ภาพจาก http://www.magazinechiangmai.com |
พระราชานุสาวรีย์ ที่บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก
ใกล้ตลาดหนองดอก ต.ในเมือง อ.เมือง ห่างศาลากลางจังหวัดลำพูนไปทางทิศใต้ประมาณ ๑
ก.ม.นั้น มีพื้นที่ประมาณ ๔ ไร่เศษ
ประกอบด้วยพระรูปขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง
(๒.๔๐ เมตร) หล่อด้วยสำริดรมดำ อยู่ในพระอิริยาบถย่างพระบาท
พระหัตถ์ขวาท่าทางเชื้อเชิญ ต้อนรับ พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์จรดปลายลงบนแท่น
กล่าวได้ว่า เป็นพระรูปสมมุติของพระนางจามเทวี
ที่งามที่สุดในเมืองไทย จนกระทั่งปัจจุบันนี้ครับ
เหตุที่จะเกิดมีพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้
ก็ด้วยว่าในพ.ศ.๒๕๑๙
ทางจังหวัดลำพูนมีความประสงค์จะสร้างพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีประดิษฐานไว้เป็นที่เคารพสักการะของชาวลำพูน
จึงได้ขอให้กรมศิลปากรออกแบบและปั้นหล่อพระรูป
กรมศิลปากรจึงได้มอบหมายให้ อ.สุภร
ศิระสงเคราะห์ นายช่างประติมากรเป็นผู้ออกแบบ โดยค้นคว้าข้อมูลจากตำนานต่างๆ
รูปแบบศิลปะสมัยลพบุรี และศิลปะทางภาคเหนือ
ส่วนงบประมาณการจัดสร้างได้มาจากกำลังศรัทธาของชาวลำพูน และจังหวัดใกล้เคียง รวม ๓,๓๐๙,๐๐๐ บาท
เมื่อการปั้นหล่อแล้วเสร็จในพ.ศ.๒๕๒๕ มีกระบวนแห่อัญเชิญพระรูปขึ้นประดิษฐานบนแท่นฐาน
ในวันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๕ โดยมีประชาชนชาวลำพูน
และจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมพิธีนับหมื่นๆ คน
และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์
เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์เมื่อวันเสาร์ที่
๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๕ เวลา ๑๕.๐๐ น.
เล่ากันว่า ในเวลากระทำพิธีบวงสรวง
อัญเชิญดวงพระวิญญาณของพระนางจามเทวีเข้าประทับ ณ พระรูปอนุสาวรีย์นั้น
เกิดเหตุมหัศจรรย์ขึ้นหลายประการ เป็นที่ตื่นเต้นประหลาดใจของผู้เข้าร่วมพิธีอย่างยิ่งครับ
ต่อมา ในพ.ศ.๒๕๔๒ ได้มีการสร้างฉากหลังพระราชานุสาวรีย์ เป็นซุ้มประตูก่ออิฐฉาบปูน ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบผสมระหว่างแบบทวารวดีกับแบบขอม ตกแต่งด้วยภาพนูนสูงเล่าเรื่องประวัติเมืองลำพูน โดยคณะช่างเครื่องปั้นดินเผาจาก บ้านพ่อเลี้ยงหมื่น จ.เชียงใหม่ ภายใต้การควบคุมของ อ.สุทธิพงษ์ ใหม่วัน
ภาพนูนสูงเล่าเรื่องประวัติเมืองลำพูนที่ว่านี้
มีภาพการขึ้นครองราชย์ของพระนางจามเทวีอยู่ด้วย ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ล้อแบบโบราณ
สวยงามมากครับ
ปัจจุบัน
มีการจำลองพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี และการออกแบบพระรูปในพระอิริยาบถใหม่ๆ
โดยช่างท้องถิ่น ทั้งในลำพูนและจังหวัดอื่น ในบทความนี้ จะขอกล่าวถึงเฉพาะในจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ และลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการบูชาพระองค์ท่านอย่างเข้มข้นมาแต่เดิม ดังต่อไปนี้ครับ
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อ.เมือง
จ.ลำพูน
มีพระรูปพระนางจามเทวี
ซึ่งออกแบบขึ้นใหม่และจัดสร้างในช่วงที่มวลชนเสื้อแดงในลำพูน-เชียงใหม่
โหมกระแสพระนางจามเทวีเป็นพิเศษ
เป็นพระรูปสำริดรมสีมันปู ประทับนั่งบนแท่น
ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นข้างพระเพลา พระหัตถ์ซ้ายจับขอบพระแท่นที่ประทับ ศิราภรณ์และฉลองพระองค์เป็นแบบเดียวกับพระราชานุสาวรีย์
ฝีมือการปั้นหล่อจัดอยู่ในขั้นดี พระเทพรัตนนายก เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย
ร่วมกับ อ.ลักษณ์ เรขานิเทศ เป็นผู้คิดสร้าง
ถัดไป ภายใน วิหารพระเจ้าละโว้ มีพระรูปพระนางจามเทวีหล่อด้วยโลหะ สูง ๒.๕ เมตร ในพระอิริยาบถกำลังเยื้องย่างบนแท่นกลม พระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงปางประทานอภัย ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นระดับพระนาภี ถือดอกบัว ฝีมือการปั้นหล่อจัดว่าอยู่ในขั้นดี
ภาพโดย Tassy Char |
ถัดไป ภายใน วิหารพระเจ้าละโว้ มีพระรูปพระนางจามเทวีหล่อด้วยโลหะ สูง ๒.๕ เมตร ในพระอิริยาบถกำลังเยื้องย่างบนแท่นกลม พระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงปางประทานอภัย ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นระดับพระนาภี ถือดอกบัว ฝีมือการปั้นหล่อจัดว่าอยู่ในขั้นดี
พระรูปนี้เป็นหนึ่งใน ๒ องค์ที่ อ.ปิยะนาถ
ณ ลำพูน และ ชมรมกล้าธรรม ได้ทำการหล่อขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์
๒๕๕๘ และได้นำมาถวาย ท่านเจ้าคุณพระราชปัญญาโมลี ในวันที่ ๖ เมษายน
ปีเดียวกัน ส่วนอีกองค์หนึ่งได้นำไปถวาย วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์
จ.นครสวรรค์ ซึ่งจะมีภาพชัดๆ ให้ดูในบทความถัดไป
ซึ่งผมกล่าวถึงพระรูปที่วัดนั้นครับ
พระรูปโลหะ
ในรูปแบบเดียวกับพระราชานุสาวรีย์ที่กาดหนองดอก
แต่ยกพระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานอภัยองค์นี้ ก็ผู้ให้ข้อมูลว่า
อยู่ในภายในวัดพระธาตุหริภุญชัยเช่นเดียวกันครับ ฝีมือปั้นหล่อจัดอยู่ในขั้นดีทีเดียว ทั้งพระพักตร์ พระวรกาย ทำได้อย่างมีสัดส่วน เก็บรายละเอียดศิราภรณ์และเครื่องประดับได้อย่างสมบูรณ์
แต่ที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดนั้น
น่าจะเป็นพระรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในศาลาปฏิบัติธรรม ด้านหลังวัด
พระรูปนี้หล่อด้วยโลหะ อยู่ในอิริยาบถประทับนั่งพับเพียบ
วางพระหัตถ์ทั้งสองบนพระเพลา
ภาพโดย KratAi de'HueunGedtawa |
พระรูปนี้ ดูเผินๆ
คล้ายพระรูปพระนางจามเทวีทรงศีล หรือพระรูปชีจามเทวี แต่ยังคงฉลองพระองค์แบบราชนารีอยู่
คือสวมรัดเกล้า ฉลองพระองค์เสื้อคอปิดแขนกระบอก คอเสื้อและขอบแขนปักลายทอง ห่มสไบขอบปักลายทอง
จีบหน้านางและชายผ้าทรงปักลายทอง
ฝีมือปั้นหล่อดีมากครับ พระพักตร์งาม และพระวรกายได้สัดส่วน เป็นพระรูปพระนางจามเทวีที่ออกแบบขึ้นใหม่ได้ดีที่สุดองค์หนึ่ง แม้ฉลองพระองค์จะไม่ตรงตามยุคสมัยก็ตาม
ฝีมือปั้นหล่อดีมากครับ พระพักตร์งาม และพระวรกายได้สัดส่วน เป็นพระรูปพระนางจามเทวีที่ออกแบบขึ้นใหม่ได้ดีที่สุดองค์หนึ่ง แม้ฉลองพระองค์จะไม่ตรงตามยุคสมัยก็ตาม
วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน
ภายในศาลาพิพิธภัณฑ์พระนางจามเทวี
มีพระรูปไม้แกะสลักแบบประทับยืน ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นแสดงปางประทานอภัย
พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์จรดปลายลงบนพื้น
เป็นแบบอย่างอันเดียวกับพระบูชาพระนางจามเทวีขนาด ๙
นิ้วที่นิยมสร้างกันตามวัดต่างๆ ทั้งในลำพูนและเชียงใหม่
พระรูปไม้แกะสลักนี้ ฝัมือดีพอสมควรครับ
แม้จะถ่ายแบบศิราภรณ์และฉลองพระองค์จากพระราชานุสาวรีย์ที่กาดหนองดอกมาไม่ค่อยประณีตนัก
และการประดิษฐานไว้ในซุ้มไม้แกะสลักปิดทองก็ช่วยให้ดูงามขึ้น
แม้จะเป็นซุ้มที่ออกแบบเกินงามไปบ้างก็ตาม
น่าเสียดายที่มีการถวายฉลองพระองค์ด้วยผ้าจริง
ซึ่งทำให้ปิดบังความงามของพระรูปที่แกะสลักด้วยไม้ทั้งองค์
จนไม่อาจแลเห็นรายละเอียดและฝีมือช่างที่ชัดเจนได้
ในขณะที่ผมโพสต์บทความนี้
เบื้องขวาของซุ้มดังกล่าวมีตู้กระจก ภายในมีหุ่นไฟเบอร์กลาส
ของพระนางจามเทวี
ที่ฉลองพระองค์เป็นผ้าจริงแบบไทยภาคกลาง
ซึ่งผมได้แต่หวังว่า
เมื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการพัฒนามากขึ้น จะมีการยกหุ่นดังกล่าวไปเก็บเสีย
มิให้รกตาอย่างที่เป็นอยู่ครับ เพราะไม่มีความงามหรือสิ่งใดที่ควรชมแม้แต่น้อย
เบื้องซ้ายของซุ้ม
เป็นที่ประดิษฐานพระรูปพระนางจามเทวีทรงศีล หรือพระรูปชีจามเทวี
หล่อด้วยโลหะปิดทองทั้งองค์ ฝีมือดีมาก ในอนาคตหากมีที่ประดิษฐานที่เหมาะสมกว่านี้
ก็จะดูน่าเลื่อมใสมากครับ
วัดศรีบุญเรือง ถ.อินทยงยศ อ.เมือง จ.ลำพูน
วัดนี้มีพระรูปพระนางจามเทวี ๒ องค์
องค์เดิมทำด้วยไม้แกะสลักทาสีทอง เดิมประดิษฐานอยู่ภายในกุฏิเจ้าอาวาส
ดังภาพที่ผมบันทึกภาพมานี้
ภายหลังจึงได้มีการย้ายมาประดิษฐานภายในพระวิหารของวัด
และมีการถวายฉลองพระองค์เพิ่ม และต่อมาได้ย้ายไปประดิษฐานไว้ในศาลาที่ทางวัดสร้างขึ้นใหม่
เป็นพระรูปไม้ที่แกะสลักโดยช่างที่ฝีมือพอใช้ได้ พระอธิการภัคศุก สุจิตฺโต
เจ้าอาวาส เป็นผู้คิดสร้าง
ส่วนพระรูปองค์ใหม่นั้น ก็ประดิษฐานในศาลาหลังใหม่เช่นกัน
เป็นพระรูปหล่อปูนระบายสี อยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งพับเพียบบนแท่น ทั้งศิราภรณ์
เครื่องทรง ฉลองพระองค์ ออกแบบขึ้นใหม่โดยอิงลักษณะที่เป็นของโบราณ
รวมทั้งพระพักตร์และพระวรกายก็ทำได้งามมาก จนน่าจะกล่าวได้ว่า เป็นพระรูปพระนางจามเทวีหล่อด้วยปูนที่งามที่สุดในยุคนี้
คุณพุฒิภัทร ใจอินผล เป็นผู้คิดสร้าง
ภาพจาก Facebook : พุฒิภัทร ใจอินผล |
วัดประตูลี้ อ.เมือง จ.ลำพูน
มีพระรูปประติมากรรมของพระนางจามเทวีที่ออกแบบสร้างขึ้นใหม่
๔ องค์ หาดูที่อื่นไม่ได้ แต่น่าเสียดายที่ทั้ง ๔ องค์ ไม่จัดว่าดีทั้งการออกแบบ
และฝีมือช่าง
องค์แรก
หล่อด้วยปูนปั้นปิดทองเฉพาะเครื่องประดับ ลักษณะการวางพระหัตถ์และการประทับนั่ง
ดูคล้ายพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ
การปั้นสัดส่วนรูปทรงก็ปั้นแบบพระพุทธรูปนั่นละครับ
แต่รายละเอียดของศิราภรณ์และเครื่องประดับ รวมทั้งการเขียนพระพักตร์จัดว่าพอใช้ได้
นอกนั้นไม่มีอะไรควรชม
ถัดไปเป็นพระรูปปูนปั้นขนาดย่อม
ทำเหมือนพระพุทธรูปทรงเครื่องเช่นกัน แต่การปั้นหยาบกว่า เพียงแต่ออกแบบศิราภรณ์ได้สวยกว่าเท่านั้น
นอกนั้นก็ไม่มีอะไรควรชมเช่นกัน
ภาพจาก Facebook : พุฒิภัทร ใจอินผล |
อีกสององค์เป็นพระรูปยืน ทำด้วยไม้แกะสลัก
ลักษณะคล้ายกัน องค์หนึ่งยกพระหัตถ์ขวาขึ้นจีบก้านดอกบัว
อีกองค์ปล่อยพระหัตถ์ทั้งสองไว้ข้างพระโสณี ทั้งสององค์สวมศิราภรณ์แบบปาละ
ซึ่งคงเอาแบบมาจากพระนางสิกขีที่ปลอมขายกันอยู่ในตลาดพระกรุ
ส่วนฉลองพระองค์นั้นเป็นไปตามจินตนาการของช่าง ซึ่งไม่รู้จักการแต่งกายโบราณ
ภาพจาก Facebook : พุฒิภัทร ใจอินผล |
องค์ที่ยกพระหัตถ์ขวาจีบก้านดอกบัวนั้น ทาสีและปิดทองตามเครื่องประดับ อีกองค์หนึ่งเคลือบเงาไว้อย่างเดียว องค์หลังนี้แกะศิราภรณ์ได้สวยที่สุดในพระรูปทั้ง ๔ องค์ น่าเสียดายว่า ไปเอาแบบมาจากศิลปะยุคหลังพระนางจามเทวีถึงสองสามร้อยปี เพราะถูกมือผีที่ทำพระนางสิกขีปลอมหลอกกันหมด ทั้งเซียนพระสมัครเล่น และช่างพื้นบ้าน
วัดพระคงฤาษี อ.เมือง จ.ลำพูน
มีพระรูปพระนางจามเทวีประดิษฐานอยู่ภายในศาลาโถงที่สร้างอย่างงดงาม
และพระรูปก็ประดิษฐานอยู่ในศาลาขนาดย่อม ภายในศาลาหลังใหญ่นั้นอีกทีหนึ่ง
ซึ่งสร้างอย่างสวยงามมากเช่นกัน
แต่น่าเสียดายที่พระรูปโลหะ ซึ่งจำลองแบบมาจากพระราชานุสาวรีย์ที่กาดหนองดอกนั้น แม้จะเก็บรายละเอียดเครื่องประดับได้ดีมาก แต่พระพักตร์และพระวรกายนั้นผิดส่วนไปหมด มิหนำซ้ำ ยังมีการถวายผ้าสไบและผ้าซิ่น ซึ่งในภาพที่ได้มานี้ จะเห็นว่าไม่เข้ากันแต่อย่างใด
แต่น่าเสียดายที่พระรูปโลหะ ซึ่งจำลองแบบมาจากพระราชานุสาวรีย์ที่กาดหนองดอกนั้น แม้จะเก็บรายละเอียดเครื่องประดับได้ดีมาก แต่พระพักตร์และพระวรกายนั้นผิดส่วนไปหมด มิหนำซ้ำ ยังมีการถวายผ้าสไบและผ้าซิ่น ซึ่งในภาพที่ได้มานี้ จะเห็นว่าไม่เข้ากันแต่อย่างใด
ภาพโดย Moonfleet จาก http://www.bloggang.com |
วัดรมณียาราม ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน
หรือ วัดกู่ละมัก ในตำนานพระนางจามเทวี
มีศาลสำหรับประดิษฐานพระรูปขนาดสูง ๑.๒๐ เมตร ในพระอิริยาบถประทับยืน
ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นประทานอภัยเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายทรงดอกบัว ทำด้วยสำริด
ฝีมือการปั้นไม่สู้ประณีต เข้าใจว่า พระทองอินทร์ สังวโร อดีตเจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้าง
พระรูปดังกล่าวนี้
ได้ถูกโจรกรรมไปจากวัดเมื่อพ.ศ.๒๕๕๔ แต่ก็ตามคืนมาได้
ภาพจาก Facebook : ชัยยงค์ เทพวงศ์ |
ภายหลังจึงมีการสร้างพระรูปในลักษณะเดียวกันขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่ง ทำด้วยโลหะปิดทองทั้งองค์ และประดิษฐานให้ผู้ศรัทธาได้กราบไหว้แทน เข้าใจว่า พระชาติชาย โสภโณ รักษาการเจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้าง
ภาพจาก Fanpage วัดป่าคะยอมใต้ |
วัดป่าคะยอมใต้ ต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน
เป็นพระรูปพระนางจามเทวีในลักษณะที่แปลกไปจากที่อื่น
เพราะเป็นการออกแบบขึ้นใหม่
กล่าวคือ อยู่ในพระอิริยาบถเหมือนกำลังร่ายรำ
ทรงเงยพระพักตร์ขึ้นเล็กน้อย
พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระอุระคล้ายจะแสดงปางประทานอภัย
แต่หันฝ่าพระหัตถ์ไปด้านข้าง จึงไม่อาจเรียกว่าปางประทานอภัยได้
ส่วนพระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์จรดปลายลงบนพื้น
ในตำแหน่งที่ใกล้พระบาทมากเสียจนถ้าเป็นพระขรรค์จริง
พระบาทข้างนั้นขยับเพียงนิดเดียวคงไม่แคล้วต้องคมพระขรรค์
พระรูปองค์นี้ ผมเคยเห็นหุ่นต้นแบบแล้ว
นับว่าสวยงามมากครับ แต่ตั้งใจออกแบบโดยคำนึงถึงจังหวะลีลามากเกินไป
จนเกิดข้อผิดพลาดดังกล่าวแล้ว และเมื่อปั้นหล่อแล้วก็งามสู้องค์ต้นแบบไม่ได้
ปัจจุบันอยู่ในศาลาที่ทางวัดสร้างถวายเป็นพิเศษ พระครูสังฆรักษ์สุธีรวงศ์
วิสุทฺธิรํงสี เจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้าง
วัดม่อนมะหินศิลาราม ต.นครเจดีย์ อ.ป่าซาง
จ.ลำพูน
พระรูปพระนางจามเทวีประดิษฐานบนแท่นเรียบๆ
อยู่ในบริเวณวัด ทำด้วยปูนปั้นทาสีดำ ปิดทองเฉพาะเครื่องประดับและชายผ้า
ฝีมือการปั้นไม่ประณีตและทำผิดสัดส่วน ทำให้ขาดความงามไปมาก
คงสร้างโดยช่างที่ไม่ชำนาญ พระอธิการวันชัย เจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้าง
ภาพจาก http://www.horoguide.com |
วัดเกาะกลาง ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
ในพื้นที่นอกเขตกำแพงวัดในปัจจุบัน
ซึ่งเป็นแหล่งโบราณสถานขนาดใหญ่อยู่ในที่ดินของเอกชน
เจ้าของที่ได้นำอิฐโบราณมาก่อเป็นฐานพระราชานุสาวรีย์
แล้วตั้งแท่นสำหรับประดิษฐานพระรูปพระนางจามเทวีขนาดเท่าพระองค์จริง
ทำด้วยโลหะผสมรมดำ อยู่ในพระอิริยาบถประทับยืนตรง
สองพระหัตถ์ยกขึ้นทำปางประทานพรและประทานอภัย ขนาบข้างด้วยพระโอรสซึ่งอยู่ในวัยเด็ก
พระรูปดังกล่าวนี้ เป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน
ซึ่งผมคงต้องพูดตามตรงว่า หยาบมาก ไม่มีความงดงามแต่อย่างใด
แต่ก็แสดงให้เห็นเครื่องทรงซึ่งแปลกไปจากพระราชานุสาวรีย์ที่เป็นแบบมาตรฐาน
แต่ก็มักจะมีผู้ถวายผ้าทรงห่มคลุมตลอดองค์ จนไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดเครื่องทรงดังกล่าว
เจ้านวลระหง เป็นผู้คิดสร้าง
วัดนางเกิ้ง ต.ท่าตุ้ม อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
มีพระรูปราชานุสาวรีย์
ซึ่งมีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น กล่าวคืออยู่ในพระอิริยาบถประทับยืน
ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นป้องพระพักตร์ พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์จรดปลายลงบนพื้น
รายละเอียดพระรูปโดยทั่วไปถอดแบบจากพระราชานุสาวรีย์ที่หนองดอก
ต่างกันแต่ท่าทางเท่านั้น และฝีมือการปั้นหล่อก็อยู่ในขั้นดี
มองแล้วได้สัดส่วนสวยงามครับ
การสร้างพระรูปในพระอิริยาบถเช่นนี้
เนื่องจากมีตำนานว่า ครั้งหนึ่งพระนางจามเทวีเสด็จโดยชลมารคมาหยุดพักที่บ้านศรีชุม
ได้หันพระพักตร์ และยกพระหัตถ์ขึ้นป้อง ซึ่งคำเมืองเรียกว่า เกิ้งหน้า
ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างวัดขึ้น ณ ที่นั้น
ซึ่งก็คือวัดนางเกิ้งในเวลาต่อมานั่นเอง
ภายในกำแพงวัด
ยังมีศาลประดิษฐานพระรูปอีกองค์หนึ่ง พระอิริยาบถเดียวกัน แต่ทำด้วยปูนปั้น
ฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่ถึงกับน่าชม
แต่ก็เป็นที่นับถือกันมากสำหรับคนในท้องถิ่นนั้น
วัดพระธาตุห้าดวง อ.ลี้ จ.ลำพูน
มีการสร้างวิหารอย่างงดงาม
สำหรับประดิษฐานพระรูปพระนางจามเทวี
ในลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระราชอาสน์แบบกูบช้าง ประสานพระหัตถ์บนพระเพลา
ซึ่งน่าจะเป็นพระรูปพระนางจามเทวีประทับนั่งห้อยพระบาทที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในภาคเหนือ
พระรูปดังกล่าวหล่อด้วยโลหะ ปิดทองตลอดทั้งองค์
ศิราภรณ์คล้ายพระราชานุสาวรีย์ที่หนองดอก แต่ฉลองพระองค์เป็นเสื้อแขนกระบอก
ห่มสไบเฉียงทอยกดอกรับกับผ้านุ่ง สวมรองพระบาทเชิงงอน ฝีมือการปั้นหล่อค่อนข้างดี
ความจริง
อำเภอลี้นับเป็นภูมิสถานของ พระนางจามรี กษัตริยาแห่งภาคเหนืออีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งครองราชย์อยู่ในยุคหลังพระนางจามเทวี
คติการนับถือพระนางจามรีของคนที่นี่หนักแน่นมั่นคงมาช้านาน
และวัดพระธาตุห้าดวงก็เป็นส่วนหนึ่งของตำนานพระนางจามรีด้วยนะครับ
การสร้างวิหารพระนางจามเทวีในวัดแห่งนี้
จึงนับว่าเป็นเรื่องแปลก แต่ก็มีผู้แวะเวียนไปสักการะเป็นอันมาก
ภาพจาก Fanpage : วัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่ |
วัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน
อีกวัดหนึ่งในเวียงลี้คู่ตำนานของพระนางจามรี
ที่มีการสร้างพระรูปของพระนางจามเทวี
แต่เหตุที่สร้าง
ก็อาจเป็นเพราะวัดนี้มีความผูกพันกับสาย วัดท่าซุง ของ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
ที่มีตำนานเจ้าชายรามราช-พระนางจามเทวีเล่าขานกันอยู่นั่นเองครับ
อย่างไรก็ตาม พระรูปดังกล่าว
ซึ่งทำด้วยโลหะรมดำ ได้ถอดแบบจากพระราชานุสาวรีย์ที่กาดหนองดอกมาอย่างดีเยี่ยม
ทั้งรายละเอียด พระพักตร์ ฉลองพระองค์ และสัดส่วนพระรูป
จนเกือบจะเรียกได้ว่า
ทั้งจังหวัดลำพูนนอกเหนือจากที่กาดหนองดอกแล้ว เห็นจะมีที่นี่ที่เดียวเท่านั้นละครับ
ที่ถ่ายแบบออกมาได้เหมือนที่สุด และดีที่สุด
แม้ขนาดของพระรูปจะเล็ก
แต่เมื่อประดิษฐานบนแท่นฐานเตี้ยๆ ที่อยู่บนยกพื้นอีกทีหนึ่งก็เหมาะสม และงดงามได้
ภาพจาก Facebook : ธนภัทร ธนภัทร |
วัดทิพย์อัปสรอมรอินทร์ อ.เวียงหนองล่อง
จ.ลำพูน
พระรูปพระนางจามเทวีของวัดนี้
ประดิษฐานภายในศาลาไม้ ซึ่งเรียกกันว่าพระตำหนัก
โดยมีซุ้มเบื้องหลังพระราชอาสน์ซึ่งออกแบบเป็นรูปนกยูงปิดทองอย่างสวยงาม
เหนือสิ่งอื่นใด คือเป็น พระรูปหล่อไฟเบอร์กลาส
ฉลองพระองค์ด้วยผ้าจริง ในลักษณะที่ผู้สร้างตั้งใจจำลองแบบจากพระองค์จริง
(ตามนิมิต) องค์แรกของเมืองไทย ด้วยครับ
โดยเป็นพระรูปเลียนแบบบุคคลจริงซึ่งสร้างได้อย่างงดงาม
บนพระเศียรสวมศิราภรณ์แบบกระบังหน้าและรัดเกล้า ซึ่งดูคล้ายแบบไทยโบราณ แต่สร้อยพระศอและทับทรวงนั้นเป็นแบบไทยยุคหลังมากแล้ว
และพระรูปนี้ก็ยังคงฉลองพระองค์เสื้อแขนกระบอก
ห่มสไบทองแบบรัตนโกสินทร์
ขณะที่ผ้านุ่งเป็นผ้าไหมยกดอกลำพูนซึ่งก็ไม่ตรงตามยุคสมัยของพระนางจามเทวีเมื่อ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้วแต่อย่างใด
พระรูปดังกล่าวนี้ คณะศรัทธาประชาชนชาวอำเภอเวียงหนองล่อง
จังหวัดลำพูน
จังหวัดใกล้เคียงและกรุงเทพมหานครร่วมกันทำบุญอัญเชิญรูปขึ้นประดิษฐาน โดยมี พล.ร.อ.อมรเทพ
ณ บางช้าง อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นผู้สร้าง เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระนางจามเทวี
เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๐
เหตุที่มีการสร้างพระตำหนัก สำหรับประดิษฐานพระรูปที่วัดนี้ เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยของพระนางจามเทวี ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรมและร้างไป จนกระทั่งได้มีการบูรณะฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในปัจจุบัน
เหตุที่มีการสร้างพระตำหนัก สำหรับประดิษฐานพระรูปที่วัดนี้ เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยของพระนางจามเทวี ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรมและร้างไป จนกระทั่งได้มีการบูรณะฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในปัจจุบัน
ภาพจาก สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ |
ศาลเจ้าแม่จามเทวี หลังศาลากลางจังหวัดลำพูน
ศาลดังกล่าวนี้เดิมเป็นเรือนไม้ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บริเวณที่ปัจจุบันเป็นตึกพัฒนาชุมชน
ภายในศาลมีเพียงเครื่องบูชา ไม่มีพระรูปใดๆ ประดิษฐานอยู่
ต่อมาจึงมีการสร้างพระรูปพระนางจามเทวี
ด้วยปูนปั้นลอยองค์ระบายสี เป็นรูปราชนารีสูงอายุไว้พระเกศามวย
ประทับนั่งพับเพียบบนแท่น ฉลองพระองค์แบบรัตนโกสินทร์ ฝีมือช่างพื้นบ้าน
พระรูปดังกล่าวนี้ เพิ่งจะเกิดขึ้นก่อนการสร้างพระราชานุสาวรีย์ไม่นานนัก
ส่วนตัวศาลนั้น ในพ.ศ.๒๕๔๕
จึงมีการย้ายมาก่อสร้างขึ้นใหม่ ด้านหลังอาคารศาลากลางจังหวัด
เป็นศาลาโถงก่ออิฐถือปูนทรงไทย ดังที่เห็นในปัจจุบัน
ภายในศาลเจ้าแม่จามเทวี ยังมีพระพุทธรูปต่างๆ
และเครื่องศาสตราวุธจำลองที่มีผู้นำมาถวายเจ้าแม่ ที่น่าสนใจคือ ประติมากรรมช้างผู้ก่ำงาเขียว
ซึ่งเคยอยู่ในศาลบริเวณพระราชานุสาวรีย์ที่หนองดอก ได้ย้ายมาอยู่หน้าศาลดังกล่าวนี้ด้วยครับ
อนุสาวรีย์สามครูบา ต.วังดิน อ.ลี้ จ.ลำพูน
ภาพจาก Fanpage : เรียงร้อยเครื่องสักการะ โดย กองทุนหลวงปู่ปานฯ |
อนุสาวรีย์สามครูบา ต.วังดิน อ.ลี้ จ.ลำพูน
มีพระราชานุสาวรีย์ ซึ่งมีฉากหลังเรียบง่าย
แต่โดดเด่น ช่วยทำให้พระรูปดูสง่างามน่าเลื่อมใส
องค์พระรูปหล่อด้วยโลหะรมดำ
ลักษณะเป็นการพยายามถ่ายแบบมาจากพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน ซึ่งแม้ว่าสัดส่วนจะไม่ถูกต้อง
แต่ก็เก็บรายละเอียดลวดลายต่างๆ ได้ดี และพยายามทำพระพักตร์ได้ดีพอสมควรครับ
พระรูปดังกล่าวประดิษฐานบนแท่นที่ดูเป็นสมัยใหม่
หน้าแท่นมีป้ายจารึกคาถาบูชาซึ่งก็ทำได้อย่างสวยงามและเข้ากันได้ดีกับพระรูป
สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ต.ต้นธง อ.เมือง
จ.ลำพูน
ภายในมุขหน้าอาคารของสถาบัน
มีพระรูปพระนางจามเทวีในขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง ที่สร้างเป็นแบบประทับนั่ง
เช่นเดียวกับที่วัดพระธาตุหริภุญชัย และวัดพระธาตุห้าดวงที่ อ.ลี้
พระรูปองค์นี้ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙
ลักษณะเป็นพระรูปหล่อด้วยโลหะรมดำ ประทับนั่งบนแท่น วางพระหัตถ์ขวาทาบบนพระเพลา
พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา ศิราภรณ์ เครื่องทรง
และฉลองพระองค์เป็นแบบเดียวกันกับพระราชานุสาวรีย์ที่หนองดอก
ฝีมือการปั้นหล่อจัดอยู่ขั้นพอใช้ได้ครับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เป็นผู้คิดสร้าง
*ขอขอบคุณ คุณนิธิศ ธนาธิปธนสาร
เจ้าหน้าที่ของสถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ผู้ให้ข้อมูล
วัดพระธาตุดอยคำ อ.หางดง จ.เชียงใหม่
มีพระรูปพระนางจามเทวีประดิษฐานบนแท่น
บริเวณลานหลังวัด
พระรูปดังกล่าวทำด้วยโลหะปิดทองทั้งองค์
มีขนาดเล็ก สูงเพียงประมาณ ๑ เมตรเศษๆ แต่ฝีมือการปั้นหล่อทำอย่างประณีตงดงาม
ทั้งพระพักตร์และพระองค์ได้สัดส่วนถูกต้องน่าชมมาก
เป็นการถ่ายแบบมาจากพระราชานุสาวรีย์ที่กาดหนองดอก
แต่เปลี่ยนแปลงในรายละเอียดเล็กน้อย
พระรูปนี้ได้กระทำพิธีเททองเมื่อวันที่ ๔
มกราคม พ.ศ.๒๕๓๘ ปั้นหล่อเสร็จอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน
และทำพิธีมังคลาภิเษกเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน
ในบริเวณไม่ห่างไปนัก ยังมีศาลพระนางจามเทวี
ภายในประดิษฐานพระรูปปูนปั้นระบายสี ในลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระแท่น
ฉลองพระองค์ด้วยผ้าจริง สองข้างมีรูปพระพี่เลี้ยงฉลองพระองค์อย่างหญิงล้านนาโบราณ
ฝีมือปั้นเป็นของชาวบ้านไม่สู้ประณีต
ส่วนพระรูปที่ลานหลังวัดนั้น
อาจกล่าวได้ว่าในบรรดาพระรูปพระนางจามเทวีที่อยู่นอกลำพูนทั้งหมด
ไม่มีที่ใดสวยเท่าที่นี่ครับ พระครูปลัดพิณ กิตติวัณโณ
เจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้าง
ถ้าพระรูปไม่ถูกถวายฉลองพระองค์
(ซึ่งดูไม่รู้ว่าตั้งใจจะให้เป็นชุดของชนชาติใด) อย่างที่เป็นอยู่
ก็คงจะได้เห็นฝีมือช่างและความงามแบบเต็มๆ มากกว่าที่เป็นอยู่
แต่คนไทยที่เข้าวัดเข้าวานั้น โดยมากหมกมุ่นกับการถวายฉลองพระองค์รูปเคารพ
และไม่มีรสนิยมทางศิลปะ ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร
มีพระรูปพระนางจามเทวีกับสองพระพี่เลี้ยง ประดิษฐานในศาลา ทำด้วยปูนปั้นระบายสี ฝีมือช่างพื้นบ้าน ฝีมือค่อนข้างดี กล่าวคือเขียนพระพักตร์พระนางจามเทวีได้สวยกว่าที่อื่น และการตกแต่งภายในศาลก็พอเหมาะพอดี ไม่รุงรังเกินไป
มีพระรูปทำด้วยปูนปั้นปิดทองตลอดองค์ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มหน้าพระอุโบสถ เคียงข้างรูปปูนปั้นของหมอชีวกโกมารภัจน์ โดยมีพระแม่กวนอิมโพธิสัตว์อยู่อีกข้างหนึ่ง
พระรูปองค์นี้ เอาแบบจากพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน แต่ฝีมือการปั้นยังไม่ถึงขั้นดี จึงกลายเป็นพระรูปประทับยืนตรง ดูแข็งทื่อ แต่ก็เก็บลวดลายเครื่องประดับและฉลองพระองค์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะมองเห็นหรอกครับ เนื่องจากมีการถวายผ้าห่มทับพระรูปกันอยู่เสมอ
ผมได้ข้อมูลมาว่า เดิมเคยมีพระราชานุสาวรีย์ของพระนางจามเทวีที่นี่ เป็นเพราะวัดนี้มีตำนานกล่าวว่าสร้างโดยพระนางจามเทวีเมื่อครั้งเสด็จมาสร้างพระธาตุดอยคำ
ต่อมาจะมีการเปลี่ยนแปลง รื้อพระราชานุสาวรีย์ลงแล้วอัญเชิญพระรูปมาประดิษฐาน ณ ที่ปัจจุบันนี้แทน หรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้ ถ้าใช่ พระรูปนี้ก็เป็นพระรูปองค์เดียวกับพระราชานุสาวรีย์เดิมที่ ดร.ศุภชัย ไพจิตร เป็นผู้คิดสร้าง
วัดอุโบสถ ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่
ภายในวัดมีพระรูปประทับยืน
ยกพระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายปล่อยไว้ข้างพระโสณี ไม่ถือสิ่งใด
ผมดูจากภาพที่ได้มาแล้ว
น่าจะหล่อด้วยไฟเบอร์กลาสนะครับ ซึ่งฝีมือที่ทำนั้น
เมื่อดูจากพระพักตร์และการเก็บรายละเอียดของศิราภรณ์แล้วก็ใช้ได้เลย
ภาพโดย KtatAi de'HueanGedtawa |
วัดพระธาตุดอยน้อย อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่
มีพระราชานุสาวรีย์ ทำด้วยโลหะรมดำ
ฝีมือการปั้นหล่อค่อนข้างหยาบ ดูแข็งทื่อ
เค้าพระพักตร์และพระบรมรูปตลอดองค์จะเรียกว่างามไม่ได้
แต่ใน สำนักปฏิบัติธรรมแม่ชีจามเทวี
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัดนี้ กลับประดิษฐานพระรูประนางจามเทวีที่น่าชมยิ่งกว่าครับ
กล่าวคือ
เป็นพระรูปโลหะรมดำทรงเครื่องกษัตริยา ซึ่งออกแบบขึ้นใหม่ไม่เหมือนที่อื่น
ลักษณะคล้ายเครื่องทรงราชนารีอยุธยา ประทับนั่งบนคุกเข่าบนแท่นแบบนางฟ้า
คือนั่งบนหลังพระบาท พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นจีบนิ้ว
คล้ายปางธรรมจักรมุทราของพระโพธิสัตว์จีน
เป็นพระรูปที่แปลก
และฝีมือปั้นหล่อจัดว่าพอใช้ เสียดายที่ทำพระพักตร์ค่อนข้างดุ
และมีการห่มผ้าถวายโดยตลอด จึงไม่เห็นรายละเอียด
ภาพโดย MTCMU27 จาก pantip.com |
ที่ศาลาหลังวัด
ยังมีพระรูปพระนางจามเทวีและพระพี่เลี้ยง ทำด้วยปูนปั้นระบายสี ฝีมือช่างพื้นบ้าน
เช่นเดียวกับวัดพระธาตุดอยคำ แต่ปั้นได้สวยงามน่าชมกว่ามากครับ
การประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์ที่วัดนี้
เนื่องจากได้มีการค้นพบศิลาจารึกการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดในรัชสมัยพระเจ้าเมกุฏสุทธิวงศ์
อ้างถึงพระนางจามเทวีว่าทรงเป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ไว้
นับว่าเป็นหลักฐานเกี่ยวแก่พระนางจามเทวีที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในทางโบราณคดี
ภาพโดย MeasureMind จาก pantip.com |
วัดพระธาตุสุนันทา ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
มีพระรูปปูนปั้นระบายสี อยู่ในพระอิริยาบถประทับยืน
ยกพระหัตถ์ขวาในท่าเชื้อเชิญ คล้ายพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน
พระหัตถ์ซ้ายปล่อยไว้ข้างพระโสณีไม่ถือสิ่งใด
ทั้งศิราภรณ์และฉลองพระองค์ออกแบบขึ้นใหม่ต่างหากและสวมทับลงบนพระรูป
ซึ่งดูงดงามคล้ายราชนารีอยุธยา
พระรูปองค์นี้ขนาบข้างด้วยพระรูป พระนางสามผิว ซึ่งเป็นราชนารีที่นับถือกันในแถบ อ.ฝาง และ แม่นางสุนันทา ซึ่งเป็นวีรสตรีของท้องถิ่นนี้ ทั้งหมดทำเข้าชุดกัน
ภาพจาก Fanpage วัดนางเหลียว อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ |
วัดนางเหลียว ต.หนองจ๊อม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
พระรูปพระนางจามเทวีของวัดนี้ เป็นพระรูปที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นศิราภรณ์ เครื่องประดับ ฉลองพระองค์ ล้วนแต่ทำได้อย่างสวยงาม
วิจิตรตระการตาทั้งสิ้น อยู่ในอิริยาบถประทับยืน ทรงถือสังข์ในพระหัตถ์ขวา
และพระขรรค์ในพระหัตถ์ซ้าย หล่อด้วยโลหะสำริดทั้งองค์
ประดิษฐานอยู่ในมุมที่จัดไว้เป็นพิเศษ
วัดพระเจ้าโท้ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่
พระราชานุสาวรีย์ที่วัดนี้
มีการออกแบบตกแต่งอาณาบริเวณไว้อย่างสวยงามน่าชมมาก
องค์พระรูปก็ประดิษฐานบนแท่นที่สูงพอเหมาะ
และอยู่ภายใต้ฉัตรทองซึ่งก็ออกแบบได้ดีเช่นกัน
ในส่วนของพระรูปนั้นก็ปั้นหล่อได้ดีพอสมควรครับ
เป็นพระรูปโลหะปิดทองทั้งองค์ อยู่ในอิริยาบถยกพระหัตถ์ขวาขึ้นแสดงปางประทานอภัย
พระหัตถ์ซ้ายปล่อยข้างพระโสณีถือดอกบัว น่าเสียดายที่ผมได้ภาพมาแค่นี้ครับ
แล้วก็เช่นเดียวกับพระรูปอื่นๆ คือ มีการถวายผ้าทรงจนมองไม่เห็นรายละเอียดอะไรทั้งสิ้น
ภาพโดย Kratai de'HueanGedtawa |
วัดถ้ำขุมทรัพย์จามเทวี จ.ลำปาง
วัดแห่งนี้
ได้มีการสร้างพระรูปพระนางจามเทวีถึง ๓ รูปแบบด้วยกัน
และปัจจุบันก็นำมาประดิษฐานในที่เดียวกัน
องค์แรก คือองค์ที่อยู่ตรงกลาง
ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป็นการเอาแบบมาจากพระพุทธรูปในศิลปะลังกามาดัดแปลงไม่มากนัก
แค่เติมพระเกศาด้านหลังเท่านั้นเองครับ
จึงแม้ว่าจะเป็นการพยายามสร้างรูปเคารพพระนางจามเทวีในแบบใหม่
แต่ก็ไม่ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นพระนางจามเทวี
ทางวัดจึงต้องสร้างพระรูปอีก ๒
องค์ในเวลาต่อมา กล่าวคือองค์ที่ประดิษฐานไว้ด้านหลังสุด
และมีขนาดใหญ่ที่สุดนั้นหล่อด้วยโลหะรมดำ ถอดแบบจากพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน
แต่ฝีมือการปั้นหล่อไม่ดี จึงผิดสัดส่วน
ส่วนองค์ที่ประดิษฐานไว้หน้าสุด
คือพระรูปพระนางจามเทวีทรงศีล หรือพระรูปชีจามเทวี หล่อด้วยปูน ผมเข้าใจว่าเป็นพิมพ์ที่คุณ พุฒิภัทร ใจอินผล สร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อให้มีผู้มีจิตศรัทธานำไปสร้างถวายวัดต่างๆ
เป็นการกุศล พระรูปองค์นี้งามที่สุดในวัดนี้ครับ
วัดป่าพระนางเจ้าจามเทวี อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
ภาพจาก Fanpage : วัดป่าพระนางเจ้าจามเทวี |
วัดป่าพระนางเจ้าจามเทวี อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
มีพระรูปหล่อด้วยโลหะ ซึ่งเพิ่งจะจัดสร้างเมื่อวันที่
๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ที่ผ่านมา แต่ก็น่าเสียดายครับ
กล่าวคือ
แม้จะถอดแบบพระรูปมาจากพระราชานุสาวรีย์ที่สวนสาธารณะหนองดอก จ.ลำพูน
และปั้นหล่อโดยเก็บรายละเอียดทั้งศิราภรณ์ เครื่องประดับ
ตลอดจนฉลองพระองค์ได้ดีมาก
แต่ช่างผู้ถอดแบบพระรูปองค์นี้ ทำพระพักตร์และสัดส่วนพระวรกายได้ไม่งาม
เห็นได้ชัดว่าไม่ชำนาญในการปั้นรูปผู้หญิง
การตั้งพระรูปดังกล่าว บนแท่นฐานที่ออกแบบอย่างพิลึกพิลั่น คือตอนบนบานออก และส่วนฐานเรียวเล็ก เหมือนฐานโคมไฟประดับกำแพงบ้าน ก็ยิ่งทำให้พระรูปนี้ลดความน่าเลื่อมใสลง ถ้าทางวัดจะคิดเปลี่ยนแท่นฐานใหม่ก็จะดีมากครับ
การตั้งพระรูปดังกล่าว บนแท่นฐานที่ออกแบบอย่างพิลึกพิลั่น คือตอนบนบานออก และส่วนฐานเรียวเล็ก เหมือนฐานโคมไฟประดับกำแพงบ้าน ก็ยิ่งทำให้พระรูปนี้ลดความน่าเลื่อมใสลง ถ้าทางวัดจะคิดเปลี่ยนแท่นฐานใหม่ก็จะดีมากครับ
ภาพโดย Charlie Liu |
บ่อน้ำเลี้ยง หรือบ่อน้ำพระนางจามเทวี ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในตำนานลัมภะกัปปะนคร
ปัจจุบันอยู่ในหมู่บ้านจามเทวี ด้านหลังวัดพระธาตุลำปางหลวง
มีพระรูปพระนางจามเทวีบนแท่น ใกล้กับป้ายชื่อด้านหน้า
ทำด้วยปูนปั้นทาสีทอง ลักษณะเป็นการถ่ายแบบพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน
แต่ฝีมือปั้นหล่อเป็นอย่างหยาบ ผิดสัดส่วนมากโดยเฉพาะท่อนล่าง
ในขณะที่แท่นฐานออกแบบอย่างสวยงาม
และพระรูปอยู่ใต้ฉัตรโลหะแบบล้านนา ที่สวยงามมากเช่นกัน
ภาพจาก https://www.web-pra.com |
โรงเรียนอ้อมอารีพิทยา อ.เกาะคา จ.ลำปาง
มีพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีตั้งอยู่ด้านหน้าโรงเรียน ซึ่งนับว่าเป็นพระรูปพระนางจามเทวีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือมีขนาด ๓ เท่าครึ่งของคนจริง หล่อด้วยโลหะรมดำ ประทับยืนบนแท่นกลม
ลักษณะแบบเดียวกับพระบูชาพระนางจามเทวีปางสละราชสมบัติ
คือทรงศิราภรณ์และฉลองพระองค์อย่างพระราชานุสาวรีย์ที่หนองดอก
แต่พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วแบบปางแสดงธรรม หรือวิตรรกมุทรา
พระหัตถ์ซ้ายข้างพระโสณีถือก้านดอกบัว พระอิริยาบถเยื้องย่างเล็กน้อย
พระรูปองค์นี้
หันพระพักตร์ตรงไปยังพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีตำนานเกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวีด้วย มูลนิธิเอื้ออารี โดยการก่อตั้งของคุณ ภัคจิรา ไกรณรงค์ เป็นผู้คิดสร้าง
สำหรับพระรูป และพระราชานุสาวรีย์ที่ปรัะดิษฐานไว้ในจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ผมได้ตัดแยกไปโพสต์ไว้ในบทความื่อเดียวกันนี้ ตอนที่ ๒ แล้วนะครับ เพื่อให้สะดวกต่อการอ่าน และการที่จะ update ข้อมูลใหม่ๆ ที่จะทยอยเพิ่มเติมเข้ามาในอนาคต อีกทั้งจะทำให้บทความไม่ยาวเกินไปด้วย
ภาพประกอบพระรูปราชานุสาวรีย์
และพระรูปประติมากรรมต่างๆ ในบทความนี้ ผมได้รับมาจากเพื่อนๆ ใน facebook
และรวบรวมมาจากอินเตอร์เน็ต ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกท่านไว้ ณ
โอกาสนี้ รวมทั้งขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล จากสถานที่ต่างๆ ที่มีการประดิษฐานพระรูปในบทความนี้ทั้งหมดด้วยครับ โดยเฉพาะคุณ Khowoat Joe ที่ช่วยค้นหามาได้หลายแห่งมาก
ส่วนเนื้อหาทั้งหมด เป็นลิขสิทธิ์ของผม
ใครที่จะนำไปเผยแพร่ต่อ กรุณาใส่ link บทความนี้ด้วยนะครับ