Sunday, December 11, 2016

สมเด็จพระสุพรรณกัลยา : ราชนารีผู้เสียสละเพื่อแผ่นดิน ตอนที่ ๒



พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระสุพรรณกัลยา
วัดจันทร์ตะวันออก ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยและพม่า ในส่วนที่สอดคล้องกัน สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา และทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๖ พระชนมายุได้ ๑๘-๑๙ พรรษา

ดังนั้นจึงประมาณการได้ว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จออกจากหงสาวดีนั้น สมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยาน่าจะทรงมีพระชนมายุราวๆ ๒๐ พรรษา

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงรวบรวมขุนศึก และนักรบฝีมือดีขึ้นเป็นกองกำลังของพระองค์ที่พิษณุโลก จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๑๒๔ พระองค์เจริญพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา พระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคต พระเจ้านันทบุเรง ได้ขึ้นครองราชย์ เวลานั้นสมเด็จพระสุพรรณกัลยาคงจะทรงเจริญพระชนมายุได้ราวๆ ๒๘ พรรษา

ฮาร์ทกล่าวว่า ระยะเวลา ๑๑ ปีแรกในกรุงหงสาวดี ของสมเด็จพระสุพรรณกัลยานั้น เป็นช่วงเวลาที่ดี และทรงพระเกษมสำราญตามสมควรครับ

แต่ที่สุดแล้ว พระชะตาของพระนางก็ถึงจุดเปลี่ยนผัน เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์

ตำแหน่งพระมเหสีของพระนางกลายเป็นอดีต และต้องทรงย้ายออกจากพระราชวังกัมโพชธานี ไปประทับ ณ พระตำหนักส่วนพระองค์ นอกเขตพระราชฐาน ตามโบราณราชประเพณี เช่นเดียวกับพระมเหสีเทวีพระองค์อื่นๆ ของพระเจ้าบุเรงนอง

ส่วนพระตำหนักเดิม ก็เปลี่ยนไปเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในพระองค์ใหม่ ที่พระเจ้านันทบุเรงจะทรงสถาปนาขึ้นต่อไป

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระสุพรรณกัลยาและพระราชธิดา ได้เสด็จประทับในตำหนักส่วนพระองค์ที่ได้สร้างไว้ก่อนแล้ว และก็คงประทับอยู่ด้วยความสุขสบายตามอัตภาพ กษัตริย์พระองค์ใหม่ยังจะต้องพระราชทานเบี้ยหวัด และสิ่งจำเป็นในการดำรงพระชนม์ชีพแด่อดีตพระมเหสีทุกพระองค์ของพระราชบิดาตลอดไป จนกว่าจะสิ้นพระชนม์

ซึ่งธรรมเนียมเช่นนี้ ไทยเราก็ถือปฏิบัติกันครับ

หลังจากนั้นไม่นาน พวกไทยใหญ่เมืองลุมเมืองคังแข็งเมือง พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงมีพระราชโองการให้จัดทัพไปตี ๓ ทัพคือ ทัพของพระมหาอุปราชา มังสามเกียด พระราชโอรส, ทัพของ นัตชิงนอง หรือพระสังกะทัตจากตองอู และทัพของสมเด็จพระนเรศวรจากพิษณุโลก

ด้วยเหตุนั้น สมเด็จพระนเรศวรจึงได้เสด็จกลับมายังหงสาวดีอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่มีหลักฐานฝ่ายไทยกล่าวว่า ได้พบพระพี่นางหรือไม่

ขณะที่ฮาร์ทกล่าวว่า ทั้งสองพระองค์ได้พบกัน และสมเด็จพระสุพรรณกัลยาได้ทรงทราบข่าวพระราชบิดาพระราชมารดาบ้าง

แต่ประวัติศาสตร์ไทยบันทึกไว้เพียงว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงชนะศึกเมืองลุมเมืองคัง ขณะที่ทัพหงสาวดีและตองอูพ่ายแพ้

หลังจากนั้น พ.ศ.๒๑๒๗ พระเจ้าอังวะ พระเจ้าตองอู พระเจ้าแปร และพระเจ้าเชียงใหม่ร่วมกันก่อกบฏ ไม่ยอมขึ้นกับหงสาวดี สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรยกทัพจากพิษณุโลกไปช่วยหงสาวดีทำศึก

แต่เมื่อเสด็จไปถึงเมืองแครงก็ทราบว่า พระเจ้านันทบุเรงคิดไม่ซื่อ จึงทรงประกาศอิสรภาพ ดังที่คนไทยเราส่วนใหญ่ทราบกันดีอยู่แล้วครับ

พงศาวดารฝ่ายไทยบันทึกไว้ว่า ภายหลังประกาศอิสรภาพแล้ว ทางหงสาวดีได้ส่งทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง แต่ก็พ่ายกลับไปทุกครั้ง จนกระทั่งสมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงเสด็จขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อพ.ศ.๒๑๓๔

ถัดจากปีนั้น ทางพม่าก็ให้พระมหาอุปราชามังสามเกียด ยกกองทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาอีก

แต่เมื่อทัพดังกล่าวมาถึงเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงนำทัพออกไปรับศึกที่ตำบลหนองสาหร่าย เกิดสงครามยุทธหัตถี พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ในสนามรบ กองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไปอย่างยับเยิน

คำให้การของชาวกรุงเก่า ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระเจ้ากรุงหงสาวดีทรงพระพิโรธมาก รับสั่งให้เอาแม่ทัพนายกองที่แพ้กลับมาในครั้งนั้น ใส่คาย่างไฟให้ตายสิ้น

แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่คลายพิโรธ ได้เสด็จไปสู่ตำหนักสมเด็จพระสุพรรณกัลยา เอาพระแสงดาบฟันพระนางกับพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์


วาระสุดท้ายของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา
จากภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล

ส่วนในหนังสือ คำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงวาระสุดท้ายของสมเด็จพระสุพรรณกัลยาไว้คล้ายคลึงกัน ต่างกันเฉพาะเรื่องที่มีพระราชโอรสกับพระเจ้าหงสาวดี มิใช่พระราชธิดา

ขณะที่ พงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว เล่าว่า สมเด็จพระสุพรรณกัลยาทรงมีคนสนิทอยู่คนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นนางสนองพระโอษฐ์ มีนามว่า พระองค์จันทร์

พงศาวดารฉบับดังกล่าวระบุว่า ภายหลังจากพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ ในการกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น พระเจ้านันทบุเรงมิได้ทรงประหารสมเด็จพระสุพรรณกัลยาทันทีที่ทรงทราบข่าว

หากได้แต่ทรงเสวยน้ำจัณฑ์ จนเมามายอยู่เป็นเวลานาน แต่ละวันก็พาลหาเรื่องสมเด็จพระสุพรรณกัลยา และขู่อาฆาตบ่อยๆ  จนพระนางทรงสังหรณ์พระทัย ได้ทรงเรียกพระองค์จันทร์มาปรับทุกข์หลายครั้ง

ท้ายที่สุด ได้ทรงตัดปอยพระเกศาใส่ผอบเครื่องหอม ประทานให้พระองค์จันทร์ เตรียมนำไปถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่กรุงศรีอยุธยา เผื่อจะไม่รอดพระชนม์ชีพ

ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อพระเจ้านันทบุเรงทรงเมามายไม่มีสติ ได้เสด็จไปถึงห้องบรรทมในตำหนักสมเด็จพระสุพรรณกัลยา แล้วใช้พระแสงดาบทั้งฟันทั้งแทงพระนาง จนสิ้นพระชนม์อยู่บนพระที่นั้นเอง

พงศาวดารฉบับหอแก้วระบุว่า ขณะนั้น พระนางทรงมีพระราชโอรสกับพระเจ้าบุเรงนองอยู่แล้วหนึ่งองค์ และทรงพระครรภ์อยู่อีกหนึ่งองค์ ก็นับเป็นอีกหลักฐานที่สอดคล้องกับคำให้การของไทยทั้งสองฉบับ

ข้อมูลทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดความสับสนครับ

ซึ่งฮาร์ทก็ชี้ให้เห็นข้อพิรุธอย่างสำคัญ ในเหตุการณ์ที่คนไทยเชื่อถือกันเป็นอันมากนี้ไว้ ๒ ประเด็นด้วยกัน

๑) สงครามยุทธหัตถีเกิดขึ้นในพ.ศ.๒๑๓๕ หลังจากสมเด็จพระสุพรรณกัลยาประทับในกรุงหงสาวดีมานานถึง ๒๓ ปีแล้ว

พระนางทรงเจริญพระชนมายุได้ ๓๙ พรรษา และพระธิดาของพระนางที่เกิดกับพระเจ้าบุเรงนอง คือ เจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ หรือ มังอะทเว ก็ทรงมีพระชนมายุราวๆ ๒๐ พรรษาแล้วนะครับ

อีกทั้งเราไม่ควรลืมว่า พระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคตไปแล้วตั้งแต่พ.ศ.๒๑๒๔ หรือ ๑๑ ปีก่อนสงครามยุทธหัตถี

หากพระองค์ทรงมีพระราชโอรส หรือพระราชธิดากับสมเด็จพระสุพรรณกัลยา แม้ในปีเดียวกับที่เสด็จสวรรคต พระราชโอรส หรือพระราชธิดาพระองค์นั้นก็จะทรงมีพระชนมายุได้ ๑๑ พรรษาแล้วเช่นกัน

มิใช่เด็กที่ยังไม่หย่านมแต่อย่างใด

๒) ดังนั้น ถ้าสมเด็จพระสุพรรณกัลยาทรงมีพระราชโอรส หรือพระราชธิดาที่ยังต้องเสวยนม รวมทั้งยังทรงพระครรภ์อยู่ในพ.ศ.๒๑๓๕ นั่นก็ย่อมไม่ใช่พระราชโอรส หรือพระราชธิดาของพระเจ้าบุเรงนอง แต่ควรเป็นของพระเจ้านันทบุเรง

ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีบางเอกสารอธิบายว่า พระเจ้านันทบุเรงทรงลุ่มหลงสมเด็จพระสุพรรณกัลยา มาตั้งแต่ครั้งยังทรงมีฐานะเป็นพระมเหสีของพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อได้ขึ้นครองราชย์ ก็ทรงรับพระนางมาเป็นมเหสีของตน

แต่ถ้าจะกล่าวในมุมมองของ มิคกี้ ฮาร์ท เขาไม่สามารถยอมรับเรื่องราวเหล่านี้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ได้ครับ

ฮาร์ทยืนยันว่า ไม่มีธรรมเนียมที่กษัตริย์พม่าจะรับพระมเหสี รวมทั้งพระสนมทั้งหลายของพระราชบิดามาเป็นของตนต่อไป เจ้านายฝ่ายในที่จะมีการสถาปนาขึ้นในรัชกาลใหม่ ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นชุดใหม่  เป็นธิดาเจ้าต่างเมืองที่ล้วนเป็นสาวสะพรั่ง อายุ ๑๖-๑๗ ปีทั้งนั้น

และขัตติยประเพณีเช่นนี้ พม่าก็ยังคงสืบทอดกันมาจนถึงราชวงศ์สุดท้าย ก่อนจะเสียเมืองแก่อังกฤษ

ด้วยเหตุนั้น ตามทรรศนะของฮาร์ท เขาคิดว่าการที่สมเด็จพระสุพรรณกัลยาทรงถูกประหารในขณะที่ยังทรงให้นมพระโอรส หรือพระธิดาองค์น้อยนั้น เป็นเพียงนิยายเท่านั้น


อีกภาพหนึ่งของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา
จาก ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ที่รับบทโดย เกรซ มหาดำรงค์กุล

ผมเองก็มีความเห็นสอดคล้องกับทรรศนะเช่นนี้เหมือนกันครับ

เพราะถ้าคิดกันง่ายๆ ไม่ต้องมีความรู้เรื่องขนบธรรมเนียมในราชสำนักพม่า ตอนที่พระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์นั้น องค์สมเด็จพระสุพรรณกัลยาทรงเจริญพระชนมายุได้ราวๆ ๒๘ พรรษา

พูดตามตรงว่า ถ้าพระเจ้านันทบุเรง ป่าเถื่อนพอจะข่มเหงพระนางเป็นชายา หรือบาทบริจาริกา ก็ยังพอมีความเป็นไปได้บ้าง

แต่เมื่อเวลาผ่านเลยมาอีก ๑๑ ปีจนถึงสงครามยุทธหัตถี พระนางทรงเจริญพระชันษาใกล้จะ ๔๐ ปี ตามค่านิยมในยุคสมัยนั้นถือว่าทรงมีพระชนมายุมากแล้ว แต่กลับยังทรงมีพระราชโอรสหรือธิดาที่ยังต้องเสวยพระกษิรธาราในขณะนั้น

แสดงว่า พระราชโอรสหรือธิดาดังกล่าว ต้องทรงมีพระประสูติกาลก่อนหน้านั้น ไม่นานไปกว่า ๑ ปีแน่นอน

นั่นหมายความว่า พระเจ้านันทบุเรงต้องเป็นกษัตริย์ที่ทรงวิปริตในทางกามารมณ์อย่างมากทีเดียวนะครับ ถึงขนาดต้องทรงเสด็จออกนอกเขตพระราชฐาน เพื่อไปมีโอรสธิดากับอดีตพระมเหสีของพระบิดา ซึ่งทรงมีพระชนมายุใกล้ ๔๐ พรรษาแล้ว ทั้งๆ ที่ทรงมีพระมเหสีและพระชายาเต็มพระราชฐานชั้นใน นับว่าเป็นเรื่องอ่อนเหตุผลอย่างที่สุด

อย่างไรก็ตาม พงศาวดารฉบับหอแก้วของพม่ากล่าวต่อไปว่า ภายหลังประหารสมเด็จพระสุพรรณกัลยา และพระสติของพระเจ้านันทบุเรงกลับคืนมาแล้ว ก็มีพระราชโองการให้จัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสุพรรณกัลยา อย่างสมพระเกียรติ

ส่วนพระองค์จันทร์ได้ลอบออกจากวัง นำผอบพระเกศาไปกับนายทหารมอญ ทำทีเป็นสามีภรรยากันตลอดเวลานานถึงสามเดือนเศษ จนถึงกรุงศรีอยุธยา และได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระเอกาทศรถ ท่ามกลางความโศกเศร้าของบรรดาพระญาติพระวงศ์ ในครั้งนั้นพระองค์จันทร์ได้รับการสถาปนาเป็น ท้าวจันทร์เทวี

หลังจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพพระวิสุทธิกษัตริย์แล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงทรงยกทัพไปตีหงสาวดีและตองอู แต่ไม่สำเร็จ

ระหว่างเสด็จกลับ ทรงได้รับพระอัฐิพระพี่นางจากมอญผู้หนึ่ง และเมื่อทรงแวะพักที่เมืองปาย ทรงพระสุบินว่าพระพี่นางเสด็จมาพบ และตรัสว่า พระนางเปรียบเสมือนคนสองแผ่นดิน มีความผูกพันทั้งไทยและพม่า จึงทรงมีพระประสงค์จะเสด็จประทับอยู่ที่เมืองปายนั่นเอง

จากพระสุบินนิมิตดังกล่าว สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงทรงหยุดพักกองทัพอยู่ที่เมืองปายเป็นเวลา ๓๒ วัน และโปรดฯ ให้ม้าเร็วไปรับตัวท้าวจันทร์เทวีจากกรุงศรีอยุธยา โดยให้นำผอบบรรจุเส้นพระเกศาของพระพี่นางไปยังเมืองปายด้วย

จากนั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดฯ ให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง และพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระอัฐิและพระเกศาของสมเด็จพระพี่นางไว้ ณ เมืองปายนั้นเอง

แต่คำถาม ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีใครถาม ก็คือ...

สมเด็จพระสุพรรณกัลยาทรงถูกสังหารจริงหรือไม่?

คืออย่างนี้ครับ,

แม้การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ด้วยแรงโทสะของพระเจ้านันทบุเรงนั้น เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารทางฝ่ายไทย หรือฝ่ายพม่า (บางฉบับดังที่อ้างแล้ว) ก็จริง

แต่ในส่วนนี้ มิคกี้ ฮาร์ท ก็ได้นำเสนอข้อมูลฝ่ายพม่าในอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นการทำให้ตำนานสมเด็จพระสุพรรณกัลยาของไทย ต้องถึงคราวพลิกผันอย่างกลับตาลปัตร

โดยเขาอ้างอิงจากบันทึกทางประวัติศาสตร์พม่า (ซึ่งยังมิได้มีการแปลเป็นภาษาไทย) ซึ่งกล่าวถึงพระราชธิดาของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา คือ เจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ หรือเจ้าหญิงพิษณุโลกตามคำเรียกขานของคนทั่วไป

ในพงศาวดารพม่าที่ฮาร์ทค้นมาได้ เจ้าหญิงพระองค์นี้มิได้สิ้นพระชนม์ด้วยคมดาบของพระเจ้านันทบุเรง พร้อมกับพระราชมารดาอย่างแน่นอนครับ

เพราะปรากฏว่า ภายหลังตามเสด็จพระราชมารดาออกมาประทับนอกพระราชวังกัมโพชธานีแล้ว เจ้าหญิงพระองค์นี้ได้ทรงสมรสกับ เจ้าเกาลัด บุตรชายของ เจ้าอสังขยา เจ้าเมืองตะลุป ชาวไทยใหญ่ ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของ พระเจ้ามังรายจอซะวา กษัตริย์อังวะ ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่สองของพระเจ้านันทบุเรง

ฮาร์ทกล่าวว่า ภายหลังเสกสมรส เจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่เสด็จไปอยู่กับพระสวามีที่กรุงอังวะ พร้อมกับพระราชมารดา คือ สมเด็จพระสุพรรณกัลยา

และต่อมา ก็ทรงมีพระราชธิดาองค์หนึ่ง พระนามว่า เจ้าหญิงจันทร์วดี นับว่าเป็นพระนัดดาของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ที่คนไทยเราไม่เคยรู้กันว่าทรงมีอยู่

เขากล่าวต่อไปว่า

ครั้นปีพ.ศ.๒๑๓๕ พระมหาอุปราชสวรรคตระหว่างสงครามกับพระนเรศวร พระเจ้านันทบุเรงจึงทรงตั้งมังรายจอซะวาเป็นพระมหาอุปราชองค์ใหม่ เจ้าเกาลัดจึงตามมารับใช้พระมหาอุปราชองค์ใหม่ที่กรุงหงสาวดี แต่ไม่ให้ครอบครัวย้ายตามมาด้วย เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์กรุงหงสาวดีในเวลานั้น เพราะพระเจ้าหงสาวดีไม่ทรงวางพระทัยในชาวมอญทั้งหลายแล้ว พระองค์คิดว่าชาวมอญทั้งหลายมีใจกับพระนเรศวร จึงทรงมีรับสั่งให้จับชาวมอญทั้งหลายประหารสิ้น

นั่นหมายความว่า เมื่อเกิดสงครามยุทธหัตถี พ.ศ.๒๑๓๕ นั้น สมเด็จพระสุพรรณกัลยามิได้ประทับอยู่ในกรุงหงสาวดี แต่อยู่ที่กรุงอังวะพร้อมกับพระราชธิดา

เพราะฉะนั้น ถ้าพระเจ้านันทบุเรงเสียพระทัยในการสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรส และจะทรงประหารสมเด็จพระสุพรรณกัลยา พระองค์จะต้องเสด็จจากกรุงหงสาวดี ไปประหารพระนางที่กรุงอังวะ

แต่พระเจ้านันทบุเรงไม่เคยได้เสด็จไปถึงอังวะเลยครับ

เพราะตั้งแต่หลังสงครามยุทธหัตถี เรื่องยุ่งยากต่างๆ ก็เกิดขึ้นในบ้านเมืองของพระองค์ จนกระทั่งพ.ศ.๒๑๓๗  พระเจ้าตองอู พระเจ้าญองรัม และ พระเจ้าเชียงใหม่ พากันตั้งตัวเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับกรุงหงสาวดีอีกต่อไป

พระเจ้าญองรัม ได้เข้ายึดกรุงอังวะ ที่เจ้าหญิงพิษณุโลก กับพระราชมารดาประทับอยู่ ซึ่งนอกจากจะไม่มีผลกระทบใดๆ กับทั้งสองพระองค์แล้ว ยังกลับเป็นผลดีอีกด้วย

เพราะพระเจ้าญองรัมนั้น ทรงเป็นพระราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง ทรงสนิทสนมคุ้นเคยกับเจ้าอสังขยา บิดาของเจ้าเกาลัดเป็นอย่างดี และทั้งสองท่านนี้ก็สนิทสนมคุ้นเคยกับสมเด็จพระสุพรรณกัลยาเป็นอย่างดีเช่นกันครับ

ด้วยเหตุนั้น ภายหลังพระเจ้าญองรัมยึดกรุงรัตนบุระอังวะ เจ้าเกาลัดจึงนำทหาร ๓,๐๐๐ คนออกจากหงสาวดีไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าญองรัม ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า เจ้าโกโตรันตมิตร และได้รับพระราชทานตำแหน่งเสนาบดี เช่นเดียวกับเจ้าอสังขยาผู้เป็นบิดา

พระเจ้านันทบุเรง ได้แต่ทอดพระเนตรสิ่งเหล่านี้ โดยไม่สามารถทำอะไรได้ จนกระทั่งเสียกรุงหงสาวดีแก่พระเจ้าตองอูเมื่อ พ.ศ.๒๑๔๒  และพระองค์เองก็ต้องย้ายไปประทับที่ตองอู จนสิ้นพระชนม์ที่นั่นเมื่อพ.ศ.๒๑๔๖

ในขณะที่พระเจ้าญองรัม ทรงก่อตั้งราชวงศ์ของพระองค์เอง ราชวงศ์ใหม่นี้ได้สืบทอดราชบัลลังก์รัตนบุระอังวะไปอีกยาวนานถึง ๑๐ รัชกาล ก่อนที่จะเสียกรุงให้แก่พระเจ้าอลองพญา


โบราณสถานในกรุงอังวะ ปัจจุบัน
ภาพจาก http://pantip.com/topic/31486286

จึงคาดได้ว่า ภายใต้การปกครองของพระเจ้าญองรัม สมเด็จพระสุพรรณกัลยากับพระราชธิดาก็คงเสด็จประทับอยู่ในกรุงอังวะอย่างเป็นปกติสุข ปลอดภัย และทรงพระเกษมสำราญตลอดพระชนม์ชีพ

ซึ่งก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ละครับ แม้จะสิ้นรัชกาลพระเจ้าญองรัมไปแล้วก็ตาม

เพราะหลังจากพระเจ้าญองรัมเสด็จสวรรคต พระเจ้าอะน่อกเพกลน พระราชโอรสเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อ ยังได้ทรงแต่งตั้งเจ้าเกาลัด หรือเจ้าโกโตรันตมิตรเป็นที่ปรึกษา พระนางอดุลจันทร์เทวี พระอัครมเหสีของพระองค์

พระอัครมเหสีพระองค์นี้ ทรงมีความรักใคร่เอ็นดูเจ้าหญิงจันทร์วดี ซึ่งเป็นพระธิดาของเจ้าเกาลัดกับเจ้าหญิงพิษณุโลกเป็นพิเศษ จนเมื่อเจ้าหญิงจันทร์วดีเจริญพระชนมายุได้ ๒๐ พรรษา ก็ทรงจัดพิธีเสกสมรสพระราชทานเจ้าหญิงจันทร์วดี กับ เจ้าชายจอสูร์ จากเมืองส้า เมื่อพ.ศ.๒๑๖๘

เจ้าหญิงจันทร์วดี พระนัดดาของสมเด็จพระสุพรรณกัลยานั้น ต่อมาทรงมีพระโอรสพระนามว่า เจ้าจันทร์ญี และพระธิดาพระนามว่า เจ้ามณีโอฆ

ภายหลังเจ้ามณีโอฆ ได้สมรสกับมหาเศรษฐีของกรุงอังวะ และมีบุตรชายด้วยกันเมื่อพ.ศ.๒๑๙๑-๙๒ นามว่า กาลา หรือ กุลา

นายกาลาผู้นี้ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้ารูปลังกา ในรัชสมัย พระเจ้าศรีมหาสีห์สูรสุธรรมราชา และท่านผู้นี้ละครับ คือผู้แต่ง พงศาวดารฉบับอูกาลา หรือ อูกาลา มหายาสะวินจี พงศาวดารพม่าที่มีชื่อเสียงที่สุดฉบับหนึ่งเมื่อพ.ศ.๒๒๕๗




จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จึงสามารถสรุปได้อย่างชัดเจนครับว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนะสงครามยุทธหัตถี พ.ศ.๒๑๓๕ นั้น สมเด็จพระสุพรรณกัลยามิได้ประทับอยู่ในกรุงหงสาวดี หากแต่ประทับอยู่ที่กรุงรัตนบุระอังวะพร้อมกับพระราชธิดา

ดังนั้น พระนางจึงมิได้ถูกพระเจ้านันทบุเรงประหาร หรือสิ้นพระชนม์พร้อมด้วยคมดาบ ทั้งที่ยังทรงพระครรภ์ ณ กรุงหงสาวดี พร้อมด้วยพระราชโอรส หรือพระราชธิดาแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม พระนางยังทรงดำรงพระชนม์ชีพต่อมาอย่างปกติสุขในกรุงอังวะ ตลอดรัชกาลพระเจ้าญองรัม ราชบุตรผู้ทรงพระปรีชาสามารถที่สุดของพระเจ้าบุเรงนอง

พระนางจะทรงมีพระชนม์ชีพยืนยาวต่อมา จนได้ทอดพระเนตรงานสมรสของเจ้าหญิงจันทร์วดี พระนัดดาของพระนางหรือไม่ พงศาวดารพม่ามิได้บันทึกไว้

แต่เชื้อสายของพระนางนั้นมีตัวตนจริงครับ และสืบทอดมาถึงผู้แต่งพงศาวดารพม่าฉบับที่นักวิชาการไทยเรารู้จักกันดีคนหนึ่ง โดยไม่เคยระแคะระคายเลยว่า เป็นผู้สืบสายโลหิตมาจากพระนาง

ถ้าข้อเท็จจริงเป็นไปดังนี้ คำถามที่ต้องเกิดตามมาอย่างแน่นอนก็คือ...

การนับถือสมเด็จพระสุพรรณกัลยาซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนตำนานดั้งเดิม ก็เท่ากับเป็นการนับถือบูชาวีรกรรมของพระนาง ซึ่งไม่เคยมีอยู่จริง เป็นเพียง นิยายอิงประวัติศาสตร์ล้วนๆ ใช่หรือไม่?

แล้วเราจะบูชาพระนางกันไปเพื่ออะไร?

ผมแน่ใจว่า คำถามนี้ตอบได้ไม่ยากครับ

ตอบไม่ยาก ถ้าตอบด้วยหลักการ ด้วยเหตุผล ด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ด้วยอารมณ์

เพราะการที่เราจะนับถือบุคคลใด ที่เคยมีตัวตนจริง มีชีวิตจริงในประวัติศาสตร์ เราควรจะนับถือความเป็นจริงของบุคคลนั้นๆ

ไม่ใช่นับถือนิยาย หรือจินตนาการที่เกี่ยวกับบุคคลนั้นครับ

ในยุคสมัยที่เรายังไม่มีโอกาสค้นพบความจริงเกี่ยวแก่บุคคลนั้นๆ นิยายหรือจินตนาการ ก็พอจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวได้

แต่เมื่อเราได้ค้นพบความจริงแล้ว บุคคลนั้นก็ควรได้ก้าวออกจากโลกมายา สู่โลกของความเป็นจริง ที่เราสามารถจะนับถือได้อย่างแท้จริง ด้วยเหตุและผล

เราควรใช้ความจริงที่เราได้รับนี้ สลัดเราออกจากพันธนาการของภาพลวงตา และประจักษ์ถึง ความดีงามที่เป็นจริง

ซึ่งนั่นก็คือ ความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงนั่นเองครับ

ความลวงนั้นศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้หรอกครับ มีแต่ความจริง และเรื่องจริง เท่านั้นที่ศักดิ์สิทธิ์

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือสิ่งที่มีจริงเท่านั้น

ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่มีจริง นั่นไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ครับ

แล้วความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริง ของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา คืออะไร?

คำตอบก็คือ พระนางไม่เพียงทรงอยู่เบื้องหลังความเป็น มหาราชแห่งองค์สมเด็จพระนเรศวรเท่านั้น ยังทรงเป็นราชนารีที่เฉลียวฉลาด และลุ่มลึกในพระปรีชาญาณอย่างหาตัวจับยาก

พระนางมิได้ทรงเป็นเพียงเจ้าหญิงพระองค์หนึ่ง ที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงใดๆ ต้องเล่นไปตามบทบาทที่ถูกคนอื่นกำหนด ต้องทนทุกข์ทรมาน และในที่สุดก็สิ้นพระชนม์อย่างน่าเวทนา ตามความเชื่อเดิมๆ ของพวกเรา


สมเด็จพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ
พระรูปไฟเบอร์กลาส ภายในตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี
ภาพจาก http://suphanburi.890m.com

ตรงกันข้าม พระนาง เล่นตามบทที่ถูกกำหนดอย่างดี สามารถครองพระองค์ให้อยู่รอดปลอดภัย และเป็นที่โปรดปรานภายใต้ร่มพระบารมีของจอมกษัตริย์ ผู้ซึ่งไม่มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดในพม่ายิ่งใหญ่เสมอเหมือน

แม้ว่านี่จะเป็น หน้าที่ที่เจ้าหญิงทุกพระองค์ในยุคสมัยเดียวกับพระนาง ต้องกระทำเหมือนกันหมดก็จริง แต่มิใช่ว่าทุกพระองค์ จะทรงปฏิบัติพระราชกิจเช่นนี้ได้ผลลุล่วงเสมอไปนะครับ

โดยเฉพาะในราชสำนักของพระเจ้าบุเรงนอง ที่พระมเหสีเทวีทุกพระองค์ ต้องแข่งขันกันอย่างมากมาย เพียงเพื่อจะรักษาฐานะของตนให้คงเป็นที่โปรดปรานต่อเนื่องยาวนานที่สุด

ต้องเป็นราชนารีที่มีความสามารถสูงจริงๆ เท่านั้นครับ ที่จะโดดเด่นขึ้นมาอยู่ในชั้นแถวหน้า เพื่อให้มีอำนาจและอิทธิพลเพียงพอ ที่จะเจรจาหว่านล้อมกษัตริย์ให้โอนอ่อนผ่อนตาม ในเรื่องที่สำคัญต่อบ้านเกิดเมืองนอนของตนได้

และสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ก็ทรงรักษาพระองค์ไว้ในฐานะเช่นนี้ได้โดยตลอด จนกระทั่งสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทรงเจริญพระชันษาเพียงพอ ที่พระราชบิดาจะทูลขอพระเจ้าบุเรงนองให้ส่งกลับไปกรุงศรีอยุธยา

ซึ่งเมื่อเวลาสำคัญนี้มาถึง พระนางจะได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ที่ทรงได้รับมอบหมายได้อย่างสัมฤทธิ์ผล

ขณะที่แม้แต่สมเด็จพระพี่นางอินทรเทวี ก็ไม่อาจจะทรงกระทำได้ เพราะทรงมิได้เป็นที่โปรดปรานเท่ากับพระนางนั่นเอง

ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่า พระนางถูกส่งเข้าสู่ราชสำนักหงสาวดี ด้วยพระราชบิดาทรงหวังให้พระนางปฏิบัติพระราชภารกิจนี้ เป็นสำคัญที่สุดครับ

เพราะสมเด็จพระนเรศวร คือพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ผู้ซึ่งจะต้องเป็นผู้นำในการคืนอิสรภาพให้กรุงศรีอยุธยาในกาลข้างหน้า

ซึ่งพระนาง ต้องทรงเฝ้าคอยโอกาสนี้อย่างอดทนอยู่ถึง ๔ ปี โดยต้องทรงพยายามรักษาฐานะความเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าบุเรงนอง นับตั้งแต่วันแรกที่ถวายตัว ให้คงเส้นคงวาอยู่เสมอ

ด้วยนั่นเป็นเงื่อนไขเดียว ที่จะทำให้พระราชกิจของพระนางลุล่วง

ถ้าไม่มีความเฉลียวฉลาดในการครองพระองค์ และความสามารถในการเจรจาของพระนาง ที่ย่อมจะมีส่วนทำให้พระเจ้าบุเรงนองทรงยินยอม ให้สมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จกลับไปกอบกู้บ้านเมือง วีรกรรมของสมเด็จพระมหาราชเจ้าพระองค์นั้น ก็คงเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากมากกว่าที่เป็นอยู่

และสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ก็ทรงกระทำสิ่งนี้ได้สำเร็จแล้ว

นี่แหละครับ คือบทบาทที่สำคัญอย่างที่สุด ของเจ้าหญิงในยุคโบราณ ที่จะต้องกระทำเพื่อชาติบ้านเมืองของตน

ขณะที่มองอย่างผิวเผิน ราชนารีเหล่านี้ดูเหมือนไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรเลย เป็นเหมือนกับ สิ่งของที่กษัตริย์แต่ละเมืองจะยกให้กัน เพื่อสืบสานสัมพันธไมตรีเท่านั้น

แต่แท้ที่จริง ราชนารีเหล่านี้คือผู้แทนของรัฐที่พระองค์จากมา เพื่อทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ และความอยู่รอดของบ้านเกิดเมืองนอนในทุกวิถีทาง ขณะที่ราชโอรส ทำหน้าที่ผู้นำในการปกครอง และการรบทัพจับศึก

ความสำเร็จหรือล้มเหลวของราชโอรส หรือกษัตริย์องค์ต่อไป จึงย่อมขึ้นอยู่กับราชนารีเหล่านี้ ว่าจะรักษาสถานะ และบทบาทไว้ได้มากน้อยเพียงใด ในบ้านเมืองที่แต่ละพระองค์ถูกส่งไปถวายตัว

ซึ่งผมได้กล่าวแล้วไงครับ ว่างานอันยากยิ่งเช่นนี้ มิใช่ว่าเจ้าหญิงทุกพระองค์จะทรงกระทำได้ลุล่วงทั้งหมด

และสมเด็จพระสุพรรณกัลยาก็ทรงทำได้สำเร็จ โดยที่พระนางต้องทรงยอมเสียสละพระองค์เองแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ในอนาคตเช่นกัน

แต่เมื่อทรงตระหนักดีว่า อนาคตเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน พระนางก็ทรงหาทางหนีทีไล่ไว้รองรับ ด้วยการเลือกที่จะทรงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้านายพม่าพระองค์ใดก็ได้ ที่อาจช่วยเหลือพระนางในภายภาคหน้า

ซึ่งนั่นหมายถึง พระนางต้องมีสายพระเนตรที่ยาวไกลทีเดียวนะครับ จนทำให้ทรงเลือกได้คนอย่างเจ้าอสังขยา และพระเจ้าญองรัม พระราชโอรสพระองค์เดียวที่พระเจ้าบุเรงนองทรงพยากรณ์ไว้ว่าจะรุ่งโรจน์เหมือนกับพระองค์

ทำให้พระนางทรงได้ทั้งพระราชบุตรเขย และพระสหาย ที่รับประกันความปลอดภัย และสันติสุขตลอดพระชนม์ชีพของพระนางในกรุงอังวะ

ถ้าพระนางไม่ทรงคบหามิตรที่ดีเช่นนี้ พระนางก็คงต้องเสี่ยงภัยอยู่ในกรุงหงสาวดี  ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าบุเรงนอง และอาจต้องสิ้นพระชนม์ ภายใต้คมดาบของพระเจ้านันทบุเรงจริงๆ อย่างที่คนไทยเราเชื่อกันก็เป็นได้

เรื่องราวของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ในพงศาวดารพม่า จึงมิใช่โศกนาฏกรรมที่รีดเค้นน้ำตาอย่างไร้เหตุผล เหมือนตำนานฝ่ายไทย แต่เป็นเรื่องราวของขัตติยนารีองค์หนึ่ง ที่ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจเพื่อบ้านเกิดเมืองนอน และทรงกำหนดอนาคตของพระนางเองได้อย่างชาญฉลาด


ภาพจากภาพยนตร์ เรื่อง ตำนานสมเด็จพระเนรศวรมหาราช

พระนางทรงประสบความสำเร็จอย่างมากที่สุด เท่าที่ราชนิกูลฝ่ายสตรีอย่างพระนางพึงกระทำได้ ในท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ผันผวนเวลานั้นครับ ไม่มีพระมเหสีเทวีองค์ใดของพระเจ้าบุเรงนอง แม้แต่สมเด็จพระพี่นางอินทรเทวี ที่จะทรงมีอนาคตที่รุ่งโรจน์เท่ากับพระนาง

ทีนี้, เมื่อพงศาวดารพม่าระบุว่า สมเด็จพระสุพรรณกัลยามิได้สิ้นพระชนม์อย่างสยดสยองที่กรุงหงสาวดี แต่น่าจะสิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุอันสมควรที่กรุงอังวะ

เรื่องเล่าในพงศาวดารฉบับหอแก้วของพม่า และตำนานฝ่ายไทยที่ว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดฯ ให้ก่อเจดีย์องค์หนึ่งที่เมืองปาย เพื่อบรรจุพระอัฐิและพระเกศาของพระนาง ก็ย่อมจะได้รับความกระทบกระเทือนอย่างช่วยไม่ได้

แต่ในความเห็นของผม เชื่อว่าเหตุการณ์ส่วนนี้อาจมีทางเป็นไปได้จริงนะครับ

เพียงแต่เจดีย์นั้น อาจบรรจุเพียงผอบใส่พระเกศาของพระนาง ที่ทรงฝากพระองค์จันทร์ไปถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่านั้น

มิได้รวมถึงพระอัฐิของพระนาง ซึ่งย่อมจะต้องบรรจุไว้ในวัดใดวัดหนึ่งในกรุงอังวะอย่างแน่นอน

พระเกศานี้ พระนางอาจถวายสมเด็จพระอนุชาธิราช ด้วยพระหัตถ์ของพระนางเอง ในตอนที่ได้พบกันเป็นครั้งสุดท้ายที่หงสาวดี คราวสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปช่วยพระเจ้านันทบุเรงทำศึกเมืองลุมเมืองคัง

หรืออาจฝากพระองค์จันทร์ นำไปถวายสมเด็จพระนเรศวรที่กรุงศรีอยุธยาจริงๆ ก่อนที่พระนางและพระราชธิดาจะย้ายไปประทับที่กรุงอังวะก็เป็นได้

เพราะเรื่องราวของพระองค์จันทร์นั้น จะด่วนสรุปว่าเป็นเรื่องแต่งขึ้นมาโดยบริสุทธิ์ก็หาได้ไม่ ด้วยมีความเกี่ยวข้องกับ สมเด็จพระอัครมเหสีของสมเด็จพระนเรศวร คือ พระนางมณีจันทร์ ซึ่งมีตัวตนอยู่จริง

ผมจึงเห็นว่า เรื่องพระเกศาของสมเด็จพระสุพรรณกัลยานี้ มีทางเป็นไปได้มากครับ

และนั่นก็อาจหมายความว่า การที่สมเด็จพระสุพรรณกัลยาถวายพระเกศาให้สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงเก็บไว้แทนพระองค์นั้น มิได้เป็นเพราะทรงมีพระราชดำริว่า จะไม่รอดพระชนม์ชีพ เพียงแต่ทรงเห็นว่า จะต้องจากกันไปไกล และอาจจะไม่ได้พบกันอีกเท่านั้น

แต่ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งที่เกิดตามมา หากเราพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์เหล่านี้เข้ากับพงศาวดารพม่า ก็คือ เราไม่รู้ว่าสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ทรงสิ้นพระชนม์ที่กรุงรัตนบุระอังวะ เมื่อทรงมีพระชนมายุเท่าไหร่ ปี พ.ศ.ใด

พระนางจะสิ้นพระชนม์ เมื่อทรงเจริญพระชันษาถึงวัยอันเหมาะสม หรือจะทรงประชวรด้วยพระโรคาพาธ จนสิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ย้ายไปอยู่ที่กรุงอังวะได้เพียงไม่นาน ก็ไม่อาจจะทราบได้

ด้วยแม้แต่ มิคกี้ ฮาร์ท ก็มิได้ค้นหาหลักฐานส่วนนี้มานำเสนอแก่เรานะครับ

ความเป็นไปได้จึงมีอยู่ทุกทาง ทางหนึ่งก็คือ พระนางอาจจะสิ้นพระชนม์ตั้งแต่สมัยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ก็เป็นได้ นั่นก็คือ ภายใน พ.ศ.๒๑๔๘

แล้วเหตุใดสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงต้องทรงสถาปนาเจดีย์บรรจุพระเกศาของสมเด็จพระพี่นางไว้ที่เมืองปาย แทนที่จะเป็นในกรุงศรีอยุธยา?

คำตอบก็คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชอาจจะทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า สมเด็จพระพี่นางของพระองค์ทรงเปรียบเสมือนคนสองแผ่นดิน มีความผูกพันทั้งไทยและพม่า (ดังที่เล่ากันว่าทรงพระสุบินนั่นเอง) จึงโปรดฯ ให้บรรจุพระเกศาของพระนางไว้ ณ รอยต่อเขตแดนของอาณาจักรทั้งสอง

หรือบางทีอาจมีเหตุผลอื่นอีก

กล่าวคือ สมเด็จพระนเรศวรอาจทรงมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระอัฐิทั้งหมดของพระพี่นางจากกรุงอังวะกลับมายังกรุงศรีอยุธยา  หรือกรุงพิษณุโลกอันเป็นภูมิสถานเดิมของพระนางก็เป็นได้นะครับ

แต่พระองค์เสด็จไปไม่ถึงกรุงอังวะ จึงต้องทรงก่อเจดีย์บรรจุเฉพาะพระเกศาพระพี่นางไว้ที่เมืองปายแทน

สิ่งที่กล่าวมานี้ เป็นการคาดเดาของผมเท่านั้นนะครับ ยังมีความเป็นไปได้ในหนทางอื่นอีกมากมาย รวมทั้งเรื่องพระสุบินนิมิตที่ว่า เป็นพระราชประสงค์ของสมเด็จพระสุพรรณกัลยาเองด้วย

แต่ผมขอเน้นว่า ไม่ว่าจะเพราะอะไร เหตุการณ์ดังกล่าวก็ต้องเกิดภายหลังราชนารีพระองค์นี้สิ้นพระชนม์ที่กรุงอังวะ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ภายในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่ใช่ที่กรุงหงสาวดีภายหลังสงครามยุทธหัตถี

และปัจจุบัน ที่ วัดน้ำฮู ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ก็มีพระเจดีย์องค์หนึ่ง ที่เชื่อกันว่าเป็นองค์เดียวกันกับที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดฯ ให้สร้างถวายสมเด็จพระสุพรรณกัลยาโดยภายในพระเจดีย์นั้นได้บรรจุเส้นพระเกศา และพระอัฐิของพระนางไว้


เจดีย์ที่วัดน้ำฮู ภาพจาก http://thai.torismthailand.org

พระเจดีย์ดังกล่าว ตามที่ปรากฏในทุกวันนี้ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา ตั้งอยู่บนฐาน ๖ ชั้นรองรับด้วยฐานเขียงอีกทีหนึ่ง ลักษณะเป็นศิลปะล้านนารุ่นหลัง และเป็นศิลปะพื้นบ้าน อีกทั้งมีรูปทรงเรียบง่ายสามัญ ปราศจากการตกแต่ง

ผมคิดว่า ไม่น่าจะสร้างโดยช่างหลวงจากกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือช่างท้องถิ่นที่ได้รับพระบรมราชโองการหรอกครับ เพราะอายุทางศิลปกรรม และฝีมือไม่ถึง

ถ้าหากว่าเป็นองค์เดียวกันจริง องค์เดิมคงชำรุดปรักหักพังไป แล้วมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ภายหลัง จึงเป็นฝีมือชาวบ้านอย่างที่เห็น

นอกจากเจดีย์ที่วัดน้ำฮูแล้ว ก็มีการเผยแพร่ข้อมูลจากศิษย์สาย หลวงปู่โง่น โสรโย (เจ้าของตำนานสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ฉบับโศกนาฏกรรม ที่ทำให้ราชนารีพระองค์นี้เป็นที่นับถือกันอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรก) ว่า ได้มีการอัญเชิญพระอัฐิของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ไปบรรจุไว้ในเจดีย์องค์หนึ่งในโบราณสถาน วัดวรเชษฐาราม นอกเกาะเมืองอยุธยาด้วยครับ

พระอาจารย์ ดร.สิงห์ทน นราสโภ พระเกจิอาจารย์ที่จำวัดในเขตโบราณสถานแห่งนี้ เปิดเผยว่า เจดีย์ดังกล่าว คือเจดีย์ทรงย่อมุมไม้สิบสอง ที่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงโปรดให้สร้างไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ภายหลังเมื่อหลวงปู่โง่น โสรโย เดินทางไปอัญเชิญพระอัฐิของพระนางจากพม่ากลับมาเมืองไทย ก็ได้แบ่งพระอัฐิส่วนหนึ่งมาบรรจุไว้ในเจดีย์ดังกล่าว


เจดีย์ภายในวัดวรเชษฐ์ นอกเกาะเมือง
ที่เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุพรรณกัลยา

อันนี้เป็นเพราะหลวงปู่โง่นทราบดีว่าสถานที่ใดเป็นสถานที่จริง ท่านเป็นพระที่มีอภิญญา สามารถเล็งเห็นว่าควรเก็บพระอัฐิของสมเด็จพระสุพรรณกัลยาไว้ที่ใด ท่านจึงเดินทางมาที่วัดนี้ และบรรจุส่วนหนึ่งเอาไว้ในเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ท่านก็บอกอาตมาเหมือนกัน แล้วท่านก็เล่าว่านำมาเก็บไว้ที่นี่ ส่วนตัวอาตมาและหลวงปู่โง่นแล้วสนิทมักคุ้นกันดี

เป็นอันว่าจนถึงขณะนี้ พระอัฐิของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ที่ควรจะสิ้นพระชนม์ในกรุงอังวะเมื่อกว่า ๔๐๐ ปีก่อน ก็ถูกอ้างว่าได้รับการรักษาไว้อย่างน้อยสองแห่ง คือที่เมืองปาย จ.แม่ฮ่องสอน และในวัดวรเชษฐารามนอกเกาะเมืองอยุธยา

เรื่องเช่นนี้ สามารถตรวจสอบได้ระดับหนึ่ง ด้วยการขุดแต่งทางโบราณคดี ซึ่งอันที่จริงก็ได้กระทำไปแล้วที่วัดวรเชษฐาราม โดยไม่มีรายงานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระสุพรรณกัลยาที่นั่น

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดกันอย่างเป็นธรรมแล้ว ก็ถือว่า เป็นการยากนะครับ ที่จะพิสูจน์ได้ว่าสถูปเจดีย์องค์ใดใน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นที่เก็บรักษาพระอัฐิของเจ้านายพระองค์ใด ถ้าหากไม่มีหลักฐานประเภทพงศาวดารกล่าวยืนยันไว้

เพราะแม้ว่าจะมีการขุดค้นพบพระธาตุ บรรจุไว้ในเจดีย์ต่างๆ อยู่เสมอ แต่ก็ไม่ค่อยพบจารึก หรือหลักฐานภายในองค์เจดีย์อ้างอิงว่าเป็นของผู้ใด

ดังนั้น การจะใช้วิชาโบราณคดีหักล้างความเชื่อที่ว่า มีเจดีย์องค์หนึ่งในวัดดังกล่าว เป็นที่บรรจุพระอัฐิธาตุของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ก็ยังทำได้ไม่ถนัด

สำหรับผมเองแล้วมีความเห็นว่า ถ้าเราจะสืบหาเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุพรรณกัลยาจริงๆ ก็น่าจะลองไปที่กรุงอังวะกันมากกว่า เท่านั้นแหละครับ

และถ้าหลวงปู่โง่น ได้อัญเชิญพระอัฐิของสมเด็จพระสุพรรณกัลยาจากพม่าจริง ท่านก็ต้องไปเชิญมาจากกรุงอังวะ ไม่ใช่กรุงหงสาวดี หรือเมือง พะโค ในปัจจุบัน

ซึ่งโดยทรรศนะส่วนตัวของผมนะครับ,

ในเมื่อนิมิต หรือตำนานโศกนาฏกรรมของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ที่พระภิกษุรูปนี้นำมาเผยแพร่ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า อ่อนเหตุผล ห่างไกลจากความน่าจะเป็น การที่ท่านอ้างว่าได้ไปเชิญพระอัฐิสมเด็จพระสุพรรณกัลยาจากพม่า ผมก็ต้องสรุปว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือเช่นกันครับ

และถ้าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นจริง คือ สมเด็จพระสุพรรณกัลยาประทับอยุ่ที่กรุงอังวะ จนสิ้นพระชนม์ภายหลังรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องคิดถึงแม้แต่เจดีย์ที่เมืองปายอีกต่อไป

แน่นอนครับ, พระเกศาของพระนาง อาจมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจริง โดยพระองค์จันทร์ ซึ่งน่าจะมีตัวตนจริง และน่าจะเป็นบุคคลเดียวกับ พระนางมณีจันทร์ สมเด็จพระอัครมเหสีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดังกล่าวแล้ว


แต่ถ้าสมเด็จพระสุพรรณกัลยา มิได้สิ้นพระชนม์ภายในรัชกาลของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องสร้างเจดีย์บรรจุพระเกศานั้นไว้ที่เมืองปายไงครับ



………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

5 comments:

  1. เคยอ่านที่หลวงปู่โง่นเขียนคะ อ่านแล้วอนาถใจ

    ReplyDelete
  2. กลายเป็นว่าไทยเราเป็นฝ่ายที่สร้างตำนานให้ท่านเสื่อมเสียเองนะคะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. เพราะเราชอบ drama ครับ

      ที่น่าสมเพช คือ คนที่ศรัทธาพระองค์ท่านเพราะนิยายน้ำเน่าแบบนี้ เขาไม่รู้สึกเลยด้วยซ้ำไปว่า นิทานพวกนี้ดูหมิ่นพระเกียรติยศของพระองค์ท่าน

      Delete
  3. คนมีปัญญา ย่อมบูชาคนมีปัญญา

    คนฉลาด ย่อมบูชาคนฉลาด

    คนโง่ ย่อมบูชาคนโง่

    ReplyDelete
    Replies
    1. เป็นความจริงที่สุดครับ

      Delete

Total Pageviews