Sunday, November 4, 2018

รายาบีรู ลิ้มโต๊ะเคี่ยม มัสยิดกรือเซะ และ นางพญาตานี




พระนางบีรู (Biru) ทรงเป็นพระขนิษฐภคินีของรายาฮิเยา (Hijau) ดำรงตำแหน่งเจ้าหญิงรัชทายาทตลอดรัชกาลของพระพี่นาง

เมื่อสิ้นแผ่นดินองค์รายาฮิเยา จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น รายาบีรู กษัตริยาองค์ที่ ๒ แห่งนครปัตตานี และกษัตริย์องค์ที่ ๗ แห่งราชวงศ์ศรีวังสา ในพ.ศ.๒๑๕๙

เมื่อขึ้นครองราชย์นั้น ทรงมีพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษาแล้ว

ตลอดกว่า ๓ ทศวรรษ ที่ปฏิบัติภารกิจ ในฐานะเจ้าหญิงรัชทายาทเคียงข้างพระพี่นางฮิเยา รายาบีรูทรงตระหนักได้ว่า ความรุ่งโรจน์ของนครปัตตานี ในฐานะเป็นเมืองท่าสำคัญของการค้าบนคาบสมุทรมลายู ได้ทำให้นครปัตตานีกลายเป็นเป้าหมายของกรุงศรีอยุธยา ที่ทรงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ เวลานั้น

จนกระทั่งเคยประลองกำลังกันมาแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ไปในทางเป็นไมตรีต่อกัน


พระนางบีรู เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าหญิงรัชทายาท
ทรฃมีพระปฏิสันถ่ารกับพ่อค้าต่างประเทศ
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง "ปืนใหญ่จอมสลัด"

ทำให้รายาบีรูทรงเลือกที่จะรักษาความสัมพันธ์ดังกล่าว ต่อจากที่พระพี่นางทรงริเริ่มไว้อย่างชาญฉลาด

ในขณะเดียวกัน ก็ทรงเพิ่มความมั่นคง ให้แก่นครรัฐปัตตานีมากขึ้นไปอีก ด้วยการแก้ไขปัญหาทางการเมืองในคาบสมุทรมลายู ด้วยพระปรีชาสามารถ นำมาซึ่งความสงบสุขของนครปัตตานี ตลอดรัชสมัยของพระนาง

และก็ไม่ทรงละเลย ที่จะรักษาอธิปไตยเหนือแผ่นดินปัตตานี ด้วยการสร้างกำแพงเมืองอันแข็งแกร่ง ที่ชาวเมืองเรียกขานกันว่า กำแพงบีรู

ทั้งยังทรงมีพระราชบัญชา ให้หล่อปืนใหญ่ไว้ใช้ในการปกป้องนครยามเกิดศึกสงคราม ซึ่งยังคงมีชื่อเสียงและความยิ่งใหญ่อยู่จนทุกวันนี้

เรื่องราวของขององค์รายาบีรู จึงแยกไม่ออกจากตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และมัสยิดกรือเซะด้วย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวพันกันกับการสร้างปืนใหญ่อันเลื่องชื่อ ที่เป็นอนุสรณ์สำคัญที่สุดของพระนาง

เดิมเชื่อกันว่า องค์รายาบีรูมิได้เสกสมรส แต่เมื่อมีการตรวจสอบเอกสารต่างๆ อย่างถี่ถ้วน ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ก็มีข้อยุติว่า พระสวามีของระนางก็คือ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ช่างจีนคู่ตำนานปืนใหญ่ นางพญาตานี นั่นเอง


ลิ้มโต๊ะเคี่ยม จาก "ปืนใหญ่จอมสลัด"รับบทโดย จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม
อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติ ผู้ล่วงลับ

ลิ้มโต๊ะเคี่ยม (จีนกลางว่า หลินเต้าเฉียน) ผู้นี้ เดิมรับราชการอยู่ในมณฑลแต้จิ๋ว เมื่อบิดาถึงแก่กรรม จึงย้ายไปรับราชการที่เมืองจั่วจิว (จีนกลางว่า เฉวียนโจว) แต่ถูกกล่าวหาว่าสมคบกับโจรสลัด ทำให้ต้องหลบหนีออกจากประเทศจีน พร้อมกับพรรคพวกหลายคน ไปอาศัยอยู่ที่เกาะไต้หวัน

ต่อมาเขาจึงเปลี่ยนอาชีพเป็นพ่อค้า แต่ในบางโอกาสก็จะเป็นโจรสลัดด้วย ซึ่งก็เหมือนกันกับบรรดาพ่อค้า และโจรสลัดทั้งจีนและญี่ปุ่นในทะเลจีนใต้เวลานั้นละครับ แต่ก็ทำให้ฐานะของเขามั่งคั่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในพ.ศ.๒๑๐๖ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมอายุ ๒๓ ปี ถูก พระเจ้าหมิงซื่อจง ส่งกองทัพมาปราบปราบ จนต้องหนีไปรวบรวมพรรคพวกอยู่ราวๆ ๑๐ ปี มีกำลังพลมากถึง ๓,๐๐๐ คน และเรือสำเภา ๙๕ ลำ ได้รับสมญาว่า ท่านอ๋องแห่งทะเลจีนใต้

เมื่อมีกำลังอำนาจถึงเพียงนั้น เขาก็มุ่งหน้าไป เกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นพวกสเปนและโปรตุเกสเป็นเจ้าของอยู่

และหลังจากปะทะกันที่เมือง อิโคลอสซัวร์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเหลือเรือสำเภาอยู่ ๖๘ ลำ จึงเปลี่ยนความตั้งใจไปตีเมืองมะนิลา ซึ่งเป็นเมืองใหม่ เพิ่งสร้างเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น

เขายึดได้เมืองมะนิลา และสังหารข้าหลวงสเปนใน พ.ศ.๒๑๑๗ แต่แล้ว ก็ต้องหนีการไล่ล่าของสเปน ไปสร้างเมืองของตนเองที่เมือง ลินกาเยน แขวงเมืองพันกาซินัน

ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ตั้งตนเป็นราชาปกครองเมืองนี้อยู่ ๗ เดือน กองเรือสเปนก็ตามมาโจมตี จนเขาต้องทิ้งเมืองหนี และพาสมัครพรรคพวกร่อนเร่พเนจรไปประมาณ ๘ ปี จึงไปถึงปัตตานีเมื่อราวๆ พ.ศ.๒๑๒๓

ตอนที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมไปถึงปัตตานีนั้น เขาอายุได้ ๓๙ ปี เป็นช่วงปลายรัชสมัยของสุลต่านบาห์โดรชาห์

เมื่อองค์รายาฮิเยา (Hijau) ขึ้นครองราชย์ต่อมาในพ.ศ.๒๑๒๗ บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย และเริ่มพัฒนาขึ้น

ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่ รวมทั้งด้วยอายุที่มากถึง ๔๐ กว่าปีแล้ว

ก็ทำให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมตั้งใจจะปักหลัก ที่นี่ในฐานะของพ่อค้า ไม่คิดเป็นโจรสลัด หรือมักใหญ่ใฝ่สูงอีกต่อไป

แต่วาสนาของเขา ยังไม่จบลงเพียงเท่านั้นหรอกครับ

ด้วยประสบการณ์อันโชกโชน และความสามารถที่หลากหลาย โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญในการรบ ทั้งทางบกและทางทะเล องค์รายาฮิเยาจึงทรงแต่งตั้งให้เขาควบคุมด่านศุลกากรที่ท่าเรือปัตตานี

ซึ่งผลงานของเขาในตำแหน่งนี้ เป็นที่พอพระทัยอย่างมาก จนจะนับว่าเขามีส่วนในการสร้างความร่ำรวยให้แก่ปัตตานี ในช่วงแรกๆ แห่งรัชสมัยขององค์รายาฮิเยาก็ว่าได้นะครับ

ขณะเดียวกัน เขากับเจ้าหญิงบีรูก็ต้องทำงานร่วมกัน ต่างพระเนตรพระกรรณขององค์รายาฮิเยาอยู่เสมอ จนมีความสนิทสนมชอบพอกัน และจึงได้เข้าสู่พิธีวิวาห์ตามหลักศาสนาอิสลาม

โดยในการนี้ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม เมื่อเสกสมรสแล้ว องค์รายาฮิเยาทรงสถาปนาเป็น เจ้าชายโต๊ะ อาโกะ (Tok Agok)

เมื่อองค์รายาบีรูได้ครองราชย์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมอายุถึง ๗๕ ปีแล้วละครับ และมีพระโอรสกับองค์รายาบีรูมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ๒ พระองค์ พระองค์หนึ่งทรงมีพระนามว่า แวยูโซ๊ะ อีกพระองค์หนึ่งไม่เป็นที่ทราบพระนาม

แต่ผู้สืบเชื้อสายจากพระโอรสองค์ที่สองนี้ ใช้นามสกุลว่า Mekong Sedi  ซึ่งยังมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ยามูในปัจจุบันนี้

เล่ากันว่า องค์รายาบีรูได้โปรดฯ ให้ก่อสร้างมัสยิดแห่งใหม่ เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจ ที่ ต.กรือเซะ ในปัจจุบัน โดยทรงมีพระราชโองการให้พระสวามีเป็นนายช่างออกแบบและก่อสร้าง


มัสยิดกรือเซะ อดีตมัสยิดหลวงประจำนครปัตตานี

ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้อุทิศกายและใจทั้งหมด ให้กับงานที่ได้รับมอบหมายจนเกือบเสร็จ เหลือเพียงก่อสร้างโดมหลังคาเครื่องบนเท่านั้น

หากพอเริ่มสร้างเครื่องบนได้ไม่กี่วัน ก็เกิดฟ้าผ่าลงมายังโดมที่กำลังสร้างจนเสียหายหมดอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเหตุว่าไม่มีวี่แววพายุฝนแต่อย่างใดในช่วงเวลานั้น

ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงทำการก่อสร้างโดมหลังคาใหม่ แต่แล้ว สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีก คือเกิดฟ้าผ่าลงมายังยอดโดมอีกครั้งจนพังทลายดุจเดิม

ลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็ยังไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามสร้างต่ออีก ๒ ครั้ง แต่ก็ถูกฟ้าผ่าพังทลายทุกครั้ง

อาถรรพณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมสำนึกว่าตนได้สร้างตราบาปเอาไว้ ที่ทอดทิ้งมารดา จนทำให้น้องสาวคือ ลิ้มกอเหนี่ยว ต้องมาตามกลับบ้าน และผูกคอตายที่นี่ด้วยความน้อยใจที่ถูกปฏิเสธ


ลิ้มกอเหนี่ยว จากภาพยนตร์เรื่อง"ปืนใหญ่จอมสลัด"
รับบทโดย มนัสนันท์ พัชรโสภาชัย

ทำให้เขาเกิดความท้อใจ เลิกล้มการก่อสร้างมัสยิด ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น

แต่เรื่องราวของมัสยิดแห่งนี้ ก็มีหลายกระแสครับ

โดยจากการค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์สายมุสลิมบางท่านกล่าวว่า มัสยิดกรือเซะเคยสร้างเสร็จสมบูรณ์ จนเป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลามในรัฐปัตตานีมาเป็นเวลาช้านาน

ดัฃมีการอ้างอิงภาพวาดของศิลปินชาวดัตช์ ในปีพ.ศ.๒๑๔๔ ตรงกับรัชสมัยองค์รายาฮิเยา ที่กล่าวกันว่า เป็นภาพของมัสยิดกรือเซะ เห็นยอดหอคอยมัสยิดทั้งสองด้าน ส่วนอีกสองมุมด้านหลังเป็นแนวเดียวกับยอดด้านหน้า

มีการบ่งชี้กันต่อไปว่า ในภาพวาดนั้น ยังปรากฏอาคารที่อยู่หน้ามัสยิดคือ พระราชวังอิสตานานีลัม อันเป็นที่ประทับของพระมหาราชินีฮิเยาด้วย

ซึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์ว่า แท้จริงมัสยิดกรือเซะสร้างขึ้นอย่างน้อยตั้งแต่รัชสมัยราฮิเยาแล้ว มิใช่เพิ่งสร้างในรัชสมัยรายาบีรู


ภาพเขียนของชาวดัตช์ พ.ศ.๒๑๔๔ ที่อ้างกันว่าเป็นมัสยิดกรือเซะ

อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวนั้นปรากฏว่า แท้ที่จริงเป็นภาพของกรุงศรีอยุธยา โดยเห็นเกาะเมืองอยุธยาอยู่ในภาพอย่างชัดเจน

ดังนั้น อาคารที่กล่าวกันว่าเป็นมัสยิดกรือเซะนั้น ในภาพคงเป็นอาคารสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งแม้ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าเป็นสถานที่ใด แต่ไม่ใช่มัสยิดกรือเซะอย่างแน่นอน

แต่เรื่องของมัสยิดกรือเซะ ก็มีหลักฐานทางเอกสารรับรอง คือ J.J.Sheehan นักเดินเรือชาวดัตช์ ซึ่งเดินทางมาถึงปัตตานีช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ระบุว่า มีมัสยิดเป็นตึกสง่างามโอ่โถง สร้างจากอิฐแดง มีการตกแต่งภายในอย่างวิจิตรยิ่งนัก มีชาวจีนเป็นผู้สร้าง

นอกจากนี้ยังมีตำนานอีกกระแสหนึ่ง เล่าต่อๆ กันมาว่า มัสยิดแห่งนี้เคยมียอดโดมซึ่งหุ้มด้วยทองคำบริสุทธิ์ และตัวอาคารภายนอกนั้นก็มีการตกแต่งอย่างงดงาม สมกับเป็นมัสยิดที่สร้างโดยพระราชโองการขององค์กษัตริย์ปัตตานีอีกด้วย

ดังนั้น จึงพอจะเชื่อได้ว่า ในช่วงที่ J.J.Shehan เข้ามาถึงปัตตานี ซึ่งก็อยู่ในรัชสมัยของรายาบีรูนั้น มัสยิดดังกล่าวได้สร้างสำเร็จแล้วจริง

ตำนานที่กล่าวว่า มัสยิดดังกล่าวถูกฟ้าผ่าครั้งแล้วครั้งเล่าจนสร้างไม่เสร็จ จึงไม่มีหลักฐานรองรับ

แต่การที่นักเดินเรือชาวดัตช์กล่าวว่า มัสยิดแห่งนี้สร้างโดยชาวจีน ก็เท่ากับเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยมมีส่วนเกี่ยวข้องกับมัสยิดแห่งนี้จริงเช่นกัน

แม้นักวิชาการมุสลิมบางท่านจะโต้แย้งในประเด็นนี้ โดยให้ข้อสังเกตว่า ศิลปกรรมของมัสยิดกรือเซะ เป็นศิลปะเปอร์เซีย

ในขณะที่มัสยิดในเมืองจีน ที่สร้างในช่วงเวลาเดียวกัน คือเมื่อ ๔๐๐-๕๐๐ ปีที่แล้ว ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะจีน เหมือนวัดจีนทั้งสิ้น


มัสยิดหนิวเจี่ย  กรุงปักกิ่ง ที่ผ่านการบูรณะต่อเติมครั้งล่าสุด สมัยราชวงศ์ชิง
พ.ฅ.๒๒๓๙ และตรงกับรัชสมัยรายาบีรู ยังคงเป็นศิลปะจีนอยู่

พวกเขาจึงลงความเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ ที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจะสร้างมัสยิดแห่งนี้ตามที่เล่าต่อๆ กันมา ถ้าคนจีนอย่างลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นผู้ออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้าง เขาจะเอาศิลปกรรมแบบเปอร์เซียมาสร้างมัสยิดนี้ได้อย่างไร ไม่น่าจะมีเหตุผล

แต่ทางออกของปัญหานี้ ค่อนข้างง่ายครับ

คือมีผู้เสนอความเป็นไปได้ว่า มัสยิดดังกล่าวซึ่งสร้างเสร็จแล้ว ตั้งแต่ในรัชสมัยรายาฮิเยา หรือก่อนหน้านั้น อาจถูกเพลิงไหม้เมื่อคราวกบฏชวาเผาเมืองปัตตานี ในปลายรัชสมัยรายาฮิเยานั่นเอง

เมื่อรายาบีรูขึ้นครองราชย์แล้ว จึงโปรดให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยม เป็นแม่งานบูรณะ นักเดินทางชาวดัตช์จึงบันทึกว่ามัสยิดสร้างโดยช่างจีน

ถ้าสันนิษฐานกันตามนี้ ก็น่าจะเป็นข้อยุติในระดับหนึ่งครับ

เพราะก่อนรัชสมัยรายาฮิเยา มีกษัตริย์ปกครองปัตตานีต่อเนื่องกันมา ๕ รัชกาล มัสยิดกรือเซะนั้นก็ตั้งอยู่ใกล้พระราชวังอิสตานานีลัม เห็นได้ชัดว่า ต้องเป็นมัสยิดหลวงประจำนครปัตตานี ดังนั้น อย่างน้อยก็ต้องสร้างขึ้นในระยะเวลาล่เรี่ยกับพระราชวัง

แต่เหตุการณ์ที่ทำลายมัสยิดกรือเซะอย่างถาวร เกิดขึ้นในพ.ศ.๒๓๒๘ เมื่อ พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่ายกทัพใหญ่เข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์ใน สงครามเก้าทัพ กองทัพพม่ากองหนึ่งสามารถยึดเมืองนครศรีธรรมราชไว้ได้

ซึ่งไม่นานนัก สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ก็ทรงยกทัพไปปราบปรามพม่าที่เมืองนครฯ จนกองทัพพม่าแตกพ่าย

แล้วกองทัพไทยจึงใช้โอก่าสนั้น ปราบปรามนครรัฐทางใต้ โดยส่ง พระยากลาโหมเสนา และ พระยาจ่าแสนยากร แม่ทัพหน้า คุมกองทัพยกมาตีนครปัตตานี

ผลปรากฏว่า องค์ สุลต่านมุฮัมมัด ผู้ครองนครปัตตานีขณะนั้น ถูกกระสุนปืนสิ้นพระชนม์ในสนามรบ

นครปัตตานีถูกกองทัพสยามตีแตก พระราชวังอิสตานานีลัมอันงามวิจิตร ถูกเหล่าทหารจากกรุงเทพฯ เผาจนเสียหาย เหลือแต่ซากปรักหักพัง

ส่วนมัสยิดกรือเซะ ก็เล่ากันว่าถูกเผาเช่นกัน เพื่อลอกเอาเนื้อทองคำบริสุทธิ์ที่ห่อหุ้มยอดโดม จนกระทั่งโดมและหอคอยอาซานทั้งสี่ทิศ พังทลายลงมา เหลือแต่ตัวอาคารหลัก ดังที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้


ฉากการราชาภิเษกของรายาบีรู จาก "ปืนใหญ่จอมสลัด"
ว่ากันว่า แม่ทัพฝ่ายไทยบางคนในสงครามครั้งนั้น เช่น พระยาราชบังสัน ซึ่งเป็นมุสลิม เสียใจต่อการกระทำของกองทัพสยามอย่างมาก

แต่สงครามก็คือสงคราม นะครับ

ผู้ชนะย่อมต้องทำลายระราชวัง และศาสนสถานที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ ของราชวงศ์ผู้พ่ายแพ้สงคราม เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำกันทั้งนั้น

ทุกวันนี้ มัสยิดกรือเซะ หรือชื่อในศาสนาอิสลาม คือ มัสยิดปินตูกรือบัง ตั้งอยู่ในหมู่บ้านบันดัร หรือรู้จักกันในนาม บ้านบานา อยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีราว ๗ กม.

พื้นที่ดังกล่าว ในอดีตเป็นสถานที่ตั้งของพระราชวังอิสตานานีลัม อันเป็นที่ประทับของเหล่ากษัตริย์ และนางพญาปัตตานีทั้ง ๔ พระองค์ รวมทั้งองค์รายาบีรูด้วย อีกทั้งศาลของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวก็อยู่ใกล้กัน

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และทำการบูรณะหลายครั้ง จนถูกโจรใต้ยึดเป็นสถานที่ต่อสู้กับทางราชการ และถูกสังหารหมู่ในช่วงแรกๆ ของสถานการณ์ก่อการร้ายในภาคใต้

ในการปะทะกันครั้งนั้น ตัวมัสยิดได้รับความเสียหายบางส่วน กรมศิลปากรจึงได้เข้าไปดำเนินการบูรณะครั้งใหญ่ ตามสภาพที่ปรากฏในปัจจุบัน

ทีนี้ นอกจากมัสยิดกรือเซะแล้ว ลิ้มโต๊ะเคี่ยม หรือเจ้าชายโต๊ะ อาโกะ ก็ยังคงมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับอีกสิ่งหนึ่งที่เล่าขานกัน คู่ตำนานองค์รายาบีรู

นั่นคือ ปืนใหญ่นางพญาตานี


ภาพเก่าของ ปืนใหญ่นางพญาตานี ที่ีตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม
ปัจจุบันก็ยังคงตั้งอยู่ทีี่เดิม เพียงแต่หันป่ากกระบอกปืนไปในทิศทาฃอื่น

โดยมูลเหตุที่จะสร้างปืนใหญ่ดังกล่าว ที่มีการบรรยายไว่ในเอกสารต่างๆ ที่เรียบเรียงโดยนักค้นคว้าชาวไทยและต่างประเทศ ล้วนกล่าวสอดคล้องกันครับ

เช่น บทความชื่อว่า Masjid Kersik เรียบเรียงโดย ดร.อิสมาแอล ฮาบัด นั้น ระบุว่า กษัตริย์อยุธยาได้วางแผนทำศึกกับปัตตานีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการแก้แค้น เพราะเคยพ่ายแพ้มาก่อนหน้านี้แล้ว (ในรัชสมัยรายาฮิเยา)

เมื่อองค์รายาบีรูทรงทราบข่าวว่า กองทัพสยามคิดจะยกมาตีเมืองปัตตานีอีกครั้ง พระนางจึงโปรดฯ ให้มุขมนตรีจัดหาทองเหลือง เพื่อหล่อปืนใหญ่ไว้ต่อสู้

ซึ่งจากหนังสือ สี่กษัตริยาปัตตานี : บัลลังก์เลือด และตำนานรักเพื่อแผ่นดิน โดย สุภัตรา ภูมิประภาส  ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เป็นการรวบรวมทองเหลืองทั้งหมดที่มีในพระนครเลยทีเดียว ทั้งยังทรงสั่งห้ามพสกนิกร ขายทองเหลืองให้กับชาวต่างชาติเป็นระยะเวลา ๓ ปี ให้นำมาขายกับทางราชการเท่านั้น หากผู้ใดฝ่าฝืน ผู้นั้นต้องรับโทษประหารชีวิต

เหตุที่องค์รายาบีรูต้องทรงหล่อปืนใหญ่ขึ้นใช้เอง แทนที่จะทรงสั่งซื้อจากชาวตะวันตกที่เข้ามาค้าขายกันอยู่เป็นอันมากนั้น อิบรอฮิมซากรี ชาวกลันตัน ผู้เรียบเรียงหนังสือ สยาเลาะห์กรียาอันมลายูปัตตานี อธิบายว่า เป็นเพราะชาวยุโรปได้ย้ายสถานีการค้าออกไปจากปัตตานี ทำให้หาซื้อปืนใหญ่ได้ยาก

และผู้ได้รับพระราชโองการจากองค์รายาบีรู ให้ควบคุมการหล่อปืนใหญ่นั้น ก็คือ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม หรือเจ้าชายโต๊ะ อาโกะ พระสวามีของพระนางนั่นเอง

ซึ่งนั่นก็ย่อมเป็นเพราะ เขามีผลงานการบูรณะมัสยิดกรือเซะได้สำเร็จเรียบร้อย เปิดใช้งานมาแล้วก่อนหน้านั้น มิใช่ทิ้งค้างไว้ตามตำนานเจ้าแม่ลิเมกอเหนี่ยว

เล่ากันว่า ลิเมโต๊ะเคี่ยมซึ่งอายุมากถึง ๗๗ ปีแล้ว ก็ยังคงทุ่มเทแรงกายแรงใจ หล่อปืนใหญ่จนสำเร็จได้ ๓ กระบอก และเมื่อให้เจ้าพนักงานทดลองบรรจุดินประสิวและกระสุน ปรากฏว่า สองกระบอกแรกยิงได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

แต่เมื่อทดลองยิงกระบอกที่สาม ทำอย่างไรก็ยิงไม่ออก ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงทดลองจุดชนวนด้วยตนเอง

ผลคือ เกิดระเบิดขึ้น จบชีวิตแห่งการผจญภัยอันโชกโชนของเขา ณ ที่ทำการหล่อปืนใหญ่นั้น เมื่อพ.ศ.๒๑๖๑

รายาบีรูทรงเสียพระทัยมาก โปรดให้สร้างสุสานสำหรับพระสวามีที่ กุโบร์รายอ บริเวณชายฝั่ง ต.ตันหยงลูโละ ในปัจจุบัน

ที่นั่นยังคงเหลือโลงหิน ที่มีจารึกภาษามลายูปัตตานีด้านข้าง ระบุชัดว่าเป็นโลงพระศพของเจ้าชายโต๊ะ อาโกะ หรือลิ้มโต๊ะเคี่ยมอย่างชัดเจน และพระนามของเจ้าชายโต๊ะ อาโกะ ยังได้เป็นชื่อท่าเรือแห่งหนึ่งด้วยครับ

ส่วนปืนใหญ่ ๒ กระบอกแรกที่หล่อสำเร็จ องค์รายาบีรูพระราชทานนามว่า ศรีปัตตานี กับ ศรีนครา และได้สำแดงอานุภาพใรการรบจริง กับกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลต่อมา จนกองทัพอยุธยาแตกพ่ายไปอีกคำรบหนึ่ง


รายาบีรูเมื่อทรงขึ้นครองราชย์
ในตอนท้ายของภาพยนตร์ "ปืนใหญ่จอมสลัด"

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ ตีได้นครปัตตานีเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ ทรงเห็นว่า เป็นปืนที่มีอานุภาพยิ่งนัก จึงโปรดฯ ให้ขนย้ายไปถวายสมเด็จพระเชษฐาธิราช

แต่เรือลำที่บรรทุกปืนศรีนครา ล่มระหว่างการเดินทาง เหลือแต่ปืนศรีปัตตานีเพียงกระบอกเดียว ที่ไปถึงกรุงเทพฯ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกนามว่า พญาตานี หรือที่นิยมเรียกต่อๆ กันมาว่า นางพญาตานีที่ตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน นั่นละครับ

นางพญาตานี นับเป็นปืนใหญ่หล่อด้วยสำริดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความยาว ๖ เมตร ๘๙ เซนติเมตร การยิงปืนกระบอกนี้แต่ละครั้ง จะต้องบรรจุดินปืนหนัก ๑๕ ชั่ง สามารถยิงไกลประมาณ ๑,๔๖๐-๑,๘๐๐ เมตร

นับเป็นมรดกล้ำค่า คู่บ้านคู่เมืองของชาวปัตตานีมาแต่สมัยโบราณ และปัจจุบันก็ยังคงเป็นตราสัญลักษณ์ ประจำจังหวัดปัตตานีอีกด้วย

แต่แม้จะทรงมีปืนใหญ่ ที่สร้างขึ้นอย่างดีเยี่ยม ไว้ปกป้องรักษาเอกราช ของนครรัฐปัตตานีแล้ว นะครับ

รายาบีรูก็ยังทรงดำเนินพระราชวิเทโศบาย เพื่อรักษาควมสัมพันธ์กับกรุงศรีอยุธยา เป็นการยับนั้งสงครามที่จะเกิดขึ้น ด้วยการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา

และเมื่อถึงพ.ศ.๒๑๕๗ สุลต่านแห่งรัฐปาหังสิ้นพระชนม์ พระนางก็ทรงส่งเสนาบดีไปเชิญเสด็จพระน้องนางอูงู มเหสีม่ายของเจ้านครปาหัง และ เจ้าหญิงกูนิง พระราชนัดดาวัย ๑๒ พรรษา กลับมาประทับที่นครปัตตานี

หลังจากนั้น ก็พระราชทานเจ้าหญิงกูนิงให้หมั้นหมายกับ ออกญาเดโช โอรสของราชามุสตาฟาร์ เจ้าเมืองพัทลุง เชื้อสาย สุลต่านสุลัยมาน แห่งสงขลา ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา


ในภาพยนตร์ "ปืนใหญ่จอมสลัด" มีการสมมุติเหตุการณ์ที่กองทัพโจรสลัดมาประชิดนครปัตตานี
จนเจ้าหญิงบีรูต้องทรงสวมเกราะแบบที่เห็นนี้ ช่วยพระพี่นางทำศึก
ซึ่งถ้าจะมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นจริง
ก็น่าจะเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างปัตตานี กับอยุธยา
ในรัชสมัยของพระพี่นางฮิเยามากกว่า
เป็นพระราชกุศโลบายเพื่อสานสัมพันธ์ กับราชสำนักอยุธยาที่ทรงอิทธิพลในขณะนั้น ให้แนบแน่นยิ่งขึ้นไปอีก

ในขณะเดียวกัน ก็ทรงส่งคณะทูตไปเข้าเฝ้าองค์สุลต่านแห่งรัฐกลันตัน เพื่อหารือเกี่ยวกับการรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐปัตตานี เพื่อต่อต้านอิทธิพลของกรุงศรีอยุธยา ในคาบสมุทรมลายูด้วย

แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้ว่าจะทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักกรุงศรีอยุธยา จนมั่นพระทัยได้ระดับหนึ่งว่า จะไม่เกิดสงครามระหว่างกันขึ้นได้โดยง่ายแล้ว แต่พระนางไม่เคยไว้วางพระทัยชาวสยามเลยครับ

และเมื่อผลการเจรจาผ่านคณะทูตไม่เป็นที่พอพระทัย รายาบีรูก็เสด็จไปเยือนนครรัฐกลันตันด้วยพระองค์เอง และทรงเจรจาจนเป็นผลให้สุลต่านแห่งรัฐกลันตัน ทรงมีความเห็นคล้อยตามข้อเสนอของพระนาง ในการรวมตัวเข้าเป็นสหพันธรัฐปัตตานี


ในภาพยนตร์ "ปืนใหญ่จอมสลัด" ได้มอบบทเจ้าหญิงบีรู
ให้กับ แจ็คกี้ อภิธนานนท์
ซึ่งแสดงถึงพระจริยวัตรที่อ่อนหวาน
ตัดกับความเข้มแข็งของพระพี่นางฮิเยาอย่างชัดเจน

ด้วยพระราโชบายในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่องค์รายาบีรูทรงสานต่อจากพระพี่นางฮิเยา และการดำเนินการทางการเมืองอย่างชาญฉลาด จนทำให้ปัตตานีกับกลันตันสามารถรวมตัวกันขึ้นเป็นสหพันธรัฐ ดังที่เล่ามานี้ ทำให้นครรัฐปัตตานียังคงรุ่งโรจน์ ภายใต้รัชสมัยของพระนาง

พสกนิกรยังคงดำเนินชีวิตด้วยความรื่นรมย์ สืบเนื่องเป็นเวลากว่า ๓ ทศวรรษ นับตั้งแต่รัชสมัยขององค์รายาฮิเยาผู้พี่ จนตลอดรัชกาลของรายาบีรูผู้น้อง ที่มิได้มีศึกสงครามมากล้ำกรายให้ชีวิตที่สงบสุขในนครปัตตานีต้องผันแปรไป

มีเพียงการพิพาทแก่งแย่งกัน ระหว่างพ่อค้าต่างชาติเท่านั้น ที่ทำให้บรรยากาศการค้าระหว่างประเทศของปัตตานีในรัชสมัยของพระนาง ไม่คึกคักเท่ากับสมัยของพระขนิษฐภคนี

โดยเฉพาะ การขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับฮอลันดา จนถึงสู้รบกันด้วยยุทธนาวีใน พ.ศ.๒๑๖๒ จบลงด้วยอังกฤษเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ฮอลันดาประกาศอำนาจเหนืออังกฤษในคาบสมุทรมลายู โดยที่องค์รายาบีรูไม่สามารถจะทรงช่วยเหลือ หรือไกล่เกลี่ยใดๆ ได้

หลังจากนั้น พ่อค้าอังกฤษจึงค่อยๆ ทยอยออกไป จนพ.ศ.๒๑๖๖ ก็ไม่มีพ่อค้าอังกฤษเหลืออยู่ที่ปัตตานีอีกเลย

แต่พ่อค้าชาวยุโรปชาติอื่นๆ ก็ยังคงค้าขายกันตามปกติละครับ นครปัตตานีจึงไม่ถึงกับได้รับผลกระทบอะไรมากนัก

รายาบีรู หรือที่ประชาชนถวายพระสมัญญานามว่า Marhum Tengah เสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. ๒๑๖๗ เมื่อพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา

ทรงอยู่ในสิริราชสมบัติเพียง ๘ ปีเท่านั้นก็จริง แต่ก็เป็น ๘ ปีที่ก่อเกิดตำนานสำคัญ สืบสานเป็นมรดกคู่นครปัตตานีมาจนทุกวันนี้


..........................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

ขอขอบคุณ สหมงคลฟิล์ม เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพจากาพยนตร์ ปืนใหญ่จอมสลัด


Friday, July 20, 2018

รายาฮิเยา จอมนางแห่งคาบสมุทรมลายู




แม้แต่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ ก็มีไม่มากนักหรอกครับ ที่ทราบว่า เคยมีมหาอำนาจทางการทหาร และการค้าทางทะเลอยู่ในคาบสมุทรมลายู ร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา

มหาอำนาจนั้นคือ ปัตตานี

และนครรัฐดังกล่าว ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม มีกษัตริยาครองราชย์ต่อเนื่องกัน ในราชวงศ์เดียวกันถึง ๔ พระองค์

นางพญาพระองค์แรก ผู้วางรากฐานความเจริญรุ่งเรืองในทุกๆ ด้านให้บังเกิดแก่นครรัฐปัตตานี ก็คือ รายาฮิเยา (Raya Hijau)

เหตุที่จะทำให้ราชบัลลังก์ปัตตานี ถูกปกครองโดยกษัตริย์หญิงนั้น เริ่มตั้งแต่รัชสมัยของ สุลต่านมุฏ็อฟฟัร ชาห์ ครับ

ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า พระองค์ได้เสด็จไปกรุงศรีอยุธยาด้วยพระองค์เอง เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ในรัชสมัยของ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

แต่กษัตริย์อยุธยา มิได้ถวายการต้อนรับให้สมพระเกียรติ เพราะทรงมีพระราชดำริว่า พระราชฐานะขององค์สุลต่านปัตตานีนั้นต่ำกว่า

เมื่อ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ นำกองทัพพม่าเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา องค์สุลต่านจึงนำทัพเรือ ๒๐๐ ลำเข้ายึดพระราชวังหลวง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องเสด็จหนีไปที่เกาะมหาพราหมณ์

แต่ในที่สุด พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เลิกทัพกลับไป ฝ่ายอยุธยาสามารถยึดพระราชวังคืนได้ และองค์สุลต่านก็หายสาบสูญ

เมื่อทางปัตตานีเชื่อว่าสุลต่านมุฏ็อฟฟัร ชาห์ สิ้นพระชนม์ไปแล้ว พระอนุชาของพระองค์ คือ สุลต่านมันโซร์ ชาห์ (พ.ศ.๒๑๐๗-๒๑๑๕) จึงเสด็จขึ้นครองราชย์แทน

พระองค์ทรงมีพระราชธิดา ๔ พระองค์ คือ เจ้าหญิงฮิเยา (Hijau) เจ้าหญิงบีรู (Biru) เจ้าหญิงอูงู (Ungu)  เจ้าหญิงอามัส กรันจัง (Amas Kranjang)

และพระราชโอรสอีก ๒ พระองค์ คือ เจ้าชายบาฮาดูร์ (Bahadur) และ เจ้าชายบีมา (Bima)

แต่เจ้าหญิงอามัส กรันจัง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงคงเหลือพระราชธิดาและพระราชโอรสที่เจริญพระชันษาเพียง ๕ พระองค์เท่านั้นละครับ

รัชกาลของสุลต่านมันโซร์ ชาห์ ไม่ยืนยาวเท่าใดนัก พระองค์ครองราชย์เพียง ๘ ปีก็สิ้นพระชนม์ แต่ก่อนหน้านั้น พระองค์ก็ทรงมีพระราชโองการให้ เจ้าชายปาติกสยาม พระราชโอรสของอดีตสุลต่านมุฏ็อฟฟัร ชาห์ ซึ่งมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา สืบทอดราชบัลลังก์


ภาพยนตร์เรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด
ที่นำพระราชประวัติของรายาฮิเยามาดัดแปลง

โดยมี พระนางอาอิชะฮ์ พระขนิษฐภคินีขององค์สุลต่านมันโซร์ ชาห์ เป็นผู้สำเร็จราชการ

ภายหลังสุลต่านพระองค์ใหม่ ขึ้นครองราชย์ได้เพียงไม่ถึง ๑ ปี เจ้าชายบัมบัง พระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งของสุลต่านมุฏ็อฟฟัร ชาห์ ก็ปลงพระชนม์ทั้งพระนางอาอิชะฮ์ และสุลต่านปาติกสยามใน พ.ศ.๒๑๑๖

แต่องค์เจ้าชายเอง ก็ถูกขุนนางคนสนิททรยศ ปลงพระชนม์ให้ตายตกไปตามกัน

หลังจากนั้น เจ้าชายบาฮาดูร์ ในฐานะพระราชโอรสองค์ใหญ่ของอดีตสุลต่านมันโซร์ ชาห์ จึงขึ้นครองราชย์เป็น สุลต่านบาห์โดร ชห์ ครองนครปัตตานีในช่วง พ.ศ. ๒๑๑๖-๒๑๒๗ เป็นเวลา ๑๑ ปี

การบริหารราชการแผ่นดินในปลายรัชกาลของพระองค์ สร้างความไม่พอใจแก่พวกขุนนางส่วนหนึ่ง พวกขุนนางเหล่านั้นจึงพากันยุยงให้เจ้าชายบีมา พระอนุชาต่างพระมารดา ปลงพระชนม์องค์สุลต่านด้วยกริช

แต่ขณะที่เจ้าชายบีมาขึ้นช้างหนีออกจากพระราชวัง ก็ถูกขุนนางคนสนิทหักหลัง และปลงพระชนม์ เช่นเดียวกับกรณีการปลงพระชนม์สุลต่านปาติกสยาม ของเจ้าชายบัมบัง

เป็นอันว่า พระราชโอรสของอดีตสุลต่านมันโซร์ ชาห์ และอดีตสุลต่านมุฏ็อฟฟัร ชาห์ ได้พากันสิ้นพระชนม์ไปหมดครับ

ราชบัลลังก์ปัตตานี จึงไร้รัชทายาทที่จะสืบทอด นอกจากพระราชธิดาของอดีตสุลต่านมันโซร์ ชาห์ ที่ยังคงเหลือเพียง ๓ พระองค์ เท่านั้น

เมื่อการณ์เป็นไปดังนี้ ปัญหาทางการเมือง และการสงครามภายในราชสำนักปัตตานีจึงมาถึงทางตัน

และทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ที่จะยุติสงครามระหว่างกันไว้ก่อน

เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่ง ก็คือการแย่งชิงอำนาจ ทำให้เรือสินค้าจากประเทศต่างๆ ไม่กล้าเข้ามาจอด ส่งผลโดยตรงกับเศรษฐกิจของนครปัตตานี จนเกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

จึงต้องมีการสรรหาคนกลาง ที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ เพื่อเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

เพราะฉะนั้น เหล่าเสนาบดีจึงจำต้องประชุมกัน เลือกเฟ้นผู้ที่จะมาครองกรุงปัตตานี จากพระธิดาทั้ง ๓ พระองค์ของสุลต่านมันโซร์ ชาห์

ในที่สุดก็พากันลงมติ เลือกเจ้าหญิงฮิเยา เป็นผู้ครองนครปัตตานีพระองค์ต่อไป


รายาฮิเยา ประทับบนราชบัลลังก์ จากภาพยนตร์เรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด

เจ้าหญิงฮิเยาจึงได้รับการสถาปนาเป็น รายาฮิเยา กษัตริยาพระองค์แรกแห่งนครรัฐปัตตานี ใน พ.ศ.๒๑๒๗ พระชนมายุขณะนั้นได้ ๓๒ พรรษา และทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์ศรีวังสา

นับว่าทรงเป็นกษัตริย์หญิงพระองค์แรก ที่ได้ปกครองรัฐในแหลมมลายูครับ

แต่เพียงไม่กี่เดือนที่ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ พระนางก็ต้องทรงเผชิญกับการท้าทายของมหาอำมาตย์ และเหล่าเสนาบดี เพื่อทดสอบบารมีของเจ้าผู้ครองนครหญิง

กล่าวคือ เจ้าเมืองกายุคลัต (Bandahara Kayu Kelat) หรือเมืองสายบุรี  ได้นำกองทหาร ๕,๐๐๐ คนเข้ายึด พระราชวังอิสตานานีลัม เพื่อจะก่อการกบฎ และตัวเจ้าเมืองพร้อมด้วยทหารคู่ใจ ๔๐ คน ก็บุกเข้าถึงท้องพระโรงอย่างอุกอาจ

กล่าวกันว่า เจ้าเมืองกายุคลัตกับพวกนั้น ทำพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อให้อยู่ยงคงกระพัน ดังนั้น แม้รายาฮิเยาจะทรงมีทหารรักษาพระองค์นับหมื่น ก็อาจไม่มีทางขัดขวาง

เมื่อกองทัพกบฎเข้ามาถึงท้องพระโรง บรรดาเสนาบดีขององค์รายาฮิเยา จึงไม่มีผู้ใดปรากฏกายถวายอารักขาแด่พระนาง

แต่องค์รายาก็เสด็จออกรับฝ่ายกบฎ ด้วยลักษณาการที่ทำให้ผู้รุกรานตกตะลึง และพิศวงอย่างยิ่งครับ

เพราะภาพที่เจ้าเมืองกายุคลัต และทหารทุกนายได้เห็น คือพระนางฮิเยาผู้สง่างามในฉลองพระองค์สีเขียว มีสร้อยพระศอเป็นด้ายทองคำร้อยด้วยบุปผชาติ ทรงประทับยืนเป็นสง่าอยู่เหนือราชบัลลังก์ เบื้องล่างมีเพียงราชองครักษ์ ๒ นาย พร้อมดาบประจำกายถวายอารักขาอยู่

นอกนั้น มีเพียงบรรดาข้าราชบริพาร และนางกำนัล หมอบกายอยู่ ณ พื้นท้องพระโรง

และพลันที่ทั้งสองฝ่ายประจันหน้ากัน องค์รายาฮิเยาก็ทรงถอดมาลัยจากพระศอ โยนพระราชทานให้

ทีท่าของพระนาง ไม่เพียงไร้ความหวาดหวั่นโดยสิ้นเชิง ยังเต็มไปด้วยความสงบเยือกเย็นอย่างยิ่ง ไม่แม้แต่จะทรงเปิดพระโอษฐ์เจรจาสิ่งใด

และท่ามกลางความงุนงงของผู้ติดตาม เจ้าเมืองสายบุรีกลับหมอบลงถวายคำนับเบื้องพระบาทนางกษัตริย์ วางกริชประจำกายบนพื้นท้องพระโรง

แล้วหยิบเอาพวงมาลัยนั้น มาพันไว้รอบศีรษะ พร้อมเปล่งวาจาถวายพระพร ให้บุญญาบารมีขององค์กษัตริยานำความมั่งคั่งเพิ่มพูนสู่บัลลังก์ปัตตานีตลอดไป

จากนั้น รายาฮิเยาเสด็จกลับเข้าที่ประทับ โดยมิได้รับสั่งสิ่งใดทั้งสิ้น

เจ้าเมืองกายุคลัตกล่าวกับบรรดาผู้ติดตามว่า มาลัยที่องค์กษัตริยาพระราชทานนั้น คือเครื่องหมายที่พระนางขอชีวิต

แต่นัยยะที่แท้จริงนั้น รู้อยู่แก่ใจของเขาเป็นอย่างดีละครับ 

เพราะวันรุ่งขึ้น เจ้าเมืองสายบุรีนำไพร่พลเดินทางกลับ และไม่เคยมาเหยียบแผ่นดินปัตตานี ให้ระคายพระเนตรพระกรรณอีกเลย

เหตุการณ์ครั้งนั้น สร้างความเคารพยำเกรงให้กับเหล่าเสนาบดี และขุนนางทั้งราชสำนัก จนไม่มีใครกล้าท้าทายพระราชอำนาจของเจ้าผู้ครองนครหญิงอีกต่อไป

แต่แม้กระนั้น กลิ่นคาวเลือดก็กลับคละคลุ้งขึ้น ในพระราชวังอีกครั้งหนึ่ง

ภายใต้ความสงบเยือกเย็น องค์รายาฮิเยาทรงเริ่มสืบสวนกรณีการสิ้นพระชนม์ ของอดีตสุลต่านบาห์โดร ชาห์ อย่างละเอียดถี่ถ้วน และทรงมีพระราชโองการ ให้ประหารทุกคนที่เกี่ยวข้องจนหมด ไม่เห็นแก่หน้าใครทั้งสิ้น

จนไม่มีผู้ใดกล้าทำสิ่งใด ให้ระคายพระเนตรพระกรรณนับตั้งแต่เวลานั้น

จากนั้น องค์รายาฮิเยาก็ทรงแสดงให้ปรากฏว่า ไม่เพียงความเด็ดขาดในการปกครอง กว่าทศวรรษทีทรงสั่งสมความรู้ทางการเมืองระหว่างรัฐเหนือคาบสมุทรมลายู ทำให้พระนางทรงดำเนินพระราโชบายต่างๆ ด้วยพระปรีชาชาญอย่างยิ่ง

ลำดับแรก คือการพระราชทานเจ้าหญิงอูงู พระน้องนางเธอพระองค์เล็ก ให้เสกสมรสเป็นมเหสีของ สุลต่านอับดุลฆอฟูร เจ้านครรัฐปาหัง ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะใช้ความเกี่ยวดองทางเครือญาติกับเจ้านครปาหัง คานอำนาจของรัฐยะโฮร์ ซึ่งทรงอิทธิพลเป็นคู่แข่งบนคาบสมุทรมลายู ณ เวลานั้น

ในขณะเดียวกัน ก็ทรงปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินต่างๆ อย่างขนานใหญ่ จนประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า รัชสมัยของพระนางเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองสงบสุข การค้าขายเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่าบรรดาสุลต่านที่ครองราชย์ในอดีต เพราะบรรดาพ่อค้าชาติต่างๆ ที่เข้ามาค้าขายในปัตตานี ได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมนั่นเอง


รายาฮิเยา ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้แทนการค้าชาติต่างๆ
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด

ตวามเจริญทางเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และการค้าที่เจิดจรัสเป็นครั้งแรกอย่างแท้จริง นับตั้งแต่ราชวงศ์ศรีวังสาได้สถาปนานครปัตตานี และปกครองมากว่าร้อยปี ทำให้พระนามขององค์รายาฮิเยา ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักเพียงในคาบสมุทรมลายูเท่านั้น ยังมีชื่อเสียงลือเลื่อง ขจรขจายไปทั่วโลกครับ

จนถึงขนาดที่กษัตริย์จากอาณาจักรต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชียและยุโรป ได้ส่งคณะทูตมาเชื่อมสัมพันธไมตรีกับนครปัตตานีโดยตรง ในระดับที่เหนือกว่ากรุงศรีอยุธยา และกรุงหงสาวดี ที่กำลังเป็นมหาอำนาจอยู่ในแผ่นดินใหญเวลานั้น

ซึ่งพระนางก็โปรดฯ ให้แต่งราชทูตไปยังเมืองต่างๆ เหล่านั้น เพื่อเป็นการตอบแทนสัมพันธภาพ รวมทั้งกรุงศรีอยุธยาและญี่ปุ่นด้วย

อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งบริบูรณ์ในฐานะศูนย์กลางการค้าขายในคาบสมุทรมลายู ประกอบกับการเป็นนครรัฐที่ปกครองโดยผู้หญิง ทำให้กรุงศรีอยุธยาคิดจะยึดกรุงปัตตานี เพื่อควบคุมเครือข่ายการค้าทางปักษ์ใต้

จนทำให้เกิดสงครามกันขึ้นในปลายรัชสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช รับบทโดย พันโทวันชนะ สวัสดี
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

จอมกษัตริย์แห่งอยุธยา หรือที่ชาวมลายูถวายพระสมัญญานามว่า รายา อาปี (ราชาแห่งไฟ) โปรดฯ ให้กองทัพจากกรุงศรีอยุธยา มุ่งลงใต้สู่นครรัฐปัตตานี ใน พ.ศ.๒๑๔๖

ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวง สะท้านสะเทือนไปทั่วดินแดนปักษ์ใต้ และคาบสมุทรมลายู

แต่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ทหารขององค์รายาฮิเยา ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากชาวต่างชาติ ที่มาค้าขายอยู่ในปัตตานีเวลานั้น สามารถต้านทานไว้ได้ครับ 

อีกทั้งยังทำให้กองทัพอยุธยา ได้รับความสูญเสียเป็นอันมาก จนต้องล่าถอยกลับกรุงศรีอยุธยาอย่างสิ้นหวัง

เหตุการณ์นี้ เป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วทุกนครรัฐในทะเลใต้ ถึงพระเดชานุภาพขององค์นางพญาแห่งปัตตานี ที่สามารถเอาชนะกองทัพของราชาแห่งไฟ มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้พิชิตอาณาจักรพม่าและเขมร จนเป็นที่ครั่นคร้ามไปทั่วมาแล้ว


พระราชวังอิสตานานีลัม และป้อมเมืองปัตตานี
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด

แต่แม้จะเป็นผู้ชนะ องค์รายาฮิเยาก็ไม่ทรงมีพระราชประสงค์จะทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาอีกหรอกครับ

พระนางทรงเข้าใจความประสงค์ของอยุธยาในด้านการค้าทางทะเล จึงมีการเจริญสัมพันธไมตรีกันในปีต่อมา คือ พ.ศ.๒๑๔๗

และหลังจากนั้น การค้าขายระหว่างปัตตานีกับกรุงศรีอยุธยา ก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องด้วยดี สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเรียกรายาฮิเยาว่า พระนางเจ้าหญิง ซึ่งชาวเมืองปัตตานีก็พากันเรียกตาม แต่ออกเสียงเพี้ยนเป็น รายาจาเย็ง หรือ นาซาแย หรือ นังจาแย

และพลอยทำให้รัฐอื่นๆ ในโลกมลายู ต่างพากันเรียกพระนางว่า ราชานังจายัม (Raja Nang Cayam) ซึ่งก็ล้วนมาจากคำว่า พระนางเจ้าหญิง นั้นเอง

การที่กษัตริย์อยุธยา ใช้คำเรียกองค์รายาฮิเยาดังกล่าว ถือเป็นการยกย่องอย่างสูงครับ

เนื่องจากโดยปกติแล้ว ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาไม่ค่อยยอมรับฐานะการเป็นกษัตริย์ของบ้านอื่นเมืองอื่น โดยเฉพาะรัฐใดๆ ที่ทางอยุธยาเคยคาดหวังว่า จะผนวกเข้าเป็นประเทศราช

หลังจากนั้น นครปัตตานีก็ถึงพร้อมด้วยมั่งคั่งร่ำรวยอย่างแท้จริง ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ท่าเรือใหญ่คับคั่งไปด้วยเรือสินค้านานาชาติ  

ดังมีผู้บันทึกไว้ว่า อ่าวปัตตานียามค่ำคืน ณ เวลานั้น สว่างไสวไปด้วยแสงไฟของเรือสินค้าจากอยุธยา บรูไน จัมบี (Jambi) มากัสซาร์ (Makasar) โมลุกกะ (Moluccas) จีน ญี่ปุ่น กัมพูชา สุมาตรา ฮอลแลนด์ อังกฤษ โปรตุเกส และสเปน

เมื่อกิจการบ้านเมืองเป็นไปด้วยดีดังนี้ องค์รายาฮิเยาก็ทรงผ่อนคลายพระราชกิจลง ช่วงปลายรัชสมัย ๗ ปีก่อนสวรรคต พระนางประทับอยู่แต่ในพระราชวัง มิได้เสด็จพระราชดำเนินไปตรวจงานต่างๆ ด้วยพระองค์เองอีกต่อไป

เหล่าพสกนิกรและชาวต่างชาติ จึงได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมีของพระนางอีกครั้ง ก็เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๑๕๕ ซึ่งพระนางและเจ้าหญิงบีรู รัชทายาท เสด็จพระราชดำเนินโดยชลมารค เพื่อไปล่าสัตว์ที่แหลมโพธิ์ ซึ่งผู้แทนการค้าชาวอังกฤษและชาติต่างๆ ก็ได้ตามเสด็จ และบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ไว้เป็นอันมากครับ


Triumphal Procession near the City of Patani
ภาพพิมพ์โดยศิลปินชาวฮอลันดาเมื่อ พ.ศ.๒๑๕๕
แสดงภาพขบวนเสด็จของรายาฮิเยา ซึ่งประทับบนพระคชาธาร

หลังจากนั้น พระนางก็เก็บพระองค์เงียบอย่างแท้จริง บุตตลภายนอกพระราชวังไม่ล่วงรู้ความเคลื่อนไหว หรือข่าวคราวใดๆ เกี่ยวแก่พระนางอีกเลย

จนอาจจะเป็นเหตุ ให้ความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานี กับรัฐปาหังเริ่มเปลี่ยนแปลง

สุลต่านอับดุลฆอฟูร แห่งปาหัง ผู้เป็นน้องเขย เริ่มมีข้ออ้างที่จะไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอต่างๆ ของทางปัตตานีอีกต่อไป

โดยเฉพาะเมื่อรายาฮิเยา ทรงมีพระราชสาส์นถึงองค์สุลต่าน ขอให้ทรงพาเจ้าหญิงอูงูเสด็จกลับมาประพาสปัตตานีบ้าง เนื่องด้วยพระน้องนางเธอ มิได้เสด็จกลับมาเฝ้าสมเด็จพระเชษฐภคินี เป็นเวลายาวนานถึง ๒๘ ปีแล้ว

และในเวลานั้น องค์รายาฮิเยาเองก็ทรงเจริญพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ทรงมีความอาลัย ถึงพระขนิษฐภคินีพระองค์เล็กเป็นอันมาก

แต่เมื่อสุลต่านปาหังทรงปฏิเสธอีก นางพญาผู้เก็บพระองค์เงียบอยู่ในพระราชวังมาหลายปี ก็ทรงสำแดงพระราชอำนาจให้ปรากฏอีกครั้ง

นางสิงห์ผู้ชรา ยังไม่สิ้นลายอย่างที่องค์สุลต่าน และเจ้าครองนครรัฐอื่นๆ หมิ่นประมาทไว้เลยครับ

ทรงมีพระราชโองการ ให้สกัดกั้นเรือสินค้าทุกลำจากอ่าวปัตตานี ที่จะเดินทางไปรัฐปาหัง และส่งกองทัพเรือ ๗๐ ลำ พร้อมกับกำลังพล ๔,๐๐๐ อัญเชิญพระราชสาส์นไปยังนครป่าหัง เพื่อทูลเชิญองค์สุลต่านให้ทรงพาครอบครัวเสด็จประพาสปัตตานีอีกครั้ง

เมื่อได้รับคำปฏิเสธอีก นครปาหังจึงถูกกองทัพเรือปัตตานีถล่มเสียหายยับเยิน แม้ทางปาหังจะได้กองทัพเรือจากสุลต่านฮัสซันแห่งบรูไน ซึ่งเป็นพันธมิตรมาช่วย ก็ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น


สุลต่านอับดุลฆอฟูร แห่งปาหัง รับบทโดย เจษฎาภรณ์ ผลดี
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด

องค์สุลต่านปาหังจึงจำต้องยินยอม เสด็จพร้อมพระมเหสี และ เจ้าหญิงกูนิง พระธิดา มายังนครปัตตานีตามคำทูลเชิญดังกล่าว

วันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๑๕๖ สุลต่านและราชินีแห่งปาหัง พร้อมด้วยพระธิดาเสด็จถึงปัตตานี คืนวันนั้นมีงานเลี้ยงใหญ่ภายในพระราชวัง ซึ่งองค์รายาฮิเยาโปรดฯ ให้ผู้แทนการค้าชาวอังกฤษ ฮอลันดา รวมทั้งชาติอื่นๆ ไปร่วมงานด้วย

หลังจากนั้น ทั้ง ๓ พี่น้องประทับอยู่ในพระราชวังด้วยกันอย่างทรงพระเกษมสำราญ ขณะที่สุลต่านแห่งปาหังนั้นดูไร้ความสุข และไม่ได้รับการถวายพระเกียรติแต่อย่างใด

เจ้านครปาหังประทับอยู่ที่ปัตตานีเป็นเวลา ๑ เดือน จึงพาพระมเหสีอูงู และพระราชธิดา ถวายบังคมลาองค์รายาฮิเยา กลับคืนสู่นครปาหัง โดยไม่สร้างปัญหาใดๆ อีกเลย

ทว่า หลังจากสุลต่านปาหัง พาพระมเหสีและพระธิดาเสด็จกลับปาหังไปแล้วเป็นเวลา ๑ เดือน ความยุ่งยากภายในพระนคร ก็เกิดขึ้นในปีต่อมา

กล่าวคือ วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๑๕๖ ระหว่างเทศกาลถือศีลอดของเดือนรอมฎอน ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในสถานที่แห่งหนึ่ง และหัวหน้าพวกชวาคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บระหว่างการสอบสวน

เหตุการณ์นี้บานปลาย จนทำให้คนชวา ซึ่งได้เข้ามาอยู่ในปัตตานีเป็นจำนวนมากพากันลุกฮือ กลายเป็นจราจล มีการวางเพลิงเผาบ้านเรือนราษฎร จนไฟไหม้ถึงประตูพระราชวังอิสตานานีลัม รวมทั้งพากันฉุดคร่าอนาจารหญิงสาว และทำร้ายประชาชนทั่วไป

เวลานั้น ชาวอังกฤษและฮอลันดาในปัตตานี ได้นำอาวุธทันสมัยของตนเข้าร่วมกับกองทหารของรายาฮิเยา ปราบปรามกบฏชวา จนพวกกบฏต้องหลบหนีเข้าป่าบ้าง หนีออกไปยังเมืองสงขลา และพัทลุงบ้าง

ในที่สุด เหตุการณ์ดังกล่าวก็สงบลง บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายเป็นอันมาก ซึ่งองค์รายาก็โปรดฯ ให้ทางราชสำนักช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน สร้างบ้านเรือนทดแทนให้ และพระราชทานอาหาร ตลอดจนเสื้อผ้าของใช้ต่างๆ ทำให้ขวัญกำลังใจของประชาชนกลับสู่ภาวะปกติในเวลาอันรวดเร็ว

หลังจากนั้นเพียงไม่ถึงสามปี เฮนดริก ยานเซน (Hendrik Janssen) พ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามาในปัตตานี ได้บันทึกไว้ว่า องค์รายาฮิเยาทรงพระประชวร และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๑๕๙ พระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา


รายาฮิเยา รับบทโดย จารุณี สุขสวัสดิ์
เป็น characterที่น่าประทับใจที่สุด ในภาพยนตร์เรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด

ครับ, รายาฮิเยา ทรงเป็นกษัตริยาพระองค์แรกในคาบสมุทรมลายู ที่ทรงพระราชอำนาจเหนือบัลลังก์ยาวนานถึง ๓๒ ปี

พระนางไม่ทรงมีพระราชสวามี แต่ทรงเป็นผู้ปกครองเมืองปัตตานีที่พสกนิกรเคารพรัก และยังเป็นขัตติยนารีที่ผู้นำประเทศต่างๆ ทั้งซีกโลกตะวันออกและตะวันตก ยอมรับในพระปรีชาสามารถ

หลังสิ้นรัชกาล พระขนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์ ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อ และทรงดำเนินตามรอยพระบาทขององค์ปฐมกษัตริยา รักษาตวามยิ่งใหญ่ของนครปัตตานีเหนือคาบสมุทรมลายูไปอีก ๓๐ ปี

ก่อนที่ทุกสิ่งจะขบสิ้นลง ในรัชสมัยของกษัตริยาพระองค์ที่ ๔ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาขององค์รายาฮิเยานั่นเอง


……………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

ขอขอบคุณ สหมงคลฟิลฺม เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพจากาพยนตร์ ปืนใหญ่จอมสลัด และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

Total Pageviews