เมื่อเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว
ผมได้ไปยืนอยู่เบื้องหน้าพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีที่ จ.ลำพูน และจู่ๆ
ก็เกิดความตั้งใจขึ้นมาว่าจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับพระองค์ท่านสักเล่ม
นั่นเป็นที่มาของหนังสือ จอมนางหริภุญไชย
ซึ่งนับจนถึงปัจจุบันนี้ได้รับการจัดพิมพ์ ๕ ครั้ง
ในการเรียบเรียงเนื้อหาของหนังสือดังกล่าว
ผมได้อาศัยการสืบค้นและเลือกใช้ข้อมูลจากหลักฐานต่างๆ
โดยประสงค์จะให้เป็นหนังสือที่อ่านกันได้ทั่วไป จนแม้ผู้ที่สนใจเรื่องเก่าๆ
แต่ไม่มีความรู้ในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีมากนักก็อ่านได้ครับ
ดังผู้รู้จะพึงสังเกตว่า หลายเรื่องหลายประเด็นที่ผู้สนใจด้านโบราณคดีจริงๆ
โดยทั่วไปทราบกันดีอยู่แล้ว ผมก็ยังสอดแทรกเข้าไป
ทั้งนี้ก็เพราะเจตนาดังกล่าว
ดังนั้น
ผมจึงลำดับเรื่องไปตามข้อมูลที่เห็นว่าเหมาะสม
โดยไม่เคร่งครัดว่าที่มาของข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นเอกสารประเภทใด วงวิชาการยอมรับกันหรือไม่
เพราะผมได้เห็นมาหลายครั้งแล้วละครับ
ว่าเอกสารที่ยอมรับกันในทางวิชาการนั้น
บางทีก็ผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงอย่างมากมาย
ในขณะที่เอกสารซึ่งนักวิชาการมิได้เชื่อถือ
บางทีก็กลับบรรจุข้อมูลที่ตรงกับข้อเท็จจริงมากกว่า
และเพราะเหตุนั้น ผมจึงหยิบเอาตำนานพื้นเมือง
ทั้งที่เป็นมุขปาฐะ คือเรื่องที่เล่ากันมาแต่ก่อน
และตำนานที่เรียบเรียงโดยบุคคลซึ่งนักวิชาการบางท่านประทับตราว่าเป็นหมอไสยศาสตร์คนทรง
มาร้อยเรียงต่อเนื่องกับคัมภีร์โบราณ
ที่วงวิชาการทั่วไปให้ความนับถือว่าเป็นเอกสารชั้นเก่า สมควรที่จะใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้
ผลคือ
เมื่อหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก ผู้อ่านบางท่านจึงเกิดความสับสนขึ้น
โดยเฉพาะผู้ที่รีบร้อนอ่านจนลืมเจตนารมย์ของผมไป
ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้ประจักษ์ว่า
การคิดจะทำหนังสือให้อ่านกันได้ทั่วไปนั้น ถ้าเป็นผู้อ่านที่มิได้อยู่ในกลุ่มที่ผมตั้งใจไว้แล้ว
ก็อาจยังผลในทางที่ไม่พึงประสงค์ได้
แม้ว่าหนังสือดังกล่าวจะได้รับการต้อนรับที่ดีพอสมควรก็ตาม
ในการพิมพ์ครั้งต่อๆ มา
ผมจึงตกลงใจปรับปรุงเนื้อหาทั้งหมดให้ละเอียดขึ้น
แบ่งแยกไว้ชัดเจนขึ้นว่าผมมีหลักอย่างไร ที่จะเลือกหยิบข้อมูลจากเอกสารใดมาร่วมในการลำดับเรื่อง
ทั้งในภาคตำนานและภาคสันนิษฐาน
ซึ่งสิ่งที่ได้รับก็คือ
แม้แต่ในภาคสันนิษฐานนั้นก็พลอยทำให้เกิดแนวความคิดที่แตกแขนงมากขึ้นไปอีก
ด้วยมีแง่มุมและข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน จนแม้แต่รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ
ที่มิใช่สาระสำคัญของหนังสือก็ยังสามารถเพิ่มเติมได้อย่างเพียงพอ
และยังอาจขจัดความสับสนอันเกิดจากการเร่งรีบอ่านเกินไปอีกด้วยครับ
ในการเขียนหนังสือ จอมนางหริภุญไชย นับจนถึงการพิมพ์ครั้งล่าสุด คือครั้งที่ ๕ ผมจึงได้แบ่งแยกเนื้อหาหลักออกเป็น ๒ ส่วนด้วยกัน คือ
ส่วนที่ ๑. เป็นการเรียบเรียงเนื้อเรื่องเกี่ยวแก่พระนางจามเทวี
โดยอาศัยเค้าโครงเรื่องข้อมูลหลักๆ จากตำนานพื้นเมือง
ร่วมกับคำแปลตำนานจามเทวีวงศ์ของกรมศิลปากร ตำนานมูลศาสนา และชินกาลมาลีปกรณ์
เป็นต้น
โดยพยายามเรียบเรียงให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย
และดำเนินเรื่องติดต่อกันไปตั้งแต่ต้นจนจบรัชสมัยพระนางจามเทวีเท่านั้น
เรื่องของกษัตริย์พระองค์อื่นที่ครองราชย์ต่อมา จะเว้นไม่กล่าวถึง
ส่วนที่ ๒. เป็นการตั้งข้อสมมุติฐาน
หรือจะพูดให้ตรงกว่าก็คือ
การคาดคะเนถึงเรื่องที่เกิดขึ้นจริงของขัตติยนารีพระองค์นี้
ว่าน่าจะเป็นไปในทิศทางใดบ้าง
การตั้งข้อสมมุติฐานนี้
เป็นไปท่ามกลางความจำกัดของหลักฐานซึ่งมีเพียงหยิบมือ
โดยเฉพาะหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุสถานในจังหวัดลำพูนเอง
ซึ่งได้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นจำนวนมากในอดีต จนอาจพูดได้อย่างเต็มปากว่า
ทั้งจังหวัดลำพูนจะหาหลักฐานใดที่ยุติได้ว่าเก่าแก่ทันรัชสมัยพระนางจามเทวีในตำนานไม่ได้
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม
ผมไม่ถือเอาความมีอยู่น้อยของหลักฐาน
เป็นข้อจำกัดการคาดคะเนถึงความเป็นไปได้หรอกครับ
เพราะแม้การพูดเท่าที่มีหลักฐานสนับสนุน
ย่อมเป็นสิ่งที่มักทำกันในทางวิชาการ แต่การที่วิชาโบราณคดีไทยเจริญขึ้นมาในอดีต
ก็เพราะท่านผู้ศึกษาโบราณคดีแต่ก่อนมิได้ยอมจำนน หรือจำกัดความคิดเห็นของท่านเอง
กับหลักฐานที่ค้นพบเพียงน้อยชิ้นในสมัยของท่านเหมือนกันครับ
เราจึงได้เห็นผลงานที่ท่านเหล่านั้นฝากไว้เป็นจำนวนมาก
ซึ่งแม้ว่าในที่สุดก็จะกลายเป็นงานที่ล้าสมัยไปทั้งหมดเมื่อมีการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ
แต่ผมว่าก็ยังดีกว่าไม่มีใครริเริ่มอะไรเลย
ทั้งนี้เราจะต้องระลึกว่า
ไม่มีศาสตร์แขนงใดที่จะเป็นของทันสมัยใช้ได้อยู่ตลอด
จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในรายละเอียดอยู่เสมอครับ
ตั้งแต่การพิมพ์ครั้งแรก จนถึงครั้งล่าสุดนี้
ผมได้รับความช่วยเหลืออย่างจริงใจจากผู้มีอุปการะคุณจำนวนมาก
ทั้งในและนอกจังหวัดลำพูน ที่ต้องมาตกระกำลำบากกับผมมากที่สุดคือ อ.อรชร เอกภาพสากล
นักเขียนสารคดีเกี่ยวกับศิลปะพื้นบ้าน
ที่ช่วยคิดช่วยลำดับเรื่องช่วยหาประเด็นความเป็นไปได้ต่างๆ อย่างไม่ย่อท้อ
จึงเป็นบุคคลที่สมควรได้รับความขอบคุณเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม
ในการปะติดปะต่อเรื่องจากหลักฐานที่มีน้อยและไม่ลงรอยกันเท่าที่มีอยู่
ผมก็ได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่สติปัญญาจะพึงมีนะครับ
ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่ไม่น้อย
และเมื่อเป็นเพียงการคาดคะเนจึงไม่ใช่ข้อยุติ
เป็นได้เพียงมุมมองหนึ่งเท่านั้น
หลักฐานเดียวกัน เหตุการณ์เดียวกัน
ผู้อื่นมาสนใจศึกษาก็อาจมองมุมอื่นได้อีก
การมองให้ได้แง่มุมและทรรศนะที่หลากหลายที่สุดย่อมนำมาซึ่งผลดีที่สุด
ดังนั้น สิ่งที่ปรากฏในหนังสือของผม
จึงมิใช่การลงมือกระทำเรื่องของพระนางจามเทวีให้สมบูรณ์อย่างแท้จริง เป็นเพียงการเสนอความเป็นไปได้ทางหนึ่ง
จากหลายๆ ทางเท่านั้น
ผมจึงหวังว่า จะมีผู้ค้นคว้าต่อไปในภายภาคหน้า
ให้ได้สมมุติฐานที่สมบูรณ์และใกล้เคียงความจริงกว่าที่ผมได้กระทำไว้
ซึ่งก็จะต้องขอฝากไว้ในมือของผู้รู้ทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี
ตลอดจนถึงปราชญ์ชาวบ้านที่จะมาช่วยกันขบคิด
และเมื่อถึงเวลานั้น
หนังสือของผมจะล้าสมัยหรือถูกมองว่าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก
ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ
เพราะเมื่อนึกย้อนไปถึงความตั้งใจเมื่อหลายปีก่อน
ผมก็ได้ทำตามความตั้งใจนั้นอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว
หนังสือเล่มนี้ ทำให้หลายๆ
ท่านได้ไปช่วยกันขบคิด ต่อยอด
ดังที่มีการจัดเสวนาเรื่องพระนางจามเทวีในลำพูนหลายครั้ง ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
และผมได้เห็นความงอกงามทางวิชาการที่เกี่ยวข้องจากกิจกรรมดังกล่าว
เป็นหนังสือที่ดีมากๆ ค่ะ แม้จะต้องใช้เวลาในการอ่าน และทำความเข้าใจอย่างมาก แต่ก็ทำให้ได้รู้มากกว่าที่เคยรู้มา รู้ว่าวิธีคิด วิธีตีความจากตำนานที่หลากหลายมากๆ แต่มีหลักฐานเพียงน้อยนิด เค้าทำกันยังไง ^ ^
ReplyDeleteขอบคุณครับ บางคนที่เขาเอาหนังสือเล่มนี้ไปพูดถึงในบล็อกในฐานะที่เขาเป็นนักอ่าน เขายังทำความเข้าใจไม่ได้เหมือนคุณเลยนะ
Deleteเปียว่าคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเข้าใจ ต้องไม่ใช่คนโง่คะ
ReplyDeleteคุณเปียพูดถูกครับ
Deleteเคารพศรัทธาในพระนางจามเทวีมานาน ต้องไปหาซื้อมาอ่านซะแล้วค่ะ
ReplyDeleteตอนนี้หาซื้อยากนะครับ แต่ที่ร้านค้าข้างพระราชานุสาวรีย์ที่ลำพูนยังมีขายอยู่ ถ้าได้ไปไหว้ก็ลองไปถามดูนะครับ
Deleteเป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวของพระนางจามเทวีได้ละเอียดที่สุดนะคะ ทั้งตำนาน เรื่องเล่า ทั้งการตีความ เรื่องของท่านมีปริศนาอยู่มากมาย อ่านในแง่ตำนานก็สนุก อ่านในแง่วิชาการก็น่าค้นหา
ReplyDeleteขอบคุณครับ กว่าจะเรียบเรียงได้จบเล่มก็หืดขึ้นคอ แก้แล้วแก้อีก หลักฐานใหม่ๆ ก็โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ คนใกล้ตัวก็พลอยต้องมาเหนื่อยไปด้วยกับการตีความ และการลำดับเรื่องราวตามหลักฐานที่มีอยู่ครับ
ReplyDelete