Friday, December 25, 2015

กู่ช้าง





เป็นโบราณสถานตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนวัดไก่แก้ว ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโรงเรียนจักรคำคณาทร เขตเทศบาลเมืองลำพูน ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๒ กิโลเมตร เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บรักษากระดูกช้างผู้ก่ำงาเขียว ซึ่งเป็นช้างคู่บ้านคู่เมืองของนครหริภุญไชยสมัยพระนางจามเทวี

กู่ช้างเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะแปลก ฐานเป็นฐานหน้ากระดานกลม ๓ ชั้นก่อด้วยอิฐสอดิน ชั้นนอกสอปูน ฐานชั้นบนสุดเป็นฐานบัวรองรับเจดีย์ทรงกระบอกปลายสอบเข้าหากัน ก่อด้วยอิฐธรรมดาขนาดเล็ก 

รูปทรงที่แปลกตานี้เป็นแบบอย่างอันเดียวกันกับ เจดีย์บอบอจี ของรัฐศรีเกษตร ซึ่งอยู่ในสหภาพเมียนมาร์ในปัจจุบัน และกำหนดอายุได้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ เพียงแต่ว่าเจดีย์กู่ช้างมีทรวดทรงที่เพรียวกว่าเจดีย์บอบอจีเท่านั้น  และทำให้คิดว่ายอดของเจดีย์กู่ช้างเดิมจึงน่าจะเป็นทรงกรวยคว่ำแบบเจดีย์บอบอจีด้วย


ภาพจาก http://www.thapra.lib.su.ac.th

และแม้เจดีย์องค์นี้จะได้ผ่านการบูรณะมาบ้าง แต่ผู้บูรณะชั้นหลังสุดก็มิได้ดัดแปลงแก้ไขสิ่งใด แม้แต่ส่วนยอดเดิมที่หักไปก็เพียงแต่ทำหลังคาไม้มุงกระเบื้องดินเผาปิดไว้แทนเท่านั้น

ด้วยเหตุที่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์องค์นี้ สามารถเปรียบเทียบกันได้กับเจดีย์ในพม่าที่มีอายุอยู่ร่วมสมัยพระนางจามเทวีดังกล่าว เจดีย์องค์นี้จึงได้รับการสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นโบราณสถานที่สามารถยืนยันความเก่าแก่ของนครหริภุญไชยถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ตรงตามตำนานกล่าวไว้ทุกประการ

แต่นักโบราณคดีของกรมศิลปากรส่วนมาก ไม่ยอมรับข้อสันนิษฐานนี้ครับ 

พวกเขาอธิบายว่า การที่กู่ช้างมีรูปทรงเหมือนเจดีย์บอบอคยี ก็เพราะเป็นการจำลองรูปแบบของเจดีย์ดังกล่าวมาทำแบบย้อนยุคในสมัยล้านนาเท่านั้นเอง 

โดยยกตัวอย่างว่า ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ผู้ครองนครเชียงใหม่ในพ.ศ.๑๙๘๔-๒๐๓๐ นั้น  มีความนิยมในการนำรูปทรงเจดีย์แปลกๆ จากต่างถิ่นมาสร้าง เช่น นำเอารูปทรงของเจดีย์พุทธคยาในอินเดียมาสร้างที่วัดเจดีย์เจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ เป็นต้น




ด้วยเหตุดังกล่าว จึงอาจเป็นไปได้ว่า กู่ช้างแห่งนี้ก็คงสร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราชเช่นกัน โดยเลือกเอารูปทรงของเจดีย์บอบอจีจากรัฐศรีเกษตรในพม่ามาเป็นต้นแบบ 

เพราะจากการขุดแต่งบูรณะกู่ช้างแห่งนี้เมื่อพ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๒๖ ได้พบพระพุทธรูปสำริดสมัยล้านนา แผ่นอิฐจารึกตัวอักษรฝักขาม ซึ่งนิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ รวมทั้งลักษณะของการก่ออิฐทั้งหมดก็เป็นแบบแผนของเจดีย์ล้านนา ไม่เก่าถึงสมัยหริภุญไชย

คำอธิบายนี้คงง่ายแก่การยอมรับ ถ้าหากว่าจะไม่มีการท้วงติงด้วยเหตุผลที่น่าฟังมากกว่าจาก ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ซึ่งกล่าวไว้ในเอกสารด้านวิชาการลำดับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๔๗ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ว่า

กรณีที่พระเจ้าติโลกราชนำเอารูปทรงของพุทธคยามาจำลองไว้ที่วัดเจดีย์เจ็ดยอดนั้นต้องถือว่าเป็นกรณีพิเศษไม่ใช่พระราชนิยม เนื่องจากวัดแห่งนี้มีหน้าที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับกระทำอัฏฐมหาสังคายนาพระไตรปิฎก (ครั้งแรกของเมืองไทย-ครั้งที่ ๘ ของโลก) จึงจำเป็นต้องสร้างวัดให้ดูเป็นสากล การหยิบยืมเจดีย์พุทธคยามาก็เพื่อใช้เป็นเครื่องรำลึกถึงการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ อันสอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอย

ในขณะที่เจดีย์กู่ช้างนั้นตั้งอยู่ในลำพูนซึ่งไม่ใช่ศูนย์อำนาจ และไม่น่าจะมีบทบาทมากพอที่พระเจ้าติโลกราชจะมาทรงใส่พระทัยคัดเลือกแบบอย่างให้ อีกทั้งรูปทรงของเจดีย์พยู (บอบอคยี) นั้นก็แทบไม่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องอันใดกับลำพูน ไม่มีที่มาที่ไป อายุอานามก็ห่างไกลจนไร้คำอธิบาย

จึงขอเสนอมุมมองว่า เป็นไปได้ไหมว่าสถูปองค์ที่เราเห็นแม้จะมีการสร้างใหม่ในช่วงสมัยล้านนา (อาจเป็นสมัยพระเจ้าติโลกราชจริง เพราะสมัยนี้มีนโยบายให้บูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์องค์เก่าๆ ทั่วราชอาณาจักร) แต่ช่างสมัยนั้นได้สร้างขึ้นโดยใช้รูปทรงของเจดีย์องค์เดิมที่เคยพบเห็นมาแต่ก่อน ต่อมาได้พังทลายลง และอย่าลืมว่ายังมีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นที่นักโบราณคดีขุดค้นได้ในฐานรากของกู่ช้าง นั่นคือพระพิมพ์สกุลช่างหริภุญไชย ๓ องค์ แม้นักโบราณคดีจะพยายามอธิบายว่าอาจเป็นสิ่งของที่นำมาบรรจุภายหลังในช่วงล้านนา พร้อมกับการสร้างเจดีย์ก็ตาม เนื่องจากพระพิมพ์เป็นสิ่งที่เคลื่อนย้ายได้

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ครับ  ในการพิมพ์ครั้งที่ ๔ และ ๕ ของหนังสือ จอมนางหริภุญไชย จึงยังคงยืนยันข้อสมมุติฐานตามที่มีก่อนหน้านี้ว่า...  

กู่ช้าง อาจจะเป็นโบราณสถานเพียงแห่งเดียวในจังหวัดลำพูนปัจจุบันที่เป็นไปได้ว่าสร้างทันรัชสมัยพระนางจามเทวี และยังสามารถรักษารูปทรงเดิมไว้ได้ตลอดระยะเวลากว่า ๑,๓๐๐ ปีที่ผ่านมาด้วย 


ภาพจาก http://uauction.uamulet.com

ชาวลำพูนเชื่อกันมานานแล้วว่า ซากทั้งหมดของช้างผู้ก่ำงาเขียวบรรจุไว้ที่นี่ แม้ในคัมภีร์จามเทวีวงศ์จะระบุว่าได้นำงาไปบรรจุไว้ ณ สุวรรณจังโกฏิเจดีย์ก็ตาม คนรุ่นเก่าในลำพูนก็ยังเล่ากันว่าเหตุที่รูปทรงของเจดีย์เป็นทรงกระบอกนั้น เพราะต้องบรรจุซากช้างผู้ก่ำงาเขียวในท่านั่งชูงวงขึ้นบนอากาศ ไม่สามารถบรรจุในท่านอนได้ ด้วยว่าเป็นช้างที่มีอิทธิฤทธิ์ จะฝังซากให้หันงาไปทางทิศใดผู้คนที่นั้นจะพากันล้มตายหมด              

แต่ทว่า ในการขุดแต่งบูรณะของกรมศิลปากรไม่มีรายงานการพบซากซ้างดังกล่าว คนท้องถิ่นบางท่านจึงเสนอว่า อาจจะฝังไว้เฉพาะงาโดยฝังให้ชี้ขึ้นฟ้าก็เป็นได้ เพราะกรมศิลปากรมิได้ขุดเข้าไปถึงใจกลางองค์เจดีย์      

ถ้าจะถามความเห็นส่วนตัวของผม ผมไม่เชื่อนะครับว่ากู่ช้างจะสร้างขึ้นเพื่อฝังซากช้างคู่บ้านคู่เมือง ถึงแม้ว่าพญาช้างนั้นจะมีอิทธิฤทธิ์ ปกบ้านป้องเมืองให้พ้นจากการรุกรานของอริราชศัตรูเป็นที่ประจักษ์ก็ตาม

เนื่องจากการสร้างสถูปเจดีย์ของคนโบราณ เขาสร้างเพื่อบรรจุพระธาตุ หรือไม่ก็พระอัฐิของอดีตกษัตริย์ที่เพิ่งสิ้นพระชนม์ไปเท่านั้นครับ

ถ้าเป็นเชื้อพระวงศ์ก็ทำแค่เจดีย์องค์เล็กๆ เหมือนเจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่ที่อยุธยา ส่วนคนธรรมดาก็หมดสิทธิ์ ยิ่งถ้าเป็นช้าง ถึงจะมีอิทธิฤทธิ์เพียงใด คนโบราณเขาก็มีวิธีฝังโดยไม่ก่อเป็นสถูปเจดีย์ครอบไว้ครับ


ภาพจาก http://www.klongdigital.com

ส่วนเจดีย์อีกองค์ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน และมีชื่อเสียงคู่กันกับกู่ช้างก็คือ กู่ม้า เชื่อกันว่าเป็นที่รักษาซากม้าทรงพระโอรสพระนางจามเทวี เป็นเจดีย์ทรงระฆังก่ออิฐสอดินและฉาบปูนด้านนอก ด้านบนเหลือเพียงบัลลังก์ ยอดหักหายไป 

รูปแบบทางศิลปกรรมเช่นว่านี้ใหม่กว่ากู่ช้าง อาจจะเป็นเจดีย์ของวัดโบราณที่สิ้นสภาพไปแล้วซึ่งสร้างในชั้นหลังก็ได้


………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

Thursday, December 17, 2015

พระพิมพ์ดินเผาพระนางสิกขี


ผมได้เขียนไปก่อนหน้านี้แล้วนะครับว่า นอกจากโบราณวัตถุที่ พิพิธภัณฑ์ทันตนคร ซึ่งเป็นของทำในสมัยปัจจุบันแล้ว ยังไม่เคยมีการค้นพบหลักฐานใดๆ ในประเทศไทยซึ่งอ้างถึงพระนางจามเทวีโดยตรง ที่จะมีอายุเก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๒๐ รวมถึงหลักฐานประเภทพระรูปเหมือน หรือพระพิมพ์ด้วย  
  
แต่ในกลางปีพ.ศ.๒๕๔๕ เมื่อผมไปร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับพระนางจามเทวี ที่จัดโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จ.ลำพูน ได้พบว่า มีการนำพระพิมพ์ดินเผาที่มีรูปแบบแปลกตาชุดหนึ่งมาวางจำหน่ายในบริเวณ วัดพระธาตุหริภุญชัย ในราคาระหว่าง ๑๐๐-๒๐๐ บาท ผู้ขายอ้างว่า เป็นพระแตกกรุใหม่ ได้มาจากวัดประตูลี้เมื่อไม่นานก่อนหน้านั้น เรียกกันว่า พระนางสิกขี พระสิกขี หรือพระนางจามเทวี




ลักษณะของพระพิมพ์ดินเผาองค์นี้ เป็นพระเนื้อดินธรรมดา ทำด้วยดินเหนียวชนิดที่จะหาได้ทั่วไป เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ทำให้ได้เนื้อที่เป็นดินสีแดง (Terracotta) มีขนาดกว้างที่สุดวัดจากช่วงพระอุระและพระหัตถ์ทั้งคู่ ๕ ซ.ม. ความยาววัดจากยอดของศิราภรณ์ถึงที่ว่างใต้ขอบพระภูษาทรง ๙.๕ ซ.ม. เป็นพระพิมพ์หันหน้าตรง มีเค้าพระพักตร์เป็นแบบขอม สวมศิราภรณ์ทรงเทริดขนนก มีเครื่องถนิมพิมพาภรณ์และลวดลายฉลองพระองค์แสดงให้รู้ว่าเป็นเจ้านายสตรี พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นทำปางห้ามญาติเสมอพระอุระ 

พระพิมพ์นี้ทำไว้เพียงขอบพระภูษาทรง มีการตกแต่งลวดลายที่พระนาภีและบั้นพระองค์ด้วยเช่นกัน ส่วนด้านหลังไม่มีการตกแต่งหรือลวดลายแต่อย่างใด

ลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จัดว่าไม่มีอยู่ในสารบบพระกรุพระโบราณที่รู้จักกัน ไม่มีผู้ชำนาญการท่านใดได้เคยศึกษาหรืออธิบายไว้เลยครับ จึงดูสอดคล้องกับคำกล่าวอ้างว่าเป็นพระแตกกรุใหม่ 

และด้วยเหตุที่ว่า ลักษณะของพระพิมพ์องค์นี้ ถูกอ้างว่าเป็นพระรูปพระนางจามเทวีโดยตรง ซึ่งไม่เคยมีการค้นพบมาก่อนในประเทศไทย ย่อมจะทำให้ผู้ไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงหลงเชื่อได้โดยง่าย  ทั้งการนำมาขายในราคาถูก ยังจะทำให้ผู้ซื้อตื่นเต้นว่าได้ของดีในราคาย่อมเยา ซึ่งตรงกับนิสัยของคนไทยทั่วไปที่ชอบเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว

เพราะพระโบราณที่มีอายุนับพันปี ย่อมไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลยนะครับ ที่จะมีการนำมาจำหน่ายกันในราคาเพียงองค์ละ ๑๐๐-๒๐๐ บาทเช่นนี้        

ภายหลังกลับกรุงเทพฯ ได้ไม่ถึงเดือน ผมก็ได้พบพระพิมพ์ที่มีลักษณะคล้ายกันนี้จำหน่ายอยู่ในศูนย์พระเครื่องภายในห้างพาต้าปิ่นเกล้า ธนบุรี ผู้นำมาจำหน่ายอ้างว่า เป็นพระสิกขีหรือพระนางจามเทวีเช่นเดียวกัน แต่ไม่บอกแหล่งที่มา

และยังกล่าวว่าพระเช่นนี้มีอยู่หลายพิมพ์ บางทีเค้าพระพักตร์ต่างกัน เรียกตามภาษาในวงการพระเครื่องว่า พิมพ์หน้าแก่ ก็มีนะครับ          

พระนางสิกขีองค์ที่ว่านี้ ลักษณะโดยทั่วไปก็เป็นศิลปะอย่างเดียวกันกับองค์ที่ผมได้มาจากลำพูน แต่ทำด้วยดินที่มีเนื้อสีอ่อนกว่า ดูเก่ากว่า

และแม้ลักษณะ ตลอดจนรายละเอียดต่างๆ จะเหมือนกัน แต่พิมพ์ทรงนั้นคมชัดกว่ามาก รวมทั้งมีขนาดใหญ่กว่า คือมีขนาดยาวประมาณ ๑๑ ซ.ม. แสดงว่าใช้บล็อคละชุดกัน     
  
แต่ความประณีตที่มีมากกว่า รวมทั้งเนื้อดินที่ดูเก่ากว่าเช่นนี้ละครับ ก็ทำให้ราคาจำหน่ายผิดกันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะพระพิมพ์ซึ่งผมได้จากที่ลำพูนนั้น อาจจะหลอกขายให้แก่ผู้ไม่รู้ได้สูงถึง ๑,๐๐๐ บาทเป็นอย่างมาก แต่ราคาขายของพระพิมพ์ที่ศูนย์พระเครื่องแห่งนี้ มีราคาตั้งต้นถึง ๑๕,๐๐๐ บาท  
  
น่าเสียดายว่า พระพิมพ์ดินเผาเหล่านี้เป็นของปลอมที่ทำขึ้นใหม่ทั้งหมดครับ ไม่ว่าจะเป็นองค์ที่มีจำหน่ายอยู่ลำพูน หรือที่กรุงเทพฯ ก็ตาม         

จริงอยู่ที่อาจจะมีข้อแย้งได้ว่า พระพิมพ์ที่ผมได้มาจากลำพูนเป็นของปลอม ซึ่งทำขึ้นอย่างง่ายๆ จึงมีราคาถูกกว่ามาก ของจริงมีพิมพ์ทรงที่ชัดเจนกว่า เนื้อดินก็เห็นได้ชัดว่าคนละอย่างกัน การออกให้บูชาในราคาตั้งต้นที่ ๑๕,๐๐๐ บาทจึงเหมาะสม 

แต่ข้อแย้งนี้ก็จะต้องตกไปในที่สุดครับ เพราะ :   
    
๑) โดยลักษณะทางศิลปกรรมของพระพิมพ์ชุดนี้ทั้งสององค์ เมื่อตรวจดูแล้ว เห็นได้ชัดว่าแนวคิดในการแกะพิมพ์ คือท่าทางของรูปเคารพก็ดี ลักษณะศิราภรณ์และฉลองพระองค์ทั้งหมดก็ดี เป็นการดัดแปลงมาจากพระพิมพ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งนักสะสมโบราณวัตถุสายเหนือรู้จักกันมานานแล้วว่าพบเฉพาะที่เมืองลำพูนเท่านั้น เรียกว่า พระสิกขี” 

และแท้ที่จริงพระพิมพ์ดังกล่าวนี้ มิใช่พระพุทธรูปหรือเทวรูปสำหรับบรรจุกรุ แต่เป็นเพียงรูปเทวดาดินเผาสำหรับประดับสถูปเจดีย์ต่างๆ ในศิลปะหริภุญไชย ซึ่งปัจจุบันมี ๒ ชิ้นจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย

และอีกส่วนหนึ่งยังคงมีให้เห็นจนทุกวันนี้ ในส่วนที่เรียกกันในภาษาช่างว่า “ฝักเพกา” บนซุ้มจระนำของเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี



ภาพจาก Fanpage : Mind GaLLerY

รูปเทวดาเหล่านี้เอง ที่น่าจะเป็นต้นแบบของประติมากรรมในพิพิธภัณฑ์ทันตนคร (ดูบทความก่อนหน้านี้) คือรูปพระนางจามเทวีเมื่อพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษานั่นเอง   


    
     
๒) การดัดแปลงนั้น คงกระทำโดยการสร้างพิมพ์ใหม่ขึ้นตามโครงร่างของรูปเทวดาดินเผาดังกล่าว หรือไม่ก็ตามแบบของประติมากรรมที่พิพิธภัณฑ์ทันตนคร แล้วตกแต่งด้วยการนำเค้าพระพักตร์ และศิราภรณ์ที่มีอิทธิพลศิลปะปาละ มาจากพระพุทธรูปสำริดศิลปะหริภุญไชยรุ่นหลังซึ่งพบที่เวียงท่ากาน มารวมกับแบบอย่างฉลองพระองค์ซึ่งปรากฏอยู่แล้วบนรูปเทวดาดินเผาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖

เหตุที่ไม่ใช้ศิราภรณ์ตามแบบดั้งเดิม ก็คงเป็นเพราะลบเลือนมาก ส่วนลวดลายที่พระนาภีและบั้นพระองค์ก็ทำขึ้นใหม่ให้ดูเข้ากัน    

๓) การผสมผสานเช่นนี้ไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อนครับ เห็นได้ชัดว่าเป็นของที่คิดทำขึ้นใหม่สมัยปัจจุบันนี้เอง และทำขึ้นโดยผู้ไม่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะมากนัก 

เพราะเมื่อทำออกมาแล้ว แบบอย่างศิราภรณ์ซึ่งมาจากพระพุทธรูปสำริดสมัยหริภุญไชย กับแบบอย่างฉลองพระองค์ซึ่งมาจากเทวดาปูนปั้นประดับเจดีย์สมัยหริภุญไชยเช่นกันนั้น แม้ดูเผินๆ อาจจะไปด้วยกันได้ แต่ถ้าพิจารณาอย่างจริงจังแล้วจะเห็นว่าไม่เข้ากัน ไม่กลมกลืนกัน  ด้วยเหตุที่ว่าต้นแบบดั้งเดิมเป็นศิลปะคนละยุคคนละสมัยกันนั่นเอง         
   
๔) แต่การจับแพะชนแกะ ด้วยนำแบบอย่างศิลปะหริภุญไชยจริงๆ มาผสมกันเช่นนี้ แม้จะมีข้อบกพร่องอย่างชัดเจน แต่ก็ควรนับว่าเป็นวิธีการปลอมโบราณวัตถุที่แนบเนียนในระดับหนึ่งนะครับ

เพราะในสายตาของผู้รู้จักศิลปะหริภุญไชยเพียงผิวเผิน ก็ย่อมต้องพบว่าพระพิมพ์เหล่านี้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับพระพุทธรูปสำริดและรูปเทวดาปูนปั้นดังกล่าวได้  
  
ส่วนผู้ไม่รู้เรื่องศิลปะ ถ้าเคยเห็นประติมากรรมจากพิพิธภัณฑ์ทันตนครจากในหนังสือของคุณสุทธวารีแล้ว ก็สามารถหลงเชื่อได้โดยไม่ลังเลเช่นกันครับ เพราะรูปแบบทั่วไปดูคล้ายกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อนำมาจำหน่ายโดยมีการแต่งเรื่องประกอบว่า เป็นโบราณวัตถุที่พบใหม่ จึงทำให้ดูสมจริง น่าเชื่อถือมาก   

๕) นอกจากนี้ ผมได้นำเสนอไว้ในหนังสือ จอมนางหริภุญไชย แล้วนะครับว่า แบบอย่างการฉลองพระองค์ของพระนางจามเทวีตามที่เป็นจริงนั้น ควรจะประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่เรามีกันอยู่  

ดังนั้น ฉลองพระองค์บนพระพิมพ์ชุดนี้ ซึ่งเอาแบบมาจากรูปเทวดาดินเผาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จึงไม่มีความเกี่ยวข้อง หรือสามารถที่จะเชื่อมโยงไปถึงพระนางตามความเป็นจริงได้เลย

พระพิมพ์ที่ผมได้มาจากลำพูน และที่ศูนย์พระเครื่องในกรุงเทพฯ นำมาจำหน่าย สีและความแห้งของเนื้อดินต่างกัน อาจเป็นเพราะได้ดินมาจากคนละแหล่ง หรือเผาด้วยอุณหภูมิที่ต่างกัน แต่ถึงอย่างไรก็เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายโดยช่างปั้นดินทั่วไป เพราะเพียงแต่นำก้อนดินเหนียวที่นวดแล้ว มากดพิมพ์แล้วนำไปเผาเท่านั้น

และการที่เป็นเนื้อดินเผาล้วนๆ ก็ทำให้ยากต่อการที่จะดูว่าใหม่หรือเก่า เพราะไม่อาจกำหนดอายุด้วยสายตาอย่างเที่ยงตรง จึงสามารถหลอกว่าเป็นของเก่าได้      
    
ในช่วงต้นปีพ.ศ.๒๕๔๖ ผมยังได้พบพระพิมพ์ดินเผาที่คล้ายคลึงกันนี้อีกครับ วางจำหน่ายบนแผงลอยขายพระเครื่องริมคลองคูเมืองเดิม ใกล้กับศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลาในสนนราคา ๒๐๐ บาท โดยมีการแต่งเรื่องประกอบว่าได้มาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา




พระพิมพ์ที่ว่านี้ มีรายละเอียดส่วนใหญ่เหมือนกับที่กล่าวแล้ว ผิดกันแต่ว่า :   

๑.กรองศอไม่เหมือนกัน ไม่มีลวดลายที่บั้นพระองค์และพระนาภี   
 
๒.ตัดขอบด้านล่างที่บั้นพระองค์เป็นเส้นตรง ไม่แต่งให้เป็นกรอบครึ่งวงกลม

๓.มีขนาดเล็กกว่ามาก คือกว้างเพียง ๒.๘ ซ.ม. และยาว ๔.๕ ซ.ม.    
    
๔.ทำด้วยเนื้อดินคนละชนิดกัน มีสีเข้มและเนื้อแกร่งกว่า    

เดือนมีนาคม  ปีเดียวกัน ผมก็ได้พบพระพิมพ์ลักษณะเช่นนี้อีกครับ แต่ทำด้วยเนื้อดินชนิดที่แตกต่างออกไป มีผู้นำมาวางจำหน่ายหลายองค์ในแผงลอยข้างกำแพงวัดมหาธาตุในราคาเพียง ๑๐๐ บาท ผู้จำหน่ายเรียกว่า พระนางเศรษฐี เข้าใจว่าเป็นการฟังเพี้ยนมาจากพระนางสิกขี เรื่องที่อ้างประกอบการขายพระพิมพ์ชุดนี้ก็คือ ได้มาจากการขุดค้นที่วัดดอนแก้ว


   
  
เป็นที่น่าสังเกตว่า แบบอย่างพิมพ์ทรงของพระพิมพ์ชุดใหม่นี้ต่างกับทั้ง ๓ แบบที่ผมกล่าวมาแล้ว คือกลับไปดูละม้ายคล้ายคลึงกับรูปเทวดาดินเผาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖ กับรูปพระนางจามเทวีทรงกระทำวิปัสสนาห้ามทัพระมิงค์ที่พิพิธภัณฑ์ทันตนครที่สุด 

ส่วนขนาดนั้นใหญ่กว่าองค์ที่เป็นเนื้อดินสีเข้ม คือกว้าง ๔.๕ ซ.ม. และยาว ๖ ซ.ม. รายละเอียดลบเลือนโดยทั่วไป แต่ก็พอมองเห็นศิราภรณ์และฉลองพระองค์ที่เหมือนกับของพิพิธภัณฑ์ทันตนคร  ลักษณะการตกแต่งให้ดูเก่านั้นทำแนบเนียนกว่าทุกแบบที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ครับ 
    
และเพียงสองเดือนต่อมา พระพิมพ์ที่มีรูปแบบคล้ายกันนี้ก็ออกวางจำหน่ายในกรุงเทพฯ อีกไม่น้อยกว่า ๒ รูปแบบ มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก




เฉพาะที่เป็นขนาดเล็ก (๒.๗ x ๔.๕ ซ.ม.) นั้นทำด้วยดินสีต่างๆ กัน และไม่พยายามที่จะทำให้ดูเก่าอีกต่อไป ฝีมือการแกะพิมพ์นับว่าสวยงามกว่าทุกแบบที่ผ่านมา รวมทั้งสวยกว่าพระพิมพ์ที่ผมได้จากแผงลอยใกล้ศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผมด้วย โดยเฉพาะศิราภรณ์นั้นดูประณีตที่สุด ส่วนขนาดใหญ่กว่านั้นยังพยายามทำให้ดูเหมือนของโบราณบ้าง มีผู้นำมาวางจำหน่ายที่แผงลอยย่านจตุจักรในราคาเพียงองค์ละ ๑๐ บาทเท่านั้น     

น่าสังเกตว่าจนถึงปัจจุบันนี้ พระพิมพ์ประเภทนี้ก็ยังคงมีรูปแบบใหม่ๆ ออกมาวางจำหน่ายอย่างสม่ำเสมอ บางชิ้นมีขนาดใหญ่มาก คือสูงเกือบ ๑ ฟุต และทำอย่างประณีตจนควรจะนับว่าเป็นศิลปวัตถุอย่างหนึ่ง แต่โดยทั่วไปยังคงเป็นขนาดเล็ก ซึ่งในกรณีที่ขายให้แก่ผู้ไม่รู้ก็จะยังคงเล่าเรื่องประกอบว่าเป็นพระเก่า ได้จากวัดโบราณวัดใดวัดหนึ่งใน จ.ลำพูน

พระพิมพ์ที่ผมพูดถึงนี้นะครับ ในช่วงก่อนที่กรุงเทพมหานคร (ยุคที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรเป็นผู้ว่า) ไล่รื้อทำลายย่านการค้าเก่าๆ ทั่วกรุงเทพฯ ชั้นใน ภายใต้ข้ออ้างว่าจัดระเบียบนั้น ยังสามารถพบเห็นได้เสมอจากแผงพระเครื่องริมถนน ฝั่งตรงข้ามกำแพงมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

แต่ถ้าในเวลาที่ผมโพสต์บทความนี้ ก็ยังพอหลงเหลืออยู่บ้างครับ ลองเข้าไปในซอยตรงข้ามวัดมหาธาตุ ที่มีร้านปั้นพระพุทธรูปและพระเกจิอาจารย์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่เป็นที่สังเกต ซ้ายมือก่อนถึงร้านดังกล่าวจะเป็นร้านที่จำหน่ายพระพิมพ์ดินเผา ซึ่งทำเลียนแบบพระพิมพ์โบราณนับร้อยๆ พิมพ์ ผมเคยเห็นว่ามีพระพิมพ์พระนางสิกขีอยู่ด้วยครับ ซึ่งปรากฏว่ามีรูปแบบแปลกใหม่มากขึ้น เช่นบางพิมพ์ก็ทำเต็มองค์ในท่านั่งชันเข่าข้างหนึ่ง ราคาจำหน่ายเพียงองค์ละ ๑๐ บาทเท่านั้น

พระนับร้อยขายเหล่านี้ไม่ใช่ว่ามีอยู่ตลอดเวลาครับ จะหมุนเวียนกันมาเป็นระยะ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าไปแล้วจะได้เห็นทุกครั้ง ต้องไปบ่อยๆ 


เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จ.ลำพูน ที่มาของพระพิมพ์พระนางสิกขี

ในพ.ศ.๒๕๕๐ พระพิมพ์ประเภทนี้ได้มีพัฒนาการยิ่งขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือ หล่อด้วยทองเหลืองแล้วแต่งให้ดูเก่า มีผู้นำมาวางจำหน่ายที่แผงพระภายในศูนย์พระเครื่องของห้างอิมพีเรียลสำโรง แต่ไม่ติดป้ายบอกว่าเป็นพระอะไร ในขณะที่พระเครื่องจากแหล่งอื่น ซึ่งก็มีทั้งเก่าแท้และเป็นของปลอมนั้นมีป้ายบรรยายชื่อและที่มาครบหมด 

เห็นได้ชัดว่า แม้พระพิมพ์ต้นแบบที่ผมกล่าวแล้วว่าควรเป็นของปลอมนั้นจะเพิ่งเกิดมาได้ไม่นาน  แต่ก็มีการทำปลอมกันเองอีกหลายชั้นจนกลายเป็นของดาดๆ ไปเสียแล้วครับ แสดงว่าได้รับความสนใจในวงการมากในช่วงเวลานั้น

แต่เมื่อล่วงเลยไปจนถึงหลังพ.ศ.๒๕๕๐ ความสนใจดังกลาวน่าจะลดลง เพราะปรากฏว่ามีเพียงเซียนพระไม่กี่รายเท่านั้น ที่นำพระพิมพ์ชุดนี้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารพระเครื่องในฐานะพระกรุชนิดหนึ่ง

แล้วในที่สุด ก็มีกลุ่มผู้ที่อ้างว่าเป็นลูกศิษย์ของ หลวงปู่สรวง พระภิกษุชาวเขมร นำพระพิมพ์นี้มาประชาสัมพันธ์ว่า เป็นพระพิมพ์ที่หลวงปู่อธิษฐานจิตหรือปลุกเสกไว้

ซึ่งถ้าใครไปถามศิษย์ใกล้ชิด ที่อุปัฏฐากหลวงปู่หลายสิบปีจนหลวงปู่มรณภาพ ก็จะได้รับการยืนยันว่าหลวงปู่ไม่เคยได้ปลุกเสกอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากวัตถุมงคลประเภทเหรียญพระเกจิอาจารย์ของวัดแห่งหนึ่งเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน การที่ จอมนางหริภุญไชย ได้พิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่อง บวกกับการที่ลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งของผมช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลใน Facebook ว่าประติมากรรมที่เห็นนี้ ไม่ใช่พระนางสิกขี และไม่เกี่ยวข้องอะไรกับพระนางจามเทวี กลุ่มเซียนพระก็เปลี่ยนวิธีการขายใหม่ ใช้พิมพ์ใหม่ที่เป็นลักษณะเต็มองค์ และจากพระนางสิกขีก็เปลี่ยนเป็นชื่ออื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระกรุพระโบราณใดๆ อีกต่อไป




แต่ก็ยังเอามาขายกันในฐานะวัตถุมงคลที่หลวงปู่สรวงปลุกเสกเหมือนเดิม โดยส่วนใหญ่ (อาจจะเป็นเจ้าของเดียวกันหมด?) อ้างว่า หลวงปู่สรวงเสกเมื่อปี ๒๕๑๙ บางแห่งก็บอกว่า ออกที่วัดภูตะแบง


ผมก็จะคอยดูต่อไปนะ ว่าถ้าทำกันอย่างนี้ยังขายไม่ออก สิ่งนี้จะแปลงร่างเป็นอะไรได้อีก


………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

Tuesday, December 15, 2015

สุเทวฤาษี




ภาพจาก http://dooasia.com

จากหลักฐานทางโบราณคดี ที่พบใน จ.ลพบุรี หรือกรุงลวปุระในอดีต และที่พบในนครโบราณอื่นๆ เท่าที่กำหนดอายุได้ว่า ใกล้เคียงกับยุคสมัยของพระนางจามเทวี ล้วนแสดงว่า

ในราชสำนักแห่งกรุงละโว้ และนครรัฐต่างๆ ในเวลานั้น นอกจากพระภิกษุแล้ว ยังมีบรรดาผู้มีความรู้ทางวัฒนธรรมชั้นสูงของอินเดีย เช่นพราหมณ์ โยคี และพระฤาษีเข้ามาพำนัก ทำหน้าที่ถวายความรู้ทางศาสนาและหลักการปกครอง ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมต่างๆ แด่กษัตริย์และบรรดาเจ้าชายเจ้าหญิงอยู่ไม่น้อย

ดังที่ในนิทานโบราณ ตำนานพื้นเมืองของไทย รวมทั้งตำนานพระนางจามเทวีฉบับวัดสามเงาตกเรียกว่า ปุโรหิต นั่นเอง 

และพระฤาษีองค์หนึ่ง ที่เป็นนักพรตคู่บารมีแห่งพระนางจามเทวี ในก่อรากอารยธรรมหริภุญไชย อันเป็นรากฐานที่มาของอารยธรรมทั้งปวงในแผ่นดินล้านนา ก็คือ ท่านสุเทวฤาษี

นักพรตท่านนี้ เป็นที่รู้จักและนับถือบูชากันทั่วไปในภาคเหนือของไทย นับแต่อดีตกาลจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ จะเห็นคติการบูชาท่านชัดเจน เพราะในตำนานกล่าวว่า ท่านเป็นฤาษีที่พำนักอยู่ ณ ดอยสุเทพ ซึ่งเป็นยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ประจำนครเชียงใหม่

แต่แท้ที่จริงแล้ว ท่านสุเทวฤาษีท่านนี้เป็นใครกันแน่?     
  
การที่เราจะสันนิษฐาน ถึงที่มาที่ไปของนักพรตท่านนี้ ก่อนอื่น เราจะต้องเข้าใจว่า ฤาษี (Rishi) ไม่ใช่แบบอย่างของนักพรตที่มีอยู่เฉพาะในนิยายเท่านั้น แต่มีอยู่จริงในประเทศอินเดียแม้จนปัจจุบันครับ




และการที่ใครคนหนึ่งในสมัยทวารวดีตอนต้น จะถูกเรียกว่า ฤาษี ได้ แสดงว่าเขาผู้นั้นต้องบวชเป็นฤาษีแบบอินเดียจริงๆ ไม่ใช่ฤาษีแบบที่ชาวล้านนายุคหลังตีความว่า เป็นผู้เคยบวชเรียนในศาสนาพุทธมาก่อน แล้วสึกออกมาครองเพศเป็นฤาษี

ฤาษีประเภทหลังนี้ แม้จะมีอยู่จริงในวัฒนธรรมล้านนา แต่นั่นก็คงเป็นเพราะ ชาวล้านนาได้รับคติเกี่ยวแก่ฤาษีประเภทนี้จากพม่าในยุคหลัง  

ที่สำคัญก็คือ นอกจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อล้วนๆ แล้ว เราต้องระลึกกันอยู่เสมอว่า เรายังไม่เคยพบหลักฐานทางโบราณคดีที่อ้างถึงพระพุทธศาสนาในภาคเหนือของไทย ก่อนที่พระนางจามเทวีจะเสด็จขึ้นไปลำพูนนะครับ

เมื่อไม่เคยมีศาสนาพุทธอยู่ที่นั่นมาก่อน แล้วท่านสุเทวฤาษีจะบวชเรียนจากที่ใด ก่อนที่ท่านจะสึกมาเป็นฤาษีตามความเชื่อของคนพื้นเมืองล่ะครับ?

ดังนั้นจึงเป็นไปได้หรือไม่ว่า ท่านสุเทวฤาษีจะเป็นนักบวชชาวอินเดีย ที่เดินทางผ่านพม่าเข้ามาทางภาคเหนือของไทย แวะพำนักอยู่กับชนพื้นเมืองที่นั่นชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนทำให้มีตำนานหลายฉบับกล่าวว่าท่านบำเพ็ญพรตอยู่ที่ดอยสุเทพ

และกล่าวถึงการที่ท่านสร้างเมือง หรือจะพูดให้ถูก คือพยายามวางรากฐานของสังคมระดับเมืองให้แก่ชนเผ่าที่นั่น? 



ศาลพระสุเทวฤาษี วัดพระธาตุดอยคำ เชียงใหม่
ภาพจาก http://www.naiboran.com

เมื่และคอยรับภารกิจสืบด่อ จาก ท่านสุกกทันตฤาษี สหายของท่า ในการับเสด็จพระนางจามเทวี จากราสำนักละโว้ไปยังเมืองลำพูน

(แนวคิดนี้เป็นแนวคิดใหม่ ผมไม่ได้เขยนไว้ใน จอมนางหริภุญไชย แตจะ updte เป็นบทความ ว่าด้วยเบื้องหลังการเสด็จจากละโว้ ของพระนางจามเทวี ใน blog นี้ครัย)

หลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า ในระยะแรกแห่งการขึ้นครองราชย์ และสร้างบ้านสร้างเมืองของพระนางจามเทวีนั้น ท่านสุเทวฤาษีน่าจะเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญอยู่เบื้องหลังโดยตลอด ก็เช่น
       
พระจริยาวัตรของพระนางจามเทวี ในลักษณะของธรรมราชา ด้วยการสร้างวัดและอุปถัมภ์พุทธศาสนาอย่างมากมาย 

ทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติของ จักรพรรดิราช ตามแบบอินเดียอย่างชัดเจนครับ  

และท่านสุเทวฤาษี ผู้มาจากอินเดีย ก็ย่อมแตกฉานในกลวิธีแห่งการเสริมสร้างพระบารมีในทิศทางเช่นนี้

เพราะจักรพรรดิราช คือฐานะอันศักดิ์สิทธิ์ ที่จะทำให้ไพร่บ้านพลเมืองเชื่อถือศรัทธา เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเมืองการปกครองในสมัยโบราณ โดยเฉพาะกับบ้านเมืองที่เพิ่งจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นครับ
 
เมื่อถึงตอนนี้ก็อาจมีผู้สงสัยว่า ในเมื่อท่านสุเทวฤาษีควรเป็นฤาษีในศาสนาฮินดูมากกว่าปัญญาชนที่ผ่านการบวชเรียนในพุทธศาสนาแล้วลาสิกขาออกมา (อันเป็นนิยามของฤาษีที่คนไทยเรารู้จักกันในชั้นหลังแล้ว) เหตุใดท่านจึงสนับสนุนพระนางจามเทวีในเรื่องของศาสนาพุทธยิ่งกว่าศาสนาฮินดู 

เพราะไม่มีตำนานกล่าวถึงพระราชกรณียกิจใดๆ ของพระนางจามเทวีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดูเลย?

คำถามนี้ อาจจะตอบให้กระจ่างได้ยากนะครับ

แต่ก่อนอื่นเราควรพิจารณาว่า นักบวชรูปใดก็ตาม ที่เดินทางจากประเทศอินเดียมาแสวงโชคในบ้านเมืองที่ห่างไกล ถึงภูมิภาคอุษาคเนย์ได้นั้น ย่อมจะต้องเป็นผู้ที่รู้จักประนีประนอม ในเรื่องเกี่ยวกับลัทธิความเชื่ออยู่ระดับหนึ่ง

เพราะการที่จะยึดมั่นเอาแต่ลัทธิความเชื่อของตน ในท่ามกลางคนท้องถิ่น ซึ่งนับถือในสิ่งที่แตกต่างออกไป โดยไม่มีการผ่อนปรน หรือดัดแปลงเสียบ้างนั้น ย่อมจะเป็นไปได้ยากครับ ที่จะทำให้คนเหล่านั้นหันมาเชื่อฟัง หรือเปลี่ยนความเชื่อเดิมที่มีอยู่ได้

เช่นเดียวกัน ไม่ว่าท่านสุเทวฤาษีจะเป็นผู้ถือเคร่งในศาสนาฮินดูมากเพียงใด ท่านก็ต้องคำนึงถึงการที่จะคงบทบาทของตนไว้ได้ในราชสำนักที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งมิใช่อินเดีย ไม่สนใจระบบวรรณะ แต่ยังคงต้องการผู้รู้ในแบบแผนธรรมเนียมของพราหมณ์ สำหรับการประกอบพิธีกรรมต่างๆ  รวมทั้งการสร้างความมั่นคงแก่สถาบันกษัตริย์ตามแนวความคิดแบบฮินดู ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่าแบบพุทธ 

ฤาษีตนใดที่จะได้รับการยอมรับนับถือจากชนชั้นสูง ในอุษาคเนย์สมัยทวารวดีตอนต้น ย่อมจะต้องเป็นเอตะทัคคะ ในการผสมผสานคติความเชื่อ และขนบประเพณีของทั้งสองศาสนา ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนสอดคล้องเสมอครับ

เพราะฉะนั้น เมื่อท่านต้องรับภาระ ในการที่จะต้องช่วยสถาปนาความมั่นคง ให้แก่ราชบัลลังก์ของพระนางจามเทวี ซึ่งเจริญพระชันษาขึ้นมาในราชสำนักที่นับถือศาสนาพุทธ แวดล้อมด้วยเหล่าเสนาข้าราชบริพารที่ส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ ก็สมควรอยู่เอง ที่ท่านจะต้องให้ความสนับสนุนพระนางจามเทวีในฐานะของธรรมราชาแบบพุทธ

แต่ท่านสุเทวฤาษีมิได้ละทิ้งศาสนาฮินดูอย่างแน่นอนครับ 

ด้วยว่า ผังนครหริภุญไชยซึ่งเป็นรูปหอยสังข์นั้นเอง คือข้อยืนยันอันไม่อาจปฏิเสธได้


ภาพจาก http://www.rustanyou.com

เพราะในศาสนาพุทธ ไม่มีวิชาการวางผังเมืองให้เป็นรูปหอยสังข์

การคิดวางผังเมืองเป็นรูปหอยสังข์ เป็นวิธีคิดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูครับ

แล้วเหตุใด จึงต้องสร้างเมืองเป็นรูปหอยสังข์?

อ.วิธูร บัวแดง ผู้เชี่ยวชาญด้านรามัญศึกษากล่าวว่า แผนผังเมืองหริภุญไชยเป็นรูปหอยสังข์ ซึ่งถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นเทพอาวุธแห่งองค์พระนารายณ์
 
รูปหอยสังข์นี้ได้รับความนิยมมากในสมัยทวารวดี จนถึงกับนำมาทำเป็นเหรียญเงินใช้กันในสมัยนั้นด้วยนะครับ นครรัฐทวารวดีอีกหลายแห่ง ก็มีการใช้ผังเมืองรูปหอยสังข์ลักษณะเดียวกับหริภุญไชย ไม่ว่าจะเป็นนครปฐม แพร่ พุทไธสง และศรีสัชนาลัย เป็นต้น


ภาพจาก http://www.thaigoodview.com

ผังของนครหริภุญไชย จึงเป็นการจำลองเทพอาวุธของพระนารายณ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ และเป็นสิริมงคลอันสูงสุด ตามคติไวษณพนิกายแห่งศาสนาฮินดู สิ่งเหล่านี้เท่ากับเป็นหลักประกันในทางมายาศาสตร์ ถึงความอุดมสมบูรณ์  ความกินดีอยู่ดี  และความเจริญรุ่งเรืองสำหรับพระนครแห่งใหม่นั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น การจำลองรูปแบบของสังข์มาใช้ ยังน่าจะหมายถึงมายาศาสตร์ในการควบคุมน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของบ้านเมืองสมัยโบราณ 

เพราะผู้ศึกษาเทววิทยาทุกคนย่อมรู้กันดีว่า สังข์ คือสิ่งที่พระนารายณ์ทรงใช้ควบคุมธาตุน้ำ เช่นเดียวกับเทพอาวุธอื่นๆ อีก ๓ ประการ ที่ชาวฮินดูเชื่อกันว่าทรงใช้ควบคุมธาตุดิน ลม และไฟครับ

และสังข์ของพระนารายณ์นั้น ก็มีชื่อเรียกว่า ปัญจชยะ (Panchajaya) หรือ ปัญจชัณยะ (Panchajanya)

และเพราะเหตุนี้ นามเมืองหริภุญไชย จึงมาจากการนำเอาคำว่า หริ ซึ่งหมายถึงพระนารายณ์ มารวมเข้ากับนามของสังข์ซึ่งเป็นเทพอาวุธของพระองค์ เป็น หริปัญจชยะ หรือ หริปัญจชัณยะ แล้วมากร่อนในภายหลังจนกลายเป็นคำว่า หริภุญไชย

(ไม่ใช่เรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จมาฉันผลสมอ ดังที่เผยแพร่กันอยู่ทั่วไปหรอกครับ คำอธิบายเช่นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดจากการตีความของนักปราชญ์รุ่นหลัง ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา และไม่เข้าใจที่มาที่ไปของคำว่า "หริภุญไชย" อีกต่อไปแล้ว จึงต้องพยายามอธิบายด้วยการลากเข้าหาพุทธศาสนา)

ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า ท่านสุเทวฤาษีเป็นนักพรตฝ่ายไวษณพนิกาย ซึ่งนับถือพระวิษณุ หรือพระนารายณ์เป็นเทพสูงสุดด้วยนะครับ เพราะ “วิชา” ที่ท่านนำมาใช้วางผังเมืองหริภุญไชยนี้ เป็นเทวศาสตร์ของไวษณพนิกาย

และในประเทศอินเดียทุกวันนี้ ยังมีอีกนามหนึ่งของท่านสุเทวฤาษี คือ วาสุเทพ (Vasudeva) เป็นตำแหน่งของคุรุในสายฤาษีไวษณพนิกายปรากฏอยู่นะครับ แม้ว่าจะไม่เป็นที่นิยมกันแล้ว เพราะเป็นคุรุในสายวิชาที่โบราณมาก จนเข้ากันไม่ได้กับศาสนาฮินดูยุคปัจจุบัน แต่ก็ยังพอหาได้ในสายวิชาของพระกฤษณะ ซึ่งก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของไวษณพนิกายอยู่ดีครับ


ศาลพระสุเทวฤาษี แยกดอยติ ภาพจาก http://www.teepucks.com

เพราะฉะนั้น แม้จะสนับสนุนพระนางจามเทวีในการวางรากฐานทางศาสนาพุทธอย่างเต็มกำลัง  ท่านสุเทวฤาษีก็ไม่เพียงไม่ละทิ้งศาสนาฮินดู อันเป็นสรณะของท่าน ท่านยังนำมาใช้ในเรื่องที่สำคัญที่สุดตั้งแต่แรก คือการวางรากฐานของนครหริภุญไชยเลยครับ

อีกประการหนึ่ง ขณะที่ทุกตำนานกล่าวถึงแต่ความเป็นพุทธมามกะของพระนางจามเทวี และความเป็นพุทธนครของหริภุญไชย แต่หลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวแก่ศาสนาฮินดูในลำพูนนั้นก็มีอยู่ 

เช่น ประติมากรรมดินเผาขนาดเล็ก สำหรับประดับศาสนสถานต่างๆ ซึ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยเวลานี้ มีส่วนหนึ่งที่ทำเป็นรูปครุฑ ซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์
 
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข้อมูลซึ่งไม่ค่อยจะเป็นที่ทราบกันทั่วไปด้วยครับ 

กล่าวคือ บริเวณเจดีย์บรรจุกรุพระพิมพ์ดินเผาในวัดมหาวันนั้น ได้มีการขุดพบเทวรูปสำริดพระนารายณ์สี่กร พระลักษมี พระอุมาขนาดเล็กจำนวนมาก 

เพียงแต่เรื่องเหล่านี้ รู้กันเฉพาะในวงการผู้สะสมพระเครื่องเท่านั้นครับ มิได้ขยายวงไปสู่นักวิชาการ

อีกทั้งแม้เราจะยังค้นไม่พบว่า มีเทวสถานสำหรับประกอบพิธีพราหมณ์ใดๆ ในลำพูน แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เล่าขานสืบต่อกันมาว่า บริเวณที่ตั้งของ วัดสันป่ายางหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง ในอดีตนั้นเคยเป็น ศาลพราหมณ์ มาก่อน

เมื่อมีหลักฐานปรากฏดังนี้ เราก็อาจกล่าวได้ว่า ขณะที่ท่านสุเทวฤาษีได้ช่วยเหลือพระนางจามเทวีทั้งในการสร้างนครหริภุญไชย และการปกครองพระนครแห่งใหม่นี้ โดยการวางรากฐานทางศาสนาพุทธเป็นหลัก แต่ท่านก็ได้ผสมผสานทั้งความรู้ และคติความเชื่อในศาสนาฮินดูไว้ด้วยในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังน่าพิจารณาด้วยนะครับ ว่า เมื่อขุนวิลังคะใช้ไสยศาสตร์เดิมพันเอานครหริภุญไชย การแก้อาคมของขุนวิลังคะนั้น อาจกระทำด้วยวิชาของท่านสุเทวฤาษี ผู้ทรงอาคมจากนิกายแห่งพระวิษณุ และรู้จักคุ้นเคยกับไสยศาสตร์ของชาวลัวะเป็นอย่างดี 

มากกว่าที่จะใช้ไสยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับผ้าซิ่น หรือเลือดประจำเดือนของผู้หญิง อันเป็นศาสตร์ของชาวล้านนายุคหลัง ที่เกิดไม่ทันรัชสมัยของพระนางจามเทวี 

ก็เป็นไปได้นะครับ

เพียงแต่ ตำนานทุกฉบับที่กล่าวถึงพระนางจามเทวีนั้น หากว่ามิได้เรียบเรียงโดยพระเถราจารย์ในพุทธศาสนา ก็คัดลอกต่อๆ กันมาในวัดทางพุทธศาสนา 

และเหตุผลของการคัดลอกตำนานเหล่านี้ไว้ ก็ชัดเจนว่าเกี่ยวเนื่องด้วยพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น จึงย่อมไม่มีพื้นที่ให้ศาสนาฮินดูในตำนานเหล่านี้ แม้ว่าเป็นสิ่งที่อาจจะมีความสำคัญอยู่มาก ทั้งในการวางกุศโลบาย และกลยุทธทางการเมืองการปกครอง ในรัชสมัยของพระนางจามเทวีก็ตาม


อนุสาวรีย์พระสุเทวฤาษี แยกดอยติ ลำพูน
ภาพจาก http://www.sookjai.com

แต่ถึงจะมีท่านสุเทวฤาษี ผู้เชี่ยวชาญในการวางโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินอยู่เบื้องหลัง กุศโลบายและกลยุทธทางการเมืองทั้งหลาย ย่อมไม่อาจนำหริภุญไชยไปสู่แว่นแคว้นที่มั่นคงได้ ถ้าองค์พระนางจามเทวีนั้นเองทรงไร้พระปรีชาสามารถ  
               
ดังนั้น ส่วนสำคัญที่สุดในการสถาปนาความเป็นปึกแผ่น เมื่อครั้งปฐมกาลแห่งรัฐหริภุญไชย ก็ยังคงขึ้นอยู่กับพระนางจามเทวีนั่นเองครับ

พระปรีชาสามารถของพระนาง ที่โดดเด่นมาแต่ครั้งเป็นเจ้าหญิงแห่งราชสำนักละโว้ เมื่อทรงได้รับการสนับสนุนจากพระอาจารย์ผู้ทรงบารมีสูง และปัจจัยแวดล้อมที่เพียงพอ แสงแรกแห่งอารยธรรมจึงเรืองรองไปทั่วแผ่นดินล้านนา 

จารึกความสำเร็จของพระนางลงในหน้าประวัติศาสตร์ จนคนรุ่นหลังที่มีอคติต่อความสามารถของผู้หญิงยากที่จะยอมรับได้



………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

Total Pageviews