Sunday, July 2, 2017

เจ้าแม่มะลิกา นางพญาแห่งเวียงแม่อาย


พระรูปเจ้าแม่มะลิกา บนแท่นบูชาของ กิตติ วัฒนะมหาตม์

หากจะเอ่ยถึงเมืองโบราณที่ชื่อ เวียงมะลิกา ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ในปัจจุบันนี้

ผมว่า นอกจากคนแม่อายแล้ว คนที่อื่นคงไม่คุ้นเคยกันนักหรอกครับ

ร่องรอยหลักฐานของเมืองดังกล่าว ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่หมู่ ๘ ต.แม่อาย ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่อาย ๒ กิโลเมตร มีทางแยกออกจากทางหลวงแผ่นดินสายฝาง-ท่าตอน กิโลเมตรที่ ๑๖.๕๐ เป็นทางดินอัดแน่นระยะทาง ๒๐๐ เมตร มีคูเมือง และซากอิฐกำแพงดินเป็นที่สังเกต

คนแถบนั้นถือกันว่า เป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่นับถือกันทั่วทั้งอำเภอแม่อาย จนมีคำขวัญประจำอำเภอว่า

เมืองเจ้าแม่มะลิกา เป็นสง่าวัดท่าตอน น้ำพุร้อนเมืองงาม ล่องแพตามลำน้ำกก

ตำนานเวียงมะลิกา กล่าวไว้ว่า พระนางมะลิกา หรือที่คนแม่อายนิยมขานพระนามว่า เจ้าแม่มะลิกานั้นทรงเป็นราชบุตรีของ พระเจ้าฝางอุดมสิน กับ พระนางสามผิว แห่งเมืองฝาง ประสูติราวปี พ.ศ.๒๑๓๑



พระราชานุสาวรีย์ พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

โดยก่อนตั้งพระครรภ์ พระมารดาทรงสุบินว่า มีช้างเผือกนำดอกมะลิมาถวาย จึงขนานพระนามว่า มะลิกาตามพระสุบิน

ตามตำนานทั่วไปเล่ากันว่า เมื่อพระชันษาได้ ๑๘ ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม ได้มีราชบุตรต่างเมืองมาสู่ขอ แต่พระนางไม่สนพระทัย กลับทรงรบเร้าให้พระบิดาสร้างเวียง ให้พระนางเสด็จแยกไปประทับอยู่ต่างหาก

ในปี พ.ศ.๒๑๕๐ พระราชบิดาจึงได้ทรงสร้างเวียงใหม่พระราชทาน ตั้งอยู่บนเนินเขาทางทิศเหนือของเมืองฝาง มีประตู ๔ ด้าน ล้อมรอบด้วยกำแพงและคูเวียงอย่างมั่นคง

ส่วนเหตุที่จะทำให้เกิดการสร้างเวียงมะลิกา ในอีกมุขปาฐะหนึ่งที่ไม่เป็นทางการนั้น เล่ากันว่า พระนางสามผิวทรงมีพระพุทธปฏิมาแก่นจันทน์อยู่องค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ และทรงสักการบูชาทุกเช้าค่ำ

วันหนึ่งในระหว่างทรงพระครรภ์ ทรงขุ่นเคืองพระทัยด้วยเรื่องพระสนมเอกของพระเจ้าฝาง ครั้นถึงเวลาถวายธูปเทียนบูชาพระพุทธปฏิมา พระนางก็ยังมิอาจดับความขุ่นเคืองในพระหฤทัยนั้นได้ จึงทรงจุดเทียนถวายสักการบูชาพระพุทธปฏิมาแก่นจันทน์ไปพอเป็นพิธี

และเมื่อทรงสวดมนต์เสร็จ ก็ทรงละเลยไว้ด้วยความประมาท จนเทียนที่จุดไว้ล้มลง เผาไหม้พระโอษฐ์พระพุทธปฏิมา

รุ่งขึ้นเวลาเช้า เมื่อพระนางเสด็จออกจากที่บรรทมเข้าไปในหอพระตามปกติ ทรงทอดพระเนตรเห็นเทียนล้มลงเผาไหม้พระโอษฐ์พระพุทธปฏิมาแก่นจันทน์เช่นนั้น ก็ตกพระทัย ทรงสำนึกบาปที่ได้ทรงกระทำไปด้วยความประมาท แต่ก็ไม่อาจจะทรงแก้ไขสิ่งใดได้เสียแล้ว

จนเวลาต่อมา พระครรภ์ครบกำหนดทศมาส พระนางสามผิวก็ทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาผู้ทรงโฉมศิริโสภาคย์ พระฉวีวรรณผุดผ่องแม้นเหมือนพระมารดา แต่ก็มีตำหนิ คือริมพระโอษฐ์ล่างแหว่งไป ดุจเดียวกับพระโอษฐ์พระพุทธปฏิมาแก่นจันทน์ ที่ถูกเปลวเทียนไหม้ฉะนั้น

เมื่อราชบุตรีทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระเจ้าฝางทรงเกรงว่า จะเป็นที่อับอายแก่ไพร่ฟ้าพลเมือง จึงโปรดฯ ให้สร้างสวนหลวงขึ้นทางทิศเหนือของเวียงสุทโธ ใกล้กับเมืองฝาง และโปรดฯ ให้สร้างคุ้มหลวง ประกอบด้วยคูเมืองและป้อมปราการล้อมรอบ พระราชทานองค์ราชบุตรีให้เป็นที่ประทับสำราญ

สวนหลวงแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า เวียงมะลิกา

ในวันเดินทางเข้าสู่เวียงใหม่ พระนางได้พาไพร่พลส่วนหนึ่งติดตามไปด้วย พร้อมกันนั้นชาวบ้านที่อยู่ในเส้นทางขบวนเสด็จก็พากันอพยพโยกย้ายติดตามไปด้วยเช่นกัน ขบวนเสด็จของพระนางมะลิกาไปถึงเวียงใหม่เมื่อเวลาพลบค่ำ จึงได้ตั้งชื่อเวียงใหม่นี้ว่า เวียงสนธยา

บางตำนานก็กล่าวว่า พระนางมะลิกาทรงเป็นผู้สร้างเวียงแห่งนี้ขึ้นด้วยพระองค์เอง เมื่อราวๆ ปีพ.ศ.๒๑๙๓ แตกต่างจาก พ.ศ.๒๑๕๐ ที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ถึง ๔๓ ปี

เมื่อไปถึงที่นั่นแล้ว พระนางมะลิกาจึงทรงได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ พระนางทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม และพระปรีชาสามารถ ทำให้พสกนิกรของพระนางอยู่เย็นเป็นสุข บ้านเมืองก็มีความเจริญรุ่งเรือง เช่นเดียวกับเมืองฝางของพระราชบิดา

แต่ในทรรศนะของตำนานพื้นบ้าน พระนางมะลิกานั้นไม่ทรงพอพระทัยในเรื่องของการมีคู่ครองจริงๆ ครับ 

และพระนางยังทรงใช้เวียงมะลิกา เป็นเสมือนโลกส่วนพระองค์ ที่จะตัดขาดจากบุรุษเพศโดยสิ้นเชิงเสียอีก

ดังที่เล่ากันว่า ในเวียงมะลิกานั้นเป็นเหมือนนครลับแล หรือเมืองแม่หม้าย คือไม่มีบุรุษเพศเลย ผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในเมืองล้วนแต่เป็นสตรีเพศ 

แม้แต่นักรบสำหรับป้องกันเมือง พระแม่เจ้าก็ทรงฝึกฝนจากสตรีที่มีรูปลักษณะแข็งแรงกำยำ เป็นทะแกล้วคนหาญของเวียงมะลิกา

ทั้งยังเล่าลือกันไปทั่ว ว่าเวียงมะลิกามีทหารหญิงที่เชี่ยวชาญการธนู ฝีมือแม่นยำ จนเป็นที่ครั่นคร้ามของเหล่าอริราชศัตรูยิ่งนัก
         
ด้วยการเล่าขานเกี่ยวกับสภาพภายในเวียงมะลิกา ดังเช่นที่กล่าวมาแล้วนี่ละครับ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ของพระนางมะลิกา ผู้ทรงพระสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือ แต่ไม่ทรงปรารถนาการมีคู่ครอง ทั้งยังทรงเป็นนางพญาผู้นำกองทัพนักรบหญิงที่มีชื่อเสียง

จึงจินตนาการกันว่า พระนางคงจะเกล้าพระเกศาอย่างรัดกุม และทรงฉลองพระองค์เยี่ยงชาย ซ้อมเพลงดาบและศิลปะการยิงธนู อยู่ในท่ามกลางขุนพลหญิงของพระนาง



พระรูปเจ้าแม่มะลิกา ขนาดบูชา จัดสร้างโดยโรงเรียนแม่อายวิทยาคม

แทนที่จะเสด็จอยู่ในพระตำหนัก เรียงร้อยมวลบุปผชาติเป็นมาลัยสวยงาม หรือทรงงานฝีมือชาววังชนิดต่างๆ ตามแบบเจ้านายผู้หญิงทั่วไปในสมัยโบราณพึงกระทำ

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีตำนานเล่าขานกันว่า ราชบุตรพระองค์หนึ่งของเจ้าผู้ครอง เวียงภูก่ำ ได้สดับข่าวเกี่ยวกับพระนางมะลิกา ก็เกิดหลงรักแทบไม่เป็นอันกินอันนอน ได้ทรงอ้อนวอนพระราชบิดา ขอเสด็จไปเวียงมะลิกาเยี่ยงสามัญชนคนค้าขาย

พระเจ้าภูก่ำก็ทรงอนุญาต แล้วดำรัสสั่งอำมาตย์คนสนิทให้ตระเตรียมม้าต่างอัญมณีเป็นสินค้า โดยเสด็จพระราชบุตร

พอข่าวการเสด็จฯ ของราชบุตรเวียงภูก่ำทราบถึงเจ้าแม่มะลิกา พระนางก็ทรงเกิดความอับอายในพระรูปของพระนางเองที่มีตำหนิอยู่ 

ในวันที่ราชบุตรกำหนดเข้าเฝ้าถวายอัญมณี พระนางจึงทรงหลบไปสรงสนานน้ำในลำห้วย และโปรดฯ ให้พระพี่เลี้ยงชื่อ นางเหลี่ยว อยู่เวียงมะลิการับเสด็จองค์ราชบุตร

เมื่อราชบุตรเวียงภูก่ำ ในรูปของนายวาณิชเข้าเฝ้า พระพี่เลี้ยงก็ทูลว่า เจ้าแม่ไม่ทรงปรารถนาพบเห็นชายใด ๆ และไม่ต้องประสงค์ในการได้ยินเรื่องเช่นนี้ พ่อค้าจำแลงจึงต้องลากลับเวียงภูก่ำด้วยความโทมนัส

เล่ากันว่า ขณะที่พระนางมะลิกาสรงสนานอยู่ น้ำในลำห้วยก็กลายเป็นสีเลือดด้วยละอายพระทัย คนทั้งหลายจึงเรียกน้ำห้วย นั้นว่า แม่อายและกลายเป็นชื่อตำบลมาตั้งแต่บัดนั้น

ซึ่งเหตุที่เป็นเช่นนี้ ผมว่า เป็นการผูกเรื่องขึ้นมาโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อจะคลายข้อสงสัยของคนทั่วไป ในเรื่องที่ว่า เหตุใดพระนางจึงไม่ทรงมีคู่ครองมากกว่าครับ

ต้นสายปลายเหตุที่แท้จริง น่าจะเกิดจากการที่พระนางทรงเป็นราชนารีที่สนใจเรื่องงานเรื่องการ มากกว่าคู่ครอง และก็ทรงพอพระราชหฤทัย กับความเป็นอิสระ ซึ่งสามารถกำหนดทุกสิ่งได้ด้วยพระนางเอง

พระนางทรงใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางพระสหาย และข้าราชบริพารที่เป็นเพศเดียวกัน เพราะรู้ใจกันและสะดวกคล่องตัว สำราญพระอิริยาบถได้มากกว่า จนทำให้ทรงรำคาญ หรืออึดอัดพระทัย ที่จะต้องข้องแวะกับเพศตรงข้ามในเชิงชู้สาว

นี่เป็นธรรมชาติ และเป็นบุคลิกลักษณะของสตรีประเภทที่มักจะเป็นผู้นำในกิจการต่างๆ อยู่เสมอครับ

สตรีเหล่านี้ล้วนไม่สนใจการมีคู่ชีวิต และเรื่องครอบครัว เพราะไม่ชอบเรื่องจุกจิกหยุมหยิมไร้สาระอีกมากมายที่จะตามมา

นอกจากนั้น ด้วยพื้นฐานที่ประสบความสำเร็จด้วยตนเอง ก็ทำให้มักจะไม่อดทน หรือทำให้ยอมรับคู่ครองที่ด้อยความสามารถกว่าตนได้โดยยาก

บางที อาจมีเหตุผลด้านการเมืองการปกครองด้วยละครับ

พระนางทรงปกครองเมืองลูกหลวง ที่อยู่ใกล้เมืองฝางของพระราชบิดา หากพระนางทรงมีคู่ครอง เวียงมะลิกาของพระนางก็อาจต้องตกอยู่ใต้อำนาจของที่พระสวามีของพระนางทรงถือกำเนิด

ซึ่งไม่เป็นการดีแน่นอน หากเมืองดังกล่าวนั้นจะมีข้อพิพาทกับเมืองฝางในอนาคต

หาเป็นเพราะทรงรังเกียจบุรุษเพศ ด้วยมีปมอันใดในพระราชหฤทัย หรือแม้แต่เพราะความอับอาย ในพระรูปที่มุขปาฐะพื้นบ้านกล่าวว่ามีตำหนิไม่

ประจักษ์พยานในเรื่องนี้ ก็คือชาวแม่อายที่เคารพศรัทธาในพระนาง ทั้งหญิงและชาย ต่างได้รับการปกป้อง และประทานพรจากพระนางเท่าเทียมกัน มาตลอดระยะเวลานานนับร้อยๆ ปี จนพระนางทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคนที่นั่น มาจนทุกวันนี้

พระนางไม่เคยทรงเลือกว่า จะตอบรับเฉพาะคำอธิษฐานของผู้หญิงเท่านั้นเลยครับ

อีกทั้งเมื่อดูจากอาณาเขตของเวียงมะลิกา ตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันแล้ว ก็เห็นได้ว่าเป็นเวียงขนาดใหญ่ เกินกว่าที่จะมีประชากรเป็นหญิงล้วนๆ

จึงทำให้เชื่อได้ว่า เวียงดังกล่าวนี้ แท้ที่จริงก็คงประกอบด้วยประชาชนทั้งหญิงและชาย เช่นเดียวกับบ้านเมืองทั่วไปนั่นเอง

เพียงแต่ในส่วนของพระราชวังนั้นต่างหาก ที่คงมีแต่สตรีเพศเป็นข้าราชสำนัก

และขณะที่กองทหารรักษาเวียงนั้น คงจะมีทั้งหญิงและชายเช่นเดียวกับพลเมืองทั่วไป แต่กองทหารที่มีชื่อเสียงที่สุด ก็อาจจะเป็นหญิงล้วนก็เป็นได้


พระรูปจ้าแม่มะลิกา ของโรงเรียนแม่อายวิทยาคม
องค์นี้ทำสีผิวใหม่ด้วยการชุบแบบ Antique Flat

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๗๒ พระเจ้าสุทโธธรรมราชา แห่งกรุงรัตนปุระอังวะ ยกทัพมาตีเมืองฝาง พระนางมะลิกาทรงนำไพร่พลของพระนางไปช่วยพระราชบิดา 


ซึ่งแม้จะเป็นกองทหารหญิงขนาดเล็ก ก็เป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพมาก จนถึงขนาดช่วยเมืองฝางยันทัพพม่าไว้ได้นานถึง ๓ ปี

แต่ในที่สุดก็ยับยั้งไม่ไหว เพราะกำลังที่น้อยกว่า ประกอบกับพม่าใช้ยุทธวิธีล้อมเมืองฝาง จนชาวเมืองพากันอดอยากเสียขวัญกำลังใจ ไม่อาจจะทำการสู้รบได้อีกต่อไป พระเจ้าอุดมสินกับพระนางสามผิว ไม่ทรงยอมจำนนต่อข้าศึก ได้กระโดดลงน้ำบ่อซาววาสิ้นพระชนม์

เล่ากันต่อไปว่า ด้วยความสะเทือนใจในขัตติยะมานะ ของกษัตริย์และราชินีแห่งเมืองฝาง ทำให้กษัตริย์พม่าทรงละทิ้งเมืองฝางทั้งที่ชนะแล้ว และนำทัพกลับไปโดยมิได้ยึดครอง

ส่วนพระนางมะลิกานั้น บางตำนานก็กล่าวว่า ทรงนำทหารช่วยพระราชบิดาพระราชมารดาเสด็จลี้ภัยไปได้ครับ

แต่ส่วนใหญ่เล่าว่า หลังสิ้นสงครามเมืองฝางแล้ว ก็ทรงพาไพร่พลที่เหลือกลับเวียงสนธยา และครองเวียงต่อไปอย่างสงบสุข ตราบจนทิวงคตในปี พ.ศ.๒๑๙๐ พระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา รวมระยะเวลาที่ครองราชย์ได้ ๔๐ ปี

หลังจากองค์นางพญาเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว เวียงสนธยาขาดผู้นำ บ้านเมืองเริ่มระส่ำระสาย เกิดโจรปล้นชิงกัน และโรคร้าย ชาวเมืองจึงได้อพยพหลบหนีไปที่อื่น จนกลายเป็นเมืองร้างตั้งแต่นั้น

เวียงสนธยา หรือเวียงมะลิกา จึงนับเป็นเวียงที่อายุไม่ยืนยาวนัก คือคงอยู่เพียงชั่วระยะเวลาการครองราชย์ของพระนางมะลิกา ในฐานะกษัตริยาเพียงพระองค์เดียว


เหรียญเจ้าแม่มะลิกา ที่ระลึกครอบรอบ ๓๐ ปี
โรงเรียนแม่อายวิทยาคม พ.ศ.๒๕๔๗

ทีนี้ ก็มีคนเป็นอันมากสงสัยว่า พระนางมะลิกาทรงมีพระองค์จริงหรือไม่?

คำถามเช่นนี้ ผมว่าคงยากแก่การตอบ ในช่วงเวลาที่ผ่านมานะครับ

แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ ที่เรารู้กันแล้วว่า พระราชบิดา และพระราชมารดาของพระนาง คือพระเจ้าฝางและพระนางสามผิวนั้น ทรงมีพระองค์อยู่จริง ในยุคสมัยที่ตรงกับตำนานดังที่กล่าวแล้ว ภายใต้พระนามว่า พญาพิมมะสาร กับ เจ้านางรุ้งแสง มีจารึกบนโบราณวัตถุร่วมสมัยกันเป็นหลักฐาน

พระนางมะลิกา ในฐานะที่เป็นพระราชธิดาของทั้งสองพระองค์นั้น ก็ควรจะทรงเคยมีพระชนม์ชีพอยู่จริงในช่วงเวลาเดียวกันนั้นด้วย

เพียงแต่ยังหาหลักฐานทางโบราณคดี ที่ยืนยันอย่างชัดเจน เหมือนพระราชบิดาและพระรมารดาของพระนางไม่ได้เท่านั้น

ในขณะที่ผู้ศรัทธากราบไหว้นับถือพระนางมาตลอด และได้พบปาฏิหาริย์ของพระนางมาแล้วเป็นอันมาก ไม่มีความสงสัยอันใดในเรื่องนี้แม้แต่น้อยครับ

และด้วยความศรัทธานั้น ชาวอำเภอแม่อาย ก็ ได้ร่วมกันสร้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้นสองแห่ง ดังที่ยังคงปรากฏในปัจจุบัน


พระราชานุสาวรีย์ ที่ โรงเรียนแม่อายวิทยาคม

พระราชานุสาวรีย์แห่งแรก ตั้งอยู่ใน โรงเรียนแม่อายวิทยาคม ซึ่งในอดีตเคยเป็นเวียงสนธยา หรือเวียงมะลิกา เป็นแท่นหินอ่อนทรงสูง ประดิษฐานพระรูปพระนางมะลิกาทำด้วยโลหะรมดำ ปิดทองเฉพาะลายผ้าและเครื่องประดับ

พระรูปนี้ทรงเกล้าพระเกศามวย สวมรัดเกล้าเท่านั้น ไม่ทรงสวมเครื่องถนิมพิมพาภรณ์อื่นใด นอกจากกุณฑล

ฉลองพระองค์ก็เป็นแบบนักรบ คือเป็นเสื้อแขนยาวหลวมๆ มีลวดลายที่ปกเสื้อ อินทรธนู สาบเสื้อ และปลายแขนเสื้อ ทรงสนับเพลามีลายเชิง และสวมพระภูษาทรงทับ พระหัตถ์หนึ่งถือดาบ อีกพระหัตถ์ถือคันศร ทรงสะพายแล่งธนู สวมรองพระบาทเชิงงอน ท่วงท่าลีลาดูอาจหาญพร้อมจะออกศึก

และผู้ออกแบบพระราชานุสาวรีย์ ก็ปั้นหล่อพระพักตร์ของพระนาง ให้ทรงมีพระสิริโฉมงดงามบริบูรณ์ครับ มิได้มีข้อบกพร่องตามตำนานแต่อย่างใด


งานประเพณีบวงสรวง และสรงน้ำเจ้าแม่มะลิกา เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๘

ณ พระราชานุสาวรีย์แห่งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี ทางที่ว่าการอำเภอแม่อายจะจัดพิธีบวงสรวงและสรงน้ำเจ้าแม่มะลิกา มีประชาชนทุกชนเผ่าในเขต อ.แม่อาย และใกล้เคียงกว่า ๑๕,๐๐๐ คน ร่วมขบวนแสดงศิลปวัฒนธรรมประจำเผ่า

เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวที และความเคารพรักที่ชาวอำเภอแม่อายมีต่อองค์เจ้าแม่มะลิกาครับ




ส่วนพระราชานุสาวรีย์อีกแห่งหนึ่งนั้น ตั้งอยู่ในบริเวณ กองบังคับการควบคุมหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ ๒ อ.แม่อาย จ. เชียงใหม่ 

พระรูปบนพระราชานุสาวรีย์ มีลักษณะอย่างเดียวกับที่โรงเรียนแม่อายวิทยาคมทุกประการ แต่มีข้อได้เปรียบ คืออยู่ในภูมิทัศน์ที่สวยงามกว่า

ปัจจุบัน ทางการได้เปิดให้ผู้ศรัทธาเข้าไปกราบไหว้สักการะพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้ได้โดยสะดวกทุกวัน โดยไม่มีระเบียบบังคับในการผ่านเข้าออก ที่เข้มงวดเหมือนพื้นที่ทหารอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีศาลของพระนางมะลิกา เป็นศาลไม้เล็กๆ ฝีมือชาวบ้าน ตั้งอยู่บนดอยสูงขึ้นไป ไม่ห่างไปจากเวียงมะลิกาในอดีตนัก


ศาลเจ้าแม่มะลิกา บนดอย ที่มีมาก่อนการสร้างพระราชานุสาวรีย์

ภายในศาลไม้ดังกล่าว ไม่มีสิ่งสำคัญอะไร นอกจากรูปถ่ายพระราชานุสาวรีย์ที่โรงเรียนแม่อายวิทยาคม กับรูปถ่ายพระราชานุสาวรีย์พระเจ้าฝาง-พระนางสามผิว

ชาวบ้านเล่าว่า ศาลนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวแม่อายแวะเวียนกันขึ้นไปสักการะเจ้าแม่มะลิกา ก่อนที่จะมีการสร้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้นด้านล่าง ปัจจุบันก็มีแต่ชาวบ้านใกล้เคียงเท่านั้นละครับ ที่ยังคงไปกราบไหว้และดูแลอยู่


กล่าวสำหรับดอกมะลิกา ซึ่งเป็นที่มาของพระนามของพระแม่เจ้าองค์นี้ เป็นดอกมะลิที่หาดูยากชนิดหนึ่งครับ ปัจจุบันถ้าไม่ใช่ผู้สนใจดอกไม้ ก็คงไม่ค่อยได้พบเห็นกันเท่าใดนัก



………………………

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


2 comments:

  1. เพิ่งได้รู้เรื่องราวตำนานของท่านแบบเต็มๆ จากบทความนี้คะ

    ReplyDelete

Total Pageviews