Thursday, December 17, 2015

พระพิมพ์ดินเผาพระนางสิกขี


ผมได้เขียนไปก่อนหน้านี้แล้วนะครับว่า นอกจากโบราณวัตถุที่ พิพิธภัณฑ์ทันตนคร ซึ่งเป็นของทำในสมัยปัจจุบันแล้ว ยังไม่เคยมีการค้นพบหลักฐานใดๆ ในประเทศไทยซึ่งอ้างถึงพระนางจามเทวีโดยตรง ที่จะมีอายุเก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๒๐ รวมถึงหลักฐานประเภทพระรูปเหมือน หรือพระพิมพ์ด้วย  
  
แต่ในกลางปีพ.ศ.๒๕๔๕ เมื่อผมไปร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับพระนางจามเทวี ที่จัดโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จ.ลำพูน ได้พบว่า มีการนำพระพิมพ์ดินเผาที่มีรูปแบบแปลกตาชุดหนึ่งมาวางจำหน่ายในบริเวณ วัดพระธาตุหริภุญชัย ในราคาระหว่าง ๑๐๐-๒๐๐ บาท ผู้ขายอ้างว่า เป็นพระแตกกรุใหม่ ได้มาจากวัดประตูลี้เมื่อไม่นานก่อนหน้านั้น เรียกกันว่า พระนางสิกขี พระสิกขี หรือพระนางจามเทวี




ลักษณะของพระพิมพ์ดินเผาองค์นี้ เป็นพระเนื้อดินธรรมดา ทำด้วยดินเหนียวชนิดที่จะหาได้ทั่วไป เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ทำให้ได้เนื้อที่เป็นดินสีแดง (Terracotta) มีขนาดกว้างที่สุดวัดจากช่วงพระอุระและพระหัตถ์ทั้งคู่ ๕ ซ.ม. ความยาววัดจากยอดของศิราภรณ์ถึงที่ว่างใต้ขอบพระภูษาทรง ๙.๕ ซ.ม. เป็นพระพิมพ์หันหน้าตรง มีเค้าพระพักตร์เป็นแบบขอม สวมศิราภรณ์ทรงเทริดขนนก มีเครื่องถนิมพิมพาภรณ์และลวดลายฉลองพระองค์แสดงให้รู้ว่าเป็นเจ้านายสตรี พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นทำปางห้ามญาติเสมอพระอุระ 

พระพิมพ์นี้ทำไว้เพียงขอบพระภูษาทรง มีการตกแต่งลวดลายที่พระนาภีและบั้นพระองค์ด้วยเช่นกัน ส่วนด้านหลังไม่มีการตกแต่งหรือลวดลายแต่อย่างใด

ลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จัดว่าไม่มีอยู่ในสารบบพระกรุพระโบราณที่รู้จักกัน ไม่มีผู้ชำนาญการท่านใดได้เคยศึกษาหรืออธิบายไว้เลยครับ จึงดูสอดคล้องกับคำกล่าวอ้างว่าเป็นพระแตกกรุใหม่ 

และด้วยเหตุที่ว่า ลักษณะของพระพิมพ์องค์นี้ ถูกอ้างว่าเป็นพระรูปพระนางจามเทวีโดยตรง ซึ่งไม่เคยมีการค้นพบมาก่อนในประเทศไทย ย่อมจะทำให้ผู้ไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงหลงเชื่อได้โดยง่าย  ทั้งการนำมาขายในราคาถูก ยังจะทำให้ผู้ซื้อตื่นเต้นว่าได้ของดีในราคาย่อมเยา ซึ่งตรงกับนิสัยของคนไทยทั่วไปที่ชอบเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว

เพราะพระโบราณที่มีอายุนับพันปี ย่อมไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลยนะครับ ที่จะมีการนำมาจำหน่ายกันในราคาเพียงองค์ละ ๑๐๐-๒๐๐ บาทเช่นนี้        

ภายหลังกลับกรุงเทพฯ ได้ไม่ถึงเดือน ผมก็ได้พบพระพิมพ์ที่มีลักษณะคล้ายกันนี้จำหน่ายอยู่ในศูนย์พระเครื่องภายในห้างพาต้าปิ่นเกล้า ธนบุรี ผู้นำมาจำหน่ายอ้างว่า เป็นพระสิกขีหรือพระนางจามเทวีเช่นเดียวกัน แต่ไม่บอกแหล่งที่มา

และยังกล่าวว่าพระเช่นนี้มีอยู่หลายพิมพ์ บางทีเค้าพระพักตร์ต่างกัน เรียกตามภาษาในวงการพระเครื่องว่า พิมพ์หน้าแก่ ก็มีนะครับ          

พระนางสิกขีองค์ที่ว่านี้ ลักษณะโดยทั่วไปก็เป็นศิลปะอย่างเดียวกันกับองค์ที่ผมได้มาจากลำพูน แต่ทำด้วยดินที่มีเนื้อสีอ่อนกว่า ดูเก่ากว่า

และแม้ลักษณะ ตลอดจนรายละเอียดต่างๆ จะเหมือนกัน แต่พิมพ์ทรงนั้นคมชัดกว่ามาก รวมทั้งมีขนาดใหญ่กว่า คือมีขนาดยาวประมาณ ๑๑ ซ.ม. แสดงว่าใช้บล็อคละชุดกัน     
  
แต่ความประณีตที่มีมากกว่า รวมทั้งเนื้อดินที่ดูเก่ากว่าเช่นนี้ละครับ ก็ทำให้ราคาจำหน่ายผิดกันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะพระพิมพ์ซึ่งผมได้จากที่ลำพูนนั้น อาจจะหลอกขายให้แก่ผู้ไม่รู้ได้สูงถึง ๑,๐๐๐ บาทเป็นอย่างมาก แต่ราคาขายของพระพิมพ์ที่ศูนย์พระเครื่องแห่งนี้ มีราคาตั้งต้นถึง ๑๕,๐๐๐ บาท  
  
น่าเสียดายว่า พระพิมพ์ดินเผาเหล่านี้เป็นของปลอมที่ทำขึ้นใหม่ทั้งหมดครับ ไม่ว่าจะเป็นองค์ที่มีจำหน่ายอยู่ลำพูน หรือที่กรุงเทพฯ ก็ตาม         

จริงอยู่ที่อาจจะมีข้อแย้งได้ว่า พระพิมพ์ที่ผมได้มาจากลำพูนเป็นของปลอม ซึ่งทำขึ้นอย่างง่ายๆ จึงมีราคาถูกกว่ามาก ของจริงมีพิมพ์ทรงที่ชัดเจนกว่า เนื้อดินก็เห็นได้ชัดว่าคนละอย่างกัน การออกให้บูชาในราคาตั้งต้นที่ ๑๕,๐๐๐ บาทจึงเหมาะสม 

แต่ข้อแย้งนี้ก็จะต้องตกไปในที่สุดครับ เพราะ :   
    
๑) โดยลักษณะทางศิลปกรรมของพระพิมพ์ชุดนี้ทั้งสององค์ เมื่อตรวจดูแล้ว เห็นได้ชัดว่าแนวคิดในการแกะพิมพ์ คือท่าทางของรูปเคารพก็ดี ลักษณะศิราภรณ์และฉลองพระองค์ทั้งหมดก็ดี เป็นการดัดแปลงมาจากพระพิมพ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งนักสะสมโบราณวัตถุสายเหนือรู้จักกันมานานแล้วว่าพบเฉพาะที่เมืองลำพูนเท่านั้น เรียกว่า พระสิกขี” 

และแท้ที่จริงพระพิมพ์ดังกล่าวนี้ มิใช่พระพุทธรูปหรือเทวรูปสำหรับบรรจุกรุ แต่เป็นเพียงรูปเทวดาดินเผาสำหรับประดับสถูปเจดีย์ต่างๆ ในศิลปะหริภุญไชย ซึ่งปัจจุบันมี ๒ ชิ้นจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย

และอีกส่วนหนึ่งยังคงมีให้เห็นจนทุกวันนี้ ในส่วนที่เรียกกันในภาษาช่างว่า “ฝักเพกา” บนซุ้มจระนำของเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี



ภาพจาก Fanpage : Mind GaLLerY

รูปเทวดาเหล่านี้เอง ที่น่าจะเป็นต้นแบบของประติมากรรมในพิพิธภัณฑ์ทันตนคร (ดูบทความก่อนหน้านี้) คือรูปพระนางจามเทวีเมื่อพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษานั่นเอง   


    
     
๒) การดัดแปลงนั้น คงกระทำโดยการสร้างพิมพ์ใหม่ขึ้นตามโครงร่างของรูปเทวดาดินเผาดังกล่าว หรือไม่ก็ตามแบบของประติมากรรมที่พิพิธภัณฑ์ทันตนคร แล้วตกแต่งด้วยการนำเค้าพระพักตร์ และศิราภรณ์ที่มีอิทธิพลศิลปะปาละ มาจากพระพุทธรูปสำริดศิลปะหริภุญไชยรุ่นหลังซึ่งพบที่เวียงท่ากาน มารวมกับแบบอย่างฉลองพระองค์ซึ่งปรากฏอยู่แล้วบนรูปเทวดาดินเผาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖

เหตุที่ไม่ใช้ศิราภรณ์ตามแบบดั้งเดิม ก็คงเป็นเพราะลบเลือนมาก ส่วนลวดลายที่พระนาภีและบั้นพระองค์ก็ทำขึ้นใหม่ให้ดูเข้ากัน    

๓) การผสมผสานเช่นนี้ไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อนครับ เห็นได้ชัดว่าเป็นของที่คิดทำขึ้นใหม่สมัยปัจจุบันนี้เอง และทำขึ้นโดยผู้ไม่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะมากนัก 

เพราะเมื่อทำออกมาแล้ว แบบอย่างศิราภรณ์ซึ่งมาจากพระพุทธรูปสำริดสมัยหริภุญไชย กับแบบอย่างฉลองพระองค์ซึ่งมาจากเทวดาปูนปั้นประดับเจดีย์สมัยหริภุญไชยเช่นกันนั้น แม้ดูเผินๆ อาจจะไปด้วยกันได้ แต่ถ้าพิจารณาอย่างจริงจังแล้วจะเห็นว่าไม่เข้ากัน ไม่กลมกลืนกัน  ด้วยเหตุที่ว่าต้นแบบดั้งเดิมเป็นศิลปะคนละยุคคนละสมัยกันนั่นเอง         
   
๔) แต่การจับแพะชนแกะ ด้วยนำแบบอย่างศิลปะหริภุญไชยจริงๆ มาผสมกันเช่นนี้ แม้จะมีข้อบกพร่องอย่างชัดเจน แต่ก็ควรนับว่าเป็นวิธีการปลอมโบราณวัตถุที่แนบเนียนในระดับหนึ่งนะครับ

เพราะในสายตาของผู้รู้จักศิลปะหริภุญไชยเพียงผิวเผิน ก็ย่อมต้องพบว่าพระพิมพ์เหล่านี้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับพระพุทธรูปสำริดและรูปเทวดาปูนปั้นดังกล่าวได้  
  
ส่วนผู้ไม่รู้เรื่องศิลปะ ถ้าเคยเห็นประติมากรรมจากพิพิธภัณฑ์ทันตนครจากในหนังสือของคุณสุทธวารีแล้ว ก็สามารถหลงเชื่อได้โดยไม่ลังเลเช่นกันครับ เพราะรูปแบบทั่วไปดูคล้ายกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อนำมาจำหน่ายโดยมีการแต่งเรื่องประกอบว่า เป็นโบราณวัตถุที่พบใหม่ จึงทำให้ดูสมจริง น่าเชื่อถือมาก   

๕) นอกจากนี้ ผมได้นำเสนอไว้ในหนังสือ จอมนางหริภุญไชย แล้วนะครับว่า แบบอย่างการฉลองพระองค์ของพระนางจามเทวีตามที่เป็นจริงนั้น ควรจะประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่เรามีกันอยู่  

ดังนั้น ฉลองพระองค์บนพระพิมพ์ชุดนี้ ซึ่งเอาแบบมาจากรูปเทวดาดินเผาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จึงไม่มีความเกี่ยวข้อง หรือสามารถที่จะเชื่อมโยงไปถึงพระนางตามความเป็นจริงได้เลย

พระพิมพ์ที่ผมได้มาจากลำพูน และที่ศูนย์พระเครื่องในกรุงเทพฯ นำมาจำหน่าย สีและความแห้งของเนื้อดินต่างกัน อาจเป็นเพราะได้ดินมาจากคนละแหล่ง หรือเผาด้วยอุณหภูมิที่ต่างกัน แต่ถึงอย่างไรก็เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายโดยช่างปั้นดินทั่วไป เพราะเพียงแต่นำก้อนดินเหนียวที่นวดแล้ว มากดพิมพ์แล้วนำไปเผาเท่านั้น

และการที่เป็นเนื้อดินเผาล้วนๆ ก็ทำให้ยากต่อการที่จะดูว่าใหม่หรือเก่า เพราะไม่อาจกำหนดอายุด้วยสายตาอย่างเที่ยงตรง จึงสามารถหลอกว่าเป็นของเก่าได้      
    
ในช่วงต้นปีพ.ศ.๒๕๔๖ ผมยังได้พบพระพิมพ์ดินเผาที่คล้ายคลึงกันนี้อีกครับ วางจำหน่ายบนแผงลอยขายพระเครื่องริมคลองคูเมืองเดิม ใกล้กับศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลาในสนนราคา ๒๐๐ บาท โดยมีการแต่งเรื่องประกอบว่าได้มาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา




พระพิมพ์ที่ว่านี้ มีรายละเอียดส่วนใหญ่เหมือนกับที่กล่าวแล้ว ผิดกันแต่ว่า :   

๑.กรองศอไม่เหมือนกัน ไม่มีลวดลายที่บั้นพระองค์และพระนาภี   
 
๒.ตัดขอบด้านล่างที่บั้นพระองค์เป็นเส้นตรง ไม่แต่งให้เป็นกรอบครึ่งวงกลม

๓.มีขนาดเล็กกว่ามาก คือกว้างเพียง ๒.๘ ซ.ม. และยาว ๔.๕ ซ.ม.    
    
๔.ทำด้วยเนื้อดินคนละชนิดกัน มีสีเข้มและเนื้อแกร่งกว่า    

เดือนมีนาคม  ปีเดียวกัน ผมก็ได้พบพระพิมพ์ลักษณะเช่นนี้อีกครับ แต่ทำด้วยเนื้อดินชนิดที่แตกต่างออกไป มีผู้นำมาวางจำหน่ายหลายองค์ในแผงลอยข้างกำแพงวัดมหาธาตุในราคาเพียง ๑๐๐ บาท ผู้จำหน่ายเรียกว่า พระนางเศรษฐี เข้าใจว่าเป็นการฟังเพี้ยนมาจากพระนางสิกขี เรื่องที่อ้างประกอบการขายพระพิมพ์ชุดนี้ก็คือ ได้มาจากการขุดค้นที่วัดดอนแก้ว


   
  
เป็นที่น่าสังเกตว่า แบบอย่างพิมพ์ทรงของพระพิมพ์ชุดใหม่นี้ต่างกับทั้ง ๓ แบบที่ผมกล่าวมาแล้ว คือกลับไปดูละม้ายคล้ายคลึงกับรูปเทวดาดินเผาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖ กับรูปพระนางจามเทวีทรงกระทำวิปัสสนาห้ามทัพระมิงค์ที่พิพิธภัณฑ์ทันตนครที่สุด 

ส่วนขนาดนั้นใหญ่กว่าองค์ที่เป็นเนื้อดินสีเข้ม คือกว้าง ๔.๕ ซ.ม. และยาว ๖ ซ.ม. รายละเอียดลบเลือนโดยทั่วไป แต่ก็พอมองเห็นศิราภรณ์และฉลองพระองค์ที่เหมือนกับของพิพิธภัณฑ์ทันตนคร  ลักษณะการตกแต่งให้ดูเก่านั้นทำแนบเนียนกว่าทุกแบบที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ครับ 
    
และเพียงสองเดือนต่อมา พระพิมพ์ที่มีรูปแบบคล้ายกันนี้ก็ออกวางจำหน่ายในกรุงเทพฯ อีกไม่น้อยกว่า ๒ รูปแบบ มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก




เฉพาะที่เป็นขนาดเล็ก (๒.๗ x ๔.๕ ซ.ม.) นั้นทำด้วยดินสีต่างๆ กัน และไม่พยายามที่จะทำให้ดูเก่าอีกต่อไป ฝีมือการแกะพิมพ์นับว่าสวยงามกว่าทุกแบบที่ผ่านมา รวมทั้งสวยกว่าพระพิมพ์ที่ผมได้จากแผงลอยใกล้ศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผมด้วย โดยเฉพาะศิราภรณ์นั้นดูประณีตที่สุด ส่วนขนาดใหญ่กว่านั้นยังพยายามทำให้ดูเหมือนของโบราณบ้าง มีผู้นำมาวางจำหน่ายที่แผงลอยย่านจตุจักรในราคาเพียงองค์ละ ๑๐ บาทเท่านั้น     

น่าสังเกตว่าจนถึงปัจจุบันนี้ พระพิมพ์ประเภทนี้ก็ยังคงมีรูปแบบใหม่ๆ ออกมาวางจำหน่ายอย่างสม่ำเสมอ บางชิ้นมีขนาดใหญ่มาก คือสูงเกือบ ๑ ฟุต และทำอย่างประณีตจนควรจะนับว่าเป็นศิลปวัตถุอย่างหนึ่ง แต่โดยทั่วไปยังคงเป็นขนาดเล็ก ซึ่งในกรณีที่ขายให้แก่ผู้ไม่รู้ก็จะยังคงเล่าเรื่องประกอบว่าเป็นพระเก่า ได้จากวัดโบราณวัดใดวัดหนึ่งใน จ.ลำพูน

พระพิมพ์ที่ผมพูดถึงนี้นะครับ ในช่วงก่อนที่กรุงเทพมหานคร (ยุคที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรเป็นผู้ว่า) ไล่รื้อทำลายย่านการค้าเก่าๆ ทั่วกรุงเทพฯ ชั้นใน ภายใต้ข้ออ้างว่าจัดระเบียบนั้น ยังสามารถพบเห็นได้เสมอจากแผงพระเครื่องริมถนน ฝั่งตรงข้ามกำแพงมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

แต่ถ้าในเวลาที่ผมโพสต์บทความนี้ ก็ยังพอหลงเหลืออยู่บ้างครับ ลองเข้าไปในซอยตรงข้ามวัดมหาธาตุ ที่มีร้านปั้นพระพุทธรูปและพระเกจิอาจารย์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่เป็นที่สังเกต ซ้ายมือก่อนถึงร้านดังกล่าวจะเป็นร้านที่จำหน่ายพระพิมพ์ดินเผา ซึ่งทำเลียนแบบพระพิมพ์โบราณนับร้อยๆ พิมพ์ ผมเคยเห็นว่ามีพระพิมพ์พระนางสิกขีอยู่ด้วยครับ ซึ่งปรากฏว่ามีรูปแบบแปลกใหม่มากขึ้น เช่นบางพิมพ์ก็ทำเต็มองค์ในท่านั่งชันเข่าข้างหนึ่ง ราคาจำหน่ายเพียงองค์ละ ๑๐ บาทเท่านั้น

พระนับร้อยขายเหล่านี้ไม่ใช่ว่ามีอยู่ตลอดเวลาครับ จะหมุนเวียนกันมาเป็นระยะ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าไปแล้วจะได้เห็นทุกครั้ง ต้องไปบ่อยๆ 


เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จ.ลำพูน ที่มาของพระพิมพ์พระนางสิกขี

ในพ.ศ.๒๕๕๐ พระพิมพ์ประเภทนี้ได้มีพัฒนาการยิ่งขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือ หล่อด้วยทองเหลืองแล้วแต่งให้ดูเก่า มีผู้นำมาวางจำหน่ายที่แผงพระภายในศูนย์พระเครื่องของห้างอิมพีเรียลสำโรง แต่ไม่ติดป้ายบอกว่าเป็นพระอะไร ในขณะที่พระเครื่องจากแหล่งอื่น ซึ่งก็มีทั้งเก่าแท้และเป็นของปลอมนั้นมีป้ายบรรยายชื่อและที่มาครบหมด 

เห็นได้ชัดว่า แม้พระพิมพ์ต้นแบบที่ผมกล่าวแล้วว่าควรเป็นของปลอมนั้นจะเพิ่งเกิดมาได้ไม่นาน  แต่ก็มีการทำปลอมกันเองอีกหลายชั้นจนกลายเป็นของดาดๆ ไปเสียแล้วครับ แสดงว่าได้รับความสนใจในวงการมากในช่วงเวลานั้น

แต่เมื่อล่วงเลยไปจนถึงหลังพ.ศ.๒๕๕๐ ความสนใจดังกลาวน่าจะลดลง เพราะปรากฏว่ามีเพียงเซียนพระไม่กี่รายเท่านั้น ที่นำพระพิมพ์ชุดนี้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารพระเครื่องในฐานะพระกรุชนิดหนึ่ง

แล้วในที่สุด ก็มีกลุ่มผู้ที่อ้างว่าเป็นลูกศิษย์ของ หลวงปู่สรวง พระภิกษุชาวเขมร นำพระพิมพ์นี้มาประชาสัมพันธ์ว่า เป็นพระพิมพ์ที่หลวงปู่อธิษฐานจิตหรือปลุกเสกไว้

ซึ่งถ้าใครไปถามศิษย์ใกล้ชิด ที่อุปัฏฐากหลวงปู่หลายสิบปีจนหลวงปู่มรณภาพ ก็จะได้รับการยืนยันว่าหลวงปู่ไม่เคยได้ปลุกเสกอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากวัตถุมงคลประเภทเหรียญพระเกจิอาจารย์ของวัดแห่งหนึ่งเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน การที่ จอมนางหริภุญไชย ได้พิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่อง บวกกับการที่ลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งของผมช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลใน Facebook ว่าประติมากรรมที่เห็นนี้ ไม่ใช่พระนางสิกขี และไม่เกี่ยวข้องอะไรกับพระนางจามเทวี กลุ่มเซียนพระก็เปลี่ยนวิธีการขายใหม่ ใช้พิมพ์ใหม่ที่เป็นลักษณะเต็มองค์ และจากพระนางสิกขีก็เปลี่ยนเป็นชื่ออื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระกรุพระโบราณใดๆ อีกต่อไป




แต่ก็ยังเอามาขายกันในฐานะวัตถุมงคลที่หลวงปู่สรวงปลุกเสกเหมือนเดิม โดยส่วนใหญ่ (อาจจะเป็นเจ้าของเดียวกันหมด?) อ้างว่า หลวงปู่สรวงเสกเมื่อปี ๒๕๑๙ บางแห่งก็บอกว่า ออกที่วัดภูตะแบง


ผมก็จะคอยดูต่อไปนะ ว่าถ้าทำกันอย่างนี้ยังขายไม่ออก สิ่งนี้จะแปลงร่างเป็นอะไรได้อีก


………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

6 comments:

  1. มหากาพย์จริงๆ ค่ะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. และจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ถึงตอนจบนะครับ

      Delete
  2. ไปเล่นของไม่ควรเล่นก็ต้องถูกหลอกแบบนี้คะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. จริงครับ ของที่ควรเล่นมีอีกมากมาย แต่ไม่ไปเล่นเพราะหวังจะได้เป็นเซียนกับของแปลกใหม่ไม่มีในสารบบ หวังรวยทางลัดไงครับคนเรา

      Delete
  3. วงการพระเครื่องนี่มีแต่การหลอกกันจริงๆ นะคะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ใช่ครับ ยิ่งในวงการพระกรุพระโบราณ ผมเห็นมีแต่เรื่องหลอกลวงกัน แล้วก็มีคนที่ต้องจ่ายค่าโง่มากกว่าคนที่ร่ำรวยจากเรื่องพวกนี้มากนัก พระใหม่ปลอดภัยกว่า สืบประวัติก็ง่ายกว่า ก็ไม่เล่นหากันเองนะครับ ไปหลงลมปากเซียนพระว่าพระโบราณมีพุทธคุณมากกว่า ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริงเลย

      Delete

Total Pageviews