Saturday, February 20, 2016

พระแม่เจ้าเหมชาลา ในบริบทของสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับสตรีเพศ



ภาพจาก http://www.flickr.com

ช่วงที่ผมโพสต์บทความนี้ ตรงกับเทศกาลแห่ผ้าขึ้นธาตุของเมืองนครศรีธรรมราช

ความจริงบทความนี้ ผมเขียนไว้นานแล้วครับ เพิ่งมีแก่ใจเอามาปรับปรุงใหม่เมื่อไม่นานมานี้ แล้วก็นึกได้ว่าตรงกับเทศกาลพอดี 


จะว่าเป็นเพราะพระบารมีอันศักดิ์สิทธิ์ ของพระนางเหมชาลาที่มาดลใจ ก็น่าจะได้นะครับ

พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราชนั้น มีประวัติเป็นตำนานกล่าวไว้ว่า หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์องค์หนึ่งนามว่า พระเขมะเถระ ได้กำบังกายเข้าไปในจิตกาธาน อัญเชิญพระทันตธาตุเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ไปถวายพระเจ้าพรหมทัตกษัตริย์แห่งแคว้นกลิงคราษฏร์

จากนั้น พระทันตธาตุทั้งสองก็ได้เคลื่อนย้ายไปประดิษฐานยังนครต่างๆ และในที่สุดได้ไปอยู่ที่เมืองทนธบุรี อันมี พระเจ้าโคสีหราช ครองอยู่ จนกระทั่งถึงปีพ.ศ.๘๕๒ กษัตริย์ทมิฬ ๕ พระองค์ก็รวบรวมกำลังยกทัพมาตีเมืองทนธบุรี เพื่อทำลายพระทันตธาตุนั้นครับ

พระเจ้าโคสีหราชจึงทรงมีพระราชโองการ ให้พระราชธิดาและพระราชโอรส คือ พระนางเหมชาลา และ เจ้าชายทนธกุมาร ปลอมพระองค์เป็นพ่อค้า อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งสองแบ่งกันซุกซ่อนไว้ในเกล้าเมาลีอย่างมิดชิดทั้งสองพระองค์ พากันเสด็จหนีลงเรือมุ่งไปกรุงลังกา


พระแม่เจ้าเหมชาลา และเจ้าชายทนธกุมาร
ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช

ตำนานกล่าวว่า ขบวนเรือพระที่นั่งได้ล่องอยู่ในทะเลลึกหลายวันหลายคืน จนระหว่างทางนั้นเองก็เกิดพายุแรงกล้า จนเรือส่วนใหญ่ในขบวนอับปางลง เหลือแต่เรือสำเภาพระที่นั่งเพียงลำเดียวที่ยังสามารถล่องลอยฝ่าคลื่นลมจนพ้นอันตรายมาได้โดยปาฏิหาริย์ ผ่านหมู่เกาะอันดามันและเกาะแก่งต่างๆ ไป

กระทั่งถึงเมืองตะโกลา สองรัชทายาทแห่งเมืองทนธบุรีก็เสด็จขึ้นฝั่งไปอาศัยอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งทรงทราบข่าวว่า ทางเมืองตามพรลิงค์ฝั่งตะวันออกของสุวรรณภูมิ มีเรือสำเภาขึ้นล่องไปมาระหว่างลังกากับสุวรรณภูมิ

พระนางเหมชาลา และพระอนุชาผู้เป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์แห่งนครทนธบุรี จึงออกเดินทางมุ่งหน้าไปตามพรลิงค์ โดยต้องทรงบุกป่าฝ่าดง ลำบากกันมิใช่น้อยทั้งสองพระองค์ละครับ 

จนมาถึงสถานที่ร่มรื่นแห่งหนึ่งบริเวณหาดทรายแก้วจึงได้แวะพักอาศัย และอัญเชิญพระทันตธาตุจากเกล้าเมาลีลงประทับฝังไว้ชั่วคราว ก่อนเดินทางไปที่เมืองตรังฝั่งตะวันตก และขออาศัยเรือสำเภาลำหนึ่งเดินทางไปกรุงลังกา

ครั้นไปถึง พระทันตธาตุได้แผ่ฉัพพรรณรังสีให้เห็นเป็นปาฏิหาริย์ กษัตริย์ลังกา คือ พระเจ้าทศคามมุนี จึงทรงมีพระราชโองการ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชพระทันตธาตุอย่างยิ่งใหญ่อลังการ 

จากนั้น โปรดฯให้อัญเชิญพระทันตธาตุไปประดิษฐานชั่วคราวในพระราชวัง ระหว่างรอการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้น เป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วทั้งสองพระองค์นั้น สำหรับเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนชาวลังกาทั้งหลาย

ซึ่งก็คือพระธาตุเขี้ยวแก้ว องค์ที่ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองแคนดีทุกวันนี้ไงครับ

ส่วนพระนางเหมชาลา และเจ้าชายทนธกุมาร ก็ได้เสด็จประทับในพระราชวังกรุงลังกาอย่างสมบูรณ์พูนสุข เสมอด้วยพระราชธิดาและพระราชโอรสของพระเจ้ากรุงลังกาเอง

เวลาผ่านไประยะหนึ่ง กษัตริย์ราชวงศ์คุปตะผู้ทรงนับถือพุทธศาสนา ทรงกู้เมืองทนธบุรีจากพวกทมิฬ และได้มีการสถาปนาเจ้านายในราชวงศ์ของพระนางเหมชาลากับพระอนุชา ขึ้นปกครองบ้านเมือง

พระเจ้ากรุงลังกาจึงพระราชทานคืนพระทันตธาตุเบื้องซ้าย พร้อมทั้งพระบรมสารีริกธาตุที่หักย่อยอีก ๑ ทะนาน ให้พระนางเหมชาลาและเจ้าชายทนธกุมาร อัญเชิญด้วยเรือสำเภาใหญ่จากลังกา กลับสู่หาดทรายแก้ว เมื่อประมาณ ปีพ.ศ.๘๕๔ 

จากนั้น อัญเชิญพระทันตธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุครึ่งทะนาน ประดิษฐานภายในผอบแก้ว บรรจุไว้ในขันทองคำ แล้วทำการก่อพระเจดีย์หุ้มไว้ ณ รอยเดิมที่เคยฝังพระทันตธาตุไว้ในกาลก่อน

ส่วนพระบรมสารีริกธาตุอีกที่เหลืออีกครึ่งทะนาน พระนางเหมชาลาและเจ้าชายทนธกุมาร ได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองทนธบุรี 

ทั้งสองพระองค์ได้ทรงเสร็จสิ้นภารกิจ ในการจรรโลงพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ และประทับอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอน ด้วยความสุขสบายตลอดพระชนม์ชีพ

เวลาผ่านไปนานหลายร้อยปี พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้เสด็จมาพบพระทันตธาตุ กับพระบรมสารีริกธาตุที่หาดทรายแก้ว จึงโปรดฯ ให้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้นอย่างใหญ่โต อัญเชิญพระทันตธาตุและพระบรมสารีริกธาตุครึ่งทะนานบรรจุไว้ภายในพระมหาเจดีย์แห่งนั้น 

ซึ่งก็คือ พระบรมธาตุเจดีย์แห่งเมืองนครศรีธรรมราชนั่นเองครับ


ภาพจาก http://www.oknation.net

จากที่ได้ลำดับมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ชัดเลยนะครับ ว่า ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครฯ ยกย่องให้ขัตติยนารี คือ พระนางเหมชาลา เป็นผู้อัญเชิญพระทันตธาตุและพระบรมสารีริกธาตุจากลังกา มาประดิษฐานภายในองค์พระบรมธาตุอยู่จนปัจจุบันนี้  

แม้ว่าเรื่องราวของพระนาง จะมิได้ดำเนินไปโดยแยกต่างหากจากพระอนุชา คือ เจ้าชายทนธกุมาร แต่ตำนานส่วนใหญ่ ก็ยังให้ความสำคัญกับพระนางมากกว่าพระอนุชาอยู่

ซึ่งก็ปรากฏว่า เป็นตำนานที่ตรงกันกับตำนานพระธาตุเขี้ยวแก้วของทางลังกา ซึ่งระบุว่า พระนางเหมมาลา (Hemamala) และพระสวามี คือ เจ้าชายสุทันธะ (Sudantha หรือ Dantha) อัญเชิญพระทันตธาตุหนีภัยสงครามมาจากแคว้นกลิงคราษฎร์ 

รายละเอียดปลีกย่อยอาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่หลักใหญ่ใจความนั้นตรงกันสนิทครับ


พระนางเหมมาลา และเจ้าชายสุทันธะ จิตรกรรมในวัดเกลานิยะ ศรีลังกา
ภาพจาก http://www.flickr.com

นี่จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ที่ผมเห็นว่าควรจะนำมากล่าวถึงในบทความนี้ 

ประเด็นดังกล่าวก็คือ ความเชื่อเกี่ยวกับบทบาทของสตรีเพศ กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นพระทันตธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ

ซึ่งถ้าเราอ่านตำนานพระนางเหมชาลานี้ โดยไม่เปรียบเทียบกับวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาในภาคเหนือและภาคอีสานของไทย เราจะไม่สังเกตเห็นสิ่งที่ผิดปกติหรอกครับ

แต่ที่จริงแล้ว ผิดปกติมาก

เพราะในขณะที่ขนบประเพณีในภาคเหนือ และหลายๆ พื้นที่ในทางภาคอีสานของไทย ไม่อนุญาตแม้กระทั่งให้สตรีเข้าไปสักการะสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุได้ในระยะใกล้

แต่จากตำนานพระบรมธาตุเมืองนครฯ พระนางเหมชาลากลับทรงซ่อนพระทันตธาตุไว้ในเกล้าพระเมาลีตลอดระยะเวลาที่ทรงรอนแรมไปลังกาพร้อมด้วยพระอนุชา มิได้ทรงมอบหมายให้พระอนุชาเป็นผู้เก็บรักษาไว้โดยตลอดเพียงพระองค์เดียว

ซึ่งถ้าตำนานนี้เป็นของแผ่นดินล้านนา คงเป็นไปไม่ได้แน่นอนครับ ที่พระนางเหมชาลาจะทรงกระทำเช่นนี้ได้

แล้วอะไรที่เป็นเหตุของความแตกต่างนี้?
         
คำตอบก็คือ สำหรับทางภาคเหนือและอีสานของไทย เหตุผลดั้งเดิมที่มีการจำกัดมิให้สตรีเข้าใกล้ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ รวมทั้งสิ่งสำคัญในพระพุทธศาสนาอีกหลายอย่างนั้น เป็นเรื่องของไสยศาสตร์ครับ

กล่าวคือ สถานที่สำคัญเหล่านั้น มักจะมีการลงอาคมอาถรรพณ์ชนิดต่างๆ รวมทั้งการผูก หุ่นพยนต์ เพื่อคอยอารักขาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มิให้เป็นอันตรายจากการมุ่งร้ายของผู้หนึ่งผู้ใด โดยเฉพาะฝ่ายศัตรูที่มาจากบ้านอื่นเมืองอื่น

ทั้งนี้ เพราะในการทำสงครามสมัยโบราณนั้น เชื่อกันว่าถ้าฝ่ายใดสามารถแทรกซึมเข้าไปทำลายอำนาจศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ภายในเมืองของฝ่ายศัตรูได้ ก็จะเป็นฝ่ายที่มีชัยชนะ

วิชาอาคมเหล่านี้ ยังประจุไว้เพื่อป้องกันคนภายในเมืองนั้นเอง ที่จะไปกระทำการล่วงเกิน หรือไม่เหมาะสมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยวิธีการใดๆ เช่นคนสติวิปลาส คนเมา คนคะนองไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง เป็นต้น

ในทางไสยศาสตร์ วิชาอาคมเหล่านี้บางชนิดอาจเสื่อมลงได้ครับ ถ้าหากว่ามีสตรีที่อยู่ในระหว่างมีรอบเดือนล่วงล้ำเข้าไป

ส่วนชนิดที่ไม่เสื่อมนั้น ก็อาจเป็นอันตรายกับผู้หญิง 

เพราะในสมัยโบราณนั้น มีแต่ผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ครับ ที่จะได้เรียนไสยศาสตร์และมีเครื่องรางป้องกันตัว ผู้ชายจึงผ่านเข้าไปในขอบข่ายอาคมเหล่านั้นได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบอะไร

แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ ไม่มีอาคมและเครื่องรางป้องกันตัวไงครับ จึงอาจเป็นอันตรายได้ ถ้าเข้าไปในสถานที่เหล่านั้นโดยไม่ระวัง

ทีนี้เมื่อเวลาล่วงเลยไป คนรุ่นหลังไม่รู้ไม่เข้าใจ ประกอบกับมีค่านิยมที่เข้มงวด ในการกีดกันสตรีเพศไม่ให้ใกล้ชิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์มากขึ้น เพราะถือว่าเป็นสิ่งเดียวกัน 

จึงนอกจากจะคอยกำชับกำชา มิให้ผู้หญิงวิสาสะกับพระภิกษุมากเกินไปแล้ว ยังไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปในสิ่งก่อสร้างสำคัญอื่นๆ เช่น พระอุโบสถ อีกด้วย


ภาพจาก http://www.photoontour.com

ดังนั้น ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็คือข้อจำกัด ที่ทำให้สตรีในภาคเหนือและภาคอีสานหลายๆ พื้นที่ ไม่สามารถเข้าไปใกล้พระบรมสารีริกธาตุ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ที่สำคัญของวัด ในระดับที่สัมผัสจับต้องได้ครับ

ส่วนในทางภาคใต้ของไทย เช่น ที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น แตกต่างออกไป
             
กล่าวคือ แม้ว่าจะยังคงมีการใช้ไสยศาสตร์ในการปกป้องศาสนวัตถุต่างๆ เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น 

แต่วิชาที่ใช้นั้น มีลักษณะประนีประนอม และยืดหยุ่นต่อสตรีเพศมากกว่า
             
เช่น นอกจากจะไม่เสื่อมเพราะรอบเดือนของสตรีแล้ว ยังไม่เป็นอันตรายสำหรับสตรีคนใดก็ตาม ที่ไม่มีเจตนาร้ายต่อองค์พระบรมธาตุด้วยนะครับ

ดังเช่น ลักษณะการผูกหุ่นพยนต์เป็นคู่ๆ ทั้งสิงห์ ครุฑ ยักษ์ และเทวดา อันปรากฏใน วิหารมหาภิเนษกรมณ์ หรือ วิหารพระทรงม้า วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร ทางขึ้นสู่ลานประทักษิณขององค์พระบรมธาตุที่ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ 

เห็นได้ชัดว่าไม่มีผลกระทบอะไร หากสตรีจะเดินผ่านขึ้นไป


ภาพจาก http://www.oknation.net

เพราะฉะนั้น สตรีชาวนครฯ ทุกคนจึงร่วมขบวนแห่ผ้าขึ้นพระธาตุได้ทุกปี ในวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา และในวันอื่นๆ ก็สามารถขึ้นไปเดินเวียนรอบลานประทักษิณบนองค์พระบรมธาตุได้เช่นกัน ถ้าประตูทางขึ้นนั้นเปิด

สตรีทางใต้ของไทย จึงไม่มีข้อจำกัดในการเข้าใกล้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหมือนกับภาคเหนือและภาคอีสาน เพราะวิชาไสยศาสตร์ที่ใช้มาแต่เดิม มันต่างกันไงครับ

และเหตุที่แตกต่างกัน ก็น่าจะเป็นเพราะในยุคสมัยแห่งตำนานพระนางเหมชาลานั้น พระพุทธศาสนายังไม่เข้มงวด ในการที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าจะสัมผัสใกล้ชิดกับสตรีเพศ เหมือนในวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาของไทยปัจจุบัน 

ในยุคดังกล่าว การสัมผัสใกล้ชิดกันอาจจะยังคงทำได้ ตามความจำเป็น และโดยไม่มีความกำหนัดหรือกิเลสตัณหาเข้ามาเกี่ยวข้อง

พระนางเหมชาลา จึงอัญเชิญพระทันตธาตุใส่เกล้าเมาลีเดินทางรอนแรมนับหลายๆ เดือน ไปจนถึงลังกาได้โดยไม่เกิดมลทินใดๆ กับพระทันตธาตุ 

เพราะเป็นความจำเป็นครับ ที่พระนางกับพระอนุชาต้องซ่อนของสำคัญเช่นนั้นติดตัวไปในรูปแบบที่ปลอดภัย และดูแลได้ง่าย ทั้งยังคงไว้ซึ่งการเคารพเทิดทูน คือประดิษฐานไว้เหนือพระเศียร

ไสยศาสตร์ของชาวนครศรีธรรมราช ก็คงสืบทอดคติเช่นว่านี้มาโดยตรงเช่นกันละครับ 

จึงแม้จะยังคงให้ความสำคัญในการพิทักษ์รักษาพระบรมธาตุ ด้วยหลักวิชาที่คล้ายคลึงกับในภูมิภาคอื่นๆ ของไทย แต่ก็มีความประนีประนอม และยืดหยุ่นต่อสตรีเพศดังกล่าวแล้ว

ก็นั่นละครับ ในเมื่อผู้หญิงสามารถอัญเชิญพระทันตธาตุติดตัวหนีภัยสงครามได้ และพระทันตธาตุนั้นยังคงศักดิ์สิทธิ์มาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีความเสื่อม หรือปรากฏว่ามีมลทินใดๆ เลย ศาสนาพุทธที่ชาวปักษ์ใต้ของไทยรับมาจากลังกาเป็นอย่างนี้ 

แล้วไสยศาสตร์ของชาวนครฯ จะมาสร้างกฎเกณฑ์ที่ย้อนแย้งกันได้อย่างไรล่ะครับ ในเมื่อไสยศาสตร์นั้นถูกนำมาใช้เพื่อกิจการของพระศาสนาที่รับมาจากลังกานั้นเอง

ส่วนจารีตประเพณี ที่ห้ามผู้หญิงเข้าใกล้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในภาคเหนือและอีสานนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากพื้นฐานวัฒนธรรมไทยทั่วไป (รวมทั้งในภาคกลางด้วย) ที่ต่อต้านการที่ผู้หญิงจะสัมผัสใกล้ชิด ถูกเนื้อต้องตัวกับพระภิกษุ เพราะจะทำให้พระรูปนั้นต้องอาบัติ

ทีนี้จากพระภิกษุที่เป็นมนุษย์ ก็เลยพลอยถือรวมไปถึงพระบรมสารีริกธาตุ พระอุโบสถ และรอยพระพุทธบาทในบางแห่งด้วย ตามที่กล่าวแล้วไงครับ


ภาพจาก http://www.oknation.net

ทั้งที่ในความจริง คือในส่วนของพระภิกษุสงฆ์นั้น อาบัติจะเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกันและกันด้วยความกำหนัดเท่านั้น

ถ้าไม่มีความกำหนัดเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พระภิกษุกับมารดา พี่สาว น้องสาว หรือลูกสาว หรือการถูกเนื้อต้องตัวกันในที่สาธารณะโดยไม่ตั้งใจ หรือพระภิกษุจำเป็นต้องช่วยผู้หญิงที่กำลังจะจมน้ำตาย 

รวมถึงการแสดงความเคารพอย่างสูง เช่นที่หญิงชาวลังกา นิยมล้างเท้าให้พระภิกษุก่อนจะนิมนต์ขึ้นเรือน (ซึ่งบางทีก็ถึงกับใช้มือขัดถูเท้าให้พระภิกษุรูปนั้นเลย) อันยังคงเป็นประเพณีปฏิบัติกันอยู่จนทุกวันนี้ 

บางอย่างก็เป็นอาบัติที่มีผลน้อย บางอย่างก็ไม่เป็นอาบัติ

ผมจึงสงสัยว่า เพราะเหตุใด? จึงมีแต่พระภิกษุสงฆ์ในศาสนาพุทธ นิกายเถรวาทของไทยเท่านั้น ที่มีมาตรการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเด่นชัด 

เช่น การไม่รับของจากมือสตรีเพศโดยตรง ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะสงฆ์ไทยกำหนดขึ้นเอง พระภิกษุพม่า และลังกาซึ่งเป็นเถรวาทเหมือนกัน ไม่มีข้อปฏิบัติเช่นนี้ รวมทั้งพระสงฆ์ฝ่ายมหายานก็ไม่มีเช่นกัน

เป็นเพราะวงการสงฆ์ไทย ต้องการกวดขันในเรื่องความเคร่งครัด และเพื่อป้องกันความเผลอสติ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนนำไปสู่การละเมิดพระธรรมวินัย 

อย่างที่พระพม่าและลังกาปฏิบัติอยู่นั้น พระสงฆ์ไทยคงมองว่า เสี่ยงต่อการละเมิดพระธรรมวินัยเกินไป และอาจเป็นเหตุนำไปสู่ปาราชิกได้ จึงต้องเข้มงวดกันไว้เสียเนิ่นๆ 

ก็เป็นไปได้นะครับ

แต่ก็น่าแปลกที่ว่า เมื่อมีการป้องกันอย่างดีถึงเพียงนี้ ทำไมวงการสงฆ์ไทยจึงมีข่าวอื้อฉาวกับสีกาอย่างมาก และหนักหนาสาหัสจริงๆ 

เมื่อเทียบกับพระพม่า ที่เอาลูกสาวตัวเล็กๆ ขี่คอได้ ยืนชิดกับน้องสาวในการถ่ายรูปงานรับปริญญาได้ 

หรือพระลังกา ที่รับสิ่งของจากมือสีกาได้โดยตรง และถูกสีกาล้างเท้าให้ทุกครั้งที่ได้รับกิจนิมนต์ 

พระภิกษุเถรวาทเช่นเดียวกับไทยเราทั้งสองชนชาตินี้ แทบไม่มีข่าวคาวอันเนื่องด้วยสีกาเลยนะครับ

และขณะเดียวกัน มาตรการป้องกันการใกล้ชิดระหว่างสีกากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ ก็พลอยทำให้องค์ความรู้ทางไสยศาสตร์ ที่ใช้ดูแลรักษาพระธาตุทางภาคเหนือและอีสาน มีลักษณะปิดตาย ไม่มีช่องทางที่จะยืดหยุ่น หรือเปิดโอกาสแก่สตรีเพศเหมือนอย่างทางภาคใต้ 

จนกระทั่งทุกครั้งที่มีการประท้วงขอสิทธิ และความเสมอภาคของสตรีในเรื่องนี้ ทางวัดก็ไม่สามารถหาวิธีที่จะช่วยเหลือได้

เพราะเหตุว่า แม้ไสยศาสตร์ล้านนาและอีสาน จะยังคงมีผู้สืบทอดที่เก่งเท่ากับคณาจารย์ที่ลงอาคมรักษาพระธาตุไว้ในอดีตกาลอยู่มาก 

แต่ในเมื่อวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาที่สืบทอดต่อๆ กันมาจนทุกวันนี้ ก็ไม่เห็นด้วยกับการใกล้ชิดระหว่างพระและสีกาอยู่แล้ว 

ไสยศาสตร์ที่ใช้รักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนา ก็จึงไม่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขสิ่งใดเหมือนกันไงครับ

แต่วิเคราะห์ดูก็น่าแปลกที่ว่า สำหรับทางพม่านั้น แม้พระภิกษุสงฆ์กับสตรีเพศจะสัมผัสแตะต้องกันได้ถ้าไม่มีความกำหนัดเกิดขึ้น แต่ก็ยังมีธรรมเนียมห้ามสตรีเข้าใกล้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนทางภาคเหนือของเรา 

บางทีประเพณีการห้ามผู้หญิงเข้าใกล้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในภาคเหนือของเรา อาจรับมาจากทางพม่าด้วยซ้ำ เพราะจารีตเช่นนี้แม้จะมีอยู่เช่นกันในภาคอีสาน ก็มิได้ครอบคลุมไปทุกพื้นที่ 

และที่สำคัญ คือไม่มีให้เห็นเลยในภาคกลาง

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ คนที่อ่านหนังสือไม่แตกคงคิดว่า ผมต้องการยุยงให้พระไทยเสี่ยงอาบัติกันมากขึ้น ด้วยการผ่อนปรนพระธรรมวินัยนะครับ, คนละเรื่อง

ผมแค่อยากจะบอกว่า การที่พระแม่เจ้าเหมชาลาทรงซ่อนพระทันตธาตุไว้ในพระเกศาได้ อาจจะเป็นการบ่งชี้กลายๆ ถึง องค์ความรู้ที่แท้จริง ในเรื่องของความเกี่ยวข้องระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับสตรีเพศ 

ที่บรรพบุรุษของชาวนครฯ ในฐานะที่เป็นผู้รับพระพุทธศาสนาสายตรงมาจากลังกาครอบครอง

และเลยทำให้มีผลต่อไสยศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกัน จนทำให้วัฒนธรรม-จารีตประเพณีทางพุทธศาสนาของเมืองนครศรีธรรมราช มีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่น ที่ชาวพุทธทุกเพศทุกวัยสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคอยระวังตัว เหมือนสตรีเพศในภาคเหนือและอีสาน ที่จำต้องเรียนรู้ และยอมรับว่า ตนมีฐานะอย่างไร และทำอะไรได้บ้างเมื่อเข้าไปในเขตพุทธาวาส

ผมนำเรื่องนี้มาวิจารณ์ ก็เพื่อประโยชน์ที่ว่า ใครที่สนใจในเรื่องของสิทธิสตรี หรือเฟมินิสต์ท่านใดจะประท้วง แสดงความไม่พอใจเรื่องการห้ามผู้หญิงเข้าใกล้พระธาตุอีก จะได้ลองทบทวน ศึกษาความเป็นมาเป็นไปของตำนานโบราณ และเงื่อนไขสังคม จารีต และไสยศาสตร์ ที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางวัฒนธรรมทางพุทธศาสนา ในแต่ละท้องถิ่นของไทยให้แตกฉานเสียก่อน

เวลาออกมาแสดงความคิดเห็นอะไร จะได้มีน้ำหนัก มีหลักการน่าเชื่อถือ จนอาจจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ชาญฉลาดและยั่งยืน 

มากกว่าการพูดโดยไม่รู้ตำนานโบราณ และเหยียดหยามไสยศาสตร์ทั้งที่รู้ไม่จริง อย่างที่เคยมีมาก่อนหน้านี้


ภาพจาก http://2othm.multiply.com


ส่วนตัวผมเอง ทุกวันนี้ยังระลึกถึงคำบอกเล่า จากคนเฒ่าคนแก่ชาวนครฯ ท่านหนึ่งที่มีสัมผัสพิเศษ ซึ่งบอกผมว่า 

ทุกครั้งที่ได้ทอดพระเนตรสตรีชาวนครทุกรุ่นทุกวัย ร่วมกันแห่ผ้าขึ้นธาตุ พระพักตร์ของพระนางเหมชาลาท่านจะดูมีรอยยิ้มอันชื่นใจ จนเห็นได้ชัดทีเดียวละครับ



………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

5 comments:

  1. สิมหลายแห่งทางอีสานก็ห้าม ญ เข้าคะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ใช่ครับ แต่ผมยังไม่ได้เช็คว่า ในลาวมีจารีตอย่างนี้หรือไม่ และถ้ามี เขาได้รับอิทธิพลจากเรา หรือจากไหน

      Delete
  2. "แต่ก็น่าแปลกที่ว่า เมื่อมีการป้องกันกันอย่างดีถึงเพียงนี้ ทำไมวงการสงฆ์ไทยจึงมีข่าวอื้อฉาวกับสีกาอย่างมาก และหนักหนาสาหัสจริงๆ" ...เป็นคำถามที่ชวนคิดมากค่ะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. บางท่านก็แย้งว่า ถ้าไม่ป้องกันไว้อย่างนี้ จะฉาวกันยิ่งกว่านี้มาก ...ถ้าอย่างนั้น จะมาบวชเป็นพระกันทำไมหรือครับ คนไทย

      Delete
  3. Dr Pandare
    Namasthe.
    Can you write above in English please.
    I am intered.

    ReplyDelete

Total Pageviews