Tuesday, December 1, 2015

ปริศนาของเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี




พระเจดีย์องค์นี้ก่อด้วยศิลาแลงรูปทรงสี่เหลี่ยมทั้งองค์ มีชั้นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ๕ ชั้น  แต่ละชั้นทำเป็นซุ้มด้านละ ๓ ซุ้ม จึงมีพระพุทธรูปภายในซุ้มรวม ๖๐ องค์ องค์พระพุทธรูปทรงประทับยืนทำด้วยปูนปั้น แต่ละซุ้มมีลายปูนปั้นประดับ 

ที่ผ่านมา เรายังไม่พบหลักฐานว่าเจดีย์กู่กุดสร้างในช่วงเวลาใด แต่จากรูปแบบศิลปกรรมของเจดีย์องค์นี้ บางท่านจัดให้อยู่ในช่วงทวารวดีตอนปลาย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ศิลปะแบบละโว้-หริภุญไชย และลักษณะลวดลายของซุ้มนั้นจัดอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖  

ส่วนจารึกภาษามอญหลักที่ ๒ ซึ่งพบที่วัดจามเทวีนี้เองกล่าวว่า เจดีย์องค์นี้ได้รับการบูรณะโดยพญาสรรพสิทธิ์เมื่อพ.ศ.๑๗๖๑ ภายหลังทรุดโทรมลงเพราะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว

บางท่านชี้ว่า ปัญหาความเก่าแก่ของเจดีย์กู่กุด อาจพิจารณาได้จากรูปทรงหรือรูปแบบศิลปกรรมขององค์เจดีย์เอง ซึ่งดูคล้ายกับ สัตตมหาปราสาท ที่นครโปลนนารุวะ ศรีลังกา ซึ่งศิลปกรรมที่นั่นมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘


ภาพจาก http://tourbkk.com

และไม่มีสถูปเจดีย์ในศิลปะอินเดียหรือลังกาองค์ใดอีกเลยที่มีรูปทรงเช่นนี้ แล้วจะเก่าไปกว่าสัตตมหาปราสาทแห่งโปลนนารุวะ

แต่ปัญหาก็คือ ความจริงแล้ว สัตตมหาปราสาทที่โปลนนารุวะ อาจไม่ใช่ต้นแบบของเจดีย์กู่กุดก็ได้

เพราะศิลปะโปลนนารุวะนั้น มีอายุตั้งแต่ราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ก็จริง

แต่เฉพาะสัตตมหาปราสาทนั้น นักวิชาการสมัยปัจจุบันหลายท่านกำหนดอายุจากกรรมวิธีการก่อสร้าง และประติมากรรมในซุ้มของเจดีย์ไว้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ร่วมสมัยกับช่วงที่พญาสรรพสิทธิ์โปรดฯ ให้บูรณะเจดีย์กู่กุดที่เสียหายจากแผ่นดินไหวด้วยซ้ำไปครับ

ซึ่งถ้าการกำหนดอายุดังกล่าวถูกต้อง เราก็เลิกคิดกันได้เลยว่าสัตตมหาปราสาทเป็นต้นแบบของเจดีย์กู่กุดในลำพูน

แถมยังมีการสันนิษฐานกันอีกด้วยว่า ศรีลังกาอาจได้รับอิทธิพลศิลปะทางสถาปัตยกรรมแบบนี้ไปจากเมืองไทยก็เป็นได้

เพราะสัตตมหาปราสาทแห่งนี้ เป็นอาคารที่มีรูปทรงแปลกไปจากโบราณสถานอื่นในโปลนนารุวะ และมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในศรีลังกา แต่ในเมืองไทยมีเจดีย์เหลี่ยมแบบนี้อยู่ด้วยกันหลายแห่ง ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

ถ้าเจดีย์รูปแบบนี้เป็นที่น่าประทับใจของพระสมณฑูตไทยที่ไปลังกา จนถึงกับมีการนำมาจำลองแบบไว้ที่ลำพูน เจดีย์เช่นนี้ก็ควรจะมีมากทั่วไปในลังกา ไม่ใช่มีอยู่แค่องค์เดียว จริงไหมครับ?

นี่กลับกลายเป็นว่า ในภาคเหนือของไทยกลับมีอยู่ด้วยกันหลายองค์ ที่อย่างน้อย ๒ องค์สร้างไว้ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ขณะที่ลังกามีเพียงองค์เดียวซึ่งสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘

ด้วยเหตุนั้น ข้อสันนิษฐานความเก่าแก่ของเจดีย์กู่กุดทั้งหมดที่เรามีอยู่ตอนนี้ จึงมีอยู่เพียงว่า เรายังไม่รู้ว่ารูปทรงของเจดีย์กู่กุดนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร จะเป็นความคิดริเริ่มของช่างหริภุญไชยหรือไม่ เราทราบกันเพียงว่าจากลวดลายของซุ้มพระที่เราเห็นด้วยตานั้น จัดอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖

ซึ่งถ้าเจดีย์กู่กุดมีอายุเก่าแก่เพียงเท่านั้น ก็ไม่มีทางที่จะเป็น สุวรรณจังโกฏิเจดีย์ หรือพระสถูปบรรจุพระอัฐิพระนางจามเทวีได้

เว้นเสียแต่ว่า การระบุพุทธศักราชที่พระนางเสด็จขึ้นครองราชย์จากตำนานต่างๆ จะผิดพลาดหมด และพระนางจะทรงเสวยราชย์จริงเมื่อพ.ศ.๑๕๐๐ เป็นต้นมา  

แต่หลักฐานทางโบราณคดีอย่างอื่นในเขตเมืองลำพูนที่เก่ากว่านั้นก็ค้านอยู่นะครับ โดยเฉพาะโบราณวัตถุที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมทวารวดีทางภาคกลาง ซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยและกำหนดอายุได้ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ 

โบราณวัตถุพวกนี้ ถ้าไม่ถูกนำไปยังหริภุญไชยโดยคณะของพระนางจามเทวี ก็ยากที่จะเป็นบุคคลอื่นซึ่งไม่มีตำนานใดๆ รองรับเลยนะครับ 

อีกทั้งเรายังไม่ควรลืมว่า มีจดหมายเหตุจีนกล่าวถึงรัฐแห่งกษัตรีย์ หรือ หนี่หวังกว๋อ มาตั้งแต่พ.ศ.๑๔๐๖ ซึ่งหมายความว่า พระนางจามเทวีทรงได้ครองรัฐหริภุญไชยมาก่อนหน้านั้น




รูปแบบทางศิลปกรรมของเจดีย์กู่กุด เก่าไม่ทันยุคของพระนางจามเทวีเช่นนี้ แล้วเหตุใด กรมศิลปากรจึงได้ให้ข้อมูลในเอกสารต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า เจดีย์องค์นี้คือสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ ที่พญามหันตยศทรงสร้างเพื่อบรรจุพระอัฐิพระนางจามเทวีตามตำนานมูลศาสนา? 

เราคงต้องย้อนไปดูข้อมูลใน ตำนานมูลศาสนา ซึ่งได้ระบุว่า 

ครั้นเสร็จการถวายพระเพลิงแล้ว ก็แห่พระอัฐิพระนางเลียบมาหนตะวันตกเวียง  ก่อพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิไว้ภายใต้เวียงหริภุญไชย พระเจดีย์องค์นั้นจึงได้เรียกว่าสุวรรณเจดีย์จังโกฏิและบรรจุยังเครื่องประดับของพระนางไว้ในที่นั้นด้วย เป็นต้นว่า ซ้องแลหวีรองไว้ภายใต้พระอัฐิ  พร้อมทั้งงาพระยาช้างมงคลที่ล้มไปแล้วนั้น พระยามหันตยศพระองค์เอางาพระยาช้างมงคลทั้ง ๒ ข้างมาบรรจุไว้ภายใต้รองเครื่องประดับองค์พระราชมารดานั้นด้วย” 
        
และ จามเทวีวงศ์ ซึ่งกล่าวว่า

แล้วจึงเชิญพระธาตุนั้นมาโดยปจฉิมทิศาภาคแห่งพระนคร... แล้วให้กระทำสถานที่หนึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิธาตุอันเป็นที่รมณียฐานแลให้กระทำเป็นเจดีย์มีพระพุทธรูปอยู่ในเบื้องบนหุ้มด้วยแผ่นทองคำ เพราะเหตุนั้นพระเจดีย์นั้นจึงได้มีนามว่าสุวรรณจังโกฏิเจดีย์”  
    
จะเห็นว่า ทั้งสองตำนานให้ข้อมูลสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ที่ตรงกับเจดีย์กู่กุดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ตั้ง หรือ “เจดีย์มีพระพุทธรูปอยู่ในเบื้องบน” อันเป็นส่วนประกอบที่เด่นชัดของเจดีย์ดังกล่าว
  
ผมคิดว่า คำตอบอาจจะเป็นข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้นะครับ

๑) แม้ว่าเจดีย์กู่กุดอาจจะสร้างขึ้นเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ (ซึ่งผมขอเน้นว่า-ยังไม่ถือเป็นข้อยุตินะครับ) แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ซึ่งมีการแต่งตำนานมูลศาสนาและจามเทวีวงศ์นั้น ผู้คนก็คงไม่เห็นว่าจะมีเจดีย์องค์ใดในล้านนาที่เก่าไปกว่าเจดีย์กู่กุดหรอกครับ

ดังนั้น เมื่อพระพุทธญาณเถระ และพระโพธิรังษีเริ่มแต่งตำนานมูลศาสนาและจามเทวีวงศ์ พระเถระทั้ง ๒ รูปคงได้รับคำบอกเล่ามาก่อนแล้วว่า เจดีย์กู่กุดคือสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ หรือไม่ท่านก็เพียงแต่นำเอาเจดีย์กู่กุดนั้นมาอ้างเป็นสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิพระนางจามเทวี 

กล่าวคือ เป็นการผูกตำนานให้มีความสอดคล้องต้องกัน กับหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในสมัยของท่าน และตามข้อมูลที่ท่านมี โดยที่เนื้อหาของตำนานเดิมจริงๆ อาจไม่มีรายละเอียดของสุวรรณจังโกฏิเจดีย์อยู่เลยก็ได้        
             
๒) หรือไม่, พระเถราจารย์ผู้แต่งตำนานมูลศาสนาและจามเทวีวงศ์ ไม่ใช่แค่ “เชื่อ” หรือ “อนุมาน” เอาว่าเจดีย์กู่กุดคือสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ ท่านเขียนไว้อย่างนั้นเพราะท่าน “รู้” ว่ามันเป็นความจริง !?! 

ผมมีความคิดอย่างนี้ เพราะในการไปบรรยายในงานเสวนาปริทัศน์เรื่อง จามเทวี : จอมนางหริภุญไชยณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จ.ลำพูน เมื่อพ.ศ.๒๕๔๗ ดร.ฮันส์ เพนธ์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ลำพูนได้ให้ข้อคิดกับผม และทุกคนในที่นั้นว่า

...การที่พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ กษัตริย์เชียงใหม่ ผู้บูรณะพระธาตุดอยน้อยในพ.ศ.๒๐๙๗ และโปรดฯ ให้จารึกไว้ใน ศิลาจารึกวัดดอยน้อย อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ว่า  พระนางจามเทวีทรงประดิษฐานพระธาตุไว้ในเจดีย์บนดอยน้อย และถวายชีปะขาว ๔ คนพร้อมทั้งครอบครัวเพื่อปฏิบัติรักษาพระธาตุ แสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยในการรับรู้ของกษัตริย์เชียงใหม่พระองค์นั้นก็คือ พระนางจามเทวีทรงมีตัวตนจริง


พระธาตุดอยน้อย ภาพจาก http://www.tripchiangmai.com

ตรงนี้น่าสังเกตครับ, พระนางจามเทวีครองราชย์ในราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๓ พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ที่บูรณะพระธาตุดอยน้อยเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ยังทรงรู้ว่า พระนางทรงมีตัวตนจริง และทรงสร้างเจดีย์กับถวายข้าพระไว้ที่นั่นเมื่อ ๗๐๐-๘๐๐ ปีก่อนรัชสมัยของพระองค์

(แล้วไม่ใช่แค่ทรงรู้นะครับ ยังทรงค้นหาตระกูลที่สืบสายโลหิตมาจากชีปะขาวทั้ง ๔ ตน ที่พระนางจามเทวีทรงตั้งไว้ได้ถึง ๒๒ ครัวเรือนในขณะนั้นด้วย)

แล้วจะเป็นไปไม่ได้หรือครับ ว่าพระพุทธญาณเถระ และพระโพธิรังษี พระเถระชาวเชียงใหม่ที่มีภูมิรู้ชั้นสูงในระดับที่สามารถแต่งตำนานมูลศาสนา และคัมภีร์จามเทวีวงศ์ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ จะไม่รู้ว่าเจดีย์กู่กุดคือสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ ถ้าหากว่านั่นเป็นความจริง?

ผมว่า เราอย่าได้ดูถูกองค์ความรู้ของนักปราชญ์สมัยก่อนเป็นอันขาดครับ

ถึงแม้ว่าจะไม่มีระบบบันทึกหรือการทำเอกสารจดหมายเหตุที่ดีเยี่ยมเท่าจีน แต่เราไม่อาจมองข้ามการสืบทอดความรู้ด้วยมุขปาฐะของคนในภูมิภาคนี้ได้

ตัวอย่างง่ายๆ นะครับ ที่เมืองนครปฐมในอดีต เคยใช้ชื่อว่า ทวารวดี โดยอ้างอิงกับตำนานพระกฤษณะในอินเดีย ซึ่งเป็นตำนานเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ก่อนอารยธรรมทวารวดีในเมืองไทยเสียอีก และความนิยมพระกฤษณะในเมืองไทยก็หายไปนานหลายร้อยปีแล้ว พร้อมกับการเสื่อมสูญไปของอารยธรรมทวารวดีนั่นเอง

แต่มุขปาฐะของคนนครปฐมแม้จนปัจจุบันนี้ ยังสืบทอดนิทานพระยากงพระยาพาน ซึ่งเชื่อมโยงถึงตำนานพระกฤษณะของอินเดียอย่างน่าแปลกใจ

นี่ละครับ ไม่ต้องมีลายลักษณ์อักษร แค่เล่ากันปากต่อปากก็เก็บรักษาเรื่องราวที่เก่านับพันๆ ปีได้

เพราะฉะนั้น จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่า เจดีย์องค์นี้คือสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ตามตำนานจริง 

แต่รูปแบบของเจดีย์องค์เดิม อาจจะไม่มีลักษณะตามอย่างที่เราพบในปัจจุบันก็ได้  

นั่นหมายความว่า ถ้าเจดีย์องค์นี้ เป็นที่บรรจุพระอัฐิของปฐมกษัตริย์แห่งหริภุญไชย บรรดากษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อมาในชั้นหลังก็คงจะได้ทำนุบำรุงอยู่เรื่อยๆ จนถ้าเจดีย์องค์เดิมเสื่อมโทรมเกินกว่าจะดูแลรักษาไว้ได้ หรือคนยุคนั้นมองแล้วเห็นว่าดูเล็กน้อยเกินไป ไม่สมพระเกียรติยศแห่งองค์ปฐมกษัตริย์ ก็อาจจะสร้างใหม่หรือสร้างครอบทับเจดีย์องค์เดิม ด้วยรูปแบบทางศิลปกรรมที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้น

เราจึงได้เห็นว่า ลวดลายปูนปั้นประดับซุ้มพระนั้นเป็นฝีมือช่างสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ คือหลังจากสมัยที่สร้างตามตำนานถึง ๓๐๐ ปีไงครับ

และพอถึงพ.ศ.๑๗๖๑ เจดีย์องค์นี้ก็ยังได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวอีก  พญาสรรพสิทธิ์จึงได้โปรดฯ ให้บูรณะเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง        
     
การบูรณะพระสถูปเจดีย์ที่มีความสำคัญนั้น ย่อมเกิดขึ้นเรื่อยๆ นะครับ ตราบที่บ้านเมืองยังไม่ถูกทิ้งร้าง และการบูรณะแต่ละครั้งก็ย่อมมีการตกแต่งเพิ่มเติมไปตามที่คนแต่ละสมัยจะเห็นเหมาะสม
 
ดังนั้นเราจึงไม่อาจมองเห็นหลักฐานความเก่าแก่ของเจดีย์กู่กุดเมื่อแรกสร้าง ด้วยการดูจากภายนอกหรอกครับ 

เช่นเดียวกับกรณีของพระธาตุหริภุญไชย ซึ่งก็กล่าวกันว่าแบบอย่างเก่าสุดนั้นเป็นซุ้มมณฑป  และมีการสร้างเสริมเปลี่ยนแปลงทั้งรูปทรง และรายละเอียดสืบต่อกันมาดังที่ทราบกันดีอยู่ในปัจจุบัน

โดยส่วนตัวผมนะครับ ผมค่อนข้างให้น้ำหนักกับข้อ ๒ นี้พอสมควร 

เพราะเมื่อพิจารณาจากบรรดาเจดีย์รูปทรงเดียวกันนี้ ที่สร้างต่อๆ กันมาทั้งในลำพูนและเชียงใหม่ ล้วนแต่เป็นเจดีย์ที่มีตำนานสัมพันธ์กับ “ราชนารี” หรือเจ้านายสตรีไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งสิ้น

เช่น เจดีย์ปทุมวดี ในวัดพระธาตุหริภุญชัย ก็มีตำนานกล่าวว่าสร้างโดยพระนางปทุมวดี พระมเหสีของพญาอาทิตยราช ภายหลังจากสร้างพระบรมธาตุเสร็จได้ ๔ ปี


เจดีย์ปทุมวดี ภาพจาก http://www.noyshop.com

เจดีย์เหลี่ยมที่เวียงกุมกาม จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีประวัติว่าพญามังรายทรงถ่ายแบบไปจากเจดีย์กู่กุดของลำพูน ก็มีเรื่องเล่าว่าสร้างเพื่อบรรจุพระอัฐิของมเหสีพญามังราย ซึ่งยังสับสนกันว่าคือพระองค์ใด ระหว่าง พระนางอั้วมิ่งเวียงไชย หรือพระนางอั้วเชียงแสน ที่มีตำนานเป็นชู้กับพ่อขุนรามคำแหง กับพระนางอุษาปายโค พระราชธิดาของกษัตริย์เมืองหงสาวดี ที่ยกให้เป็นอัครมเหสีของพญามังราย


เจดีย์เหลี่ยม เวียงกุมกาม ภาพจาก http://yourchiangmai.com

หรือแม้แต่เจดีย์เหลี่ยมที่วัดพญาวัด จ.น่าน ซึ่งอย่างน้อยต้องสร้างขึ้นก่อนการสร้างเมืองน่านในพ.ศ.๑๙๑๑ ก็มีการอ้างอิงว่านำรูปแบบไปจากลำพูนเช่นกัน จนทางวัดเองถึงกับเล่าว่า พระนางจามเทวีเสด็จมาสร้างไว้หลังช่วยพระเจ้าอนันตยศสร้างนครลำปางแล้ว และในที่สุดก็มีชื่อเรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า พระธาตุจามเทวี


พระธาตุจามเทวี วัดพญาวัด ภาพจาก http://pompernpong.net

เป็นเพราะราชวงศ์กษัตริย์หริภุญไชย ราชวงศ์มังราย และราชวงศ์น่าน มีความยึดมั่นร่วมกันอย่างน้อยมาตั้งแต่สมัยพญาอาทิตยราชแล้ว ว่าเจดีย์กู่กุด คือสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ เป็นเจดีย์ของราชนารีคือ พระนางจามเทวี ใช่หรือไม่?

ถ้าใช่ อย่างน้อยความยึดมั่นเช่นนี้ก็มีมาก่อนการแต่งตำนานมูลศาสนา และคัมภีร์จามเทวีวงศ์ที่เชียงใหม่ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ นะครับ

บางทีความคลุมเครือทั้งหมดที่มีอยู่อาจกระจ่างขึ้น ถ้าหากว่าได้มีการขุดตรวจเข้าไปในฐานรากขององค์เจดีย์ และกรมศิลปากรก็เคยคิดจะกระทำมาแล้วในปีพ.ศ.๒๕๓๖

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในการขุดแต่งครั้งนั้น เกิดความเข้าใจผิดระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยชาวบ้านคิดว่าทางราชการจะขุดค้นเพื่อเอาพระพิมพ์ภายในเจดีย์กู่กุด จึงมีการระดมพลังมวลชนเข้าต่อต้าน จนในที่สุดการขุดแต่งดังกล่าวต้องระงับไป

เรื่องของเจดีย์กู่กุด จึงยังคงเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้

ส่วนที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายท่านเชื่อว่า เจดีย์กู่กุด คือ เจดีย์มหาพล หรือเจดีย์สันมหาพล สร้างโดย พญาอาทิตยราช ซึ่งครองแคว้นหริภุญไชยในพ.ศ.๑๖๖๓-๑๖๙๓ ความเชื่อเหล่านั้นก็ยังตอบคำถามในข้อ ๒ ไม่ได้ว่า แล้วทำไมเจดีย์เหลี่ยมองค์ต่อๆ มาที่สร้างโดยมีเจดีย์มหาพลเป็นต้นแบบ จึงมีความสัมพันธ์กับผู้หญิง

โดยเฉพาะเจดีย์ปทุมวดี ซึ่งสร้างโดยพระมเหสีของพญาอาทิตยราชเอง

เพราะตามตำนาน เจดีย์มหาพลนั้นสร้างโดยข้าศึกชาวละโว้ ที่ถูกจับเป็นเชลยในสมัยพญาอาทิตยราช เพื่อเป็นการปวารณาบุญร่วมกันที่จะได้ยกเลิกสงครามอันยาวนานระหว่างหริภุญไชย-ละโว้ ที่มีมาก่อนหน้านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงที่ไหนทั้งสิ้นนะครับ

และเรื่องของเจดีย์มหาพล ที่จริงก็ยังเป็นเพียงตำนาน ซึ่งมิได้มีหลักฐานจากที่อื่นใดมาสนับสนุนมากเท่ากับตำนานพระนางจามเทวีด้วยซ้ำไป

ผมเองก็มีความสงสัยอย่างนี้นะครับ...ถ้าเรื่องเจดีย์มหาพลนี้เป็นความจริง :

-ทำไมพญาอาทิตยราชผู้สร้างวัดพระธาตุหริภุญชัย กลับให้สร้างเจดีย์นี้ขึ้นนอกเมืองทางทิศตะวันตก แล้วหลังจากนั้นพระมเหสีของพระองค์จึงค่อยเอาแบบมาสร้างไว้ในวัดพระธาตุหริภุญชัยหลังก่อพระธาตุเสร็จได้ ๔ ปี?

-แล้วเหตุใดเจดีย์ที่เชลยศึกร่วมกันสร้าง จึงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เห็นได้ชัดว่าทำขึ้นด้วยฝึมือที่สูง มีความโดดเด่นงดงามลงตัว จนกลายเป็นแม่แบบให้เจดีย์ปทุมวดี และเจดีย์เหลี่ยมในล้านนาสร้างตามมาอีกอย่างน้อย ๓ องค์?

-แล้วเหตุใดเจดีย์ที่เชลยต่างเมืองร่วมกันสร้างเพื่อยุติสงคราม จึงเป็นแม่แบบให้เจดีย์ของล้านนาที่ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการศึกสงครามทั้งสิ้น?

ยังมีเจดีย์ขนาดเล็กองค์หนึ่งครับ อยู่ในวัดจามเทวีเช่นกัน และอาจมีอายุเก่าถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ อันเป็นอายุเก่าสุดที่ยอมรับกันของเจดีย์กู่กุด เจดีย์องค์นี้เราเรียกกันในปัจจุบันว่า รัตนเจดีย์


ภาพจาก http://www.oknation.net

เจดีย์ขนาดเล็กนี้เป็นทรงแปดเหลี่ยม มีซุ้มพระพุทธรูปประทับยืนในส่วนที่เป็นเรือนธาตุรอบองค์ อันเป็นแนวคิดที่คล้ายคลึงกับเจดีย์กู่กุด

เจดีย์องค์นี้ เชื่อกันว่าอาจจะสร้างขึ้นในคราวที่มีการบูรณะเจดีย์กู่กุดในราวๆ พุทธศวรรษที่ ๑๖ ก็ได้นะครับ 

อีกทั้งยังมีนักวิชาการบางท่านเสนอว่า ชื่อ รัตนเจดีย์ที่เป็นของเจดีย์องค์นี้ในปัจจุบัน น่าจะเป็นชื่อเดิมของเจดีย์กู่กุดมากกว่า เพราะนามดังกล่าวได้มาจากศิลาจารึกของพญาสรรพสิทธิ์ซึ่งขุดพบระหว่างเจดีย์ทั้งสององค์

และกล่าวถึงการปฏิสังขรณ์เจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งยอดหักพังลงมาจากแผ่นดินไหวเมื่อพ.ศ.๑๗๖๑ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยอมรับกันว่าเป็นเจดีย์กู่กุดนั่นเองครับ


………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

6 comments:

  1. อ่านแล้วรู้สึกว่า กว่าจะได้ข้อมูลโบราณซักแห่งหนึ่งพอที่จะเอาไปบรรจุไว้ในหนังสือแค่ไม่กี่บรรทัด นักวิชาการต้องตีความกันยากลำบากมากจริงๆ ค่ะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ครับ แต่ก็ไม่มีใครเห็นคุณค่าของวิชาประวัติศาสตร์-โบราณคดี เพราะวิธีสอนในโรงเรียนของเรา ทำให้เด็กเบื่อวิชาพวกนี้ครับ

      Delete
  2. เจดีย์เหลี่ยมแบบนี้ดูไม่น่าเบื่อดีคะ แล้วมีทำกันไว้แค่นี้เท่านั้นเหรอคะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. เท่าที่พบเต็มๆ องค์ ก็มีเท่านี้ครับ ที่จริงอาจจะมีมากกว่านี้แต่ปรักหักพัง หรือสูญหายไปก็ได้ อีกอย่างความนิยมในเจดีย์กลมมีมากกว่าครับ รูปแบบเจดีย์กลมนั้นง่ายต่อการพัฒนาและปรับเปลี่ยนให้มีลักษณะเฉพาะของแต่ละยุคสมัย หรือแต่ละเมือง ขณะที่เจดีย์เหลี่ยมนั้นพัฒนาได้ยาก จะสร้างกันที่ไหนยุคไหนก็ทำได้แค่นั้น ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องแบบเวียงกุมกามไงครับ เอาศิลปะพม่าเพิ่มเข้าไป ก็ทำได้แค่นั้น

      Delete

Total Pageviews