Monday, March 21, 2016

พระสาทิสลักษณ์ ของ พระนางจามเทวี


ภาพจากวัดป่าคะยอมใต้

แม้ว่าเรื่องราวของพระนางจามเทวีเพิ่งจะแพร่หลาย เป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วไปเมื่อพ.ศ.๒๕๒๕ ที่ผ่านมา แต่ก็ปรากฏว่า พระสาทิสลักษณ์ของพระนางในสมัยแรกๆ กลับมีอายุเก่าไปกว่านั้นอีก

และปัจจุบัน ก็มีศิลปินหลายท่านได้เขียนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เป็นภาพที่มาจากจินตนาการของตัวศิลปินเองบ้าง จากการสื่อสารโดยผู้ทรงฌานสมาบัติบ้าง หรือมาจากพวกตำหนักทรงก็มีครับ

ภาพที่เกิดจากการสื่อสารทางสมาธิ หรือโดยผ่านผู้ทรงฌานสมาบัตินั้น ในสายตาของผู้เชื่อถือก็อาจคิดว่า เป็นหลักฐานที่น่าจะใกล้เคียงความจริงที่สุด

แต่จริงๆ ไม่ใช่ครับ

เพราะภาพที่สื่อได้ด้วยวิธีการนี้ แม้จะมาจากการสัมผัสกับดวงพระวิญญาณโดยตรง แต่พระลักษณะ พัสตราภรณ์ ฉลองพระองค์ ฯลฯ ย่อมจะผันแปรไปตาม อุปาทานของแต่ละบุคคล ซึ่งแตกต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนที่สื่อสมาธิจิตนั้นคิดว่า ท่านเป็นผู้หญิงไทยโบราณ โดยความ โบราณที่ว่านั้น ก็เอาจากดาราหนังจักรๆ วงศ์ๆ หรือละครกรมศิลป์เป็นเกณฑ์ พระพักตร์ท่านที่สื่อได้ก็จะเป็นแบบนั้นละครับ

ทั้งที่ความจริง ท่านอาจทรงพระสิริโฉมแบบผสมผสาน ระหว่างหญิงภาคกลางและภาคใต้ก็ได้

ถ้าคนที่สื่อสมาธิจิตนั้น ไม่มีความรู้ว่าผู้หญิงยุคพันกว่าปีมาแล้ว นิยมถ่วงติ่งหูให้ยาวถึงไหล่ด้วยต่างหูหนักๆ ภาพพระนางจามเทวีที่สื่อออกมาได้ ก็จะทรงมีพระกรรณที่เหมือนพวกเราในปัจจุบัน

ซึ่งก็ดูพระสาทิสลักษณ์ในบทความนี้นะครับ จะเห็นว่ามีเพียงภาพเดียวเท่านั้น ที่วาดให้ทรงมีพระกรรณยาว

ทั้งๆ ที่หลักฐานทางโบราณคดีในยุคของพระองค์ท่าน ไม่มีผู้หญิงคนไหนที่หูไม่ยาว


นักดนตรีหญิงสมัยทวารวดี ในยุคของพระนางจามเทวี
ภาพปูนปั้นประดับเจดีย์จากเมืองโบราณคูบัว จ.ราชบุรี

หรือถ้าคนที่สื่อสมาธิจิตนั้นมีความเชื่ออยู่ว่า ผู้หญิงไทยโบราณต้องห่มสไบ ภาพที่สื่อได้ก็จะทรงชุดไทยห่มสไบเฉียงแบบอยุธยาตอนปลาย หรือไม่ก็รัตนโกสินทร์

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ตามยุคสมัยของพระองค์ท่าน ยังไม่มีการห่มสไบนะครับ มีแต่เปลือยอกกันทั่วไป

หรืออย่างมากก็มีการเอาผ้ามาคาดพระองค์ไว้บ้าง แบบ สะหว้ายแล่ง เหมือนในภาพนักดนตรีจากคูบัวข้างบนนี้ละครับ 

หรือถ้าออกพระราชพิธี ก็อาจจะมีฉลองพระองค์ทองคำลักษณะคล้ายบราเซียร์ ที่เรียกกันว่า ฉลองนม หรือ ก่องนม

ภาพจากการสื่อทางสมาธิจิต ทางฌานสมาบัติ หรือทางนิมิต จึงไม่ใช่ว่าจะเชื่อถือได้เสมอไปนะครับ แต่ก็ช่วยเติมศรัทธา และจินตนาการเกี่ยวแก่พระนางจามเทวีได้มาก

เพียงแต่ว่า การจะนำไปบูชาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คงไม่มีผล เพราะมีอุปาทานของทั้งผู้สื่อและผู้วาดเข้าไปปะปนในระดับที่สูง

ยกเว้นแต่ว่า วาดออกมาแล้วดูสมเหตุสมผล ไม่ผิดยุคสมัยจนเกินไป และมีพิธีมังคลาภิเษกที่ดีพอ ก็บูชาได้

เหมือนพระรูปที่เป็นประติมากรรม หรือรูปลอยองค์ ซึ่งส่วนมากถอดแบบมาจากพระราชานุสาวรีย์นั่นละครับ

พระราชานุสาวรีย์นั้น ถ้าจะพูดได้อย่างมากที่สุด ก็แค่ใกล้เคียงความจริงเท่านั้น ไม่สามารถอ้างได้ว่าถอดแบบมาจากพระองค์จริงของท่านนะครับ

แต่เมื่อผ่านพิธีมังคลาภิเษกแล้ว ก็ศักดิ์สิทธิ์ คนไปกราบไหว้บูชาแล้วมีประสบการณ์กันมาก วัดไหนเอาแบบไปทำวัตถุมงคล ถ้าพิธีดีพอก็บูชาแล้วได้ผลเช่นกัน

ผมได้รวบรวมภาพวาด หรือ พระสาทิสลักษณ์ของพระนางจามเทวี เท่าที่ได้เคยพบเห็นมาไว้ในบทความนี้ หากท่านผู้ใดเห็นว่าขาดตกบกพร่อง มีภาพอื่นที่ผมไม่ได้พูดถึง จะส่งภาพให้ผมทาง inbox ใน facebook พร้อมคำบรรยายสั้นๆ ผมจะรีบนำมาโพสต์ด้วยความขอบคุณอย่างมาก และลงเครดิตให้กับท่านด้วยครับ




๑.ภาพจากหนังสือ มหาราชชาติไทย ของ คุณประกอบ  โชประการ พ.ศ.๒๕๒๓

เป็นหนึ่งในภาพเขียนชุดอดีตกษัตริย์ไทย และบุคคลในตำนานหลายสิบภาพ ตอนที่ผมเจอภาพนี้ครั้งแรก หนังสือเล่มนั้นเปื่อยยุ่ยอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ได้ทันเอามาถ่ายเอกสาร แล้วแต่งให้คมชัดขึ้นได้เพียงเท่านี้ละครับ

จะเห็นว่า เป็นภาพพระนางฉลองพระองค์แบบนางพญาชนเผ่า ตามจินตนาการของคนสมัยนั้นเมื่อนึกถึงอารยธรรมหริภุญไชย แล้วก็วาดได้ดีตามมาตรฐานภาพประกอบตำราไทยสมัยนั้น จัดเป็นภาพคลาสสิคได้เลยทีเดียว




๒.ภาพจากการสื่อสมาธิจิตของ คุณศรีเพ็ญ จัตุทะศรี

คุณศรีเพ็ญผู้นี้ เป็นศิษย์ของ อ.พร รัตนสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติสมาธิของเมืองไทย  และด้วยการปฏิบัติสมาธิ ท่านผู้นี้ก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้ากษัตริย์และเจ้านายไทยสมัยโบราณหลายพระองค์ รวมทั้งพระนางจามเทวีด้วย

จากนั้นจึงได้ถ่ายทอดให้ รศ.ลาวัณย์  อุปอินทร์ อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น เป็นผู้วาดออกมาเป็นพระสาทิสลักษณ์ คาดว่าน่าจะเขียนภายหลังพ.ศ.๒๕๑๔ และคงเขียนขึ้นก่อนพ.ศ.๒๕๒๕

ผมเขียนบทความกล่าวถึงภาพนี้ไว้แล้วโดยเฉพาะ อยู่ใน http://chamadewi.blogspot.com/2015/12/blog-post_8.html จึงไม่ขอลงรายละเอียดซ้ำอีกนะครับ




๓.ภาพดัดแปลงจากการสื่อสมาธิจิตของคุณศรีเพ็ญ

ผมไม่ทราบว่า รศ.ลาวัณย์เป็นผู้ปรับปรุง หรือเขียนภาพนี้ขึ้นเพิ่มเติมจากภาพแรกที่ได้จากคุณศรีเพ็ญ หรือเป็นฝีมือของศิลปินท่านอื่นเขียนขึ้น แต่โดยส่วนตัว ผมชอบ มิติและพระพักตร์แบบภาพแรกที่ได้จากคุณศรีเพ็ญมากกว่านะครับ

เป็นพระสาทิสลักษณ์พระนางจามเทวีที่ได้รับการสักการะบูชากันมาก ตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีคนบูชากันอยู่ แม้จะมีข้อผิดพลาดมากมายจริงๆ





๔. พระสาทิสลักษณ์ที่ วัดพระยืน อ.เมือง จ.ลำพูน

ผมเคยเห็นภาพนี่วัดพระยืน ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการบูรณะพระเจดีย์จนดูใหม่เอี่ยมทั้งองค์ และผ่านกาลเวลาจนแลดูเก่าคร่ำเหมือนก่อนจะบูรณะอีกครั้ง ตามสภาพปัจจุบัน

ภาพนี้ต้องเกิดขึ้นหลังสร้างพระราชานุสาวรีย์แล้ว เพราะศิราภรณ์และเครื่องประดับในภาพเห็นได้ว่า น่าจะเประยุกต์มาจากพระราชานุสาวรีย์

ดังนั้นภาพนี้จึงเป็นภาพที่น่าสนใจมากครับ เพราะเป็นภาพวาดยุคแรกๆ ของพระนางจามเทวีที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากภาพของคุณศรีเพ็ญ จัตุทะศรี




๕.พระสาทิสลักษณ์ โดย คุณวันทนา พัวพันธ์สกุล

ภาพนี้ เกิดขึ้นเมือปลายปี พ.ศ.๒๕๔๑ คุณวันทนาได้รับมอบหมายจากเทศบาลเมืองลำพูนให้วาดภาพเชิงเสมือนจริงของพระนางจามเทวี เนื่องในโอกาสที่นครหริภุญไชยจะมีอายุครบ ๑,๓๐๐ ปี

คุณวันทนาจึงเข้ากราบนมัสการ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน เพื่อขอคำแนะนำในการเขียนภาพและรายละเอียดทุกอย่าง จนสำเร็จเป็นภาพที่เห็นนี่ละครับ

ผมเคยเห็นของจริงแขวนอยู่ในศาลช้างผู้ก่ำงาเขียว บริเวณพระราชานุสาวรีย์ ซึ่งปัจจุบันรื้อไปแล้ว ตอนนั้นภาพที่เห็นค่อนข้างเก่าโทรม เพราะไม่ได้รับการดูแลรักษาเท่าที่สมควร อีกทั้งอยู่ในที่มืดเกินกว่าจะบันทึกภาพได้ ปัจจุบันจึงนำมาจาก Internet ได้เท่าที่เห็นนี่ละครับ

แต่แน่นอนครับ ในเรื่องของความผิดพลาดของเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ และฉลองพระองค์ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ไม่มีอะไรที่สอดคล้องกับยุคสมัยของพระนางเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๓




๖.พระสาทิสลักษณ์หน้าตรง โดยศิลปินรุ่นใหม่

เป็นอีกภาพที่ผมเห็นอยู่ในศาลช้างผู้ก่ำงาเขียวก่อนถูกรื้อไป และไม่แน่ใจว่าปัจจุบันอยู่ที่ใด เป็นภาพใส่กรอบขนาดไม่ใหญ่นัก ฝีมือศิลปินนักวาดภาพประกอบในปัจจุบัน ซึ่งคงเอาพระราชานุสาวรีย์เป็นแบบ

โดยส่วนตัวผม นี่เป็นผลงานจากจินตนาการที่เรียบง่ายและลงตัวนะครับ ถ้าตกแต่งให้ดีขึ้นอีกโดยศิลปินนักวาดภาพสีน้ำมันเก่งๆ สักคน ก็สามารถนำไปทำพิธีมังคลาภิเษกให้บูชาได้เลยทีเดียว




๗.ภาพดัดแปลงจากต้นแบบของคุณศรีเพ็ญ อีกภาพหนึ่ง

ภาพนี้ก็เป็นการต่อยอดจากเดิมที่มีแค่พระพักตร์เป็นพระรูปเต็มองค์ละครับ ผมเพิ่งเห็นไม่นานมานี้เอง คาดว่าจะเพิ่งทำขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ซึ่งเขาก็ทำได้ดีนะครับ จากการเพิ่มเติมฉลองพระองค์ที่เดิมเห็นแค่เหนือพระอุระให้เต็มองค์ ซึ่งก็ดูเนียนดี เพียงแต่ฝีมือยังอ่อน และสีสันรูปแบบอาจดูเป็น Illustration ไปหน่อย ดูแล้วไม่เกิดศรัทธาแรงกล้า จึงไม่ค่อยแพร่หลายเท่าที่ควร


ภาพจากหนังสือ เกร็ดพระราชประวัติ พระนางจามเทวี
เรียบเรียงโดย แก้ว อัมรินทร์ สนพ.คอมม่า พ.ศ.๒๕๓๗

๘.ภาพจากการสื่อฌานสมาบัติ ของพราหมณ์ใน จ.ลำพูน

ภาพนี้ ถ้าไม่ได้รับอิทธิพลจากละคร กษัตริยา ที่สร้างจากนวนิยายของ ทมยันตี ก็จากอภิมหาภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่นอนครับ

เพราะก่อนหน้าละครและภาพยนตร์ดังกล่าว ไม่มีความนิยมที่จะวาดเจ้านายฝ่ายในยุคโบราณพระองค์ใด ในฉลองพระองต์แบบนี้

และการที่ใครได้เห็นภาพดังกล่าวแล้วเชื่อว่า เป็นภาพที่สื่อออกมาได้ใกล้เคียงความจริงที่สุด คนคนนั้นก็ต้องเป็นหนึ่งในผู้คุ้นเคยกับละคร หรืออภิมหาภาพยนตร์ดังกล่าวอยู่แล้วด้วย

ภาพนี้ไม่เคยมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะมาก่อน จนกระทั่งเมื่อมีการนำมาทำเป็นปกหนังสือ เกร็ดพระราชประวัติ พระนางจามเทวี ของ คุณธัญวลัย คำโมนะ ที่สื่อญาณบารมีของพระนางจามเทวีออกมาได้ว่า พระนางทรงเป็นภาคหนึ่งของพระโพธิสัตว์กวนอิมไงครับ

จะเห็นว่าเป็นภาพที่ดูโบราณจริงๆ สำหรับผู้ไม่รู้เรื่องการแต่งกายโบราณ เพราะอย่างน้อยก็ดูสมเหตุสมผลกว่าฉลองพระองค์แบบรัตนโกสินทร์ของคุณศรีเพ็ญ






๙. ภาพจากจินตนาการของศิลปินในปัจจุบัน ไม่ทราบนามผู้วาด

ภาพนี้เกิดจินตนาการของศิลปินที่เห็นได้ชัดว่า ตั้งใจเขียนให้แตกต่างไปจากภาพที่คุ้นเคยกันอยู่ในท้องตลาด โดยพยายามเขียนให้ดูมีพระเดชานุภาพมากขึ้นด้วย ทั้งจากบุคลิกลักษณะ ที่ดูเป็นราชนารีที่ดุ เคร่งขรึม และฉลองพระองค์ที่ดูเป็น นางพญามาก

อย่างไรก็ตาม แม้รูปแบบเครื่องประดับทั้งกรองศอ พาหุรัด ทองกร จะดูเป็นแบบโบราณ โดยเฉพาะอุตส่าห์วาดให้พระกรรณยาว ถ่วงด้วยกุณฑลที่หนัก สมกับเป็นราชนารียุคทวารวดีจริงๆ 

แต่ผู้วาดภาพนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ในการออกแบบศิราภรณ์ ซึ่งผมคิดว่า คงจะได้รับอิทธิพลจากพระนางสิกขี ที่ปลอมขายกันอยู่ในวงการพระเครื่องนั่นแหละครับ แล้วเติมยอดของเทริดเข้าไป 

แต่เนื่องจากไม่มีต้นแบบที่สมบูรณ์ ยอดที่เติมเข้าไปจึงไม่เข้ากับรูปแบบของศิราภรณ์ ดังที่ปรากฏ




๑๐.ภาพจากจินตนาการและการรังสรรค์ของ คุณสราวุธ กันไพรี

ในทรรศนะของผม เห็นว่า ภาพนี้เป็นภาพพระสาทิสลักษณ์ของพระนางจามเทวีที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับทุกภาพที่ผ่านมาครับ

เพราะไม่ว่าจะเป็นพระลักษณะ พัสตราภรณ์ ฉลองพระองค์ องค์ประกอบภาพและสีสัน พระพัdตร์และพระวรกายของพระนางจามเทวีในรูปนี้ เขียนได้งาม และคงจะหาภาพของพระนางที่งามกว่านี้ได้ยาก ในระยะเวลาอันใกล้นี้

เป็นงานสร้างสรรค์ด้วยจินตนาการและฝีมือที่ยอดเยี่ยม แม้จะยังไม่ถึงกับสมจริงนักก็ตาม 

แต่ภาพนี้ ภายหลังได้มีตำหนักทรงพระนางจามเทวีตำหนักหนึ่งนำรูปแบบไปใช้ เขาจัดตำหนักและร่างทรงก็แต่งตัวทำผมแบบเดียวกันนี้ นอนท่าเดียวกันนี้เลยละครับ และยังมีพระรูปประติมากรรมที่ทำอย่างเดียวกันนี้ด้วย จนผมไม่แน่ใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันแค่ไหน ก็เพียงแต่หวังว่าตำหนักทรงเป็นคนลอกเลียนแบบไป ไม่ใช่ว่าเขียนขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากร่างทรง

ท่านที่สนใจวิธีการรังสรรค์ภาพนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสมบูรณ์ทุกขั้นตอน สามารถเข้าชมได้ที่ http://www.clicklikedesign.com/the%20oil%20painting%20Art002.htm




๑๑.ภาพบูชาของ วัดป่าคะยอมใต้ จ.ลำพูน

ออกให้บูชาเป็นภาพขนาดใหญ่ใส่กรอบอย่างดี สำหรับเจ้าภาพกองทุนทอดผ้าป่าพญานาคราช วัดป่าคะยอมใต้ ต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน กองทุนละ ๙๙๙ บาท ในช่วงครึ่งแรกของปีพ.ศ.๒๕๕๘ เป็นภาพที่ได้รับการยกย่องกันทั่วไป และมีผู้ต้องการเช่าบูชามากที่สุดในช่วงเวลาที่ผมเขียนบทความนี้ครับ

ภาพนี้เขียนได้งามทีเดียว ทั้งพัสตราภรณ์และฉลองพระองค์ก็ดูสมเหตุสมผล ทำให้เชื่อว่าเป็นแบบอย่างของนางกษัตริย์เมื่อ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้วได้สนิทใจ พระพักตร์ก็ทรงพระสิริโฉม ขณะที่ดูขึงขัง มีอำนาจบารมีพอสมควร

ถ้าผมไม่เคยเห็นดาราภาพยนตร์ในอดีตที่หน้าตาคล้ายๆ กันนี้มาแล้ว ผมก็จะมองไม่เห็นอะไรที่เป็นข้อบกพร่องในภาพนี้เลยครับ เพราะเราไม่จำเป็นต้องพูดถึงความถูกต้องสมจริงของภาพบูชาอย่างนี้หรอก เพียงแค่เขียนให้งามได้ขนาดนี้ก็ดีมากแล้ว

จากพระสาทิสลักษณ์ ผมขอแถมภาพที่เคยถูกอ้างว่า เป็นพระนางจามเทวีอีกรูปแบบหนึ่งสักภาพนะครับ




ภาพนี้ แรกๆ มีผู้ไปพบในวัดแห่งหนึ่ง แล้วมีการนำมาเผยแพร่กันอยู่พักหนึ่งว่าเป็นพระสาทิสลักษณ์ของพระนางจามเทวีเช่นกัน จนมีโรงหล่อบางแห่งนำไปสร้างเป็นพระรูปลอยองค์อย่างงดงาม โดยโฆษณาว่าเป็นพระนางจามเทวีเลยทีเดียว

แต่ที่จริงแล้ว พระรูปนี้คือพระสาทิสลักษณ์จากจินตนาการ ของ พระนางจามรี นางพญาในตำนานผู้ครองเวียงลี้ อ.ลำพูน สมัยหริภุญไชยตอนปลาย ห่างจากยุคพระนางจามเทวีหลายร้อยปีครับ

เรื่องราวของพระนางจามรีพระองค์นี้ ผมเขียนไว้ในหนังสือ ตำนานนางกษัตริย์ แล้วก็กำลังว่าจะพิมพ์ใหม่อยู่ หรือถ้าไปถามคนลี้ก็จะได้คำตอบไม่ยากครับ ที่นั่นเขานับถือกันเป็นแม่เมือง เหมือนที่คนลำพูนส่วนใหญ่นับถือพระนางจามเทวี

พระนามคล้ายกันแล้วก็เป็นอดีตนางกษัตริย์ลำพูนเหมือนกัน อาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิด แล้วเผยแพร่ต่อๆ กันไปก็เป็นได้

แต่ล่าสุดก็ซาไปแล้วนะครับ มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น ผมก็หวังว่าจะเลิกเข้าใจผิดกันเสียที



………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

5 comments:

  1. ทำไมอาจารย์ชอบภาพต้นแบบของคุณศรีเพ็ญมากกว่าภาพที่ดัดแปลงแล้วคะ ทั้งๆ ที่ภาพหลัง คนทั่วไปเค้าชอบกันมากกว่า

    ReplyDelete
    Replies
    1. เพราะดูแล้วพระพักตร์อิ่ม มีบารมีกว่าภาพที่ดัดแปลงแล้วน่ะสิครับ มิติหรือบรรยากาศในภาพก็ดูเป็นการสื่อสัมผัสทางวิญญาณมากกว่า

      Delete
    2. คุณลองสังเกตดูดีๆ ภาพที่ดัดแปลงแล้ว เขียนขึ้นจากภาพเดียวกันแท้ๆ แต่ใบหน้าดูไม่ใช่คนเดียวกันนะครับ ภาพที่ดัดแปลงแล้วจะดูเหมือนคนทั่วๆ ไป และมีสีสัน ทำให้คนส่วนใหญ่ชอบมากกว่า

      Delete
  2. ชอบภาพที่ 5 กับภาพที่ 7 คะ

    ReplyDelete
  3. ภาพที่ ๕ กับภาพที่ ๘ ของคุณสราวุธ หรือเปล่าครับ เพราะเดิมผมพิมพ์ผิด พิมพ์ภาพที่ ๗ ซ้ำกันสองภาพ

    ReplyDelete

Total Pageviews