้อง เพียงแต่พระพักตร์และฉลองพระองค์ยังทำได้ไม่งามเท่านั้น จัดว่าเป็นพระรูปพระนางจามเทวีองค์แรกๆ ที่ปรากฏนอกภาคเหนือ          

นอกจากนี้  ใน ศาลาพระโพธิสัตว์กวนอิม ใกล้ประตูทางเข้าวัด  ยังมีพระรูปทรงศีลของพระนางจามเทวีประดิษฐานไว้ ซึ่งเป็นพระรูปทรงศีลทำด้วยปูนปั้นที่งามมาก

พระรูปทั้งสององค์ พระครูสาครปัญญาคุณ (หลวงพ่อคับ ปัญญาพโล) เจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้าง



ภาพจาก Facebook : วัดป่าปฐมชัย

วัดป่าปฐมชัย จ.นครปฐม

มีพระรูปพระนางจามเทวี ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ ประดิษฐานอยู่ในศาลาโถง ซึ่งออกแบบและก่อสร้างโดยช่างที่ไม่มีความรู้ด้านศิลปะไทย และไม่ได้สัดส่วนรับกับพระรูปแต่อย่างใด

ส่วนพระรูปนั้น หล่อด้วยโลหะ ถอดแบบมาจากพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน โดยเก็บรายละเอียดอย่างดี แต่พระพักตร์ยังทำได้ไม่งามนัก และก็มีผู้ถวายผ้าห่มจนมิดองค์พระรูปอย่างที่เห็น การที่ช่างอุตส่าห์พยายามถอดแบบพระราชานุสาวรีย์ โดยเก็บรายละเอียดมาอย่างดีนั้น จึงเป็นการเสียเปล่า       
         

ภาพโดย ว่าที่เรือตรี พิตตินันท์ ทรัพย์ประดิษฐ์

วัดปฐมบุตรอิศราราม จรัญสนิทวงศ์ ๔๕ แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

มีพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีซึ่งสร้างในพ.ศ.๒๕๕๕ อยู่หน้ากำแพงพระอุโบสถ พระรูปองค์นี้มีขนาด ๑.๘ เมตร หล่อด้วยโลหะปิดทอง มีลีลาแตกต่างจากที่อื่น คือพระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายแสดงปางประทานพร คือหงายลงสู่พื้น

ศิราภรณ์และฉลองพระองค์ของพระรูปนี้ พยายามถ่ายแบบจากพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน แต่ผิดเพี้ยนมากครับ ฝีมือการปั้นหล่อเป็นแบบชาวบ้าน ไม่สวยงามนัก ชมรมเสด็จย่าจามเทวี เป็นผู้คิดสร้าง


ภาพจาก https:sites.google.com

วัดคฤหบดี แขวงบางพลัด เขตบางยี่ขัน กรุงเทพฯ

มีพระราชานุสาวรีย์ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ พระรูปหล่อด้วยโลหะรมดำ เป็นการปั้นหล่อขึ้นใหม่ตามแบบอย่างพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน แต่ฝีมืออ่อนกว่ามากครับ แม้จะพยายามทำให้ประณีตแล้วก็ตาม

พระรูปดังกล่าวประดิษฐานอยู่ภายใต้ฉัตรโลหะแบบล้านนา ที่ทำอย่างสวยงามได้มาตรฐาน ถ้าไม่เปรียบเทียบกับพระราชานุสาวรีย์ที่กาดหนองดอกแล้ว ก็พอจะกล่าวได้ว่าเป็นพระรูปที่น่าชม และน่าบูชาองค์หนึ่ง

และก็สะดวกสำหรับคนกรุงเทพฯ และฝั่งธนฯ ซึ่งเคารพบูชาพระนางจามเทวี จะได้แวะเวียนไปกราบไหว้ได้ทุกเมื่อ ไม่ต้องขึ้นไปถึงลำพูน

เหตุที่มีการสร้างพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีที่วัดนี้ ก็ด้วยเหตุที่ว่า มีตำนานเกี่ยวเนื่องด้วย พระพุทธแซกคำ ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ

เมื่อกล่าวถึงพระราชานุสาวรีย์ ๒ องค์ท้ายสุดนี้แล้ว ผมเองมองว่า ทั้งวัดปฐมบุตรอิศราราม และวัดคฤหบดี ล้วนแต่อยู่ใกล้กรมศิลปากร ซึ่งมีพระรูปองค์ต้นแบบพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน จัดแสดงอยู่ใน หอประติมากรรมต้นแบบ ข้างอาคารที่ทำการกรมศิลปากรนั่นละครับ

เพราะฉะนั้น ถ้าจะว่าจ้างกรมศิลปากร ให้ถ่ายแบบหรือย่อแบบจากพระรูปดังกล่าวมาสร้างให้กับวัด ก็เห็นจะไม่ต้องใช้งบประมาณที่แตกต่างจากช่างโรงหล่อทั่วไป เท่าที่เป็นอยู่มากนัก แต่ก็ไม่มีความพยายามกัน

เพราะเหตุปัจจัยมันมิได้อยู่กับความคิดที่ว่า จะต้องสร้างให้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด แต่อยู่เพียงแค่ว่า รู้จักกับใคร มี connection กับใคร และรู้หรือไม่ ว่าสามารถใช้บริการจากกรมศิลปากรได้

จึงน่าเสียดายว่า มีวัดที่สร้างพระรูปพระนางจามเทวีให้คนกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรีสะดวกจะไปบูชา แต่ก็เป็นพระรูปที่ไม่งามสมควรแก่การเลื่อมใสเท่าที่ควร ผมก็หวังว่า ในอนาคตจะมีวัดอื่นๆ ในกรุงเทพฯ หรือฝั่งธนสร้างพระรูปที่งามกว่านี้ขึ้นมานะครับ

ภาพประกอบพระรูปราชานุสาวรีย์ และพระรูปประติมากรรมต่างๆ ในบทความนี้ ผมได้รับมาจากเพื่อนๆ ใน facebook และรวบรวมมาจากอินเตอร์เน็ต ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้

รวมทั้งขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล จากสถานที่ต่างๆ ที่มีการประดิษฐานพระรูปในบทความนี้ทั้งหมดด้วยครับ โดยเฉพาะคุณ Khowoat Joe ที่เป็นกำลังสำคัญ ช่วยค้นหาพระรูปที่สร้างขึ้นใหม่ๆ ตามวัดต่างๆ มาให้ผมเป็นจำนวนมากจริงๆ


ส่วนเนื้อหาทั้งหมด เป็นลิขสิทธิ์ของผม ใครที่จะนำไปเผยแพร่ต่อ กรุณาใส่ link บทความนี้ด้วยนะครับ


Total Pageviews