Sunday, November 29, 2015

เบื้องหลัง จอมนางหริภุญไชย






เมื่อเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว ผมได้ไปยืนอยู่เบื้องหน้าพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีที่ จ.ลำพูน และจู่ๆ ก็เกิดความตั้งใจขึ้นมาว่าจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับพระองค์ท่านสักเล่ม

นั่นเป็นที่มาของหนังสือ จอมนางหริภุญไชย ซึ่งนับจนถึงปัจจุบันนี้ได้รับการจัดพิมพ์ ๕ ครั้ง 

ในการเรียบเรียงเนื้อหาของหนังสือดังกล่าว ผมได้อาศัยการสืบค้นและเลือกใช้ข้อมูลจากหลักฐานต่างๆ โดยประสงค์จะให้เป็นหนังสือที่อ่านกันได้ทั่วไป จนแม้ผู้ที่สนใจเรื่องเก่าๆ แต่ไม่มีความรู้ในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีมากนักก็อ่านได้ครับ 

ดังผู้รู้จะพึงสังเกตว่า หลายเรื่องหลายประเด็นที่ผู้สนใจด้านโบราณคดีจริงๆ โดยทั่วไปทราบกันดีอยู่แล้ว ผมก็ยังสอดแทรกเข้าไป ทั้งนี้ก็เพราะเจตนาดังกล่าว 
        
ดังนั้น ผมจึงลำดับเรื่องไปตามข้อมูลที่เห็นว่าเหมาะสม โดยไม่เคร่งครัดว่าที่มาของข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นเอกสารประเภทใด วงวิชาการยอมรับกันหรือไม่ 

เพราะผมได้เห็นมาหลายครั้งแล้วละครับ ว่าเอกสารที่ยอมรับกันในทางวิชาการนั้น บางทีก็ผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงอย่างมากมาย

ในขณะที่เอกสารซึ่งนักวิชาการมิได้เชื่อถือ บางทีก็กลับบรรจุข้อมูลที่ตรงกับข้อเท็จจริงมากกว่า   
  
และเพราะเหตุนั้น ผมจึงหยิบเอาตำนานพื้นเมือง ทั้งที่เป็นมุขปาฐะ คือเรื่องที่เล่ากันมาแต่ก่อน และตำนานที่เรียบเรียงโดยบุคคลซึ่งนักวิชาการบางท่านประทับตราว่าเป็นหมอไสยศาสตร์คนทรง

มาร้อยเรียงต่อเนื่องกับคัมภีร์โบราณ ที่วงวิชาการทั่วไปให้ความนับถือว่าเป็นเอกสารชั้นเก่า สมควรที่จะใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้  

ผลคือ เมื่อหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก ผู้อ่านบางท่านจึงเกิดความสับสนขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่รีบร้อนอ่านจนลืมเจตนารมย์ของผมไป 

ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้ประจักษ์ว่า การคิดจะทำหนังสือให้อ่านกันได้ทั่วไปนั้น ถ้าเป็นผู้อ่านที่มิได้อยู่ในกลุ่มที่ผมตั้งใจไว้แล้ว ก็อาจยังผลในทางที่ไม่พึงประสงค์ได้ แม้ว่าหนังสือดังกล่าวจะได้รับการต้อนรับที่ดีพอสมควรก็ตาม

ในการพิมพ์ครั้งต่อๆ มา ผมจึงตกลงใจปรับปรุงเนื้อหาทั้งหมดให้ละเอียดขึ้น แบ่งแยกไว้ชัดเจนขึ้นว่าผมมีหลักอย่างไร ที่จะเลือกหยิบข้อมูลจากเอกสารใดมาร่วมในการลำดับเรื่อง ทั้งในภาคตำนานและภาคสันนิษฐาน 

ซึ่งสิ่งที่ได้รับก็คือ แม้แต่ในภาคสันนิษฐานนั้นก็พลอยทำให้เกิดแนวความคิดที่แตกแขนงมากขึ้นไปอีก ด้วยมีแง่มุมและข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน จนแม้แต่รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่มิใช่สาระสำคัญของหนังสือก็ยังสามารถเพิ่มเติมได้อย่างเพียงพอ และยังอาจขจัดความสับสนอันเกิดจากการเร่งรีบอ่านเกินไปอีกด้วยครับ 
         



ในการเขียนหนังสือ จอมนางหริภุญไชย นับจนถึงการพิมพ์ครั้งล่าสุด คือครั้งที่ ๕ ผมจึงได้แบ่งแยกเนื้อหาหลักออกเป็น ๒ ส่วนด้วยกัน คือ

ส่วนที่ ๑. เป็นการเรียบเรียงเนื้อเรื่องเกี่ยวแก่พระนางจามเทวี โดยอาศัยเค้าโครงเรื่องข้อมูลหลักๆ จากตำนานพื้นเมือง ร่วมกับคำแปลตำนานจามเทวีวงศ์ของกรมศิลปากร ตำนานมูลศาสนา และชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น 

โดยพยายามเรียบเรียงให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย และดำเนินเรื่องติดต่อกันไปตั้งแต่ต้นจนจบรัชสมัยพระนางจามเทวีเท่านั้น เรื่องของกษัตริย์พระองค์อื่นที่ครองราชย์ต่อมา จะเว้นไม่กล่าวถึง 
  
ส่วนที่ ๒. เป็นการตั้งข้อสมมุติฐาน หรือจะพูดให้ตรงกว่าก็คือ การคาดคะเนถึงเรื่องที่เกิดขึ้นจริงของขัตติยนารีพระองค์นี้ ว่าน่าจะเป็นไปในทิศทางใดบ้าง 

การตั้งข้อสมมุติฐานนี้ เป็นไปท่ามกลางความจำกัดของหลักฐานซึ่งมีเพียงหยิบมือ โดยเฉพาะหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุสถานในจังหวัดลำพูนเอง ซึ่งได้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นจำนวนมากในอดีต จนอาจพูดได้อย่างเต็มปากว่า ทั้งจังหวัดลำพูนจะหาหลักฐานใดที่ยุติได้ว่าเก่าแก่ทันรัชสมัยพระนางจามเทวีในตำนานไม่ได้ 

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมไม่ถือเอาความมีอยู่น้อยของหลักฐาน เป็นข้อจำกัดการคาดคะเนถึงความเป็นไปได้หรอกครับ 

เพราะแม้การพูดเท่าที่มีหลักฐานสนับสนุน ย่อมเป็นสิ่งที่มักทำกันในทางวิชาการ แต่การที่วิชาโบราณคดีไทยเจริญขึ้นมาในอดีต ก็เพราะท่านผู้ศึกษาโบราณคดีแต่ก่อนมิได้ยอมจำนน หรือจำกัดความคิดเห็นของท่านเอง กับหลักฐานที่ค้นพบเพียงน้อยชิ้นในสมัยของท่านเหมือนกันครับ

เราจึงได้เห็นผลงานที่ท่านเหล่านั้นฝากไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งแม้ว่าในที่สุดก็จะกลายเป็นงานที่ล้าสมัยไปทั้งหมดเมื่อมีการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ แต่ผมว่าก็ยังดีกว่าไม่มีใครริเริ่มอะไรเลย 

ทั้งนี้เราจะต้องระลึกว่า ไม่มีศาสตร์แขนงใดที่จะเป็นของทันสมัยใช้ได้อยู่ตลอด จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในรายละเอียดอยู่เสมอครับ

ตั้งแต่การพิมพ์ครั้งแรก จนถึงครั้งล่าสุดนี้ ผมได้รับความช่วยเหลืออย่างจริงใจจากผู้มีอุปการะคุณจำนวนมาก ทั้งในและนอกจังหวัดลำพูน ที่ต้องมาตกระกำลำบากกับผมมากที่สุดคือ อ.อรชร  เอกภาพสากล นักเขียนสารคดีเกี่ยวกับศิลปะพื้นบ้าน ที่ช่วยคิดช่วยลำดับเรื่องช่วยหาประเด็นความเป็นไปได้ต่างๆ อย่างไม่ย่อท้อ จึงเป็นบุคคลที่สมควรได้รับความขอบคุณเป็นพิเศษ   

อย่างไรก็ตาม ในการปะติดปะต่อเรื่องจากหลักฐานที่มีน้อยและไม่ลงรอยกันเท่าที่มีอยู่ ผมก็ได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่สติปัญญาจะพึงมีนะครับ ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่ไม่น้อย 

และเมื่อเป็นเพียงการคาดคะเนจึงไม่ใช่ข้อยุติ เป็นได้เพียงมุมมองหนึ่งเท่านั้น
 
หลักฐานเดียวกัน เหตุการณ์เดียวกัน ผู้อื่นมาสนใจศึกษาก็อาจมองมุมอื่นได้อีก การมองให้ได้แง่มุมและทรรศนะที่หลากหลายที่สุดย่อมนำมาซึ่งผลดีที่สุด 

ดังนั้น สิ่งที่ปรากฏในหนังสือของผม จึงมิใช่การลงมือกระทำเรื่องของพระนางจามเทวีให้สมบูรณ์อย่างแท้จริง เป็นเพียงการเสนอความเป็นไปได้ทางหนึ่ง จากหลายๆ ทางเท่านั้น

ผมจึงหวังว่า จะมีผู้ค้นคว้าต่อไปในภายภาคหน้า ให้ได้สมมุติฐานที่สมบูรณ์และใกล้เคียงความจริงกว่าที่ผมได้กระทำไว้

ซึ่งก็จะต้องขอฝากไว้ในมือของผู้รู้ทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี ตลอดจนถึงปราชญ์ชาวบ้านที่จะมาช่วยกันขบคิด

และเมื่อถึงเวลานั้น หนังสือของผมจะล้าสมัยหรือถูกมองว่าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ

เพราะเมื่อนึกย้อนไปถึงความตั้งใจเมื่อหลายปีก่อน ผมก็ได้ทำตามความตั้งใจนั้นอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว

หนังสือเล่มนี้ ทำให้หลายๆ ท่านได้ไปช่วยกันขบคิด ต่อยอด ดังที่มีการจัดเสวนาเรื่องพระนางจามเทวีในลำพูนหลายครั้ง ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และผมได้เห็นความงอกงามทางวิชาการที่เกี่ยวข้องจากกิจกรรมดังกล่าว

แค่นี้ก็ดีเหลือเกินแล้วครับ 

Saturday, November 28, 2015

พระนางจามเทวี




ภาพจาก http://www.nmt.ot.th

ยา เทวี จามะเทวีนามิกา อะภิรูปา อะโหสิ ทัสสะนียา ปาสาทิกา พุทธสาสะเน จะ อะภิปะสันนา, สา อะตีเต เมตตายะ เจวะ ธัมเมนะ จะ หะริภุญชะยะธานิยา รัชชัง กาเรสิ, หะริภุญชะยะนะคะระ วาสีนังปิ มะหันตัง หิตะสุขัง อุปปาเทสิ, อะหัง ปะสันเนนะ เจตะสาตัง วันทามิ สิระสา สัพพะทาฯ 

พระเทวีองค์ใด พระนามว่า จามเทวี มีพระรูปเลอโฉม ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ในอดีตกาล พระนางได้ปกครองหริภุญไชยด้วยพระเมตตาและเป็นธรรม อำนวยประโยชน์สุขแก่ชาวหริภุญไชยอย่างยิ่ง ข้าพเจ้ามีใจเลื่อมใสศรัทธา ขอน้อมเกล้าสักการพระเทวีองค์นั้นฯ


คาถาบูชาพระนางจามเทวี โดย พระเมธีปริยัติยาภรณ์ (บุญชุม  อคฺคธมฺโม)


พระนางจามเทวี ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกๆ ที่ปรากฏพระนามในประวัติศาสตร์ 

ยุคสมัยที่พระนางทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น คาดกันว่าจะเก่าไปถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เป็นอย่างน้อย

ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นยุคสมัยอันเลือนลางของอารยธรรมทวารวดีตอนต้นในสุวรรณภูมิ ซึ่งแทบจะไม่มีหลักฐานใดๆ ตกทอดมาถึงเรามากพอแม้เพียงจะลองนึกภาพ

พระนางทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของนครหริภุญไชย ซึ่งยังคงเป็นรัฐที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของสยามประเทศมาจนถึงเวลานี้

แน่นอนที่ว่า เรื่องของพระนางจามเทวีถูกบรรจุไว้ในหน้าประวัติศาสตร์จริงๆ เพียงไม่กี่บรรทัด  ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก 

เหตุผลประการหนึ่งอาจเป็นเพราะ---คนจำนวนมากยังถูกครอบไว้ด้วยความเชื่อล้าสมัยที่ว่า "สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย"

จนไม่สามารถเข้าใจได้ว่า เราควรจะนับสิ่งใดเป็นประวัติศาสตร์ไทย ระหว่างเรื่องราวอันแสนจะเลือนลางของชนชาติเล็กๆ ชนชาติหนึ่งที่อพยพมาจากตอนใต้ของจีน และเพิ่งจะก่อร่างสร้างตัวเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมาได้เมื่อ ๗๐๐ ปีมานี้เอง 

กับภาพที่ชัดเจนอย่างยิ่ง ของรัฐโบราณจำนวนมากที่มีอายุนับพันปี ที่เกิดขึ้นมาแล้วในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน           

อีกประการหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ไทยของเรานั้น มีเรื่องของเจ้านายสตรีปรากฏอยู่น้อยมาก

ยิ่งเรื่องของเจ้านายสตรีที่เป็นทั้งเรื่องเล่าอันแพรวพรายไปด้วยสีสัน และเป็นปรัมปราคติอันศักดิ์สิทธิ์ไปด้วยในขณะเดียวกันนั้น ยิ่งมีน้อยเข้าไปใหญ่  

แต่ในท่ามกลางปริมาณอันน้อยนิดของเรื่องราวเหล่านี้ เรื่องของพระนางจามเทวีก็โดดเด่นมาก

เพราะจากตำนานต่างๆ จอมกษัตริย์พระองค์นี้ทรงเป็นสตรีในอุดมคติ ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม  จนกษัตริย์จากประเทศที่อยู่ไกลออกไปต้องเอาชีวิตมาทิ้งเพราะหวังจะได้ครอบครอง 

แต่ในขณะเดียวกัน พระนางก็ทรงมีความเด็ดขาดจนถึงกับทรงเป็นผู้นำกองทัพออกรบด้วยพระองค์เอง ทรงเอาชนะศัตรูที่แกร่งกร้าวได้ครั้งแล้วครั้งเล่า 

และเบื้องหลังตำนานต่างๆ เหล่านั้น หากเราจะมองให้ลึกเข้าไป เราอาจประจักษ์ได้ถึงพระปรีชาสามารถอันแท้จริงที่ซ่อนอยู่...

ตลอดระยะแห่งพระชนม์ชีพ พระนางต้องทรงเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ล้วนแต่ยากลำบากและอันตราย พระนางทรงแสดงให้เห็นพระปรีชาญาณอันสุขุมลึกซึ้ง และทรงปฏิบัติต่อทุกปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่ทรงพบกับความผิดพลาด ทั้งที่แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องใหญ่โต และมีผลอย่างมากมายต่ออนาคตของพระนางทั้งนั้น           

เมื่อพระนางยังเป็นเจ้าหญิง ทรงถูกวางพระองค์เพื่อก้าวขึ้นสู่อิทธิพลเหนือราชบัลลังก์กรุงละโว้  พระนางทรงดำเนินตามกลวิธีที่ได้ถูกกำหนดอย่างมั่นคงและแน่นอน

จนเมื่อสถานการณ์พลิกผัน กลุ่มอำนาจที่สนับสนุนพระนางกลับกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทางการเมือง พระนางถูกส่งไปไกลถึงภาคเหนือเพื่อสร้างเมืองใหม่โดยทุกอย่างเกือบจะเริ่มจากศูนย์ 

ต้องทรงกระทำทุกอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงผืนแผ่นดินล้าหลังไปสู่พุทธนครอันรุ่งโรจน์ ซึ่งในที่สุดก็จะกลายเป็นแสงแรกแห่งอารยธรรมในภาคเหนือ

พระนางต้องเผชิญหน้ากับชนเผ่าพื้นเมืองที่มีกำลังอำนาจมากกว่าหลายเท่า และเมื่อนครรัฐของพระนางเริ่มเป็นปึกแผ่น ก็ต้องทรงพบกับการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพระโอรสทั้งสอง ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างผิดพลาด ย่อมนำไปสู่การแตกสลายของแคว้นหริภุญไชยอย่างแท้จริง 

แต่พระนางก็ทรงคลี่คลายทุกอุปสรรคได้อย่างหมดจด ทรงเป็นผู้รังสรรค์ความเจริญให้บังเกิดในล้านนาได้อย่างที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อน และทรงเป็นต้นวงศ์กษัตริย์หริภุญไชย ที่ครองราชย์ต่อเนื่องกันมากว่า ๖๐๐ ปี...
         
พระนางไม่เพียงทรงเป็นผู้นำที่รอบคอบ แตกฉานในกลยุทธทางการเมือง และทรงเห็นการณ์ไกลเท่านั้น แต่ยังทรงเป็นผู้นำที่เปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม

พระปรีชาสามารถทั้งหลายของพระนางได้จากประสบการณ์ การเรียนรู้ และวิจารณญาณส่วนพระองค์อันประณีต มิใช่ได้มาโดยความช่วยเหลือของเทพยดาฟ้าดิน หรือศาสตราวุธอันวิเศษ

ยิ่งไปกว่านั้นพระนางยังทรงพบกับความสำเร็จในการศาสนา แม้ว่าโดยส่วนพระองค์จะยังไม่มีหลักฐานปรากฏว่าได้ถึงวิมุติสุขในทางธรรมหรืออาจไปถึงพระนิพพาน แต่พระนางก็ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการประดิษฐานทั้งพระพุทธศาสนา และความเป็น ธรรมราชาในภาคเหนือ

ทั้งสองสิ่งนี้ ได้กลายเป็นหัวใจหลักของอารยธรรมล้านนา จนอาจพูดได้ว่า พระนางจามเทวีไม่เพียงแต่ควรจะได้รับการยอมรับว่า ทรงเป็นผู้วางรากฐานศาสนาพุทธในดินแดนแถบนี้เป็นครั้งแรกเท่านั้น หากแต่ความรุ่งเรืองแทบทุกอย่างที่ปรากฏ ณ ดินแดนแถบนี้มาจนถึงปัจจุบัน ล้วนเป็นสิ่งที่พระนางทรงริเริ่มไว้ทั้งสิ้น    

เราอาจจะนึกว่า ตำนานอันแพรวพรายไปด้วยสีสันและความศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ ควรเป็นเพียงเรื่องของสตรีในเทพนิยาย หรือสตรีในอุดมคติสักคนมากกว่าจะมีตัวตนอยู่จริงในโลก 
แต่ถ้าจะพิจารณากันแล้ว นี่ไม่เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นสำหรับผู้คนในยุคบรรพกาลของเรา--ผู้ซึ่งได้สร้างสรรค์สิ่งที่เหลือเชื่อทิ้งไว้อย่างมากมาย 

พระนางจามเทวีแม้จะทรงเป็นสตรีที่บริบูรณ์ด้วยคุณสมบัตินานาประการ แต่ก็ทรงมีตัวตนอยู่จริง  และทรงแสดงให้เห็นว่า การเป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบทั้งในทางโลกและทางธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์อาจปฏิบัติให้ถึงได้ แม้จะต้องอาศัยความเป็นอัจฉริยะส่วนบุคคลที่เหนือจากคนอื่นๆ อยู่บ้างก็ตาม  

แต่ถ้าเราพอใจที่จะนึกอยู่เพียงว่า ประพฤติเหตุเช่นนี้เป็นเรื่องเหลือเชื่อ และเหลือที่จะปฏิบัติได้เสียตั้งแต่แรกแล้ว เรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์ของพระนางจามเทวีก็คงจะไม่มีคุณค่าอันใดต่อเรา  มากไปกว่าสิ่งสักการะที่เราทิ้งตากฝุ่นไว้บนหิ้งเลย                    

และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับเรามีแต่ความศรัทธา ที่จะมอบให้ประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองของเรา  แต่ไม่อาจเรียนรู้อะไรได้ 

การมีแต่ความศรัทธา โดยไม่อาจเก็บเกี่ยวสิ่งใดได้จากประวัติศาสตร์นั้น มีผลทำให้สังคมและบ้านเมืองของเรา ไม่อาจหนีพ้นไปจากวังวนแห่งความเสื่อมโทรมดังที่เห็นกันอยู่

พระรูป บนพระราชานุสาวรีย์ที่สวนสาธารณะหนองดอก จ.ลำพูนในปัจจุบัน พระหัตถ์หนึ่งทรงพระขรรค์ อีกพระหัตถ์หนึ่งเชื้อเชิญ คงมิได้หมายถึงทรงเชื้อเชิญให้เราเข้าไปเยือนนครหริภุญไชยอันรุ่งเรืองในกาลก่อนของพระนางเท่านั้น 

แต่ยังได้ทรงเชื้อเชิญให้เข้าสู่โลกของพระนาง--โลกแห่งความเป็นจริงที่เมื่อเข้าไปสัมผัสแล้ว  เราคงต้องมองย้อนกลับมายังยุคสมัยของเราด้วยทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นแน่   

           

Total Pageviews