Wednesday, January 27, 2016

บทสรุปจากเวทีเสวนา สืบค้นพระราชประวัติพระนางจามเทวี ๑



ภาพจาก http://www.lmf-lopburi.com

ในบทความที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงแนวความคิดของผมเองในการตีความตำนานพระนางจามเทวีหลายฉบับ ร่วมกับหลักฐานแวดล้อมต่างๆ ในหนังสือ จอมนางหริภุญไชย ไปแล้วนะครับ

ต่อจากนี้ไป ผมก็จะขอนำเอาบทสรุปจากเวทีเสวนา สืบค้นพระราชประวัติพระนางจามเทวี ที่ อบจ.ลำพูนจัดขึ้นครั้งล่าสุด จากบันทึกใน Facebook ของ Pensupa Sukkata ที่โพสต์ไว้เมื่อ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ที่ผ่านมา และจะได้สอดแทรกการวิเคราะห์ของผมเป็นลำดับไป ซึ่งต้องขอขอบคุณ ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ เจ้าของบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ด้วยครับ

โดยวิทยากรคนแรกที่เปิดประเด็นเสวนาในภาคเช้า คือ ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ อดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ปัจจุบันเป็นอาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวว่าการจะสืบค้นพระราชประวัติพระนางจามเทวีนั้น จำเป็นจะต้องศึกษาหลักฐาน ๓ ด้านดังนี้ให้แน่ชัด 

๑.หลักฐานด้านโบราณคดี 

๒.หลักฐานด้านประวัติศาสตร์ 

๓.หลักฐานด้านคำบอกเล่า มุขปาฐะ นิทานพื้นบ้าน 
 
เกี่ยวแก่หลักฐานด้านโบราณคดี  ดร.เพ็ญสุภา ยังแยกย่อยว่าประกอบด้วยโบราณวัตถุ (อาทิ เทวรูป พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา) และโบราณสถาน (สถูปเจดีย์ และซากโบราณคดี) โดยมีเงื่อนไขว่าหลักฐานทั้งหมดนี้ต้องมีอายุเก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เท่านั้น เนื่องจากพระนางจามเทวีเป็นบุคคลในช่วงเวลาดังกล่าว 

ส่วนหลักฐานด้านประวัติศาสตร์ ต้องศึกษาจากศิลาจารึก น่าเสียดายว่าในลำพูนเราไม่พบจารึกที่อายุเก่าแก่ร่วมสมัยกับพระนางจามเทวีในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เลย พบแต่จารึกที่มีอายุในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ขึ้นไปในสมัยพระญาอาทิตยราช พระญาธัมมิกราชา พระญาสววาธิสิทธิ  

ศิลาจารึกหลักเก่าสุดที่มีการกล่าวถึงพระนางจามเทวีคือ จารึกจุลคีรีที่พระธาตุดอยน้อย อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ เขียนในสมัยพระเมืองแก้ว ประมาณ พ.ศ.๒๐๔๐ เขียนเรื่องราวย้อนหลัง เอ่ยถึงพระนางจามเทวีมาสร้างพระธาตุที่นั่น



ภาพจาก http://thainews.prd.go.th

ดังนั้นควรมีการศึกษาจารึกรุ่นเก่าในดินแดนอื่นละแวกเพื่อนบ้านประกอบกันด้วย เช่นจารึกที่ชวา อินโดนีเซีย สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ กล่าวถึงพระนางจันทรเทวี ถูกส่งจากราชวงศ์ไศเลนทร์ ศรีวิชัยไปเป็นมเหสีของกษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราช (สมัยก่อนเรียกตามพรลิงค์) 

หรือจารึกที่นครราชสีมา พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ใช้อักษรมอญผสมปัลลวะ เรียกจารึกบ่ออีกา กล่าวถึง ธิดาของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง เป็นประธานในการสร้างวัดถวายแด่พระพุทธศาสนา สะท้อนว่าสตรีมีบทบาทในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาแล้ว 

ส่วนหลักฐานด้านลายลักษณ์อีกประเภทนอกเหนือจากศิลาจารึก ก็คือตำนานและพงศาวดารที่มีการกล่าวถึงพระนางจามเทวี ล้วนแต่เรียบเรียงขึ้นในยุคหลัง ห่างไกลจากเหตุการณ์จริงมากกว่า ๘๐๐ ปี ที่ใช้อ้างอิงกันมากมีอยู่ ๒ กลุ่ม 

กลุ่มแรกคือตำนานฝ่ายวัด หรือฝ่ายศาสนจักร เขียนโดยพระภิกษุสายลังกาวงศ์ ยุคล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๐๒๑ ตอนต้น อาทิ  ชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา จามเทวีวงศ์ พงศาวดารหริปุญไชย ตำนานพระธาตุหริภุญไชย เป็นต้น รวมถึงพงศาวดารที่มาเขียนใหม่ในลักษณะ ยำหรือหยิบเรื่องราวเก่ามาปรุงใหม่ แทรกความเห็นเพิ่มอีก ๒ เล่มในยุคต้นรัตนโกสินทร์ คือ พงศาวดารเหนือ และพงศาวดารโยนก เขียนโดยชาวสยาม 

อีกกลุ่มเป็นตำนานฝ่ายบ้าน เขียนโดยชาวมอญบ้านหนองดู่-บ่อคาว ด้วยอักษรมอญ ยุคล้านนา พุทธศตวรรที่ ๒๐ ร่วมสมัยกับกลุ่มตำนานฝ่ายวัด แต่เนื้อหาแตกต่าง ปัจจุบันถูกนำไปไว้ที่กรุงปารีสโดยนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสสมัยรัชกาลที่ ๕ ชื่อ Camille Notton กลุ่มนี้ยังรวมภึงตำนานฉบับฤๅษีแก้ว ที่นายสุทธวารี สุวรรณภาชน์ถอดความ และได้รับการเผยแพร่ทั่วลำพูน

ปัญหาทั้งหมดทั้งมวล คือความขัดแย้งกันระหว่างตำนานสองกลุ่มนี้ ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์หลายต่อหลายรุ่นมิอาจสรุปได้ลงตัว ต้องมานั่งชำระสะสางกันหลายเวทีแล้ว นั่นคือ ความแตกต่างของเนื้อหา การระบุศักราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้คนมากที่สุดคือปมปริศนาเรื่อง ชาติกำเนิดของพระนางจามเทวี

ที่ตำนานฝ่ายวัด กล่าวว่าพระนางได้รับการอัญเชิญมาครองเมืองหริภุญไชยโดยฤๅษีวาสุเทพ ในฐานะพระราชธิดากษัตริย์ละโว้ (แต่ไม่ระบุว่าเกิดที่ไหน ชาติพันธุ์อะไร)  ส่วนตำนานฝ่ายบ้าน กล่าวว่าพระนางจามเทวี เป็นธิดาเศรษฐีอินตา เกิดที่บ้านมอญหนองดู่-บ่อคาว (อ.ป่าซาง จ.ลำพูน) มีนกคาบไปตกลงกลางใบบัว ฤๅษีเห็นจึงนำไปเลี้ยง แต่เกรงคนติฉินนินทา จึงอธิษฐานจิตปล่อยให้ลอยน้ำไป มีกากวานร (ลิงดำ) คอยดูแล จนกลายเป็นธิดาบุญธรรมของพระเจ้ากรุงละโว้ในที่สุด 

ดังนั้นการจะเรียบเรียงพระราชประวัติของพระนางจามเทวีด้วยความให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง ปัญหาคือจะหาข้อยุติ ณ ที่ใด และโดยใคร ดังนั้นหากเรายึดหลักฐานด้านโบราณคดีมาช่วยเป็นตัวกำกับอีกชั้นหนึ่ง น่าจะช่วยทำให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด

ครับ, นี่เป็นการเปิดประเด็นเสวนาโดยอดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ซึ่งคลุกคลีกับหลักฐานทางโบราณคดีในลำพูนและจังหวัดใกล้เคียงมาอย่างยาวนาน และเป็นกำลังสำคัญในการจัดงานเสวนาเกี่ยวกับพระนางจามเทวีในลำพูนหลายครั้งที่ผ่านมา (รวมทั้งครั้งนี้)

ซึ่ง ดร.เพ็ญสุภาได้นำเสนอภาพรวมของปัญหาที่มีอยู่ รวมทั้งวิธีการคลี่คลายปัญหาเหล่านั้น ซึ่งเป็นมาตรฐานทางโบราณคดีที่ควรจะนำมาใช้กันในเบื้องต้น

หลังจากการเปิดประเด็นโดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ แล้ว เป็นเวทีแสดงความคิดเห็นของปราชญ์ท้องถิ่นหลายท่าน ได้แก่ พระครูสิริสุตาภิมณฑ์ เจ้าคณะอำเภอทุ่งหัวช้าง, อ.กำธร ธิฉลาด และ อ.วิธูร บัวแดง นักคติชนวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย อ.นพพร นิลณรงค์ สถาบันวิจัยหริภุญชัย 

อ.นพพร เปิดประเด็นว่าเรื่องราวของพระนางจามเทวี ในรูปแบบเรื่องเล่าของชาวบ้านมีทั้งความแตกต่างและความสอดคล้องกับตำนานกระแสหลัก มีข้อสังเกตว่า ใครๆ ก็ปรารถนาอยากเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินที่พระนางจามเทวีเสด็จผ่าน แม้แต่ที่แพร่แถววังชิ้น ร้องกวาง ยังผูกตำนานให้พระนางหลงทางไปแถวนั้นก่อนเข้าเมืองลำพูน ตำนานทั้งหมดล้วนมีสีสัน  นัยะการมาของพระนางจามเทวีมีหัวใจอยู่ที่ เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนอำนาจพระพุทธศาสนาเข้าสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำปิง เอาชนะระบบความเชื่อเรื่องผี 




ผมมองว่า การวิเคราะห์ของ อ.นพพรเช่นนี้ ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นถึงการที่พระนางจามเทวีได้สร้างอารยธรรมทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในลำพูน แต่ประเด็นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ เพราะนักโบราณคดี เช่น รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้นำเสนอไว้ก่อนหน้านี้หลายสิบปีแล้ว

นักวิชาการลำดับต่อไป คือ ท่านพระครูสิริสุตาภิมณฑ์ ได้เมตตาอธิบายในมุมมองของปราชญ์ฝ่ายพุทธจักรว่า คณะสงฆ์ยุคล้านนาที่ไปเรียนพุทธศาสนาในลังกา ต้องเรียนทั้งภาษาบาลี และสิงหล เมื่อกลับมาจึงนำองค์ความรู้มาสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ในลักษณะ วิทยานิพนธ์

ด้วยเหตุนี้ จึงลงมือเขียนตำนานเกี่ยวกับพระนางจามเทวี โดยหยิบมุขปาฐะเรื่องเล่าตกค้างนานกว่า ๘๐๐ ปีที่เคยได้ยินได้ฟังกันมา แต่เวลาร้อยเรียงจริงๆ นั้น จำเป็นต้องตัด กลิ่นอายของความเป็นชาวบ้านออกไป เปรียบได้กับการแพ็คสินค้าขึ้นห้าง ที่จะต้องปรุงแต่งอย่างสวยงามเสียก่อน ย่อมไม่กล้าใส่ปลาร้าปลาจ่อมปะปนเข้าไป 

ด้วยเหตุนี้ตำนานฉบับหลวงหรือฉบับคลาสสิก ย่อมปกปิดเรื่องปูมหลัง ชาติกำเนิด อารมณ์ ความรัก หรือการทำศึกกับขุนหลวงวิลังคะโดยใช้คุณไสยใส่กัน



ภาพจาก http://www.chiangmainews.co.th

กรณีนิตยสารต่วย'ตูนพิเศษ ที่มีการตีพิมพ์บทความกล่าวว่าพระนางจามเทวีชนะขุนหลวงวิลังคะด้วยมายาไสยศาสตร์ พระครูสิริสุตาภิมณฑ์ชี้แจงว่า อันที่จริงเหตุการณ์ดังกล่าวต้องอธิบายด้วยพลังอำนาจแห่งสตรี เนื่องจากสรีระร่างกายบอบบางกว่าบุรุษ หากจะรบกันตัวต่อตัวความแข็งแรงกำยำย่อมสู้บุรุษไม่ได้ ดังนั้นสตรีจึงสร้างอำนาจพิเศษขึ้นมา ด้วยการพลิกสถานการณ์ใช้องค์กำเนิดแห่งความเป็นหญิง (ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นจุดอ่อน) เอามาเป็นจุดแข็งแทน 

ความเชื่อที่ตกค้างมาอย่างยาวนาน อันเป็นความแค้นระหว่างขุนหลวงวิลังคะที่มีต่อพระนางจามเทวี เนื่องจากการที่ไม่สมหวังในความรัก ยังคงปรากฏอยู่อย่างฝังแน่น เห็นได้จากการที่คนเฒ่าคนแก่มักจะบอกลูกหลานว่า อย่าเอาดอกชบาสีแดงมาใช้ในงานบุญ เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่พระนางจามเทวีนำไปใช้เสียบมาลา (หมวก) ตอนนำไปให้ขุนหลวงวิลังคะสวม ดอกชบาจึงเป็นดอกไม้ที่ถูกฝ่ายขุนหลวงวิลังคะสาปแช่งไว้ ซึ่งเรื่องนี้ชาวลำพูนต้องตระหนักในทำนองที่ว่า แม้ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” 
  
ผมขอแทรกตรงนี้ไว้ก่อนนะครับ ว่าเกี่ยวกับกรณีของนิตยสารต่วยตูนพิเศษนั้น นิตยสารดังกล่าวได้ตีพิมพ์บทความของผู้ใช้นามแฝงว่า ลูกช้างซึ่งวิเคราะห์ไสยศาสตร์ในการทำศึกระหว่างพระนางจามเทวี โดยที่ผู้เขียนท่านนั้นไม่มีความรู้อะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะในด้านการเลือกหยิบหลักฐานประเภทตำนานทั้งใหม่และเก่า ตัดตอนมาอ้างตามอำเภอใจ และการวิพากษ์วิจารณ์พระนางจามเทวีในลักษณะของการพยายามเน้นว่า ทรงเป็นนางมารร้ายมากกว่าวีรสตรี


ภาพจากนิตยสารต่วย'ตูนพิเศษ ฉบับที่ตัพิมพ์บทความอื้อฉาวเกี่ยวแก่พระนางจามเทวี

เรียกได้ว่าเป็นบทความที่เขียนอย่างมักง่าย แสดงถึงโลกทัศน์ที่แคบ และขาดความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิง จนไม่อาจนับเป็นข้อเขียนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีได้ แต่ก็ทำให้ชาวลำพูนที่นับถือพระนางจามเทวีไม่พอใจ ซึ่งทางนิตยสารก็แสดงความรับผิดชอบเพียงแค่ลงข้อความขออภัยอย่างสั้นๆ ประกอบการตีพิมพ์คำอธิบายของ ดร.เพ็ญสุภา ที่ชี้แจงไปในนามของชาวลำพูนเท่านั้น แต่บทความดังกล่าวก็จุดประกายให้เกิดงานเสวนาคราวนี้ขึ้นมาละครับ

ดังนั้นการอภิปรายในส่วนนี้ของท่านพระครูสิริสุตาภิมณฑ์ จึงเป็นการวิเคราะห์ใน ๒ ประเด็นหลัก คือ แนวทางการเรียบเรียงตำนานพระนางจามเทวีในฝ่ายวัด และสงครามไสยศาสตร์กับขุนวิลังคะเท่านั้น

มิได้เป็นการตอบคำถามหลักๆ ที่เกิดจากตำนานพระนางจามเทวี เช่น เหตุใดจึงต้องรีบร้อนเสด็จจากละโว้ไปลำพูนทั้งที่ยังทรงพระครรภ์ โดยพระสวามีมิได้เสด็จไปด้วย?

แต่ก็นับเป็นความรู้ในเชิงคติชนวิทยา รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น เรื่องของการที่คนเฒ่าคนแก่มักจะบอกลูกหลานว่า อย่าเอาดอกชบาสีแดงมาใช้ในงานบุญ เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่พระนางจามเทวีนำไปใช้เสียบมาลา ตอนนำไปให้ขุนหลวงวิลังคะสวม จึงเป็นดอกไม้ที่ถูกฝ่ายขุนหลวงวิลังคะสาปแช่งไว้


ภาพจาก http://www.bloggang.com

ข้อนี้ถ้าพระคุณเจ้าไม่ยกตัวอย่างขึ้นมา คนต่างถิ่นอย่างผมก็ไม่เคยได้ยินมาก่อนจริงๆ ครับ ดังนั้นจึงเป็นตัวอย่างทางความเชื่อที่มีคุณค่ามหาศาล

เพราะที่จริงแล้ว ความเชื่อนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับพระนางจามเทวีโดยตรง แต่คล้ายกับความเชื่อเรื่องดอกชบาแดงของคนไทยภาคกลางที่ไม่นิยมนำมาบูชาพระกัน เพราะเป็นดอกไม้ที่เอาไว้ใช้ทัดหูนักโทษที่จะต้องถูกตัดศีรษะ

ความเชื่อเหล่านี้มีร่องรอยที่เก่าแก่มากครับ เพราะดอกชบาแดงนั้นเป็นดอกไม้ที่ชาวอินเดียโบราณนิยมใช้บูชาเจ้าแม่กาลี เทวีแห่งการบูชายัญและความตาย ซึ่งนิยมนับถือกันมากในเบงกอล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียมาไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ปี




เราไม่มีทางทราบได้อย่างแน่ชัดว่า ชาวลำพูนรับความเชื่อนี้เข้ามาทางใด และเมื่อไรกันแน่ เป็นความลี้ลับพอๆ กับความเชื่อเรื่องดอกชบาแดงของทางภาคกลาง ซึ่งเก่าแก่ไม่น้อยกว่าสมัยอยุธยานั่นละครับ และถ้าจะมีผู้ค้นคว้าเจาะลึกในเรื่องนี้โดยตรง ก็จะเป็นประโยชน์แก่วงการคติชนวิทยาของไทยเรามากที่เดียว

ท่านพระครูสิริสุตาภิมณฑ์ยังกล่าวด้วยว่า แม้ไม่พบหลักฐานด้านศิลาจารึกที่เก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ก็ตามที อย่างไรก็ดี ขอให้คนลำพูนเชื่อถือ ศรัทธา และมั่นใจ หรือมีสำนึกว่า พระนางจามเทวีมีตัวมีตนจริงและการเขียนประวัติศาตร์เรื่องพระนางจามเทวี เราจะมีหมุดหมายปักการเริ่มต้นไว้ที่เมืองลำพูน

ข้อนี้ผมไม่เห็นด้วยครับ

ผมไม่เห็นด้วยว่า เราจำเป็นต้องขอให้คนลำพูนเชื่อถือ ศรัทธา และมั่นใจ หรือมีสำนึกว่า พระนางจามเทวีมีตัวมีตนจริง

เพราะที่จริงก็คือ เรามีหลักฐานที่ยืนยันความมีตัวตนจริงของพระนางอยู่แล้วครับ

นั่นคือ ข้อความใน จดหมายเหตุหมานซู เขียนโดย ฝานฉว้อ นักเดินทางชาวจีนสมัยราชวงศ์ถังเมื่อพ.ศ.๑๔๐๖ นับว่าเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่กว่าตำนานทุกฉบับที่เรามีกันอยู่ และยังกล่าวถึงพระนางโดยตรงที่สุดด้วย

กล่าวคือฝานฉว้อได้ระบุถึง หนี่หวังกว๋อ หรือ รัฐที่ปกครองโดยกษัตริย์หญิงไว้ในเส้นทางที่นักเดินทางชาวจีนจะต้องใช้ในการไปยังค่ายทหารแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของจีน และหนี่หวังกว๋อแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นจังหวัดลำพูนในทุกวันนี้ เท่ากับเป็นเอกสารที่เชื่อถือได้ยิ่งกว่าตำนานทุกฉบับของไทยเราเสียอีก

ซึ่งผมก็แปลกใจอยู่ว่า ตลอดการเสวนาครั้งนี้ทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย ไม่มีนักวิชาการท่านใดนำเรื่องนี้มากล่าวถึงเลย ทั้งๆ ที่เป็นหลักฐานที่ได้รับการตรวจสอบแล้วถึงความถูกต้องแม่นยำ และยังมีอายุเก่าแก่มากใกล้เคียงกับรัชสมัยพระนางจามเทวีในตำนานที่สุด 

และไม่ใช่เรื่องลี้ลับอันใด เพราะ ต้วนลี่เซิง นักประวัติศาสตร์จีนได้นำมาเผยแพร่ในเมืองไทยเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว จนเป็นที่อ้างอิงกันทั่วไปในวงการนักประวัติศาสตร์ไทย เหมือนกับเรื่องที่ชาวจีนเรียกเมืองเชียงใหม่ว่า ปาไป๋ซีฟู นั่นละครับ

นักวิชาการท่านต่อไป คือ อ.วิธูร บัวแดง กล่าวว่า พระนางจามเทวีเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ผู้รจนาตำนานพระนางจามเทวีฉบับคลาสสิกในยุคล้านนาเอง ก็ยังตั้งคำถามถึงปริศนาของพระนางจามเทวีมาก่อนแล้ว ไม่ว่าประเด็นข้อสงสัยต่อ เม็งคบุตร ระมิงค์นคร ซึ่งคำว่า เม็งในยุคนั้น น่าจะแตกต่างจาก รามัญที่เราเข้าใจในยุคนี้ 

การเขียนวรรณกรรมพุทธศาสนาในยุคโบราณ พอพระภิกษุนำมารจนา มักจะตัดเรื่องพิธีกรรมชาวบ้าน การเลี้ยงผี ไสยศาสตร์ อาถรรพณ์ ออกไป เพราะในสายตาของพระภิกษุล้านนายุคเมื่อ ๕๐๐ ปีนั้น มองว่าพระนางจามเทวีเป็น เทวีแห่งพุทธศาสนาดังนั้นเมื่อผู้เขียนต้องนำสินค้าชาวบ้านมาขึ้นหิ้ง มาปรุงเป็นอาหารในภัตตาคาร ย่อมไม่กล้าใส่ปลาร้า ทำให้สำนวนสองเวอร์ชั่นจึงไปไม่ตรงกัน

ประเด็นนี้ ก็สอดคล้องกับที่ท่านพระครูสิริสุตาภิมณฑ์ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วครับ 
 
แต่อ.วิธูร ก็ได้เปิดประเด็นใหม่ที่น่าสนใจคือ การระบุว่าฤๅษีวาสุเทพเป็นลูก ปู่แสะย่าแสะปู่แสะย่าแสะคือใคร สังคมดั้งเดิมพื้นบ้านมักกล่าวถึง ชาวลัวะตีกลองร้องเรียก นางแก้วออกมา มีการสังเวยนางแก้วลงหลุม หักคอเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เป็นนัยะของคำสาปแช่ง 

เรื่องราวการสาปแช่งมีอยู่เดิมก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนาแล้ว อย่างน้อยก็ยังมีเรื่องเล่าตกค้างเกี่ยวกับการที่ลูกตีแม่แล้วแผ่นดินยุบในสมัยฤๅษีวาสุเทพ การฟ้อนผีเม็งของเจ้าเมืองลำปาง ให้ความสำคัญแก่ ผีนางน้อย” (ผีอี่หล้า) มากเป็นพิเศษ ชาวบ้านเรียก ผีจามเทวีคล้ายกับ ผีมโนราห์” (ผีอีนุ้ย) ของชาวปักษ์ใต้ ที่ต้องต่อสู้กับ ปิงคละ” (เทียบได้กับขุนหลวงวิลังคะ) โดยต้องเลี้ยงผีด้วยปลาเหมือนกัน ไม่ว่าภูมิภาคใดในอุษาคเนย์ ล้วนเป็นคอนเซ็ปต์ชุดเดียวกันหมด คือเรื่อง นางแก้ว”   

กรณีชื่อ จามเทวีอ.วิธูรมีมุมมองว่า อาจสืบมาจากปุราณะหรือเรื่องเล่าที่ตกค้างของอินเดีย กล่าวคือมี นางจามมุณฑา” (อ่าน มุนดา) เป็นเทวีที่ผสมทั้งความเป็นพระนางอุมา (ชายาพระศิวะ) พระนางลักษมี (ชายาพระวิษณุ) และพระนางสรัสวดี (ชายาพระพรหม)  

นางจามมุณฑาเป็นผู้มาปราบ มหิงสาสุระหรืออสูรในรูปควาย ทั้งศาสนาเชน และพุทธมหายานนิกายตันตระ นำเรื่องราวของ นางจามมุณฑาไปเป็นสัญลักษณ์ประจำศาสนาเหล่านั้นในฐานะ ผู้ปราบมารเชื่อว่าความคิดนี้ได้ส่งทอดมาถึงดินแดนภาคเหนือ ชาวพื้นเมืองจึงนำมาผสมกับเรื่องราวของ นางแก้ว” 


ภาพลายเส้น พระนางจามุณฑา

อ.วิธูร ยังแนะนำด้วยว่า ดังนั้น หากศึกษาเรื่องราวของพระนางจามเทวีแล้ว ควรศึกษาด้านคติชนวิทยาที่สอดแทรกอยู่ด้วย จะค้นพบปรัชญาที่ซ่อนอยู่ภายใต้รูปแบบตำนาน ไม่ใช่เรื่องที่เหลวไหลแต่อย่างใดเลย

นี่ละครับ ที่ผมมองว่า น่าจะเป็นแนวความคิดใหม่สำหรับการศึกษาตำนานพระนางจามเทวีอย่างแท้จริง โดยเน้นไปทางด้านคติชนวิทยา และการเชื่อมโยงกับเทววิทยาอินเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการท่านนี้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ 

ดังนั้น แม้การอภิปรายของท่านจะยังไม่เจาะลึกเข้าสู่ตำนานพระนางจามเทวีอย่างแท้จริง แต่ก็เป็นการให้แนวทางสำหรับการศึกษาค้นคว้า ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

เพราะไม่ใช่เพียงก้มหน้าก้มตาศึกษา และเก็บหลักฐานกันเฉพาะในท้องถิ่น ยังต้องประมวลความรู้จากศาสตร์อื่นๆ เข้ามาช่วยตีความ วิเคราะห์ และกำหนดขึ้นเป็นภาพคร่าวๆ ที่ใกล้เคียงสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นจริงที่สุดด้วย

วิธีการเช่นนี้เป็นสิ่งที่วงการโบราณคดีไทยใช้กันอยู่อย่างเป็นมาตรฐานในทุกวันนี้ ดังคำกล่าวที่ว่า โบราณคดีเป็นสหวิทยานั่นละครับ 

ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการท้องถิ่น ไม่ว่าภาคเหนือหรือภาคใดก็ตาม จำเป็นต้องรู้จักนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเข้าถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของตน ดังที่ อ.วิธูรท่านนี้ได้นำมาใช้โดยตลอด 

แต่ผมก็ไม่เห็นว่านอกจากท่านแล้ว จะมีใครอื่นที่ศึกษาตำนานท้องถิ่นลำพูนด้วยวิธีการเช่นนี้นะครับ

อย่างไรก็ตาม การที่ อ.วิธูร ยกเรื่องของพระนางจามุณฑา และเรื่องนางแก้วมาอภิปราย ก็ทำให้มองไปอีกแง่มุมหนึ่งได้เหมือนกันว่า ตำนานพระนางจามเทวีมีพื้นฐานส่วนหนึ่ง ที่มาจากระบบความเชื่อของสังคมพื้นบ้านที่ผสมผสานกับเทววิทยาอินเดีย

มุมมองเช่นนี้เป็นมุมมองที่ปลอดภัย และง่ายต่อการยอมรับทั้งในทางคติชนวิทยา และมานุษยวิทยา แต่อาจจะยุ่งยากพอสมควรครับ เมื่อนำไปเทียบกับจดหมายเหตุหมานซูของจีนที่กล่าวถึงความมีตัวตนของพระนางจามเทวี

ดังนั้นผมคิดว่า ถ้าจะตั้งทฤษฏีพระนางจามเทวีขึ้นอีกสักทฤษฎีหนึ่ง ตามคำแนะนำของ อ.วิธูรแล้ว ก็อาจกำหนดขึ้นเป็นเนื้อหาหลักอย่างคร่าวๆ ได้ว่า พระนางจามเทวีทรงมีตัวตนจริง แต่ตำนานเกี่ยวกับพระนางนั้นส่วนหนึ่งมีพื้นฐานมาจากคติความเชื่อพื้นบ้าน ที่ผสมผสานกับเทววิทยาอินเดีย

ซึ่งในกรณีนี้ ดร.เพ็ญสุภาก็เคยเปิดประเด็นไว้นานแล้วเหมือนกันครับ ว่าเรื่องของพระนางจามเทวีนั้นเปรียบเสมือนเรื่องของพระลักษมี เทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์ของอินเดีย ขณะที่ท่านสุเทวฤาษีหรือพระฤาษีวาสุเทพนั้น แสดงความเกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดูไวษณพนิกายของอินเดียอย่างชัดเจน ซึ่งศาสนาดังกล่าวนั้นนับถือพระลักษมีในฐานะชายาของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ซึ่งเป็นเทพสูงสุดของศาสนานั้นด้วย

อ.กำธร ธิฉลาด นักวิชาการท้องถิ่นอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า เคยทำโครงการหนังสือ ชื่อบ้านนามเมืองให้ อบจ.ลำพูนเมื่อหลายปีก่อน ชาวบ้านแต่ละพื้นที่มักเล่าถึงเรื่องราวของพระนางจามเทวีในลักษณะที่แตกต่างกันไป 

เช่น บ้านเส้ง กล่าวว่าเศรษฐีบ้านเส้ง เป็นเพื่อนกับเศรษฐีอินตาที่บ้านหนองดู่ (บิดาของพระนางจามเทวี) หรือไปที่บ้านน้ำดิบ บ้านหนองยางฟ้า บ้านผาด่าน  บ้านก้อ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีเรื่องเล่าว่าพระนางจามเทวีผ่านมาแถวนั้น ไม่ว่าจะผิดหรือถูก แต่ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความรักความผูกพันที่ชุมชนมีต่อพระนางจามเทวี 

นักวิชาการท่านนี้ ยังได้กล่าวอีกด้วยว่า สถานที่หลายแห่งที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไปตามรอยบุญบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามนั้น ส่วนมากเป็นการตามรอยพระนางจามเทวี เช่น พระธาตุแก่งสร้อย กลางลำน้ำปิง ที่จังหวัดตาก และการศึกษาประวัติศาสตร์ในมิติเก็บข้อมูลจากชาวบ้านนั้นมีคุณค่าและความหมายมาก เพราะเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต มีเลือดเนื้อจิตวิญญาณอยู่ในนั้น

ครับ การอภิปรายของอาจารย์ท่านนี้ ก็ยังคงอยู่ในกรอบของการแนะนำ หรือระดมแนวความคิดเพื่อการตั้งต้นหรือหาจุดร่วมที่เป็นมาตรฐานอย่างแท้จริง เพื่อการศึกษาค้นคว้าตำนานพระนางจามเทวี และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองลำพูนอย่างจริงจังและเป็นระบบ

ตลอดการเสวนาในภาคเช้า จึงน่าจะมีหลักใหญ่ใจความอยู่ที่การเสนอแนะ ในการวางแนวทางการศึกษาค้นคว้าที่ถูกต้องร่วมกัน ซึ่งจำเป็น และเอื้อให้มีนักวิชาการจากหลายสาขาเข้ามาช่วยกันวิเคราะห์ตำนานพระนางจามเทวีได้ 


นับว่าเป็นสิ่งสำคัญครับ ที่จะต้องทำความเข้าใจร่วมกันในเรื่องนี้ แม้จะยังไม่มีการตอบคำถามหรือให้ภาพที่ชัดเจนขึ้น ในเรื่องราวของพระนางจามเทวีจริงๆ ก็ตาม


………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

6 comments:

  1. ดูเหมือนเรื่องราวของพระนางจามเทวีจะมีอะไรที่เป็นอินเดียๆ มากกว่าที่คิดนะคะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ใช่ครับ เพราะที่ผ่านมาเราถูกชักนำให้เชื่ออยู่แค่ว่า เรื่องราวของพระนางเป็นเรื่องของพุทธมามกะในสายเถรวาทล้วนๆ เนื่องจากพระเเป็นคนเขียนตำนานไงครับ แล้วความเกี่ยวข้องกับมหายาน และฮินดูก็เลยถูกตัดออกไป

      Delete
  2. ความคิดเห็นของแต่ละท่าน คงต้องให้กาลเวลาเป็นผู้พิสูจน์ค่ะ

    ReplyDelete
  3. ผมอยู่บ้ายท่าไม้ ต.น้ำดิบ(คนละฝั่งน้ำปิงกับวัดพระธาตุดอยน้อย
    ถ้ามีโอกาสอยากเสวนากับอาจารย์
    คือว่า ตอนที่พระนางจามเทวีเดินทางมาครองหริภุญไชยได้มีเรื่อราวมากมาย ตลลอดเส้นทางมาเป็นขบวนใหญ่ตามน้ำปิงในขบวนมีคนรวมกันมากกว่า 5000 คน ประกอบด้วยช่างฝีมีอย่างละ 500คน(เช่นข่างไม้500/ช่างปุน500ฯลฯ) ประมานนี้ผมไม่ทราบว่ามีช่างอะไรบ้างซึ่งคนเยอะขนาดนี้ออกจากละโล้ขึ้นเหนือย่อมมีคนช่างชาติในขบวนด้วยในฐานะช่าง/ผู้ติดตาม/ผู้เกียวข้องทางเผยแผ่พุทธศานา
    คนเยอะแบบนี้ย่อมมีคนไม่ดีป่ะบน หรือขัดแย้งเห็นต่างหรือบันทึกเรื่องราวเอนเอียงฝ่ายใครฝ่ายใน
    มีสนใจเรื่องสมบัติครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึงหรือจดบันทึก แต่เป็นสิ่งสำคัญที่มีการเข่นฆ่าแย่งชิงกันแบบเงียบๆตลอดเส้นทาง เสด็จฯ
    แม่น้ำปิงไม่ได้มีน้ำให้เรือผ่านราบรื่นทุกจุด มีโค้ง มีตื่นบ้างบางจุด ก่อข่วยกันจุดลอกแล้วเดินทางต่อ เจอเมืองเล็กๆ หรือมีชุมชนที่อยากให้ช่วย พระนางก่อช่วยตลอดทาง สร้างบ้านทำเมืองที่มันคงให้ เปนแบบเดียวกันหมด(ทวารวี) ชุมชนไหนที่รับเอาก่อรักและศรัทธาพระนาง บางขุมขนไม่รับต้องการอยู่แบบเดิมๆขบวนก่อผ่านไปต่อไม่ว่ากัน สมัยช่วยเหลือกันเราให้เงินครับ
    สมัยก่อนไม่มี มีแต่แก้วแหวนเงินชุมชนก้อจะมอบให้พระนาง ซึ่งพระนางไม่เอาอยู่แล้วแต่มันบางที่เจาจะให้จริงๆจนปฏเสธไม่ได้ เขาต้องการฮอมร่วมทำบุญ กับต้องรับไว้ บางชุมชนมีของมีค่าสำคัญประจำชุมชนต้องสู้นบฆ่าฟันมาตลอดเพื่อ รักษาไว้ ก่อถือโอกาสมอบให้พระนางนำไปเก็บรักษาไว้ในเมืองใหญ่จะได้พ้นมือพวกโจรป่า
    บรรดาสมบัติมีสิ่งหนึ่งที่ใช้อาคมเสกใส่ไว้ในหินผาสีขาว
    ก้อนใหญ่ขนาดแทงค์น้ำกลมๆสมัยก่อน. ไม่แนใจว่าเป็นกริชหรือคฑา แต่ให่น้ำหนักว่าเป็นคฑา อย่าแปลกใจนะครับคฑาไม่ใช่คฑางานกีฬาสีแบบยาวๆนั้นนะครับ มันยาวประมาน1ศอก สิ่งของในขบวนที่น้ำหนักเยอะพอถึง ที่น้ำตื้นก่อจะใช้วิธิเข้าซอยครับหาคลองที่แยะจากน้ำปิงแล้วไป บรรจบกันใหม่ข้างหน้านรับ สาเหตุคือคลองเป็นดินเหนียวขุดลอกเพิ่มความลึกความกว้างได้ ขบวนมาถึงบ้านวังผางเจอน้ำตื้นเลยนำผาขาวกับของมีน้ำหนักบรรทุกเรือ บ้างก่อบรรทุกบนราชรถลากไป ส่วนขบวนใหญ่จะไปพักเนินข้างหน้าจุดที่คลองมาบรรจบน้ำปิงอีกที(ซึ่งก่อคือวัดพระธาตุดอยน้อยปับจุบัน)(คลองบรรจบคือบ้านท่าไม้ปัจจุบัน) จุดแรกที่บรรจบแม่น้ำปิงชื่อหนองช้างบาน ขึ้นไปเรื่อถึงชุมชนหนองงู ถึงวัดหนองผาขาว เหตุเกิดตรงนี้ครับผาตกน้ำ เอาขึ้นไม่ได้แต่เท่าที่สังเกตุคืนคนจำนวนมากที่มากับเจ้าแม่ไม่มี อะไรที่ทำไม่ได้ ด้วยความถนัดของแต่ละคน กับจำนวนคน เอาขึ้นมาได้อยู่แล้วแต่กลับทิ้งไว้ บ้างก้อว่าขบวนมาหยุดพักตรวนั้น1คืน คืนนั้นมีใจรมาขโมยเอาคฑา แต่เอาออกมาจากผาไม่ได้เลยเอาไปทั้งก้อน เกิดมีการจับได้และสู้กันทำให้ผาตกน้ำ บ้างก่อว่าตอนผาตกคฑาไม่มีแล้ว สรุปคือเอาคฑาออกมาแล้วทำอุบายว่ามีนคนมาปล้นผาตกน้ำ(ลืมไปครับพระนางได้ให้ช่างผาให้เหมือนกันทาสีให้เหมือนกัน3ก้อน)บ้างก่อว่า8ก้อน ผอเอาผ่าขึ้นไม่ได้ก่อเดินทางต่อไปตามครองถึงบ้านท่าไม้ ผมจบตรงนี่ครับ บ้านท่าไม้มีชุมชนอยู่

    ผมไม่รู้ว่าชุมชนที่มีก่อนแล้วหรือขบวนของพระนางส่วนหนึ่งมาพัก ตรงฝั่งนี้(ฝั่งบ้านท่าไม้)ปัจจุบันได้สร้างเป็นวัดท่าไม้ แล้วขบวนทั้งหมดก่อออกเดินทางต่อตามลำน้ำปิง คำถามคือคฑาอยู่ไหน มีอย่างอื่นอีกไหมที่หาย
    ผมไม่เคยศึกษาเรื่องราวพระนางอย่างจริงๆจังๆ
    คืออยากให้ ผู้รู้แนะนำ
    เพราะของสิ่งนี้สะกดบางอย่างไว้ที่นี่นับร้อยนับพัน
    พิมผิดๆถูกๆบ้างต้องขออภัย คิดว่าผมเป็นนักเรียนใหม่อ่านเขียนไม่คล่องก้อแล้วกัน

    ReplyDelete
    Replies
    1. ขออภัยที่ตอบช้าครับ เนื่องจาก blog นีถ้าไม่มีเรื่องใหม่ๆ จะโพสต์ ผมก็จะไม่ค่อยได้แวะเข้ามา

      ประเด็นเรื่องความยุ่งยากที่อาจจะเกิดจากคนในขบวนเสด็จ เป็นไปได้ครับ ถ้าไปด้วยกันเป็นพันๆ คน (คำนวณจากดำนานคิอเริ่มต้นที่ ๗,๕๐๐ คน)

      แต่ถ้าเราตีวาม “พรรณนาโวหาร” แบบโบราณ ฃึ่งตัวเลข ๕๐๐ มักจะหมายถึงจำนวนเพียงหยิบมือ ก็จะมีคนที่ตามเสด็จจริงเพียงหลักร้อยเท่านั้น

      ซึ่งควบคุมง่าย และเหมาะกับขบวนเรือเล็กๆ ที่จะล่องไปตามลำน้ำปิง ตามสภาพภูมิศาสตร์ที่คุณเล่ามาครับ

      Delete

Total Pageviews