ตำนานพระนางเลือดขาวที่โด่งดังที่สุดนั้น คือ พระนางมะฮ์ซูรีแห่งลังกาวี
และเป็นตำนานที่คนไทยเรารู้จักกันทั่วไป
จนแทบจะไม่มีใคร นอกจากคนนครศรีธรรมราช ภูเก็ต
และพัทลุง ที่รู้กันว่าเมืองไทยก็มีพระนางเลือดขาว
และตำนานพระนางเลือดขาว
แม่เจ้าอยู่หัวแห่งเมืองนครศรีธรรมราช ก็เก่าแก่
และศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อยไปกว่าพระนางเลือดขาวแห่งลังกาวี
อาจจะยิ่งกว่าด้วยซ้ำไปนะครับ
เล่ากันว่า พระนางเลือดขาวประสูติเมื่อประมาณ
พ.ศ.๑๗๔๕ เป็นบุตรสาวคหบดีพัทลุงเชื้อสายลังกา (คุลา) ที่มาลงหลักปักฐานอยู่ที่บ้านเก่าหรือบ้านฆ็อง
ส่วนมารดาก็เป็นคนบ้านเก่านั่นเอง พระนางทรงมีพี่น้อง ๒ คน คือ ทวดโปชี และ
พ่อท่านขรัว
พระนามเดิมของพระนางเลือดขาวนั้น
ไม่เป็นที่ทราบกันแน่ชัด แต่จากคำบอกเล่าบางกระแสนั้นทรงมีพระนามว่า กังหรี
พระนางเลือดขาว ทรงมีพระจริยาวัตรโอบอ้อมอารี
เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นที่รักของบุคคลทั่วไปตั้งแต่เยาว์วัย
เมื่อเจริญพระชันษาขึ้นเป็นสาวก็ทรงงดงามด้วยเบญจกัลยาณี คือ ผมงาม เนื้องาม
ฟันงาม ผิวงาม และวัยงาม
แต่สิ่งหนึ่งที่แปลกก็คือ พระนางทรงมีพระโลหิตเป็นสีขาวมาตั้งแต่กำเนิดครับ
บิดามารดาและผู้ใกล้ชิด
ก็ล้วนแต่ทราบเรื่องนี้มาก่อนแล้ว แต่พากันเก็บเป็นความลับ เพราะถ้าเผยแพร่ออกไป ก็ไม่ทราบว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายต่อพระนาง
จนกระทั่งวันหนึ่ง ในหมู่บ้านมีงานใหญ่
พระนางได้ไปช่วยงานและทำหน้าที่เจียนหมากพลู
จะเป็นด้วยบุพเพสันนิวาส ที่พระนางได้เกิดมามีบุญหนักศักดิ์ใหญ่
จะได้เป็นเจ้าคนนายคนต่อไปก็เหลือที่จะคาดเดาได้นะครับ ขณะที่พระนางทรงเจียนหมาก
เจียนพลู กรรไกรได้หนีบนิ้วของพระนาง จนพระโลหิตไหลออกมาปรากฎเป็นสีขาว ต่อหน้าประชาชนที่มาร่วมงาน
ข่าวบุตรสาวของคหบดีในหมู่บ้านมีเลือดเป็นสีขาวเล่าลือออกไปอย่างรวดเร็ว
จากบ้านต่อบ้าน ตำบลสู่ตำบล เมืองสู่เมือง
ในที่สุดก็ไปถึงพระกรรณของ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่
๕ หรือ พระเจ้าสีหราช กษัตริย์แห่งกรุงตามพรลิงค์ในขณะนั้น ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองพระเวียง
rพระรูปพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ภายในวัดแม่เจ้าอยู่หัว ภาพโดย ดนัย นาควัชระ |
แต่เวลานั้น พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงติดราชการสงคราม ครั้นเสร็จศึกแล้ว คืนหนึ่งพระองค์จึงทรงพระสุบิน เห็นสตรีหนึ่งมีลักษณะงดงามตามเบญจกัลยาณี มีใจกุศล ซึ่งเป็นคู่บุญบารมีของพระองค์ พำนักอยู่ทางทิศใต้
ในฝันนั้น มีเสียงบอกว่า
ให้เสด็จไปตามเส้นทางหาดทรายแก้วจึงจะพบ
และนางไม่เหมือนสตรีโดยทั่วไปคือมีเลือดสีขาว
เมื่อตื่นพระบรรทม พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจึงโปรดฯ
ให้จัดขบวนค้นหาพระนางตามพระสุบินและคำเล่าลือ ไปทางทิศใต้
จนกระทั่งไปถึงสำนักพ่อท่านขรัว ซึ่งเป็นพี่ชายของพระนางเลือดขาวและได้บวชเป็นพระภิกษุ
เป็นที่นับถือของผู้คนในแถบนั้น
พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงเข้าไปนมัสการพ่อท่านขรัว
และขอพักแรมที่สำนักพ่อท่าน ในระหว่างนั้น น้องสาวของพ่อท่านคือ พระนางเลือดขาว
ก็มารับเสด็จด้วย พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระนางมีความงดงามตามลักษณะเบญจกัลยาณี
เหมือนที่ทรงพระสุบินไว้ ก็พอพระทัย
แต่ก็ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่พระองค์ทรงพระสุบินเอาไว้
แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ คือเลือดสีขาว
ซึ่งก็ด้วยบุญบารมีที่พระนางเลือดขาว จะได้ทำให้พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงเห็นประจักษ์ตามพระสุบินนิมิตนั่นแหละครับ
ทำให้ในระหว่างที่พระนางทรงทอผ้าถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชนั้น ตรน (หรือกระสวย ทำจากปล้องไม้ไผ่
มีความคมมาก) ได้บาดนิ้วของพระนาง
เมื่อพระเจ้าศรีธรรมราชทรงทอดพระเนตรเห็นพระโลหิตของพระนางออกมาเป็นสีขาวเช่นนั้น
ทำให้พระองค์ทรงปิติในพระทัยอย่างหาที่เปรียบมิได้
พระองค์จึงทรงเอ่ยพระโอษฐ์ขอพระนางต่อพ่อท่านขรัว
พ่อท่านมิอาจทัดทานได้ จึงยอมให้เป็นไปดังพระราชประสงค์
เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราชเสด็จกลับสู่เมืองพระเวียงแล้ว
พระองค์จึงทรงมีพระราชโองการให้พราหมณ์ปุโรหิตจัดขบวนหลวงไปสู่ขอพระนางเลือดขาวตามประเพณี
และจากลูกสาวคหบดีสามัญ พระนางเลือดขาวก็ได้เข้าไปเป็น
พระนางเมือง หรือพระสนม ในพระราชวังหลวงแห่งเมืองพระเวียง
แต่ชีวิตใหม่ในพระราชวังหลวงซึ่งใหญ่โตอัครฐาน
ก็มิได้สุขสบายอย่างที่คนทั่วไปคิดกันหรอกครับ
พระรูปพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช และพระนางเลือดขาว ภายในวัดพระมหาธาตุราชวรวิหาร จ.นครศรีธรรมราช |
เพราะพระนางเลือดขาวทรงมีพระรูปเลอโฉมยิ่งกว่าหญิงอื่นใดในวัง
ทำให้สนมอื่นไม่พอใจ พระนางจึงทรงถูกกลั่นแกล้ง ถูกกล่าวหาต่างๆ นานาอยู่เสมอ
แม้กระนั้น พระนางก็ทรงใช้ความอดทน
ถวายการปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าศรีธรรมโศกราชด้วยความจงรักภักดีมิได้ว่างเว้น
อีกทั้งได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และได้ทำคุณประโยชน์ให้บ้านเมืองมากมาย
พระจริยาวัตรก็ยังคงไว้ซึ่งความงดงามไม่ถือพระองค์
สมัยเมื่อเป็นลูกสาวคหบดีเคยวางพระองค์กับผู้อื่นอย่างไร
เมื่อเป็นพระสนมแล้วก็ยังทรงกระทำเช่นนั้น
ครั้นเสด็จไปที่ใดก็ประทานพระเมตตาช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากอยู่เนืองๆ
เป็นที่รักใคร่ของไพร่ฟ้าประชาชนโดยทั่วหน้า
พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้ทรงประจักษ์ในคุณความดีของพระนางเช่นนี้
จึงทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระนางเลือดขาวขึ้นเป็นพระอัครมเหสี
ด้วยเหตุนี้คนนครฯ โดยทั่วไปจึงนิยมเรียกว่า พระนางเลือดขาวแม่เจ้าอยู่หัว
หมายถึงผู้อยู่ในฐานะพระมเหสีเอกของพระเจ้าอยู่หัว
แต่ด้วยพระราชฐานะเช่นนี้แหละครับ
ยิ่งทำให้พระนางโดดเด่นกว่าสตรีอื่นใดภายในวังหลวง
และการที่ทรงเป็นเอกอัครชายาผู้เป็นที่โปรดปรานเพียงพระองค์เดียว
เท่ากับยิ่งสร้างความไม่พอใจให้สนมกรมวังฝ่ายอื่นอย่างไม่อาจจะทานทนได้
ไม่ว่าจะทำสิ่งใด พระนางจึงทรงถูกกลั่นแกล้งขัดขวางหนักขึ้นไปอีก
แต่องค์แม่เจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงตอบโต้หรือทำร้ายผู้หนึ่งผู้ใด
แม้ว่าจะทรงมีอำนาจและอยู่ในฐานะที่จะเพ็ดทูลพระเจ้าแผ่นดินได้มากที่สุดก็ตาม
พระนางทรงเอาชนะด้วยหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
และถ้าจะมีสิ่งใดที่พระนางทรงเห็นว่าควรทำ
พระนางก็ใฝ่พระทัยอยู่แต่การทำนุบำรุงพระศาสนามากกว่าอย่างอื่น
พระรูปขนาดบูชา ๕ นิ้ว พระนางเลือดขาว แม่เจ้าอยู่หัว ออกที่วัดแม่เจ้าอยู่หัว ทำได้ไม่งามแต่เป็นของหายาก องค์นี้เป็นสมบัติของ คุณดนัย นาควัชระ |
เล่ากันว่า
ในระหว่างที่พระนางเลือดขาวทรงเป็นพระมเหสีของพระเจ้าศรีธรรมโศกราชนั้น
พระนางทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ มากมาย
ทั้งในเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองใกล้เคียง
วัดที่พระนางโปรดฯ ให้สร้างเป็นวัดแรกคือ วัดแม่เจ้าอยู่หัว
ทรงสร้างไว้ ณ ภูมิสถานเดิมของพระนางเมื่อประมาณ พ.ศ.๑๗๗๕ ขณะพระนางทรงมีพระชนมายุ ๓๐ พรรษา
และด้วยเหตุที่ทรงใฝ่พระทัยในการบุญการกุศล
ทำนุบำรุงพระศาสนาจนพระนามปรากฏเลื่องลือ เป็นที่สรรเสริญไปในหมู่มิตรประเทศนั่นเอง
ทำให้พระนางทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย
ให้เสด็จไปลังกา แทนพระองค์พระเจ้าศรีธรรมโศกราช เพื่อทรงอัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์
มายังนครศรีธรรมราช ในราวๆ ปี พ.ศ.๑๗๙๐ พระชนมายุได้ ๔๕ พรรษา
การที่ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้
ยิ่งทำให้พระบารมีของพระนางในฐานะนางพญาแห่งอาณาจักรตามพรลิงค์
ผู้ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ได้แพร่หลายขจรขจายไปทั่วทุกดินแดนคาบสมุทร
ขึ้นไปถึงแผ่นดินใหญ่ของสยามประเทศ
เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในทุกแว่นแคว้นเลยทีเดียว
จนปีพ.ศ.๑๗๙๙ พระนางซึ่งทรงมีพระชนมายุได้ ๕๕
พรรษาก็ทรงรับพระราชสาส์นทูลเชิญเสด็จไปยังกรุงสุโขทัย เพื่อจัดระเบียบสงฆ์ฝ่ายฆราวาสที่นั่น
พระนางประทับอยู่ที่สุโขทัยนานถึง ๕ ปี จึงเสด็จกลับเมืองนครศรีธรรมราช
แต่การมีชื่อเสียงในทางธรรมของแม่เจ้าอยู่หัว
ประกอบกับพระชนมายุที่เข้าเขตชราภาพแล้ว ก็มิได้ทำให้การประทับอยู่ในวังของพระนาง สงบสุขราบรื่นกว่าที่เคยเป็นมาเมื่อยังรุ่นสาว
เหรียญเสมาแม่เจ้าอยู่หัว วัดแม่เจ้าอยู่หัว รุ่นแรก พ.ศ.๒๕๓๓ เนื้อทองแดง |
เพราะแม้จะทรงมีพระชนมายุถึง ๖๐ พรรษาแล้ว
พระนางก็ยังทรงพระสิริโฉมงดงามอยู่น่ะครับ
อีกทั้งการที่พระนางยังคงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าศรีธรรมโศกราชอย่างไม่เสื่อมคลาย
ยิ่งนานวันก็ยิ่งเป็นการสั่งสมพอกพูนความอิจฉาริษยาในหมู่สนมอื่นๆ ให้มากขึ้นตามไปด้วย
จนนับวัน พระนางยิ่งทรงถูกกลั่นแกล้ง
ถูกเหน็บแนมเสียดสีจากบรรดาพระชายาและนางสนมอื่นๆ มากขึ้นทุกที
ซึ่งแม่เจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบในพระหฤทัยอยู่แล้ว
แต่พระนางก็ยังทรงยึดมั่นในคุณธรรมความดีเรื่อยไป มิได้ตอบโต้ให้ร้ายใคร
เพียงแต่เมื่อได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดทุกครั้ง
พระนางก็จะทรงขอพระราชทานสิ่งหนึ่งจากพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
นั่นคือ หากพระนางสิ้นพระชนม์เมื่อใด
ขอให้พระองค์นำพระศพกลับบ้านเกิดของพระนาง คือสำนักพ่อท่านขรัว
และพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงรับปากกับพระนางว่า
หากพระนางทรงมีอันเป็นไปจริงๆ เมื่อใด
ก็จะทรงสร้างอนุสรณ์สถานให้แก่พระนางที่บ้านเกิด อย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติเมื่อนั้น
ต่อมา ข่าวความเดือดร้อนที่พระนางถูกกลั่นแกล้งทราบถึงพ่อท่านขรัว
ท่านจึงเดินทางไปยังเมืองนครศรีธรรมราช
เพื่อขอบิณฑบาตรต่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราชที่หน้าวัง
เหรียญพ่อท่านขรัว วัดบ่อล้อ พ.ศ.๒๕๒๕ แสดงถึงความศรัทธาที่คนนครฯ มีต่อพี่ชายขอวงพระนางเลือดขาวท่านนี้ จนปัจจุบัน ภาพจาก http://www.dd-pra.com |
แต่เมื่อนางสนมกรมวังทั้งหลายพากันมาตักบาตร
พ่อท่านขรัวไม่เปิดบาตรรับ สร้างความสงสัยให้แก่บรรดานางสนมเหล่านั้นเป็นอย่างมาก
และพอรุ่งเช้าวันต่อมา ท่านไปบิณฑบาตรอีก
แต่เมื่อพวกนางสนมออกมาจะตักบาตร ท่านก็ยังคงไม่เปิดบาตรรับ
พวกนางสนมกรมวังจึงพากันไปกราบทูลต่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช
พระองค์จึงเสด็จไปทรงบาตรด้วยพระองค์เอง
ซึ่งพ่อท่านขรัวก็ไม่เปิดบาตรรับอีกเหมือนเคย
พระองค์จึงตรัสถามพ่อท่านขรัวว่า
พระคุณเจ้าประสงค์สิ่งใดจงบอก
พ่อท่านขรัวถวายพระพรว่า
“อาตมาขอบิณฑบาตรรับแม่เจ้าอยู่หัวกลับไปอยู่บ้านเดิม
เพราะทราบว่าพระนางมีความเดือดร้อน ถูกกลั่นแกล้งตลอดเวลา
กอปรกับผู้คนในท้องที่นั้นหวังพึ่งบารมีของพระนาง
หากพระองค์ไม่อนุญาตอาตมาก็ไม่ขัดข้อง”
จากนั้นพ่อท่านขรัวก็ถอยหลังไป ๓
ก้าวและเปิดบาตร
พระเจ้าศรีธรรมโศกราชก็ทรงบาตร
พร้อมกับทรงมีรับสั่งว่า ทรงอนุญาต แต่จะให้แม่เจ้าอยู่หัวผู้เป็นพระอัครมเหสีเสด็จกลับไปประทับในบ้านคหบดีดังเดิมนั้นเป็นไปไม่ได้
ขอเวลาสำหรับสร้างวังให้พระนางที่บ้านเกิดให้เสร็จก่อน
พ่อท่านขรัวได้ทราบเช่นนั้น
ก็เดินทางกลับสำนักของท่านไป
พระเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงโปรดฯ ให้ช่างหลวงพากันไปสร้างวังใกล้ภูมิสถานเดิมของพระนาง
ณ ริมฝั่งแม่น้ำปากพนัง เพราะสะดวกในการเดินทางในทางการเดินเรือ
ตำนานเล่าว่า ขณะที่สร้างวังอยู่นั้น
พระนางได้เสด็จไปมาระหว่างเมืองนครศรีธรรมราช กับวังที่สร้างใหม่อยู่เสมอ
บางครั้งประทับที่วังชั่วคราวซึ่งกำลังสร้างโดยมีทหารคือ ตาขุนทวน และ ตาขุนวัง
เป็นราชองครักษ์
กล่าวกันว่า
วังใหม่ของแม่เจ้าอยู่หัวนั้นสร้างด้วยไม้ทั้งหมด
มีชั้นเชิงลวดลายแกะสลักงดงามวิจิตรตระการตายิ่งนัก
อย่างไรก็ตาม
การสร้างวังพระราชทานแม่เจ้าอยู่หัวที่บ้านเดิมเป็นไปด้วยความล่าช้า
เพราะพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงประวิงเวลาให้นานที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้นั่นเอง
ตำนานมิได้เล่าไว้ว่า วังดังกล่าวสร้างเสร็จเมื่อไหร่
พระนางเลือดขาว แม่เจ้าอยู่หัว เสด็จออกจากเมืองพระเวียง ไปประทับ ณ วังใหม่ที่บ้านเดิมของพระนางเมื่อใด
และประทับอยู่นานแค่ไหน
และถึงแม้ว่าจะทรงมีวังที่ประทับของพระนางเอง นอกพระราชวังหลวงแล้ว
พระนางก็ยังทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ให้เสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
ที่เมืองทะรัง เมื่อ พ.ศ.๑๘๑๔ พระชนมายุได้ ๗๐ พรรษา
แต่พระราชกรณียกิจครั้งนี้
พระนางไม่อาจกระทำให้ลุล่วง เพราะไม่ทันพ้นเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชก็สิ้นพระชนม์
สถานที่พระนางสิ้นพระชนม์และตั้งพระศพนั้น
ปัจจุบันเรียกว่า บ้านควนศพ อยู่ในเขต อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
จากนั้นได้อัญเชิญพระศพกลับสู่เมืองพระเวียง
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชโปรดฯ ให้ตั้งพระศพบำเพ็ญกุศลระยะหนึ่ง ณ วัดท้าวโคตร
ต.นา อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช อันเป็นวัดใกล้พระราชวัง
วัดท้าวโคตร ในปัจจุบัน ภาพจาก http://walailak.isr.nectec.or.th |
การสิ้นพระชนม์ของแม่เจ้าอยู่หัว ทำให้พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเสียพระทัยมาก และก็ทรงหวนนึกถึงสิ่งที่พระนางเคยทูลขอไว้เสมอ เมื่อยังมีพระชนม์ชีพ
จึงโปรดฯ ให้จัดขบวนพระศพ กลับไปยังบ้านเกิดของพระนางโดยชลมารค
ตามเส้นทางของท่าเรือไปออกทะเลปากนคร โดยพระองค์เสด็จไปพร้อมกับขบวนเรือดังกล่าว
เพื่อส่งเสด็จพระอัครมเหสีผู้เป็นที่รักสู่สวรรคาลัยเป็นครั้งสุดท้าย
รวมการเดินทางขบวนอัญเชิญพระศพทั้งสิ้น ๑๕ วัน
เมื่อขบวนอัญเชิญพระศพพระนางเลือดขาว
แม่เจ้าอยู่หัว ไปถึงภูมิสถานเดิมของพระนาง ได้ประดิษฐานพระโกศ
และถวายพระเพลิงพระศพพระนางเลือดขาว ณ สำนักพ่อท่านขรัว
เล่ากันว่า สถานที่ดังกล่าว
ปัจจุบันคืออาณาบริเวณเยื้องกับ วัดบ่อล้อ อ.เชียรใหญ่ ประมาณ ๑๐๐ เมตร
เดิมก็เป็นพื้นที่เดียวกัน ต่อมาถูกถนนตัดผ่าน และราษฎรบุกรุก จนกลายเป็นคนละพื้นที่กันในทุกวันนี้
ภายหลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพแม่เจ้าอยู่หัวแล้ว
พ่อท่านขรัวได้ถวายคำแนะนำ ให้พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทรงนำพระอัฐิ
และพระอังคารของแม่เจ้าอยู่หัว ไปประดิษฐานที่ วัดแม่เจ้าอยู่หัว ริมคลองฆ็อง
บ้านเก่า ซึ่งเป็นวัดแรกที่พระนางทรงสร้างเอาไว้
พระองค์จึงโปรดฯ
ให้อัญเชิญพระอัฐิและพระอังคารไปบรรจุไว้ในมณฑปสูง ๑๒ วา มีเจดีย์บริวารโดยรอบ อีกทั้งได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทองคำ
เงิน นาก และสำริดหลายขนาดประดิษฐานไว้ในวัดนั้น
เพื่อให้สมพระเกียรติของพระอัครมเหสี ผู้ทรงคุณความดีอันประเสริฐ และเป็นพุทธบูชาแก่ราษฎรสืบไป
ตำนานพระนางเลือดขาว มิใช่จะมีอยู่เพียงใน
จ.นครศรีธรรมราชเท่านั้น แต่ยังมีอยู่ในจังหวัดอื่นเช่นภูเก็ตด้วยครับ
ดังสำนวนที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
เกี่ยวข้องกับประวัติ วัดพระนางสร้าง ซึ่งเป็นวัดประจำอำเภอถลาง จ.ภูเก็ต
ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ต.เทพกษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
ตำนานเดิมของวัดพระนางสร้าง มีผู้เล่าสืบต่อๆ
กันมาหลายกระแส รายละเอียดของเรื่องแตกต่างกัน แต่ใจความส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน
ดังนี้
พระนางเลือดขาว เป็นมเหสีของผู้ครองนครใดไม่ปรากฏแน่ชัด
เป็นผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ต่อมาถูกเสนาบดีในนครนั้นกลั่นแกล้ง
กราบทูลต่อเจ้าผู้ครองนครใส่ร้ายว่าพระนางมีชู้กับมหาดเล็ก
เจ้าผู้ครองนครหลงเชื่อ
จึงรับสั่งให้เพชฌฆาตนำพระนางและมหาดเล็กนั้นไปประหารชีวิต พระนางได้พยายามขอร้อง
และแสดงความบริสุทธ์ ถึงกระนั้นเจ้าผู้ครองนครก็ไม่ยอมเชื่อ
เมื่อหมดหนทาง
พระนางจึงได้ขอผ่อนผันให้ได้ไปนมัสการพระบรมธาตุที่เมืองลังกาเสียก่อน
แล้วจะเสด็จกลับมารับพระอาญาประหารชีวิต
เจ้าผู้ครองนครตกลงยินยอมให้พระนางไปเมืองลังกา
เพราะเห็นว่า คนในนครนั้นไม่ชำนาญในการเดินเรือ และหนทางก็ไกลมาก
พระนางคงจะไปสิ้นพระชนม์เสียระหว่างเดินทางมากกว่า
พระนางเลือดขาว และข้าราชบริพารที่ยังจงรักภักดีต่อพระนางอยู่
จึงออกเดินทางไปลังกา ตลอดเวลาของการเดินทาง
พระนางทรงยึดเอาคุณพระศรีรัตนตรัยให้คุ้มครองป้องกัน ทรงมีรับสั่งแก่ผู้ร่วมเดินทางว่า
“ถ้าเราไม่สิ้นวาสนาเสียก่อน
เราต้องไปนมัสการพระบรมธาตุให้จงได้ และถ้าเดินทางกลับมาโดยสวัสดิภาพ
ก็จะสร้างวัดไว้เป็นที่ระลึก แล้วจึงจะไปรับพระราชอาญา”
อาจจะเป็นด้วยบุญญาธิการที่ทรงเคยมีมาก่อน
หรือผลานิสงส์แห่งการยึดมั่นต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็เหลือที่จะวินิจฉัยนะครับ
พระนางและคณะได้ไปถึงลังกา
และได้เข้านมัสการพระบรมธาตุด้วยความปีติยินดียิ่งนัก
อีกทั้งได้อัญเชิญพระพุทธรูปกลับมามากมาย บางแห่งเล่าว่าได้นำเอาโพธิ์ลังกามาด้วย
หรือบางแห่งก็เล่าว่า ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย
ช่วงเดินทางกลับ พระนางได้โปรดฯ
ให้นำเรือเข้าพักที่เกาะถลาง และทรงสร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่งไว้เป็นอนุสรณ์
ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า วัดพระนางสร้าง
พระอุโบสถ วัดพระนางสร้าง จ.ภูเก็ต ภาพจาก http://gerryganttphotography.com |
เล่ากันว่า พระนางได้ทรงปลูกต้นประดู่
และต้นตะเคียนไว้ด้วย ซึ่งคงอยู่ต่อมาจนถูกโค่นเพื่อสร้างโรงเรียนเมื่อราวๆ ปี
พ.ศ.๒๕๑๒
บางแห่งก็ว่ากันว่า
พระนางคงเอาของมีค่าทางพระพุทธศาสนาบรรจุไว้ในเจดีย์บ้าง
แต่ตอนนั้นคงไม่ได้สร้างถาวรวัตถุอะไรมากนัก เพราะภูมิประเทศเป็นป่า
เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว
พระนางก็ทรงนำข้าราชบริพารเดินทางกลับสู่บ้านเมืองของพระนาง
แม้จะทรงรู้ว่ากำลังกลับไปรับโทษประหาร
พระนางก็ทรงมีความปลื้มปีติในพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง
ที่ได้ทรงสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่เอาไว้
ทว่าเมื่อมาถึงชานเมือง
พระแม่เจ้าก็ทรงทราบว่า ขณะที่พระนางไม่อยู่ ได้เกิดการแย่งชิงราชสมบัติ
พระสวามีถูกประหารชีวิต ด้วยเหตุนี้พระนางจึงพ้นพระอาญาหลวง
พระนางจึงมิได้เสด็จเข้าไปในพระนคร
และทรงมีรับสั่งกับผู้ติดตามว่า เมื่อมีชีวิตรอดแล้ว
ก็จะต้องสร้างวัดวาอารามให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ข้าราชบริพารทุกคนที่ติดตาม
ต่างพากันอนุโมทนาสาธุ
ดังนั้น พระนางและคณะจึงได้นำสิ่งของต่างๆ
จากเมืองลังกา นำไปสร้างวัดอื่นๆ อีก
แต่เคราะห์กรรมของพระนางก็มิได้สิ้นสุดไป
พร้อมกับการตายของเจ้าเมืองคนเก่าหรอกครับ
เพราะเมื่อเรื่องของพระนาง เล่าลือไปถึงหูเจ้าผู้ครองนครคนใหม่
กษัตริย์ผู้ชั่วร้ายก็สั่งให้ทหารมาจับพระนาง และข้าราชบริพารทั้งหลายไปประหารชีวิต
เพื่อจะได้แย่งชิงทรัพย์สมบัติทางพุทธศาสนาไปเป็นของตน
เมื่อเพชฌฆาตลงดาบตัดศีรษะของพระนางนั้น
ปรากฏว่าพระโลหิตที่พุ่งออกมามีสีขาว ประชาชนจึงขนานนามว่า พระนางเลือดขาว
ผมวิเคราะห์ดูตำนานพระนางเลือดขาวสำนวนนี้แล้ว
มีความเห็นเป็นส่วนตัวว่า น่าจะเป็นฉบับที่ผสมผสานระหว่างตำนานแม่เจ้าอยู่หัวของเมืองนครฯ
กับ ตำนานพระนางมะฮ์ซูรีของลังกาวี ครับ
เพราะพระนางเลือดขาวพระองค์นี้
ทรงเป็นขัตติยนารีผู้ใฝ่ใจในพระธรรมเหมือนแม่เจ้าอยู่หัว ได้ไปลังกาเหมือนกัน
และถูกกลั่นแกล้งเหมือนกัน
พระนางมะฮ์ซูรี ซึ่งการสิ้นพระชนม์ทำให้เกาะลังกาวีต้องคำสาป ๗ ชั่วโตตร รัฐบาลมาเลเซียต้องเชิญสาวไทย ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ ๗ ของพระนาง ไปแก้อาถรรพณ์จนสำเร็จ เป็นข่าวใหญ่เมื่อพ.ศ.๒๕๕๐ |
แต่ลักษณะที่ถูกกลั่นแกล้งนั้น
เหมือนพระนางมะฮ์ซูรี คือถูกกล่าวหาว่าคบชู้ ลงท้ายก็เหมือนพระนางมะฮ์ซูรี คือถูกประหารด้วยการบั่นพระศอ จนพระโลหิตที่ไหลออกมาเป็นสีขาว
ตำนานที่มีลักษณะผสมผสานเช่นนี้ คงเป็นของใหม่
หรือเป็นตำนานชั้นรองกว่าพระนางเลือดขาวของเมืองนครฯ
และก็คงจะเกิดจาก การที่คนถลางได้ฟังตำนานพระนางเลือดขาวของเมืองนครฯ
มาอย่างย่นย่อ แล้วก็เลยรักษาไว้ได้แต่ใจความที่สำคัญจริงๆ ครั้นภายหลัง พอได้ติดต่อกับทางลังกาวีมากเข้า
มีตำนานพระนางเลือดขาวเหมือนกัน ก็เลยรับมาผสมผสาน จนมีเนื้อหาดังกล่าว
ส่วนวัดพระนางสร้างนั้น
ในตำนานพระนางเลือดขาวของทางนครฯ ได้กล่าวไว้แล้วว่า ทรงสร้างวัดไว้มากมาย
ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าสงสัยแต่อย่างใดว่าจะรวมวัดแห่งนี้เข้าไว้ด้วย
เพราะถึงตำนานจะผิดเพี้ยนไปเพียงใด
ชื่อวัดก็ยังสื่อถึงความหมายเดิมอยู่ครับ
ทุกวันนี้ แม้ว่าพระนางเลือดขาว
แม่เจ้าอยู่หัว จะสิ้นพระชนม์ไปแล้วเป็นเวลานานกว่า ๗๐๐ ปี
พระนางก็ยังทรงเป็นที่พึ่งทางใจของประชาชนโดยตลอด
เป็นที่เลื่องลือกันในหมู่คนปักษ์ใต้โดยทั่วไป
ผู้ที่เคารพศรัทธาในพระนาง จะพากันไปไหว้พระรูปที่ประดิษฐานเคียงคู่กับพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
ในบริเวณ วัดพระมหาธาตุราชวรมหาวิหาร อ.เมือง และที่ วัดแม่เจ้าอยู่หัว ณ
ชุมชนสายหาดแก้ว หมู่ที่ ๓ ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่
โดยเฉพาะวัดแม่เจ้าอยู่หัว ซึ่งมีตำนานผูกพันกับเรื่องราวของพระนางดังกล่าวแล้ว ภายในวัดมีพระรูปหล่อด้วยโลหะปิดทอง เป็นลักษณะสตรีสูงศักดิ์ ประทับนั่งพับเพียบ พระหัตถ์ขวาถือดอกบัวยกขึ้นเสมอพระอุระ แสดงถึงพระราชศรัทธา และชื่อเสียงในทางธรรมของพระนาง พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ถือกล่องเล็กๆ เป็นลีลาที่อ่อนหวาน และสงบเยือกเย็นยิ่งนัก
เป็นที่น่าเสียดายว่า
แม้พระรูปองค์นี้จะปั้นหล่อได้งดงาม แต่ฉลองพระองค์เป็นแบบไทยรัตนโกสินทร์ห่มสไบเฉียง
เข้าใจว่า ในช่วงเวลาที่ดำเนินการออกแบบพระรูปนั้น
ไม่มีผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบเครื่องแต่งกาย
ที่จะทำให้ถูกต้องตามยุคสมัยของพระนางตามตำนาน ก็เป็นได้
เป็นที่รู้กันในหมู่คนเชียรใหญ่รุ่นเก่าๆ ว่าในสมัยที่ยังนิยมการเดินทางทางน้ำนั้น
คนขับเรือทุกคนเมื่อผ่านหน้าวัดแม่เจ้าอยู่หัวจะชะลอเครื่องเรือ เพื่อสักการะและขอพรให้เดินทางปลอดภัย
พวกพ่อค้าแม่ขายก็จะขอพรให้ทำมาค้าขึ้น
ส่วนคนจากที่อื่น
ซึ่งขับเรือผ่านไปไม่ชะลอไม่เคารพสักการะแม่เจ้าอยู่หัว มักจะเกิดเหตุร้ายต่างๆ
เช่น เรือล่ม สิ่งของเสียหาย บางครั้งถึงแก่ชีวิต
พระรูปในศาลาที่เขาขุนพนม จ.นครศรีธรรมราช ภาพจาก http://www.weekendhobby.com |
ความจริง ยังมีพระรูปรมดำของพระนางเลือดขาว
แม่เจ้าอยู่หัว อยู่ที่เขาขุนพนม ใน จ.นครศรีธรรมราช
แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันนัก นอกจากคนที่ไปไหว้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ซึ่งมีตำนานว่าหลังสิ้นรัชกาล ทรงลี้ภัยการเมืองไปผนวชที่นั่น