Tuesday, July 25, 2017

พระนางมณีจันทร์ นางแก้วคู่บารมีพระนเรศวร




เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เท่าที่คนไทยเรารับรู้กันโดยทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ คือการศึกสงครามกับอาณาจักรข้างเคียง

เรื่องราวส่วนพระองค์ ที่เกี่ยวเนื่องกับเจ้านายฝ่ายใน หรือพระมเหสีของพระองค์ เป็นที่รับรู้กันน้อยยิ่งกวาน้อย เพราะพระราชพงศาวดารมิได้บันทึกไว้มากนัก และหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ก็ไม่นำมาสอน

แต่รายละเอียดเกี่ยวกับพระมเหสีเทวีเหล่านั้น ความจริงก็ไม่ถึงกับค้นหาได้ยาก เพราะปรากฏอยู่ในเอกสารต่างชาติถึง ๕ ฉบับด้วยกัน คือ

จดหมายเหตุบาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา ของสเปน

จดหมายเหตุวันวลิต ของฮอลันดา

พงศาวดารละแวก ของเขมร

คำให้การขุนหลวงหาวัด และ พงศาวดารฉบับหอแก้ว ของพม่า

ซึ่งจากพงศาวดารและจดหมายเหตุดังกล่าวนี้เอง ทำให้เราได้ทราบกันว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระมเหสี ๓ หรือ ๔ พระองค์ มีพระนามแตกต่างกันดังนี้

๑) พระมณีรัตนา จากคำให้การขุนหลวงหาวัด

๒) เจ้าขรัวมณีจันทร์  จากจดหมายเหตุวันวลิต

๓) โยธยามี้พระยา พระราชธิดาของ พระเจ้าเชียงใหม่อนรธาเมงสอ หรือ เจ้าฟ้าสาวถีนรตรามังซอศรี จากพงศาวดารพม่า

๔) พระเอกกษัตรีย์ พระราชธิดาของ พระเจ้าศรีสุพรรณมาธิราช กษัตริย์เขมร จากพงศาวดารเขมร

หลักฐานเหล่านี้มิได้ระบุไว้ว่า พระองค์ใดเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี ส่วนใหญ่ระบุเพียงว่าเป็นพระมเหสีเท่านั้น

และนักวิชาการหลายท่านที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ยังสงสัยกันอยู่ว่า แท้ที่จริงแล้วสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อาจทรงมีพระมเหสีที่ปรากฏพระนามในประวัติศาสตร์เพียง ๓ พระองค์เท่านั้นก็เป็นได้

กล่าวคือ พระมณีรัตนากับเจ้าขรัวมณีจันทร์นั้น น่าจะเป็นพระองค์เดียวกัน

สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์  ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับพระมณีรัตนา และเจ้าขรัวมณีจันทร์ ได้เขียนถึงพระนามทั้งสองนี้ไว้ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ โดยเสนอว่า พระมณีรัตนา คงเป็นเจ้าหญิงที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ละโว้สายสุพรรณภูมิ ของ สมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิวรราชาธิราช  และ สมเด็จพระมหินทราธิราช  

ที่สุทธิศักดิ์เข้าใจเช่นนี้ ก็เพราะเขาเทียบเคียงพระนาม มณีรัตนา กับพระนามของเจ้านายฝ่ายในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงมีพระนามว่า พระรัตนมณีเนตร

เจ้านายฝ่ายในพระองค์นี้ ทรงเป็นพระขนิษฐาต่างพระมารดาของ พระวิสุทธิกษัตรีย์ และทรงมีพระนามที่รู้จักกันทั่วไปคือ พระแก้วฟ้า นั่นเอง

ด้วยความคล้ายคลึงระหว่างพระนาม  มณีรัตนาและ รัตนมณีเนตรดังกล่าวนี้ สุทธิศักดิ์จึงแสดงความสงสัยไว้ว่า พระมณีรัตนาอาจจะเป็นบุคคลเดียวกับพระรัตนมณีเนตร หรือ พระแก้วฟ้า ก็เป็นได้

เพราะเขาเห็นว่า การที่ พระมณีรัตนาในคำให้การขุนหลวงหาวัด มีพระนามคล้ายคลึงกับ พระรัตนมณีเนตรหรือพระแก้วฟ้านั้นเอง คือนัยยะสำคัญที่อาจบ่งบอกว่า พระนางเป็นเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เก่าของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระมหินทราธิราช คือ ราชวงศ์ละโว้สายสุพรรณภูมิ

มากกว่าที่จะเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ จากราชวงศ์สุโขทัย (พระร่วง) ด้วยกันกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ดังนั้น การที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงอภิเษกสมรสกับพระมณีรัตนา ก็อาจมีส่วนในการสร้างเสริมสิทธิธรรมในราชบัลลังก์ศรีอยุธยา ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเพิ่งทรงสถาปนาขึ้นใหม่ ภายหลังจากที่พิชิตกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จในพ.ศ. ๒๑๑๒

ซึ่งจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการจรรโลงสถาบันกษัตริย์ภายใต้การปกครองของราชวงศ์สุโขทัย (พระร่วง) จากหัวเมืองฝ่ายเหนือให้หยั่งรากมั่นคงในเวลาต่อมา

และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง พระมณีรัตนาก็จะทรงมีศักดิ์เป็นทั้ง พระมาตุจฉา (น้า) ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีด้วย ในเวลาเดียวกัน

ข้อสมมุติฐานเช่นนี้ ผมเชื่อว่า คงไม่เป็นที่ชอบใจของสาธารณชนทั่วไป ที่นับถือกราบไหว้องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรอกครับ

แต่สุทธิศักดิ์ก็ได้แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ของข้อสงสัยนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ยังไม่มีการพบหลักฐานยืนยันไว้ที่ใดว่า พระแก้วฟ้าถูกพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองนำตัวไปยังราชสำนักหงสาวดีเมื่อคราวเสียกรุงใน พ.ศ. ๒๑๑๒





ในขณะที่พระนามของ เจ้าขรัวมณีจันทร์ นั้น ปรากฏในจดหมายเหตุวันวลิต ซึ่ง เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาประจำพระนครศรีอยุธยาเรียบเรียงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๑๘๒  

ในจดหมายเหตุดังกล่าว ฟานฟลีตได้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้ง พระอินทราชา หรือ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  ทรงกริ้ว พระหมื่นศรีสรรักษ์ และน้องชาย ที่ไปทำร้ายพระยาแรกนาขวัญ และทรงมีพระราชโองการให้จับทั้งสองไปพันธนาการไว้ในคุกหลวง เตรียมจะประหารชีวิต

ฟานฟลีตบันทึกไว้ว่า :

พระหมื่นศรีสรรักษ์ถูกจำขังอยู่ในคุกมืดเป็นเวลา ๕ เดือน จนกระทั่งเจ้าขรัวมณีจันทร์ (Zian Croa Mady Tjan) ชายาม่ายของพระเจ้าอยู่หัวในพระโกศ คือพระ Marit หรือพระองค์ดำ ได้ทูลขอ จึงได้กลับเป็นที่โปรดปรานอีก

การที่กรมศิลปากรได้ทำการแปลจดหมายเหตุวันวลิต ในฉบับแปลจากภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส โดยเรียกพระนามพระชายาม่ายของสมเด็จพระนเรศ (พระมะริด) ว่า เจ้าขรัวมณีจันทร์ (Zian Croa Mady Tjan)

ทำให้สุทธิศักดิ์ให้ข้อสังเกตไว้เบื้องต้นว่า พระนามนี้ดูคล้ายคลึงกับ พระมณีรัตนาพระอัครมเหสีที่ปรากฏอยู่ในคำให้การขุนหลวงหาวัด จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นบุคคลเดียวกัน

แต่เมื่อสอบย้อนกลับไปยังต้นฉบับภาษาฮอลันดาโบราณ สุทธิศักดิ์พบว่า เยเรเมียส ฟาน ฟลีต จดพระนามพระชายาม่ายในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า Tjau Croa Mahadijtjan แตกต่างจากฉบับแปลภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส อย่างเห็นได้ชัด

ด้วยเหตุนี้ สุทธิศักดิ์จึงเห็นควรแปลพระนามดังกล่าวเป็นภาษาไทยว่า เจ้าขรัวมเหสีจันทร์ มากกว่า เจ้าขรัวมณีจันทร์ ตามฉบับแปลภาษาไทยของกรมศิลปากรที่ใช้กันอยู่ทั่วไป

และเมื่อเป็นเช่นนี้ สุทธิศักดิ์จึงเห็นว่า พระนาม เจ้าขรัวมเหสีจันทร์ที่เกิดจากการทับศัพท์ใหม่นี้ มีความแตกต่างจาก พระมณีรัตนาในคำให้การขุนหลวงหาวัด จนไม่น่าจะเป็นชื่อของบุคคลคนเดียวกันครับ

ดังนั้น จึงน่าจะแสดงว่า ทรงเป็นพระมเหสีในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชคนละพระองค์กัน ไม่ใช่พระองค์เดียวกัน

สุทธิศักดิ์ยังเชื่อว่า เจ้าขรัวมเหสีจันทร์ผู้นี้ ต้องมีความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งกับพระหมื่นศรีสรรักษ์ (สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้น พระนางผู้ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในชั้นผู้ใหญ่พระองค์สำคัญ คงไม่กล้าออกหน้าให้การช่วยเหลือพระหมื่นศรีสรรักษ์ ผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ให้พ้นโทษอย่างแน่นอน




แต่สำหรับผมเองนะครับ ผมมองว่า ในการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ มีข้อที่เราควรจะพิจารณาอยู่ ๒ ข้อ

๑) คำว่า เจ้าขรัวมณีจันทร์ นั้น เป็นพระนามของเจ้านายฝ่ายในที่บวชชีแล้ว

กล่าวคือมีคำว่า เจ้าขรัวนำหน้า ซึ่งเป็นคำเรียกแม่ชี ที่เดิมมีฐานันดรเป็นเจ้าชั้นสูง

ถ้าหากว่าเป็นช่วงที่ยังคงดำรงตำแหน่งพระมเหสี ยังมิได้ทรงบวชเป็นชี ก็ควรจะเรียกว่า พระนางมณีจันทร์ จะเป็นการถูกต้องกว่า

ดังนั้นต่อจากนี้ไป ผมจะกล่าวถึงพระนางมณีจันทร์ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพระชายาในองค์สมเด็จพระนเรศวร และกล่าวถึงเจ้าขรัวมณีจันทร์ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพของพระนาง นะครับ

๒) การที่สุทธิศักดิ์สันนิษฐานเช่นที่กล่าวไปแล้ว ก็อาจเป็นเพราะเขาลงลึกถึงรายละเอียดมากเกินไปก็ได้

เพราะผมเองกลับคิดว่า คำว่า Zian Croa Mady Tjan ที่กรมศิลปากรถ่ายเสียงจากจดหมายเหตุวันวลิต ในฉบับแปลจากภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสว่า เจ้าขรัวมณีจันทร์ นั้น

ที่จริง ไม่มี ความแตกต่างกับ Tjau Croa Mahadijtjan ในต้นฉบับภาษาฮอลันดาโบราณแต่อย่างใด

นั่นคือ ผู้แปลจดหมายเหตุวันวลิต จากภาษาฮอลันดาโบราณ เป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ย่อมจะต้องรู้อยู่แล้วอย่างแน่นอนว่า คำว่า Mahadijtjan ในภาษาฮอลันดาโบราณนั้น ตามหลักการแปล ควรจะถ่ายเสียงออกมาเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างไร

ซึ่งก็เพราะเขารู้อยู่แล้ว เขาจึงทับศัพท์คำนั้นในการแปลว่า Mady Tjan ไงครับ

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าต้นฉบับภาษาฮอลันดาโบราณจะออกเสียงอย่างไร คำคำนั้นก็ได้รับการถ่ายเสียงเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสมาแล้วว่า Mady Tjan

และเราจึงไม่จำเป็นต้องกลับไปค้นหาพระนามที่ถูกต้อง ของราชนารีพระองค์นี้ จากต้นฉบับภาษาฮอลันดาโบราณหรอกครับ ตราบเท่าที่เรายังไม่รู้วิธีการออกเสียงภาษาฮอลันดาโบราณ มากไปกว่าผู้ที่แปลมันเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส

การยึดต้นฉบับคำแปลภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นหลัก ดังที่กรมศิลปากรได้ทำไว้นั้น จึงน่าจะเพียงพอแล้วละครับ 

ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงมองไม่เห็นความน่าสงสัยใดๆ ในพระนามที่นักประวัติศาสตร์ไทยทั่วไปคุ้นเคยกันมานานว่า เจ้าขรัวมณีจันทร์

เพราะคำว่า Mady Tjan ในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส อ่านอย่างไรก็ตรงกับภาษาไทยว่า มณีจันทร์มากกว่า มเหสีจันทร์

ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็แน่นอนว่า ย่อมจะต้องมีความสอดคล้องกับพระนาม มณีรัตนาในคำให้การขุนหลวงหาวัด อย่างมีความเป็นไปได้สูงมากว่า จะเป็นพระองค์เดียวกัน

ไม่ใช่เป็นคนละคนกัน ดังที่สุทธิศักดิ์สงสัยอยู่

และถ้าสมมุติว่า คำว่า Mahadijtjan ในภาษาฮอลันดาโบราณ ถ่ายเสียงได้ตรงกับคำว่า มเหสีจันทร์ ในภาษาไทยจริง ก็มิได้เป็นข้อบ่งชี้ว่า พระมเหสีจันทร์ผู้นี้ จะเป็นคนละพระองค์กับพระมณีรัตนา ในคำให้การขุนหลวงหาวัดหรอกครับ

เพราะการเปรียบเทียบพระนามของพระมณีรัตนา กับพระรัตนมณีเนตตร (หรือพระแก้วฟ้า) ตามที่สุทธิศักดิ์กระทำไว้ ถือได้ว่าเป็นเพียงการทดลองเท่านั้น ยังไม่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า แนวความคิดเช่นนั้นมีความเป็นไปได้เพียงใด

อีกทั้งคำว่า มเหสีจันทร์ ดูอย่างไรก็ไม่น่าจะเป็นชื่อบุคคล แถมยังชวนให้คิดว่า เป็นคำที่ชาวต่างชาติบันทึกจากคำภาษาไทยว่า พระมเหสีที่มีพระนามลงท้ายว่า จันทร์มากกว่า

ด้วยเหตุดังกล่าว จนถึงเวลานี้ เราก็ยังไม่มีข้อมูลอะไรมากพอที่จะกล่าวว่า พระนางมณีจันทร์กับพระมณีรัตนา เป็นคนละพระองค์กัน

เรามีแต่ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่า พระนามทั้งสอง เป็นพระนามของเจ้านายฝ่ายในพระองค์เดียวกันเท่านั้นครับ

ที่น่าเสียดายอย่างยิ่งก็คือ ในจดหมายเหตุวันวลิตนั้น ฟาน ฟลีต กล่าวถึงเจ้าขรัวมณีจันทร์แค่เพียงครั้งเดียว โดยมิได้กล่าวถึงภูมิหลังความเป็นมาของพระนางเลย

นี่คือต้นเหตุของปริศนามากมาย ที่ทำให้นักวิชาการยังคงต้องมานั่งถกเถียงกันอยู่

แต่แม้ว่า ในสายตาของนักวิชาการจะมองอย่างไร จนถึงปัจจุบันนี้ พระนางมณีจันทร์ หรือ เจ้าขรัวมณีจันทร์ ก็ยังคงเป็นพระชายาในองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ได้รับการยอมรับกันทั่วไปมากที่สุด

จนกระทั่งเมื่อ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ทรงสร้างภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ทรงนำเสนอตัวละคร มณีจันทร์ ในฐานะพระชายาพระองค์แรกของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ดังได้ทรงอธิบายไว้ใน http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/A3103406/A3103406.html ว่า

มณีจันทร์นี่บันทึกเอาไว้ว่าชื่อ ขรัวมณีจันทร์”  แสดงว่าต่อมาแกเป็นชีครับ ก็คงจะเป็นคนประเภทธรรมะธรรมโมอยู่ไม่ใช่น้อย (หรือว่ามีเรื่องที่ต้องทำให้บวชชีก็ไม่รู้เหมือนกัน) ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ มีเรื่องเล่ากันว่าพระองค์ไปได้หญิงชาวบ้านจากบางประกง  มาเป็นสนม, นางมีโอรสกับสมเด็จพระเอกาทศรถหนึ่งหน่อ ซึ่งเจ้าฟ้าองค์นี้ต่อมาทรงโปรดเสวยน้ำจัณฑ์ (ขี้เมาว่ายังงั้นเถอะ) แล้วชอบทำองค์เป็นนักเลงหาเรื่องกับชาวบ้านทั่วไป จนวันหนึ่งท่านเกิดมีเรื่องกับพระยาออกนา (รัฐมนตรีเกษตรในสมัยนั้น) ถึงกับเตะพระยานาจนปากแตก พระยานาเอาเรื่องไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งสมเด็จพระเอกาทศรถทรงกริ้วจะประหารชีวิตเจ้าฟ้าองค์นั้น เจ้าฟ้าองค์นั้นกลัวพระอาญาหนีไปหา ขรัวมณีจันทร์ผู้เป็นพระปิตุฉา (ป้า) ของเจ้าฟ้าองค์นั้น ขรัวมณีจันทร์ไปเข้าเฝ้าพระเอกาทศรถขอให้พระองค์ยกโทษให้ลูก ซึ่งพระเอกาทศรถเกรงพระทัย ขรัวมณีจันทร์จึงยกโทษให้ 

เรื่องของเรื่องก็คือ

๑) ขรัวมณีจันทร์คือพระมเหสีของพระนเรศวร

๒) เป็นหญิงที่ทรงอำนาจแม้แต่พระมหากษัตริย์ยังเกรงพระทัย

๓) เป็นแม่ชีอยู่วัด ซึ่งน่าจะเป็นคนธรรมะธรรมโม

เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมณีจันทร์เลย เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่เขียนเรื่องพระนเรศวรก็ต้องเดาเอาหรือสร้างบุคลิกเอาตามแต่ละคนจะจินตนาการ มณีจันทร์ของผมจะเป็นชาวมอญ และจะสนิทสนมกับสมเด็จพระนเรศวรมาตั้งแต่สมัยที่สมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่หงสาวดี คงจะเป็นลูกสาวคนใหญ่คนโต (ไฮโซ) เพราะเดาไม่ออกว่าสมเด็จพระนเรศวรจะเลือกเด็กสลัมมาเป็นพระอรรคชายา (ในพงศาวดารเขียนว่าอรรคชายาครับ แสดงว่าต้องเป็นเจ้า อย่างผมมีเมีย เมียของผมต้องเป็นหม่อม จะเรียกว่าชายาไม่ได้เพราะหม่อมของผมเป็นคนธรรมดาไม่ใช่เจ้าครับ) แต่จะเป็นลูกใครผมก็ไม่รู้ แต่ในบทของผม ผมให้มณีจันทร์เป็นลูกลับๆ ของบุเรงนองที่เกิดจากลูกสาวของสมิงทุดอ (คนที่ปลงพระชนม์พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้นั่นแหละครับ)

การที่เป็นหลานของขบถที่บังอาจปลงพระชนม์พ่ออยู่หัวคือโทษประหารเจ็ดชั่วโคตร ซึ่งหมายถึงมณีจันทร์ต้องถูกประหารด้วย พระเจ้าบุเรงนองจึงเอามณีจันทร์มาฝากเอาไว้กับพระอาจารย์ของพระองค์ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระนเรศวรเหมือนกัน มณีจันทร์กับพระนเรศวรจึงเติบโตมาด้วยกัน จนทำให้พระนเรศวรมองไม่เห็นว่ามณีจันทร์นั้นมีจิตใจหลงรักพระองค์อยู่ พระนเรศวรจะมองเห็นมณีจันทร์เป็นเหมือนน้องสาวมากกว่าคนรัก




นั่นแสดงว่า ในสายพระเนตรของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล และในสายตาของทีมงานผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์-โบราณคดีไทยยุคปัจจุบัน

เช่น ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทุกส่วนในภาพยนตร์ดังกล่าวนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุด และนำเสนอออกมาบนพื้นฐานของความเป็นไปได้มากที่สุด  

ก็ยังคงเห็นตรงกันว่า พระนางมณีจันทร์ คือ พระชายาที่ทรงมีบทบาทชัดเจนที่สุดในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยิ่งกว่าพระชายาองค์อื่นที่มาจากเชียงใหม่และเขมร

จนต้องผูกเรื่องเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับพระนางมณีจันทร์ ตั้งแต่ยังเยาว์พระชันษาในแผ่นดินพม่าด้วยกัน ดังกล่าวแล้ว

โดยนำเสนอในแนวความคิดที่ว่า พระนางทรงมีเชื้อสายมอญ ทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง กับพระนางจันทราเทวี ซึ่งเป็นพระมเหสีองค์แรกของบุเรงนอง และเป็นหลานของสมิงทุดอ หรือสมิงสอตุด ผู้ปลงพระชนม์พระเจ้าตะเบงชเวตี้

ดังนั้นพระนางจันทราเทวี ซึ่งจะต้องพลอยรับอาญาหลวงประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตรไปด้วย จึงได้ลอบนำมณีจันทร์ซึ่งยังแบเบาะ ไปฝากไว้กับพระมหาเถรคันฉ่อง เพื่อให้พ้นราชภัย พระนางจึงเจริญพระชันษาขึ้นมาในวัดของมหาเถรคันฉ่อง

ในภาพยนตร์ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ได้ทำให้เห็นว่า ทั้งพระนางมณีจันทร์ สมเด็จพระนเรศวร และพระราชมนูต่างก็สนิทสนมและผูกพันกันมาตั้งเด็ก เพราะเป็นลูกศิษย์ของพระมหาเถรคันฉ่องด้วยกัน

ก่อนที่พระนางมณีจันทร์จะถูกนำเข้าถวายตัว เป็นนางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ซึ่งทรงเป็นพระชายาองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนองอยู่ในเวลานั้น

และภายหลัง เมื่อตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมาประทับที่กรุงศรีอยุธยา ก็ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมณีรัตนาอัครมเหสี ซึ่งเท่ากับเป็นการตอบข้อสงสัย ของผู้สนใจเรื่องของพระชายาในองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาตลอดในข้อที่ว่า พระมณีรัตนากับพระนางมณีจันทร์เป็นพระองค์เดียวกันหรือไม่ 

การผูกเรื่องเช่นนี้ มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นไปได้จริงๆ มิใช่ความเพ้อฝันเลื่อนลอยนะครับ

เพราะใน พงศาวดารฉบับหอแก้ว ของพม่า กล่าวว่า สมเด็จพระสุพรรณกัลยาทรงมีคนสนิทอยู่คนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นนางสนองพระโอษฐ์ มีนามว่า พระองค์จันทร์

พงศาวดารฉบับหอแก้วเล่าว่า ภายหลังจากพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ในการกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น พระเจ้านันทบุเรงได้แต่ทรงเสวยน้ำจัณฑ์ จนเมามายอยู่เป็นเวลานาน แต่ละวันก็พาลหาเรื่องสมเด็จพระสุพรรณกัลยาและขู่อาฆาตบ่อยๆ  จนพระนางทรงสังหรณ์พระทัย ได้ทรงเรียกพระองค์จันทร์มาปรับทุกข์หลายครั้ง

ท้ายที่สุด ได้ทรงตัดปอยพระเกศาใส่ผอบเครื่องหอมประทานให้พระองค์จันทร์ เตรียมนำไปถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่กรุงศรีอยุธยา เผื่อจะไม่รอดพระชนม์ชีพ

ต่อมาเมื่อพระเจ้านันทบุเรงทรงเมามายไม่มีสติ จนปลงพระชนม์สมเด็จพระสุพรรณกัลยาจริงๆ พระองค์จันทร์จึงได้ลอบออกจากวังนำผอบพระเกศาไปกับนายทหารมอญ ทำทีเป็นสามีภรรยากันตลอดเวลานานถึงสามเดือนเศษ

จนถึงกรุงศรีอยุธยา และได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลท่ามกลางความโศกเศร้าของบรรดาพระญาติพระวงศ์ ในครั้งนั้นพระองค์จันทร์ได้รับการสถาปนาเป็น ท้าวจันทร์เทวี

หลังจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระวิสุทธิกษัตริย์  แล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงทรงยกทัพไปตีหงสาวดีและตองอู แต่ไม่สำเร็จ

ระหว่างเสด็จกลับทรงได้รับพระอัฐิพระพี่นาง และทรงพระสุบินว่า พระพี่นางทรงมีพระประสงค์จะเสด็จประทับอยู่ที่เมืองปาย จึงโปรดฯ ให้ม้าเร็วเข้ามากรุงศรีอยุธยาเพื่อรับตัวท้าวจันทร์เทวีไปเมืองปาย และนำผอบบรรจุเส้นพระเกศาของพระพี่นางไปด้วย เพื่อบรรจุไว้ในเจดีย์องค์หนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่า ปัจจุบันอยู่ที่ วัดน้ำฮู เมืองปาย จ.แม่ฮ่องสอน

พระองค์จันทร์ หรือ ท้าวจันทร์เทวีพระองค์นี้ละครับ ที่มีผู้เชื่อกันว่า น่าจะเป็นพระองค์เดียวกับพระนางมณีจันทร์ และน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ผูกเรื่องพระนางมณีจันทร์ไว้ในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว

ผิดกันก็แต่เพียงว่า พระองค์จันทร์ คนสนิทของสมเด็จพระสุพรรณกัลยานั้น ลอบออกจากพม่าภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระพี่นาง

ในขณะที่ เจ้านางมณีจันทร์ ใน ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั้น เป็นผู้นำสาส์นลับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไปทูลสมเด็จพระพี่นางฯ ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และลอบเสด็จเข้ากรุงหงสาวดี เพื่อรับเสด็จพระพี่นางกลับไปอยุธยาด้วยกัน

แต่สมเด็จพระพี่นางทรงถอดปิ่นปักพระเกศา ฝากเจ้านางมณีจันทร์นำไปถวายสมเด็จพระนเรศวร และทรงมีพระบัญชาให้เจ้านางมณีจันทร์ ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกลับกรุงศรีอยุธยาแทน

ซึ่งแม้เรื่องราวที่ถูกต่อเติมเสริมแต่ง ของราชนารีพระองค์นี้ในภาพยนตร์ จะมีความขัดแย้งกับพงศาวดารพม่าดังกล่าวแล้ว และไม่อาจนำมาใช้เป็นข้อเท็จจริงใดๆ ในทางวิชาการ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังคงมีพื้นฐานอยู่ในกรอบของเหตุผล และความเป็นไปได้ ดังที่กล่าวแล้วครับ 

ซึ่งผู้ปฏิเสธ ก็จะต้องจนปัญญาที่จะหาหลักฐานมาคัดค้าน เพราะไม่มีหลักฐานอันใดเหลืออยู่

ด้วยแม้ว่า จากเรื่องราวของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา (ซึ่งผมโพสต์ไปแล้วใน blog เดียวกันนี้)  เราจะรู้กันแล้วว่า พระนางอาจมิได้สิ้นพระชนม์ที่กรุงหงสาวดี ด้วยคมดาบของพระเจ้านันทบุเรง ตามที่คนไทยเราเชื่อกันก็ตาม

แต่เรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์จันทร์ ในฐานะผู้อัญเชิญผอบพระเกศาของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ก็ยังมีความเป็นไปได้นะครับ

เพราะเป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องผูกพันกับการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสุพรรณกัลยาที่หงสาวดีเลยแม้แต่น้อย

และที่ผมมองว่าน่าสนใจอีกข้อหนึ่ง

ก็คือ การที่ภาพยนตร์ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ได้นำเสนอภาพลักษณ์ของพระนางมณีจันทร์ เป็นนางแก้วคู่พระบารมีของสมเด็จพระนเรศวร ที่ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม มีพระจริยาวัตรเปิดเผย สดใสร่าเริง

แต่ก็ทรงได้รับการฝึกฝนด้านการใช้อาวุธมาอย่างดี จนทรงป้องกันพระองค์เองได้อย่างคล่องแคล่ว ในคราวที่ทางพม่าส่งมือสังหารชนเผ่านาคาเข้าไปลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวร ถึงในตำหนักที่ประทับ และยังทรงสังหารนักฆ่าเหล่านั้นได้ด้วย




ยิ่งไปกว่านั้น พระนางยังตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชออกสงคราม และเมื่อทรงประจักษ์ว่า พระราชมนู พระสหายแต่วัยเยาว์ของพระนางติดอยู่ในแดนข้าศึก ก็ทรงควบม้าศึกเข้าไปช่วยด้วยความกล้าหาญ และทรงต่อสู้กับทหารพม่าที่เข้ากลุ้มรุม จนสมเด็จพระนเรศวรพร้อมด้วยทหารของพระองค์ตามเข้าไปช่วยออกมาได้สำเร็จ

เรื่องเช่นนี้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควร เมื่อภาพยนตร์ดังกล่าวออกฉาย แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้นจากจินตนาการโดยบริสุทธิ์นักหรอกครับ

เพราะในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมที่เล่นทางฌานสมาบัติ ก็เล่าขานต่อๆ กันมานานแล้วว่า พระนางมณีจันทร์คือพระชายาอันเป็นที่รักของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงถวายการปรนนิบัติใกล้ชิดพระองค์ในกองทัพ และรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาโดยตลอด

หลักฐานที่ยืนยันความเชื่อเช่นนี้ คือการที่ มูลนิธินักรบไทย ได้เคยสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระรูปพระนางมณีจันทร์สำหรับบูชาคู่กัน ในลักษณะประทับยืนทั้งสองพระองค์




โดยพระรูปพระนางมณีจันทร์ ทรงไว้พระเกศาปีกตัดสั้น ฉลองพระองค์ห่มสไบเฉียง ทรงยืนถือดาบ อีกพระหัตถ์หนึ่งท้าวสะเอว แสดงถึงความเป็นเจ้านายสตรีนักรบ

ม.จ.ชาตรีเฉลิม จะทรงได้ข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่ง จากแหล่งเช่นว่านี้หรือไม่ ไม่ทราบนะครับ

แต่เมื่อทรงนำเสนอพระนางมณีจันทร์ออกมาในภาพลักษณ์ดังกล่าวแล้ว บรรดาผู้ปฏิบัติธรรมที่เคารพนับถือพระนางอยู่ ก็มิได้เห็นว่าเป็นของใหม่ ผิดแผกจากที่พวกตนเคยรู้กันมาแต่อย่างใด

และบางที พระนางมณีจันทร์ ซึ่งเป็นพระชายาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปมากที่สุดนี้เอง ที่น่าจะได้เป็นพระชายาพระองค์เดียว ที่ได้ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจริงๆ 

โดยหลักฐานที่ยืนยันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสถาปนาเจ้านายฝ่ายในพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นพระมเหสีนั้น ก็คือ คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชพระราชบิดาในพ.ศ.๒๑๓๓ ว่า

ส่วนพระนเรศวรนั้น ก็เข้าไปกรุงศรีอยุธยา ก็เสด็จเข้าสู่พระราชฐาน อันอัครมหาเสนาบดีและมหาปุโรหิตทั้งปวง จึงทำการปราบดาภิเษกแล้วเชื้อเชิญขึ้นให้เสวยราชสมบัติ จึงถวายอาณาจักรเวนพิภพแล้วจึงถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ และเครื่องมหาพิไชยสงครามทั้ง ๕ ทั้งเครื่องราชูปโภคทั้งปวงอันครบครัน แล้วจึงถวายพระนามใส่ในพระสุพรรณบัตรสมญา แล้วฝ่ายในกรมจึงถวายพระมเหษีพระนามชื่อพระมณีรัตนา แล้วถวายพระสนมกำนัลทั้งสิ้น แล้วครอบครองราชสมบัติเมื่อจุลศักราช ๙๕๒ ปีขาลโทศก อันพระเอกาทศรถนั้นก็เปนที่มหาอุปราช

ซึ่งในบทความนี้ เราก็ได้เห็นกันแล้วถึงความเป็นไปได้ที่ว่า พระมณีรัตนา พระองค์นี้นั่นเอง ที่น่าจะเป็นพระองค์เดียวกันกับพระนางมณีจันทร์ พระชายาที่ทรงมีบทบาทโดดเด่นที่สุดของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เพราะฉะนั้น ถ้าเรื่องนี้เป็นความจริงนะครับ

พระนางมณีจันทร์ ก็คือพระมเหสีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่กรมฝ่ายในได้ถวายในพระราชพิธีราชาภิเษก เป็นพระชายาคู่พระทัย ที่อาจจะได้ทรงรู้จักพบเห็นกันมาตั้งแต่ครั้งอยู่ในกรุงหงสาวดีด้วยกัน ตามแนวคิดของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล




และยังมีความเป็นไปได้มากว่า ราชนารีพระองค์นี้ อาจได้ทรงเลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระอัครมเหสี ในเวลาต่อมาด้วย

ซึ่งนั่นก็อาจเป็นเพราะ พระนางทรงมีพระราชโอรสอย่างน้อย ๑ พระองค์ ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

โดยในจดหมายเหตุสเปน History of the Philippines and Other Kingdom ที่ บาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา (Marcelo de Ribadeneira, O.F.M.) เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าของบาทหลวงนิกายฟรานซิสกัน ที่เคยพำนักอยู่ในพระนครศรีอยุธยาใน พ.ศ.๒๑๒๕ (ตรงกับปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช) และ พ.ศ.๒๑๓๙ (ตรงกับต้นรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)

เนื้อความตอนหนึ่ง กล่าวถึงกระบวนพยุหยาตราชลมารค ของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งมีสมเด็จพระอัครมเหสี และพระราชโอรสผู้ทรงพระเยาว์โดยเสด็จมาด้วย ความว่า

...แล้วจากนั้นเป็นพระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุดในพระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จปรากฏพระองค์ในเรือพระที่นั่งที่ตกแต่งอย่างหรูหรามาก ตามติดมาเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีและสาวสรรกำนัลใน สมเด็จพระอัครมเหสีประทับแต่เพียงลำพังพระองค์ และบรรดานางกำนัลนั่งในเรือลำอื่นที่ตกแต่งอย่างน่าอัศจรรย์ และกั้นด้วยม่านอย่างรอบคอบจนเป็นไปได้ที่จะสามารถมองผ่านม่านจากภายในออกมาสู่โลกภายนอกได้ โดยที่คนภายนอกไม่เห็นคนภายใน

แม้เรื่องราวของเหตุการณ์ดังกล่าว จะไม่อาจระบุได้อย่างแน่ชัดว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามที่เสด็จฯ ทางชลมารคครั้งนั้น เป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช หรือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กันแน่

แต่เมื่อนำเหตุการณ์ในลำดับถัดไปจากนั้นมาสอบเทียบเคียงกับ พระราชพงศาวดารฯ พระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ของไทย พบว่า ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีการกล่าวถึง พระราชพิธีอาสวยุทธ และการต้อนรับคณะทูตกัมพูชา ที่เดินทางมาถวายเครื่องราชบรรณาการยังราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ที่พระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จฯ โดยชลมารค และการเสด็จออกรับทูตกัมพูชาในจดหมายเหตุสเปน

ดังนั้น พระเจ้าแผ่นดินสยาม ที่บาทหลวงนิกายฟรานซิสกันเห็นในกระบวนพยุหยาตรานั้น ก็คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครับ

และพระองค์เสด็จพร้อมกับ สมเด็จพระอัครมเหสีและ พระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุด

ซึ่งก็ควรจะทรงเป็นพระราชโอรส ที่ประสูติแต่สมเด็จพระอัครมเหสี ซึ่งโดยเสด็จในกระบวนเรือดังกล่าวนั่นเอง

พระราชโอรสพระองค์นี้ จึงควรมีฐานันดรศักดิ์เป็นที่ สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า รัชทายาทผู้มีสิทธิธรรมในราชบัลลังก์ศรีอยุธยา โดยจะเป็นรองก็แต่สมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกย่องให้มีพระราชฐานะสูงส่งเสมอด้วยพระองค์ 

นั่นหมายความว่า ถ้าทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นความจริง ไม่เพียงแต่เราจะได้รับความกระจ่างเพิ่มขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เกี่ยวแก่เรื่องราวของพระนางมณีจันทร์ และสมเด็จพระอัครมเหสีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่านั้นนะครับ

ข้อถกเถียงเรื้อรัง เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีพระราชโอรสหรือไม่นั้น ก็จะยุติลงในฉับพลันทันที ด้วยหลักฐานอันปรากฏในจดหมายเหตุสเปนฉบับนี้




และบางที นอกจากจะทรงมีพระราชโอรสถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้า หนึ่งหรือหลายพระองค์แล้ว (เพราะในจดหมายเหตุสเปนใช้คำว่า พระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุด”) สมเด็จพระอัครมเหสีในกระบวนเสด็จดังกล่าว ก็อาจจะทรงมีพระราชธิดาด้วย

เพราะจาก คำอธิบาย ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าช้างเผือกบุเรงนองมหาธรรมราชา กับพระนเรศ กษัตริย์อยุธยา ของ อูเส่งหม่องอู ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีกรุงย่างกุ้ง ที่ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ นำมารวมไว้ในภาคผนวกของหนังสือ พระสุพรรณกัลยา : จากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์ นั้น มีกล่าวไว้อย่างชัดเจนเลยครับ ว่า

เมงตุลอง ประสูติจากมารดาเจ้าช้างเผือก (คือ) มเหสีของอนรธาเมงสอ กษัตริย์เชียงใหม่ ณ เขาตุลอง ระหว่างทางไปเชียงใหม่ เหตุด้วยอาศัยเขาตุลองอันเป็นสถานที่ประสูติ จึงมีพระนามว่าเมงตุลอง เมื่อเจริญพระชันษา ได้อภิเษกสมรสกับพระธิดาองค์โตของพระนเรศ แล้วประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา

และ

พระนเรศ กษัตริย์อยุธยา ไม่เพียงเกี่ยวข้องเป็นน้องเขยของพระเจ้าบุเรงนองมหาธรรมราชาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องเป็นหลานเขยด้วย ทั้งยังเกี่ยวข้องเป็นพระญาติกับอนรธาเมงสอ กษัตริย์เชียงใหม่ พระโอรสของพระเจ้าบุเรงนองมหาธรรมราชาอีกด้วย เพราะพระธิดาองค์โตของพระนเรศ ได้อภิเษกสมรสกับเมงตุลอง พระโอรสองค์โตของอนรธาเมงสอ กษัตริย์เชียงใหม่

แต่น่าเสียดายครับ ที่เราไม่รู้อะไรอีกเลย เกี่ยวกับสมเด็จพระอัครมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดาทั้งสามพระองค์นี้ มากไปกว่าที่กล่าวไปแล้ว

เพราะในขณะที่จดหมายเหตุสเปน บันทึกจากผู้เห็นเหตุการณ์ที่ไม่รู้รายละเอียดอะไรมากนัก

คำยืนยันจากผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีกรุงย่างกุ้ง ก็มีพื้นฐานอยู่ในพระราชพงศาวดารพม่า ที่กล่าวถึงเรื่องพระราชธิดาในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอย่างผ่านๆ เช่นกัน

ด้วยเหตุนั้น แม้แต่ปริศนาที่ว่าพระนางมณีจันทร์ พระมณีรัตนา และสมเด็จพระอัครมเหสี ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น จะทรงเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ เราก็คงต้องปล่อยไว้ให้เป็นปริศนาให้นักประวัติศาสตร์โบราณคดีได้สืบค้นกันต่อไป

ส่วนบรรดาผู้นับถือสักการบูชาองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งไม่ใช่นักวิชาการนั้น ปริศนาดังกล่าวไม่มีความสำคัญเท่าใดนักหรอกครับ

เพราะได้ยอมรับกันเป็นส่วนมากอยู่แล้วว่า พระนางมณีจันทร์ ทรงเป็นพระองค์เดียวกับพระมณีรัตนา และทรงเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จดหมายเหตุวันวลิต ก็ยังคงเป็นหลักฐานที่ทำให้เราได้ทราบอีกด้วยว่า


เจดีย์องค์หนึ่งในวัดวรเชษฐาราม นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา
ที่มีผู้เชื่อว่า เป็นที่บรรจุพระอัฐิเจ้าขรัวมณีจันทร์
(ดนัย นาควัชระ : ภาพ)

ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคต เมื่อพ.ศ.๒๑๔๘ และสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นครองราชย์แทนนั้น พระนางมณีจันทร์ ในฐานะ
ชายาม่ายของพระเจ้าอยู่หัวในพระโกศ คือพระ Marit หรือพระองค์ดำได้เสด็จออกบวชเป็นชี เป็นเหตุให้คนทั่วไปพากันเรียกพระนางว่า เจ้าขรัวมณีจันทร์

แต่จะประทับอยู่ภายในพระราชฐานชั้นใน ของพระราชวังหลวง หรือจะเสด็จออกมาประทับภายนอก ก็ไม่มีหลักฐานที่จะสืบค้นได้

จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ ที่พระราชโอรสองค์หนึ่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ คือ เจ้าไล หรือ พระหมื่นศรีสรรักษ์ มีเหตุวิวาทกับพระยาออกนา จนต้องพระราชอาญาถึงกับประหารชีวิต

ก่อนถูกจับ เจ้าไลคงจะหนีพระราชอาญานั้น ไปขอพึ่งพระบารมีเจ้าขรัวมณีจันทร์ ซึ่งพระนางก็เสด็จไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเอกาทศรถ ทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้ จนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงยินยอมด้วยความเกรงพระทัย 

แสดงว่าแม้ในเวลานั้น พระบารมีของอดีตสมเด็จพระอัครมเหสี ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระโกศ ก็ยังมีอยู่มาก จนสามารถขอเว้นโทษตายให้แก่เจ้าไลได้นะครับ

แต่เจ้าไล จะมีความเกี่ยวข้องสนิทสนมกับเจ้าขรัวมณีจันทร์อย่างใด จึงได้ไปขอพึ่งพระบารมี ยังเป็นคำถามที่ยังไม่มีใครตอบได้จนทุกวันนี้

ทราบกันเพียงแต่ว่า ถ้าไม่มีเจ้าขรัวมณีจันทร์ ประวัติศาสตร์ไทยก็อาจไม่มีพระนามของ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ที่ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก ให้กับกรุงศรีอยุธยา ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ครองราชย์

และหลังจากเหตุการณ์เกี่ยวกับเจ้าไล เรื่องราวของเจ้าขรัวมณีจันทร์ก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เหลือเพียงความทรงจำที่เลือนราง ในหมู่คนทั่วไปที่สนใจประวัติศาสตร์ไทย

จนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีคนไม่มากนักที่ทราบว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงมีพระอัครมเหสีคู่พระทัยด้วยเหมือนกัน

ในขณะที่กลุ่มผู้สนใจทางฌานสมาบัติจำนวนหนึ่ง ได้ทราบกันมานานดังกล่าวแล้ว


พระสาทิสลักษณ์พระนางมณีจันทร์ จากการเข้าฌาน

และในหมู่คนเหล่านั้น ยังปรากฏว่า มีผู้สามารถติดต่อกับพระนางมณีจันทร์ หรือเจ้าขรัวมณีจันทร์ โดยทางสมาธิได้ด้วย โดยที่คนเหล่านั้นไม่มีพื้นฐานความรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระนางเลย

ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก และรู้กันในวงในของผู้เล่นฌานสมาบัติกลุ่มหนึ่งเท่านั้น มิได้มีการเผยแพร่ทั่วไปครับ


จนกระทั่ง อภิมหาภาพยนตร์อันอลังการที่สุด ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ได้นำเรื่องราวของพระนางมณีจันทร์ ซึ่งรับบทโดย ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ กลับมาสู่ความรับรู้ และความประทับใจ แก่ผู้ชมชาวไทยจำนวนมาก จนทุกวันนี้



(ขอขอบคุณ ภาพประกอบจากภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดย สหมงคลฟิล์ม)




………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


Sunday, July 2, 2017

เจ้าแม่มะลิกา นางพญาแห่งเวียงแม่อาย


พระรูปเจ้าแม่มะลิกา บนแท่นบูชาของ กิตติ วัฒนะมหาตม์

หากจะเอ่ยถึงเมืองโบราณที่ชื่อ เวียงมะลิกา ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ในปัจจุบันนี้

ผมว่า นอกจากคนแม่อายแล้ว คนที่อื่นคงไม่คุ้นเคยกันนักหรอกครับ

ร่องรอยหลักฐานของเมืองดังกล่าว ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่หมู่ ๘ ต.แม่อาย ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่อาย ๒ กิโลเมตร มีทางแยกออกจากทางหลวงแผ่นดินสายฝาง-ท่าตอน กิโลเมตรที่ ๑๖.๕๐ เป็นทางดินอัดแน่นระยะทาง ๒๐๐ เมตร มีคูเมือง และซากอิฐกำแพงดินเป็นที่สังเกต

คนแถบนั้นถือกันว่า เป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่นับถือกันทั่วทั้งอำเภอแม่อาย จนมีคำขวัญประจำอำเภอว่า

เมืองเจ้าแม่มะลิกา เป็นสง่าวัดท่าตอน น้ำพุร้อนเมืองงาม ล่องแพตามลำน้ำกก

ตำนานเวียงมะลิกา กล่าวไว้ว่า พระนางมะลิกา หรือที่คนแม่อายนิยมขานพระนามว่า เจ้าแม่มะลิกานั้นทรงเป็นราชบุตรีของ พระเจ้าฝางอุดมสิน กับ พระนางสามผิว แห่งเมืองฝาง ประสูติราวปี พ.ศ.๒๑๓๑



พระราชานุสาวรีย์ พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

โดยก่อนตั้งพระครรภ์ พระมารดาทรงสุบินว่า มีช้างเผือกนำดอกมะลิมาถวาย จึงขนานพระนามว่า มะลิกาตามพระสุบิน

ตามตำนานทั่วไปเล่ากันว่า เมื่อพระชันษาได้ ๑๘ ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม ได้มีราชบุตรต่างเมืองมาสู่ขอ แต่พระนางไม่สนพระทัย กลับทรงรบเร้าให้พระบิดาสร้างเวียง ให้พระนางเสด็จแยกไปประทับอยู่ต่างหาก

ในปี พ.ศ.๒๑๕๐ พระราชบิดาจึงได้ทรงสร้างเวียงใหม่พระราชทาน ตั้งอยู่บนเนินเขาทางทิศเหนือของเมืองฝาง มีประตู ๔ ด้าน ล้อมรอบด้วยกำแพงและคูเวียงอย่างมั่นคง

ส่วนเหตุที่จะทำให้เกิดการสร้างเวียงมะลิกา ในอีกมุขปาฐะหนึ่งที่ไม่เป็นทางการนั้น เล่ากันว่า พระนางสามผิวทรงมีพระพุทธปฏิมาแก่นจันทน์อยู่องค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ และทรงสักการบูชาทุกเช้าค่ำ

วันหนึ่งในระหว่างทรงพระครรภ์ ทรงขุ่นเคืองพระทัยด้วยเรื่องพระสนมเอกของพระเจ้าฝาง ครั้นถึงเวลาถวายธูปเทียนบูชาพระพุทธปฏิมา พระนางก็ยังมิอาจดับความขุ่นเคืองในพระหฤทัยนั้นได้ จึงทรงจุดเทียนถวายสักการบูชาพระพุทธปฏิมาแก่นจันทน์ไปพอเป็นพิธี

และเมื่อทรงสวดมนต์เสร็จ ก็ทรงละเลยไว้ด้วยความประมาท จนเทียนที่จุดไว้ล้มลง เผาไหม้พระโอษฐ์พระพุทธปฏิมา

รุ่งขึ้นเวลาเช้า เมื่อพระนางเสด็จออกจากที่บรรทมเข้าไปในหอพระตามปกติ ทรงทอดพระเนตรเห็นเทียนล้มลงเผาไหม้พระโอษฐ์พระพุทธปฏิมาแก่นจันทน์เช่นนั้น ก็ตกพระทัย ทรงสำนึกบาปที่ได้ทรงกระทำไปด้วยความประมาท แต่ก็ไม่อาจจะทรงแก้ไขสิ่งใดได้เสียแล้ว

จนเวลาต่อมา พระครรภ์ครบกำหนดทศมาส พระนางสามผิวก็ทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาผู้ทรงโฉมศิริโสภาคย์ พระฉวีวรรณผุดผ่องแม้นเหมือนพระมารดา แต่ก็มีตำหนิ คือริมพระโอษฐ์ล่างแหว่งไป ดุจเดียวกับพระโอษฐ์พระพุทธปฏิมาแก่นจันทน์ ที่ถูกเปลวเทียนไหม้ฉะนั้น

เมื่อราชบุตรีทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระเจ้าฝางทรงเกรงว่า จะเป็นที่อับอายแก่ไพร่ฟ้าพลเมือง จึงโปรดฯ ให้สร้างสวนหลวงขึ้นทางทิศเหนือของเวียงสุทโธ ใกล้กับเมืองฝาง และโปรดฯ ให้สร้างคุ้มหลวง ประกอบด้วยคูเมืองและป้อมปราการล้อมรอบ พระราชทานองค์ราชบุตรีให้เป็นที่ประทับสำราญ

สวนหลวงแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า เวียงมะลิกา

ในวันเดินทางเข้าสู่เวียงใหม่ พระนางได้พาไพร่พลส่วนหนึ่งติดตามไปด้วย พร้อมกันนั้นชาวบ้านที่อยู่ในเส้นทางขบวนเสด็จก็พากันอพยพโยกย้ายติดตามไปด้วยเช่นกัน ขบวนเสด็จของพระนางมะลิกาไปถึงเวียงใหม่เมื่อเวลาพลบค่ำ จึงได้ตั้งชื่อเวียงใหม่นี้ว่า เวียงสนธยา

บางตำนานก็กล่าวว่า พระนางมะลิกาทรงเป็นผู้สร้างเวียงแห่งนี้ขึ้นด้วยพระองค์เอง เมื่อราวๆ ปีพ.ศ.๒๑๙๓ แตกต่างจาก พ.ศ.๒๑๕๐ ที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ถึง ๔๓ ปี

เมื่อไปถึงที่นั่นแล้ว พระนางมะลิกาจึงทรงได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ พระนางทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม และพระปรีชาสามารถ ทำให้พสกนิกรของพระนางอยู่เย็นเป็นสุข บ้านเมืองก็มีความเจริญรุ่งเรือง เช่นเดียวกับเมืองฝางของพระราชบิดา

แต่ในทรรศนะของตำนานพื้นบ้าน พระนางมะลิกานั้นไม่ทรงพอพระทัยในเรื่องของการมีคู่ครองจริงๆ ครับ 

และพระนางยังทรงใช้เวียงมะลิกา เป็นเสมือนโลกส่วนพระองค์ ที่จะตัดขาดจากบุรุษเพศโดยสิ้นเชิงเสียอีก

ดังที่เล่ากันว่า ในเวียงมะลิกานั้นเป็นเหมือนนครลับแล หรือเมืองแม่หม้าย คือไม่มีบุรุษเพศเลย ผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในเมืองล้วนแต่เป็นสตรีเพศ 

แม้แต่นักรบสำหรับป้องกันเมือง พระแม่เจ้าก็ทรงฝึกฝนจากสตรีที่มีรูปลักษณะแข็งแรงกำยำ เป็นทะแกล้วคนหาญของเวียงมะลิกา

ทั้งยังเล่าลือกันไปทั่ว ว่าเวียงมะลิกามีทหารหญิงที่เชี่ยวชาญการธนู ฝีมือแม่นยำ จนเป็นที่ครั่นคร้ามของเหล่าอริราชศัตรูยิ่งนัก
         
ด้วยการเล่าขานเกี่ยวกับสภาพภายในเวียงมะลิกา ดังเช่นที่กล่าวมาแล้วนี่ละครับ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ของพระนางมะลิกา ผู้ทรงพระสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือ แต่ไม่ทรงปรารถนาการมีคู่ครอง ทั้งยังทรงเป็นนางพญาผู้นำกองทัพนักรบหญิงที่มีชื่อเสียง

จึงจินตนาการกันว่า พระนางคงจะเกล้าพระเกศาอย่างรัดกุม และทรงฉลองพระองค์เยี่ยงชาย ซ้อมเพลงดาบและศิลปะการยิงธนู อยู่ในท่ามกลางขุนพลหญิงของพระนาง



พระรูปเจ้าแม่มะลิกา ขนาดบูชา จัดสร้างโดยโรงเรียนแม่อายวิทยาคม

แทนที่จะเสด็จอยู่ในพระตำหนัก เรียงร้อยมวลบุปผชาติเป็นมาลัยสวยงาม หรือทรงงานฝีมือชาววังชนิดต่างๆ ตามแบบเจ้านายผู้หญิงทั่วไปในสมัยโบราณพึงกระทำ

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีตำนานเล่าขานกันว่า ราชบุตรพระองค์หนึ่งของเจ้าผู้ครอง เวียงภูก่ำ ได้สดับข่าวเกี่ยวกับพระนางมะลิกา ก็เกิดหลงรักแทบไม่เป็นอันกินอันนอน ได้ทรงอ้อนวอนพระราชบิดา ขอเสด็จไปเวียงมะลิกาเยี่ยงสามัญชนคนค้าขาย

พระเจ้าภูก่ำก็ทรงอนุญาต แล้วดำรัสสั่งอำมาตย์คนสนิทให้ตระเตรียมม้าต่างอัญมณีเป็นสินค้า โดยเสด็จพระราชบุตร

พอข่าวการเสด็จฯ ของราชบุตรเวียงภูก่ำทราบถึงเจ้าแม่มะลิกา พระนางก็ทรงเกิดความอับอายในพระรูปของพระนางเองที่มีตำหนิอยู่ 

ในวันที่ราชบุตรกำหนดเข้าเฝ้าถวายอัญมณี พระนางจึงทรงหลบไปสรงสนานน้ำในลำห้วย และโปรดฯ ให้พระพี่เลี้ยงชื่อ นางเหลี่ยว อยู่เวียงมะลิการับเสด็จองค์ราชบุตร

เมื่อราชบุตรเวียงภูก่ำ ในรูปของนายวาณิชเข้าเฝ้า พระพี่เลี้ยงก็ทูลว่า เจ้าแม่ไม่ทรงปรารถนาพบเห็นชายใด ๆ และไม่ต้องประสงค์ในการได้ยินเรื่องเช่นนี้ พ่อค้าจำแลงจึงต้องลากลับเวียงภูก่ำด้วยความโทมนัส

เล่ากันว่า ขณะที่พระนางมะลิกาสรงสนานอยู่ น้ำในลำห้วยก็กลายเป็นสีเลือดด้วยละอายพระทัย คนทั้งหลายจึงเรียกน้ำห้วย นั้นว่า แม่อายและกลายเป็นชื่อตำบลมาตั้งแต่บัดนั้น

ซึ่งเหตุที่เป็นเช่นนี้ ผมว่า เป็นการผูกเรื่องขึ้นมาโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อจะคลายข้อสงสัยของคนทั่วไป ในเรื่องที่ว่า เหตุใดพระนางจึงไม่ทรงมีคู่ครองมากกว่าครับ

ต้นสายปลายเหตุที่แท้จริง น่าจะเกิดจากการที่พระนางทรงเป็นราชนารีที่สนใจเรื่องงานเรื่องการ มากกว่าคู่ครอง และก็ทรงพอพระราชหฤทัย กับความเป็นอิสระ ซึ่งสามารถกำหนดทุกสิ่งได้ด้วยพระนางเอง

พระนางทรงใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางพระสหาย และข้าราชบริพารที่เป็นเพศเดียวกัน เพราะรู้ใจกันและสะดวกคล่องตัว สำราญพระอิริยาบถได้มากกว่า จนทำให้ทรงรำคาญ หรืออึดอัดพระทัย ที่จะต้องข้องแวะกับเพศตรงข้ามในเชิงชู้สาว

นี่เป็นธรรมชาติ และเป็นบุคลิกลักษณะของสตรีประเภทที่มักจะเป็นผู้นำในกิจการต่างๆ อยู่เสมอครับ

สตรีเหล่านี้ล้วนไม่สนใจการมีคู่ชีวิต และเรื่องครอบครัว เพราะไม่ชอบเรื่องจุกจิกหยุมหยิมไร้สาระอีกมากมายที่จะตามมา

นอกจากนั้น ด้วยพื้นฐานที่ประสบความสำเร็จด้วยตนเอง ก็ทำให้มักจะไม่อดทน หรือทำให้ยอมรับคู่ครองที่ด้อยความสามารถกว่าตนได้โดยยาก

บางที อาจมีเหตุผลด้านการเมืองการปกครองด้วยละครับ

พระนางทรงปกครองเมืองลูกหลวง ที่อยู่ใกล้เมืองฝางของพระราชบิดา หากพระนางทรงมีคู่ครอง เวียงมะลิกาของพระนางก็อาจต้องตกอยู่ใต้อำนาจของที่พระสวามีของพระนางทรงถือกำเนิด

ซึ่งไม่เป็นการดีแน่นอน หากเมืองดังกล่าวนั้นจะมีข้อพิพาทกับเมืองฝางในอนาคต

หาเป็นเพราะทรงรังเกียจบุรุษเพศ ด้วยมีปมอันใดในพระราชหฤทัย หรือแม้แต่เพราะความอับอาย ในพระรูปที่มุขปาฐะพื้นบ้านกล่าวว่ามีตำหนิไม่

ประจักษ์พยานในเรื่องนี้ ก็คือชาวแม่อายที่เคารพศรัทธาในพระนาง ทั้งหญิงและชาย ต่างได้รับการปกป้อง และประทานพรจากพระนางเท่าเทียมกัน มาตลอดระยะเวลานานนับร้อยๆ ปี จนพระนางทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคนที่นั่น มาจนทุกวันนี้

พระนางไม่เคยทรงเลือกว่า จะตอบรับเฉพาะคำอธิษฐานของผู้หญิงเท่านั้นเลยครับ

อีกทั้งเมื่อดูจากอาณาเขตของเวียงมะลิกา ตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันแล้ว ก็เห็นได้ว่าเป็นเวียงขนาดใหญ่ เกินกว่าที่จะมีประชากรเป็นหญิงล้วนๆ

จึงทำให้เชื่อได้ว่า เวียงดังกล่าวนี้ แท้ที่จริงก็คงประกอบด้วยประชาชนทั้งหญิงและชาย เช่นเดียวกับบ้านเมืองทั่วไปนั่นเอง

เพียงแต่ในส่วนของพระราชวังนั้นต่างหาก ที่คงมีแต่สตรีเพศเป็นข้าราชสำนัก

และขณะที่กองทหารรักษาเวียงนั้น คงจะมีทั้งหญิงและชายเช่นเดียวกับพลเมืองทั่วไป แต่กองทหารที่มีชื่อเสียงที่สุด ก็อาจจะเป็นหญิงล้วนก็เป็นได้


พระรูปจ้าแม่มะลิกา ของโรงเรียนแม่อายวิทยาคม
องค์นี้ทำสีผิวใหม่ด้วยการชุบแบบ Antique Flat

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๗๒ พระเจ้าสุทโธธรรมราชา แห่งกรุงรัตนปุระอังวะ ยกทัพมาตีเมืองฝาง พระนางมะลิกาทรงนำไพร่พลของพระนางไปช่วยพระราชบิดา 


ซึ่งแม้จะเป็นกองทหารหญิงขนาดเล็ก ก็เป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพมาก จนถึงขนาดช่วยเมืองฝางยันทัพพม่าไว้ได้นานถึง ๓ ปี

แต่ในที่สุดก็ยับยั้งไม่ไหว เพราะกำลังที่น้อยกว่า ประกอบกับพม่าใช้ยุทธวิธีล้อมเมืองฝาง จนชาวเมืองพากันอดอยากเสียขวัญกำลังใจ ไม่อาจจะทำการสู้รบได้อีกต่อไป พระเจ้าอุดมสินกับพระนางสามผิว ไม่ทรงยอมจำนนต่อข้าศึก ได้กระโดดลงน้ำบ่อซาววาสิ้นพระชนม์

เล่ากันต่อไปว่า ด้วยความสะเทือนใจในขัตติยะมานะ ของกษัตริย์และราชินีแห่งเมืองฝาง ทำให้กษัตริย์พม่าทรงละทิ้งเมืองฝางทั้งที่ชนะแล้ว และนำทัพกลับไปโดยมิได้ยึดครอง

ส่วนพระนางมะลิกานั้น บางตำนานก็กล่าวว่า ทรงนำทหารช่วยพระราชบิดาพระราชมารดาเสด็จลี้ภัยไปได้ครับ

แต่ส่วนใหญ่เล่าว่า หลังสิ้นสงครามเมืองฝางแล้ว ก็ทรงพาไพร่พลที่เหลือกลับเวียงสนธยา และครองเวียงต่อไปอย่างสงบสุข ตราบจนทิวงคตในปี พ.ศ.๒๑๙๐ พระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา รวมระยะเวลาที่ครองราชย์ได้ ๔๐ ปี

หลังจากองค์นางพญาเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว เวียงสนธยาขาดผู้นำ บ้านเมืองเริ่มระส่ำระสาย เกิดโจรปล้นชิงกัน และโรคร้าย ชาวเมืองจึงได้อพยพหลบหนีไปที่อื่น จนกลายเป็นเมืองร้างตั้งแต่นั้น

เวียงสนธยา หรือเวียงมะลิกา จึงนับเป็นเวียงที่อายุไม่ยืนยาวนัก คือคงอยู่เพียงชั่วระยะเวลาการครองราชย์ของพระนางมะลิกา ในฐานะกษัตริยาเพียงพระองค์เดียว


เหรียญเจ้าแม่มะลิกา ที่ระลึกครอบรอบ ๓๐ ปี
โรงเรียนแม่อายวิทยาคม พ.ศ.๒๕๔๗

ทีนี้ ก็มีคนเป็นอันมากสงสัยว่า พระนางมะลิกาทรงมีพระองค์จริงหรือไม่?

คำถามเช่นนี้ ผมว่าคงยากแก่การตอบ ในช่วงเวลาที่ผ่านมานะครับ

แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ ที่เรารู้กันแล้วว่า พระราชบิดา และพระราชมารดาของพระนาง คือพระเจ้าฝางและพระนางสามผิวนั้น ทรงมีพระองค์อยู่จริง ในยุคสมัยที่ตรงกับตำนานดังที่กล่าวแล้ว ภายใต้พระนามว่า พญาพิมมะสาร กับ เจ้านางรุ้งแสง มีจารึกบนโบราณวัตถุร่วมสมัยกันเป็นหลักฐาน

พระนางมะลิกา ในฐานะที่เป็นพระราชธิดาของทั้งสองพระองค์นั้น ก็ควรจะทรงเคยมีพระชนม์ชีพอยู่จริงในช่วงเวลาเดียวกันนั้นด้วย

เพียงแต่ยังหาหลักฐานทางโบราณคดี ที่ยืนยันอย่างชัดเจน เหมือนพระราชบิดาและพระรมารดาของพระนางไม่ได้เท่านั้น

ในขณะที่ผู้ศรัทธากราบไหว้นับถือพระนางมาตลอด และได้พบปาฏิหาริย์ของพระนางมาแล้วเป็นอันมาก ไม่มีความสงสัยอันใดในเรื่องนี้แม้แต่น้อยครับ

และด้วยความศรัทธานั้น ชาวอำเภอแม่อาย ก็ ได้ร่วมกันสร้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้นสองแห่ง ดังที่ยังคงปรากฏในปัจจุบัน


พระราชานุสาวรีย์ ที่ โรงเรียนแม่อายวิทยาคม

พระราชานุสาวรีย์แห่งแรก ตั้งอยู่ใน โรงเรียนแม่อายวิทยาคม ซึ่งในอดีตเคยเป็นเวียงสนธยา หรือเวียงมะลิกา เป็นแท่นหินอ่อนทรงสูง ประดิษฐานพระรูปพระนางมะลิกาทำด้วยโลหะรมดำ ปิดทองเฉพาะลายผ้าและเครื่องประดับ

พระรูปนี้ทรงเกล้าพระเกศามวย สวมรัดเกล้าเท่านั้น ไม่ทรงสวมเครื่องถนิมพิมพาภรณ์อื่นใด นอกจากกุณฑล

ฉลองพระองค์ก็เป็นแบบนักรบ คือเป็นเสื้อแขนยาวหลวมๆ มีลวดลายที่ปกเสื้อ อินทรธนู สาบเสื้อ และปลายแขนเสื้อ ทรงสนับเพลามีลายเชิง และสวมพระภูษาทรงทับ พระหัตถ์หนึ่งถือดาบ อีกพระหัตถ์ถือคันศร ทรงสะพายแล่งธนู สวมรองพระบาทเชิงงอน ท่วงท่าลีลาดูอาจหาญพร้อมจะออกศึก

และผู้ออกแบบพระราชานุสาวรีย์ ก็ปั้นหล่อพระพักตร์ของพระนาง ให้ทรงมีพระสิริโฉมงดงามบริบูรณ์ครับ มิได้มีข้อบกพร่องตามตำนานแต่อย่างใด


งานประเพณีบวงสรวง และสรงน้ำเจ้าแม่มะลิกา เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๘

ณ พระราชานุสาวรีย์แห่งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี ทางที่ว่าการอำเภอแม่อายจะจัดพิธีบวงสรวงและสรงน้ำเจ้าแม่มะลิกา มีประชาชนทุกชนเผ่าในเขต อ.แม่อาย และใกล้เคียงกว่า ๑๕,๐๐๐ คน ร่วมขบวนแสดงศิลปวัฒนธรรมประจำเผ่า

เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวที และความเคารพรักที่ชาวอำเภอแม่อายมีต่อองค์เจ้าแม่มะลิกาครับ




ส่วนพระราชานุสาวรีย์อีกแห่งหนึ่งนั้น ตั้งอยู่ในบริเวณ กองบังคับการควบคุมหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ ๒ อ.แม่อาย จ. เชียงใหม่ 

พระรูปบนพระราชานุสาวรีย์ มีลักษณะอย่างเดียวกับที่โรงเรียนแม่อายวิทยาคมทุกประการ แต่มีข้อได้เปรียบ คืออยู่ในภูมิทัศน์ที่สวยงามกว่า

ปัจจุบัน ทางการได้เปิดให้ผู้ศรัทธาเข้าไปกราบไหว้สักการะพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้ได้โดยสะดวกทุกวัน โดยไม่มีระเบียบบังคับในการผ่านเข้าออก ที่เข้มงวดเหมือนพื้นที่ทหารอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีศาลของพระนางมะลิกา เป็นศาลไม้เล็กๆ ฝีมือชาวบ้าน ตั้งอยู่บนดอยสูงขึ้นไป ไม่ห่างไปจากเวียงมะลิกาในอดีตนัก


ศาลเจ้าแม่มะลิกา บนดอย ที่มีมาก่อนการสร้างพระราชานุสาวรีย์

ภายในศาลไม้ดังกล่าว ไม่มีสิ่งสำคัญอะไร นอกจากรูปถ่ายพระราชานุสาวรีย์ที่โรงเรียนแม่อายวิทยาคม กับรูปถ่ายพระราชานุสาวรีย์พระเจ้าฝาง-พระนางสามผิว

ชาวบ้านเล่าว่า ศาลนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวแม่อายแวะเวียนกันขึ้นไปสักการะเจ้าแม่มะลิกา ก่อนที่จะมีการสร้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้นด้านล่าง ปัจจุบันก็มีแต่ชาวบ้านใกล้เคียงเท่านั้นละครับ ที่ยังคงไปกราบไหว้และดูแลอยู่


กล่าวสำหรับดอกมะลิกา ซึ่งเป็นที่มาของพระนามของพระแม่เจ้าองค์นี้ เป็นดอกมะลิที่หาดูยากชนิดหนึ่งครับ ปัจจุบันถ้าไม่ใช่ผู้สนใจดอกไม้ ก็คงไม่ค่อยได้พบเห็นกันเท่าใดนัก



………………………

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


Total Pageviews