พระรูปพระนางพสุจเทวี ที่วัดสิริเขตคีรี อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย บันทึกภาพโดย ดนัย นาควัชระ |
หากเปรียบเทียบกับขัตติยนารีทุกพระองค์
ในประวัติศาสตร์ไทย พระนางพสุจเทวี นับว่าทรงมีเรื่องราวอยู่น้อยที่สุด
และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปน้อยที่สุดด้วยครับ
พระนางพสุจเทวี พระองค์นี้
ตามพระประวัติแล้วทรงเป็นพระอัครมเหสีของพระร่วง ซึ่งมีตำนานว่าเป็นผู้สร้างเมืองศรีสัชนาลัย
คือ พระร่วงอรุณราช หรือ พระร่วงอรุณกุมาร
และปัจจุบันคติการนับถือบูชาพระนางก็ยังคงมีอยู่
เฉพาะแต่ในเขตอำเภอศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัยเท่านั้น
หากไปถามคนท้องถิ่นอื่น
ก็เป็นอันว่าไม่มีใครรู้จัก หรือเคยได้ยินชื่อเสียงของพระนางเลยทีเดียว
ตำนานเล่าขานเกี่ยวแก่พระนางพสุจเทวีนั้น
มีเค้าเดิมมาจากหนังสือ พงศาวดารเหนือ
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ทรงพระราชนิพนธ์ตั้งแต่ยังดำรงพระเกียรติยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
โดยทรงมีรับสั่งให้ พระวิเชียรปรีชา (น้อย) เป็นผู้รวบรวมเรื่องมาถวายให้ทรงเรียบเรียง
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๐
พงศาวดารดังกล่าว
ดำเนินเรื่องตั้งแต่บาธรรมราชสร้างเมืองสัชชนาไลย เมืองสวรรคโลก
ได้เสวยราชสมบัติทรงพระนามพระเจ้าธรรมราชาธิราช
เป็นลำดับมาจนถึงสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
เรื่องราวเกี่ยวกับพระนางพสุจเทวี
ในพงศาวดารดังกล่าว ปรากฏอยู่ในตอนที่ว่าด้วยพระร่วงอรุณกุมารเมืองสวรรคโลก
ยกทัพไปปราบพระเจ้ากรุงจีนที่มิได้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีลบศักราช
ที่พระองค์ทรงมีพระราชโองการให้จัดขึ้น
ผมขอยกเรื่องราวทั้งหมดมานำเสนอในบทความนี้
เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันนะครับ :
พระยาร่วงมีพระราชโองการตรัสแก่เจ้าฤทธิกุมารว่า
พระยากรุงจีนเหตุใดจึงมิได้มาช่วยลบศักราช
เราพี่น้องจะไปเอาพระยากรุงจีนมาเป็นข้าเราให้ได้
จากนั้นจึงให้แต่งเรือสำเภาลำหนึ่งยาวแปดวา ปากกว้างสี่ศอก
ครั้นได้ฤกษ์ก็เสด็จออกไปด้วยกำลังน้ำ พระองค์ทั้งสองมีแต่ธนูศิลป์
ไปได้เดือนหนึ่งจึงถึงกรุงจีน พระเจ้ากรุงจีนรู้แก่ใจด้วยมีพระพุทธทำนายไว้ว่า
จะมีไทยสองคนพี่น้องข้ามทะเลมาแสวงหาเมีย และชายผู้หนึ่งจะเป็นจ้าวแก่ชาวชมพูทวีป
และจะลบศักราชพระพุทธเจ้า
เมื่อรู้ดังนั้นแล้วจึงให้พลจีนออกไปรับพระองค์มาที่เรือนหลวงให้นั่งบนแท่นแก้ว
ถวายบังคมแล้วจึงชวนเจรจา พระยาร่วงก็ทรงภาษาได้ทุกประการ
พระเจ้ากรุงจีนจึงนำเอาพระธิดามาถวายให้เป็นพระอัครมเหสี
พระยากรุงจีนจึงให้แต่งสำเภาเภตราลำหนึ่งกับเครื่องบรรณาการพระยาร่วงด้วย
นางพสุจเทวี และเจ้าฤทธิกุมารจึงมาลงเรือสำเภาพร้อมทั้งจีนบริวาร ๕๐๐ คน เดินทางมาหนึ่งเดือนจึงถึงเมืองสัชนาไลย
ซึ่งขณะนั้นน้ำทะเลขึ้นมาถึงใช้สำเภาไปมาได้ บรรดาจีนทั้งหลายก็ทำถ้วยชามถวาย
จึงเกิดมีถ้วยชามแต่นั้นมา
พระประวัติของพระนางพสุจเทวีในพงศาวดารเหนือมีเพียงเท่านี้
และก็ไม่พบว่ามีอยู่ในเอกสารอื่นใดอีกเลยครับ
แต่ชาวบ้านในเขต อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
ก็มีอันมากที่เชื่อว่า พระนางทรงมีตัวตนอยู่จริง
และบางทีก็เรียกในอีกพระนามหนึ่งว่า พระนางวิสุทธิเทวี
ซึ่งซ้ำกับพระนางวิสุทธิเทวี กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์มังรายผู้ครองเชียงใหม่
ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการเรียกเพี้ยนจากพระนามเดิมว่า พสุจเทวี นั่นเอง
ชาวบ้านที่เชื่อว่าพระนางพสุจเทวีมีตัวตนจริง
ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับพระนางมากนักหรอกครับ นอกจากเชื่อกันว่า
ทรงสร้างวัดไว้ในเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งยังปรากฏหลักฐานอยู่ในปัจจุบันทั้งสิ้น
วัดที่เชื่อกันมากว่า
พระนางพสุจเทวีสร้างไว้ในศรีสัชนาลัย มี ๒ แห่งครับ คือ วัดโคกสิงคาราม
นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยทางด้านทิศตะวันออก และ วัดนางพญา
เป็นวัดภายในเมืองศรีสัชนาลัย อยู่ถัดจากวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่
ใกล้กับกำแพงเมืองด้านทิศใต้
วัดนางพญานี้สำคัญครับ เพราะมักจะกล่าวกันว่า
ชื่อวัดคือ “นางพญา” นั้นหมายถึงพระนางพสุจเทวี
ธิดาพระเจ้ากรุงจีน มเหสีของพระร่วงนั่นเอง
จุดเด่นของวัดนี้ คือ
เป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามมาก ปรากฏอยู่บนซากผนังวิหาร ซึ่งเจาะช่องแสงเป็นช่องยาวๆ
เรียงกัน มีลวดลายปูนปั้นประดับ
โดยเฉพาะลวดลายปูนปั้นที่หลงเหลืออยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้นั้น
งามละเอียดลออเป็นที่สุด มีชุดของลวดลายที่สำคัญ เรียกว่า ลายดอกเพกา
ซึ่งมีผู้เปรียบเทียบกับวัดทั่วไปว่า มักจะปั้นปูนเป็นลายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลายดอกไม้
จึงเท่ากับเป็นการยืนยันว่า วัดนี้สร้างโดยผู้หญิง คือ พระนางพสุจเทวี
พระมเหสีของพระร่วง
คนศรีสัชนาลัยมักบอกกล่าวกับผู้ไปเยือนว่า
วัดนางพญา เป็นอีกวัดหนึ่งที่พลาดไม่ได้สำหรับผู้หญิง
เพราะเชื่อกันว่าสตรีใดที่มาไหว้ขอพรพระที่วัดนี้ จะยิ่งใหญ่ เป็นที่นับถือของผู้คนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม
เป็นที่น่าเสียดายว่าในสายตาของนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลป์นั้น
วัดโคกสิงคาราม
และวัดนางพญามีอายุเก่าเพียงสมัยสุโขทัยตอนปลาย-อยุธยาตอนต้นเท่านั้นละครับ
อีกทั้งลวดลายอันสวยงาม
ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวัดนางพญา ก็มิได้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเป็นวัดที่สร้างโดยผู้หญิงอีกด้วย
เพราะลายปูนปั้นลักษณะคล้ายกันนี้ยังปรากฏให้เห็นที่
วัดไลย์ จ.สุพรรณบุรี และยังปรากฏในวัดต่างๆ
ทางภาคเหนือที่สร้างขึ้นในยุคสมัยเดียวกันอีกมากมาย
พูดง่ายๆ ก็คือเป็นความนิยมในขณะนั้น
ไม่ใช่ลักษณะพิเศษแต่อย่างใดครับ
นอกจากในความเป็นจริง
จะไม่มีโบราณสถานแม้สักแห่งเดียวในศรีสัชนาลัยที่มีหลักฐานว่าสร้างโดยพระนางพสุจเทวีแล้ว
แม้แต่ประวัติพระร่วงในพงศาวดารเหนือ ก็อาจมีสารัตถะของความจริงอยู่น้อยมาก
และปัจจุบันนี้
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดีไทยก็มักใช้พงศาวดารนี้อ้างอิงเฉพาะในเรื่องที่มีหลักฐานหรือวัตถุพยานรองรับเท่านั้นครับ
ทรรศนะเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในปัจจุบัน
แต่ได้เกิดมาแล้วตั้งแต่ในแผ่นดินที่ ๖ ของกรุงรัตนโกสินทร์
กล่าวคือแม้แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงเชื่อถือเรื่องพระร่วงในพงศาวดารนี้
เพราะฉะนั้น จึงนับได้ว่าพระนางพสุจเทวีทรงเป็นนางกษัตริย์ในตำนานอย่างแท้จริง
เพราะไม่มีอะไรเกี่ยวแก่พระนางที่น่าเชื่อถือ
ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางโบราณคดีหรือเอกสารต่างๆ
มีแต่เพียงเรื่องราวทำนองมุขปาฐะ
ที่ชาวบ้านในอำเภอศรีสัชนาลัยจดจำสืบต่อกันมา และคำบอกเล่าจากการนั่งทางใน
หรือการรู้เห็นผ่านทางนิมิตของผู้บำเพ็ญฌานสมาบัติ
ทั้งพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม
ถ้าเราจะนับว่าพงศาวดารนั้นคือตำนานประเภทหนึ่ง
และตำนานทั้งหลายนั้นมักจะมีเชื้อแห่งความจริงสอดแทรกอยู่
บางทีเราก็อาจหาตัวตนของพระร่วงอรุณราช และพระนางพสุจเทวี ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เรามีอยู่จริงได้นะครับ
โดยเฉพาะถ้าหากว่า
เราจะไม่ไปยึดติดกับยุคสมัยที่ปรากฏในตำนานนั้นมากเกินไป
ในหนังสือ กรุงศรีอยุธยาของเรา โดย
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม และ สุโขทัยเมืองพระร่วง ของกรมศิลปากร แม้จะไม่กล่าวถึงเรื่องในพงศาวดารเหนือโดยตรง
แต่ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจของกษัตริย์สมัยอยุธยาตอนต้นพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระนครินทราชาธิราช
สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าพระองค์นี้
ทรงครองราชย์อยู่ระหว่างพ.ศ.๑๙๕๒-๑๙๖๗ ตามประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นผู้นำความเจริญมั่นคงมาสู่กรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก
เนื่องจากการที่ทรงสามารถรวมแคว้นสุพรรณภูมิและสุโขทัยเข้ามาไว้ในอำนาจ
จนสามารถยึดราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาจากราชวงศ์ละโว้
และทำให้กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองจนถึงขั้นเป็น “อาณาจักรอย่างแท้จริง”
แห่งแรกของไทย
จอมกษัตริย์พระองค์นี้ละครับ
ที่อาจนำเราไปสู่การค้นพบเรื่องราวที่แท้จริง ของพระนางพสุจเทวีได้
โดยประเด็นแรกที่ควรสังเกต ก็คือ
การที่รัชสมัยของพระองค์มีการติดต่อค้าขายกับจีนอย่างแน่นแฟ้น
เพราะพระองค์เองได้เคยเสด็จไปเมืองจีนถึง ๒ ครั้ง ตั้งแต่สมัยที่ทรงดำรงพระยศเป็น เจ้านครอินทร์
หรือ สมเด็จพระอินทราชา แห่งแคว้นสุพรรณภูมิ ซึ่งในสมัยนั้นมีอำนาจทางการเมืองเป็นอิสระ
ไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา
การเสด็จไปเมืองจีนครั้งแรก ในปีที่ ๑๐
แห่งรัชกาลหงหวู่ (พ.ศ.๑๙๒๐)
พระราชกรณียกิจทางการทูตของพระองค์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
จักรพรรดิจีนแห่งราชวงศ์หมิงได้พระราชทานสิ่งสำคัญคือ ตรากษัตริย์เสียนหลอ
ซึ่งหมายถึงการที่จีนรับรองพระราชอำนาจในฐานะของรัฐที่สำคัญที่สุด
ในบรรดารัฐหรือแคว้นของคนไทยทั้งหมดในสยาม รวมทั้งพระภูษาเงินทอง
และค่าใช้จ่ายในการเดินทางแด่พระองค์
ขณะที่คณะทูตจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งก็เดินทางไปเมืองจีนเหมือนกัน
มิได้รับสิ่งสำคัญเช่นนี้เลยครับ
ครั้นสิ้นแผ่นดิน สมเด็จพระราเมศวร
แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระราชโอรส คือ สมเด็จพระรามราชา
ได้ครองราชย์สมบัติต่อมานั้น
เจ้านครอินทร์ก็ทรงโดดเดี่ยวกรุงศรีอยุธยาทั้งด้วยวิธีการทางการเมืองระหว่างประเทศ
คือการเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนโดยแยกต่างหากจากทางอยุธยา
และยังทรงแผ่อิทธิพลเข้าไปในดินแดนสุโขทัย
ซึ่งเป็นเครือข่ายของพันธมิตรฝ่ายพระมารดา จนกระทั่งในเวลาต่อมา
ก็ทรงมีอิทธิพลเหนือบ้านเมืองในแคว้นสุโขทัยทั้งหมด
เมื่อเป็นเช่นนี้
เจ้านครอินทร์จึงทรงมีกำลังทั้งจากแคว้นสุพรรณภูมิ และแคว้นสุโขทัยรวมกัน
กลายเป็นพลังอำนาจที่บีบกรุงศรีอยุธยาไว้ตรงกลาง
จนพระองค์สามารถเสด็จไปช่วงชิงราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาจากสมเด็จพระรามราชาได้ในที่สุดเมื่อพ.ศ.๑๙๕๒
และเฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระนครินทราชาธิราช
และเมื่อเสวยราชย์แล้ว พระองค์ก็ยังทรงติดต่อกับจีนอย่างใกล้ชิด
ทรงขอช่างปั้นจีนมาสอนและทำเครื่องถ้วยชามในประเทศไทย
จนสามารถผลิตขายเป็นสินค้าส่งออกไปยังมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
ในนามที่ทุกคนรู้จักกันดีว่า เครื่องสังคโลก
ชามสังคโลก ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด ภาพจาก http://bangkokguide1.wordpress.com |
หลักสูตรการศึกษายุคเก่าของไทยเรา
มักจะสอนว่า เครื่องสังคโลกเจริญรุ่งเรืองในสมัยพ่อขุนรามคำแหง
หรือสมัยสุโขทัย ใช่มั้ยครับ?
แต่จากหลักฐานที่เหลืออยู่ทั้งหมด
ไทยเพิ่งจะผลิตสังคโลกเป็นสินค้าออกอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็เมื่อสมัยสมเด็จพระนครินทราชาธิราช
ซึ่งสุโขทัยได้ตกเป็นประเทศราชของอยุธยาแล้วนี่เอง
เพราะนอกจากอายุของเครื่องสังคโลกรุ่นเก่าสุด ที่ถูกส่งไปขายต่างประเทศทั้งหมดจะยืนยันเช่นนั้น
ชื่อของ สังคโลก เองนั้นก็บ่งชัดอยู่แล้วว่า เป็นคำที่เพี้ยนมาจากชื่อเมือง สวรรคโลก
ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของเมืองศรีสัชนาลัยในสมัยอยุธยาตอนต้น ไม่ใช่สมัยสุโขทัย
และโดยเหตุที่สมเด็จพระนครินทราชาธิราช
ทรงเป็นใหญ่อยู่เหนือแคว้นสุโขทัยด้วยในขณะนั้น พระองค์จึงทรงเลือกเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องสังคโลก
เพราะเหตุที่ว่าเป็นแหล่งที่มีดินดีเหมาะแก่การทำเครื่องปั้นดินเผา
ซึ่งก็ยังคงผลิตกันได้อยู่จนถึงทุกวันนี้
เพราะฉะนั้น
แม้ว่าเรื่องราวเป็นอันมากในพงศาวดารเหนือนั้นจะไม่ใช่เรื่องจริง
แต่ในส่วนที่กล่าวว่าพระร่วงเสด็จไปเมืองจีนนั้น เป็นความจริงแน่นอนครับ
เพียงแต่ว่า พระร่วงองค์นั้น
หาใช่พระร่วงอรุณราชผู้สร้างเมืองศรีสัชนาลัยไม่
หากเป็นสมเด็จพระนครินทราชาธิราชเจ้าพระองค์นี้เอง
เพราะพระองค์ทรงมีเชื้อสายทางมารดาเป็นราชวงศ์กษัตริย์สุโขทัย
ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๓๘ หลักนี้ในตอนอื่น ว่าลุง (พี่ของมารดา)
ของพระองค์เป็นเจ้าเมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในเขตแคว้นสุโขทัย
พระองค์จึงสามารถเป็น “พระร่วง” ในตำนานได้ ตามสายเลือดทางมารดาไงครับ
สมเด็จพระนครินทราชาธิราช
ทรงรังสรรค์ความเจริญแก่กรุงศรีอยุธยาอย่างไม่เคยมีปรากฏมาก่อน
คติการสร้างพระปรางค์ขนาดใหญ่โตมโหฬาร ขึ้นเป็นพระเจดีย์ประธานของวัดต่างๆ เกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์นี้เอง
ความเจริญทางศิลปวิทยาการ รวมทั้งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในสมัยนั้น
ทำให้กรุงศรีอยุธยากลายเป็นบ้านเมืองที่โอ่อ่าภูมิฐานยิ่งนัก
วัดราชบูรณะ ภาพจาก http://www.xn--12cm1bm5dua0c1alb3vqa.com |
ดังปรากฏว่า ในกรุพระปรางค์ที่ วัดราชบูรณะ
ซึ่ง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) โปรดฯ
ให้สร้างขึ้นในการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนครินทราชาธิราชซึ่งเป็นพระราชบิดานั้น
เต็มไปด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของสมเด็จพระนครินทราชาธิราช
ไม่ว่าจะเป็นพระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงดาบอาญาสิทธิ์ ศิราภรณ์ เครื่องสูง
และเครื่องราชูปโภคที่ทำด้วยทองคำประดับอัญมณีล้วนๆ
รวมทั้งหุ่นจำลองพระปรางค์วัดราชบูรณะที่ทำด้วยทองคำด้วย
สมบัติพัสถานอันประมาณค่ามิได้เหล่านี้
แม้จะถูกคนร้ายลักขุดไปเป็นอันมาก ก็ยังเหลืออยู่อีกมากเช่นกัน
และยังคงจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาทุกวันนี้
นอกจากของมีค่าต่างๆ ภายในกรุแล้ว ผนังรอบๆ
กรุยังเต็มไปด้วยภาพเขียนสีที่สวยงาม ในบรรดาภาพเหล่านั้น มีภาพคนจีนรวมอยู่ด้วย
เป็นอีกพยานวัตถุหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับจีนอย่างแน่นแฟ้นในรัชกาลสมเด็จพระนครินทราชาธิราช
ยิ่งกว่านั้น
ยังพบพระพิมพ์เนื้อชินจำนวนมากที่มีอักษรจีนประทับไว้ข้างหลัง
สะท้อนเค้าเงื่อนในพงศาวดารเหนือ เรื่องพระร่วงเสด็จไปเมืองจีนอย่างแจ่มชัดที่สุด
แล้วในเมื่อเรื่องพระร่วงไปเมืองจีนตามพงศาวดารเหนือนั้นเป็นความจริง
สมเด็จพระนครินทราชาธิราชซึ่งเคยเสด็จไปเมืองจีนด้วยพระองค์เองมาแล้วนั้น
จะทรงได้พระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีน คือ พระนางพสุจเทวี
มาเป็นพระมเหสีจริงดังที่พงศาวดารเหนือกล่าวไว้หรือไม่?
ผมว่า หลายๆ
ท่านที่ได้อ่านพระราชประวัติของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชมาแล้ว
อาจจะมีความคิดอย่างหนึ่งที่ตรงกันนะครับ
กล่าวคือ
ในเมื่อพระองค์คือพระร่วงที่ไปเมืองจีนจริงๆ ตามพงศาวดาร
และพระองค์ก็ทรงได้รับพระเกียรติยศมากมายจากราชสำนักจีน
ดังนั้น
การที่พงศาวดารเหนือกล่าวว่าทรงได้พระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนเป็นพระมเหสี
ก็น่าจะมีหนทางแห่งความเป็นไปได้เช่นกัน จริงมั้ยครับ?
แต่น่าเสียดายที่ว่า จนถึงขณะนี้
เรายังไม่มีการค้นพบหลักฐานอะไรที่จะยืนยันเรื่องนี้โดยตรง
เพราะอย่างน้อยก็ไม่มีบันทึกของทางราชสำนักจีนกล่าวถึงเรื่องนี้เลยครับ
ที่สำคัญก็คือ การบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ
ในราชสำนักจีนนั้นกระทำกันอย่างเข้มงวด และเที่ยงตรงมาก ทุกยุคทุกสมัย
ดังนั้น
ถ้าหากว่ามีการพระราชทานพระราชธิดาของพระจักรพรรดิให้เจ้านายต่างเมืองจริง
ไม่ว่าจะเป็นพระราชธิดาในลำดับที่มีความสำคัญเล็กน้อยเพียงใด
ก็ต้องมีการบันทึกไว้อย่างแน่นอน
และบันทึกเหล่านี้จะไม่สูญหาย
หรือถูกทำลายไปเป็นอันขาด เนื่องจากหอเก็บบันทึกเหล่านี้ ไม่เคยถูกเผาทำลาย
หรือมีใครไปแตะต้อง ทุกเล่มทุกฉบับยังคงถูกเก็บรักษาไว้ให้ค้นอ่านได้ในทุกวันนี้
เพราะฉะนั้น
ถ้าเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นกับสมเด็จพระนครินทราชาธิราช
ย่อมไม่มีโอกาสจะหลุดรอดไปได้แม้แต่น้อย
ผมจึงมองหาความเป็นไปได้ ไปในอีกทางหนึ่งว่า
พระนางพสุจเทวีอาจจะไม่ใช่พระราชธิดากษัตริย์จีน
แต่เป็นขัตติยนารีชาวกรุงสุโขทัยนั่นเอง
เพราะตามพระราชประวัติของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชนั้น
ทรงมีพระอัครมเหสีเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์สุโขทัยครับ
และพระราชโอรสที่เกิดจากพระอัครมเหสีองค์นี้
ก็คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา)
ซึ่งก็ได้เจริญรอยตามพระราชบิดา
คือทรงมีพระอัครมเหสีเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์สุโขทัยเช่นกัน
ถ้าพระนางพสุจเทวี
ทรงเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์สุโขทัยสมัยนั้น ก็ไม่แปลกอะไรเลยครับ
ที่พระนางจะทรงคุ้นเคยกับเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย
จนแม้ภายหลังเสกสมรสกับสมเด็จพระนครินทราชาธิราชแล้ว
พระนางยังได้เสด็จประพาสสุโขทัยพร้อมกับพระโอรสที่ยังทรงพระเยาว์ด้วย
ดังปรากฏใน ศิลาจารึกหลักที่ ๔๙ หรือ ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์
ทางทิศเหนือของเมืองสุโขทัย ระบุไว้ว่า เมื่อพ.ศ.๑๙๕๙ “พระบรมราชาธิบดีศรีมหาจักรพรรดิราช” พร้อมพระราชมารดา
และพระมาตุจฉา (น้า) ได้เสด็จไปถวายช้างเผือกและราชรถแด่พระสงฆ์ที่เมืองสุโขทัย
วัดสรศักดิ์ |
พระนาม “พระบรมราชาธิบดีศรีมหาจักรพรรดิราช”
นั้น เป็นพระนามของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา)
ซึ่งได้ปรากฏในจารึกทองคำที่พบในกรุ วัดพระธาตุ จ.สุพรรณบุรี
ดังนั้น
จากข้อความในจารึกดังกล่าวจึงตีความได้ว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒
ได้เสด็จประพาสกรุงสุโขทัยเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พร้อมด้วยพระราชมารดา
ซึ่งก็น่าจะหมายถึงพระนางพสุจเทวีนั่นเอง
ทั้งยังมีความเป็นไปได้ด้วยนะครับว่า ในการดูแลอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องถ้วยสังคโลก
ณ เมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยนั้น สมเด็จพระนครินทราชาธิราชอาจจะโปรดฯ
ให้พระอัครมเหสีของพระองค์ ซึ่งเป็นคนสุโขทัยโดยกำเนิด ทรงรับภาระในส่วนนี้ก็ได้
ซึ่งถ้าเป็นจริง
ก็จะเป็นเหตุให้พระนางต้องเสด็จพระราชดำเนินระหว่างอยุธยา-สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย
เป็นครั้งคราว หรือเสด็จไปประทับที่สุโขทัยเป็นระยะ
ดังที่มีร่องรอยจากศิลาจารึกวัดสรศักดิ์กล่าวถึงการที่พระนาง พระขนิษฐภคนี (?) และพระราชโอรสที่ยังทรงพระเยาว์เสด็จไปทำบุญ ณ วัดดังกล่าว ซึ่ง นายอินทรสรศักดิ์
ที่สันนิษฐานกันว่าเป็นข้าราชการของกรุงศรีอยุธยาได้สร้างขึ้นในเมืองสุโขทัย
และจากศิลาจารึกดังกล่าว ยังระบุไว้ด้วยว่า
พระตำหนักเดิมของพระนางนั้นตั้งอยู่ติดกับวัดสรศักดิ์ด้านทิศตะวันตก
บริเวณที่ติดกับหัวสนามเก่านั่นเอง
ผมว่า คงเป็นเพราะเหตุนี้ละครับ
ที่ทำให้ผู้ได้พบเห็นนิมิตของพระนางพสุจเทวีโดยการนั่งทางใน
หรือทางฌานสมาบัติต่างบอกเล่าตรงกันว่า พระนางทรงสร้างวัดไว้หลายแห่งในศรีสัชนาลัย
วัดโคกสิงคาราม |
ซึ่งบัดนี้เราก็ได้รู้กันแล้วว่า
วัดเหล่านั้นต่างเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งกรุงสุโขทัยและศรีสัชนาลัยตกเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาไปแล้วทั้งสิ้น
และนอกเหนือจากข้อความในศิลาจารึกดังกล่าว
เราก็ยังอาจมีหลักฐานอื่น
ที่ทำให้เราเข้าใกล้เรื่องราวที่แท้จริงของราชนารีองค์นี้ได้มากขึ้นไปอีกก็ได้นะครับ
จากบรรดาทรัพย์สมบัติอันมีค่า ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ
นอกจากเครื่องราชกกุธภัณธ์ซึ่งน่าจะเป็นของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชแล้ว
ยังมีเครื่องราชูปโภคและเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ส่วนหนึ่ง
ที่เป็นของใช้สำหรับเจ้านายฝ่ายในอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
เป็นต้นว่า มงกุฎ (หรือเทริด) สำหรับกษัตรีย์
หรือสตรีชั้นสูงในราชสำนัก
ซึ่งคนร้ายที่ลักลอบขุดกรุได้ให้ปากคำไว้และยังไม่อาจตามคืนได้จนบัดนี้
คงพบแต่ศิราภรณ์ที่ทำด้วยเส้นทองคำเล็กๆ
ถักละเอียดโปร่งบางราวกับใยผ้า มีลวดลายประดับไว้ทั้งด้านข้างและด้านบน
ฝีมือการถักทอประณีตบรรจงมาก ใช้สำหรับสวมครอบมวยผมเพื่อป้องกันเส้นเกศาสยาย
เครื่องราชูปโภคสำหรับเจ้านายสตรีเช่นนี้
คงมิได้เป็นของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชหรอกครับ
แต่การที่สิ่งเหล่านี้ถูกนำไปบรรจุไว้ในกรุเดียวกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์
และเครื่องราชูปโภค ของสมเด็จพระนครินทราชาธิราช
ก็ย่อมแสดงเห็นว่าเป็นของราชนิกูลฝ่ายหญิงพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง
ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนครินทราชาธิราช
ในระดับที่ใกล้ชิดเป็นพิเศษ
ซึ่งก็น่าจะเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีของพระองค์
ซึ่งไม่ปรากฏพระนามในประวัติศาสตร์นั่นเองละครับ
ดังนั้น เครื่องถนิมพิมพาภรณ์เหล่านี้
ซึ่งปัจจุบันยังคงจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา
ครั้งหนึ่งก็อาจจะเคยได้ใช้ประดับพระวรกายของพระนางพสุจเทวี
ราชนารีจากแคว้นสุโขทัย อัครมเหสีของสมเด็จพระศรีนครินทราชาธิราช
ผู้ยังคงเป็นนางกษัตริย์ในตำนานพระองค์หนึ่งจนทุกวันนี้ก็ได้
ปัจจุบันนี้ ภายใน วัดสิริเขตคีรี
(วัดพระร่วง) ต.ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
มีมณฑปประดิษฐานเทวรูปพระร่วงอรุณราช และพระนางพสุจเทวี
ตั้งอยู่สองข้างทางขึ้นไปสู่พระเจดีย์องค์สำคัญของวัด
พระรูปทั้งสองหล่อด้วยโลหะปิดทองตลอดองค์
แบบอย่างฉลองพระองค์ เป็นไปตามการสันนิษฐานถึงรูปแบบการแต่งกายเจ้านายสุโขทัยที่มีพื้นฐานมาจากละครกรมศิลปากรในสมัยหนึ่ง
มีผู้แวะเวียนไปสักการบูชาอยู่เป็นประจำ ซึ่งก็กล่าวกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก
ภาพจาก http://tamroiphrabuddhabat.com |
ตามความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ
พระรูปทั้งสองนี้ ควรเป็นองค์จำลองของสมเด็จพระนครินทราชาธิราช
และพระอัครมเหสีชาวสุโขทัย ซึ่งทรงมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ที่ทุกฝ่ายยอมรับกัน
และย่อมจะเป็นเหตุเป็นผลที่สอดคล้องกับความศักดิ์สิทธิ์
ของพระนางพสุจเทวี ที่ยังคงยั่งยืนอยู่ในจิตวิญญาณของคนศรีสัชนาลัยจนทุกวันนี้
มากกว่าเรื่องราวอันเลื่อนลอยของพระร่วงอรุณราชผู้เกิดจากนางนาค
ผู้เสด็จไปเมืองจีนในยุคสมัยอันไกลโพ้นซึ่งปราศจากหลักฐานทางโบราณคดีรองรับ
เพราะความศักดิ์สิทธิ์นั้น จะต้องเกิดจากบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริง
ไม่ใช่ในตำนานที่เป็นเรื่องแต่งขึ้น หาตัวตนมิได้ครับ
………………………
หมายเหตุ :
เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย
และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด