Sunday, January 17, 2016

พระนางจามเทวี : การตีความจากตำนาน


พระนางจามเทวี ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งแคว้นหริภุญไชย มีเรื่องราวปรากฏในตำนานต่างๆ เป็นอันมาก ซึ่งล้วนแต่มีรายละเอียดมากมาย ทั้งสอดคล้องกันและแตกต่างกัน

ที่รู้จักกันมากที่สุด คือ ตำนานมูลศาสนา และ จามเทวีวงศ์ ที่แต่งขึ้นโดยพระเถราจารย์ชาวเชียงใหม่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ซึ่งกล่าวว่าพระนางเป็นธิดาของกษัตริย์แห่งกรุงละโว้ ได้เดินทางพร้อมพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฏก และผู้ชำนาญการแต่ละสาขาอย่างละ ๕๐๐ คน จากเมืองละโว้ หรือกรุงลวปุระ สู่นครหริภุญไชย




แต่ในสำนวนพื้นบ้านลำพูนและเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมุขปาฐะนั้นกล่าวว่า พระนางจามเทวีทรงมีชาติกำเนิดเป็นชาวหริภุญไชยมาแต่เดิม โดยเป็นบุตรีของคหบดีผู้หนึ่ง นามว่า อินตา ส่วนมารดาไม่ทราบชื่อ ทั้งสองเป็นชาวเมงคบุตร อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนองดู่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

นอกเหนือจากตำนานทั้งสองฝ่ายดังกล่าวมานี้ ยังมีอีกสำนวนหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมนำมาใช้อ้างอิงกันอย่างแพร่หลายที่สุด เพราะมีรายละเอียดมากที่สุด คือสำนวนที่ นายสุทธวารี สุวรรณภาชน์ อ้างว่าเรียบเรียงจากบันทึกโบราณที่ได้จากพ่อฤาษีแก้ว ในถ้ำบนดอยขุนตาล ถือว่าเป็นตำนานที่เพิ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะเพิ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อพ.ศ.๒๕๐๙ และมาเสร็จสมบูรณ์เมื่อพ.ศ.๒๕๒๕ นี้เอง

ตำนานฉบับนี้กล่าวว่าพระนางจามเทวีเป็นบุตรีของเศรษฐีอินตาเช่นกันครับ และได้มีการบันทึกตามพระชาตาพระนางจามเทวีเมื่อแรกประสูติไว้ว่าตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง พ.ศ. ๑๑๗๖ เวลาจวนจะค่ำ

ทั้งตำนานพื้นบ้านส่วนใหญ่ และตำนานฉบับนายสุทธวารีเล่าตรงกันว่า วันหนึ่งขณะพระนางจามเทวียังเป็นทารกวัยเพียง ๓ เดือน บิดามารดาไม่อยู่บ้าน นกยักษ์ได้โฉบเอาพระนางบินไปถึงดอยสุเทพ ท่านสุเทวฤาษี ซึ่งบำเพ็ญตบะอยู่ที่นั่นจึงแผ่เมตตาจิต ขอให้พญานกปล่อยกุมารีในกรงเล็บ นกยักษ์นั้นก็ปล่อยพระนางร่วงลงกลางดอกบัวหลวงขนาดมหึมา


 

ท่านฤาษีปรารถนาจะเลี้ยงดูพระนางต่อไป จึงใช้พัดช้อนเอาร่างของทารกน้อยจากดอกบัว นำกลับไปที่อาศรม และอธิษฐานให้มีน้ำนมไหลออกจากปลายนิ้วให้กุมารีน้อยนั้นได้ดื่มกินจนกระทั่งเติบใหญ่

แต่ก็ยังมีตำนานชาวบ้านอีกกระแสหนึ่งเล่าว่า เหตุที่พระนางจามเทวีจะต้องจากบิดามารดาไปอยู่กับท่านสุเทวฤาษีนั้น เป็นเพราะพระนางทรงมีพระสิริโฉมงดงาม ซึ่งบิดาก็ปรารถนาจะยกให้ลูกชายคหบดีบ้านหนองเหวี่ยง แต่เปลี่ยนใจภายหลัง 

คหบดีบ้านหนองเหวี่ยงโกรธมาก จึงยกพวกมาวิวาท แล้วต่างฝ่ายต่างก็ไปชักชวนคนจากที่อื่นๆ มาร่วมด้วยจนเรื่องราวบานปลายใหญ่โต ร้อนถึงพระอินทร์ต้องมีเทวโองการให้พระเวสสุกรรมมาลักพระนางไปให้ท่านสุเทวฤาษีเลี้ยงดูแทน

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อของชาวลำพูนส่วนใหญ่โน้มไปในทางที่ว่า พระนางจามเทวีได้ไปอาศัยอยู่กับท่านสุเทวฤาษีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มากกว่าครับ

ในการเรียบเรียงเรื่องนี้เป็นหนังสือต่างหาก ภายใต้ชื่อว่า จอมนางหริภุญไชย ซึ่งในขณะนี้ (๒๕๕๙) ได้ตีพิมพ์ไปแล้ว ๕ ครั้ง ผมได้นำเสนอบทสันนิษฐานซึ่งเกิดจากการนำข้อสังเกตในแต่ละตำนานมาปะติดปะต่อกัน ร่วมกับข้อมูลและหลักฐานทางโบราณคดีทั้งหมด ที่ร่วมสมัยกับยุคของพระแม่เจ้าองค์นี้ เมื่อ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว เท่าที่พอจะทำได้

ซึ่งทำให้ผมได้พบว่า แม้แต่ตำนานที่นักวิชาการทั่วไปไม่ให้ความเชื่อถือเลย คือตำนานฉบับนายสุทธวารี ก็ยังมีข้อมูลบางอย่างที่เป็นประโยชน์ พอจะปะติดปะต่อเรื่องราวที่น่าจะใกล้เคียงความจริงออกมาได้เป็นความยาวถึง ๒๐๐ หน้าในการตีพิมพ์ครั้งล่าสุด

และไม่เกินความจริงที่จะกล่าวว่า นอกจากการตีความ และการตั้งข้อสมมุติฐานเพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวอันแท้จริงของพระนางจามเทวีที่ผมกระทำลงไปในหนังสือดังกล่าวแล้ว แทบไม่มีนักวิชาการท่านใดที่ได้ศึกษาวิจัยไว้รอบด้านเช่นนั้นอีกเลยครับ




แม้แต่นักวิชาการท้องถิ่นที่ลำพูนบางท่าน ซึ่งตกอกตกใจกับวิธีการตีความของผม จนกล่าวบริภาษไปต่างๆ นานา จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีผลงานอันใดเกี่ยวแก่พระนางจามเทวีออกมาเป็นรูปธรรม ให้สาธารณชนพิสูจน์ว่าทำได้ดีและถูกต้องกว่าผม

เพราะฉะนั้น เมื่อช่วงปลายปีพ.ศ.๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนจัดการเสวนาพระราชประวัติพระนางจามเทวีขึ้น โดยมีนักวิชาการ นักปราชญ์ ทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลางหลายท่านช่วยกันนำเสนอข้อสันนิษฐานใหม่ล่าสุด

ผมก็จะขอนำข้อสมมุติฐาน ที่ผมเรียบเรียงไว้ในหนังสือ จอมนางหริภุญไชย มาโพสต์ใน blog นี้ ก่อนที่จะวิเคราะห์วิจารณ์ทฤษฏีใหม่ๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิในงานเสวนานั้น ในบทความที่ผมจะโพสต์ต่อจากบทนี้ละครับ

เพื่อให้หลายๆ ท่านที่ไม่ได้อ่านข้อเขียนของผมใน จอมนางหริภุญไชย ได้รับรู้ว่า ผมมีความคิดเห็น และวางแนวทางการตีความและสันนิษฐานเกี่ยวแก่พระนางจามเทวีไว้อย่างไรบ้าง เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับข้อสันนิษฐานใหม่ล่าสุด ของท่านผ้ทรงคุณวุฒิในงานเสวนาดังกล่าวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่ผมก็จำเป็นต้องนำมาเล่าใหม่ โดยย่อตามสมควรแก่การอ่านผ่านจอคอมพิวเตอร์ หรือหน้าจอมือถือ ผู้ที่ได้อ่านแล้วมีความสนใจใคร่รู้ว่ามีต้นสายปลายเหตุอันใด ผมจึงตีความไปอย่างนั้น ผมก็ขอให้ไปหาอ่านใน จอมนางหริภุญไชย ซึ่งมีการแจกแจงโดยพิสดารไว้ครบทุกบททุกตอนนะครับ

ตามความเห็นของผม ตำนานที่กล่าวว่าพระนางจามเทวีประสูติในภาคเหนือนั้น ไม่มีหลักฐานอะไรรองรับเลยครับ 

ทั้งยังมีข้อบ่งชี้ว่า แต่งขึ้นมาจากการเลียนแบบตำนานทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการประสูติในดอกบัว (เลียนแบบกำเนิดพระนางปทุมวดี ซึ่งเป็นอดีตชาติของพระอรหันตสาวิกาอุบลวรรณาเถรี) และยังมีความซ้ำซ้อนกับตำนานพื้นเมืองอื่นๆ เป็นอันมาก 

เช่นเรื่องการล่องแพไปสู่บ้านเมืองที่เจริญกว่า และได้รับการชุบเลี้ยงอย่างดี เป็นต้น

และแม้พระนางจะประสูติในละโว้ตามคัมภีร์จามเทวีวงศ์ หรือ ตำนานมูลศาสนาระบุไว้ แต่พระนางก็อาจมีความเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่ง กับนครรัฐทางภาคใต้ในขณะนั้น คือ รัฐรักตมฤติกา ซึ่งเป็นเครือข่ายการค้าทางทะเลในคาบสมุทรมลายู เช่นเดียวกับรัฐศรีวิชัย ซึ่งกำลังเริ่มมีอำนาจขึ้นในเวลานั้น 

เช่นว่า พระนางอาจทรงมีพระมารดาเป็นเจ้าหญิงจากรัฐรักตมฤตติกา ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ในปัจจุบันนี้ก็เป็นได้


ซากโบราณสถานยุคพระนางจามเทวีในเมืองยะรัง จ.ปัตตานี
ภาพจาก http://www.oknation.net

ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้ เกิดจาก 

๑) การที่ตำนานฉบับนายสุทธวารี ระบุว่าพระนางทรงมีพระพี่เลี้ยงเป็นชาวปักษ์ใต้ มาจากเมืองโบราณใน จ.ปัตตานี ทั้งๆ ที่นายสุทธวารีไม่ควรจะมีความรู้เรื่องโบราณคดีร่วมยุคศรีวิชัยในจังหวัดดังกล่าว ซึ่งยังไม่แพร่หลายในสมัยของเขา

และ 

๒) การที่คำว่า จาม ในพระนาม จามเทวี นั้น เป็นคำที่ผู้คนในยุคสมัยที่มีการแต่งตำนานต่างๆ เกี่ยวกับพระนางจามเทวีนิยมใช้เรียกคนปักษ์ใต้ โดยเฉพาะคนแถบคาบสมุทรมลายู ซึ่งก็คือคำว่า แขกจาม นั่นเองครับ

ตามความคิดของผม พระเจ้ากรุงละโว้ อาจไม่มีพระราชโอรส และอาจจะทรงเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับนครรัฐศรีวิชัย จึงขอพระราชโอรสของกษัตริย์ศรีวิชัย คือ เจ้าชายรามราช มาเป็นรัชทายาทเตรียมขึ้นครองกรุงละโว้ต่อไป โดยโปรดฯ ให้ไปครองนครรามบุรี ซึ่งนักวิชาการเป็นอันมากเชื่อกันว่า คือนครอโยธยา หรือกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา

และนั่นหมายความว่า ถ้าเจ้าชายพระองค์นี้ได้เสกสมรสกับพระนางจามเทวี ก็จะทำให้อำนาจของกลุ่มนครรัฐทางปักษ์ใต้ คือ ศรีวิชัย กับ รักตมฤตติกา เข้ามาครอบงำละโว้อย่างเต็มรูปแบบไงครับ

นั่นหมายถึง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของละโว้ ในฐานะรัฐเมืองท่าชายฝั่งที่ควบคุมการค้าเป็นเครือข่ายสืบเนื่องถึงรัฐตอนใน อย่าง อู่ทอง นครปฐม ขึ้นไปจนถึงศรีเทพ ฯลฯ ที่เคยสร้างความมั่งคั่งมหาศาล จะเลื่อนไหลไปอยู่ในกำมือของกลุ่มนครรัฐทางภาคใต้ และคาบสมุทรมลายูอย่างสิ้นเชิง

ด้วยเหตุนี้ บรรดากลุ่มอำนาจต่างๆ ในละโว้ จึงต้องหาทางทำลายอำนาจของทั้งพระนางจามเทวี และเจ้าชายรามราช ด้วยการชักนำเจ้าชายโกสัมพีให้นำทัพไทยใหญ่เข้ามา ซึ่งผลของสงคราม แม้พระนางจามเทวีจะได้รับชัยชนะ แต่ก็สูญเสียขุนศึก และกองกำลังของพระนางเองไปมากครับ

และเมื่อเป็นเช่นนั้น ฝ่ายตรงข้ามของพระนางก็อาจควบคุมพระนางและเจ้าชายรามราชไว้ จนทำให้ท่านสุเทวฤาษี ต้องแก้ปัญหาด้วยการส่งสาส์นมาอัญเชิญพระนางเสด็จขึ้นไปปกครองเมืองใหม่ ที่อยู่ห่างไกลออกไปทางภาคเหนือ 

อันจะทำให้พระนางทรงหลุดพ้น จากวงจรการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในละโว้ไปอย่างถาวร




เพราะหลังจากนั้นมีตำนานบางฉบับกล่าวว่า เจ้าชายรามราชทรงมีพระชายาองค์ใหม่ครับ ซึ่งก็อาจเป็นเจ้าหญิงที่ผู้กุมอำนาจในละโว้ขณะนั้นสนับสนุนนั่นเอง

การที่ผมสันนิษฐานเช่นนี้ ยังสามารถตอบคำถามอมตะ ที่ควบคู่กับตำนานพระนางจามเทวีได้ด้วยนะครับ

ว่าเหตุใด พระนางจึงต้องรีบร้อนเสด็จไปตามคำเชิญของท่านสุเทวฤาษีทั้งที่กำลังทรงพระครรภ์ 

และเหตุใดพระภัสดาของพระนางจึงมิได้เสด็จไปด้วย

ในขณะเดียวกัน เมืองใหม่ในดินแดนภาคเหนือ คือ หริภุญไชยนั้น ก็ไม่ใช่บ้านเมืองที่มีความพร้อมสมบูรณ์ที่ถูกเนรมิตขึ้นมา ดังตำนานกล่าวอ้างหรอกครับ

ตรงกันข้าม น่าจะเป็นดินแดนล้าหลังเต็มไปด้วยชนเผ่าที่ไร้ความเจริญ เช่น พวกเม็ง และพวกลัวะถือครองอยู่ พระนางจามเทวีจึงต้องทรงนำช่างฝีมือและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เป็นจำนวนมากไปสร้างเมืองใหม่ที่นั่น

ไม่อย่างนั้น ถ้ามีบ้านมีเมืองมีความเจริญพร้อมสรรพ เพราะฤาษีเนรมิตไว้อยู่แล้ว (ตามที่ตำนานอ้าง) พระนางยังจะต้องทรงนำผู้เชี่ยวชาญอย่างละ ๕๐๐ ขึ้นไปด้วย (ชนิดที่กล่าวตรงกันทุกตำนาน) เพื่ออะไร? จริงไหมครับ?


ภาพจาก http://www.naiboran.com

ซึ่งกว่าจะเสด็จไปถึง ก็ยังต้องฝ่าฟันไปตามเส้นทางที่ยากลำบาก ดังที่ตำนานพื้นบ้านบางสำนวนได้กล่าวถึงอุบัติเหตุในการเสด็จครั้งนั้น และการสูญเสียผู้คนในกระบวนเสด็จครั้งแล้วครั้งเล่า 

ทำให้เห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่เหตุอันควรที่เจ้าหญิงซึ่งกำลังทรงพระครรภ์ จะยอมจำจากพระสวามีเพื่อไปครองเมืองใหม่ โดยต้องเสี่ยงกับอันตรายระหว่างทางมากถึงเพียงนั้นเลยครับ

น่าเสียดายที่ว่า เส้นทางที่เสด็จโดยกระบวนเรือ ส่วนหนึ่งได้สูญหายไปในภายหลังอย่างถาวร อันเป็นผลจากการสร้างเขื่อนภูมิพลในยุคของเรา ไม่อย่างนั้นก็อาจหาหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวแก่พระนางจามเทวีได้เพิ่มขึ้นมาอีกเยอะ

อย่างไรก็ตาม พระนางจามเทวีทรงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการสร้างเมืองใหม่ครับ ซึ่งเท่ากับเป็นการประดิษฐานพระพุทธศาสนาครั้งแรก ณ ดินแดนทางภาคเหนือของไทยด้วย

ในบรรดาวัดต่างๆ ที่ตำนานกล่าวว่าได้ทรงสร้างนับพันวัด ก็ปรากฏซากโบราณวัตถุสถานทั่วไปในเขตจังหวัดลำพูนในปัจจุบันที่หลายๆ แห่งมีอายุย้อนไปถึงสมัยหริภุญไชย 

แม้กระทั่งพุทธปราการทั้ง ๔ มุมเมือง ก็ยังคงความเป็นศาสนสถานมาจนทุกวันนี้

และการสร้างเมืองใหม่ของพระนางจามเทวี ก็คงจะกระทบกระเทือนกับพวกลัวะกลุ่มใหญ่ ที่ครองพื้นที่แถบนั้นอยู่ก่อนอย่างแน่นอนครับ




ทำให้เกิดตำนานสงครามขุนวิลังคะ ซึ่งสะท้อนภาพความพ่ายแพ้ของชาวพื้นเมืองต่อผู้ที่มาอยู่ใหม่ และอาจเป็นผลให้ชาวลัวะเข้าร่วมกับพญามังรายโจมตีนครหริภุญไชย ทำลายล้างนครอันรุ่งโรจน์แห่งนี้ได้สำเร็จในอีก ๖๐๐ ปีต่อมา 

แต่ชาวลัวะก็ไม่เคยกลับมาครองความยิ่งใหญ่ ในแผ่นดินลุ่มแม่น้ำปิงอีกเลย

และหลังจากพระนางจามเทวีทรงครองราชย์ไปได้ระยะหนึ่ง เมื่อพระราชโอรสของพระนาง คือ พระเจ้ามหันตยศเจริญพระชันษาครองเมืองได้ ก็อาจมีเหตุที่พระราชโอรสสองพระองค์จะชิงความเป็นใหญ่กันเอง 

จนพระนางต้องทรงสร้างเมืองเขลางค์นครขึ้นเป็นเมืองแฝด ให้พระราชโอรสองค์รองไปปกครอง ตามตำนานที่เกี่ยวกับพระเจ้าอนันตยศที่ไปเว้าวอนขอเมืองใหม่จากพระราชมารดา พอได้สมพระประสงค์แล้วก็มีการเดินทางไปขอกับพระฤาษีองค์โน้นองค์นี้นั่นละครับ

ซึ่งในระยะแรก ก็คงเป็นพระนางอีก ที่ทรงวางรากฐานความเจริญทุกอย่างให้กับเขลางค์นคร เฉกเช่นที่พระนางทรงกระทำไว้กับหริภุญไชย

แต่เมื่อเขลางค์นครเติบโตได้เป็นอย่างดีแล้ว พระเจ้าอนันตยศก็พยายามปฏิเสธอำนาจของหริภุญไชยด้วยการพยายามให้พระราชมารดาประทับอยู่แต่ในเขลางค์นครของพระองค์

ซึ่งผมแปลกใจมากว่า เหตุใดผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์-โบราณคดีในอดีต ต่างพากันมองข้ามประเด็นนี้ไปกันหมด ทั้งๆ ที่ตำนานบ่งบอกไว้อย่างชัดเจน  เกินกว่าจะให้ตีความไปทางอื่นได้

และพระนางจามเทวีก็ทรงแก้ไขปัญหานี้ ด้วยพระปรีชาสามารถ คือเสด็จไปประทับอยู่ที่อาลัมพางค์นคร ซึ่งเป็นเมืองใหม่ต่างหาก ทำให้เห็นได้ว่าพระนางไม่ทรงเข้าด้วยกับพระราชโอรสองค์ใดทั้งสิ้น ต่อเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว พระนางจึงเสด็จกลับหริภุญไชย และเสด็จสวรรคตที่นั่น

จากแนวทางสันนิษฐานดังที่ได้กล่าวมาโดยย่อนี้ เราจะเห็นกันว่าพระนางจามเทวีไม่เพียงเป็นกษัตริยาพระองค์แรก บนผืนแผ่นดินที่ปัจจุบันประกอบเป็นประเทศไทยของเราเท่านั้น 

พระนางยังทรงเป็นผู้นำแสงแรกแห่งอารยธรรมสู่ดินแดนล้านนา ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกที่นั่น ด้วยพระปรีชาสามารถในด้านการเมืองการปกครองที่ชาญฉลาด อันเป็นผลให้บ้านเมืองที่พระนางสร้างขึ้นนั้น มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาเป็นเวลานานถึง ๖๐๐ ปี

ในขณะเดียวกันกับที่โดยส่วนพระองค์เอง พระนางกลับต้องทรงเผชิญโชคชะตาอันโหดร้ายโดยตลอดครับ

ไม่ว่าการที่ทรงสูญสิ้นอำนาจในบ้านเกิดเมืองนอน ต้องทรงพลัดพรากจากพระสวามี และทรงฟันฝ่าความยากลำบากต่างๆ ตลอดการเดินทางที่ยาวนานรอนแรมในป่าเขาถึง ๗ เดือน ทั้งที่ยังทรงพระครรภ์ แสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัยอันมั่นคงเข้มแข็งของพระนาง จนไม่น่าเชื่อว่าผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งจะทำได้ถึงเพียงนั้น


ภาพจาก http://www.magazinechiangmai.com

เชื่อกันว่า เมื่อเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติที่ลำพูน พระนางทรงมีพระชนมายุได้ ๒๔-๒๖ พรรษาเท่านั้น

...ถ้าเทียบกับสมัยนี้ แม้จะยังคงอยู่ในวัยที่ถูกถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการสร้างอนาคตของชาติ แต่เมื่อมองจากสายตาของผู้ใหญ่แล้วก็ต้องถือว่า ยังเด็ก” ครับ

ปัจจุบัน แม้จะมีหลักฐานในทางวิชาการจำนวนหนึ่ง ที่รองรับถึงการมีตัวตนจริงของพระนาง และเรื่องราวหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระนาง แต่รายละเอียดปลีกย่อยนั้นก็ยังมืดมนกันอยู่ แม้แต่แนวทางการสันนิษฐานของผมดังได้บรรยายไปแล้ว ก็เป็นเพียงข้อสมมุติฐานหนึ่งเท่านั้นนะครับ

เมื่อมีการจัดเสวนาที่ลำพูนครั้งล่าสุด ตามที่ผมกล่าวถึงข้างต้น จึงน่าจะเป็นนิมิตหมายอันดี ที่จะนำไปสู่การสังคายนาพระราชประวัติพระนางจามเทวี และประวัติศาสตร์ยุคเริ่มต้นของดินแดนล้านนาอย่างจริงจังเสียที

นั่นหมายถึง---ผมกำลังหวังอย่างยิ่งว่าจะมีข้อสันนิษฐานใหม่ ที่ดีกว่าที่ผมทำไว้แล้ว เกิดขึ้นในการเสวนาดังกล่าว

เพราะลำพังตัวผมเอง ก็นับว่าได้ทำไปในทุกสิ่งที่ทำได้อย่างเต็มกำลัง เต็มสติปัญญาที่มีอยู่ทั้งหมดแล้ว และถึงตอนนี้ ก็ล่วงเลยเวลาและโอกาสที่จะกลับไปทำในสิ่งที่ดีกว่านั้นได้แล้ว


แต่สิ่งที่เกิดขึ้น จะเป็นไปดังที่ผมหวังไว้หรือไม่ อาทิตย์หน้า ผมอาจจะได้มาเฉลยให้อ่านกันครับ



………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

8 comments:

  1. สนุกค่ะ รออ่านโพสตต่อไปอย่างใจจดใจจ่อเลยทีเดียว ^ ^

    ReplyDelete
  2. คงไม่มีใครคิดได้ดีกว่าอาจารย์คะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. มีครับ เพียงแต่ท่านเหล่านั้นไม่สนใจที่จะคิดเท่านั้น

      Delete
  3. อาจารย์น่าจะตีความได้ครอบคลุมที่สุดแล้วค่ะ น่าเสียดายที่ช่วงหนึ่งพวกเสื้อแดงเชิดชูพระนางเป็นที่พึ่งของพวกมัน เลยยิ่งทำให้นักวิชาการที่ไม่ฝักใฝ่การมืองไม่อยากแตะต้องเรื่องราวของท่านอีกต่อไป

    ReplyDelete
    Replies
    1. ก็น่าแปลกครับที่พวกเสื้อแดงไม่เอาสถาบัน แต่ก็เชื่อมโยงสถาบันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับทรราชที่ชื่อทักษิณ หรือพระนางจามเทวีกับนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ที่สร้างความฉิบหายย่อยยับแก่ประเทศไทยอย่างยิ่งลักษณ์

      ทั้งสองกรณีนี้มีนักวิชาการที่เป็นที่นับถือในวงการเข้าไปร่วมด้วยหลายคน ร่วมกับนักวิชาเกินอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งบางส่วนเคยทำงานใกล้ชิดกับสถาบันมาก่อน ผมเห็นแล้วก็สลดใจมากครับ

      Delete
  4. สวัสดีครับ ผมทำธุรกิจแพนำเที่ยวเขื่อนภูมิพล บนเหนือเขื่อนยังมีโบราณสถานที่เกี่ยวกับพระนางจามเทวีอยู่บ้างครับ อยากให้อาจารย์มาเยี่ยมชมครับ เผื่อได้ข้อมูลดีๆกลับไปครับ ในวันที่ 8-9 เมษา นี้ จะมีประเพณีขึ้นธาตุแก่งสร้อย จ.ตาก ซึ่งตามประวัติระบุว่าวันนี้เป็นวัดที่พระนางจามเทวีได้สร้างไว้อยู่ที่รอยต่อ จ.ตาก-จ.ลำพูน ครับ การเดินทางต้องเดินทางทางเรือ แพ เท่านั้นครับ สนใจติดต่อผมมาได้นะครับ kampanat.ra@gamil.com

    ReplyDelete
    Replies
    1. ขออภัยที่ตอบช้าครับ ผมมีปัญหาสุขภาพ คงไปเที่ยวตามคำเชิญไม่ได้ แต่ก็ฝากถึงท่านอื่นๆ ที่สนใจ ถ้ามีโอกาสก็เชิญเลยครับ ผมเคยเห็นภาพถ่ายจากแถวนั้น วิวสวยมาก

      Delete

Total Pageviews