Friday, December 25, 2015

กู่ช้าง





เป็นโบราณสถานตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนวัดไก่แก้ว ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโรงเรียนจักรคำคณาทร เขตเทศบาลเมืองลำพูน ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๒ กิโลเมตร เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บรักษากระดูกช้างผู้ก่ำงาเขียว ซึ่งเป็นช้างคู่บ้านคู่เมืองของนครหริภุญไชยสมัยพระนางจามเทวี

กู่ช้างเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะแปลก ฐานเป็นฐานหน้ากระดานกลม ๓ ชั้นก่อด้วยอิฐสอดิน ชั้นนอกสอปูน ฐานชั้นบนสุดเป็นฐานบัวรองรับเจดีย์ทรงกระบอกปลายสอบเข้าหากัน ก่อด้วยอิฐธรรมดาขนาดเล็ก 

รูปทรงที่แปลกตานี้เป็นแบบอย่างอันเดียวกันกับ เจดีย์บอบอจี ของรัฐศรีเกษตร ซึ่งอยู่ในสหภาพเมียนมาร์ในปัจจุบัน และกำหนดอายุได้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ เพียงแต่ว่าเจดีย์กู่ช้างมีทรวดทรงที่เพรียวกว่าเจดีย์บอบอจีเท่านั้น  และทำให้คิดว่ายอดของเจดีย์กู่ช้างเดิมจึงน่าจะเป็นทรงกรวยคว่ำแบบเจดีย์บอบอจีด้วย


ภาพจาก http://www.thapra.lib.su.ac.th

และแม้เจดีย์องค์นี้จะได้ผ่านการบูรณะมาบ้าง แต่ผู้บูรณะชั้นหลังสุดก็มิได้ดัดแปลงแก้ไขสิ่งใด แม้แต่ส่วนยอดเดิมที่หักไปก็เพียงแต่ทำหลังคาไม้มุงกระเบื้องดินเผาปิดไว้แทนเท่านั้น

ด้วยเหตุที่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์องค์นี้ สามารถเปรียบเทียบกันได้กับเจดีย์ในพม่าที่มีอายุอยู่ร่วมสมัยพระนางจามเทวีดังกล่าว เจดีย์องค์นี้จึงได้รับการสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นโบราณสถานที่สามารถยืนยันความเก่าแก่ของนครหริภุญไชยถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ตรงตามตำนานกล่าวไว้ทุกประการ

แต่นักโบราณคดีของกรมศิลปากรส่วนมาก ไม่ยอมรับข้อสันนิษฐานนี้ครับ 

พวกเขาอธิบายว่า การที่กู่ช้างมีรูปทรงเหมือนเจดีย์บอบอคยี ก็เพราะเป็นการจำลองรูปแบบของเจดีย์ดังกล่าวมาทำแบบย้อนยุคในสมัยล้านนาเท่านั้นเอง 

โดยยกตัวอย่างว่า ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ผู้ครองนครเชียงใหม่ในพ.ศ.๑๙๘๔-๒๐๓๐ นั้น  มีความนิยมในการนำรูปทรงเจดีย์แปลกๆ จากต่างถิ่นมาสร้าง เช่น นำเอารูปทรงของเจดีย์พุทธคยาในอินเดียมาสร้างที่วัดเจดีย์เจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ เป็นต้น




ด้วยเหตุดังกล่าว จึงอาจเป็นไปได้ว่า กู่ช้างแห่งนี้ก็คงสร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราชเช่นกัน โดยเลือกเอารูปทรงของเจดีย์บอบอจีจากรัฐศรีเกษตรในพม่ามาเป็นต้นแบบ 

เพราะจากการขุดแต่งบูรณะกู่ช้างแห่งนี้เมื่อพ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๒๖ ได้พบพระพุทธรูปสำริดสมัยล้านนา แผ่นอิฐจารึกตัวอักษรฝักขาม ซึ่งนิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ รวมทั้งลักษณะของการก่ออิฐทั้งหมดก็เป็นแบบแผนของเจดีย์ล้านนา ไม่เก่าถึงสมัยหริภุญไชย

คำอธิบายนี้คงง่ายแก่การยอมรับ ถ้าหากว่าจะไม่มีการท้วงติงด้วยเหตุผลที่น่าฟังมากกว่าจาก ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ซึ่งกล่าวไว้ในเอกสารด้านวิชาการลำดับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๔๗ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ว่า

กรณีที่พระเจ้าติโลกราชนำเอารูปทรงของพุทธคยามาจำลองไว้ที่วัดเจดีย์เจ็ดยอดนั้นต้องถือว่าเป็นกรณีพิเศษไม่ใช่พระราชนิยม เนื่องจากวัดแห่งนี้มีหน้าที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับกระทำอัฏฐมหาสังคายนาพระไตรปิฎก (ครั้งแรกของเมืองไทย-ครั้งที่ ๘ ของโลก) จึงจำเป็นต้องสร้างวัดให้ดูเป็นสากล การหยิบยืมเจดีย์พุทธคยามาก็เพื่อใช้เป็นเครื่องรำลึกถึงการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ อันสอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอย

ในขณะที่เจดีย์กู่ช้างนั้นตั้งอยู่ในลำพูนซึ่งไม่ใช่ศูนย์อำนาจ และไม่น่าจะมีบทบาทมากพอที่พระเจ้าติโลกราชจะมาทรงใส่พระทัยคัดเลือกแบบอย่างให้ อีกทั้งรูปทรงของเจดีย์พยู (บอบอคยี) นั้นก็แทบไม่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องอันใดกับลำพูน ไม่มีที่มาที่ไป อายุอานามก็ห่างไกลจนไร้คำอธิบาย

จึงขอเสนอมุมมองว่า เป็นไปได้ไหมว่าสถูปองค์ที่เราเห็นแม้จะมีการสร้างใหม่ในช่วงสมัยล้านนา (อาจเป็นสมัยพระเจ้าติโลกราชจริง เพราะสมัยนี้มีนโยบายให้บูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์องค์เก่าๆ ทั่วราชอาณาจักร) แต่ช่างสมัยนั้นได้สร้างขึ้นโดยใช้รูปทรงของเจดีย์องค์เดิมที่เคยพบเห็นมาแต่ก่อน ต่อมาได้พังทลายลง และอย่าลืมว่ายังมีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นที่นักโบราณคดีขุดค้นได้ในฐานรากของกู่ช้าง นั่นคือพระพิมพ์สกุลช่างหริภุญไชย ๓ องค์ แม้นักโบราณคดีจะพยายามอธิบายว่าอาจเป็นสิ่งของที่นำมาบรรจุภายหลังในช่วงล้านนา พร้อมกับการสร้างเจดีย์ก็ตาม เนื่องจากพระพิมพ์เป็นสิ่งที่เคลื่อนย้ายได้

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ครับ  ในการพิมพ์ครั้งที่ ๔ และ ๕ ของหนังสือ จอมนางหริภุญไชย จึงยังคงยืนยันข้อสมมุติฐานตามที่มีก่อนหน้านี้ว่า...  

กู่ช้าง อาจจะเป็นโบราณสถานเพียงแห่งเดียวในจังหวัดลำพูนปัจจุบันที่เป็นไปได้ว่าสร้างทันรัชสมัยพระนางจามเทวี และยังสามารถรักษารูปทรงเดิมไว้ได้ตลอดระยะเวลากว่า ๑,๓๐๐ ปีที่ผ่านมาด้วย 


ภาพจาก http://uauction.uamulet.com

ชาวลำพูนเชื่อกันมานานแล้วว่า ซากทั้งหมดของช้างผู้ก่ำงาเขียวบรรจุไว้ที่นี่ แม้ในคัมภีร์จามเทวีวงศ์จะระบุว่าได้นำงาไปบรรจุไว้ ณ สุวรรณจังโกฏิเจดีย์ก็ตาม คนรุ่นเก่าในลำพูนก็ยังเล่ากันว่าเหตุที่รูปทรงของเจดีย์เป็นทรงกระบอกนั้น เพราะต้องบรรจุซากช้างผู้ก่ำงาเขียวในท่านั่งชูงวงขึ้นบนอากาศ ไม่สามารถบรรจุในท่านอนได้ ด้วยว่าเป็นช้างที่มีอิทธิฤทธิ์ จะฝังซากให้หันงาไปทางทิศใดผู้คนที่นั้นจะพากันล้มตายหมด              

แต่ทว่า ในการขุดแต่งบูรณะของกรมศิลปากรไม่มีรายงานการพบซากซ้างดังกล่าว คนท้องถิ่นบางท่านจึงเสนอว่า อาจจะฝังไว้เฉพาะงาโดยฝังให้ชี้ขึ้นฟ้าก็เป็นได้ เพราะกรมศิลปากรมิได้ขุดเข้าไปถึงใจกลางองค์เจดีย์      

ถ้าจะถามความเห็นส่วนตัวของผม ผมไม่เชื่อนะครับว่ากู่ช้างจะสร้างขึ้นเพื่อฝังซากช้างคู่บ้านคู่เมือง ถึงแม้ว่าพญาช้างนั้นจะมีอิทธิฤทธิ์ ปกบ้านป้องเมืองให้พ้นจากการรุกรานของอริราชศัตรูเป็นที่ประจักษ์ก็ตาม

เนื่องจากการสร้างสถูปเจดีย์ของคนโบราณ เขาสร้างเพื่อบรรจุพระธาตุ หรือไม่ก็พระอัฐิของอดีตกษัตริย์ที่เพิ่งสิ้นพระชนม์ไปเท่านั้นครับ

ถ้าเป็นเชื้อพระวงศ์ก็ทำแค่เจดีย์องค์เล็กๆ เหมือนเจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่ที่อยุธยา ส่วนคนธรรมดาก็หมดสิทธิ์ ยิ่งถ้าเป็นช้าง ถึงจะมีอิทธิฤทธิ์เพียงใด คนโบราณเขาก็มีวิธีฝังโดยไม่ก่อเป็นสถูปเจดีย์ครอบไว้ครับ


ภาพจาก http://www.klongdigital.com

ส่วนเจดีย์อีกองค์ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน และมีชื่อเสียงคู่กันกับกู่ช้างก็คือ กู่ม้า เชื่อกันว่าเป็นที่รักษาซากม้าทรงพระโอรสพระนางจามเทวี เป็นเจดีย์ทรงระฆังก่ออิฐสอดินและฉาบปูนด้านนอก ด้านบนเหลือเพียงบัลลังก์ ยอดหักหายไป 

รูปแบบทางศิลปกรรมเช่นว่านี้ใหม่กว่ากู่ช้าง อาจจะเป็นเจดีย์ของวัดโบราณที่สิ้นสภาพไปแล้วซึ่งสร้างในชั้นหลังก็ได้


………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

8 comments:

  1. รูปทรงเจดีย์แปลกมากนะคะ ดูโบราณมากจริงๆ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ถ้าที่เห็นนี้เป็นรูปทรงเดิมจริงๆ กู่ช้างก็จะเป็นเจดีย์ทวารวดีแบบหนึ่งที่เหลือให้เห็นครบองค์นะครับ

      Delete
  2. ไม่แน่นะคะอาจารย์ ว่าที่รูปทรงสวยกว่าเจดีย์บอบอจี อาจจะเป็นเพราะมาซ่อมใหม่กันในสมัยพระเจ้าติโลกราชก็ได้ เดิมอาจจะเหมือนบอบอจีเปี๊ยบเลยก็ได้นะคะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. เป็นไปได้ครับ เพราะรัฐศรีเกษตรเป็นรัฐร่วมสมัยกับหริภุญไชย ฝีมือช่างก็คงไม่ทิ้งห่างกันมาก

      Delete
  3. มีเรื่องเล่าค่ะอาจารย์ ว่ามีคนเคยเห็นรอยช้างเดินอยู่แถวนี้ (ในสมัยก่อน) ทั้งๆ ที่ตอนนั้นไม่มีช้างซักตัว

    ReplyDelete
    Replies
    1. ผมก็ได้ยินมาเหมือนกันครับ ดูเหมือนหนังสือพิมพ์สมัยนั้นจะถ่ายภาพไว้ด้วย แต่การนำช้างไปเดินแถวนั้นตอนกลางคืนโดยที่ไม่ให้ใครรู้เห็นในยุคที่เป็นข่าวนั้น ทำได้สบายครับ เพราะพื้นที่นั้นยังมีคนอาศัยอยู่ไม่มาก ไม่หนาแน่นอย่างในปัจจุบัน

      Delete
  4. มีกู่แมวด้วยคะอาจารย์

    ReplyDelete
    Replies
    1. ผมก็ไม่ได้ไปดูให้เห็นกับตาสักที ติดใจตั้งแต่ชื่อแล้วครับ ว่าเป็นแมวที่พระนางจามเทวีทรงเลี้ยง

      Delete

Total Pageviews