Monday, February 1, 2016

บทสรุปจากเวทีเสวนา สืบค้นพระราชประวัติพระนางจามเทวี ๒





สำหรับในภาคบ่าย ซึ่งการนำเสนอของ ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย น่าจะเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจ และรอคอยกันมากที่สุดนั้น ผมก็ขอสรุปจากเอกสารที่ อบจ.ลำพูน ได้กรุณาจัดส่งให้ผม ด้วยความขอบคุณอย่างสูง ดังต่อไปนี้ครับ

ผศ.พงศ์เกษม มีแนวคิดว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ราชวงศ์ไศเลนทร์จากศรีวิชัยซึ่งปกครองรัฐเจนละ (ในดินแดนที่เป็นประเทศกัมพูชาคาบเกี่ยวกับภาคตะวันออกของไทยในปัจจุบันนี้) ถูกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ขับไล่ และสถาปนาอาณาจักรขอมขึ้นในเวลาต่อมา เหตุการณ์นั้นทำให้ราชวงศ์ไศเลนทร์จากศรีวิชัยแตกออกเป็น ๒ สาย

สายหนึ่งคือสายสุพรรณภูมิ ซึ่งกำลังพยายามสร้างอำนาจทางการเมือง โดยตั้งสถานีการค้าอยู่ในดินแดนที่ต่อมาเป็นรัฐหริภุญไชย ควบคุมเส้นทางการค้าจากไชยา ผ่านเพชรบุรี นครปฐม อู่ทอง ขึ้นไปยังภาคเหนือของไทย

อีกสายหนึ่งปกครองอยู่ทางละโว้ ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรขอม 

ซึ่ง ผศ.พงศ์เกษมให้ภาพว่า ความแตกต่างของราชวงศ์ทั้งสองสายซึ่งเป็นเครือญาติห่างๆ กันนี้ อยู่ที่สายสุวรรณภูมินั้นเป็นศูนย์กลางการค้า มีความมั่งคั่งร่ำรวย แต่ไม่มีกองกำลังที่เข้มแข็ง ขณะที่สายละโว้เป็นศูนย์อำนาจทางการปกครองที่มีกองทัพใหญ่มหึมา

พระมารดาของพระนางจามเทวี น่าจะมาจากราชวงศ์ไศเลนทร์สายสุพรรณภูมิ และสมรสกับเศรษฐีชาวมอญ คือ สะคร่วยอินทรา หรือเศรษฐีอินตาแห่งบ้านหนองดู่ในตำนานพื้นบ้านลำพูน ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางในเครือข่ายทางการค้าระหว่างบ้านเมืองในแถบสุพรรณภูมิ และรวมถึงละโว้

ดังนั้น ฐานะเดิมของพระนางจามเทวีจึงเป็นสามัญชน แต่ถูกส่งไปยังละโว้เพื่ออ้างสิทธิการสืบสายตระกูลทางพระมารดาว่าเป็นราชวงศ์ไศเลนทร์เช่นกัน เพื่อให้กษัตริย์ละโว้ทรงรับรองและอภิเษกเป็นเชื้อกษัตริย์ เพื่อจะได้ขึ้นไปปกครองหริภุญไชย โดยมีผลประโยชน์ร่วมระหว่างวงศ์สุพรรณภูมิกับวงศ์ละโว้ในทางเศรษฐกิจต่อไป

พระเจ้าละโว้ทรงรับพระนางจามเทวีเป็นราชบุตรีบุญธรรม และได้เสกสมรสกับเจ้าชายรามราชแห่งเมืองรามบุรี ซึ่งมาจากราชวงศ์ไศเลนทร์สายสุพรรณภูมิเช่นกัน พระนางได้รับการตระเตรียมและวางพระองค์เป็นอย่างดี เพื่อการเป็นกษัตริย์ของรัฐที่กำลังจะเกิดใหม่ทางภาคเหนือ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นพระนางก็จะทรงอยู่ในฐานะคนกลางที่มีอำนาจสูงสุด ในเครือข่ายทางการค้าระหว่างราชวงศ์ไศเลนทร์สายสุพรรณภูมิและสายละโว้

แต่ต่อมา กษัตริย์แห่งอาณาจักรขอมเกรงว่า ผลประโยชน์ทางการค้าของละโว้จะตกไปอยู่กับราชวงศ์ไศเลนทร์สายสุพรรณภูมิมากเกินไป จึงรวบรวมทหารรับจ้างชาวกลิงครัฐจากอินเดีย ภายใต้การนำของเจ้าชายโกสัมพีมาตีกรุงละโว้ เพื่อทำลายแผนการค้าระหว่างละโว้กับสุพรรณภูมิ ด้วยการกำจัดพระนางจามเทวีเสีย

ผศ.พงศ์เกษมกล่าวว่า ในฐานะพระสวามีของพระนางจามเทวี เจ้าชายรามราชคงต้องออกสู่สงครามและสิ้นพระชนม์ในที่รบนั้นเอง แต่ในตำนานแต่งให้ออกบวชเสีย

นักวิชาการท่านนี้แสดงความคิดเห็นว่า ถ้าเจ้าชายรามราชมิได้สิ้นพระชนม์ เมื่อเหตุการณ์ยุ่งยากต่างๆ ผ่านพ้นไปแล้ว พระองค์ก็ควรหาทางเสด็จไปพบพระชายากับพระโอรสได้อีก แต่เรื่องราวของพระองค์สรุปจบไปอย่างง่ายๆ เป็นเพราะพระองค์เป็นเพียงเบี้ยตัวหนึ่งบนกระดานหมากรุกของขอม ซึ่งต้องรับบทออกหน้าในศึกชิงพระชายา และถูกกินไปในที่สุดนั่นเอง


ผศ.พงศ์เกษม (กลางภาพ)
เมื่อไปร่วมเสวนาเรื่อง "เทวบุตรหลวง" กับผมที่ลำพูน

ในขณะที่ต่อมา พระนางจามเทวีก็ทรงเอาชนะเจ้าชายโกสัมพีได้ แต่เพราะว่าพระนางไม่มีพระสวามีแล้ว และถูกสร้างภาพจากฝ่ายขอมว่า ถ้ายังประทับอยู่ในละโว้ต่อไปก็จะนำภยันตรายมาสู่ละโว้อีก พระนางซึ่งทรงพระครรภ์ ๒ เดือน จึงจำต้องเสด็จไปยังหริภุญไชย ที่ซึ่งราชวงศ์ไศเลนทร์ฝ่ายพระมารดากำลังสร้างอยู่ โดยที่แผนการทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองราชวงศ์ตระเตรียมร่วมกันไว้ต้องพังพินาศลง

ผศ.พงศ์เกษมกล่าวต่อไปว่า เมื่อพระนางจามเทวีทรงครองหริภุญไชยแล้ว จึงทรงตัดขาดกับละโว้อย่างสิ้นเชิง จนเป็นเหตุให้ต่อมามีศึกระหว่างละโว้กับหริภุญไชยหลายครั้ง และเห็นได้ว่าพระนางทรงปกครองอยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็เวนพระราชสมบัติให้พระโอรสปกครอง แล้วเสด็จออกบวช ดังมีประติมากรรมในรูปของพระเครื่องที่แสดงพระพักตร์ของพระนางในลักษณะบึ้งตึง คือ พระนางพญาหริภุญไชย และพระยอดขุนพลหริภุญไชย เป็นต้น

ตามบทความของ ผศ.พงศ์เกษม ได้บรรยายไว้ว่า แม้จะเป็นกษัตริย์ที่ทรงอานุภาพและความงาม แต่ระยะแรก พระนางทรงตกเป็นเครื่องมือของพวกขอม ซึ่งพยายามจะผูกขาดการค้าและผลประโยชน์ทั้งหมดของราชวงศ์ไศเลนทร์ทั้งสองสายไว้แต่เพียงผู้เดียว จนพระนางต้องหมดความเป็นพระองค์เอง สูญเสียทั้งพระสวามี และพระบิดาบุญธรรม และต้องทรงรับภาระปกครองประชาชนป่าเถื่อน โดยมีจารบุรุษของละโว้แฝงตัวมาในรูปของช่าง นักบวช และชนชั้นสูง เพื่อคอยควบคุมพระนางอย่างลับๆ 

ภายหลังจึงได้ทรงสร้างเมืองลำปาง แล้วเสด็จไปประทับกับพระโอรสองค์รองด้วยความเบื่อหน่าย และทรงใช้ธรรมะของพระพุทธองค์ประคองชีวิตไว้ มิหนำซ้ำ ความงามของพระนางยังทำให้เกิดสงครามกับขุนวิลังคะอีก ตรงกับภาษิตที่ว่า สตรีงามมักอาภัพ

ผศ.พงศ์เกษม จบบทความของเขาด้วยความรู้สึกจากการมองพระราชานุสาวรีย์ ที่ลำพูน เช่นเดียวกับที่ผมจบเนื้อหาในภาคสันนิษฐานของหนังสือ จอมนางหริภุญไชย ครับ แต่เขาแสดงความคิดเห็นไว้ว่า

เมื่อพิจารณาดูอนุสาวรีย์ของพระนางจามเทวีครั้งใด ผู้เขียนรู้สึกสะท้อนใจเมื่อเห็นพระกรขวาของพระนางทอดออกมา แทนที่ผู้เขียนจะเห็นเพียงพระเมตตาที่ทรงมีให้แก่หมู่พสกนิกรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ผู้เขียนกลับเห็นภาพของกษัตริย์สาวพระองค์หนึ่งกำลังเรียกร้องความรัก และความเห็นใจ ซึ่งในวัยสาวของพระองค์ได้ถูกพรากไปด้วยความชั่วของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจเท่านั้น




ครับ ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาโดยย่อจากบทความของ ผศ.พงศ์เกษม ซึ่งมีความยาว ๑๕ หน้ากระดาษ A4 ซึ่งถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้ได้อ่านฉบับเต็มๆ กันครับ

เพราะนักวิชาการท่านนี้ ได้วิเคราะห์และอธิบายสภาพความเกี่ยวข้องกันระหว่างบ้านเมืองต่างๆ ตั้งแต่ภาคเหนือและภาคกลางของไทย ไปจนถึงอาณาจักรขอม รวมทั้งการนำเสนอหลักฐานร่วมทางจารึกวิทยา ซึ่งเขามีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ

รวมทั้งบทความของเขา ซึ่งแม้จะไม่ถึงกับมีความชำนาญมากนักในด้านการเขียน แต่ก็มีคุณลักษณะที่
Romantic อย่างที่ไม่อาจเห็นได้บ่อยนัก ในบทความทางวิชาการของนักประวัติศาสตร์ไทยโดยทั่วไป

และในฐานะที่ตัวผมเอง เคยรู้จักพูดคุยกับนักวิชการท่านนี้มาหลายครั้ง จากการได้ไปเสวนาในประเด็นต่างๆ ที่ลำพูนร่วมกันเสมอ 

ทำให้ผมจำเป็นต้องพูดตรงๆ ไว้ ณ ที่นี้เลยนะครับ ว่าในการเสวนาที่ลำพูนครั้งล่าสุดนี้ ผมไม่สนใจ และไม่คาดหวังการนำเสนอของนักวิชาการท่านใดเป็นพิเศษ 

นอกจากข้อสมมุติฐานใหม่ล่าสุดของ ผศ.พงศ์เกษม

ซึ่งก็ ใหม่ จริงๆ ด้วยครับ 

และเป็นการนำเสนอ ที่เจาะลึกลงไปในตำนานพระนางจามเทวีมากที่สุดก็ว่าได้ เมื่อเทียบกับการอภิปรายของนักวิชาการท่านอื่นๆ ในภาคเช้า ดังที่ผมได้ลำดับไปแล้ว

แต่ปัญหาที่ ผศ.พงศ์เกษม ยังแก้ไม่ตกอย่างแน่นอน ในสมมุติฐานเหล่านี้ น่าจะมีดังต่อไปนี้ครับ

๑) ยังไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีอย่างเพียงพอ ที่จะสนับสนุนทฤษฎีของ ผศ.พงศ์เกษม เรื่องการแตกสายของราชวงศ์ไศเลนทร์จากศรีวิชัยที่เคยปกครองรัฐเจนละ และถูกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงขับไล่ออกมาเพื่อก่อตั้งอาณาจักรขอม

ศรีวิชัย ตามรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดในวงการประวัติศาสตร์-โบราณคดีไทยปัจจุบัน คือสหพันธรัฐ หรือเครือข่ายของนครรัฐต่างๆ ทางภาคใต้ของไทย ตลอดจนคาบสมุทรมลายูและอินโดนีเซีย ที่เป็นพ่อค้าคนกลาง ควบคุมการค้าทางทะเลในพื้นที่ดังกล่าว

นครรัฐเหล่านี้เช่น ไชยา ตามพรลิงค์ รักตมฤติกา และปาเล็มบัง ล้วนแต่มีอำนาจทางการเมืองเป็นของตนเอง มีราชวงศ์ปกครอง ซึ่งมักเป็นเครือญาติหรือเกี่ยวดองกัน ด้วยการสมรสระหว่างเจ้าหญิงเจ้าชายของแต่ละราชวงศ์

และแต่ละนครรัฐ ก็จะผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมามีอำนาจ เป็นตัวแทนของสหพันธรัฐในการเจรจาค้าขาย และจัดสรรผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น 

โดยราชวงศ์ใหญ่ ที่มีอำนาจอยู่ทางตอนใต้ของไทย คือจันทรวงศ์

และราชวงศ์ใหญ่ซึ่งมีอำนาจมากกว่า ปกครองอยู่ที่หมู่เกาะชวาและสุมาตรา คือไศเลนทร์วงศ์

ดังนั้น ราชวงศ์ไศเลนทร์จากศรีวิชัย ที่ถูกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ขับไล่ออกจากเจนละนั้น คือราชวงศ์ไศเลนทร์ที่ปกครองชวา หรืออินโดนีเซีย ซึ่งเคยครอบครองรัฐเจนละบก-เจนละน้ำในประเทศกัมพูชาอยู่ระยะหนึ่งครับ

ซึ่งแม้ไศเลนทร์วงศ์ดังกล่าว น่าจะมีความผูกพันทางเครือญาติกับจันทรวงศ์ทางภาคใต้ของไทย แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานว่า มีอำนาจหรือเครือข่ายใดๆ ในดินแดนที่เป็นภาคกลาง และภาคเหนือของประเทศไทย ไม่ว่าจะในด้านการค้าหรือด้านอื่น 

ตามที่ ผศ.พงศ์เกษม กำหนดไว้ให้เข้าใจร่วมกันอย่างคร่าวๆ ในฐานะราชวงศ์ไศเลนทร์สายสุพรรณภูมิ ซึ่งเป็นสายพระมารดาของพระนางจามเทวี

๒) ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีเช่นกัน ที่ยืนยันถึงความมีอยู่จริงของสะคร่วยอินทรา หรือเศรษฐีอินตาแห่งบ้านหนองดู่ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓  

ตำนานดังกล่าว มีหลักฐานยืนยันเป็นจารึกที่มีอายุไม่เกินสมัยล้านนา หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เท่านั้น ตามที่ ดร.เพ็ญสุภาอ้างถึงว่า ปัจจุบันอยู่ที่กรุงปารีส นั่นละครับ

แม้ว่าจนถึงขณะนี้ เนื้อหาของจารึกดังกล่าวยังมิได้เผยแพร่ให้เป็นที่ทราบกันทั่วไป แต่ตำนานพระนางจามเทวีแห่งบ้านหนองดู่ ได้ถูกเน้นให้เป็นจริงเป็นจัง ด้วยการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง จากบรรดานักวิชาการท้องถิ่นส่วนหนึ่ง จนทำท่าจะกลายเป็นตำนานอีกกระแสหนึ่งที่ สามารถนำมาอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองลำพูนได้

ในความเห็นส่วนตัวของผม จึงเข้าใจว่า ผศ.พงศ์เกษมคง ตกหลุมพราง ของมติส่วนบุคคลเหล่านี้ ทำให้เขานำเรื่องของเศรษฐีอินตา เข้าไปร่วมค้นหาความจริงจากตำนานพระนางจามเทวี จนกลายเป็นสาระสำคัญในข้อสมมุติฐานใหม่ของเขา

และเมื่อความเป็นจริงปรากฏว่า เรื่องดังกล่าวมีหลักฐานอยู่แค่จารึกในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งไม่มีหลักฐานอื่น ไม่ว่าโดยตรงหรือแวดล้อมที่จะช่วยยืนยันอะไรได้

การแสวงหาเชื้อสายที่แท้จริง ของพระนางจามเทวีจากข้อมูลส่วนนี้ ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสิครับ

๓) เรื่องกองทัพโกสัมพี ที่มีชาวกลิงครัฐเข้ามาเกี่ยวนั้น

ผมไม่เห็นปรากฏในที่อื่นใด นอกจากตำนานฉบับคุณสุทธวารี ซึ่งมีการต่อเติมเสริมแต่งเป็นอันมากอย่างยุ่งเหยิง แทบค้นไม่ได้ว่า ส่วนใดจริงหรือเท็จ

ดังนั้น ผมจึงเสนอไว้ใน จอมนางหริภุญไชย ว่า 

กองทัพดังกล่าวน่าจะเป็นการรวมตัวกัน ของกลุ่มนครรัฐไทยใหญ่ (ซึ่งใช้ชื่อว่า โกสัมพี เหมือนกัน และมีอำนาจทางการทหาร ที่มากพอจะรุกรานมาถึงละโว้ได้ด้วย) โดยมีความเกี่ยวข้องกับ กลิงครัฐ บางส่วนเท่านั้น 

ทั้งนี้ เพราะแม้แต่คุณสุทธวารีเองก็ระบุว่า โกสัมพีในตำนานของเขาปัจจุบันอยู่ในสหภาพพม่า

ข้อนี้ ผศ.พงศ์เกษม อาจจะมองข้ามไป จึงไปให้ความสำคัญกับพวกแขกกลิงค์เสียมาก 

เพราะแขกพวกนี้ เกี่ยวข้องกับตำนานต้นกำเนิดของชาวมอญด้วยน่ะสิครับ ทำให้อาจจะจับใจนักวิชาการท่านนี้ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในสายรามัญคดีเป็นพิเศษ

๔) ใน จอมนางหริภุญไชย ผมเสนอไว้ว่า กลุ่มการเมืองฝ่ายปฏิปักษ์ของพระนางจามเทวีในละโว้ ยืมมือกองทัพโกสัมพีเพื่อกำจัดพระนางจามเทวี

ส่วน ผศ.พงศ์เกษม เห็นว่า กองทัพดังกล่าวมีอาณาจักรขอมอยู่เบื้องหลัง ในการกำจัดพระนางจามเทวี 


ทั้งสองกรณีนี้ มีประเด็นทางเศรษฐกิจเป็นต้นเหตุเหมือนกัน

แต่ทำไมผมถึงกำลังจะพูดว่า ทฤษฎีของ ผศ.พงศ์เกษม ส่วนนี้มีช่องโหว่ ก็เพราะข้อเท็จจริงต่อไปนี้ครับ

๕) ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ อันเป็นยุคของพระนางจามเทวีนั้น ละโว้เป็นศูนย์อำนาจปกครองตนเอง ในเครือข่ายของกลุ่มนครรัฐทวารวดีในประเทศไทย 

ไม่มีความเกี่ยวข้อง หรือหลักฐานแสดงถึงอิทธิพลของชนชาติขอมแต่อย่างใด

และโบราณสถานขอม อันปรากฏอยู่ในเมืองลพบุรีทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น โบราณสถานปรางค์แขก หรือ พระปรางค์สามยอด รวมทั้งโบราณวัตถุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะขอม ล้วนมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ ลงมาทั้งสิ้น




พูดง่ายๆ ก็คือ อิทธิพลขอมในลพบุรีทั้งหมด เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ๒๐๐ ปีหลังยุคของพระนางจามเทวีไปแล้วครับ

และตามตำนานส่วนใหญ่นั้น พระนางจามเทวีทรงครองราชย์เมื่อพ.ศ.๑๒๐๒-๑๒๐๖ (บางตำนานเช่น ตำนานไฟม้างกัปป์ ว่าเก่าไปถึง พ.ศ.๑๐๗๑)

ในขณะที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ เพิ่งจะสถาปนาอาณาจักรขอมขึ้นเมื่อพ.ศ.๑๓๔๕ 


จะเห็นว่า ระยะเวลาห่างกันกว่า ๑๔๐ ปี

สรุปก็คือ ในยุคของพระนางจามเทวีนั้น อาณาจักรขอมยังไม่เกิด จึงไม่มีเหตุปัจจัยใดที่จะช่วยยืนยันแนวคิดส่วนนี้ของ ผศ.พงศ์เกษม

๖) และต่อให้เลื่อนยุคสมัยของพระนางจามเทวีลงมา เป็นช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ เพื่อให้เป็นไปตามแนวคิดของ ผศ.พงศ์เกษม 

อาณาจักรขอมที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ สถาปนาขึ้นนั้น ก็มีอำนาจตลอดรัชกาลของพระองค์ (ครองราชย์ถึงพ.ศ.๑๓๙๓) เหนือดินแดนที่เป็นรัฐเจนละบก-เจนละน้ำเดิม ตอนเหนือทะเลสาบเขมรในปัจจุบันเท่านั้น 

ยังไม่มีอำนาจใดๆ แผ่ไปถึงกรุงลวปุระ ของพระนางจามเทวีเลยครับ
 
ความเจริญรุ่งเรืองของกรุงละโว้ ในยุคพระนางจามเทวี เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมทวารวดี ที่ยังคงมีอำนาจอยู่ในขณะนั้น 

จนเมื่ออารยธรรมทวารวดีทยอยเสื่อมลง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ นั่นละครับ อาณาจักรขอมจึงแข็งแกร่งขึ้นมาแทนที่ในเอเชียอาคเนย์ได้

หลักฐานทางโบราณคดียุคพระนางจามเทวีในละโว้ จึงไม่ใช่ปราสาทหินเขมร แต่เป็นซากเจดีย์แบบทวารวดีขนาดใหญ่ที่ วัดนครโกษา ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสถานีรถไฟลพบุรี ใกล้กับศาลพระกาฬ ในท้องที่ ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี 

เป็นหลักฐานที่ยอมรับกันแล้วว่า เก่าทันพุทธศตวรรษที่ ๑๓ อย่างแน่นอน อันเป็นยุคของพระนางจามเทวีในตำนานครับ


เจดีย์วัดนครโกษา ภาพจาก http://th.wikipedia.org

ดังนั้น การค้นหาความจริงเกี่ยวแก่พระนางจามเทวี ของ ผศ.พงศ์เกษม ดังที่ผมได้ลำดับไว้ในบทความนี้ทั้งหมด จึงขาดหลักฐานรองรัที่สำคัญไป คือความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรขอมนี่เอง

๗) ประติมากรรมในรูปของพระเครื่อง ที่แสดงพระพักตร์ของพระนางในลักษณะบึ้งตึง คือ พระนางพญาหริภุญไชย และพระยอดขุนพลหริภุญไชยนั้น ก็เป็นปัญหาอีก

ในกรณีของพระนางพญาหริภุญไชยนั้น ผมไม่ทราบจริงๆ นะครับว่า ผศ.พงศ์เกษมหมายถึงพระกรุใด

ส่วนพระยอดขุนพลหริภุญไชยนั้น มีทั้งพิมพ์ที่แสดงถึงอิทธิพลจากศิลปะพุกามของพม่า และศิลปะขอมลพบุรี

และก็เหมือนกับพระเครื่องสกุลอื่นที่พบในลำพูนละครับ คือมีอายุเก่าไม่เกินพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ไม่ทันยุคของพระนางจามเทวี

และถ้าจะกล่าวถึงพระกรุเหล่านี้ ก็เป็นความจริงที่ว่า มีข้อมูลเพ้อฝันมากมายในวงการพระเครื่องของไทย ที่พยายามเชื่อมโยงพระนางจามเทวี เข้ากับพระกรุพระโบราณต่างๆ ในลำพูน จนเป็นเหตุให้เกิดพระปลอมขึ้นมากมายหลายพิมพ์

ทั้งปลอมจากพระโบราณแท้ จนกระทั่งถึงแกะพิมพ์ขึ้นใหม่ แล้วอุปโลกน์ว่าเป็นโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระนาง 


เช่น พระสิกขี หรือ พระพิมพ์ดินเผาพระนางสิกขี (โปรดอ่าน http://chamadewi.blogspot.com/2015/12/blog-post_17.html)


ภาพจาก http://www.web-pra.com

สิ่งเหล่านี้ ล้วนเกิดจากการสร้างภาพลวงตา เพื่อจะหลอกขายของ ในวงการธุรกิจพระเครื่องทั้งสิ้นครับ

ในความเป็นจริง ไม่มีพระเครื่องที่สร้างเลียนแบบพระพักตร์ของกษัตริย์องค์ใดในเมืองไทย และในชนชาติอื่นๆ ที่รู้จักทำพระเครื่อง

นอกจากเทวรูปพระสยามเทวาธิราชพิมพ์พิเศษองค์หนึ่ง ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในพระบรมมหาราชวัง ที่สร้างเลียนแบบพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียงองค์เดียวเท่านั้น

ดังนั้น พระพักตร์ที่บึ้งตึงของบรรดาพระเครื่อง ที่เกิดไม่ทันรัชสมัยของพระนางจามเทวีนั้น จึงไม่ใช่หลักฐานแสดงความเคียดแค้นของพระนางจามเทวีต่อกรุงละโว้

แต่เป็นไปตามศิลปะพุกาม และศิลปะลพบุรี ที่เป็นต้นแบบของพระเครื่องเหล่านั้นต่างหากครับ

สรุปก็คือ ความคาดหวังว่าจะมีนักวิชาการท่านใด นำเสนอทฤษฎีใหม่ที่ดีกว่า จอมนางหริภุญไชย ของผม ในการเสวนาที่ลำพูนครั้งล่าสุด โดยส่วนตัวผมก็ยังไม่สมหวังในเรื่องนี้นะครับ 

ชาวลำพูนที่สนใจเรื่องราวอันแท้จริงของพระแม่เจ้าที่เขาเคารพบูชา ก็คงต้องรอต่อไปเช่นกัน

เพราะหนังสือของผมที่ว่ากันว่า รวมเรื่องราวของพระองค์ท่านไว้ทุกแง่ทุกมุมที่สุด ก็ยังไม่อาจนับว่าเป็นตำรา หรือเป็นมาตรฐานอะไรได้นะครับ 

เป็นได้แค่การตีความลักษณะหนึ่งเท่านั้นเอง 

แล้วถ้าใครจะตู่ว่า หนังสือของผมนี่ละดีแล้ว แล้วจะเอาไปสอนเด็กๆ ให้เชื่อตาม ผมเองนี่ละครับ ที่จะคัดค้านอย่างเต็มกำลังที่สุด

ส่วนการนำเสนอของ อ.วิธูร บัวแดง และปราชญ์ท้องถิ่นท่านอื่นๆ ในภาคเช้า ในลักษณะของการให้แนวทางสำหรับวิธีวิจัย หรือวิเคราะห์ตำนานพระนางจามเทวี ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน ถ้ามีนักวิชาการท่านอื่นๆ รับไปปฏิบัตินั้น 

ผมก็ไม่แน่ใจนักหรอกนะครับ ว่าจะมีใครนำไปต่อยอดกันได้มากน้อยเพียงใด

เพราะอย่างเช่นการเสวนาเกี่ยวกับตำนานพระนางจามเทวี และประวัติศาสตร์เมืองลำพูนนั้น ผมก็เห็นจัดกันมาหลายครั้งหลายเวทีแล้ว 

จัดกันเสร็จก็เงียบหาย 

คงเหลือไว้อย่างมากที่สุด ก็เพียงเอกสารประกอบการเสวนา และประชาชนที่เข้าฟังมีความรู้มากกว่าเดิมนิดหน่อย 

แต่ในระดับของนักวิชาการนั้น ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันจริงๆ บางทีก็เหมือนแค่ได้พูดแล้วก็จบๆ กันไปเท่านั้น

ที่ผมกลัวอย่างหนึ่งก็คือ ถ้ากี่ปีกี่ชาติ วงการประวัติศาสตร์ไทยยังคงไม่มีความก้าวหน้าอย่างเพียงพอ ในเรื่องของพระนางจามเทวี 


คนส่วนหนึ่งจะเริ่มเบื่อหน่าย แล้วหันไปเชื่อพวกร่างทรงที่บอกว่า พระนางจามเทวีเป็นการแบ่งภาคขององค์พระโพธิสัตว์กวนอิมน่ะสิ บ้าแท้ๆ




………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

4 comments:

  1. ถ้าไม่อ่านหนังสืออาจารย์ก็จะนึกว่าพระนางจามเทวีเป็นขอมอยู่ละค่ะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. เราฝังหัวกันมาอย่างนั้นนานมากจริงๆ ครับ เห็นในลพบุรีมีปราสาทหิน ก็นึกว่าเป็นขอมไว้ก่อน แล้วยังมีคนบอกว่าเจดีย์วัดนครโกษาเป็นอยุธยาเสียด้วย

      Delete
  2. เชื่อว่าพระนางจามเทวีทรงมีอดีตอันขมขื่นอยู่ที่ละโว้ แต่ด้วยขัตติยะมานะ พระนางคงไม่เรียกร้องความรัก และความเห็นใจจากใครทั้งนั้นค่ะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ผมก็แน่ใจอย่างนั้นนะครับ แต่ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง ที่มองพระนางเป็นคนจริงๆ มีชีวิตจิตใจ มีเลือดเนื้อ ซึ่งไม่ว่าจะตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ก็เป็นอีกความพยายามหนึ่งที่จะทำให้ภาพของพระนางชัดเจนขึ้นครับ

      Delete

Total Pageviews