แม้ว่า ข้อความในจดหมายเหตุของฟาน ฟลีต
ดังที่ผมเคยนำเสนอไปแล้วในหนังสือ ตำนานนางกษัตริย์
จะทำให้เกิดข้อสันนิษฐานใหม่ที่น่าตื่นตระหนกอย่างยิ่ง
นั่นก็คือ
สมเด็จพระศรีสุริโยทัยมิได้ทรงปลอมพระองค์เป็นชาย
ประทับช้างทรงตามเสด็จพระราชสวามีออกสู่สงครามจนสิ้นพระชนม์ ตามที่เราเคยรู้กัน
แต่กลับทรงคบคิดกับพระญาติพระวงศ์ของพระนางเอง
เปิดทางให้ทางหงสาวดีมีชัยชนะเหนือกรุงศรีอยุธยา
จน สมเด็จพระมหาธรรมราชา
ซึ่งเป็นสมาชิกในราชวงศ์ของพระนาง ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์แห่งกรุงศรีอยุธยา
และที่สำคัญก็คือ ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงมากด้วยนะครับ
ที่จะสะท้อนเรื่องราวที่แท้จริงของขัตติยนารีพระองค์นี้
แต่การนำเสนอพระราชประวัติของพระนางในหนังสือ
และสื่อภาพยนตร์ต่างๆ นั้น แม้จนทุกวันนี้
ก็ยังคงเป็นไปตามพระราชประวัติฉบับที่เป็นทางการอยู่
เพราะตอบรับความเคยชิน
และอารมณ์ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ได้มากกว่านั่นเองครับ
และโดยความเป็นจริงแล้ว
วิธีการเช่นนี้กระทำกันมาเก่าแก่ยาวนานมาก
ดังที่ อ.พิเศษ เจียจันทร์พงศ์ กล่าวไว้ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ว่า
ประวัติวีรกรรมของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ได้รับการหยิบยกขึ้นมากล่าวเน้นตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว
เพื่อปลุกจิตสำนึกความเป็นเอกภาพของรัฐชาติ
อ.พิเศษยังอธิบายไว้ด้วยว่า
เรื่องประเภทนี้เป็นที่นิยมกันสืบมา เพราะสามารถนำไปสร้างเป็นละคร ภาพยนตร์
เพื่อความบันเทิงของคนดู บางเรื่องอาจมีสีสันสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ
จนบางทีก็ลืมการตรวจสอบที่มาของหลักฐานถึงความถูกต้อง
หรือสาเหตุอันเป็นมูลฐานของเรื่องราว
อันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการคำอธิบายในเชิงประวัติศาสตร์ไปเลยก็มี
แต่อย่างไรก็ตาม
พระราชประวัติของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยนั้น มีการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
คือในปีพ.ศ. ๒๕๓๕ สำหรับออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ โดยมีคุณ กาญจนา
จินดาวัฒน์ รับบทเป็นสมเด็จพระศรีสุริโยทัย
ละครดังกล่าวเป็นที่จดจำกันได้มาก
และก่อให้เกิดกระแสการนิยมบูชาสมเด็จพระศรีสุริโยทัยเพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชนทั่วไป
แต่ก็ยังไม่เป็นที่ตื่นเต้นกล่าวขวัญกันเท่าใดนักหรอกครับ
จนกระทั่งเรื่องราวของขัตติยนารีพระองค์นี้
ได้ถูกนำมาร้อยเรียงขึ้นอีกครั้ง เป็นอภิมหาภาพยนตร์ สุริโยไท
จากการกำกับของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ในปี พ.ศ.๒๕๔๔
โดยมี ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี รับบทเป็นสมเด็จพระศรีสุริโยทัยนั่นเอง
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กลายเป็นที่โจษขานกันทั่วไป
ตั้งแต่ก่อนที่จะลงโรงฉาย และหลังจากลาโรงไปแล้ว ในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ที่ลงทุนสูงที่สุด
และอลังการที่สุด ครั้งแรกของสยามประเทศ
วงการภาพยนตร์ไทยของเรา
ได้รู้จักงานทางด้านการออกแบบภาพ การถ่ายทำ และดนตรีประกอบ
ว่าอภิมหาภาพยนตร์ของโลกเขาทำกันอย่างไร ก็จากเรื่องนี้
มีการเผยแพร่บันทึกเบื้องหลังการถ่ายทำอย่างละเอียด
เป็นหนังสือเฉพาะกิจหลายเล่ม มีการดึงผู้มีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์ระดับโลก
มาช่วยตัดต่อเพื่อนำไปฉายในต่างประเทศ
จนถึงความพยายาม
ที่จะเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลใหญ่ในวงการภาพยนตร์ของโลกอย่างต่อเนื่อง
หลังเสร็จสิ้นการฉายในประเทศไทย
และถึงแม้อภิมหาภาพยนตร์ดังกล่าว
จะยังคงนำเสนอพระราชประวัติของขัตติยนารีพระองค์นี้ ตามแบบฉบับที่เป็นทางการ
มิได้เปลี่ยนผันไปตามทฤษฎีใหม่ที่เกิดจากจดหมายเหตุวันวลิต
รวมทั้งมิได้ทำให้กระแสความนิยมนับถือพระนาง
ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เพิ่มพูนยิ่งขึ้นไปกว่าสมัยที่เป็นละครโทรทัศน์มากเท่าใดนัก
แต่ก็ได้มอบสิ่งใหม่ๆ อีกประการหนึ่ง
ที่นอกเหนือจากการพัฒนาการสร้างภาพยนตร์ไทย ดังที่ผมกล่าวแล้ว
นั่นก็คือ เป็นครั้งแรกที่ทำให้พวกเราสามารถ “เข้าใกล้” ราชนารีพระองค์นี้ ในทางที่มีเหตุมีผลขึ้นได้
แม้จะเป็นในรูปแบบของความเชื่อดั้งเดิมก็ตามครับ
ภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท
เป็นผลงานการสร้างสรรค์ในลักษณะใกล้เคียงกับ Reconstruction
คือการที่ต้องย้อนอดีต
สร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาใหม่ให้เป็นรูปธรรมทั้งหมด จากหลักฐานเพียงน้อยนิด
หรือแทบไม่มีร่องรอยอันใดเลย
การที่จะทำเช่นนี้
ต้องใช้วิธีการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์-โบราณคดีครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด
ระดมนักวิชาการทุกด้านเข้ามาช่วยกันอย่างมากมายที่สุด
เพื่อให้ได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกต้องสมจริง หรือ
ใกล้เคียงกับความจริงเท่าที่จะเป็นไปได้
โดยที่ผู้สร้างภาพยนตร์ก่อนหน้านี้
หรือการสันนิษฐานของนักวิชาการฝ่ายต่างๆ ก่อนหน้านี้ ก็แทบไม่มีใครบุกเบิกเอาไว้เป็นตัวอย่างมาก่อน
จึงไม่เกินไปละครับ ที่จะกล่าวว่า
ภาพยนตร์เรื่องนี้เท่ากับเป็นการกระทำสิ่งใหม่แทบทั้งหมดอย่างแท้จริง
เพื่อย้อนไปหาสิ่งที่เป็นของดั้งเดิมที่สุด (Authentic)
อย่างแท้จริงเช่นกัน
โดยทุกรายละเอียดนั้น
ม.จ.ชาตรีเฉลิมทรงพยายามอย่างเต็มกำลัง ที่จะไม่ปล่อยให้มีความผิดพลาด
หรือไม่เข้าด้วยกับยุคสมัย เท่าที่จะเป็นไปได้
ด้วยโจทย์ที่ใหญ่โตและยุ่งยากเช่นนี้ อภิมหาภาพยนตร์เรื่องแรกของไทยจึงต้องตอบคำถามต่างๆ
มากมาย
ตั้งแต่การออกแบบตกแต่งภายในพระราชวัง
พระราชฐาน ท้องพระโรง วังและตำหนักต่างๆ ทั้งของฝ่ายไทยฝ่ายพม่า
ฉลองพระองค์และเครื่องแต่งกายของบุคคลทุกระดับ
และทุกชนชาติที่เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่อง
ไปจนกระทั่งถึงชุดทหาร
และรูปแบบของเสื้อเกราะที่ทหารอยุธยาสมัยนั้นสวมใส่
ซึ่งมีหลักฐานว่าได้รับมาจากชาวโปรตุเกส เป็นต้น
โดยเฉพาะ
คำถามเกี่ยวแก่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทั้งหมด
ซึ่งก่อนหน้านี้ คนไทยทั่วไปรับรู้เรื่องของพระนางอยู่เพียงว่า
ทรงเป็นพระอัครมเหสีของสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ
และทรงเสี่ยงพระปกป้องพระราชสวามีจนสิ้นพระชนม์กลางสมรภูมิเท่านั้น
เมื่อนำเรื่องราวของพระนางมาสร้างเป็นภาพยนตร์
ม.จ.ชาตรีเฉลิม จึงทรงจำเป็นต้องปูพื้นให้ทุกคนเข้าใจถึงความเป็นมาเป็นไปทั้งหมดของของพระนาง
ตั้งแต่ก่อนที่จะทรงเป็นพระชายาของพระเฑียรราชา
และทรงผ่านวิกฤติการณ์ความวุ่นวายในการแย่งชิงอำนาจเหนือราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา
จนพระราชสวามีได้เสด็จขึ้นครองราชย์ และมาจบที่สงครามอยุธยา-พม่าครั้งแรก
ซึ่งในบรรดาคำถามเหล่านั้น มีส่วนหนึ่งมาจากนักวิชาการบางคน
เช่น อ.เทพมนตรี ลิมปพยอม ที่ไม่เชื่ออย่างเด็ดขาดว่า
สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงฉลองพระองค์ชุดนักรบ ทรงพระคชาธารออกศึกร่วมกับพระสวามี
เขาคิดว่า
พระนางเพียงแต่เสด็จประทับบนหลังช้างพระที่นั่ง ติดตามพระราชสวามีออกตรวจแนวข้าศึกไปในทัพหลวง
เมื่อกองทัพพระเจ้าแปรโจมตีกองทัพอยุธยาแตกพ่ายมาจนถึงทัพหลวง
พระนางก็จึงต้องทรงต่อสู้กับข้าศึกด้วยความจำเป็น จนสิ้นพระชนม์
ด้วยเหตุที่ว่าทรงเป็นเจ้านายฝ่ายใน
จึงไม่น่าจะทรงมีความชำนาญในการรบบนหลังช้าง หรือแม้แต่การใช้อาวุธใดๆ ทั้งสิ้น
นักวิชาการผู้นี้ยังเสนอว่า
มีเหตุผลมากมายที่ผู้หญิงในสมัยอยุธยาไม่สามารถจะขึ้นบนคอช้างศึกได้
เช่น การที่ช้างศึกแต่ละเชือก
ต้องมีการประจุอาคมตามหลักไสยศาสตร์
ซึ่งทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ผู้หญิงขึ้นไปนั่งบนคอช้าง เป็นต้น
ปรากฏว่า ภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างหมดจดครับ
โดยการสมมุติเหตุการณ์ที่ถ้าจะว่ากันตามหลักฐานจริงๆ
แล้ว แทบไม่มีอะไรรองรับ
แต่ก็มีความเป็นไปได้จริงเมื่อพิจารณาจากหลักฐานแวดล้อมหลายประการ
รวมทั้งสิ่งที่ควรจะเป็นซึ่งนำไปสู่การสิ้นพระชนม์ในสมรภูมิ
ของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยอีกด้วย
โดยในภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นว่า
สมเด็จพระศรีสุริโยทัยนั้นทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในที่ไม่เหมือนราชนารีพระองค์อื่น
พระนางทรงมีพระปรีชาสามารถรอบด้าน
ทรงมีพระวิสัยทัศน์เปิดกว้างพร้อมจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ
และทรงมีพระจริยาวัตรเข้มแข็งเด็ดขาด กล้าหาญ จนทรงยอมรับเป็นพระชายาของพระเฑียรราชา
แม้ว่าจะทรงรักใคร่อยู่กับ ขุนพิเรนทรเทพ ก็ตาม
และเมื่อพระเฑียรราชาทรงเป็นเจ้าชายที่อ่อนแอ
ไม่เด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินพระทัย พระนางก็ต้องทรงเป็นธุระจัดแจงสิ่งต่างๆ
ภายในวังให้ เช่นการส้องสุมผู้คนเพื่อป้องกันพระเฑียรราชาจากการมุ่งร้ายของฝ่าย ขุนวรวงศาธิราช
และ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
โดยพระนางเอง และพระราชโอรส-พระราชธิดา
ได้ทรงฝึกหัดการใช้อาวุธปืน และอาวุธชนิดต่างๆ จาก หมื่นราชสเน่หา
ผู้เป็นหัวหน้ากองกำลังของพระนาง จนสามารถปกป้องพระนางเองและพระราชสวามี
เมื่อฝ่ายขุนวรวงศาธิราชส่งคนมาลอบปลงพระชนม์
หรือเมื่อภายในวังขาดทุนทรัพย์ที่จะใช้เลี้ยงดูผู้คน
ตลอดจนเงินที่จะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ
พระนางก็ประทานเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ของพระนางเอง ให้ผู้ที่ไว้วางใจไปแลกเป็นเงินมา
เป็นต้น
ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้แสดงให้เห็นด้วยว่า
เมื่อถึงจุดที่จะต้องล้มล้างอำนาจของขุนวรวงศาธิราช
สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงมีบทบาทสนับสนุนพระราชสวามีอย่างชัดเจน
และเมื่อพระราชสวามี ได้ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิแล้ว
ก็ยังมีสมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงเป็นพระอัครมเหสี
เสด็จออกว่าราชการร่วมกันในท้องพระโรง
โดยพระนางทรงแสดงให้เห็นถึงพระราชปฏิภาณ อันเฉลียวฉลาดรอบคอบ
จนพระราชสวามีและขุนนางทั้งปวงยอมรับ
เมื่อได้ปูพื้นมาอย่างดีเช่นนี้
พอถึงเหตุการณ์ที่พระนางทรงช้างศึกออกสู่สมรภูมิเคียงข้างพระราชสวามี
ผู้ชมภาพยนตร์ทุกคนจึงไม่เกิดคำถามในใจ เหมือนที่ มิคกี้ ฮาร์ท เทพมนตรี
และนักวิชาการอีกหลายท่านสงสัย
นั้นก็เพราะ ม.จ.ชาตรีเฉลิม
ทรงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน และสมเหตุสมผลแล้วไงครับ
ว่าในเมื่อสมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงเป็นผู้กำกับ
ผู้เกื้อหนุนพระราชสวามีของพระนางในทุกๆ ด้านมาตั้งแต่ต้น
และพระนางก็ทรงมีความรู้ในการใช้อาวุธต่างๆ เป็นอย่างดี
จึงไม่แปลกอะไรที่พระนางจะประทับบนคอช้างเข้าสู่พื้นที่ทำการรบ
เคียงข้างพระราชสวามีของพระนาง
ซึ่งพระราชสวามีผู้ไม่เคยมีความเข้มแข็งเด็ดขาด
ก็ต้องทรงยินยอมให้พระนางทำเช่นนั้นด้วย
ด้วยการนำเสนออย่างรอบคอบรัดกุม
เป็นลำดับขั้นตอน บนพื้นฐานของความเป็นไปได้
และข้อมูลทางประวัติศาสตร์เท่าที่เรามีกันอยู่
ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงการไร้ความสามารถ และการขาดความเป็นผู้นำจริงๆ
ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ใครก็ตามที่ได้ชมอภิมหาภาพยนตร์เรื่องนี้
ย่อมเกิดความกระจ่างในบทสรุปที่เป็นทางการ ในวิชาประวัติศาสตร์ของเรา ในข้อที่ว่า
สมเด็จพระศรีสุริโยทัยต้องพระแสงของ้าวของพระเจ้าแปรสิ้นพระชนม์กับคอช้าง
จนไม่มีข้อสงสัยใดๆ อีกเลย
และสิ่งเหล่านี้ ก็พลอยทำให้ข้อโต้แย้งของ อ.เทพมนตรี
ขาดความน่าสนใจไปจนหมดสิ้นเช่นกันครับ
เพราะเหตุที่ว่า พระเจ้าแปรในฐานะแม่ทัพพม่า
ย่อมจะต้องทรงกระทำยุทธหัตถีกับแม่ทัพของฝ่ายตรงข้าม ที่สวมเกราะ
และนั่งมาบนคอช้างศึกเช่นเดียวกับตนเท่านั้น
พระเจ้าแปรเป็นกษัตริย์ และเป็นนักรบ
ย่อมจะไม่ทรงเสียเวลากับการเอาพระแสงของ้าวไปไล่ฟันเจ้านายผู้หญิง
ที่ประทับอยู่บนกลางช้างพระที่นั่ง ไม่มีแม้แต่อาวุธจะป้องกันตัว ตามจินตนาการของ
อ.เทพมนตรี
ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่นายทหารพม่าคนอื่น ก็จะไม่มีใครทำอย่างนั้นเช่นเดียวกัน
เพราะช้างพระที่นั่งของเจ้านายฝ่ายในพระองค์หนึ่ง
ซึ่งอยู่ในทัพหลวงที่กำลังแตกกระเจิง ย่อมสามารถล้อมจับเป็นเชลยได้อย่างง่ายดาย
และดูฉลาดกว่าการไปไล่ฆ่าผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง หรือสองคนอย่างไร้ประโยชน์
ส่วนเรื่องปลีกย่อยเช่นที่กล่าวว่า
ผู้หญิงไม่สามารถขึ้นคอช้างศึกได้ เพราะเหตุผลทางไสยศาสตร์นั้น
แม้ว่าจะเป็นข้อสังเกตที่มีเหตุผล
แต่ในความเป็นจริง ถ้า “ผู้หญิง” ที่มีอำนาจในแผ่นดิน เช่นสมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงมีความจำเป็นจะต้องเสด็จขึ้นประทับบนคอช้างศึกที่ลงอาคมไว้แล้ว
บรรดาผู้ชำนาญการทางไสยศาสตร์ในราชสำนักเวลานั้น
ก็ย่อมมีหนทางที่จะแก้ไขให้สามารถกระทำได้ โดยไม่มีผลอะไรกับคาถาอาคมที่ลงไว้ครับ
เราจะต้องไม่ลืมว่า
ในยุคสมัยที่ความรู้ทางไสยศาสตร์ของบ้านเมืองเรายังเจริญรุ่งเรือง
หนทางของความเป็นไปได้ของทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปิดกว้างกว่าสมัยนี้
ที่ความรู้ทางไสยศาสตร์ของเราคงเหลือเพียงกระท่อนกระแท่น
อันเป็นผลจากการพยายามทำลายล้างของภาครัฐที่ตกเป็นทาสวิทยาศาสตร์ของฝรั่งจนดูถูกรากเหง้าของตนเองดังที่เป็นอยู่
ไม่เพียงเท่านั้น ภายหลังจากการโต้แย้งของ
อ.เทพมนตรี ก็ได้มีการเผยแพร่ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ จ.น่าน
ซึ่งมีภาพของหญิงสาวเมืองเหนือที่นั่งอยู่บนคอช้างอย่างชัดเจน
ภาพดังกล่าว
เล่าเรื่องชีวิตชาวบ้านและผู้คนทั่วไป ในดินแดนล้านนายุคนั้น
หญิงสาวที่บังคับช้างอยู่บนคอช้าง จึงถูกถ่ายทอดในฐานะที่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ
เหมือนกิจกรรมของชาวบ้านอื่นๆ จนทำให้ข้อโต้แย้งของ อ.เทพมนตรี
ถูกลืมเลือนไปในที่สุด
ในขณะที่เรื่องสำคัญที่ผมเห็นว่า
ควรโต้แย้งกันจริงๆ แต่ไม่มีใครนำมาพูด เช่น พระแสงของ้าว
ซึ่งเป็นอาวุธมีน้ำหนักมาก จนแม้ผู้หญิงที่ฝึกฝนการต่อสู้มาเป็นอย่างดีเพียงใด
ก็ไม่น่าจะใช้มันจากบนคอช้างศึกได้
และการที่จะสมมุติว่า
มีการสร้างพระแสงของ้าวให้เบาเป็นพิเศษ เพื่อจะให้สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงใช้
พระแสงของ้าวที่เล็กและเบาเช่นนั้น
ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยนะครับ ถ้าจะต้องไปปะทะกับอาวุธชนิดเดียวกันของฝ่ายตรงข้าม
ที่ใหญ่และหนักตามมาตรฐาน
เราจะต้องเข้าใจว่า
อาวุธที่มีน้ำหนักมากเช่นนี้
ไม่ใช่สิ่งที่จะเอาไปฟาดฟันกันอย่างต่อเนื่องได้เหมือนในภาพยนตร์
ส่วนมาก
แต่ละฝ่ายเพียงสามารถหวดมันลงไปบนร่างของคู่ศึกได้เพียงครั้งเดียว
ชนะหรือพลาดก็ตัดสินกันแค่ตรงนั้น
ซึ่งการนำเสนอที่ยอดเยี่ยม
และการไม่มีข้อโต้แย้งจากคนที่เชี่ยวชาญพอ ดังที่กล่าวมานี้แหละครับ
ก็ทำให้ สุริโยไท ภาพยนตร์แห่งสยามประเทศของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม
ยุคล เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกสุด
ที่ทำให้เรื่องราวในระดับที่เป็นทางการของขัตติยนารีพระองค์นี้ เป็นที่รับรู้ในหมู่คนไทยอย่างครบถ้วน
รอบด้าน และสมบูรณ์
แม้หลายภาคส่วน
จะยังคงเป็นการนำเสนอบนพื้นฐานของความเป็นไปได้ ตามความเชื่อดั้งเดิม
แต่ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก
ไม่ว่าจะเป็นผลงานของฮอลลีวู้ด หรือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ทำได้ดีกว่าเรื่องนี้อยู่เพียงแค่บทภาพยนตร์
และความเป็น drama เท่านั้น
นอกนั้นการตีความ การนำเสนอความเป็นไปได้
ตลอดจนการจำลองภาพในอดีต ก็ทำได้ไม่แตกต่างกัน
เพราะประวัติศาสตร์ไม่ว่าของชนชาติใด
ก็ล้วนแต่ขาดข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านทั้งนั้นแหละครับ
ดังนั้น
ไม่ว่าจะทำอัตตชีวประวัติของใครที่มีชีวิตอยู่ในอดีต
และไม่ว่าจะทำโดยอาศัยพื้นฐานจากทฤษฎีเดิม หรือทฤษฎีใหม่
ก็มีหลายส่วนที่จะต้องเติมเต็ม ด้วยจินตนาการและการสันนิษฐานทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด
สำหรับภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ จึงไม่ใช่แต่เพียงการจำลองภาพในอดีตขึ้นมา
แต่ยังทำให้บุคคลเหล่านั้นกลับมามีตัวตน
มีชีวิต เป็นที่รับรู้ เข้าใจ และเข้าถึงโดยคนรุ่นปัจจุบัน
ก่อเกิดพื้นฐานความคิดความเชื่อที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด เท่าที่จะทำได้
อันจะเป็นการต่อยอดความคิดของคนอีกมากมาย
ที่นำไปสู่การพยายามค้นหารากเหง้าของตนเอง ในทางที่ถูกที่ควรมากขึ้นครับ
เฉกเช่นอภิมหาภาพยนตร์เรื่องนี้
ที่ได้นำความชัดเจนมาสู่ภาพในอดีตอันพร่ามัว ของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย
ราชนารีพระองค์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์
ที่ไม่เพียงทำให้คนไทยได้ภาคภูมิใจ
กับวีรกรรมอันหาญกล้าของพระนางตามความเชื่อเดิม อย่างมีเหตุผลยิ่งขึ้นเท่านั้น
ยังทำให้คนไทยได้สะสมประสบการณ์ในการเรียนรู้
การคิดอย่างมีเหตุผล
และคุ้นเคยกับวิธีการที่จะทำความเข้าใจความเป็นมาของตนเองในทางที่ถูกต้องสมจริงมากขึ้นด้วย
อันจะนำไปสู่การปลดแอก
ออกจากพื้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกปรุงแต่งบิดเบือน
ภายใต้หลักสูตรอันล้าหลังของระบบการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในที่สุด
เมื่อทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับพระนาง
อันมีพื้นฐานมาจากจดหมายเหตุวันวลิต ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในอนาคต
...........................
หมายเหตุ :
เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย
และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด
No comments:
Post a Comment