Thursday, June 23, 2016

"จามเทวี' อำนาจของสตรีมอญเหนือราชบัลลังก์ ในลัทธิศักติของไวษณพนิกาย





ชื่อของโพสต์นี้ เป็นชื่อเดียวกับบทความที่เสนอแนวคิดใหม่ล่าสุด เกี่ยวแก่พระนางจามเทวี โดย สมิงอัครินทร์ แอดมินแฟนเพจ รามัญคดี ซึ่งแบ่งโพสต์เป็น ๓ ตอนใน Facebook เมื่อวันที่ ๙, ๑๐ และ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙

เป็นแนวคิดใหม่ล่าสุด ที่เกิดจากการรวบรวม-จับประเด็นจากเนื้อหา และการวิเคราะห์ทางวิชาการต่างๆ รวมทั้งจาก blog นี้ของผมเองด้วย นำมาเปรียบเทียบถึงความละม้ายเหมือนในจุดสำคัญๆ กับคัมภีร์อินเดียโบราณ ที่ให้ความสำคัญของ พระแม่หรือเทพนารี ได้อย่างน่าสนใจมาก

เรียกว่า พอผมได้อ่านก็คิดขึ้นมาทันที ว่าคนที่ไม่เล่น Facebook จะเข้าถึงบทความนี้ได้อย่างไร ก็โชคดีครับ ที่ผมได้รับความร่วมมือจากทางแฟนเพจ ให้นำบทความนี้มาเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ใน blog นี้ ซึ่งต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

ต่อจากนี้ไป เป็นเนื้อหาของบทความตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วผมจึงจะวิเคราะห์ในแต่ละภาคส่วนไปนะครับ โดยผมขอตัดย่อหน้าให้ถี่ขึ้น และเน้นบางข้อความ เพื่อให้สะดวกในการอ่าน ส่วนถ้อยคำและการสะกดนั้นคงไว้ตามเดิมทุกประการ

ติดตามข้อเขียนของ สมิงอัครินทร์ ในฐานะนักวิชาการสายรามัญคดี กันได้แล้วครับ :

แม้ว่าตำนานของ พระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีแห่งนครหริภุญไชย ที่นักประวัติศาสตร์ส่วนมากเชื่อว่า พระธิดาแห่งพระเจ้ากรุงลวปุระพระองค์นี้ เป็นผู้มีเชื้อสายมอญในยุคทวารวดียังคงมีความคลุมเครืออยู่มาก

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพระนาม ที่เมื่อพยายามเทียบออกมาเป็นภาษามอญว่า "กยาม" ซึ่งแปลว่า จระเข้ แล้ว ก็ยังดูไม่ค่อยมีน้ำหนักสมที่จะเป็นพระนามแห่งสตรีผู้ทรงศักดิ์ พระองค์นี้

จนมีนักวิชาการอีกหลายท่าน เสนอว่า พระนางน่าจะเป็นเจ้าหญิงที่มีเชื้อสายจาม จากอาณาจักรจามปา อาณาจักรโบราณร่วมสมัยทวารวดี อีกอาณาจักรหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีการอภิเษกสมรสข้ามอาณาจักรมาตั้งแต่รุ่นพระมารดา หรือแม้กระทั่งพระองค์เองอาจจะเป็นพระธิดาบุญธรรมของพระเจ้ากรุงละโว้ ที่มาจากราชสำนักจามปาก็ตาม

แต่นอกจากคุณสมบัติของพระนาง ซึ่งในจามเทวีวงศ์ ระบุว่า สุกกทันตฤาษี เป็นผู้เสนอให้ สุเทวฤาษี ไปเชิญพระองค์ไปครองเมืองแห่งใหม่ ที่ฤาษี 3 ตน (อีกตนหนึ่ง คือ สัชนาไลยฤาษี) ได้ช่วยการสร้าง ด้วยพระนางเพียบพร้อมไปด้วยชาติสมบัติ คุณธรรม ความงาม สติปัญญา เป็นเบญจกัลยานี (จามเทวีวงศ์ พงศาวดารหริภุญชัย) แล้ว ยังไม่มีใครสามารถหาสาเหตุที่ชัดเจน ถึงการตัดสินใจของ สุเทวฤาษี ว่าเหตุใด จึงเลือกเอาสตรีขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมือง แทนที่จะเป็นบุรุษตามขนบธรรมเนียมทั่วไปของชาวอุษาคเณย์โบราณ โดยเฉพาะ พระนางจามเทวี เป็นสตรีวิเคราะห์ (หม้าย) และกำลังทรงพระครรภ์อยู่ในขณะนั้น

มีสาเหตุหลายประการที่เป็นไปได้ และมีผู้นำเสนอความเห็น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นเหตุผลทางการเมือง ระหว่างละโว้ กับอาณาจักรข้างเคียง หรือภายในราชสำนักละโว้เอง จนทำให้พระสวามี (ตำนานพื้นเมืองว่า มีพระนามว่า เจ้าชายรามราช) ต้องออกผนวช และพระองค์ก็ทรงต้องระหกระเหเร่ร่อน ในขณะที่กำลังทรงครรภ์ ไปครองเมืองที่อยู่ไกลความเจริญ และชายฝั่งทะเล อย่าง "พิงคนคร หริภุญไชย" ในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาเรื่องจามเทวี ล่าสุด ผู้เขียนพบว่า เหตุการณ์บางตอนในตำนานจามเทวี นั้นมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ใน "อัทภุต รามายณะ" (Adbhuta Ramayana) อันเป็นเรื่อง รามายณะ อีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งเขียนขึ้นโดย วาลมีกิฤาษี (Valmiki) เช่นเดียวกันกับฉบับภาษาสันสกฤต ที่แพร่หลายในปัจจุบัน แต่แตกต่างพิสดารไปมาก

เพราะเป็นงานเขียนในลัทธิ ศักติของไวศณพนิกาย (Vaishanavi Shakti) ที่เน้นการบูชาศักติของพระวิษณุนารายณ์ คือ พระลักษมี (Lakshmi) ให้มีสถานะเท่าเทียม หรือแม้กระทั่งยิ่งใหญ่กว่า มหาเทพวิษณุ (Vishnu) ศิวะ (Shiva) และพรหม (Brahma) เสียอีก

โดยรามายณะฉบับ อัทภุทนี้ ให้ความสำคัญกับ "นางสีดา" (Sita) มากกว่าพระราม (Rama) และวีรบุรุษในรามายณะคนอื่นๆ โดยไฮไล้ท์ของเรื่องเกิดขึ้นหลังจากพระรามได้สังหาร ท้าวราพณ์ (Ravana - ทศกัณฐ์ ๑๐ เศียร) ไปแล้ว แต่กลับมี ท้าวราพณ์พันเศียร ซึ่งเป็นพี่ชาย ยกทัพมาแก้แค้นและได้สังหารพระราม พระลักษมณ์ จนสิ้นชีพในสนามรบ




นางสีดา ซึ่งออกรบด้วยก็บันดาลโทสะ กลายร่างเป็น "กาลี" (Kali) มีผิวสีดำ เปลือยกาย เข้ารบกับท้าวราพณ์พันเศียร และสามารถตัดหัวของราพณาสูรได้ แต่ด้วยความโกรธและเสียใจ ร่างกาลีของสีดานั้น ก็ยังคงหิ้วหัวของอสูร และเต้นไปรอบๆ สนามรบจนแผ่นดินทรุด กระทั่งพระมหาเทพศิวะต้องเสด็จมาทอดกายลง ให้นางกระทืบพระวรกายแทนพื้นโลก

ผลที่สุดคือ พระพรหม ต้องเสด็จมาเตือนสตินางสีดาว่า แท้จริง พระนางคือ มหิทธานุภาพของมหาเทพทั้งหมดรวมกัน พลังอำนาจของสีดานั้น อาจจะกอบกู้มนุษยโลกได้ และทำลายโลกได้ในขณะเดียวกัน และไม่มีมหาเทพองค์ใดจะสามารถใช้ฤทธาอำนาจของพระองค์ได้ หากไม่ใช้ผ่านนาง แม้มหาเทพศิวะ ยังต้องอยู่ภายใต้พระบาทของสีดา

หลังจากนั้น ทั้งพระศิวะและพระพรหม จึงร่วมกันชุบชีวิตพระราม พระลักษมณ์ให้คืนชีพมา นางสีดาจึงคลายความโกรธและโศกเศร้า กลายร่างจากกาลีกลับเป็นสีดาตามเดิม โลกจึงเข้าสู่ความผาสุข

ทั้งนี้ ผู้เขียนพบว่า เนื้อความในอัทภุทรามายณะนั้น มีรายละเอียดหลายประการคล้ายคลึงกับเรื่อง จามเทวี ซึ่งอาจจะอธิบายเทวสิทธิ์ของพระนางจามเทวีในการขึ้นครองหริภุญไชย โดยในที่นี้จะยกมาเพียงสังเขป ตามกาลวิถีในตำนานของนางกษัตริย์ทั้งสอง คือ

๑. มีชาติกำเนิดคุมเครือ อัทภุท รามายณะ ระบุว่า นางสีดา เป็นพระธิดาของ ราวณะ/ราพณ์ (ทศกัณฐ์) กับนางมณโฑ (Mondodhari) ซึ่งถือกำเนิดจาก เหตุที่นางมณโฑทรงเสวยเลือดของบรรดาพระฤาษีจากป่าทัณฑกะ (Dandaka) ที่ทศกัณฐ์ไปเที่ยวสะสมมา ผสมกับน้ำนมโคที่เหล่าสตรีได้ถวายเป็นเครื่องบูชาพระลักษมี (Lakshmi) เพื่อขอบุตร ซึ่งบรรจุอยู่ในคนโทน้ำ เนื่องจากนางมณโฑที่ต้องการฆ่าตัวตายเข้าใจผิดว่าเป็นคนโทบรรจุยาพิษ จึงยากที่จะชี้ชัดว่า นางสีดามีเชื้อสายใด ส่วนพระนางจามเทวีก็ไม่ได้ทรงพระนามอย่างรามัญ และอาจจะมิได้เป็นชาวลวปุระมาแต่เดิม ดังเหตุผลที่ได้ยกมาแล้วข้างต้น

๒. เป็นพระธิดาบุญธรรมของท้าวพญามหากษัตริย์ อัทภุท รามายณะ ระบุว่า นางสีดามีอีกชื่อหนึ่งว่า "ชนกี" (Janaki) เนื่องจากหลังจากนางได้กำเนิดขึ้น นางมณโฑเกรงว่า ท้าวราพณ์จะไม่เชื่อว่าเป็นพระธิดาของตน จึงแอบไปคลอดที่เมืองอื่น แล้วฝังไว้ ต่อมาท้าวชนก (Janaka) ทรงขุดได้จากการไถ และทรงชุบเลี้ยงให้เป็นพระธิดาบุญธรรม ส่วนตำนานพื้นบ้านชาวมอญหนองดู่ระบุว่า จามเทวีเป็นธิดาของเศรษฐีอินตา แต่พญานกคาบไป จนพระสุเทวฤาษีเห็นเข้าจึงร่ายเวทย์บันดาลให้นกปล่อยลงมาแล้วนำไปชุบเลี้ยง จนต่อมาได้ต่อแพลอยน้ำไปยังกรุงละโว้ จนได้เป็นพระธิดาบุญธรรมของพระเจ้ากรุงละโว้

๓. ทรงมีพระสวามี พระนามเดียวกันกับนางสีดา คือ "ราม"

๔. พระสวามีทรงออกผนวช ทั้งรามายณะและจามเทวีวงศ์ ระบุว่า พระสวามีของนางกษัตริย์ทั้งสองทรงออกผนวช

๕. เรื่องมีโอรสแฝด ในรามายณะสำนวนต่างๆ ระบุว่า พระรามและนางสีดามีโอรสแฝด คือ "กุศะ" และ "ละวะ" (ในรามเกียรติ์ว่า พระมงกุฎ พระลบ) เจ้าชายรามราชและจามเทวีมีพระโอรสแฝด คือ "มหันตยศ" และ "อนันตยศ"

๖. เรื่องมีพระสวามีที่อ่อนแอกว่าข้าศึก จนมเหสีต้องออกรบเอง จนได้รับชัยชนะ ในอัทภุทรามายณะระบุว่า พระรามสิ้นพระชนม์ในที่รบ เมื่อรบกับท้าวราพณ์พันเศียร นางสีดาจึงต้องออกรบเองจนสามารถสังหารพญาอสูรได้ ในตำนานจามเทวีฉบับพื้นบ้านเล่าว่า เจ้าชายรามราชไม่สามารถสู้กับทัพเจ้าชายแห่งโกสัมภีได้ จนพระนางจามเทวีต้องออกรบจนได้รับชัยชนะ และเจ้าชายแห่งโกสัมภีต้องปลงพระชนม์พระองค์เองด้วยความอับอาย

๗. เรื่องการมีทัพวานรเป็นกำลังในการรบ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ฝ่ายพระรามมีข้าทหารเป็นเหล่าวานร ซึ่งมาจาก กีษกินธ์ (Kishkindha - ขีดขิน) ซึ่งมี พญากากาศ (พาลี - Bali/Vali) เป็นกษัตริย์ และขุนพลอีก 25 ตัว พระนางจามเทวี มีพี่เลี้ยงเป็นพญาวานร นามว่า พญากากะวานร และบริวารอีก 35 ตัว

๘. เรื่องการกลายร่างเป็น กาลี กิตติ วัฒนะมหาตม์ นักโบราณคดี ผู้ศึกษาเกี่ยวกับ พระนางจามเทวี และเขียนหนังสือ "จอมนางหริภุญไชย" ระบุไว้ใน Google Blog ของเขาว่า พระครูสิริสุดาภิมณฑ์ เจ้าคณะอำเภอทุ่งหัวช้าง ในเวทีเสวนา "สืบค้นพระราชประวัติพระนางจามเทวี" ซึ่ง เพ็ญสุภา สุขคตะ ได้บันทึกไว้ใน Facebook ของเธอ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ ว่า คนเฒ่าคนแก่ มักจะบอกลูกหลานว่า อย่าเอาดอกชบาสีแดงมาใช้ในงานบุญ เพราะเป็นดอกไม้ที่พระนางจามเทวีทำคุณไสย เสียบไว้บนมาลา (หมวก) ที่ส่งไปให้ขุนหลวงวิลังคะ เพื่อให้ฤทธิ์เสื่อม จนเมื่อขุนหลวงวิลังคะพ่ายแพ้แล้ว จึงได้แช่งดอกชบานี้เอาไว้

ซึ่ง กิตติ ได้อธิบายเสริมว่า ดอกชบาแดงนี้เป็นดอกไม้ที่ชาวอินเดียใช้บูชาพระแม่กาลี ซึ่งนับถือกันมากในเบงกอล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียมาไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ปี นอกจากนี้ ดอกชบายังเป็นดอกไม้ที่คนไทยภาคกลางไม่นิยมนำมาบูชาพระ เพราะเป็นดอกไม้ที่ใช้ทัดหูนักโทษประหาร ที่จะต้องถูกตัดศีรษะ ซึ่งพ้องกันกับเรื่องที่สีดากลายร่างเป็น กาลีและตัดหัวอสูร

๙. ทั้งนี้ ยังไม่รวมกับทฤษฎีที่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และปราชญ์ชาวมอญอีกหลายท่านเสนอว่า ชาวรามัญ สืบเชื้อสายมาจากชาวอินเดียใต้ ที่อพยพมาสู่สุวรรณภูมิ ชื่อ "รามัญเทศะ" มีความหมายว่า ประเทศแห่งบุตรราม อีกทั้ง ชื่ออาณาจักรทวารวดี ก็มาจากชื่อ กรุงทวารกา ของพระกฤษณะ ในขณะที่ชื่อ กรุงอโยธยา ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณยุคขอม (มอญ ขแมร์) ก็มาจากชื่อเมืองของพระราม

ส่วนทางด้านหริภุญไชยนั้น วิฑูร บัวแดง นักวิชาการประวัติศาสตร์ชาวล้านนา เสนอว่า มีความหมายว่า "สังข์แห่งพระนารายณ์" ในขณะที่ เพ็ญสุภา สุขคตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านหริภุญไชยศึกษา และอดีตหัวหน้าพิพิภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยเสนอว่า หมายถึง "ชัยชนะแห่งพระนารายณ์"

ทำให้เห็นว่า นอกเหนือจากศรัทธาในพุทธศาสนา ทั้งลัทธิหินยาน และมหายานแล้ว ชาวมอญก็มีความนับถือในองค์พระวิษณุนารายณ์ ในศาสนาฮินดูมาแต่โบราณ ดังปรากฏว่ามีการขุดพบเทวรูปในศาสนาฮินดู หลายชิ้นในทั้งแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี และในหริภุญไชย




ดังนั้น เมื่อกลับมาพิจารณาปรากฏการณ์ "ความคล้ายคลึง" ของเนื้อเรื่อง อัทภุท รามายณะ และ ตำนานจามเทวี แล้ว ทำให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่การขึ้นครองราชย์ปกครองอาณาจักรหริภุญไชยของพระนางจามเทวีนั้น แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกัน และต่างกรรมต่างวาระกับ อัทภุทรามายณะ ซึ่งเขียนในสมัยปลายพุทธกาล อาจจะมีแรงขับเคลื่อนบางอย่าง ต่อสิทธิและความชอบธรรมของพระนาง

 โดยเฉพาะในสังคมประเพณีของชาวมอญ ซึ่งมีรากทางวัฒนธรรมสายหนึ่งมาจากความเชื่อในไวศณพนิกาย หากแต่อธิบายเทวสิทธิ์ และราชสิทธิ์ของพระนางด้วยความเชื่อในลัทธิ "ศักติ" ซึ่งอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียก่อนหน้านี้ หรือเข้ามาในสมัยพระนางก็เป็นได้

โดยเฉพาะคุณสมบัติหลายๆ ประการของจามเทวี ที่มีความคล้ายคลึงกับสีดาในอัทภุทรามายณะ นั่นเอง ที่อาจจะเป็นเหตุผลสนับสนุนการตัดสินใจของสุเทวฤาษีและสุกกทันตฤาษี ในการเชิญพระนางขึ้นครองเมือง ไม่นับถึงนามของสุเทวฤาษีเอง ที่ เพ็ญสุภา เสนอว่า เป็นชื่อที่มาจาก "วาสุเทพ" (Vasudev) อันเป็นชื่อเรียกของพระกฤษณะ (Krishna) ที่เหล่าพี่น้องปาณฑพ (Pandava) และเการพ (Kaurava) ใช้เรียกพระองค์ ในมหาภารตะ (Mahabarat)

ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีความเป็นไปได้ว่า หากสมมุติฐานนี้เป็นจริง ลัทธิศักติ ในประเพณีความเชื่อฝั่งฮินดูของชาวมอญ อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลส่งเสริมให้สตรีชาวมอญมีบทบาทสำคัญในครอบครัวและสังคม และสามารถแสดงบทบาทผู้นำได้ โดยได้รับการยอมรับจากชายชาวมอญ ในสมัยต่อๆ มา

เช่นการขึ้นครองราชย์ของ พระนางมิจาวปุ (เชงสอบู) พระธิดาของพระเจ้าราชาธิราช เหนือราชบัลลังก์หงสาวดี ซึ่งธรรมเนียมนับถือสตรีนี้ก็ยังคงสืบทอดกันต่อมาจนแม้กระทั่ง ในสังคม และชุมชนชาวมอญในที่ต่างๆ ทั้งในประเทศไทย และรัฐมอญ ในเมียนม่าร์ปัจจุบัน ที่ยังสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สตรีมอญยังค่อนข้างมีบทบาทและอำนาจในครอบครัวทัดเทียมหรือในบางกรณี มากกว่าบุรุษ มากกว่าสตรีในชาติพันธุ์ไท หรือชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยร่วมกันอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมินี้


ภาพจาก http://www.cmprice.com

ครับ, สมิงอัครินทร์จบบทความนี้ไว้ ให้เป็นอีกข้อสมมุติฐานเกี่ยวแก่พระนางจามเทวี ซึ่งโดยทรรศนะของผมเห็นว่า ข้อเสนอต่างๆ ก่อนหน้านี้ของนักวิชาการสองสามท่าน ยังไม่ประทับใจผมเท่าที่ควร (ดู บทสรุปจากเวทีเสวนาสืบค้นพระราชประวัติพระนางจามเทวี ทั้ง ๒ ตอน ที่ผมเขียนไปแล้วนะครับ)

แต่คราวนี้ผมสนใจมาก เพราะข้อสังเกต การเปรียบเทียบ และบทสรุปของเนื้อหา มันมีอะไรให้คิดไปตามแนวทางที่สมิงอัครินทร์กล่าวไว้เป็นอันมากครับ แม้ว่าจะยังมีจุดที่ขัดแย้งอยู่บ้าง ดังนี้

ประเด็นที่ ๑. คัมภีร์อัทภูต รามายณะ (Adbhuta Ramayana) ซึ่งเป็นงานเขียนในลัทธิศักติสายไวษณพนิกาย (Vaishanavi Shakti) และมีข้อมูลว่าเขียนโดยท่านมหาฤาษีวาลมีกิ ท่านเดียวกับที่เขียนคัมภีร์มหารามายณะฉบับภาษาสันสกฤตอันมีชื่อเสียงนั้น

โดยเนื้อหาที่ยกมาอ้างอิง ก็นับว่าเป็นไปได้ยากนะครับ ที่จะเป็นงานเขียนของท่านมหาฤาษีวาลมีกิที่เขียนมหารามายณะจริง

เพราะจากเนื้อหาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ในลัทธิบูชาพระแม่ลักษมี-กาลี ซึ่งเป็นลัทธิที่แยกย่อยออกมาจากไวษณพนิกาย ในยุคหลังมากครับ




ด้วยว่า ลัทธิศักติสายไวษณพนิกายนั้น ก็เป็นลัทธิที่เกิดขึ้นตามหลังนิกายศักติ ที่แยกออกมาจากศาสนาฮินดูไศวะนิกาย (Shaivism : นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด) 

โดยนิกายศักติที่ว่านี้ นับถือพระอุมา ในภาคของพระแม่ทุรคาเป็นเทพสูงสุด และมีการไปรวมลัทธิบูชาพระแม่กาลี ซึ่งเป็นลัทธิพื้นเมืองที่ใหญ่มากในอินเดียเข้ามาในนิกายนี้ด้วย

เมื่อนิกายศักติที่แยกออกจากไศวะนิกาย มีพระแม่กาลีเป็นเทพสำคัญ และได้รับความนิยมสูง จึงเกิดการแยกลัทธิศักติออกมาจากไวษณพนิกาย โดยยกย่องให้พระแม่ลักษมีเป็นเทพสูงสุดเช่นกัน 

แล้วก็ใช้วิธีเดียวกันกับนิกายศักติ (ที่นับถือพระทุรคาสูงสุด) คือไปดึงพระแม่กาลีมาอ้างอิงว่าเป็นภาคหนึ่ง หรืออวตารหนึ่งของพระแม่ลักษมี ที่เกิดจากความโกรธของพระแม่สีดา ในตำนานที่สมิงอัครินทร์กล่าวถึงนั่นละครับ

กระบวนการเหล่านี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคที่นิกายใหญ่ของศาสนาฮินดู ๒ นิกาย คือ ไวษณพ และ ไศวะ มีอิทธิพลครอบคลุมอินเดียทั้งประเทศแล้ว และนิกายศักติ ก็กำลังได้รับความนิยมในระดับสูง 

ซึ่งเป็นช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ไปแล้ว หรือพูดง่ายๆ ว่า ไม่เกิน ๑,๖๐๐ มานี้มากนักหรอกครับ

ในขณะที่มหารามายณะของท่านวาลมีกินั้น มีการกำหนดอายุไว้ว่าราวๆ ๒,๔๐๐ ปีมาแล้ว

ดังนั้น อัทภูต รามายณะ จึงไม่น่าจะเขียนโดยมหาฤาษีวาลมีกิ 

และเมื่อพิจารณาจากคัมภีร์มหารามายณะทั้งหมดในอินเดีย ซึ่งมีหลายสำนวน และหลายคัมภีร์ก็ยกให้ท่านมหาฤาษีวาลมีกิเป็นผู้แต่ง แม้ว่าจะมาจากต่างยุคต่างสถานที่กัน 

ก็มีความเป็นไปได้ว่า อัทภูต รามายณะ จะเป็นคัมภีร์รุ่นหลังคัมภีร์หนึ่ง ที่เพียงแต่อ้างชื่อมหาฤาษีวาลมีกิว่าเป็นผู้แต่งเท่านั้น

ดังนั้น ผมจึงมีความเห็นว่า การที่เราไม่มีทางทราบอายุที่แท้จริงของ อัทภูต รามายณะ ก็ทำให้เป็นการยากที่จะนำมาเปรียบเทียบกับตำนานพระนางจามเทวีครับ

ประเด็นที่ ๒. การที่สมิงอัครินทร์ ดึงข้อมูลจากตำนานพระนางจามเทวีหลายฉบับ มาเปรียบเทียบกับเรื่องราวของพระแม่สีดาในมหารามายณะนั้น 

ที่จริงก็สามารถทำได้อย่างมีเหตุผล โดยที่ไม่จำเป็นต้องอ้างถึงคัมภีร์อัทภูต รามายณะก็ได้

เพราะจากมหารามายณะ ฉบับภาษาสันสกฤต ซึ่งเก่าที่สุด ก็มีเนื้อหาในส่วนนี้ให้เปรียบเทียบอย่างชัดเจนเพียงพออยู่แล้วละครับ

แล้วก็จริงอย่างที่ท่านสมิงอัครินทร์กล่าวไว้ 

ทั้งชาติกำเนิดที่คลุมเครือเหมือนกัน เป็นลูกบุญธรรมของกษัตริย์เหมือนกัน มีพระสวามีพระนามเดียวกัน พระสวามีออกผนวชเหมือนกัน มีพระโอรสแฝดเหมือนกัน 

สิ่งเหล่านี้เป็นความสอดคล้อง ระหว่างเรื่องราวของพระนางจามเทวี และพระแม่สีดาในมหารามายณะอย่างไม่อาจปฏิเสธ

แต่คุณค่าของตำนานพระนางจามเทวีบางฉบับ ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่น่ะสิครับ

เช่นกรณีของกองทัพลิง ที่ปรากฏในตำนานฉบับคุณสุทธวารี ซึ่งเป็นตำนานที่เพิ่งเรียบเรียงใหม่เพื่อระดมทุนสร้างพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีในพ.ศ.๒๕๒๕ นั้น 

มีเป็นลายลักษณ์อักษรมากน้อยเพียงใด ในตำนานพื้นบ้านฉบับอื่นๆ ที่เก่าแก่กว่าฉบับคุณสุทธวารี?

หรือว่าเป็นเพียงจินตนาการของคุณสุทธวารี ที่ได้จากรามเกียรติ์ฉบับไทย (พญากากาศ และบริวารทั้ง ๒๕-พญากากะวานร และบริวารทั้ง ๓๕) เพื่อให้สอดคล้องกับกรุงละโว้ หรือ จ.ลพบุรีในปัจจุบัน ที่มีชื่อเสียงเรื่องลิงเท่านั้น?


ภาพจาก http://ziineqx.blogspot.com

ประเด็นที่ ๓. เรื่องที่ทรงมีพระสวามีที่อ่อนแอกว่าข้าศึก จนมเหสีต้องออกรบเอง จนทำให้สมิงอัครินทร์เปรียบเทียบกับพระแม่สีดาในอัทภูต รามายณะนั้น 

ก็เป็นอีกประเด็นนะครับ ที่ผมไม่แน่ใจจริงๆ ว่าจะเทียบกันได้

เพราะดังที่กล่าวแล้วว่า อัทภูต รามายณะ น่าจะเป็นคัมภีร์รุ่นหลังมากๆ 

อีกทั้งลัทธิบูชาลักษมี-กาลี ที่เป็นหัวใจหลักของคัมภีร์อัทภูต รามายณะนั้น ก็ไม่มีหลักฐานการเผยแพร่เข้ามาในเอเชียอาคเนย์ ช่วงก่อนหรือตรงกับรัชสมัยของพระนางจามเทวี 

จนผู้สนับสนุนพระนางจะอ้างเป็นเทวสิทธิ์ และราชสิทธิ์ ในการขึ้นครองราชย์ของพระนางได้นะครับ

ส่วนเรื่องการกลายร่างเป็นพระแม่กาลี ซึ่งท่านผู้เขียนบทความจับจุดสังเกตจาก บทสรุปเวทีเสวนา สืบค้นพระราชประวัติพระนางจามเทวี เรื่องที่ท่านพระครูสิริสุตาภิมณฑ์เล่าถึงดอกชบาแดง ว่าอย่านำมามาใช้ในงานบุญ 

เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่พระนางจามเทวีนำไปใช้เสียบมาลา ตอนนำไปให้ขุนวิลังคะสวม จึงเป็นดอกไม้ที่ถูกฝ่ายขุนวิลังคะสาปแช่งไว้

และผมอธิบายเพิ่มเติมว่า มีความเกี่ยวข้องกับพระแม่กาลีนั้น

ผมเพียงแต่อธิบายว่า ดอกไม้นั้นมีความเกี่ยวข้องกับพระแม่กาลี ซึ่งเป็นเทวีแห่งความตาย ในขณะเดียวกัน ก็เป็นดอกไม้ที่ใช้ทัดหูนักโทษประหารในภาคกลางของไทยด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือ ดอกชบาแดงเป็นสัญลักษณ์ของความตาย 

ตามคำบอกเล่าของท่านพระครูฯ ที่คนรุ่นเก่าห้ามนำมาไหว้พระ ก็เพราะเหตุนี้เท่านั้นละครับ

ถ้าสมิงอัครินทร์จับจุดตรงนี้ไปเชื่อมโยงกับ อัทภูต รามายณะ ก็จะทำให้ข้อสันนิษฐานในส่วนนี้อ่อนลงไปอีก

เพราะผมตั้งคำถามว่า ความเชื่อเรื่องดอกชบาแดง เป็นสัญลักษณ์ของความตายนี้ เข้ามาในคติความเชื่อของคนลำพูน ในส่วนที่เกี่ยวกับตำนานพระนางจามเทวีตั้งแต่เมื่อไหร่? 

ผมไม่ได้มองว่า เป็นความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างพระนางจามเทวี กับ พระแม่กาลี โดยตรงนะครับ

และก็อย่างที่บอกแล้ว ว่า อัทภูต รามายณะ อาจไม่ส่งอิทธิพลใดๆ มาถึงเรื่องราวของพระนางจามเทวีเลย เพราะเป็นคัมภีร์รุ่นหลัง และไม่มีหลักฐานการเผยแพร่เข้ามาในภูมิภาคนี้

ประเด็นที่ ๔. ส่วนเรื่องที่หลายภาคส่วนของตำนานพระนางจามเทวี รวมทั้งหลักฐานข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นชื่อบ้านนามเมืองต่างๆ มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับศาสนาฮินดูไวษณพนิกาย โดยเฉพาะในสายศักติ

ซึ่งสมิงอัครินทร์มองว่า น่าจะเข้ามาอยู่ในคติความเชื่อของชนชาติมอญโบราณ จนส่งผลให้พระนางจามเทวี และสตรีชาวมอญยุคต่อมาสามารถแสดงบทบาทผู้นำได้ 

เช่นการขึ้นครองราชย์ของ พระนางมิจาวปุ (เชงสอบู) พระธิดาของพระเจ้าราชาธิราช เหนือราชบัลลังก์หงสาวดี ซึ่งธรรมเนียมนับถือสตรีนี้ก็ยังคงสืบทอดกันต่อมาจนปัจจุบัน

เรื่องนี้ โดยส่วนตัวผมมองว่า อธิบายไม่ยากครับ

วัฒนธรรมพื้นฐานของชนชาติต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์แต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นมอญ พม่า ไทย เขมร ลาว เป็นสังคมเกษตรกรรม นับถือผู้หญิงเป็นผู้นำมาแต่เดิมด้วยกันทั้งนั้น 

จนศาสนาพุทธเข้ามานี่ละครับ บทบาทของผู้หญิงจึงค่อยๆ ลดลงไป

เรียกได้ว่า เป็นลักษณะเด่นของสังคมเกษตรกรรม ไม่ว่าในเอเชียหรือทั่วโลกครับ ที่นับถือผู้หญิงเหมือนกันหมด 

ในอินเดียเองก็เป็นเหมือนกันครับ มาลดไปบ้างเมื่อศาสนาพราหมณ์ลงหลักปักฐาน โดยชนชาติอารยัน (ซึ่งเป็นพวกเร่ร่อน นับถือผู้ชายเป็นใหญ่)

แต่พอถึงยุคฮินดู บทบาทของเทพนารีพื้นเมืองต่างๆ ก็กลับรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากนิกายศักติ

ดังนั้น มอญจึงไม่จำเป็นต้องรับคติการนับถือผู้หญิงจากอินเดียครับ

ไม่ว่าจะมีประวัติว่า มีบรรพชนซึ่งอพยพมาจากอินเดียใต้ก็ตาม

ส่วนที่ว่า เหตุใดเรื่องราวต่างๆ ของพระนางจามเทวี จึงได้สอดคล้องกับไวษณพนิกาย โดยเฉพาะมหารามายณะมากนัก?

ก็เพราะเรื่องราวของพระนางเกิดขึ้น เมื่อศาสนาฮินดูไวษณพนิกายแผ่มาถึงเมืองไทยแล้วน่ะสิครับ



พระวิษณุ จากเมืองศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี
ศิลปะทวารวดีร่วมสมัยพระนางจามเทวี ภาพจาก http://www.sujitwongthes.com

พระนางทรงมีพระสวามีเป็นผู้ครองกรุงอโยธยา ซึ่งตั้งชื่อตามเมืองพระรามในมหารามายณะ 

ด้วยเหตุนั้น พระสวามีของพระนางจึงมีตำแหน่งเป็น รามราช (เป็นตำแหน่งนะครับ ไม่ใช่ชื่อจริง) ที่ทำให้ดูเหมือนว่า ซ้ำกับชื่อของพระราม

ยิ่งไปกว่านั้น ท่านสุเทวฤาษีผู้มีบทบาทสำคัญในการอัญเชิญพระนางจามเทวีขึ้นครองราชย์ ก็เป็นฤาษีอินเดียสายไวษณพนิกาย 

การวางผังเมืองหริภุญไชย ก็วางผังเป็นรูปหอยสังข์ตามเทวศาสตร์ไวษณพนิกาย แล้วก็เลยทำให้เกิดชื่อบ้านนามเมืองตามนั้น

ส่วนเรื่องที่พระสวามีออกผนวช หรือการมีพระโอรสแฝด ก็เป็นเรื่องที่พ้องกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงว่า มีการส่งอิทธิพลซึ่งกันและกันนะครับ

เพราะการออกผนวชของเจ้าชายรามราชอาจมีหลายสาเหตุ ที่อาจจะไม่ใช่เรื่องการเมืองเหมือนพระรามก็ได้ 

และการมีลูกแฝดนั้น ใครๆ ก็สามารถมีได้

ผมจึงมองว่า พระนางจามเทวีขึ้นครองราชย์ในยุคที่ศาสนาฮินดูไวษณพนิกาย กำลังมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากคติการนับถือผู้หญิงในวัฒนธรรมพื้นเมือง อันควรจะมีอยู่แล้วในภาคเหนือของไทย

ซึ่งไม่มีหลักฐานการเป็นบ้านเป็นเมือง ที่ปกครองโดยผู้นำเพศชายอย่างละโว้ หรือบรรดาแคว้นต่างๆ ในภาคกลาง และภาคใต้ของไทยขณะนั้นมาก่อน

พระนางจึงไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องอะไรกับ ลัทธิบูชาพระลักษมี-กาลี หรือ คัมภีร์อัทภูต รามายณะ

ซึ่งยังไม่มีหลักฐานการเข้ามาปะปน กับคติความเชื่อของชาวมอญ หรือชนชาติใดๆ ในเอเชียอาคเนย์ช่วงเวลาดังกล่าวครับ

ประเด็นที่ ๕. นอกจากจารึกสมัยทวารวดีที่ ศาลพระกาฬ จ.ลพบุรี แล้ว ยังไม่มีหลักฐานอันใดที่เป็นข้อยุติได้ว่า ชนชั้นปกครองของกรุงละโว้สมัยพระนางจามเทวีเป็นชนชาติมอญ

นักประวัติศาสตร์-โบราณคดีส่วนมาก ยังคงยอมรับความคิดที่ว่า ภาษามอญโบราณอาจถูกใช้เป็นภาษาของชนชั้นสูงในขณะนั้น โดยชนชั้นสูงเหล่านั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นชนชาติมอญ 

เช่นเดียวกับจารึกอื่นๆ สมัยทวารวดี ที่ใช้อักษรปัลลวะ โดยชนพื้นเมืองที่ไม่ใช่ชาวอินเดีย

หรือเหมือนกับจารึกอักษรขอม ตามปราสาทหินต่างๆ ในเมืองไทย ที่มิได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ผู้สร้างจารึกเหล่านั้นเป็นชนชาติเขมรโบราณ

ดังนั้น การระบุว่าพระนางจามเทวีทรงเป็นชนชาติมอญนั้น จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่ตกลงใจกันครับ 

วัฒนธรรมทวารวดีในแคว้นหริภุญไชย หรือแคว้นอื่นๆ ก็หาความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมของชนชาติมอญในปัจจุบันได้ยาก 

ยิ่งชาวมอญบ้านหนองดู่ ซึ่งมีตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับพระนางจามเทวีนั้น ก็เพิ่งมามีตัวตนชัดเจนเมื่อสมัยล้านนาแล้ว




เรื่องราวของพระนางจามเทวี จึงมีพื้นฐานอยู่บนคติการนับถือผู้หญิง ซึ่งเป็นคติเดิมของชาติพันธุ์ต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในล้านนาไทยโบราณ 

โดยมีศาสนาฮินดูไวษณพนิกายที่กำลังมีบทบาทในยุคของพระนาง เป็นเครื่องสนับสนุน ดังกล่าวแล้ว

ซึ่งผมมองว่า ตรงกับแนวทางหลักของสมิงอัครินทร์ ในบทความที่ได้เสนอไปแล้วทั้งหมด ทั้งๆ ที่ท่านผู้เขียนบทความมองคนละจุด ยึดหลักฐานคนละส่วน


และนับเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการอีกขั้นหนึ่ง ของการศึกษา-ตีความตำนานพระนางจามเทวี ในยุคปัจจุบันนี้ครับ



………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

3 comments:

  1. ติดตามอ่านคะสนุกได้สาระ

    ReplyDelete
  2. ดีค่ะ ช่วยกันศึกษาเยอะๆ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ใช่เลยครับ ยิ่งศึกษา ตีความ ตังทฤษฎีใหม่ๆ กันยิ่งมากยิ่งดี ประวัติศาสตร์ฝรั่งเขากว่าจะมีข้อยุติในระดับหนึ่งว่า เอามาใช้ในการเรียนการสอนได้ ยังผ่านการศึกษาตีความกันหลายสิบงานวิจัย แล้วก็ยังต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงเมื่อมีข้อยุติใหม่ๆ ในสมัยต่อมาอีก

      Delete

Total Pageviews