Thursday, May 17, 2018

พระนางสามผิว ราชนารีแห่งเมืองฝาง


*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*




ตำนานเมืองฝาง ในจังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบันนี้ ได้บันทึกไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๕๕-๒๑๗๕ เป็นเมืองใหญ่ที่ปกครองโดยกษัตริย์ ทรงมีพระนามว่า พระเจ้าฝางอุดมสิน

ตามหลักฐานที่ค้นพบหลาย ๆ แห่งระบุว่า พระเจ้าฝางอุดมสินพระองค์นี้ พระนามเดิมชื่อ พญาเชียงแสน เป็นพระราชบุตรของกษัตริย์เชียงแสน

พระองค์ทรงอพยพครอบครัว และไพร่พลมาจากเมืองเชียงแสนประมารณ ๕,๐๐๐ ครอบครัว มาสร้างเมืองฝาง และขึ้นครองราชย์ในราวๆ ปีพ.ศ.๒๑๕๕ อันเป็นระยะเวลาขึ้นครองราชย์ที่เก่าที่สุดเท่าที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป

ตำนานเมืองฝางกล่าวว่า พระเจ้าฝางอุดมสินทรงมีน้ำพระทัยเป็นกุศล ใจบุญสุนทาน ทรงปกครองด้วยทศพิธราชธรรม พสกนิกรอยู่เย็นเป็นสุข 

เมืองฝางในรัชกาลของพระองค์นั้นใหญ่โต มีไพร่บ้านพลเมืองมากมายยิ่งนัก จนมีคำเปรียบเทียบว่าถ้าอยากรู้จำนวนครัวเรือนเมืองฝางมีเท่าใด ก็ให้เอาต๋าง (กระบุง) ไปเร่เก็บเอาเข็มเย็บผ้าจากชาวบ้านมา จะได้เข็มถึง ๓ กระบุง

แต่แม้กระนั้น ทั้งพระเจ้าฝางและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็มั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สินโดยทั่วกัน จนทรงมีพระสมัญญานามว่า พระเจ้าฝางอุดมสิน ด้วยเหตุดังกล่าว

พระเจ้าฝางอุดมสิน ทรงมีพระมเหสีองค์หนึ่ง เป็นบุตรีของเจ้าเมืองล้านช้าง(เวียงจันทร์) ซึ่งมีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศว่า พระนางทรงมีผิวพระวรกายถึงสามผิวในแต่ละวัน

กล่าวคือเวลาเช้า ผิวพรรณของพระนางจะขาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง นวลขาวดังปุยฝ้าย

เวลาเที่ยงสีผิวของพระนางจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อน

และเวลาเย็นสีผิวพระวรกายของพระนางจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูระเรื่อดุจดอกปุณฑริก (ดอกบัวขาบ) เป็นที่น่าชวนพิสมัยอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้พระนางจึงได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า พระนางสามผิว


พระรูปองค์ปัจจุบันของพระเจ้าฝาง และพระนางสามผิว

พระเจ้าฝางและพระนางสามผิว ทรงมีพระราชธิดาองค์หนึ่งมีพระนามว่า พระนางมะลิกา ซึ่งผมได้โพสต์เป็นบทความต่างหากไว้ใน http://chamadewi.blogspot.com/2017/07/blog-post.html แล้วครับ

เล่ากันว่า จากพระฉวีที่งดงามผุดผ่องของพระมเหสีเจ้าเมืองฝางนี้เอง ทำให้เป็นข่าวเลื่องลือแพร่ออกไปว่าพระเจ้าฝางมีมเหสีที่งดงามยิ่งนัก ยากที่จะหาหญิงใดเทียมได้

เมื่อข่าวนี้ล่วงรู้ถึงพระกรรณของ พระเจ้าสุทโธธรรมราชา กษัตริย์พม่า พระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริจะมาทอดพระเนตรให้เห็นความจริง จึงได้ทรงปลอมแปลงกายเป็นพ่อค้าต่างแดน นำสินค้ามาจากเมืองตะโก้ง (ย่างกุ้ง) เข้ามาขายยังเมืองฝาง และได้เข้าทูลถวายผ้าเนื้อดีแด่องค์กษัตริย์และขัตติยนารีฝาง เพื่อจะได้ยลโฉมพระนางสามผิวว่าจะสวยงามดังคำเล่าลือหรือไม่

ครั้นกษัตริย์เมืองพม่าได้เห็นพระพักตร์พระนางเท่านั้น พระองค์ก็ทรงหลงรักพระนางทันที

หลังจากที่ถวายผ้าแก่พระเจ้าฝาง และพระชายาเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าสุทโธธรรมราชาเสด็จกลับยังที่ประทับ พระองค์ทรงคร่ำครวญถึงแต่พระนาง ครั้นจะมาสู่ขอพระนางก็มีพระสวามีแล้ว

พระเจ้าสุทโธธรรมราชา กษัตริย์พม่าจึงเสด็จกลับกรุงอังวะ นำกองทัพมาทำสงครามกับพระเจ้าฝางใน ปีพ.ศ.๒๑๗๒ ศักราชได้ ๙๙๐ ตัว เดือน ๘ เหนือ แรม ๑๓ ค่ำ

แต่ทรงล้อมเมืองฝางไว้เป็นเวลานานนับปีก็ไม่สำเร็จ จนมีนางแม่หม้ายคนหนึ่ง ไปแนะอุบายให้พระเจ้าสุทโธธรรมราชายกกำลังไปปราบบ้านเล็กเมืองน้อยรอบๆ เมืองฝางก่อนเพื่อไม่ให้ส่งเสบียงให้เมืองฝางได้

พระเจ้าสุทโธธรรมราชาทรงทำตามคำแนะนำนั้น และทำให้ได้กำลังเพิ่มมาช่วยตีเมืองฝาง เช่นจากเมืองแข่และเมืองฮ่อ เป็นต้น

จนในที่สุด กองทัพพม่ายกกลับมาปิดล้อมเมืองฝางไว้อีกครั้ง ไม่ให้ชาวบ้านชาวเมืองได้ออกนอกกำแพงเมืองเพื่อทำมาหากิน คราวนี้สามารถปิดล้อมได้เป็นเวลานาน จนชาวเมืองฝางอดอยากยากแค้น เสบียงอาหารที่มีอยู่ก็ร่อยหรอลงจนหมด

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ทั้งเจ้าเมืองฝางกับพระนางสามผิวทรงพระดำริว่า สาเหตุมาจากทั้งสองพระองค์ เพื่อเห็นแก่ชีวิตไพร่ฟ้าของแผ่นดินและเพื่อยุติความทุกข์ยากทั้งปวง ทั้งสองพระองค์จึงตัดสินพระทัยชวนกันไปกระโดดลง บ่อน้ำซาววา เป็นการปลงพระชนม์พระองค์เอง เพื่อรักษาชีวิตชาวเมืองไว้


บ่อน้ำซาววา หน้าพระราชานุสาวรีย์พระเจ้าฝางและพระนางสามผิว
บันทึกภาพโดย อ.ดนัย นาควัชระ

เมื่อพระเจ้าสุทโธธรรมราชายกทัพเข้าเมืองฝางได้ และทรงทราบว่าทั้งเจ้าเมืองฝางกับพระนางสามผิวกระโดดลงบ่อน้ำสิ้นพระชนม์แล้ว กษัตริย์พม่าก็ทรงมีความเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ยกทัพกลับพม่าไปโดยมิได้กระทำอันตรายอย่างใดแก่ประชาชนในเมืองฝาง แม้ว่าจะต้องทรงใช้ระยะเวลาทำสงครามยาวนานถึง ๓ ปีก็ตาม

ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเจ้าเมืองฝางพากันเห็นว่า เจ้าเมืองและพระมเหสีทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อรักษาเมืองฝาง และชีวิตของชาวเมืองไว้ จึงพากันเคารพบูชาทั้งสองพระองค์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองฝางมาตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี

จนในที่สุด ได้มีการสร้างพระราชานุสาวรีย์ทั้งสองพระองค์ไว้ที่บ่อน้ำซาววา ซึ่งอยู่หน้า วัดพระบาทอุดม ในปัจจุบัน และพากันกราบไหว้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ปกบ้านคุ้มเมืองให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขตราบจนทุกวันนี้

ตำนานพระนางสามผิวที่รับรู้กันโดยทั่วไป มีเนื้อหาดังนี้ละครับ แต่ก็มีอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากกว่า

โดยตำนานชุดหลังนี้กล่าวว่า ในขณะที่พระเจ้าฝางอุดมสินมาปกครองเมืองฝางนั้น เมืองฝางยังคงเป็นเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าฝางจึงทรงมีความคิดที่จะกอบกู้อิสรภาพให้แก่เมืองฝาง โดยให้ส้องสุมผู้คนและได้ตระเตรียมอาวุธเสบียงกรังไว้พร้อม จากนั้นก็กระด้างกระเดื่อง ไม่ยอมส่งส่วยและขัดขืนคำสั่งของพม่า 

เมื่อทางพม่ารู้ว่าเมืองฝางคิดจะแข็งข้อ จึงได้ยกกองทัพมาปราบ โดยกษัตริย์พม่าแห่งกรุงอังวะพระนามว่า พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชา ทรงนำกองทัพเข้าตีเมืองฝางในปีพ.ศ.๒๑๗๖ ศักราชได้ ๙๙๔ ตัว

ซึ่งพระเจ้าฝางก็ทรงนำทัพป้องกันเมืองอย่างแข็งขัน ทำให้พญาภะวะสุทโธธรรมราชาเข้าตีเมืองไม่ได้

พญาภะวะสุทโธธรรมราชาจึงได้เปลี่ยนแผนการรบใหม่ โดยตั้งค่ายอยู่บนเนินด้านทิศเหนือของเมืองฝาง ที่ เวียงสุทโธ คือที่ตั้งศาลจังหวัดฝาง เรือนจำจังหวัดฝาง ที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง และ สถานีตำรวจภูธรอำเภอฝางในปัจจุบันนี้

ทรงวางยุทธศาสตร์นำกำลังทหารล้อมเมืองไว้ แล้วสั่งให้ทหารระดมยิงธนูไฟเข้าใส่เมืองฝาง ทำให้บ้านเมืองระส่ำระสาย ประชาชนเสียขวัญ ทหารและไพร่บ้านพลเมืองพากันบาดเจ็บล้มตายลงเป็นอันมาก

พม่าล้อมเมืองฝางไว้เป็นเวลานานถึง ๓ ปี กับ ๖ เดือน ทำให้เสบียงอาหารที่เก็บไว้ในเมืองฝางที่เก็บสะสมไว้หมดลง ประชาชนอดอยาก

พระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิว ทั้งสองพระองค์ทรงคิดว่าสาเหตุของการเกิดศึกในครั้งนี้ ต้นเหตุนั้นเกิดจากพระองค์ทั้งสองแท้ ๆ ที่คิดจะกอบกู้อิสรภาพ ทำให้ประชาชนต้องได้รับความเดือดร้อน และการกระทำครั้งนี้ก็ไม่สำเร็จ

ทั้งสองพระองค์จึงตัดสินพระทัยสละพระชนม์ชีพ เพื่อปกป้องผู้คนชาวเมืองฝางให้พ้นจากความอดอยากและการถูกเข่นฆ่าจากกองทัพของพญาภะวะสุทโธธรรมราชา
         
และในคืนวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ พุทธศักราช ๒๑๘๐ ศักราชได้ ๙๙๘ ตัว พระเจ้าฝางพร้อมด้วยพระนางสามผิว จึงได้สละพระชนม์ชีพด้วยการกระโดดน้ำบ่อซาววา

รุ่งสางของวันต่อมา กองทัพพญาภะวะสุทโธธรรมราชาก็บุกเข้าทางกำแพงด้านทิศเหนือของเมืองฝาง ตีเอาบ้านเมืองได้สำเร็จ 


พระรูปพระนางสามผิว ขนาดบูชา ๓ นิ้ว

เมื่อรำลึกถึงวีรกรรมของพระเจ้าฝาง พระนางสามผิว ที่ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องประชาชนของพระองค์ พญาภะวะสุทโธธรรมราชา จึงได้ออกคำสั่งมิให้ทหารของพระองค์ทำร้ายเข่นฆ่าชาวเมืองฝางอีก

และได้ยกทัพกลับไปกรุงอังวะประเทศพม่าโดยมิได้ยึดครองเมืองฝางแต่ประการใด เช่นเดียวกับตำนานชุดแรกที่กล่าวมาแล้ว

ที่จริงยังมีเรื่องเล่าชาวบ้านทำนองมุขปาฐะ เล่ากันแตกต่างไปอีกครับ

บ้างว่า พระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิว มิได้สละพระชนม์ชีพด้วยการโดดลงบ่อน้ำซาววา แต่พากันหนีไปยังเมือง โกสินารายณ์ ก็มี

บ้างก็ว่า พระนางมะลิกา ผู้ทรงเป็นพระราชธิดานั่นเอง ที่ส่งทหารมาช่วยถวายการอารักขาทั้งสองพระองค์เสด็จหนีไปได้

แต่คนฝางโดยทั่วไป เชื่อกันว่าทั้งสองพระองค์ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องบ้านเมืองดังกล่าวแล้ว

มิฉะนั้นหากทั้งสองพระองค์แพ้ศึก แล้วพากันหลบหนีไปที่อื่น ก็คงไม่เป็นเหตุให้คนเมืองฝางพากันเคารพรักทั้งสองพระองค์มาจนทุกวันนี้เป็นแน่

ตำนานพระนางสามผิว ยังมีความเกี่ยวข้องกับภูมิสถานต่างๆ ในอำเภอฝาง เช่นที่ ต.ม่อนปิ่น เล่ากันว่าเป็นที่พระนางเสด็จประพาส และทรงทำปิ่นปักผมตกไว้ คำว่า ปิ่น ที่เป็นชื่อตำบลดังกล่าว จึงหมายถึง ปิ่นปักผมของพระนางสามผิวนั่นเอง

ทั้งหมดทั้งมวล ที่ได้บรรยายมานี้ มีความจริงอยู่เบื้องหลังครับ

ดังมีข้อเขียนของนักวิชาการท้องถิ่นชาวฝางท่านหนึ่ง คือ อ.อินทร์ศวร แย้มแสง ซึ่งเรียบเรียงไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๔ และมีการนำมาเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.fangcity.com

ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

๑) หลังสิ้นรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ทางพม่าเกิดจราจล พระยาสุทโธธรรมราชา หรือสะโด๊ะธรรมราชา กษัตริย์พม่าเมืองอังวะ มีอำนาจปราบปรามกษัตริย์เชื้อสายบุเรงนองได้ ก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ และยกทัพตามมาปราบเชื้อสายบุเรงนอง ในล้านนาไทยต่อไป

รวมทั้งยกทัพมาตีเมืองฝาง ในปี พ.ศ.๒๑๗๕ ตรงกับสมัยพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยาเวลานั้น พม่าล้อมเมืองฝางอยู่ ๓ ปี ก็ตีเมืองฝางแตก แล้วยกมาเชียงใหม่ต่อไป

๒) ในตำนานหรือพงศาวดาร ที่กล่าวถึงพระนามว่า พระนางสามผิว ก็มีอยู่เป็นหลักฐาน ในปี พ.ศ๒๓๐๗ ว่า

พม่าตั้งนายชายแก้ว ให้เป็นเจ้าฟ้าชายแก้ว ครองเมืองลำปาง ในปีจุลศักราช ๑๑๒๖ ล้อโป่ซุก แม่ทัพพม่า จึงเอานายขนานกาวิล กับนายดวงทิพ บุตรเจ้าฟ้าชายแก้ว คุมพลชาวเมืองนครลำปาง เข้าสมทบกับกองทัพพม่า ยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ ได้เมืองเวียงจันทน์ และธิดาเจ้าเวียงจันทน์ ชื่อ นางสามผิว ส่งไปถวายพระเจ้าอังวะ

เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒ เท่านั้น แต่นิยายเรื่องพระนางสามผิว ที่เล่าสืบๆ กันมา เป็นเรื่องเก่าแก่โบราณ
         
ซึ่งในทรรศนะของผม เห็นว่า คำอธิบายของ อ.อินทร์ศวร ในประเด็นที่ ๑ เป็นคำอธิบายที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของทางพม่า และเชียงใหม่ในช่วงนั้นเพียงพออยู่แล้ว

จนไม่น่าจะมีความเคลือบแคลงใดๆ ในเรื่องสงครามระหว่างพม่ากับเมืองฝาง ในสมัยพระนางสามผิว

เพราะบัดนี้ เรารู้กันแล้วว่าสงครามระหว่างพระเจ้าฝางอุดมสิน กับพระเจ้าสุทโธธรรมราชาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง มิได้เป็นเพียงแค่ตำนานเท่านั้น

ทั้งยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายจากบ้านเมืองอื่นๆ ในล้านนาร่วมสมัยเดียวกันรองรับอีกด้วย


พระรูปพระเจ้าฝาง และพระนางสามผิว พิมพ์นูนสูง หล่อด้วยไฟเบอร์กลาส
เดิมประกบติดบนพื้นกำมะหนี่สีแดง ภายในกรอบภาพไม้สัก

โดยจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสรุปรวมจากหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ความเป็นมาของเมืองฝางมีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่สมัย พญามังราย หลังจากทรงสร้างเมืองเชียงราย พระองค์ได้เสด็จมาสร้างเมืองฝางที่ฝั่งน้ำแม่ใจ และทรงครองเมืองฝางประมาณ ๑๕ ปี แล้วจึงยกทัพไปตีเมืองหริภุญไชยในพ.ศ.๑๘๒๔

หลังจากพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จในพ.ศ.๑๘๓๙ แล้ว เมืองฝางจึงมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของเชียงใหม่ โดยมีราชบุตร เชื้อพระวงศ์ และขุนนางมาปกครองโดยตลอด

จนกระทั่งพ.ศ.๒๑๗๒  เมื่อทางพม่าผลัดแผ่นดิน พระเจ้าหงสาวดีมหาธรรมราชาสวรรคต พระเจ้าแปรน้องยาเธอทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าสุทโธธรรมราชา หรือ ตลุนมิน

เวลานั้น พระเจ้าเชียงใหม่ศรีสองเมือง หรือ เจ้าพระยาพลศึกซ้ายชัยสงคราม ทรงคิดแยกเชียงใหม่ออกจากการเป็นประเทศราชของพม่า พระเจ้าสุทโธธรรมราชาจึงต้องยกทัพมาปราบ

แต่นอกจากเชียงใหม่ ก็ยังมีหัวเมืองล้านนาอื่นๆ ตั้งตัวเป็นอิสระ ไม่ยอมขึ้นต่อพม่าเช่นกัน

หนึ่งในนั้นก็คือ เมืองฝาง ซึ่งมีพระเจ้าฝางอุดมสิน เป็นผู้นำนี่แหละครับ

ดังนั้น พระเจ้าสุทโธธรรมราชาจึงต้องทรงกรีฑาทัพมาปราบเมืองฝางเสียก่อนที่จะยกไปตีเชียงใหม่ ตามคำอธิบายของ อ.อินทร์ศวร เป็นเหตุผลในด้านการสงคราม และการขยายอำนาจ

หามีความเกี่ยวข้องอันใดกับพระนางสามผิว ดังที่กล่าวไว้ในตำนานไม่

จากข้อมูลหลายๆ เอกสารที่สอดคล้องกัน พระเจ้าฝางอุดมสินสามารถต้านทานกองทัพพม่าได้ ๓ ปี ในที่สุดเมืองฝางจึงตกอยู่ภายใต้อํานาจของพม่าเมื่อพ.ศ.๒๑๗๕

พระเจ้าสุทโธธรรมราชาทรงแต่งตั้งให้ แสนหลวงเรือดอน ชาวเมืองเชียงแสนเป็น พญาหลวงทิพยเนตร เจ้าเมืองฝาง ก่อนที่จะเสด็จยาตราทัพสู่นครเชียงใหม่ต่อไป ดังกล่าวแล้ว

นั่นคือข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เรามีกันอยู่ ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดกับเมืองฝางจริงๆ และมีการจดบันทึกเป็นจดหมายเหตุ และตำนานกระจัดกระจายไว้ตามที่ต่างๆ อย่างเด่นชัด

เมื่อสงครามที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของการขยายอำนาจของทางพม่าโดยตรง เราก็จำเป็นต้องตระหนักว่า ตำนานเล่าขานเกี่ยวแก่พระนางสามผิว ย่อมเท่ากับไม่มีข้อพิสูจน์อย่างแท้จริง

ดังเช่น เรื่องที่พระเจ้าสุทโธธรรมราชาทรงปลอมพระองค์มาชมโฉมพระนางสามผิว อาจจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิทานพื้นบ้านเรื่องอื่นๆ ก็เป็นได้

ซึ่งเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้ ก็ยังเกิดขึ้นกับพระนางมะลิกา แห่งเวียงแม่อายด้วยนะครับ

และข้อสำคัญ องค์พระนางสามผิวเองแม้จะทรงมีพระสิริโฉมเป็นเลิศ

แต่ก่อนที่จะมีศึกพม่ามาประชิดพระนคร พระราชธิดาของพระนางคือ เจ้าหญิงมะลิกา ทรงเจริญพระชันษาพอที่จะทรงมีเวียงของพระนางเองสำหรับแยกไปปกครองต่างหาก ซึ่งตามตำนานว่าทรงมีพระชนมายุได้ ๑๘ พรรษา

แสดงให้เห็นว่า พระนางสามผิวในเวลานั้นก็คงจะทรงเป็นผู้ใหญ่ พระชนมายุไม่น้อยแล้ว

ทำให้ดูขัดกันกับตำนานที่เล่าว่า กษัตริย์พม่าถึงกับลงมือทำสงคราม เพื่อจะชิงพระนางไปเป็นพระมเหสีของตน

แล้วจะมีความเป็นไปได้เพียงใด ที่พระเจ้าสุทโธธรรมราชาในความเป็นจริงนั้น จะทรงสลดพระทัยในการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าฝางอุดมสิน และพระนางสามผิว จนทรงยกทัพต่อไปยังเมืองเชียงใหม่โดยไม่ทำอันตรายเมืองฝาง ดังที่ตำนานกล่าวไว้?

เหตุการณ์นี้ คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เชื่อได้ยากเช่นกัน เมื่อมองจากสายตาของนักประวัติศาสตร์


พระรูปพระเจ้าฝาง พระนางสามผิว องค์เดิม เ
มื่อสร้างพระราชานุสาวรีย์ครั้งแรก อ.ดนัย นาควัชระ ถ่ายภาพ

และเราก็มีหลักฐานของทางเชียงใหม่ ที่อาจจะนำมาเปรียบเทียบในกรณีนี้ได้ด้วยนะครับ

กล่าวคือ จากบันทึกของทางเชียงใหม่ ในพ.ศ.๒๑๗๔ จ.ศ.๙๙๓  ปีมะแมตรีศก พระเจ้าสุทโธธรรมราชายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ในครั้งนั้นมีการต่อสู้อย่างดุเดือด วัดวาอารามหลายแห่งถูกกระสุนปืนใหญ่ทำลายเสียหาย เช่น วัดอภัย วัดหัวข่วง วัดสุทธาวาส

เมื่อพระเจ้าสุทโธธรรมราชาตีเชียงใหม่ได้แล้ว ได้จับกุมเอาตัวพระเจ้าเชียงใหม่ ไปคุมขังไว้ที่เมืองหงสาวดีจนทิวงคต ทรงแต่งตั้งให้พญาหลวงทิพยเนตร (ผู้ครองเมืองฝางแทนพระเจ้าฝางอุดมสินก่อนหน้านั้น) ไปครองเชียงใหม่ แล้วทรงยกทัพไปปราบเมืองต่างๆ ในเขตล้านนา ยึดเมืองทุกเมืองไว้ในอำนาจจนหมดสิ้น 

ข้อมูลนี้ ชี้ให้เห็นสิ่งที่เป็นปกติธรรมดาของสงครามสมัยนั้น ที่ย่อมจะต้องมีวัดวาอารามสิ่งก่อสร้างในเมืองถูกทำลาย เจ้าเมืองผู้แพ้สงครามถูกประหาร หรือไม่ก็ถูกจับกุมตัวเป็นเชลย

ดังนั้น แม้ตำนานพระนางสามผิวจะให้ภาพอันน่าประทับใจว่า การเสียสละพระองค์เองของพระเจ้าฝาง กับพระนางสามผิว ทำให้ชาวเมืองฝางรอดพ้นอันตรายจากกองทัพของพระเจ้าสุทโธธรรมราชาได้ 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมืองฝางที่แพ้สงครามในพ.ศ.๒๑๗๔-๗๕ ก็คงประสบชะตากรรมไม่ต่างกับเมืองเชียงใหม่อย่างแน่นอน

ดังที่มีตำนานบางกระแสบันทึกไว้ว่า ครั้นพระเจ้าสุทโธธรรมราชาได้เมืองฝางแล้ว ทรงสั่งให้ริบเอาอาวุธปืนสินาด และอื่นๆ พร้อมกวาดต้อนครัวเรือนผู้คนเป็นเชลยไปอังวะ เหลือไว้เพียงผู้เฒ่าผู้แก่และเด็ก กับมีดพร้าที่บิ่นใช้ทำอาวุธไม่ได้เอาไว้ทำมาหากินเท่านั้น

และยังอาจเป็นไปได้ด้วยว่า ถ้าพระเจ้าฝางอุดมสินกับพระมเหสีของพระองค์จะปลงพระชนม์ชีพด้วยการกระโดดลงบ่อน้ำซาววาจริง ทั้งสองพระองค์คงตัดสินพระทัยทำเช่นนั้นเพราะไม่ต้องการถูกจับเป็นเชลยไปคุมขังไว้ในพม่าจนทิวงคตมากกว่า

เพราะถึงแม้ว่าพระเจ้าฝาง กับพระนางสามผิวจะไม่ทรงมีพระชนม์ชีพยืนยาวต่อมา จนได้ล่วงรู้พระชะตากรรมของพระเจ้าเชียงใหม่ศรีสองเมือง ในฐานู้แพ้สงคราม

แต่ทั้งสองพระองค์ ก็คงจะทรงได้เห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วว่า ผู้คิดกระด้างกระเดื่องต่อพม่าจะมีอันเป็นไปอย่างไร

นั่นก็คือสิ่งที่เกิดกับ พระเจ้าเมกุฎสุทธิวงศ์ แห่งเชียงใหม่ ในสมัยพระเจ้าบุเรงนองนั่นเอง

แต่ทั้งสองพระองค์ ทรงมีพระชะตากรรมในท้ายที่สุดเช่นนั้นจริงหรือ?

ตำนานพื้นบ้านอีกกระแสหนึ่งที่ว่ากันว่า ทั้งสองพระองค์ทรงหลบหนีไปได้นั้น แท้จริงเป็นเพียงเรื่องเล่าขานอันเลื่อนลอย หรือเก็บรักษาเรื่องจริง (ที่ถูกต้องยิ่งกว่าความเชื่อของคนส่วนใหญ่) เอาไว้กันแน่?


ศาชพะเจ้าฝาง พระนางสามผิว ที่เก็บรักษาพระรูปองค์เดิม
ใกล้พระราชานุสาวรีย์ บันทึกภาพโดย อ.ดนัย นาควัชระ

เพราะบทสรุปอันแท้จริงของประเด็นนี้ อาจจะอยู่ในหนังสือชื่อ ประวัติเมืองฝาง ที่ อ.อินทร์ศวร แย้มแสง ได้เรียบเรียงไว้นั่นเอง

อ. อินทร์ศวรเป็นผู้ที่ได้ศึกษาค้นคว้าตำนานเมืองฝางไว้อย่างละเอียดรอบด้าน และลุ่มลึกที่สุดเท่าที่เรามีกันอยู่ในปัจจุบัน ท่านได้รวบรวมประวัติเมืองฝางขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ.๒๕๒๓ และมีการปรับปรุงแก้ไขหลายครั้งในเวลาที่ผ่านมา จนสำเร็จเป็นรูปเล่มที่สมบูรณ์เมื่อพ.ศ.๒๕๕๑ 

หนังสือดังกล่าว ได้เปิดเผยข้อมูลจากบันทึกของชาวตะวันตก ที่นักวิชาการไทยเรามองข้ามกันมานาน และเป็นข้อมูลซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่มีอยู่แล้ว

ซึ่งทำให้ตำนานอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ก้าวพ้นจากความคลุมเครือ สู่ความเป็นจริงที่ชัดเจน

และในขณะเดียวกัน ก็พลอยทำให้ความเชื่อของคนส่วนใหญ่ เกี่ยวแก่ตำนานสองกษัตริย์และบ่อน้ำซาววา ต้องพบกับคำถามที่ท้าทายอย่างยิ่ง

ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

สำหรับพญาฝางที่ทำการแข็งเมืองตั้งเมืองฝางอิสระไม่ยอมขึ้นกับเมืองเชียงแสนและพระเจ้าสุทโธธรรมราชานั้น ข้าพเจ้าได้พบชื่อในหนังสือ A Thousand Miles on an Elephant in The Shanstates หน้า ๓๕๓ บันทึกของ มร.ฮอลท์ เอส ฮอลเล็ต ว่าพญาฝางชื่อ พญาพิมมะสาร พร้อมด้วยภริยาชื่อรุ้งแสงและคนสนิทชายหญิงอีกสองคนถูกจับได้ตอนเมืองฝางแตกในเวลากลางคืนและถูกมัดไว้จะนำตัวไปอังวะ แต่พอรุ่งเช้ากลับหายไป ที่มีคนพบคนตายในบ่อน้ำนั้นจริง แต่จะใช่พญาฝางกับชายาหรือไม่เขาไม่กล่าวถึง ฝรั่งที่บันทึกว่าน่าจะเลียนแบบเรื่องเจ้าฟ้ามงโกลยูนนานเมื่อทัพจักรพรรดิจีน ฮุงหวู แห่งราชวงศ์ชิงตียูนนานแตก เจ้าฟ้ามงโกลยูนนานเลยกระโดดน้ำทะเลสาบใกล้เมืองตาย เรื่องนี้ไม่สอดคล้องกับเรื่องเจ้าหญิงมะลิกาลอบเอาทหารมาช่วยเหลือบิดามารดาหนีไปได้

นั่นหมายความว่า ถ้าบันทึกของชาวตะวันตกนี้ได้มาจากแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงที่สุด พระเจ้าฝางอุดมสิน ก็คือ พญาพิมมะสาร

และพระนางสามผิว พระชายาของพระองค์ก็ทรงมีพระนามจริงว่า พระนางรุ้งแสง นั่นเอง

ซึ่ง อ.อินทร์ศวรได้ยืนยันถึงความมีตัวตนจริงของเรื่องนี้ โดยกล่าวไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า ทั้งสองพระองค์ทรงสร้างพระพุทธรูปขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๑๓๘ ซึ่งมีจารึกที่ฐานยืนยันอย่างชัดเจน

และเมื่อนครฝางถูกตีแตก ทั้งสองพระองค์ก็ทรงถูกพันธนาการไว้เช่นเดียวกับกษัตริย์ที่แพ้สงครามอื่นๆ ในสมัยนั้นพึงถูกกระทำ

และพระเจ้าสุทโธธรรมราชาก็ทรงมีพระราชดำริจะนำทั้งสองพระองค์ไปกรุงรัตนปุระอังวะ เหมือนเช่นที่ทรงกระทำกับพระเจ้าเชียงใหม่ศรีสองเมืองในเวลาต่อมานั่นแหละครับ

แต่การที่ทั้งสองพระองค์ทรงหายสาบสูญไปในวันรุ่งขึ้นนั้น ทำให้เกิดคำถามมากมาย ที่บางคำถามก็เชื่อมโยงกับบ่อน้ำซาววาได้ แต่บางคำถามก็ไม่

เป็นต้นว่า แท้ที่จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกับกษัตริย์ทั้งสอง?

พระนางมะลิกา พระราชธิดา ผู้ครองเวียงแม่อายในขณะนั้น สามารถนำทหารมาช่วยทั้งสองพระองค์เสด็จหนีไปได้สำเร็จ ดังที่ตำนานพื้นบ้านบางกระแสกล่าวไว้ ใช่หรือไม่?

หรือว่า ทั้งสองพระองค์อาจทรงได้รับการช่วยเหลือจากข้าราชบริพารที่ถูกจับไปด้วยกัน ให้หลบหนี

แต่เนื่องจากเมืองฝางถูกพม่ายึดครอง มีทหารพม่าเต็มไปหมดภายในตัวเมือง จนไม่เห็นหนทางที่จะพากันหนีรอดไปได้

รวมทั้งความเสียพระทัยที่ไม่อาจจะทรงนำพาบ้านเมืองของพระองค์ให้รอดพ้นภัยสงคราม ต้องทอดพระเนตรไพร่ฟ้าประชาชนพากันได้รับทุกข์ยาก ทำให้ทั้งสองพระองค์ตัดสินพระทัยพากันไปกระโดดลงบ่อน้ำซาววาสิ้นพระชนม์ตามตำนาน?


ภายในบ่อน้ำซาววา บันทึกภาพโดย อ.ดนัย นาควัชระ

และในส่วนที่เกี่ยวกับพระนางสามผิว หรือพระนางรุ้งแสงนั้น เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์จริงในปี พ.ศ.๒๓๐๗ ที่ว่า

ในปีจุลศักราช ๑๑๒๖ ล้อโป่ซุก แม่ทัพพม่า จึงเอานายขนานกาวิล กับนายดวงทิพ บุตรเจ้าฟ้าชายแก้ว คุมพลชาวเมืองนครลำปาง เข้าสมทบกับกองทัพพม่า ยกไปตีเมืองเวียงจันทร์ ได้เมืองเวียงจันทร์ และธิดาเจ้าเวียงจันทร์ ชื่อ นางสามผิว ส่งไปถวายพระเจ้าอังวะ

ก็ทำให้มีความเป็นไปได้สูงเช่นกันว่า ผู้เล่าตำนานพระนางสามผิว อาจจะ รวมเอาเรื่องของพระนางสามผิว ธิดาเจ้าเมืองเวียงจันทน์ที่ถูกส่งตัวไปพม่าในช่วงก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒ เข้าเป็นเรื่องเดียวกับพระนางรุ้งแสง พระมเหสีของพญาพิมมะสาร

ซึ่งพระนามอันแท้จริงของพระนาง ได้สาบสูญไปจากตำนานเมืองฝางที่คนฝางรุ่นหลังสืบทอดต่อๆ กันมา

เพราะเหตุนั้น พระนางสามผิวพระองค์จริงในสงครามฝาง-พม่า พ.ศ.๒๑๗๒-๗๕ หรือ พระนางรุ้งแสง จึงไม่น่าจะใช่ธิดาของเจ้าเมืองล้านช้าง และไม่น่าจะทรงมี สามผิว

พระนางจะทรงมีพระลักษณะแท้จริงเป็นอย่างไรนั้น เราไม่มีทางทราบกันได้เลยครับ

เราจะพูดได้ในเวลานี้ก็แต่เพียงว่า ตำนานที่กล่าวถึงพระฉวีที่แปรเปลี่ยนได้ ๓ เวลาของพระนางนั้น น่าจะเป็นการขยายความจากเหตุการณ์จริงในยุคหลังที่เข้าไปปะปนเท่านั้น

แน่นอนที่ว่า ข้อสันนิษฐานทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ย่อมมีผลอย่างยิ่งต่อความเชื่อ และความผูกพันของคนส่วนใหญ่ในเมืองฝาง ที่มีต่อพระเจ้าฝางอุดมสิน และพระนางสามผิว จนร่วมแรงร่วมใจกันสร้างพระราชานุสาวรีย์ถวายอย่างสวยงามในปัจจุบัน

แต่ผมก็ยังคงเห็นว่า ไม่ว่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม

พระจริยาวัตรอันงดงามของสองกษัตริย์ ผู้ทรงเคยทำนุบำรุงเมืองฝางจนเจริญรุ่งเรือง และทรงต่อสู้กับกองทัพอันเข้มแข็งของพม่าได้ยาวนานถึง ๓ ปี จนทำให้เมืองเล็กๆ นี้มีตัวตนอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์




รวมทั้งเรื่องเล่าเกี่ยวแก่พระนางสามผิว-เจ้าแม่รุ้งแสง ผู้ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม ที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ และความศรัทธามากมายของผู้คนหลายชั่วอายุที่เคารพรักพระนาง

ก็เพียงพอแล้วนะครับ ที่จะทำให้ชาวอำเภอฝางสร้างพระราชานุสาวรีย์ถวายพระนางและพระสวามี เพื่อกราบไหว้บูชาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองฝาง

ซึ่งด้วยทิพยภาวะ แห่งความเป็นเทพบรรพชนผู้ศักดิ์สิทธิ์ ย่อมไม่ต้องการยืนยัน หรือการพิสูจน์ที่เป็นวิทยาศาสตร์

การกระทำเช่นนั้น ต้องการหลักฐานเป็นอันมาก และต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายสิบปี หรืออาจเป็นร้อยปี เพียงเพื่อให้เราเข้าใกล้พระนางเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

แต่การสัมผัสและเข้าถึงทิพยบารมีแห่งพระนางด้วยใจนั้น สามารถที่จะทำได้ในระยะเวลาอันสั้น และนำมาซึ่งผลที่ดีงามต่อชีวิตของเรา

อย่างที่วิชาประวัติศาสตร์ ไม่อาจจะทำได้


……………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

2 comments:

  1. แทบไม่น่าเชื่อ ว่าแค่ไม่กี่ร้อยปี ก็เอาสารพัดตำนานมาปนกันยุ่งแล้ว

    ReplyDelete
    Replies
    1. ฝรั่งพื้นเมือง ก็มีแบบนี้นะครับ ระยะเวลาแค่สองสามร้อยปี ก็เล่ากันไปคนละทางสองทาง สับสนปนเปไปหมด

      ถ้าไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรยืนยัน ก็แทบไม่ต้องค้นหาความจริงกันเลย

      Delete

Total Pageviews