พระรูป พระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี
ในบทความนี้ ส่วนหนึ่งเคยโพสต์ในบทความชื่อเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันผมแยกไปเป็นตอนที่
๑ กล่าวถึงเฉพาะในลำพูน เชียงใหม่ และลำปาง
ดังนั้น ส่วนที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆ ทั้งในภาคเหนือและภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ ก็ตัดมาโพสต์ในบทความนี้ เพื่อจะได้รองรับข้อมูลสถานที่ประดิษฐานใหม่ๆ
ซึ่งมีทีท่าว่า จะเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผมคิดไว้
แล้วท่านที่สนใจจะได้ค้นอ่านโดยสะดวกด้วยครับ
ถ้าดูเผินๆ
พระรูปองค์นี้ดูมีลีลาและความอ่อนช้อย เหมือนกำลังร่ายรำ
คล้ายกับที่วัดป่าคะยอมใต้ จ.ลำพูนแต่น่าเสียดายว่าฝีมือการปั้นหล่อไม่ถึงกับดีนัก
ครูบาอริยชาติ อริยจิตโต เจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้าง
วัดแสงแก้วโพธิญาณ ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย
จ.เชียงราย
มีพระรูปพระนางจามเทวีประทับอยู่ในศาลา
รวมกับพระรูปอดีตกษัตริย์อีกหลายพระองค์ ทำด้วยโลหะรมดำ
พระรูปพระนางจามเทวีของวัดแห่งนี้
นับเป็นพระรูปอีกองค์หนึ่งที่ออกแบบขึ้นใหม่ไม่ซ้ำที่อื่น กล่าวคือ
อยู่ในอิริยาบถเยื้องย่าง พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วถือดอกบัวระดับพระอุระ
พระหัตถ์ซ้ายผายออกข้างพระโสณี ชายผ้าฉลองพระองค์บางส่วนพลิ้วไหว
วัดพระธาตุศรีดอนคำ ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่
มีพระรูปพระนางจามเทวีประดิษฐานบนแท่นฐานสี่เหลี่ยมตั้ยๆ
สองชั้น ทำด้วยปูนปั้นทาสีทองทั้งองค์ ฝีมือการปั้นอยู่ในขั้นดี
ลักษณะของการฉลองพระองค์ก็เอาแบบจากพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน แต่ท่าทางเปลี่ยนไป
กล่าวคือ พระรูปอยู่ในอากัปกิริยาย่างพระบาทเล็กน้อย
พระหัตถ์ขวายื่นไปข้างหน้าหงายลงสู่พื้นตรงๆ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระนาภี
ถือผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ภายในหอพระไตรปิฎกของวัด
ยังมีพระรูปพระนางจามเทวีแบบเดียวกันนี้อีกองค์หนึ่ง
ผิดกันแต่ลักษณะแท่นฐานเท่านั้น
เหตุที่สร้าง
เพราะมีตำนานท้องถิ่นว่าครั้งหนึ่งพระนางได้ “ลอง” เสด็จผ่านมาทางนี้ และโปรดฯ
ให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนอุรังคธาตุไว้ที่วัดนี้ด้วย พระรูปทั้งสองพระองค์
จึงอยู่ในลักษณะของการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไงครับ
วัดสะแล่ง อ.ลอง จ.แพร่
อาณาบริเวณของพระราชานุสาวรีย์ที่วัดนี้
ได้รับการออกแบบที่ดีมาก
แต่น่าเสียดายครับ
ที่พระรูปซึ่งหล่อด้วยโลหะรมดำ
ในอิริยาบถที่ดูเหมือนจะจำลองมาจากพระราชานุสาวรีย์ที่กาดหนองดอกนั้น
มีสัดส่วนที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก และพระพักตร์ก็ไม่งาม
พระหัตถ์ซ้ายที่ควรจะทรงพระขรรค์ก็ปล่อยทิ้งให้ว่างอยู่
ดังนั้นแม้จะพยายามเก็บรายละเอียดจากองค์ต้นแบบไว้ได้มาก
แต่พระรูปองค์นี้ก็ยังไม่อาจเรียกว่างามได้
ซึ่งก็คงเป็นเพราะได้ช่างที่ไม่ค่อยชำนาญนั่นเอง
วัดสามเงา อ.ย่านรี จ.ตาก
พระราชานุสาวรีย์ของที่นี่
อาจไม่มีการออกแบบที่งามเด่นเหมือนอีกหลายแห่ง แต่พระรูปซึ่งหล่อด้วยโลหะรมดำนั้น
จำลองแบบพระราชานุสาวรีย์ที่กาดหนองดอกมาได้ดีมาก ทั้งสัดส่วนก็ค่อนข้างดีด้วย
เพราะช่างผู้ทำการปั้นหล่อเข้าใจในเรื่องของทัศนียวิทยาพอสมควร รายละเอียดของพระรูปก็ดีเท่ากับโรงหล่อที่มีมาตรฐาน
ดังนั้นแม้ไม่งามเท่าองค์ต้นแบบ
แต่ก็งามอยู่ในระดับแถวหน้าของพระรูปราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีทั้งหมด
ที่สร้างขึ้นทั่วเมืองไทยครับ
สิ่งที่ผมเห็นว่า เป็นข้อบกพร่องของที่นี่
นอกจากการถวายผ้าทรงจนไม่สามารถหาภาพที่ชัดเจนของพระรูปได้แล้ว ก็คือ
รูปปั้นลิงสองตัวที่ขนาบแท่นฐานพระรูปนั่นเอง
บรรดาลิงเหล่านี้
ถ้าเป็นไปได้ก็ควรยกออกไปเสียเถอะครับ
เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับพระแม่เจ้าจามเทวีเลย นอกจากในนิยายของ
คุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์ ซึ่งเป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น
วัดพระธาตุแก่งสร้อย ต.บ้านนา อ.สามเงา จ.ตาก
เป็นพระรูปที่ไม่ซ้ำที่อื่น กล่าวคือ
อยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งพับเพียบบนแท่น สวมศิราภรณ์รัดเกล้า
ฉลองพระองค์แบบโบราณ แต่ก็ไม่ใช่แบบที่เห็นกันได้ทั่วไป ทำด้วยโลหะปิดทอง
ฝีมือปั้นหล่ออยู่ขั้นดีมาก จนน่าจะกล่าวได้ว่า เป็นพระรูปที่สวยงามโดดเด่นมากที่สุดอีกองค์หนึ่งของพระนางจามเทวี
แต่ก็น่าเสียดายนะครับ
ที่เราไม่อาจจะยกย่องพระรูปองค์นี้ในลักษณะที่กล่าวมาแล้วได้
เนื่องจาก
แบบอย่างที่นำมาใช้ปั้นหล่อพระรูปองค์นี้ แม้จะเป็นแบบที่คิดขึ้นใหม่
แต่ก็คิดขึ้นมาจากพระรูปของกษัตริยาพระองค์อื่น ที่มีอยู่ก่อนแล้ว
กล่าวคือ
เป็นพระรูปแบบเดียวกับที่โรงหล่อแห่งหนึ่ง
ไปถอดแบบจากภาพจิตรกรรมในวัดพระธาตุดวงเดียวที่ อ.ลี้ ซึ่งเป็นพระสาทิสลักษณ์ของ
พระนางจามรี องค์กษัตริยาในตำนานอีกพระองค์หนึ่งในปลายสมัยหริภุญไชย
แล้วมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า เป็นพระรูปพระนางจามเทวี
คนไม่รู้ก็พากันตื่นเต้นว่า เป็นแบบใหม่ไม่ซ้ำใคร และงดงามดีด้วย
ผู้สร้างพระรูปองค์นี้
ก็คงพลอยเข้าใจผิดไปด้วยเช่นกันครับ
ดังนั้น
แม้จะเป็นพระรูปที่ได้รับการสักการะบูชาอยู่ ผมก็ไม่แน่ใจว่า
ดวงพระวิญญาณที่ทรงได้รับการบูชาผ่านพระรูปนี้ จะเป็นพระนางจามเทวีหรือไม่
ภาพโดย บุษยมาศ แสงเงิน จาก http://www.gotoknow.org |
วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ต.ทำนบ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์
มีพระรูปพระนางจามเทวีทำด้วยไม้แกะสลัก ๓ องค์
ในลักษณะที่เหมือนกัน คือพระทับยืนตรง ยกพระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงปางปรานอภัย
พระหัตถ์ซ้ายปล่อยไว้ข้างพระโสณี
ลักษณะเหมือนจะไว้ให้ทำพระขรรค์ต่างหากประกอบเข้าไป แต่ก็ไม่มีพระขรรค์ทั้งสามองค์
เครื่องทรงของพระรูปเกือบเหมือนพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน
แต่รายละเอียดผิดกันบ้าง และแปลกที่มีการปิดทองเครื่องทรงเฉพาะ ๒ องค์ที่ขนาบข้าง
องค์กลางไม่มีการปิดทองใดๆ
ฝีมือแกะสลักค่อนข้างดีครับ
และแกะได้เหมือนกันทั้ง ๓ องค์ จนเกือบจะเหมือนเป็นการหล่อจากบล็อคเดียวกัน
ภาพจาก https://soclaimon.wordpress.com |
นอกจากนี้ยังมีพระรูปพระนางจามเทวีหล่อด้วยโลหะ
สูง ๒.๕ เมตร ในพระอิริยาบถกำลังเยื้องย่างบนแท่นกลม
พระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงปางประทานอภัย ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นระดับพระนาภี ถือดอกบัว
ฝีมือการปั้นหล่อจัดว่าอยู่ในขั้นดี
ฉลองพระองค์ของพระรูปนี้ค่อนข้างแปลกครับ
คือท่อนบนห่มผ้าไว้เพียงผืนเดียว ขณะที่ท่อนล่างเป็นแบบเดียวกับที่พระราชานุสาวรีย์
ศิราภรณ์ กุณฑล และกรองศอก็ไม่มี ทรงมุ่นมวยพระเกศาไว้เฉยๆ
มีเพียงพาหุรัดและทองกรเป็นวงเล็กๆ เท่านั้น อาจเป็นการตั้งใจออกแบบ
เพื่อแสดงถึงการสละราชสมบัติผินพระพักตร์สู่ทางธรรม
ตามตำนานที่แพร่หลายกันอยู่ก็ได้
พระรูปนี้เป็นหนึ่งใน ๒ องค์ที่ อ.ปิยะนาถ
ณ ลำพูน และ ชมรมกล้าธรรม ได้ทำการหล่อขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์
๒๕๕๘ และผ่านพิธีพุทธาภิเษกในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน
โดยอีกองค์หนึ่งนำไปถวายไว้ที่ วัดพระธาตุริภุญชัย จ.ลำพูน
ตามที่ผมได้กล่าวถึงไปแล้วครับ
ภาพโดย อรชร เอกภาพสากล |
วัดโคกแก้ว อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี
มีพระรูปพระนางจามเทวีประดิษฐานอยู่ในซุ้ม
ภายในอาคารที่เรียกว่า วิหารเทพ
เป็นพระรูปโลหะชุบสีทองทั้งองค์
ขนาดเท่าพระองค์จริง ลักษณะเป็นการถ่ายแบบจากพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน
แต่เกือบประทับยืนตรง คือย่างพระบาทเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ดูมีอำนาจในตัวเอง
พระรูปองค์นี้
ตามประวัติว่าสร้างตั้งแต่วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๕
เหตุที่สร้างเพราะผู้สร้างได้นิมิตว่า บริเวณวัดเคยเป็นสนามรบครั้งสงครามโกสัมพี
นับเป็นพระรูปอีกพระองค์ที่ฝีมือการปั้นหล่ออยู่ในขั้นดี
ซึ่งหาชมได้ยากครับ พระอาจารย์สวย กิตติญาโน เจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้าง
ภาพจาก Fanpage : วังแก้วพระแม่จามเทวี |
วัดบางพึ่ง ต.มหาสอน อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
มีพระรูปพระนางจามเทวีภายในศาลาโถง
ซึ่งมีประวัติว่า สร้างเสร็จอัญเชิญเข้าประดิษฐานเมื่อวันที่ ๘-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
เป็นพระรูปในอิริยาบถประทับนั่งห้อยพระบาท โดยหงายพระหัตถ์ทั้งสองบนพระเพลา
หล่อด้วยโลหะทาสีดำ ปิดทองฉลองพระองค์ท่อนบนและเครื่องประดับ
เป็นพระรูปที่ตั้งใจออกแบบขึ้นใหม่ทั้งศิราภรณ์
เครื่องทรงทั้งหมด ซึ่งมีรายละเอียดที่งดงามครับ
แม้ว่าจะไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่แท้จริงของพระนางก็ตาม
แต่ก็น่าเสียดายว่า
ยังทำพระพักตร์ได้ไม่งามเท่าใดนัก อีกทั้งลักษณะการหงายพระหัตถ์ทั้งสองบนพระเพลา
ก็ไม่สื่อความหมายที่เหมาะสมแก่ทิพยฐานะของพระนางเท่าที่ควร
เหตุที่มีการสร้างพระรูปพระนางจามเทวีไว้ที่นี่
เนื่องจากเชื่อกันว่า ในอดีตเมื่อ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว
พื้นที่วัดเคยเป็นที่ตั้งวัง หรือพระตำหนักของพระนางจามเทวี
ปัจจุบันจึงเรียกสถานที่ประดิษฐานพระรูปภายในวัดนี้ว่า วังแก้วพระแม่จามเทวี
ภาพจาก http: portal.rotfaithai.com |
หอชมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี
ห้องโถงชั้นล่าง ตรงข้ามเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋ว
มีพระรูปพระนางจามเทวีแบบเสมอพระอุระ ประดิษฐานบนแท่น
ขนาบด้วยพระบรมรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของเมืองลพบุรี
ประดิษฐานไว้ให้เคารพสักการะ
มีพระรูปพระนางจามเทวี ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ ประดิษฐานอยู่ในศาลาโถง ซึ่งออกแบบและก่อสร้างโดยช่างที่ไม่มีความรู้ด้านศิลปะไทย และไม่ได้สัดส่วนรับกับพระรูปแต่อย่างใด
ส่วนพระรูปนั้น หล่อด้วยโลหะ ถอดแบบมาจากพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน โดยเก็บรายละเอียดอย่างดี แต่พระพักตร์ยังทำได้ไม่งามนัก และก็มีผู้ถวายผ้าห่มจนมิดองค์พระรูปอย่างที่เห็น การที่ช่างอุตส่าห์พยายามถอดแบบพระราชานุสาวรีย์ โดยเก็บรายละเอียดมาอย่างดีนั้น จึงเป็นการเสียเปล่า
ภาพจาก Facebook : วัดหนองนกไข่ สมุทรสาคร |
วัดหนองนกไข่ ต.หนองนกไข่ อ.กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร
มีพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีประดิษฐานบนแท่นเรียบๆ
ตั้งอยู่บนฐานเขียง ๓ ชั้น อยู่ในมุมกำแพงรอบพระอุโบสถ
เช่นเดียวกับพระรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า
ที่ทรงมีความสำคัญในประวัติศาสตร์อีกหลายพระองค์
พระรูปดังกล่าวหล่อด้วยโลหะทาสีดำ
และทาทองเฉพาะฉลองพระองค์และเครื่องประดับ มีขนาดเล็กกว่าพระองค์จริง
ฝีมือการปั้นหล่อค่อนข้างพอใช้ เนื่องจากถ้ามองระยะไกลจะเห็นว่าได้สัดส่วนถูกต้อง
เพียงแต่พระพักตร์และฉลองพระองค์ยังทำได้ไม่งามเท่านั้น
จัดว่าเป็นพระรูปพระนางจามเทวีองค์แรกๆ ที่ปรากฏนอกภาคเหนือ
นอกจากนี้
ใน ศาลาพระโพธิสัตว์กวนอิม ใกล้ประตูทางเข้าวัด ยังมีพระรูปทรงศีลของพระนางจามเทวีประดิษฐานไว้
ซึ่งเป็นพระรูปทรงศีลทำด้วยปูนปั้นที่งามมาก
พระรูปทั้งสององค์ พระครูสาครปัญญาคุณ (หลวงพ่อคับ ปัญญาพโล) เจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้าง
พระรูปทั้งสององค์ พระครูสาครปัญญาคุณ (หลวงพ่อคับ ปัญญาพโล) เจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้าง
ภาพจาก Facebook : วัดป่าปฐมชัย |
วัดป่าปฐมชัย จ.นครปฐม
มีพระรูปพระนางจามเทวี ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ ประดิษฐานอยู่ในศาลาโถง ซึ่งออกแบบและก่อสร้างโดยช่างที่ไม่มีความรู้ด้านศิลปะไทย และไม่ได้สัดส่วนรับกับพระรูปแต่อย่างใด
ส่วนพระรูปนั้น หล่อด้วยโลหะ ถอดแบบมาจากพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน โดยเก็บรายละเอียดอย่างดี แต่พระพักตร์ยังทำได้ไม่งามนัก และก็มีผู้ถวายผ้าห่มจนมิดองค์พระรูปอย่างที่เห็น การที่ช่างอุตส่าห์พยายามถอดแบบพระราชานุสาวรีย์ โดยเก็บรายละเอียดมาอย่างดีนั้น จึงเป็นการเสียเปล่า
ภาพโดย ว่าที่เรือตรี พิตตินันท์ ทรัพย์ประดิษฐ์ |
วัดปฐมบุตรอิศราราม จรัญสนิทวงศ์ ๔๕
แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
มีพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีซึ่งสร้างในพ.ศ.๒๕๕๕
อยู่หน้ากำแพงพระอุโบสถ พระรูปองค์นี้มีขนาด ๑.๘ เมตร หล่อด้วยโลหะปิดทอง
มีลีลาแตกต่างจากที่อื่น คือพระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายแสดงปางประทานพร
คือหงายลงสู่พื้น
ศิราภรณ์และฉลองพระองค์ของพระรูปนี้
พยายามถ่ายแบบจากพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน แต่ผิดเพี้ยนมากครับ
ฝีมือการปั้นหล่อเป็นแบบชาวบ้าน ไม่สวยงามนัก ชมรมเสด็จย่าจามเทวี เป็นผู้คิดสร้าง
ภาพจาก https:sites.google.com |
วัดคฤหบดี แขวงบางพลัด เขตบางยี่ขัน กรุงเทพฯ
มีพระราชานุสาวรีย์ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ
พระรูปหล่อด้วยโลหะรมดำ
เป็นการปั้นหล่อขึ้นใหม่ตามแบบอย่างพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน
แต่ฝีมืออ่อนกว่ามากครับ แม้จะพยายามทำให้ประณีตแล้วก็ตาม
พระรูปดังกล่าวประดิษฐานอยู่ภายใต้ฉัตรโลหะแบบล้านนา
ที่ทำอย่างสวยงามได้มาตรฐาน
ถ้าไม่เปรียบเทียบกับพระราชานุสาวรีย์ที่กาดหนองดอกแล้ว
ก็พอจะกล่าวได้ว่าเป็นพระรูปที่น่าชม และน่าบูชาองค์หนึ่ง
และก็สะดวกสำหรับคนกรุงเทพฯ และฝั่งธนฯ
ซึ่งเคารพบูชาพระนางจามเทวี จะได้แวะเวียนไปกราบไหว้ได้ทุกเมื่อ
ไม่ต้องขึ้นไปถึงลำพูน
เหตุที่มีการสร้างพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีที่วัดนี้ ก็ด้วยเหตุที่ว่า มีตำนานเกี่ยวเนื่องด้วย พระพุทธแซกคำ ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
เหตุที่มีการสร้างพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีที่วัดนี้ ก็ด้วยเหตุที่ว่า มีตำนานเกี่ยวเนื่องด้วย พระพุทธแซกคำ ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
เมื่อกล่าวถึงพระราชานุสาวรีย์ ๒
องค์ท้ายสุดนี้แล้ว ผมเองมองว่า ทั้งวัดปฐมบุตรอิศราราม และวัดคฤหบดี
ล้วนแต่อยู่ใกล้กรมศิลปากร ซึ่งมีพระรูปองค์ต้นแบบพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูน
จัดแสดงอยู่ใน หอประติมากรรมต้นแบบ ข้างอาคารที่ทำการกรมศิลปากรนั่นละครับ
เพราะฉะนั้น ถ้าจะว่าจ้างกรมศิลปากร
ให้ถ่ายแบบหรือย่อแบบจากพระรูปดังกล่าวมาสร้างให้กับวัด
ก็เห็นจะไม่ต้องใช้งบประมาณที่แตกต่างจากช่างโรงหล่อทั่วไป เท่าที่เป็นอยู่มากนัก แต่ก็ไม่มีความพยายามกัน
เพราะเหตุปัจจัยมันมิได้อยู่กับความคิดที่ว่า
จะต้องสร้างให้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด แต่อยู่เพียงแค่ว่า รู้จักกับใคร มี connection
กับใคร และรู้หรือไม่ ว่าสามารถใช้บริการจากกรมศิลปากรได้
จึงน่าเสียดายว่า
มีวัดที่สร้างพระรูปพระนางจามเทวีให้คนกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรีสะดวกจะไปบูชา
แต่ก็เป็นพระรูปที่ไม่งามสมควรแก่การเลื่อมใสเท่าที่ควร ผมก็หวังว่า ในอนาคตจะมีวัดอื่นๆ
ในกรุงเทพฯ หรือฝั่งธนสร้างพระรูปที่งามกว่านี้ขึ้นมานะครับ
ภาพประกอบพระรูปราชานุสาวรีย์
และพระรูปประติมากรรมต่างๆ ในบทความนี้ ผมได้รับมาจากเพื่อนๆ ใน facebook
และรวบรวมมาจากอินเตอร์เน็ต ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกท่านไว้ ณ
โอกาสนี้
รวมทั้งขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล จากสถานที่ต่างๆ
ที่มีการประดิษฐานพระรูปในบทความนี้ทั้งหมดด้วยครับ โดยเฉพาะคุณ Khowoat
Joe ที่เป็นกำลังสำคัญ ช่วยค้นหาพระรูปที่สร้างขึ้นใหม่ๆ
ตามวัดต่างๆ มาให้ผมเป็นจำนวนมากจริงๆ
ส่วนเนื้อหาทั้งหมด เป็นลิขสิทธิ์ของผม
ใครที่จะนำไปเผยแพร่ต่อ กรุณาใส่ link บทความนี้ด้วยนะครับ