Thursday, October 26, 2023

แคทเธอรีนมหาราชินี(ค.ศ.1762-1796)

บันทึกบทความเก่าของอ.กิตติ วัฒนะมหาตม์ จาก

คอลัมน์หลากหลายลีลา “ผู้หญิงในประวัติศาสตร์” หนังสือพิมพ์สยามรัฐ หน้าสตรี-เด็ก 24 เมษายน พ.ศ.2534 (3/4)

 

Catherine the Great, c. 1780s from https://en.wikipedia.org/wiki/Catherine_the_Great

สมัยหนึ่งในรุสเซียก่อนการสิ้นอำนาจของราวงศ์โรมานอฟและระบบกษัตริย์รุสเซียเป็นเวลานาน เป็นยุคสมัยแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่สุดของจักรวรรดิรุสเซีย มีการแผ่อำนาจไปถึงตุรกีและโปแลนด์ และเป็นฐานแห่งการพัฒนาสู่ความเป็นมหาอำนาจในโลกปัจจุบัน ยุคสมัยดังกล่าวนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำประเทศที่เป็นสตรีคนหนึ่ง คือพระนางแคทเธอรีนที่ 2 อันมีสมญาว่า CATHERINE THE GREAT หรือแปลเป็นไทยคือ “แคทเธอรีนมหาราชินี” ครับ

 

เป็นที่น่าแปลกใจว่า แม้ในปัจจุบันรุสเซียจะมิได้ปกครองโดยระบบกษัตริย์อีกต่อไปแล้ว แต่ประชาชาติรุสเซียต่างก็ยังคงพากันยกย่องมหาราชินีองค์นี้ แม้ว่าพระราชประวัติและพระจริยาวัตรของพระนางที่ได้รับการบันทึกไว้จะขัดกับสามัญสำนึกของคนบางคนอยู่มาก และแม้ว่าพระนางจะมิใช่ชาวรุสเซียโดยกำเนิด แต่เป็นเจ้าหญิงเยอรมัน

 

ครับ แคทเธอรีนมหาราชินีทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 1729 ที่เมืองซเตทติน (STETTIN) ในแคว้นพอเมราเนีย (POMERANIA) อยู่แถวๆ ฝั่งทะเลบอลติกทางตอนเหนือของเยอรมนีโน่น แต่ขณะนั้นเมืองนี้ยังเป็นรัฐในความคุ้มครองของปรัสเซียสมัยพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเลี่ยมที่ 1 ครับ พระบิดาของแคทเธอรีนก็คือเจ้าชายริสเตียเอากุสต์ แห่งแคว้นอันฮาลท์-แซร์บส์ ซึ่งพระเจ้าเฟรเดอริคส่งไปครองเมืองชเตทตินนั่นเอง ส่วนพระมารดามีชื่อว่า เจ้าหญิงโยฮันน่า เอลิซาเบธ เจ้าหญิงแคทเธอรีนมิได้มีชื่อว่าแคทเธอรีนมาแต่แรกนะครับ พระนามเดิมภาษาเยอรมันของพระนางคือ โซฟี เอากุสต์ ฟรีเดริเก้ (SOPHIE AUGUSTE FRIDERIKE) เพราะเหตุใดจึงทรงเปลี่ยนพระนามในตอนหลัง ประเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังต่อไปครับ ตอนนี้ขอเรียกว่าเจ้าหญิงโซฟีไปก่อนละกัน

 

เจ้าหญิงโซฟีได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีสมฐานะครับ และจัดว่าทรงมีพระเชาวน์ดีมากด้วย ได้ติดตามพระมารดาไปเยือนราชสำนักต่างๆ ตั้งแต่มีพระชนม์ได้ 3 ชันษา ซึ่งทำให้พระนางได้พบปะกับบุคคลสำคัญต่างๆ เป็นจำนวนมากรวมทั้งพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเลียมที่ 1 ด้วยครับผม พอปีค.ศ.1743 ก็มีเรื่องที่จะทำให้เจ้าหญิงโซฟีต้องเสด็จจากเยอรมนีไปตั้งแต่ยังรุ่นสาวเลยทีเดียว

 

ในปีนั้น เอ็มเปรสเอลิซาเบธแห่งรุสเซียซึ่งมิได้อภิเษกสมรส แต่มีรัชทายาทเป็นพระเจ้าหลานเธอคือเจ้าชายปีเตอร์แห่งโฮลซไตน์ ก็อตทอร์ป ต้องการจะหาพระชายาให้กับรัชทายาทองค์นี้ แล้วก็ทรงเลือกเจ้าหญิงโซฟีนั่นเอง โดยมีพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช (ซึ่งขึ้นครองปรัสเซียต่อจากพระเจ้าเฟรเดอริควิลเลียมที่ 1) เป็นตัวตั้งตัวตีอยู่เบื้องหลัง เรียกว่าเป็นเรื่องการเมืองก็แล้วกันนะครับ พอถึงปีต่อมาเจ้าหญิงโซฟีซึ่งมีพระชนมายุเพียง 16 ชันษา ก็เสด็จไปรุสเซียพร้อมกับพระมารดา

 

คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่าการแต่งงานระหว่างเจ้านายชั้นสูงของยุโรปสมัยก่อนนั้น คนที่จะต้องแต่งงานจะไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจอะไรเองทั้งสิ้น ทำได้ก็เพียงก้มหน้ารับการตัดสินใจของผู้หลักผู้ใหญ่เท่านั้นเองครับ เจ้าหญิงโซฟีต้องไปเข้ารีตเป็นออร์โธด็อกซ์อันเป็นศาสนาที่นับถือกันในรุสเซียสมัยนั้นก่อน หลังจากนั้นก็ทรงเรียนภาษารุสเซีย จนคล่องแล้ววันที่ 21 สิงหาคม 1745 ก็เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายปีเตอร์ พระนามแคทเธอรีนก็ได้มาในวาระนี้เองแหละครับ

 

Oil on canvas portrait of Empress Catherine the Great by Russian painter Fyodor Rokotov from http://www.saint-petersburg.com/royal-family/catherine-the-great/

สาเหตุที่จะได้พระนามใหม่คือ ตามธรรมเนียมออร์โธด็อกซ์เขาให้ใช้ชื่อเพียงชื่อเดียว ซึ่งเจ้าหญิงโซฟีก็คงจะใช้พระนามโซฟีอยู่นั่นเอง แต่บังเอิญซะไม่มีละที่พระนามนี้ไปตรงกับพระนามของแกรนด์ดัชเชสโซฟี แกรนด์ดัชเชสผู้นี้ประวัติน่ารักดีเหมือนกันครับ คือเพิ่งจะพยายามก่อกบฏและถูกสั่งบวชชีไปตลอดชีวิต เอ็มเปรสเลยไม่ทรงยินดีให้เจ้าหญิงโซฟีใช้ชื่อนี้จึงยกพระนามของพระมารดาของตนให้ คือพระนาม “แคทเธอรีน” ดังนั้นต่อไปนี้ผมก็จะขอเรียกพระนามแคทเธอรีนนี้โดยตลอดนะครับ

 

หลังจากนี้พระมารดาถูกสั่งกลับเยอรมนี แกรนด์ดัชเชสแคทเธอรีน (พระยศได้ภายหลังการอภิเษกสมรส) ถูกตัดขาดจากการติดต่อกับพระมารดาและประเทศอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพระนางก็เหตุผลทางการเมืองแหละครับ แถมตั้งแต่ปี 1745-1762 ที่ทรงเป็นพระชายาของรัชทายาทรุสเซียอยู่ก็ขมขื่นยังกับอะไรดี ได้ทรงบันทึกไว้โดยตลอดว่าแกรนด์ดยุคปีเตอร์นั้นมิได้เอาใจใส่พระนางฉันสามีภรรยาที่ดีเลยแม้แต่นิดเดียว ตัวอย่างเช่น

 

-ก่อนเข้านอนแต่ละวัน ปีเตอร์จะเสวยของว่าง เสร็จแล้วเข้าห้องบรรทม คุยแต่เรื่องไร้สาระสักครู่ก็บรรทมหลับ

 

-ปีเตอร์ไปติดพันสตรีอื่น แถมเอามาเปรียบเทียบกับพระนางอยู่บ่อยๆ บางครั้งถึงกับพูดเปรียบเทียบกันต่อหน้าพวกมหาดเล็กว่าสตรีคนนั้นคนนี้สวยกว่าแคทเธอรีน

 

-บางครั้งขณะบรรทมอยู่นพระที่เดียวกัน ปีเตอร์ก็พรรณนาถึงความงามของสตรีในราชสำนักที่พระองค์โปรดปรานให้พระนางฟัง

 

ก็น่าเห็นใจอยู่หรอกครับที่แกรนด์ดัชเชสแคทเธอรีนจะต้องทรงเบื่อหน่ายเหลือกำลัง ก็เป็นอย่างนี้มาตลอด 9 ปี พระนางจึงใช้เวลาว่างทั้งหมดในการอ่านหนังสือ นอกจากนี้ก็ทรงหาข้าราชการที่โปรดปรานเป็นพิเศษมาเป็นคู่รัก พระโอรสองค์แรกของพระนางก็เป็นเชื้อสายของคู่รักคนหนึ่งละครับ เรื่องนี้พระนางยอมรับเอง

 

Coronation of Catherine II  by Stefano Torelli from http://www.saint-petersburg.com/royal-family/catherine-the-great/


มีผู้บันทึกไว้ว่าพระนางมีพระชนมายุมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีคู่รักเป็นเด็กมากขึ้นเท่านั้น คู่รักคนสุดท้ายอายุ 22 ปี ในขณะที่พระนางทรงมีพระชนม์ถึง 60 ชันษาแล้ว มีผู้จดบันทึกไว้อีกว่าพระนางทรงมีคู่รักถึง 55 คน ตลอดพระชนม์ชีพ คู่รักเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อพระนางครับ ดังเช่นคนหนึ่งคือ เกรเกอรี่ ออร์ลอฟ ก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการอัญเชิญพระนางขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนปีเตอร์ เรื่องบันเทิงเกี่ยวกับคู่รักมากถึง 55 คนนี้ขอได้พิจารณาด้วยนะครับ เพราะแม้ว่าจะเป็นบันทึกร่วมสมัยที่ใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ก็จริง แต่เราก็ไม่มีทางทราบเลยว่าผู้บันทึกได้ทำไว้โดยความรู้สึกที่เป็นอคติมากน้อยเพียงใด

 

ผมมองว่า ใครจะมีเรื่องส่วนตัวเป็นอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของเขาละครับ ไม่ว่าชายหรือหญิงก็มีสิทธิ์นี้โดยเท่าเทียมกัน คือ สิทธิ์ที่จะตัดสินใจกับเรื่องของตนเอง ผลงานของเขาต่างหากที่ควรนำมาสรรเสริญหรือตำหนิกัน ซึ่งจะได้เห็นกันละครับว่าเรื่องอื้อฉาวของคู่รักต่างๆ นั้นเทียบไม่ได้เลยกับผลงานที่พระนางสร้างไว้ให้กับประเทศชาติ มหาราชินีองค์นี้ทรงใช้เวลาถึง 12-15 ชั่วโมงต่อวันในการทำงาน ส่วนหนึ่งก็คงมาจากกรณีที่ว่าทรงขึ้นครองราชย์โดยมิได้มีเชื้อสายรุสเซีย ก็เลยทรงต้องการการยอมรับจากประชาชนชาวรุสเซียด้วยน่ะครับ

 

งานใหญ่อันดับแรกของพระนางคือ การประมวลกฎหมายเดิมๆ ที่สุดแสนจะเลอะเทอะอะไรขนาดนั้นของรุสเซียขึ้นใหม่เรียกว่า นาคาซ (NAKAZ) ครับ ทรงประมวลด้วยพระองค์เองแม้จะไม่ทรงมีความรู้ทางกฎหมายมาก่อนก็ยังบากบั่นไปหาหนังสือวิชากฎหมายดีๆ มาอ่านจนรวบรวมและปริวรรตขึ้นสำเร็จครับ เป็นกฎหมายที่ทันสมัยทีเดียว แต่คนรุสเซียไม่พอใจพระนางอยู่แล้ว ทำอย่างไรก็ไม่เห็นความดีหรอกครับ ยิ่งในปี 1764 ทรงออก พรบ.ริบที่ดินของวัด เพราะทรงเห็นว่าพวกบาทหลวงเอาเงินที่ได้จากที่ดินไปใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยดีชะมัดเลย พวกบาทหลวงก็เลยไปยุประชาชนให้เกิดความไม่พอใจต่อพระนางมากขึ้น

 

ความไม่พอใจยิ่งหนักเมื่อพระนางทรงปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นและให้อำนาจกับพวกขุนนางมากจนเป็นที่ขนานนามกันว่า “ยุคทองของพวกขุนนาง” ในที่สุดก็เกิดกบฏขึ้นหลายครั้งครับ ครั้งใหญ่ที่สุดคือ กบฏปูกาเซฟ (PUGACHEV) ในปี 1773 ที่เมืองคอสแซค พระนางปราบได้ด้วยกำลังทหารครับ แต่ประชาชนก็คงไม่ยินดีด้วยแน่ๆ

 

แต่ถึงจะทรงไม่ประสบกับความราบรื่นกับการบริหารภายในประเทศเช่นนี้ เราก็ต้องยกย่องพระนางในด้านการต่างประเทศละครับ พระนางได้ทรงดำเนินนโยบายต่างประเทศจนทำให้ได้ดินแดนจากโปแลนด์ในปี 1793 คือ ได้แคว้นลิธัวเนียเกือบทั้งหมด แคว้นยูเครนทางตะวันตกเกือบทั้งหมด ได้ประชาชนชาวโปลมากกว่า 3 แสนคนครับ หลังจากนั้นทำสงครามกับตุรกีและชนะจนหาทางออกทางทะเลได้ คือ ทะเลดำ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจที่มั่นคงตามมารวมทั้งฐานะทางการเมืองด้วย

 

พระราชกรณียกิจเหล่านี้ละครับที่ทำให้รุสเซียกลายเป็นมหาอำนาจที่ล้นเหลือในเวลาต่อมา ผมจึงได้พยายามชี้ให้เห็นว่าภารกิจเหล่านี้เป็นของพระนาง เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่ามากกว่าการตัดสินพระจริยาวัตรส่วนพระองค์ ซึ่งพูดกันมาก และมีหนังสือหลายเล่มที่กล่าวถึงพระนางแคทเธอรีนที่จะต้องกล่าวแต่เรื่องคู่รักของพระนางเพียงอย่างเดียว โดยไม่อ้างเลยสักนิดว่าทรงทำอะไรให้ชาติบ้านเมืองที่พระนางเองก็ไม่ได้เกิดมาในผืนแผ่นดินนั้นด้วยซ้ำไป

 

เมื่อก่อน พวกเราชอบเอาวัฒนธรรมทางความคิดที่ล้าหลังของเราเองไปเที่ยวตัดสินคนในวัฒนธรรมอื่นเขาเสมอ ยิ่งโดยเฉพาะกับผู้หญิงที่มีเรื่องอื้อฉาวขึ้นมาแล้วยิ่งใส่กันสนุกไปเลยละครับ เรื่องแบบนี้ผมว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผล คือ เราไปตามเล่นงานคนที่ตายไปแล้วไม่มีสิทธิ์จะแก้ตัวได้และโดยเฉพาะคนคนนั้นเป็นผู้หญิง

 

Marble statue of Catherine II in the guise of Minerva (1789–1790), by Fedot Shubin from https://en.wikipedia.org/wiki/Catherine_the_Great


พระนางแคทเธอรีนสวรรคตเมื่อ 7 พฤศจิกายน 1796 เมื่อพระชนมายุได้ 67 ชันษา นักประวัติศาสตร์ได้ยอมรับกันว่าในรัชสมัยของพระนางเป็นสมัยที่รุสเซียเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดยิ่งกว่าสมัยใดๆ และสมควรเป็นที่มาของสมญา “มหาราชินี” ที่ต่างพากันถวายให้พระนางอย่างเต็มใจ จนถึงปัจจุบันนี้ชาวรุสเซียก็ยังมีความชื่นชมในพระนางแคทเธอรีนเป็นอย่างยิ่ง สิ่งนี้น่าจะเป็นข้อเตือนใจของเราได้ว่า ในโลกที่เจริญทางภูมิปัญญาแล้วเขาจะยกย่องผลงานของบุคคลสำคัญโดยไม่สนใจกับเรื่องส่วนตัวของคนคนนั้น

 

ยกเว้นแต่ว่าถ้าทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวไม่เอาไหนพอๆ กันก็น่าประณาม ไม่ว่าจะในวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมไทย

 

No comments:

Post a Comment

Total Pageviews