Saturday, October 21, 2023

คลาร่า ชูมานน์ : ผู้หญิงที่ยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อความรัก

บันทึกบทความเก่าของอ.กิตติ วัฒนะมหาตม์ จากคอลัมน์หลากหลายลีลา “ผู้หญิงในประวัติศาสตร์” หนังสือพิมพ์สยามรัฐ หน้าสตรี-เด็ก

18 เมษายน พ.ศ.2534 (2/4)

 

ในประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษย์เรานั้น จัดได้ว่าดนตรีเป็นสิ่งที่คงอยู่คู่กับ มนุษย์มาโดยตลอด เพิ่งจะมาถูกเปลี่ยนเป็นอะไรต่อมิอะไรจนไม่เหลือเค้าของการดนตรีแล้วก็ในประเทศไทยเรานี่แหละ ส่วนทางดนตรีสากลเขานั้นมีประวัติที่ยาวนาน มีศิลปินหรือคีตกวีที่ได้รับการยกย่องในประวัติศาสตร์โลกอยู่หลายคน

 

แต่ในจำนวนรายชื่อของคีตกวีและนักดนตรีที่ได้รับยกย่องติดทำเนียบคนเด่นใน ประวัติศาสตร์นั้น ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่เป็นผู้หญิงครับ

 


มีผู้หญิงที่เป็นนักดนตรีและได้รับการยกย่องอยู่มากเพียงคนเดียว คือคลาร่า ชูมานน์ (CLARA SCHUMANN)  คนที่เรากำลังจะพูดถึงกันอยู่นี่แหละ แต่ไม่ได้รับ การยกย่องทางดนตรี สิ่งที่คนทั้งโลกยกย่องเธอก็คือ ความรักและความเสียสละ อันยิ่งใหญ่ที่เธอให้แก่ผู้เป็นสามี ซึ่งเป็นคีตกวีเอกคนหนึ่งของโลก เขาคือ โรเบิร์ต ชูมานน์ (ROBERT SCHUMANN) ครับผม

 

จะขออธิบายให้ฟังย่อๆ ว่า โรเบิร์ต ชูมานน์ นี่เป็นใคร เผื่อท่านผู้อ่านที่ไม่มีโอกาสที่จะสนใจศึกษาทางดนตรีคลาสสิค จะได้คุ้นหน้าคุ้นตาและคุ้นชื่อกันไว้ล่ะครับ ถ้าหากว่าไปเห็นชื่อที่ไหน

 


โรเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ ชูมานน์ (ROBERT ALEXANDER SCHUMANN) เกิดที่เมืองซวิคเคา แคว้นแซ็กโซนี่ในเยอรมนีครับ บิดาเป็นเจ้าของร้านขายหนังสือ แต่ ก็สนับสนุนให้เขาเรียนดนตรี เพราะเห็นแววอยู่ และในสมัยของชูมานน์นั้น เป็นยุคสมัยของการดนตรีที่เรียกว่ายุคโรแมนติค (ROMANTIC) ดนตรีกำลังรุ่งเรืองแผ่ ไปทั่วทุกระดับชั้น แต่พอเขาอายุ 17 คุณพ่อผู้น่ารักก็จากไปสู่สวรรค์ คุณแม่อยากให้เขาเป็นนักกฎหมายมากกว่า เลยส่งไปเรียนกฎหมายที่ไลป์ซิก ช่วงนี้เองที่โรเบิร์ตได้รู้จักกับคลาร่า วีค (CLARA WIECK) ซึ่งเป็นลูกสาวของครูสอนเปียโนที่มี ชื่อเสียงคนหนึ่ง ขณะนั้นคลาร่ายังเป็นเด็กสาวแรกรุ่น ถ้าเปรียบเป็นดอกไม้ก็ยัง ไม่มีทีท่าว่าจะแย้มกลีบ เพราะอายุแค่ 9 ขวบ


โรเบิร์ตหาโอกาสไปเรียนเปียโนกับพ่อของคราล่าจนได้แหละครับ เป็นเพราะเขาสนใจดนตรีมากก็เลยอยากเรียนอะไรให้สุด สุดไปเลย แต่ไม่มีใครเลยนอกจากคนที่มาศึกษาประวัติของคีตกวีเอกผู้นี้ในภายหลังที่จะรู้ว่า การที่ได้มาเรียนเปียโนนี้ทำให้โรเบิร์ตใกล้ชิดกับคลาล่ามากขึ้นจนกลายเป็นความรักในเวลาต่อมา


เด็กอายุ 17 ขวบ ชอบกับเด็ก อายุ 9 ขวบ ได้ไง น่าสงสัยเหมือนกันนะ

 

แล้วเพื่อให้มือของเขาเล่นเปียโนได้คล่อง โรเบิร์ตก็ประดิษฐ์เครื่องมือช่วยขึ้นมาติดที่มือ ผลที่ได้รับนั้นทารุณมาก เพราะกลายเป็นการทำลายอนาคตนักเปียโนที่เขาใฝ่ฝันไว้ทั้งหมด เครื่องมือนั้นทำให้มือขวาของเขาพิการครับ โรเบิร์ตเสียใจมากและหันมาสนใจในการประพันธ์ดนตรีแทน เขายังได้ร่วมกับพรรคพวกออก นิตยสารเกี่ยวกับดนตรี เพื่อต่อต้านพวกที่ทำลายดนตรีอย่างเห็นแก่ได้ เมืองไทยเราน่าจะมีนิตยสารพวกนี้เยอะๆ นะครับ

 

เวลาผ่านไปอีก 10 กว่าปี คลาร่าก็เติบโตขึ้นเป็นหญิงสาวผู้เพียบพร้อมไปด้วย ความงาม, ความอ่อนหวาน และมีชื่อเสียงในการเล่นเปียโน และในระยะเวลานี้ความรักที่เธอมีต่อโรเบิร์ต และที่โรเบิร์ตมีต่อเธอก็ลึกซึ้งเกินบรรยายเสียแล้วครับ แต่โรเบิร์ตก็ยังไม่กล้าสารภาพรักกับเธอ จนกระทั่งเขารู้สึกว่าเธอแน่นอนแล้วจึงเขียนเพลงขึ้นมาชุดหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า แฟนตาซี่ พีซส์ ทำให้คลาร่าเข้าใจเพราะ ตลอดเวลาที่เขามิได้บอกว่ารักเธอนั้น เธอก็ทรมานใจอยู่มากเหมือนกัน

 


ช่วงนี้โรเบิร์ตได้ประพันธ์เพลงที่งดงามเป็นจำนวนมาก แต่งให้คลาร่าด้วย และที่มีชื่อเสียงในชุด ซีนส์ ออฟ ไชลด์ฮูด (ผมไม่กล้าให้ภาษาอังกฤษหรือเยอรมัน เยอะๆ ครับ กลัวฝีมือตรวจปรู๊ฟนั่นแหละ) ที่มีชื่อเสียงมากคือ “ทรอยเมอไร (TRAUMEREI) แปลว่า ความฝันครับ แต่พ่อของคลาร่าก็พยายามกีดกัน เพราะ อยากให้ลูกสาวมีอนาคตดีกว่าจะมาอยู่กับโรเบิร์ต ถึงกับขอให้ศาลสั่งห้ามการแต่งงานของทั้งสอง แต่ฟรานซ์ ลิสท์ (FRANZ LISZT) คีตกวีเอกของโลกอีก ท่านหนึ่ง ซึ่งมีคนนับถือกันมากก็ขี่ม้าขาวมาช่วยไว้ เขาแย้งว่าโรเบิร์ตได้รับ ปริญญาเอกทางดนตรี (กิตติมศักดิ์) จากมหาวิทยาลัยจีนามาแล้ว คำร้องของพ่อคลาร่าก็เป็นอันตกไปครับ

 

12 กันยายน 1840 ทั้งสองก็แต่งงานกัน หลังจากนั้นฐานะของโรเบิร์ตไม่ดีขึ้นแต่อย่างใด ครอบครัวชูมานน์มีลูกมาก หนี้สินก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ครับ คลาร่าไม่เคยปริปากเลยแม้แต่นิดเดียว เธออยากจะเลิกเล่นเปียโนเพื่อทำหน้าที่แม่บ้านอย่าง เต็มที่ แต่เธอก็เลิกไม่ได้เพราะต้องช่วยสามีหาเงิน เธอจึงออกแสดงเปียโนโดยใช้ ผลงานของสามีนั่นเองหลายครั้ง

 


ปี 1843 โรคประสาทก็เล่นงานโรเบิร์ตอย่างหนัก เขาต้องหยุดแต่งเพลงและ ลาออกจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสารทางดนตรีที่เขากับพรรคพวกช่วยกัน สร้างขึ้นมา คลาร่าก็ต้องลำบากไปด้วยทั้งที่เธอสบายมาตั้งแต่เกิด แต่เธอก็ไม่เคย ปริปากบ่น ไม่คิดแม้แต่จะหนีเอาตัวรอด

 

ปี 1854 โรเบิร์ตคลั่งกระโดดแม่น้ำไรน์ ชาวประมงช่วยชีวิตเขาไว้ได้ และคลาร่า ต้องออกแสดงคอนเสิร์ทเพื่อหาเงินช่วยทั้งครอบครัวและสามีที่อยู่ในโรงพยาบาล โรคจิต

 

ปี 1856 โรเบิร์ต ชูมานน์ก็อำลาจากโลกนี้ไปครับ ภายในอ้อมแขนของคลาร่า ภรรยาที่ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อเขาอย่างที่สุด ขณะนั้นเขามีอายุได้ 46 ปี และเธอมีอายุ 37 ปี คลาร่าไม่แต่งงานใหม่ ทั้งที่สามารถกระทำได้ เธอเป็นผู้หญิงที่ควรแก่การสรรเสริญในเรื่องความรักที่มีตัวตนอยู่จริง ตลอดระยะเวลา 40 ปี ที่เหลือ หลังจากที่โรเบิร์ตจากไป คลาร่าผู้ครองความเป็นหม้ายก็ต้องทำหน้าที่ ดูแลลูกๆ และจัดการกับหนี้สินทั้งหมดต่อไป

 

จากชีวประวัติแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ ทำให้มีการสร้างภาพยนตร์ขึ้นในปี 1947 ชื่อว่า SONG OF LOVE ครับ เป็นภาพยนตร์อัตชีวประวัติของโรเบิร์ตและคลาร่า ชูมานน์ ผู้แสดงเป็นคลาร่าก็คือ แคทเธอรีน แฮพเบิร์น ส่วนโรเบิร์ตแสดงโดย พอล เฮ็นเรด มีนักดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายคนมาทำเพลงประกอบหนังเรื่องนี้

 


และทุกวันนี้คลาร่าก็ได้นอนสงบอยู่เคียงคู่กับสามีอันเป็นที่รักของเธอ อยู่ในสุสาน ที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี ดังรูปที่เห็นอยู่ในภาพประกอบในคอลัมน์นี้ล่ะครับ ถ้าจะมีคนรู้จักโรเบิร์ต ชูมานน์เพราะการดนตรี ก็จะต้องมีการกล่าวถึงคลาร่าในฐานะภรรยาที่ซื่อสัตย์ จงรักภักดี และ เสียสละควบคู่กันไปเสมอ

 

หมายเหตุ เนื้อหาและภาพประกอบของบทความนี้ ส่วนมากได้จาก “คีตกวี ปรัชญาเมธีแห่งภาษาสากล” อ้นเป็นผลงานของคุณไพบูลย์ กิจสวัสดิ์ จึงขอ ได้รับความขอบคุณในโอกาสนี้

 

***หมายเหตุ ภาพที่ใช้ประกอบบทความในโพสต์ครั้งนี้ เป็นภาพที่ได้จากอินเตอร์เน็ต ได้แก่

ภาพถ่ายคลาร่า

https://www.nytimes.com/2019/08/28/arts/music/clara-schumann.html

ภาพคู่

https://www.nytimes.com/2018/11/19/books/review/robert-schumann-judith-chernaik-biography.html

ภาพพอรทเทรดเดี่ยว 2 รูป

http://www.classichistory.net/archives/clara-schumann

หลุมฝังศพ

https://www.findagrave.com/memorial/1146/clara-schumann

No comments:

Post a Comment

Total Pageviews